โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย
(ตอนที่ 1)
بِسْمِ اللهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْمِ
اَلْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ، وَالصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلَى أَشْرَفِ اْلأَنْبِيَاءِ وَالْمُرْسَلِيْنَ، سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَلَى آلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ، أَمَّا بَعْدُ ...
ผมได้รับข้อเขียนจากเพื่อนฝูงคนหนึ่งที่ถ่ายจากเว็บไซด์ของผู้เขียนซึ่งเป็นชีอะฮ์ส่งมาให้ มีจำนวน 12 หน้ากระดาษ เพื่อให้ช่วยตรวจสอบความถูกต้อง ...
เป็นข้อเขียนวิเคราะห์หะดีษบทหนึ่งอันเป็นคำสั่งของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมที่ให้มุสลิมยึดมั่นในกิตาบุลลอฮ์ (อัล-กุรฺอ่าน) และซุนนะฮ์ของท่าน คือหะดีษที่วา ..
لَقَدْ تَرَكْتُ فِيْكُمْ مَا إِنْ أَخَذْتُمْ بِهِ لَنْ تَضِلُّوْا : كِتَابَ اللهِ وَسُنَّةَ نَبِيِّهِ
“แท้จริงฉันได้ละไว้ในหมู่พวกท่าน สิ่งซึ่งหากพวกท่านยึดมั่นไว้ พวกท่านจะไม่หลงทาง (นั่นคือ) คัมภีร์ของอัลลอฮ์ และซุนนะฮ์แห่งนบีย์ของพระองค์” ...
ผมได้ตรวจสอบข้อมูลการวิจารณ์ประวัติของผู้รายงานหะดีษบทนี้ ซึ่งมีการวิจารณ์ความบกพร่องมาเพียง “สองกระแส” (ทั้งๆที่หะดีษนี้มีรายงานมาทั้งหมดรวม 7 กระแสดังที่จะถึงต่อไป) .....
กระแสแรกที่ถูกวิจารณ์เป็นรายงานมาจากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ซึ่งผู้รายงานที่ถูกวิจารณ์ในกระแสนี้มี 3 ท่านด้วยกัน คือท่านอิสมาอีล บินอับดุลลอฮ์ อบีย์อุวัยส์, ท่านอับดุลลอฮ์ อบีอุวัยส์ผู้เป็นบิดา, และท่านอิกริมะฮ์ ซึ่งเป็นบ่าวคนสนิทของท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ เอง ...
ส่วนกระแสที่สองเป็นรายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮ์ ร.ฎ. และผู้รายงานในกระแสนี้ที่ถูกวิจารณ์ก็คือท่านศอลิห์ บินมูซา อัฏ-ฏ็อลฮีย์ ...
แล้วผู้เขียนวิเคราะห์ดังกล่าวก็สรุปว่า หะดีษบทนี้ เป็นหะดีษเฎาะอีฟ ...
ผมไม่ปฏิเสธว่า ข้อมูลการวิจารณ์ดังกล่าวมี “ที่มา” ถูกต้องอย่างแท้จริงจากตำราอ้างอิงที่ถูกระบุมานั้น ...
แต่ผมให้ข้อสังเกตจากการวิเคราะห์ข้างต้นนี้อยู่ 2 ประการคือ ...
(1). หะดีษจากรายงานของท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. .. ผู้บันทึกมี 2 ท่านคือท่านอัล-บัยฮะกีย์ และท่านอัล-หากิม .. ซึ่งทั้งสองท่านนั้นได้บันทึกรายงานมาจากท่านอิสมาอีล บินอับดุลลอฮ์ อบีย์อุวัยส์, จากท่านอบีย์อุวัยส์ผู้เป็นบิดา, จากท่านอิกริมะฮ์, จากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.
เพราะฉะนั้น ตามหลักการแล้วถือว่า หะดีษบทนั้นจากการบันทึกของท่านอัล-บัยฮะกีย์และท่านอัล-หากิม เป็นหะดีษบทเดียวกัน, สายรายงานเดียวกัน ...
ข้อเท็จจริงในกรณีนี้ก็คือ ท่านอัล-บัยฮะกีย์ผู้เป็นศิษย์ ได้รับการถ่ายทอดหะดีษบทนี้มาจากท่านอัล-หากิมผู้เป็นอาจารย์ของท่าน ดังจะเห็นได้จากการรายงานของท่านอัล-บัยฮะกีย์ที่เริ่มต้นด้วยคำว่า ..... أَخْبَرَنَا أَبُوْ عَبْدِاللهِ الحْاَفِظُ .. (ท่านอบูอับดิลลาฮ์ อัล-หาฟิศ ได้บอกเรา) .. ซึ่งคำว่า อบูอับดิลลาฮ์อัล-หาฟิศ ก็คือฉายาของท่านอัล-หากิม ครูของท่านนั่นเอง ...
แต่ผู้วิเคราะห์ซึ่งเป็นชีอะฮ์ท่านนั้นกลับนำเอาหะดีษบทนี้มาระบุไว้ในการวิเคราะห์ของตนถึง 2 ครั้ง โดยแยกวิเคราะห์กันคนละครั้ง เพื่อทำให้ผู้อ่านที่ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องหะดีษเข้าใจผิดว่า หะดีษท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.จากการบันทึกของท่านอัล-บัยฮะกีย์และท่านอัล-หากิม เป็นคนละบทกัน ...
(2). ผู้วิเคราะห์หะดีษนี้ในเว็บไซด์นั้น ได้สร้างความสับสนให้แก่ผู้อ่านด้วยการอ้างการวิจารณ์ประวัติผู้รายงานบางท่านจากผู้วิจารณ์คนเดียวกัน ซ้ำซากหลายครั้ง ทั้งๆที่เป็นข้อมูลเดียวกัน ! .. โดยมีการอ้างแหล่งข้อมูลจากตำราที่คัดลอก -- หลายเล่ม .. จนดูเหมือนกับว่า นักวิชาการที่ไม่ให้ความเชื่อถือผู้รายงานท่านนั้น มีจำนวนมากเกินจริง ...
นี่คือ วิธีการที่ชีอะฮ์ - อาทิเช่น เช็คอัต-ตีญานีย์ - ชอบใช้ เพื่อหลอกผู้ไม่รู้ให้หลงเข้าใจว่า ข้อมูลของพวกตนมีเยอะแยะเป็นสิบหรือหลายสิบข้อมูล ทั้งๆที่ความเป็นจริงก็คือ ข้อมูลมีอยู่เพียง 1 เดียว ...
ตัวอย่างในกรณีนี้ เช่น ประวัติของท่านอิสมาอีล บินอับดุลลอฮ์ อบีย์อุวัยส์ จากการวิจารณ์ของท่านยะห์ยา บินมะอีน ...
ผู้วิจารณ์มีคนเดียวคือท่านยะห์ยา บินมะอีน และผู้ถูกวิจารณ์ก็มีคนเดียวคือท่านอิสมาอีล บินอับดุลลอฮ์ ...
จะเห็นได้ว่า เมื่อวิเคราะห์หะดีษนี้ครั้งแรกจากการบันทึกของท่านอัล-บัยฮะกีย์ ท่านผู้เขียนวิเคราะห์ได้ระบุข้อมูลการวิจารณ์ของท่านยะห์ยา เกี่ยวกับท่านอิสมาอีล บินอับดุลลอฮ์ ไว้ 4 ตำแหน่ง จากตำราคัดลอกข้อมูลต่างๆหลายเล่ม ..
และในการวิเคราะห์หะดีษนี้จากการบันทึกของท่านอัล-หากิมก็นำเอา “ข้อมูลเดิม” มากล่าวซ้ำอีก 4 ตำแหน่งเช่นเดียวกัน ...
เมื่อมีการวิเคราะห์หะดีษบทเดียวกันซ้ำ 2 ครั้ง ก็เท่ากับว่า การวิจารณ์ของท่านยะห์ยา บินมะอีนเพียงผู้เดียวต่อท่านอิสมาอีล บินอับดุลลอฮ์ อบีย์อุวัยส์ จะมีระบุซ้ำอยู่ในการวิเคราะห์ข้างต้นถึง 8 ตำแหน่ง ...
หรือการวิจารณ์ของท่านอัน-นะซาอีย์ต่อท่านอิสมาอีล บินอับดุลลอฮ์ อบีย์อุวัยส์ ก็ถูกท่านผู้เขียนท่านนั้นนำมาบันทึกไว้รวม 6 ตำแหน่ง จากการวิเคราะห์ซ้ำ 2 ครั้ง .. ทั้งๆที่ผู้วิจารณ์ก็เป็นบุคคลคนเดียวกันคือท่านอัน-นะซาอีย์ ...
หรือในการวิจารณ์ประวัติท่านอิกริมะฮ์ ก็มีการอ้างถึงคำพูดของท่านญะรีรฺ บินอับดุลหะมีดที่เล่ามาจากท่านยะซีด บินอบีย์ซิยาดอันเป็นข้อมูลเดียวกัน ซ้ำถึง 3 ครั้ง เป็นต้น ...
จุดซ้ำซากดังกล่าว ถ้าไม่เพราะเกิดจากการที่ผู้วิเคราะห์ฯ ข้างต้น ไม่ทราบถึงที่มาของตำราอ้างอิง 3 เล่ม คือ ตะฮ์ซีบุลกะมาล, ตะฮ์ซีบุตตะฮ์ซีบ และตักรีบุตตะฮ์ซีบ ที่ตนเองนำมาอ้างนั้นว่ามีความเกี่ยวพันกันอย่างไรแล้ว ก็ย่อมแสดงถึงความ "อ่อนหัด" ของผู้วิเคราะห์นั้นในเรื่องหะดีษ...
ผมขอชี้แจงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตำราอ้างอิง ทั้ง 3 เล่มนั้นพอเป็นสังเขปดังนี้ ...
1. ท่านอับดุลฆอนีย์ บินอับดุลวาฮิด อัล-มุก็อดดะซีย์หรืออัล-มักดะซีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 600)ได้เขียนตำราวิจารณ์ประวัติผู้รายงานหะดีษ .. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้รายงานของหะดีษที่ถูกต้องทั้ง 6 เล่ม คือบุคอรีย์, มุสลิม, อบูดาวูด, อัน-นซาอีย์, อัต-ติรฺมีซีย์ และอิบนุมาญะฮ์ ..โดยท่านอับดุลฆอนีย์ได้ตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า “อัล-กะมาล ฟี อัสมาอิรฺ ริญาล” ...
2. ต่อมา ท่านญะมาลุดดีน อบู อัล-หัจญาจญ์ ยูซุฟ บินอับดุรฺเราะห์มาน ซึ่งรู้จักกันในนาม “อัล-มิซซีย์” (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 742) ได้ทำการกลั่นกรอง, เพิ่มเติม และตบแต่งเนื้อหาของหนังสือ “อัล-กะมาลฯ” ข้างต้นให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยให้ชื่อหนังสือนี้ว่า “ตะฮ์ซีบ อัล-กะมาล) ...
3. แล้วต่อมา ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 852) ก็ได้ทำการกลั่นกรองหนังสือ “ตะฮ์ซีบ อัล-กะมาล” ของท่านอัล-มิซซีย์ให้สมบูรณ์แบบและกระชับยิ่งขึ้นอีก ด้วยการตัดทอนข้อความบางส่วนของหนังสือ “ตะฮ์ซีบุลกะมาล” ออกไปประมาณ 1 ใน 3 โดยพยายามรักษาข้อมูลสำคัญ คือการวิจารณ์ประวัติผู้รายงานหะดีษเอาไว้อย่างครบถ้วน แล้วให้ชื่อหนังสือนี้ว่า “ตะฮ์ซีบุตตะฮ์ซีบ” (มีจำนวนทั้งหมดพร้อมสารบัญรวม 14 เล่ม) ...
4. อันเนื่องมาจากประวัติผู้รายงานที่ถูกระบุนามในตำราทั้ง 3 ข้างต้น -- แม้กระทั่งในหนังสือตะฮ์ซีบุตตะฮ์ซีบเอง – ส่วนมากจะมีความขัดแย้งของนักวิชาการเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของแต่ละท่าน ซึ่งเป็นการยากลำบากต่อผู้อ่านทั่วๆไปจะยึดถือหรือตัดสินอย่างใดได้ ท่านอิบนุหะญัรฺ จึงได้ทำการ “สรุปสถานภาพ” ของผู้รายงานแต่ละท่านจากหนังสือ “ตะฮ์ซีบุตตะฮ์ซีบ” อีกทีหนึ่ง โดยใช้สำนวนในการสรุปเพียงสั้นๆและกระชับลงในหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ซึ่งท่านได้ให้ชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า “ตักรีบุตตะฮ์ซีบ” (มีจำนวน 2 เล่ม) ...
นอกจากหนังสือ “ตักรีบุตตะฮ์ซีบ” แล้ว หนังสือ "สรุปประวัติและสถานภาพ" ของผู้รายงานหะดีษที่อยากจะขอเสนอแนะต่อผู้กำลังศึกษาวิชาหะดีษที่ถือว่า ให้ความสะดวกในการตรวจสอบอีกเล่มหนึ่งก็คือหนังสือ “อัล-กาชิฟ” ของท่านอัษ-ษะฮะบีย์
ดังนั้น หากผู้ใดอยากจะทราบว่า ผู้รายงานท่านใดของผู้รายงานหะดีษที่ถูกต้องทั้ง 6 เล่มนั้นมีความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับใด ก็ให้ไปดู “บทสรุป” สถานภาพของผู้รายงานท่านนั้นได้จากหนังสือ “ตักรีบุตตะฮ์ซีบ” ของท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ หรือหนังสือ “อัล-กาชิฟ” ของท่านอัษ-ษะฮะบีย์ ก็เท่ากับเขาได้อ่านและเข้าใจบทสรุปความขัดแย้งในตัวผู้รายงานท่านนั้นจากหนังสืออัล-กะมาล, หนังสือตะฮ์ซีบุลกะมาล, และจากหนังสือตะฮ์ซีบุตตะฮ์ซีบอย่างครบถ้วน ...
และผมก็ขอถือโอกาสนี้เรียนต่อท่านผู้อ่านทุกท่าน ณ ที่นี้ว่า เรื่องการวิเคราะห์หะดีษถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบและติดตามสายรายงานทุกๆกระแสของหะดีษที่จะวิเคราะห์, ประวัติผู้รายงานของแต่ละกระแส รวมทั้ง “จุดดี” และ “จุดด้อย” ของเขา แล้วนำมาพิจารณาให้รอบคอบและละเอียดถี่ถ้วน ก่อนที่จะสรุปตามหลักวิชาการว่า หะดีษบทใดเศาะเหี๊ยะฮ์หรือเฎาะอีฟ ...
แต่เท่าที่ตรวจสอบดูจนตลอดแล้ว ไม่พบว่าในเว็บไซด์ดังกล่าว ท่านผู้เขียนวิเคราะห์หะดีษนี้จะได้นำเอา “จุดดี” หรืออย่างน้อยก็ “บทสรุปสถานภาพ” ของผู้รายงาน 3 ท่านนั้นมาระบุเอาไว้เลย นอกจากการนำเสนอเพียงด้านเดียว คือ “จุดด้อย” ของพวกเขา แล้วก็สรุปว่า หะดีษที่พวกเขารายงานเป็นหะดีษเฎาะอีฟ ...
การสรุปเอาเองในลักษณะนี้ จึงถือว่าไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการหะดีษ...
ทั้งนี้ เพราะในตัวผู้รายงานหะดีษ, โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้รายงาน 3 ท่านจากการรายงานหะดีษเรื่องการยึดถือกิตาบุลลอฮ์ และซุนนะฮ์ -- จากการรายงานของท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. คือ ท่านอิสมาอีล บินอับดุลลอฮ์ อบีย์อุวัยส์, ท่านอับดุลลอฮ์ บินอับดุลลอฮ์ อบีย์อุวัยส์ผู้บิดา และท่านอิกริมะฮ์นั้น -- ยังมีความขัดแย้งกันอีกมาก ระหว่างนักวิชาการว่า เชื่อถือได้หรือไม่ ...
แน่นอน เมื่อผู้รายงานหะดีษท่านใด มีทั้งผู้ให้ความเชื่อถือและไม่ให้ความเชื่อถือ .. พวกเรา – ผู้เป็นนักวิชาการระดับธรรมดา – ย่อมไม่สามารถจะไปตัดสินหรือไปรับเอาทัศนะใดทัศนะหนึ่งมายึดถือตามอารมณ์ชอบของตนเองได้ แต่เป็นหน้าที่ของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญและสันทัดในการวิเคราะห์ประวัติผู้รายงาน จะต้องนำเอาทั้ง “จุดดี-จุดด้อย” ที่ขัดแย้งกันของผู้รายงานท่านนั้นมา “กลั่นกรอง” เพื่อหาบทสรุปอีกทีหนึ่ง
“บทสรุป” ที่นักวิชาการได้นำเสนอไว้หลังการกลั่นกรองแล้ว จึงเป็น “ข้อชี้ขาด” ของความขัดแย้งในสถานภาพที่แท้จริงของผู้รายงานแต่ละท่าน ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น