อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559

นิกาห์กับสตรีที่ตั้งครรภ์จากการซินาทำได้หรือไม่ ? (ตอนจบ)


โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

(ตอนจบ)
.
.
ผมขออธิบายเพิ่มเติมจากจุดนี้นิดหนึ่งว่า ...
บรรดานักวิชาการตัฟซีรฺได้อธิบายสอดคล้องกันว่า แม้โองการนี้จะถูกกล่าวเกี่ยวกับสตรีที่มีครรภ์และถูกสามีหย่า แต่มันก็ครอบคลุมถึง “สตรีที่มีครรภ์และสามีเสียชีวิตด้วย” เพราะทั้งคู่เป็น “ภรรยา” เหมือนกัน, ถูกพรากจากสามีเหมือนกัน ...
ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมานี้ ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์นักวิชาการหะดีษระดับ “ตำนาน” ที่มุสลิมทั่วโลกยอมรับจึงกล่าวอรรถาธิบายความหมายของอายะฮ์ข้างต้นนี้ในหนังสือ “ฟัตหุ้ลบารีย์” เล่มที่ 9 หน้า 474 ว่า ...
وَقَوْلُهُ تَعَالَى : (وَأُولاَتُ اْلأَحْمَالِ أَجَلُهُنَّ أَنْ يَضَعْنَ حَمْلَهُنَّ) عَامٌّ أَيْضًا، يَشْمَلُ الْمُطَلَّقَةَ وَالْمُتَوَفَّى عَنْهَا
และคำดำรัสของพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ที่ว่า “และบรรดาสตรีที่มีครรภ์ กำหนดของพวกนางก็คือการคลอดบุตรที่อยู่ในครรภ์ของพวกนาง” ก็มีความหมายกว้างๆเช่นเดียวกัน ซึ่งมันจะ “ครอบคลุม” สตรีที่ถูกสามีหย่าและสตรีที่สามีสิ้นชีวิต ...
จะเห็นได้ว่า ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ได้กล่าวถึง “การครอบคลุม” ของโองการนี้ซึ่งถูกประทานลงมาเกี่ยวกับอิดดะฮ์ของสตรีที่สามีหย่าขณะตั้งครรภ์ว่า อิดดะฮ์ดังกล่าวมีขอบเขตกินกว้างถึงสตรีที่สามีสิ้นชีวิตขณะนางตั้งครรภ์ด้วย ...
แต่ท่านมิได้กล่าวว่า มันครอบคลุมถึงสตรีที่ตั้งครรภ์จากการซินาแต่ประการใด
แม้แต่ท่านเช็คอัช-ชันกีฏีย์เอง ก็ได้อธิบายความ “ครอบคลุม” ของโองการนี้ไว้อย่างเดียวกันนี้ในหนังสือตัฟซีรฺ “อัฎวาอุ้ลบะยาน” เล่มที่ 8 หน้า 179 ...
และนักวิชาการผู้เขียนหนังสืออรรถาธิบายอัล-กุรฺอานเล่มอื่นๆอาทิเช่น ท่านอัช-เชากานีย์ในหนังสือตัฟซีรฺ “ฟัตหุ้ลกอดีรฺ” เล่มที่ 5 หน้า 339-340, ท่านอัล-กุรฺฏุบีย์ในหนังสือตัฟซีรฺ “อัล-ญามิอฺ ลิอะห์กามิ้ลกุรฺอาน” เล่มที่ 9 หน้า 303, ท่านอัล-มะรอฆีย์ในหนังสือตัฟซีรฺ “อัล-มะรอฆีย์” เล่มที่ 28 หน้า 143 เป็นต้น .. ก็อธิบายตรงกันในลักษณะเดียวกันนี้ทั้งหมด ...
อัล-กุรฺอานอายะฮ์ที่ 4 จากซูเราะฮ์อัฏ-ฏอล้าก จึงมิใช่เป็นหลักฐานเรื่องการมีอิดดะฮ์ของสตรีที่ตั้งครรภ์จากการซินา และมิใช่เป็นหลักฐานห้ามนิกาห์กับสตรีที่ตั้งครรภ์จากการซินา ก่อนการคลอดบุตร ...
สรุปแล้ว - ตามทัศนะของผม - เห็นด้วยกับญุมฮูรฺหรือนักวิชาการส่วนใหญ่ที่ว่า โองการนี้คือหลักฐานอิดดะฮฺของสตรีที่ตั้งครรภ์กับสามีแล้วสามีหย่าหรือสามีตายเท่านั้น, มิได้ครอบคลุมสตรีที่ตั้งครรภ์จากการซินาด้วย ...
หรือหากจะพูดกันในแง่ของการ (قِيَاسٌ) หรือการอนุมานเปรียบเทียบ .. การนำเอาสตรีที่ “ตั้งครรภ์กับสามี” ซึ่งเป็นเรื่องหะล้าล ไปปรับใช้หุก่มเดียวกันกับสตรีที่ “ตั้งครรภ์จากการซินา”ซึ่งเป็นบาปใหญ่ว่า อิดดะฮ์ของทั้งคู่คือคลอดบุตรเหมือนกัน! มันก็เหมือนหรือไม่ต่างอันใดกับการเอาคนที่ขาดนมาซเพราะนอนหลับซึ่งไม่บาป ไปเทียบกับคนที่ขาดนมาซโดยเจตนาซึ่งเป็นบาปใหญ่ว่า หุก่มของทั้งคู่เป็นหุก่มเดียวกัน คือวาญิบจะต้องนมาซชดใช้ (กอฎอ) เหมือนกัน! ...
การกิยาสดังกล่าวนี้ขัดกับหลักการและข้อเท็จจริง เพราะสตรีที่มีเพศสัมพันธ์จากการนิกาห์กับสตรีที่มีเพศสัมพันธ์จากการซินาก็ดี, คนขาดนมาซเพราะนอนหลับกับคนขาดนมาซโดยเจตนาก็ดี ...
หุก่มของอิสลามจะแยกกันไว้คนละซีกโลก ไม่มีทางจะบรรจบกันได้ ...
(4). ส่วนการที่ท่านอัช-ชันกีฏีย์กล่าวว่า การนิกาห์กับสตรีที่ตั้งครรภ์จากการซินาเป็นเรื่องต้องห้ามและจะกระทำมิได้จนกว่านางจะคลอดบุตร โดยอ้างว่าการนิกาห์กับสตรีที่ตั้งครรภ์จากการซินาก็คือการรดพืชผักด้วยน้ำของผู้อื่น(คือการร่วมเพศกับสตรีที่ตั้งครรภ์กับผู้อื่น)ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามนั้น ...
ผมขอชี้แจงกรณีนี้ดังต่อไปนี้ ...
คำกล่าวข้างต้นเป็นการอ้างถึงหะดีษบทหนึ่งซึ่งรายงานมาจากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมที่กล่าวว่า ...
لاَ يَحِلُّ ِلإمْرِأٍ يُؤْمِنُ بِاللهِ وَالْيَوْمِ اْلآخِرِ أَنْ يَسْقِىَ مَاءَهُ زَرْعَ غَيْرِهِ
“ไม่อนุญาตแก่บุคคลใดที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์ จะรดน้ำของเขาให้แก่พืชผักของผู้อื่น”...
หะดีษนี้เป็นหะดีษหะซันในภาพรวม, บันทึกโดยท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 2158 และท่านอะห์มัด เล่มที่ 4 หน้า 108 โดยรายงานจากท่านรุวัยฟิอฺ บินษาบิต ร.ฎ. ...
อีกสำนวนหนึ่งของหะดีษนี้จากการบันทึกของท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 1131 จากหนังสือ “อัส-สุนัน”ของท่าน มีข้อความว่า ...
مَنْ كَانَ يُؤْمِنُ بِاللهِ وَالْيَوْمِ اْلآخِرِ فَلاَ يَسْقِ مَاءَهُ وَلَدَ غَيْرِهِ
“ผู้ใดที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์ ก็อย่ารดน้ำของเขาให้ลูกของผู้อื่น”
หะดีษทั้งสองสำนวนนี้มีความหมายเดียวกัน คือห้ามศรัทธาชนที่เป็นผู้ชาย ร่วมเพศกับสตรีที่ตั้งครรภ์กับคนอื่น ...
โปรดสังเกตด้วยว่า การห้ามร่วมเพศจากหะดีษบทนี้คือ หากนางตั้งครรภ์กับคนอื่น ...
เพราะฉะนั้นความหมายในมุมกลับ (مَفْهُوْمُ) ของหะดีษนี้ก็คือ หากนางตั้งครรภ์กับเขา ก็ไม่มีข้อห้ามในการที่เขาจะร่วมหลับนอนกับนาง ...
ที่สำคัญที่สุด หะดีษบทนี้มิใช่เป็นหลักฐานห้าม “นิกาห์” กับสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ แต่เป็นหลักฐานห้าม “ร่วมเพศ” กับสตรีที่กำลังตั้งครรภ์กับผู้อื่นจนกว่านางจะคลอดบุตร ...
ผมได้เคยกล่าวมาแล้วว่า การนิกาห์กับการมีเพศสัมพันธ์ เป็นคนละเรื่องกัน ...
แม้หะดีษบทนี้จะเป็นเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์กับเชลยศึกสตรี แต่เนื้อหาก็พอจะเกี่ยวโยงไปถึงการมีเพศสัมพันธ์กับสตรีที่ตั้งครรภ์จากการซินาด้วยในบางลักษณะ
เพื่อความกระจ่าง ผมจึงขออธิบายหะดีษนี้ ดังต่อไปนี้ ...
จากสิ่งที่ได้อธิบายมาแล้วตั้งแต่ต้นพอจะสรุปได้ว่า ผู้ชายทำซินานั้นหลังจากได้เตาบะฮ์อย่างถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ก็อนุญาตให้นิกาห์กับสตรีใดก็ได้ และหากเป็นสตรีที่ซินาก็ไม่จำเป็นต้องมีอิดดะฮ์ คือไม่ว่านางจะตั้งครรภ์หรือไม่ และไม่ว่าจะนิกาห์กับอดีตคู่ซินาของนางหรือกับผู้ชายอื่น นิกาห์ดังกล่าวถือว่า เศ๊าะห์ (ใช้ได้) ทั้งนั้น ...
ที่กล่าวมานี้ คือเรื่องของการนิกาห์ ...
ส่วนเรื่องการมี “เพศสัมพันธ์” หลังการนิกาห์ ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งซึ่งจะต้องพิจารณาหลักฐานอื่นๆประกอบว่า “ต้องมี” หรือ “ควรจะมี” เงื่อนไขอย่างไรหรือไม่..
สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาก็คือหะดีษต่างๆ ..โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หะดีษบทข้างต้น และหะดีษอีกบทหนึ่งที่ผ่านมาแล้วอันมีข้อความว่า ...
لاَ تُوْطَأُْ حَامِلٌ حَتىَّ تَضَعَ، وَلاَ غَيْرُ حَامِلٍ حَتىَّ تَحِيْضَ حَيْضَةً
“สตรีที่กำลังตั้งครรภ์จะต้องไม่ถูกร่วมเพศ (คือห้ามร่วมเพศกับนาง)จนกว่านางจะคลอดบุตร และสตรีที่มิได้ตั้งครรภ์(จะต้องไม่ถูกร่วมเพศ)จนกว่านางจะมีประจำเดือนหนึ่งครั้ง” ...
หะดีษบทนี้ก็เป็นหะดีษที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการห้ามร่วมเพศกับเชลยศึกสตรีก่อนนางอิสติบรออ์เช่นเดียวกัน ...
การห้ามร่วมเพศกับเชลยสตรีในหะดีษทั้งสองบทนี้ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะด้วยกัน คือ ...
กรณีแรก ถ้าเชลยสตรีคนนั้นมิได้ตั้งครรภ์ ก็ห้ามร่วมเพศกับนางจนกว่านางจะอิสติบรออ์ คือมีประจำเดือน 1 ครั้งเสียก่อน ...
ข้อห้ามนี้เป็นข้อห้ามที่ تَعَقُّلٌ .. คือสามารถเข้าใจเหตุผลได้ว่า ที่ท่านศาสดาได้ห้ามร่วมเพศกับเชลยสตรีจนกว่านางจะมีประจำเดือน ก็เพื่อพิสูจน์ว่านางมิได้มีครรภ์มาจากสามีก่อนถูกจับเป็นเชลย ...
เพราะฉะนั้น เมื่อผ่านการพิสูจน์ด้วยการมีประจำเดือนของนางและมั่นใจแล้วว่านางไม่ตั้งครรภ์จากสามี เจ้านายของนางก็จะได้แน่ใจว่า หากนางตั้งครรภ์หลังจากร่วมหลับนอนกับเขา ลูกในท้องคือลูกของเขาอย่างแท้จริง ...
บทพิสูจน์นี้ สามารถนำมาใช้กับสตรีที่ซินาได้เช่นเดียวกันตามทัศนะของท่านอิหม่ามอบูหะนีฟะฮ์ ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับทัศนะของท่านในกรณีนี้ ...
คือหลังจากผ่านการนิกาห์กับสตรีที่ซินา(และผ่านการเตาบะฮ์อย่างถูกต้อง) เรียบร้อยแล้ว สามีของนางก็ต้องพิสูจน์นางด้วยการรอให้นางมีประจำเดือน 1 ครั้งก่อนจะร่วมหลับนอนกับนาง เพื่อรอดูว่านางติดท้องมาจากการซินาหรือไม่ ...
การพิสูจน์ดังกล่าวนี้ ไม่มีข้อยกเว้นไม่ว่าสามีของนางจะเป็นอดีตคู่ซินาของนางเองหรือผู้ชายอื่น ...
เพราะลูกที่ติดมาจากการซินา - ถ้ามี - แม้จากผู้ชายที่เป็นคู่ซินาของนางก็ตาม ย่อมมีผลแตกต่างกับลูกที่เกิดมาจากการนิกาห์ที่ถูกต้องภายหลังในด้านหลักการของศาสนาอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าในด้านการนับความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับผู้เป็นบิดา, การสืบมรดกระหว่างกัน และอื่นๆ ...
กรณีที่สอง ถ้าเชลยสตรีนั้นตั้งครรภ์มาจากสามีของนางก่อนถูกจับเป็นเชลย ก็ไม่อนุญาตให้เจ้านายของนางร่วมเพศกับนางจนกว่านางจะคลอดบุตรเสียก่อน ...
ข้อห้ามข้อนี้ในทัศนะของผมถือว่า เป็นข้อห้ามแบบ تَعَبُّدٌ .. คือ ให้ปฏิบัติตามโดยดุษฎี - ไม่ใช่ไม่มีเหตุผล - แต่ไม่ทราบเหตุผลว่า ห้ามเพราะอะไร ? ...
จะอ้างเหตุผลว่า ห้ามร่วมเพศเพราะเกรงจะสับสนเรื่องสายเลือดของทารกในครรภ์ว่าจะเป็นลูกติดจากสามีของนางหรือลูกของเจ้านายก็เป็นไปไม่ได้ เพราะการร่วมเพศหลังจากนางตั้งครรภ์กับสามีแล้ว ไม่มีผลด้านสายเลือดกับทารกที่อยู่ในครรภ์ทั้งสิ้น และลูกในครรภ์ของนางก็เป็นลูกจากสามีของนางแน่นอน ...
ผมจึงไม่เข้าใจเหตุผลของข้อห้ามดังกล่าวนี้ นอกจากว่าเมื่อเป็นการห้ามของท่านศาสดา ก็จำเป็นที่มุสลิมทุกคนที่มีอีหม่านจะต้องปฏิบัติตาม โดยไม่ต้องไปเกี่ยงว่าจะต้องรู้เหตุผลการห้ามก่อนจึงจะปฏิบัติ ...
ข้อห้ามข้อนี้ หากนำมาปรับใช้กับสตรีที่ตั้งครรภ์จากการซินา ก็ต้องมีการจำแนก ว่าผู้ชายที่นิกาห์กับนางคือใคร ...
หากผู้ชายที่นิกาห์กับนางเป็นผู้ชายอื่นไม่ใช่อดีตคู่ซินาของนาง หลังจากผ่านการนิกาห์แล้วก็ห้ามเขาร่วมเพศกับนางจนกว่านางจะคลอดบุตร ตามนัยของหะดีษทั้งสองบทข้างต้นที่ห้ามผู้ชาย ร่วมเพศกับสตรีที่ตั้งครรภ์กับบุคคลอื่น ...
ในกรณีนี้ ผมจึงเห็นด้วยกับทัศนะที่ว่า ผู้ชายที่ต้องการจะนิกาห์กับสตรีที่ทำซินากับคนอื่นมา - ไม่ว่านางจะตั้งครรภ์หรือไม่ก็ตาม - ทางที่ดีเขาไม่ควรรีบด่วนนิกาห์กับนางจนกว่านางจะอิสติบรออ์ .. คือมีประจำเดือน 1 ครั้งหรือคลอดบุตรเสียก่อน ทั้งนี้เพื่อป้องกันความผิดพลาดด้านสายเลือดหากไม่ปรากฏแน่ชัดว่านางตั้งครรภ์จากการซินาหรือไม่ .. หรือป้องกันความผิดบาปจากการร่วมหลับนอนกับสตรีที่ตั้งครรภ์กับผู้อื่นหากเขาอดใจรอเวลาให้นางคลอดบุตรไม่ไหว ...
แต่หากผู้ชายที่นิกาห์กับนางเป็นอดีตคู่ซินาของนางเอง ก็ไม่มีข้อห้ามอันใดที่เขาจะร่วมหลับนอนกับนางได้ทันทีหลังจากนิกาห์แล้วโดยไม่จำเป็นต้องรอให้คลอดบุตร เพราะนางซินากับเขาและตั้งครรภ์กับเขา ไม่ใช่ตั้งครรภ์กับผู้อื่นซึ่งเป็นประเด็นห้ามจากการมีเพศสัมพันธ์กับสตรีที่ตั้งครรภ์ ตามข้อความอันชัดเจนของหะดีษทั้งสองบทนั้น ...
สรุป
1. การนิกาห์ของผู้ที่ทำซินาเป็นเรื่องต้องห้าม(หะรอม)และการนิกาห์นั้นใช้ไม่ได้ (ไม่เศาะห์) จนกว่าเขาและนางจะผ่านการเตาบะฮ์ให้ถูกต้องเสียก่อน ...
2. เมื่อผ่านการเตาบะฮ์เรียบร้อยแล้ว ก็อนุญาตให้สตรีที่ทำซินา นิกาห์กับใครก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีอิดดะฮ์ ไม่ว่านางจะตั้งครรภ์หรือไม่ตั้งครรภ์ ...
3. กฎเกณฑ์ที่เป็นสากลในการกำหนดว่าสตรีจะต้องมีอิดดะฮ์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 2 ประการคือ ...
ก. การร่วมเพศระหว่างสตรีกับผู้ชายที่ทำให้นางมีอิดดะฮ์ จะต้องเป็นการร่วมเพศที่หะล้าล คือไม่มีการลงโทษผู้กระทำและ/หรือผู้ถูกกระทำ อันเนื่องมาจากการเป็นสามีภรรยาหรือเป็นเจ้านายกับทาสหญิง เป็นต้น ...
ข. มีการ “พราก” หรือ “แยก” จากกัน ระหว่างสตรีกับผู้ชายที่ทำให้นางมีอิดดะฮ์(คือสามีหรือเจ้านาย) ไม่ว่าการพรากจากกันนั้นจะเกิดจากการหย่า, การตาย, การถูกขายให้ผู้อื่น(กรณีสตรีที่เป็นทาส) หรือเพราะถูกจับเป็นเชลย ...
ส่วนข้อยกเว้นบางประการจากเงื่อนไข 2 ประการนี้ ก็ดังตัวอย่างที่ผ่านมาแล้วตอนต้น ...
4. หลังจากนิกาห์เรียบร้อยแล้ว หากสตรีที่เคยทำซินาไม่ปรากฏหลักฐานว่าตั้งครรภ์ ก็ห้ามสามีของนางร่วมหลับนอนกับนางจนกว่านางจะมีประจำเดือน 1 ครั้ง ไม่ว่าสามีของนางจะเป็นผู้ชายอื่นหรือเป็นอดีตคู่ซินาของนางก็ตาม ทั้งนี้เพื่อความมั่นใจว่าบุตรที่เกิดมามิใช่เป็นบุตรจากการซินา ...
5. หากนางตั้งครรภ์จากการซินาและสามีผู้นิกาห์กับนางเป็นผู้ชายอื่น ก็ไม่อนุญาตให้เขาร่วมหลับนอนกับนางจนกว่านางจะคลอดบุตรเสียก่อน เพราะมีหะดีษห้ามไว้อย่างชัดเจนในเรื่องนี้ ...
6. แต่หากสามีของนางเป็นอดีตคู่ซินาของนาง ก็อนุญาตให้เขาร่วมหลับนอนกับนางได้ทันทีหลังจากนิกาห์ แม้ว่านางจะกำลังตั้งครรภ์จากการซินากับเขาก็ตาม เพราะไม่มีหลักฐานห้ามในเรื่องนี้ ...
وَاللهُ أَعْلَمُ بِالصَّوَابِ، وَإِلَيْهِ الْمَرْجِعُ وَالْمَآبِ، وَصَلَّى اللهُ عَلَى سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَلَى آلِهِ وَصَحْبِهِ وَسَلَّمَ ...

อ. มะห์มูด (ปราโมทย์) ศรีอุทัย
โทร 086-6859660

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น