อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2561

ผู้หญิงใส่ สร้อยแหวน กำไล ทองคำได้หรือไม่ (ตอนจบ)



โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย


สรุป
จากข้อมูลและการวิเคราะห์ทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องเครื่องประดับทองคำของสตรีที่ผมได้เขียนมาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ หากท่านผู้อ่านได้อ่านมันอย่างใช้วิจารณญาณ และต้องการค้นคว้าหาความจริงตามหลักวิชาการ, .. โดยละทิ้งความเชื่อมั่นเดิมๆและความอคติชนิดที่ว่า ยอมรับไม่ได้ตั้งแต่ยังไม่ทันได้อ่าน, และ/หรือละทิ้งความศรัทธาในข้อเขียนและตัวผู้เขียนจนมองข้ามความบกพร่องของข้อมูลบางอย่างที่อาจจะมีอยู่ ผมเชื่อว่า ท่านก็คงจะได้รับทางนำที่แท้จริงเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้องของท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป และตลอดไป ...
จากบรรดาข้อมูลเหล่านี้แหละที่ท่านเช็คอัล-อัลบานีย์มั่นใจถึงกับกล้า “ฟันธง” ในหนังสือ “อาดาบุซ-ซะฟาฟ” ของท่านว่า แหวนทองคำ, สร้อยคอทองคำ, และกำไลทองคำ (รวมทั้งเครื่องประดับทองคำอื่นๆที่มีลักษณะเป็นห่วงหรือวงกลม เช่นตุ้มหูทองคำชนิดเป็นห่วงกลม เป็นต้น) เป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) สำหรับสตรี .. เหมือนกับที่มันเป็นที่ต้องห้ามสำหรับบุรุษเช่นเดียวกัน ...
แต่สำหรับผม ยอมรับว่ายังไม่กล้าหาญพอที่จะหุก่มในลักษณะฟันธงอย่างนั้น นอกจากจะพูดเพียงว่า ไม่อยากให้สตรีใช้เครื่องประดับทองคำอย่างที่ว่ามานี้เลย ...
ขอยืนยันว่า ผมจะพูดอย่างนี้อยู่ต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีผู้ใด “ให้คำตอบ” ต่อคำถามของผมทั้งหมดในหน้าที่ 33 ให้เคลียร์หรือกระจ่างได้ ...
ส่วนเหตุผลที่ผมยังไม่กล้าฟันธงว่าเครื่องประดับดังกล่าวนั้นหะรอม ก็เพราะผมยัง “คาใจ” อยู่กับรายงานบทหนึ่งซึ่งท่านอัมร์ บิน อบีย์อัมร์ ได้รายงานมาว่า ...
(( سَأَلْتُ الْقَاسِمَ بْنَ مُحَمَّدٍ، قُلْتُ : إِنَّ نَاسًا يَزْعَمُوْنَ أَنَّ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ نَهَى عَنْ اْلأَحْمَرَيْنِ، اَلْمُعَصْفَرِ وَالذَّهَبِ، فَقَالَ : كَذَبُوْا وَاللهِ ! لَقَدْ رَأَيْتُ عَائِشَةَ تَلْبَسُ الْمُعَصْفَرَاتِ وَتَلْبَسُ خَوَاتِيْمَ الذَّهَبِ ))
“ฉันได้ถามท่านอัล-กอซิม บิน มุหัมมัด (เป็นหลานชายของท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ.) ว่า : ประชาชนทั่วไปเข้าใจกันว่า ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ห้ามจาก “ของแดง” สองชนิด คือ เสื้อผ้าที่ย้อมฝาดและทองคำ ? .. ท่านอัล-กอซิมตอบว่า .. “ไม่จริงหรอก, ขอสาบานด้วยพระนามอัลลอฮ์, ขอยืนยันว่าฉันเคยเห็นท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. สวมเสื้อผ้าที่ย้อมฝาด และสวมแหวนทองคำหลายวง” ...
(บันทึกโดย ท่านอิบนุสะอัด ในหนังสือ “อัฏ-เฏาะบะกอต” เล่มที่ 8 หน้า 278 ด้วยสายรายงานที่สวยงาม, และท่านบุคอรีย์ก็ได้บันทึกหะดีษนี้ไว้เช่นกันในหนังสือ “อัศ-เศาะเหี๊ยะฮ์” ของท่านใน كِتَابُ اللِّبَاسِ، بَابُ الْخَاتَمِ لِلنِّسَاءِ ในลักษณะมุอัลลัก คือ มิได้ระบุสายรายงานไว้ .. ด้วยข้อความว่า وَكاَن َعَلَىعَائِشَةَ خَوَاتِيْمُ الذَّهَبِ : เคยปรากฏว่า มีแหวนทองคำหลายวงที่ตัวท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ.) ...
ท่านเช็คอัล-อัลบานีย์ ได้พยายามอธิบายเชิง “ตะอ์วีล” ความหมายหะดีษบทนี้ในหลายลักษณะ อาทิเช่น เป็นไปได้ว่าท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. ไม่ได้รับทราบข้อห้ามครั้งสุดท้ายของท่านรอซู้ลฯ, หรือแหวนทองคำที่ท่านสวมนั้น อาจจะเป็นแหวนทองคำชุบ ไม่ใช่แหวนทองคำแท้ เป็นต้น, พร้อมกันนี้ ท่านอัล-อัลบานีย์ยังได้นำหะดีษอีก 2-3 บทมาเป็นหลักฐานยืนยันว่า บางครั้ง คำพูดหรือการกระทำของท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. ยังขัดแย้งกับซุนนะฮ์ที่ถูกต้องในบางเรื่อง .. และสุดท้ายท่านอัล-อัลบานีย์ก็สรุปว่า ไม่ว่าจะเพราะเหตุผลกลใดก็ตาม การกระทำของท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. ก็ไม่ถือว่าเป็นหลักฐานชี้ขาด (حُجَّةٌ)ในเรื่องนี้ เพราะหลักฐานชี้ขาดของศาสนา ต้องมาจากคำพูดหรือการกระทำของท่านนบีย์มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัญอิวะซัลลัมเพียงผู้เดียว ...
ในทัศนะส่วนตัวของผม .. มองว่า จากเหตุผลข้อแรกที่ว่า ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. อาจจะยังไม่ทราบข้อห้ามครั้งสุดท้ายของท่านรอซู้ลฯ ที่ห้ามสตรีใส่เครื่องประดับทองคำบางชนิดนั้น แม้ว่าตามข้อเท็จจริงอาจจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่ก็รู้สึกว่าน่าจะเป็นเหตุผลที่อ่อนเกินไป ทั้งนี้ เพราะการที่ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ.ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดท่านศาสดาที่สุด จะไม่ทราบข้อห้ามนี้ เปอร์เซ็นของความเป็นไปได้มีน้อยมาก ...
ส่วนเหตุผลข้อสองที่ว่า แหวนทองคำที่ท่านอาอิชะฮ์สวมนั้นอาจจะมิใช่เป็นแหวนทองคำแท้ แต่เป็นแหวนทองคำชุบ ...
เหตุผลข้อนี้ เป็นเรื่องน่าคิด และโอกาส “เป็นไปได้” มีมากกว่าเหตุผลข้อแรก ...
เพราะคำกล่าวที่ว่า แหวนนั้นเป็นแหวนทองคำ ก็มิใช่เป็นคำบอกเล่าที่ออกจากปากของท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. เอง .. แต่เป็นคำพูดของท่านอัล-กอซิม บิน มุหัมมัด หลานชายของท่าน อันเป็นการบอกเล่าจากการ “เห็น” ด้วยสายตาเท่านั้น ...
ข้อเท็จจริงที่ใครๆจะปฏิเสธมิได้ก็คือ แหวนทองคำแท้กับแหวนทองคำชุบ – ไม่ว่าสมัยนี้หรือสมัยไหน – หากมองดูสายตาเพียงผิวเผิน ก็แทบจะมองไม่ออก ...
ที่สำคัญอย่างยิ่ง ท่านอัล-กอซิมผู้นี้ ยังเคยรายงานหะดีษที่ถูกต้องมาอีกบทหนึ่งซึ่งมีการระบุอย่างชัดเจนว่า เครื่องประดับที่ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ.ใช้นั้น เป็นเครื่องประดับที่ถูกชุบด้วยทองคำ ! ...
ดังนั้น แหวนทองคำที่ถูกกล่าวถึงในหะดีษบทนี้ จึง مُحْتَمَلٌ .. คือ “เป็นไปได้” ที่จะเป็น “แหวนทองคำชุบ” เช่นเดียวกับหะดีษบทนั้น ...
ท่านอิบนุสะอัด ได้บันทึกในหนังสือ “อัฏ-เฏาะบะกอต” เล่มที่ 8 หน้า 277-278 ด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง, จากท่านอัมร์ บิน อบีย์อัมร์ (ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้รายงานหะดีษข้างต้น) ว่า ...
(( سَمِعْتُ الْقَاسِمَ بْنَ مُحَمَّدٍ يُحَدِّثُ أَنَّ عَائِشَةَ كَانَتْ تَلْبَسُ اْلأَحْمَرَيْنِ، اَلْمُذَهَّبَ وَالْمُعَصْفَرَ وَهِىَ مُحْرِمَةٌ ))
“ฉันได้ยินท่านอัล-กอซิมพูดว่า แท้จริง ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. เคยใส่ “ของแดง” สองชนิดคือ(เครื่องประดับ) ทองคำชุบ และเสื้อผ้าย้อมฝาด ขณะท่านอยู่ในสภาพเอี๊ยะห์รอม” ...
รายงานทั้ง 2 บทนี้ แม้ดูแล้วจะเป็นคนละเหตุการณ์กัน แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า หลังจากที่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ห้ามสตรีจากการใช้เครื่องประดับทองคำบางชนิด และสิ้นชีพไปแล้ว ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. ก็หันมาใช้เครื่องประดับที่เป็นทองคำชุบเหมือนกัน ...
จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่า ทำไมท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. จึงไม่ใช้เครื่องประดับจากทองคำแท้ตลอดไป หากมันเป็นที่อนุมัติ ? ...
“แหวนทองคำ” ที่ท่านอัล-กอซิม เห็นท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. สวมใส่ดังปรากฏในรายงานแรกนั้น จะแน่ใจได้อย่างไรว่ามันเป็นแหวนทองคำแท้ ? ...
แบบนี้ ตามหลักวิชา “อุศูลุลฟิกฮ์” ถือว่า รายงานของท่านอัล-กอซิมที่อ้างว่าท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. เคยสวมแหวนทองคำหลังจากท่านศาสดาสิ้นชีพไปแล้ว ย่อมจะนำมาอ้างเป็นหลักฐานเรื่องอนุญาตแหวนทองคำแก่สตรีไม่ได้ ...
ทั้งนี้ เพราะมี เอี๊ยะห์ติมาล (إِحْتِمَالٌ) ในกรณีนี้ .. คือ ความเป็นไปได้ว่า แหวนทองคำที่ว่านั้น มิใช่ทองคำแท้, แต่อาจเป็นทองคำชุบ .. ดังที่มีปรากฏในอีกรายงานหนึ่งจากท่านอัมร์ บิน อบีย์อัมร์, จากท่านอัล-กอซิมเช่นเดียวกัน ...
มีกฎเกณฑ์ข้อหนึ่งของวิชาอุศูลุลฟิกฮ์ กล่าวเอาไว้ว่า ...
(( إِذَا تَطَرَّقَ عَلَى الدَّلِيْلِ اْلإحْتِمَالُ سَقَطَ بِهِ اْلإسْتِدْلاَلُ))
“เมื่อหลักฐานใดปรากฏมีการเอี๊ยะห์ติมาล ก็ย่อมเป็นสาเหตุทำให้การอ้างมันเป็นหลักฐาน ต้องตก (คือสิ้นสภาพ) ไป” ...
เรื่องนี้ มันทำให้ผมนึกไปถึงเรื่องจริงที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของตนเองเมื่อไม่นานมานี้ ...
สุภาพสตรีท่านหนึ่งโทรศัพท์มาหาผม เพื่อปรับทุกข์ให้ฟังว่า รู้สึกเป็นห่วง (แกมหมั่นไส้) เพื่อนคนหนึ่งที่ชอบใส่เครื่องเพชรทองพราวไปทั้งตัวจนดูเหมือนตู้ทองเคลื่อนที่อย่างที่เขาชอบว่ากัน เกรงว่าจะไปเจอ(ไม่) ดีเข้าให้ .. ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพราะยุคนี้โจรมันชุม ...
เมื่อผมไปถาม (แกมเตือน) เพื่อนคนที่ (ถูก) ว่านี้ เธอหัวเราะก๊ากแล้วบอกผมว่า ขณะนี้เธอไม่มีของแท้ให้ใส่หรอก ไอ้เพชรก็ดี, ทองคำก็ดีที่เห็นเธอใส่น่ะ เป็นของเก๊ทั้งนั้นแหละ .. แล้วเธอก็ย้อนถามผมว่า .. “เค๊าดูไม่ออกจริงๆหรือว่า ไอ้ที่ฉันใส่อยู่ทุกวันนี้น่ะ มันเป็นของแท้หรือของเทียม ?” ...
ก็นั่นนะซิครับ ขนาดสตรีระดับ “ผู้ชำนาญการ” และชอบเครื่องประดับเพชรพลอยเป็นชีวิตจิตใจด้วยกันแท้ๆยังดูไม่ออก แล้วนับประสาอะไรกับท่านอัล-กอซิม บิน มุหัมมัด ซึ่งเป็นผู้ชายคนหนึ่ง จะไปดูออกหรือครับว่า อันแหวนทองคำที่ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. สวมอยู่นั้น มันเป็นทองแท้หรือทองชุบ ? ...
สรุปแล้วผมขอแนะนำว่า ทางออกที่ชัวร์ๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ มุสลิมะฮ์เราอย่าไปสวมใส่แหวนทองคำ, สร้อยคอทองคำ และกำไลทองคำแหละครับจะเป็นการดีที่สุด ทั้งนี้ เพื่อสวัสดิภาพของท่านเองทั้งดุนยาและอาคิเราะฮ์ ...
ربنا آتنا فى الدنيا حسنة، وفى الآخرة حسنة، وقنا عذاب النار، وصلى الله على سيدنا محمد وعلى آله وصحبه وسلم.



ผู้หญิงใส่ สร้อยแหวน กำไล ทองคำได้หรือไม่ (ตอนที่ 8)



โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

 ทัศนะนักวิชาการเกี่ยวกับทางออกของความขัดแย้งเรื่องเครื่องประดับทองคำสตรี

ทัศนะที่ 1. หะดีษที่ห้ามสตรีจากการใช้เครื่องประดับทองคำดังที่กล่าวมาตอนต้น เป็นหะดีษเฎาะอีฟ ...
เกี่ยวกับทัศนะที่หนึ่งนี้ ผมคงจะไม่ต้องชี้แจงอะไรมาก เพราะนักวิชาการหะดีษจำนวนมากยอมรับแล้วว่า หะดีษที่ห้ามสตรีจากการใช้แหวนทองคำ, สร้อยคอทองคำ และกำไลทองคำดังข้างต้นนั้น เป็นหะดีษที่ถูกต้อง (เศาะเหี๊ยะฮ์) .. ดังที่ผมได้วิเคราะห์และได้ตีแผ่รายงานของพวกท่านไปแล้ว ทัศนะนี้จึงรับฟังไม่ขึ้น ...
ทัศนะที่ 2. ถือว่า ข้อห้ามดังกล่าวนั้น หมายถึงการสวมใส่โดยเจตนาโอ้อวด,
นักวิชาการที่มีทัศนะดังกล่าว ได้อ้างหลักฐานจากหะดีษบทหนึ่งซึ่งท่านริบอีย์ บินหิรอช (เป็นตาบิอีนระดับอาวุโส, สิ้นชีวิตประมาณปี ฮ.ศ. 100), ได้รายงานมาจากภรรยาของท่าน, จากน้องสาวของท่านหุซัยฟะฮ์ บินอัล-ยะมาน ร.ฎ. ซึ่งกล่าวว่า ...
خَطَبَنَا رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، فَقَالَ : يَا مَعْشَرَالنِّسَاءِ! أَمَا لَكُنَّ فِى الْفِضَّةِ مَا تَحَلَّيْنَ ؟ أَمَا إِنَّهُ لَيْسَ مِنْكُنَّ امْرَأَةٌ تُحَلِّىذَهَبًا تُظْهِرُهُ إِلاَّ عُذِّبَتْ بِهِ ...
“ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวอบรมพวกเรา, ท่านกล่าวว่า .. “สุภาพสตรีทั้งหลาย ! ไม่มีสำหรับพวกเธอซึ่งธาตุเงินที่พวกเธอจะใช้ประดับประดากันแล้วหรือ ? .. แท้จริง ไม่มีสตรีใดจากพวกเธอที่ใช้เครื่องประดับทองคำและโชว์ (อวด) มัน เว้นแต่นางจะถูกลงโทษเพราะการโชว์นั้น” ...
(บันทึกโดยท่าน อัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 5153, ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 437, ท่านอะห์มัด เล่มที่ 5 หน้า 398, เล่มที่ 6 หน้า 357, 358, 369, และท่านอัด-ดาริมีย์ หะดีษที่ 2645) ...
หะดีษบทนี้แสดงว่า สตรีที่ใส่เครื่องประดับทองคำโดยเจตนาโชว์หรืออวดมัน นางก็จะถูกลงโทษฐานอวดเครื่องประดับนั้น, เพราะฉะนั้น ความหมายในมุมกลับก็ คือ ถ้านางสวมใส่มัน แต่ไม่ได้มีเจตนาโชว์หรืออวดแก่ผู้ใด นางก็จะไม่ถูกลงโทษ ...
ข้อชี้แจง
1. สถานภาพของหะดีษบทนี้ เป็นหะดีษเฎาะอีฟ ! จึงนำมาอ้างเป็นหลักฐานเรื่องเจตนาโชว์หรือไม่เจตนาโชว์เครื่องประดับทองคำไม่ได้, เพราะภรรยาของท่านริบอีย์ บินหิรอช ผู้รายงานท่านหนึ่ง ไม่เป็นที่รู้จัก (มัจญฮูล) ...
ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “อัต-ตักรีบ” เล่มที่ 2 หน้า 630 ว่า .. لَمْ أَقِفْ عَلَى اسْمِهَا .. คือ ฉันไม่เคยรู้ชื่อของเธอเลย ...
2. ในกรณีที่ “สมมุติ” ว่าหะดีษบทนี้ถูกต้อง (เศาะเหี๊ยะฮ์) แต่ข้ออ้างที่ว่า การโชว์เครื่องประดับทองคำคือเหตุผลที่ทำให้ห้ามใส่เครื่องประดับนั้น ก็ยังรับฟังไม่ขึ้น ..
ทั้งนี้ ถ้าเหตุผลแห่งการห้ามคือการอวดหรือโชว์ เหตุผลเดียวกันนี้ก็จะครอบคลุมเครื่องประดับทุกชนิด ไม่ใช่เฉพาะทองคำเท่านั้นที่ถูกห้ามใส่โชว์ แต่เครื่องประดับที่ทำจากเงินก็จะถูกห้ามใส่โชว์ด้วยเช่นเดียวกัน, .. ซึ่งประเด็นนี้ขัดแย้งกับข้อความตอนท้ายของหะดีษซึ่งรายงานโดยท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ ร.ฎ. ที่ผ่านมาแล้วจากหน้า 15 .. โดยท่านศาสดานอกจากมิได้ห้ามแล้ว ท่านกลับ “ส่งเสริม” ให้ใช้เงินด้วยการกล่าวว่า “พวกท่านจงหาความเพลิดเพลินด้วยเงินเถิด” ...
ท่านอิหม่าม อัซ-ซินดี้ย์ ได้อธิบายในลักษณะคล้ายกันกับคำอธิบายของผมข้างต้นนี้ในหนังสืออธิบาย “สุนัน อัน-นะซาอีย์” เล่มที่ 8 หน้า 535 ...
3. หรือแม้กระทั่งหะดีษห้ามใส่เครื่องประดับทองคำจากบทที่สอง อันเป็นเรื่องของบุตรีท่านฮุบัยเราะฮ์และเรื่องท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ร.ฎ.ที่ผ่านมาแล้ว .. จะเห็นได้ว่า ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ร.ฎ. มิได้อวดหรือโชว์สร้อยคอทองคำเส้นนั้นเลย ตรงข้ามท่านพยายามปกปิดมันด้วยการกำไว้ในมือด้วยซ้ำ แต่ท่านศาสดาก็กล่าวตำหนิและไม่พอใจเธออย่างรุนแรงเมื่อเห็นสร้อยทองคำนั้นอยู่ในมือของเธอ ...
แสดงว่า ข้อห้ามในเรื่องนี้ เหตุผลหลักก็คือ “ห้ามใส่เพราะมันเป็นสร้อยคอทองคำ” .. ส่วนการห้ามโชว์หรืออวดนั้น ถือเป็นการ “เน้น” เรื่องนี้ให้มีน้ำหนักแห่งการห้ามมากยิ่งขึ้น คือนอกจากจะห้ามบรรดาสตรีจากการสวมใส่เครื่องประดับทองคำประเภทแหวน, สร้อยคอ และกำไลแล้ว ยังต้องการให้พวกเธอรังเกียจและหลีกห่างจากเครื่องประดับชนิดนี้ให้มากขึ้นอีก ทั้งนี้ เพราะสตรีแทบจะ .. หรือทุกคน ที่ใส่เครื่องประดับทองคำ ก็ล้วนต้องการอวดหรือโชว์มันด้วยกันทั้งนั้น ...
ข้ออ้างที่ว่า เหตุผลในการห้ามเครื่องประดับทองคำแก่สตรี หมายถึงในกรณีต้องการอวดหรือโชว์ จึงรับฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน ...
ทัศนะที่ 3. ถือว่า การห้ามดังกล่าว หมายถึงกรณียังไม่จ่ายซะกาต ...
ทัศนะนี้ ได้อ้างหลักฐานจากหะดีษที่ถูกต้องบทหนึ่งซึ่งรายงานมาจากอัมร์ บินชุอัยบ์, จากบิดาของท่าน, จากปู่ของท่าน ซึ่งกล่าวว่า ...
(( إِنَّ امْرَأَةً أَتَتْ رَسُوْلَ الله ِصَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلََّمَ وَمَعَهَا ابْنَةٌ لَهَا، وَفِىْ يَدِ ابْنَتِهَا مَسَكَتَانِ (أَىْ سِوَارَانِ) غَلِيْظَتَانِ مِنْ ذَهَبٍ، فَقَالَ لَهَا : أَتُعْطِيْنَ زَكَاةَ هَذَا ؟ قَالَتْ : لاَ قَالَ : أَيَسُرُّكِ أَنْ يُسَوِّرَكِ اللهُ بِهِمَا يَوْمَ الْقِيَامَةِ سِوَارَيْنِ مِنْ نَارٍ ؟ قَالَ : فَخَلَعَتْهُمَا فَأَلْقَتْهُمَا إِلَى رَسُوْلِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَقَالَتْ : هُمَا لِلهِ عَزَّ وَجَلَّ وَلِرَسُوْلِهِ ))
“สตรีผู้หนึ่งได้ไปหาท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมโดยนำบุตรสาวเล็กๆไปด้วย ซึ่งในมือบุตรสาวของนางมีกำไลทองคำใหญ่ 2 วงสวมอยู่ ท่านศาสดาจึงกล่าวแก่นางว่า .. “เธอจะจ่ายซะกาตสิ่งนี้ไหม ?” .. นางตอบว่า .. “ไม่ค่ะ” .. ท่านศาสดาจึงกล่าวว่า .. “เธอชอบที่จะให้อัลลอฮ์สวมกำไล 2 วงจากไฟนรกแก่เธอในวันกิยามะฮ์เพราะมันทั้งสองกระนั้นหรือ ?” .. ปู่ของท่านอัมร์กล่าวต่อไปว่า .. นางจึงถอดกำไลทั้งสองนั้นออก แล้ววางมันให้แก่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมแล้วนางก็กล่าวว่า .. “ทั้งสองเส้นนี้ เป็นของพระองค์อัลลอฮ์ ผู้ทรงเกรียงไกร, ทรงยิ่งใหญ่ และเป็นของรอซู้ลของพระองค์” ...
(บันทึกโดย ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 1563, ท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 2478 และท่านอบูอุบัยด์ในหนังสือ “อัล-อัมวาล” หะดีษที่ 1260) ...
หะดีษบทนี้ ถูกอธิบายเหมือนหะดีษบทก่อน .. คือเหตุผลที่ท่านนบีย์ฯ ห้ามสวมกำไลทองคำนั้น ก็เพราะเจ้าของปฏิเสธการจ่ายซะกาต, .. ดังเนื้อหาของหะดีษบทนี้ ...
ข้อชี้แจง
หะดีษบทนี้ เป็นหลักฐานที่ชัดเจนสำหรับผู้ที่มีทัศนะว่า เครื่องประดับทองคำทุกชนิด วาญิบต้องจ่ายซะกาตด้วย .. ซึ่งถือว่าเป็นทัศนะที่ถูกต้อง ...
โปรดสังเกตด้วยว่า หะดีษนี้กล่าวถึงเฉพาะในประเด็นวาญิบต้องจ่ายซะกาตกำไลทองคำ และโทษของการไม่จ่ายซะกาตมันในวันอาคิเราะฮ์เท่านั้น แต่มิได้กล่าวถึงเรื่องการ “อนุมัติ” หรือการ “ห้าม” สวมกำไลทองคำแต่ประการใด .. ซึ่งตรงข้ามกับ “หะดีษห้าม” ในตอนต้น ที่ระบุชัดเจนถึงการห้ามสตรีใช้เครื่องประดับทองคำบางชนิด โดยมิได้เอ่ยถึงเรื่องการจ่ายซะกาตแม้แต่คำเดียว ...
ดังนั้น ข้ออ้างที่ว่า อนุมัติให้สตรีสวมกำไลทองคำได้หากมีการจ่ายซะกาตแล้ว จึงเป็นเพียง “ความเห็น” ที่ไม่มีตัวบ่งชี้ (اَلدِّلاَلَةُ) ใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจากหะดีษบทนี้หรือบทไหน ...
ทั้งนี้ เพราะการที่ผู้ครอบครองกำไลทองคำจะถูกพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.ลงโทษฐานไม่ยอมจ่ายซะกาตเป็นเรื่องหนึ่ง, แต่การห้ามสวมกำไลทองคำเพราะมันเป็นทองคำก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่มีส่วนสัมพันธ์กัน ...
สำนวนหะดีษจากการรายงานของท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ ร.ฎ.บทแรกจากหน้า 15 ซึ่งท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า .. “ผู้ใดพึงใจจะให้ผู้ที่เขารักสวมแหวนจากไฟนรก ก็จงสวมแหวนทองคำให้เขาเถิด ฯลฯ .......” ก็บ่งบอกความหมายชัดเจนแล้วว่า เจตนารมณ์ของท่านศาสดาจากหะดีษบทนี้ก็คือ ห้ามสวมแหวนทองคำ, สร้อยคอทองคำ, และกำไลทองคำ, .. และ สาเหตุที่ท่านห้ามสวมก็เพราะมันเป็นทองคำ, .. ซึ่งท่านกล่าวว่า มันเป็นแหวน, สร้อย และกำไลจากไฟนรก ...
ส่วนหะดีษบุตรีของท่านฮุบัยเราะฮ์และท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ร.ฎ. บทถัดมาก็เช่นเดียวกัน คือท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม มิได้เอ่ยถึงเรื่องการจ่ายหรือไม่จ่ายซะกาต, และก็ไม่มีข้อความใดจากหะดีษบ่งบอกว่า สร้อยคอทองคำเส้นนั้นของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ร.ฎ. มีขนาดใหญ่จนครบนิศอบ (ปริมาณ) ของซะกาต แต่ท่านศาสดาได้กล่าวแก่ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ร.ฎ. เพียงว่า สร้อยที่เธอถืออยู่นั้น คือสร้อยจากไฟนรก .. จนทำให้ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ร.ฎ. ต้องรีบนำมันไปขาย ...
เหล่านี้จึงเป็นเหตุผลอันชัดเจนว่า สาเหตุที่ท่านศาสดาห้ามสวมสร้อยคอ, หรือแหวน หรือกำไลทองคำ มิใช่เพราะไม่จ่ายซะกาต .. แต่เพราะมันเป็นทองคำ ! ซึ่งท่านเรียกมันว่า เป็นแหวน, สร้อยคอ และกำไลจากไฟนรกต่างหาก ...
ผู้อ่านบางท่านอาจจะมีข้อสงสัยว่า ถ้าหากว่าการสวมใส่เครื่องประดับทองคำบางชนิดเหล่านี้เป็นที่ต้องห้ามแล้ว อิสลามจะมีความชอบธรรมในการเก็บซะกาตจากมัน (ดังหะดีษข้างต้นนั้น) ได้อย่างไร ? ...
คำตอบสั้นๆในกรณีนี้ก็คือ อิสลามเพียงแต่ “ห้ามสวม” แต่ไม่ได้ “ห้ามมี” หรือการเก็บไว้ซึ่งเครื่องประดับทองคำเหล่านี้เพื่อประกอบธุรกรรมอย่างอื่น เช่นเพื่อขายมันให้แก่คนต่างศาสนาที่สวมใส่มันได้ .. หรือนำมันไปหลอมละลายเพื่อทำเครื่องประดับในรูปลักษณ์อย่างอื่นที่ยังเป็นที่อนุมัติอีกมาก ดังที่ได้อธิบายมาแล้วในตอนต้น ...
ตัวอย่างเปรียบเทียบที่ชัดเจนในเรื่องนี้ก็คือ เรื่องภาชนะต่างๆ เช่นจาน, ขันน้ำ, แก้วน้ำ เป็นต้น ที่ทำจากทองคำ ...
เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า อิสลามห้าม “กินหรือดื่ม” จากภาชนะเหล่านี้ที่ทำจากทองคำ, .. แต่ขณะเดียวกันอิสลามก็ไม่เคยห้าม “มีไว้” ซึ่งภาชนะเหล่านี้หากเราจะมีมันไว้เพื่อใช้มันในวัตถุประสงค์อย่างอื่น -- ตามทัศนะที่ถูกต้อง -- ดังคำกล่าวของท่านเช็คอัศ-ศ็อนอานีย์ ในหนังสือ “สุบุลุส สลาม” เล่มที่ 1 หน้า 28 ...
ดังนั้น ผู้ใดก็ตามที่ได้เก็บสะสมเครื่องประดับทองคำเหล่านี้, หรือภาชนะที่ทำจากทองคำเหล่านี้ไว้ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่นจากการสวมใส่ หรือใช้เป็นภาชนะดื่มกิน, และปริมาณของทองคำดังกล่าวนั้นครบจำนวน (นิศอบ) ที่จะต้องจ่ายซะกาต เขาก็ต้องจ่ายซะกาตมันเมื่อครบรอบปีตามหลักการอิสลามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการวาญิบจ่ายซะกาต เป็นคนละกรณีกันกับการห้ามสวมใส่เครื่องประดับทองคำ หรือห้ามใช้ภาชนะทองคำเหล่านี้ดื่มกิน .. ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว ...
อาจจะมีผู้อ่านบางท่านติงว่า .. มีหะดีษบทหนึ่งในหนังสือ “หะลาลและหะรอมในอิสลาม” กล่าวเอาไว้ว่า ...
(( إَنَّ اللهَ إِذَا حَرَّمَ شَيْئًا حَرَّمَ ثَمَنَهُ ))
“แท้จริงพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.นั้น เมื่อพระองค์ทรงห้ามสิ่งใดแล้ว พระองค์ก็จะทรงห้ามราคาของมันด้วย”
(จากหนังสือ “اَلْحَلاَلُ وَالْحَرَامُ فِى اْلإِسْلاَمِ” ของท่านเช็คยูซุฟ อัล-ก็อรฺฎอวีย์หน้า 232, และหนังสือ “หะลาลและหะรอมในอิสลาม” จากฉบับคำแปลของท่านอาจารย์บรรจง บิน กาซัน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 หน้า 393) ...
แสดงว่าการซื้อขายแหวน, หรือสร้อยคอ, หรือกำไลทองคำ ย่อมเป็นเรื่องต้องห้าม, เพราะเมื่อพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.ทรงห้ามใช้เครื่องประดับทองคำเหล่านั้น ก็เท่ากับพระองค์ทรงห้ามราคาที่ได้จากการซื้อขายมันด้วย ตามนัยของหะดีษบทนี้ ...
คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ สำนวนดังข้างต้นนี้เป็นสำนวนจากการบันทึกของท่านอะห์มัด เล่มที่ 1 หน้า 322, และท่านอัด-ดารุกุฏนีย์ ในหนังสือ “อัส-สุนัน” เล่มที่ 3 หน้า 7 โดยรายงานมาจากท่านอิบนุ อับบาส ร.ฎ. ด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง ...
แต่สำนวนที่สมบูรณ์กว่านี้และถูกต้องกว่านี้ ก็คือสำนวนที่ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุอับบาส ร.ฎ. ได้รายงานจากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งกล่าวว่า ...
(( لَعَنَ اللهُ الْيَهُوْدَ ثَلاَثًا، إِنَّ اللهَ تَعَالَى حَرَّمَ عَلَيْهِمْ الشُّحُوْمَ فَبَاعُوْهَا وَأَكَلُوْا أَثْمَانَهَا، وَإِنَّ اللهَ تَعَالَى إِذَا حَرَّمَ عَلَى قَوْمٍ أَكْلَ شَيْئٍ حَرَّمَ عَلَيْهِمْ ثَمَنَهُ ))
“พระองค์อัลลอฮ์ ได้สาปแช่งพวกยะฮูดีย์ (ท่านกล่าวคำนี้อยู่ 3 ครั้ง) .. แท้จริงพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงห้ามพวกเขาจาก (การบริโภค)ไขมันสัตว์ แล้วพวกเขากลับขายไขมันนั้นและเอาราคาของมันมาบริโภคแทน, แท้จริง พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.นั้น เมื่อพระองค์ทรงห้ามชนกลุ่มหนึ่งจากการบริโภคสิ่งใด พระองค์ก็จะทรงห้ามพวกเขาจากราคาของสิ่งนั้นด้วย” ...
(บันทึกโดย ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 3488, และท่านอะห์มัด เล่มที่ 1 หน้า 247, 293) ...
จะเห็นได้ว่า หะดีษที่ถูกต้องสำนวนนี้ได้อธิบายถึงที่มาของเรื่องนี้ว่า พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้สาปแช่งพวกยะฮูดีย์ที่ถูกห้ามจากการ “บริโภค” ไขมันสัตว์ แต่พวกเขากลับหลีกเลี่ยงหุก่มด้วยการนำไขมันสัตว์ไปขายแล้วนำเอาราคาของมันใช้แทน, แล้วท่านศาสดาก็กล่าวต่อไปว่า เมื่อพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงห้ามชนกลุ่มใดจากการบริโภคสิ่งใด พระองค์ก็จะทรงห้ามราคาของสิ่งนั้นด้วย ...
แสดงว่า ข้อห้ามเกี่ยวกับ “ราคา” ที่แท้จริงตามนัยของหะดีษข้างต้นนี้ จะมุ่งประเด็นไปที่ “ราคาของอาหารหรือเครื่องดื่ม” ที่อิสลามห้ามบริโภค เช่นราคาสุกร,ราคาของสัตว์ที่อิสลามห้ามบริโภคทุกชนิด, ราคาสุราหรือเบียร์ เป็นต้น ...
หะดีษนี้จึงมิใช่เป็นข้อห้ามเรื่องราคาเครื่องใช้หรือเครื่องประดับทองคำที่มิใช่เป็นอาหารแต่ประการใด ...
สรุปแล้ว การทำธุรกิจซื้อขายเครื่องประดับทองคำ --- ทุกชนิด --- จึงเป็นที่อนุมัติเพราะไม่มีหลักฐานห้ามซื้อขายสิ่งเหล่านี้ ...
ทัศนะที่ 4. ถือว่า การอนุมัติเครื่องประดับทองคำทุกชนิดแก่สตรี เป็นมติเอกฉันท์ (อิจญมาอฺ) ของบรรดานักวิชาการแล้ว จึงไม่สามารถคัดค้านได้อีก ...
เกี่ยวกับข้ออ้างดังกล่าวนี้ ผมขออธิบายนิดหนึ่งว่า มติเอกฉันท์ที่แท้จริงที่ไม่มีความขัดแย้งเลย ก็คือมติเอกฉันท์ของนักวิชาการในเรื่องของสิ่งที่เป็นที่รับรู้กันจากศาสนาโดยง่ายดาย (ضَرُوْرَةٌ) ประเภทที่เด็กๆเพิ่งเรียนฟัรฺฎูอีนก็ยังรู้ .. เช่น การเป็นฟัรฺฎู (ข้อบังคับ) ของนมาซ 5 เวลา, การเป็นฟัรฺฎูของการถือศีลอด, การจ่ายซะกาค, การทำหัจญ์, หรือการห้ามดื่มเหล้า, ห้ามผิดประเวณี, ห้ามรับดอกเบี้ย เป็นต้น ...
ส่วนข้ออ้าง “มติเอกฉันท์” ในเรื่องภาคปฏิบัติปลีกย่อยอื่นๆที่นักวิชาการบางท่านชอบอ้างกัน ข้อเท็จจริงก็คือ มักจะมีความเห็นขัดแย้งจากนักวิชาการท่านอื่นในเรื่องนั้นๆอยู่เสมอ โดยที่นักวิชาการผู้อ้างมติเอกฉันท์ อาจไม่รู้ว่ามีผู้ที่ขัดแย้งอยู่ ...
ตัวอย่างในเรื่องนี้ มีอยู่มากมายในตำราฟิกฮ์ต่างๆ ซึ่งผมจะขอยกตัวอย่างสัก 2 เรื่องคือ ...
1. ท่านอัศ-ศ็อนอานีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “สุบุลุส สลาม” เล่มที่ 1 หน้า 28 เกี่ยวกับเรื่องการห้ามดื่มกินในภาชนะทองคำว่า ...
(( وَهَذَا فِى اْلأَكْلِ وَالشُّرْبِ فِيْمَا ذُكِرَ لاَ خِلاَفَ فِيْهِ، فَأَمَّا غَيْرُهُمَا مِنْ سَائِرِاْلاِسْتِعْمَالاَتِ .... وَقِيْلَ يَحْرُمُ سَائِرُاْلاِسْتِعْمَالاَتِ إِجْمَاعًا ))
“เรื่องการห้ามดื่มกินในภาชนะทองคำนั้น ไม่ปรากฏความขัดแย้งแต่อย่างใด, อนึ่ง การนำภาชนะทองคำมาใช้ในวัตถุประสงค์อื่นๆจากการดื่มกิน ...... นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า ถือเป็นเรื่องต้องห้ามเช่นเดียวกัน ตามมติเอกฉันท์ของนักวิชาการ” ...
แล้วท่านอัศ-ศ็อนอานีย์ก็ได้นำทัศนะของนักวิชาการที่อนุญาตให้นำภาชนะทองคำไปใช้ในด้านอื่นจากการดื่มกินได้ --- ซึ่งท่านถือว่าเป็นทัศนะที่ถูกต้อง --- มาลงบันทึกไว้ อันเป็นการขัดแย้งกับข้ออ้างอิจญมาอฺข้างต้น แล้วท่านก็กล่าวสรุปว่า ...
(( وَدَعْوَى اْلإِجْمَاعِ غَيْرُ صَحِيْحَةٍ ))
“ข้ออ้างมติเอกฉันท์ (อิจญมาอฺ .. ในกรณีนี้) เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง”
ท่านซัยยิด ซาบิก ก็ได้กล่าวอย่างเดียวกันกับท่านอัศ-ศ็อนอานีย์ในหนังสือ “ฟิกฮุซ ซุนนะฮ์” เล่มที่ 2 หน้า 365 ...
2. ท่านอิบนุกุดามะฮ์ ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-มุฆนีย์” เล่มที่ 2 หน้า 429 ว่า
(( وَلَنَا مَاذَكَرْنَاهُ، وَإِنَّهُ إِجْمَاعُ الْمُسْلِمِيْنَ، فَإِنَّهُمْ فِىْ كُلِّ عَصْرٍ وَمِصْرٍ يَجْتَمِعُوْنَ وَيَقْرَءُوْنَ الْقُرْآنَ وَيُهْدُوْنَ ثَوَابَهُ إِلَى مَوْتَاهُمْ مِنْ غَيْرِ نَكِيْرٍ .... ))
“สำหรับพวกเรา .. ผู้สังกัดมัษฮับหัมบะลีย์ .. ก็คือสิ่งที่เราได้กล่าวไปแล้ว (ในเรื่องการอุทิศผลบุญการอ่านอัล-กุรฺอ่านให้แก่ผู้ตายได้) .. และแน่นอน บรรดามุสลิมได้มีมติเป็นเอกฉันท์แล้วในเรื่องนี้ เพราะพวกเขา, ในทุกยุคสมัยและทุกเมืองใหญ่ จะร่วมกันอ่านอัล-กุรฺอ่าน และอุทิศผลบุญของมันให้แก่ผู้ตายของพวกเขา โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน ............”
ท่านอิบนุ กุดามะฮ์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 620) อ้างว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านเพื่ออุทิศผลบุญให้แก่ผู้ตาย เป็นมติเอกฉันท์ของบรรดามุสลิม .. ทั้งๆที่ทุกคนย่อมทราบดีแล้วว่า เรื่องนี้ คือปัญหาขัดแย้ง, .. และท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 204) ก็ได้กล่าวมาตั้งนานแล้วว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านนั้น อุทิศผลบุญให้ผู้ตายไม่ได้ (ไม่ถึง) ...
ท่านเช็ครอชิด ริฎอ ได้กล่าวคัดค้านข้ออ้างของท่านอิบนุ กุดามะฮ์ข้างต้นว่า ...
(( فَأَمَّا دَعْوَاهُ اْلإِجْمَاعَ فَهِىَ بَاطِلَةٌ قَطْعًا لَمْ يَعْبَأْ بِهَا أَحَدٌ ......... ))
“อนึ่ง ข้ออ้างของเขา (ท่านอิบนุ กุดามะฮ์) ที่ว่าเรื่องนี้ (การอ่านอัล-กุรฺอ่านอุทิศผลบุญให้กับผู้ตายได้) เป็นอิจญมาอฺ (มติเอกฉันท์) ของมุสลิมนั้น ถือเป็นข้ออ้างที่เป็นโมฆะอย่างสิ้นเชิง ซึ่งไม่มีผู้ใดเอาใจใส่ต่อข้ออ้างนี้ .....”
(จากฟุตโน้ตของท่านเช็ครอชิด ริฎอ ซึ่งตีพิมพ์ร่วมกับหนังสือ “อัล-มุฆนีย์” ของท่านอิบนุกุดามะฮ์ เล่มที่ 2 หน้า 365 ) ...
ด้วยเหตุนี้ ท่านอิหม่ามอะห์มัด อิบนุหัมบัล จึงได้กล่าวว่า ...
(( مَنِ ادَّعَى إِجْمَاعًا فَهُوَكَذَبَ ! لَعَلَّ النَّاسَ قَدِ اخْتَلَفُوْا ))
“ผู้ใดก็ตามที่อ้างว่ามีมติเอกฉันท์ (อิจญมาอฺ) เขาก็กล่าวเท็จแล้ว เพราะ (เขาไม่รู้หรอกว่า) บางทีประชาชนอาจมีความขัดแย้งกัน (ในเรื่องนั้น) ก็ได้” ...
(จากหนังสือ “อัล-มะซาอิล” ของท่านอิหม่ามอะห์มัดซึ่งรายงานโดยบุตรชายของท่าน คือท่านอับดุลลอฮ์, หน้าที่ 439) ...
ท่านอิบนุหัสมิน ได้กล่าวเอาไว้ว่า ...
(( وَقَدْ أَجَازَ بَعْضُ أَصْحَابِنَا أَنْ يُرَدَّ حَدِيْثٌ صَحِيْحٌ عَنِ النَّبِىِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَيَكُوْنُ اْلإِجْمَاعُ عَلَى خِلاَفِهِ، قَالَ : وَذَلِكَ دَلِيْلٌ عَلَى أَنَّهُ مَنْسُوْخٌ! وَهَذَا عِنْدَنَا خَطَأٌ فَاحِشٌ .......... ))
“และแน่นอน มีสหายของเราบางคนอนุญาตให้ปฏิเสธหะดีษที่ถูกต้องจากท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมได้ หากมีอิจญมาอฺขัดแย้งกับหะดีษบทนั้นอยู่ พวกเขากล่าวอ้างว่า .. “การมีอิจญมาอฺแสดงว่า หะดีษบทนั้นถูกยกเลิกแล้ว” .. สิ่งนี้ (การปฏิเสธหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ที่ขัดแย้งกับอิจญมาอฺ, และถือว่า การมีอิจญมาอฺ คือการยกเลิกหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์) ..ในทัศนะของเรา ถือว่ามันเป็นข้อผิดพลาดที่น่าเกลียดมาก ......”
(จากหนังสือ أُصُوْلُ اْلأَحْكَامِ อันเป็นหนังสืออุศูลุลฟิกฮ์ของท่านอิบนุหัสมิน เล่มที่ 2 หน้า 71) ...
นอกจากนี้ ท่านอิบนุ้ล ก็อยยิม อัล-ญูซียะฮ์ ก็ได้กล่าวไว้เช่นกันว่า ...
(( صَارَ مَنْ لاَ يَعْرِفُ الْخِلاَفَ مِنَ الْمُقَلِّدِيْنَ إِذَا احْتُجَّ عَلَيْهِ بِالْقُرْآنِ وَالسُّنَّةِ قَالَ : هَذَا خِلاَفُ اْلإِجْمَاعِ ))
“กลายเป็นว่า ผู้ที่ไม่รู้ว่ามีความขัดแย้ง อยู่ -- จากบรรดานักตักลีดทั้งหลาย -- เมื่อ(ทัศนะใดๆของ) เขา ถูกหักล้างด้วยอัล-กุรฺอ่านและซุนนะฮ์ เขาก็จะกล่าว (อ้าง) ว่า สิ่งนี้ ขัดแย้งกับมติเอกฉันท์ (อิจญมาอฺ ของนักวิชาการ) ...
(จากหนังสือ “อาดาบุซ ซะฟาฟ” หน้า 44) ...
จากข้อมูลบางประการที่ผมได้นำเสนอมานี้ ก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบมุมมองของนักวิชาการที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับ “การให้ราคา” ของข้ออ้างอิจญมาอฺของนักวิชาการบางท่านในเรื่องที่อื่นจากเรื่องอันเป็นที่รับรู้กันของศาสนาโดยง่ายดาย (ضَرُوْرَةٌ) .. ดังที่อธิบายไปแล้วในหน้าที่ 46 ...
เพราะฉะนั้น ในกรณีนี้จึงปัญหามีอยู่ว่า ข้ออ้างของนักวิชาการบางท่าน -- อาทิเช่นท่านอัล-บัยฮะกีย์ -- ที่อ้างในหนังสือ “อัส-สุนัน อัล-กุบรอ” เล่มที่ 4 หน้า 124 ว่า การอนุมัติให้สตรีใช้เครื่องประดับทองคำได้ทุกชนิด เป็นมติเอกฉันท์หรืออิจญมาอฺของนักวิชาการแล้วนั้น ...
แน่ใจหรือว่า ปัญหานี้เป็นมติเอกฉันท์จริง และไม่มีผู้ใดขัดแย้ง ? ...
สำหรับผม มีความเห็นตรงกันข้าม, คือเห็นว่าปัญหานี้เป็นปัญหาขัดแย้งแน่นอน, --- ดังการยอมรับของท่านอิบนุหัสมิน --- เพราะมีรายงานที่ถูกต้องเป็นหลักฐานยืนยันความขัดแย้งในเรื่องนี้ ...
ข้อมูลเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องการอนุญาตทองคำแก่สตรี มีดังนี้ ...
(1). ท่านอิบนุหัสมิน .. ได้กล่าวยอมรับว่า นักวิชาการมีทัศนะขัดแย้งกันในเรื่องนี้ โดยท่านได้กล่าวว่า ...
(( وَلِبَاسُ الْمَرْأَةِ الْحَرِيْرُ وَالذَّهَبُ فِى الصَّلاَةِ وَغَيْرِهَا حَلاَلٌ، عَلَى أَنَّهُ قَدِ اخْتُلِفَ فِىْ ذَلِكَ، فَلَمْ يُجَوِّزْ ذَلِكَ قَوْمٌ لَهُنَّ .........))
“เครื่องแต่งกายของสตรี อันได้แก่ผ้าไหมและทองคำนั้น .. ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกการนมาซ ถือว่าเป็นที่อนุมัติ, .. เพียงแต่ยังมีความขัดแย้งกันในเรื่องนี้ โดยมีนักวิชาการบางกลุ่มไม่อนุญาตสิ่งเหล่านี้ (ผ้าไหมและทองคำ) แก่พวกนาง ......”
(จากหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” ของท่านอิบนุหัสมิน เล่มที่ 10 หน้า 82) ...
(2). ท่านอัล-บัฆวีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “ชัรฺหุส ซุนนะฮ์” --- หลังจากที่ได้นำเสนอทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่ที่อนุญาตให้สตรีใช้เครื่องประดับจากทองคำทุกชนิดได้ --- ว่า ...
(( وَكَرِهَ ذَلِكَ قَوْمٌ ))
“แต่นักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ถือว่า สิ่งนี้ (สตรีใช้เครื่องประดับจากทองคำ) เป็นเรื่องน่ารังเกียจ (คือเป็นเรื่องต้องห้าม)” ...
(จากหนังสือ “อาดาบุซ ซะฟาฟ” หน้า 244)
(3). ท่านวะเกี๊ยะอฺ ได้รายงานจากท่านมุบาร็อก บินฟะฎอละฮ์ ว่า ท่านอัล-หะซัน อัล-บัศรีย์ รังเกียจ (คือห้าม) สตรีจากใช้ (เครื่องประดับ) ทองคำ ...
(จากหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” ของท่านอิบนุหัสมิน เล่มที่ 10 หน้า 82)
(4). มีรายงานมาจากท่านอะฏออ์ บิน อบีย์รอบาห์ ว่า ...
(( أَنَّهُ كَانَ يَكْرَهُ الذَّهَبَ كُلَّهُ، وَيَقُوْلُ : هُوَ زِيْنَهٌ ! وَيَكْرَهُهُ لِلْمُتَوَفَّىعَنْهَاوَلِغَيْرِهَا ))
“แท้จริง ท่านอะฏออ์จะรังเกียจทองคำทุกชนิด, ท่านกล่าวว่า “มันคือเครื่องประดับ” .. และท่านจะรังเกียจ (คือ ห้าม)มัน ไม่ว่าแก่สตรีที่สามีสิ้นชีวิตหรือสตรีอื่นใดก็ตาม” ...
(จากหนังสือ “อัล-มุศ็อนนัฟ” ของท่านอับดุรฺ ร็อซซาก เล่มที่ 7 หน้า 15 และหน้า 51-52) ...
(5). ท่านมุหัมมัด บินซีรีน ได้รายงานมาว่า ...
(( إِنَّ ابْنَةً ِلأَبِىْ هُرَيْرَةَ قَالَتْ لَهُ : إِنَّ الْجَوَارِىَ يُعَيِّرْنَنِىْ، يَقُلْنَ : إِنَّ أَبَاكِ لاَ يُحَلِّيْكِ الذَّهَبَ ! فَقَالَ : قُوْلِىْ لَهُنَّ : إِنَّ أَبِىْ لاَ يُحَلِّيْنِىْ الذَّهَبَ، يَخْشَى عَلَىَّ مِنَ اللَّهَبِ ))
“บุตรีคนหนึ่งของท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ ร.ฎ. ได้กล่าวกับท่านว่า .. “แม่สาวๆพวกนั้นกล่าวตำหนิฉัน, พวกหล่อนบอกว่า คุณพ่อของเธอไม่ยอมใส่เครื่องประดับทองคำแก่เธอเลย” .. ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ ร.ฎ. จึงกล่าวว่า .. “ลูกบอกพวกเขาเถิดว่า คุณพ่อของฉันไม่ยอมใส่เครื่องประดับทองคำให้ฉัน เพราะท่านกลัวฉัน (จะพินาศ) จากเปลวไฟ (นรก)” ...
(บันทึกโดย ท่านอับดุรฺ ร็อซซากในหนังสือ “อัล-มุศ็อนนัฟ” หะดีษที่ 19935, 19938, ท่านอิบนุหัสมินในหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” เล่มที่ 10 หน้า 82, ท่านอิบนุอะซากิรฺ 19/124/2, ... สำนวนในที่นี้เป็นสำนวนจากการบันทึกของท่านอิบนุอะซากิรฺ)
จากข้อมูลเท่าที่ได้อธิบายมานี้ ย่อมเป็นสิ่งยืนยันว่า การอนุญาตให้สตรีใช้เครื่องประดับทองคำ เป็น “ปัญหาขัดแย้ง” .. ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวมิใช่จะเพิ่งปรากฏขึ้นในยุคหลังนี้ดังความเข้าใจของบุคคลบางคน แต่ปรากฏว่า เคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคเศาะหาบะฮ์และยุคตาบิอีนแล้ว ซึ่งแม้แต่นักวิชาการยุคหลังอย่างท่านอิบนุหัสมินและท่านอัล-บัฆวีย์ ก็ยังยอมรับความจริงข้อนี้ .. ดังข้อมูลหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ...
เพราะฉะนั้น ข้ออ้างของนักวิชาการบางท่านที่ว่า .. การอนุญาตให้สตรีใช้เครื่องประดับที่ทำจากทองคำได้ทุกชนิด เป็นอิจญมาอฺ (มติเอกฉันท์) ของนักวิชาการแล้ว .. จึงรับฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน ...
ทัศนะที่ 5. ถือว่า ข้อห้ามสตรีจากการใช้เครื่องประดับทองคำบางลักษณะดังหะดีษข้างต้นเป็นเรื่องจริง แต่ถูกยกเลิก (مَنْسُوْخٌ)ไปแล้ว ...
ก่อนที่จะชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาของประเด็นนี้ ผมก็ขออธิบายให้ท่านผู้อ่านเข้าใจความหมายและแนวทางของคำว่า “ถูกยกเลิก” ตามข้ออ้างของทัศนะที่ 5 ดังต่อไปนี้ ...
คำว่า ยกเลิก (نَسْخٌ) หมายถึง “การบ่งบอกถึงการสิ้นสุดของหุก่มที่ถูกกล่าวไว้ก่อน -- เรื่องใดเรื่องหนึ่ง -- เพราะปรากฏมีหลักฐานที่ถูกต้องซึ่งถูกกล่าวภายหลัง ไปขัดแย้งและหักล้างหุก่มเดิมของเรื่องนั้นจนหมดสิ้น” ...
กฎการ “ยกเลิก” จึงเป็นเรื่องความขัดแย้งของหลักฐาน 2 บทจนไม่มีทางออกไม่ว่าด้วยวิธีใด .. และจะต้องมีหลักฐานชัดเจนเรื่องการมาก่อน -มาหลังของหุก่มที่ถูกยกเลิก และหุก่มที่มายกเลิกนั้น ...
ท่านอิบนุชาฮีน (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 385) ได้เขียนหนังสือ “اَلنَّاسِخُ وَالْمَنْسُوْخُ” (สิ่งที่มายกเลิกและสิ่งที่ถูกยกเลิก) แล้วได้อธิบายไว้ในหน้าที่ 18-19 ถึงเงื่อนไขต่างๆของการยกเลิกหุก่มดังข้างต้น .. โดยมีทั้งเงื่อนไขที่นักวิชาการมีทัศนะสอดคล้องกัน 3 เงื่อนไข และมีทัศนะขัดแย้งกันอีก 4 เงื่อนไข ซึ่งผมจะไม่อธิบายรายละเอียด ณ ที่นี้ ...
แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ แนวทางรู้จักการยกเลิกหุก่มใดๆ .. ซึ่งท่านอิบนุชาฮีนได้เขียนไว้ในหน้าที่ 25 ของหนังสือเล่มนั้นดังต่อไปนี้ ...
(( لاَ بُدَّ فِىْ تَحَقُّقِ النَّسْخِ مِنْ وُرُوْدِ دَلِيْلَيْنِ عَنِ الشَّرْعِ، وَهُمَا مُتَعَارِضَانِ حَقِيْقِيًّا لاَ سَبِيْلَ إِلَى تَلاَقِيْهِ بِإِمْكَانِ الْجَمْعِ بَيْنَهُمَا عَلَى أَىِّ وَجْهٍ مِنْ وُجُوْهِ التَّأْوِيْلِ ))
“เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับ “การยกเลิก” ที่แท้จริงก็คือ การปรากฏมีหลักฐานจากบทบัญญัติ 2 บท, .. ซึ่งทั้งสองบทนั้นขัดแย้งกันอย่างแท้จริง .. จนไม่สามารถที่จะประสานเข้าด้วยกันได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆก็ตาม” ...
จากแนวทางข้างต้นนี้ จึงทำให้เราได้รับรู้ว่า หากปรากฏว่าหลักฐาน 2 บทขัดแย้งกันจริง แต่เป็นการขัดแย้งกันในบางแง่มุม และสามารถหา “ทางออก” (ซึ่งก็มีอยู่หลายแนวทาง) ได้ จนทั้งสองหลักฐานนั้น สามารถสอดประสานกันตามหลักวิชาการได้ ก็จะนำกฎเกณฑ์เรื่อง “การยกเลิก” มาใช้กับหลักฐานทั้งสองนั้นไม่ได้ ...
คำว่า “ยกเลิก” จึงถือเป็น “ทางออกสุดท้าย” ของ 2 หลักฐานที่ขัดแย้งกันเท่านั้น ...
สรุปอีกครั้งก็คือ แนวทางสำหรับการยกเลิกหุก่มใดๆ จะต้องประกอบขึ้นจากหลักการที่สำคัญ 2 ประการดังต่อไปนี้ ...
1. มีข้อมูลที่ชัดเจนเรื่องระยะเวลาการถูกกล่าวก่อน-กล่าวหลัง ของหลักฐานที่ถูกยกเลิกและหลักฐานที่มายกเลิก ...
2. ทั้งสองหลักฐานนั้น ขัดแย้งกัน .. จนไม่สามารถหาทางประสานกันตามหลักวิชาการได้ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆก็ตาม ...
เมื่อเราหันกลับมาพิจารณาดูข้ออ้างที่ว่า การห้ามสตรีจากการใช้เครื่องประดับทองคำบางชนิด ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว .. ดังที่เรากำลังวิเคราะห์ข้อเท็จจริงกันอยู่นี้ ...
ปรากฏว่า ข้ออ้างดังกล่าวนั้น ท่านอิบนุชาฮีนได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัน-นาซิค วัล-มันซูค” หน้า 266 .. มีข้อความซึ่งพอจะสรุปได้คือ ...
1. ในตอนเริ่มแรกของอิสลาม เครื่องประดับทองคำทั้งหมด – ทุกชนิด – ถูกอนุมัติทั้งแก่ผู้ชายและผู้หญิง .. (ดังที่ผมได้อธิบายไปแล้วในหน้าที่ 8) ...
2. ต่อมา อิสลามก็ได้ห้ามเครื่องประดับทองคำทั้งแก่ผู้ชายและผู้หญิง .. ถือเป็นการยกเลิก (نَسْخٌ) หุก่มอนุญาตทองคำตามหลักการเดิมนั้นเป็นครั้งแรก ...
(หลักฐานห้ามที่มายกเลิกการอนุญาตในที่นี้ก็คือ หะดีษที่ห้ามสตรีใช้แหวนทองคำ, สร้อยคอทองคำ และกำไลทองคำที่กล่าวมาในตอนต้น, รวมทั้งหะดีษต่างๆที่ห้ามผู้ชายใช้เครื่องประดับทองคำ อันเป็นที่ทราบกันดีนั่นเอง) ...
3. และสุดท้าย อิสลามก็กลับมาอนุญาตให้ผู้หญิงใช้เครื่องประดับทองคำทุกชนิดได้อีก (โดยที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า .. “ของสองสิ่งนี้ (ผ้าไหมและทองคำ) เป็นที่ต้องห้ามสำหรับบุรุ�


ผู้หญิงใส่ สร้อยแหวน กำไล ทองคำได้หรือไม่ (ตอนที่ 7)


โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

หลักฐานอนุมัติเครื่องประดับทองคำแก่สตรี

มีหลักฐานจากหะดีษบางบทที่แสดงว่า เครื่องประดับทองคำ --- ทุกชนิด --- เป็นที่อนุมัติแก่ผู้หญิง ซึ่งในมุมมองของนักวิชาการหลายท่านถือว่า หะดีษเหล่านี้ขัดแย้งกันกับหะดีษที่กล่าวมาแล้วตอนต้นว่า เครื่องประดับทองคำบางชนิด เป็นที่ต้องห้ามสำหรับผู้หญิง .. ทั้งที่ความจริงมันมิได้ขัดแย้งอะไรกันเลย ดังจะได้อธิบายต่อไปในหน้าที่ 59 ...
หะดีษดังกล่าวได้แก่ ...
(1). หะดีษซึ่งรายงานโดยท่านอะลีย์ บิน อบีย์ฏอลิบ ร.ฎ. มีข้อความว่า ...
أَخَذَالنَّبِىُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ حَرِيْرًا فَجَعَلَهُ فِىْ يَمِيْنِهِ، وَأَخَذَ ذَهَبًا فَجَعَلَهُ فِىْ شِمَالِهِ، ثُمَّ قَالَ : إِنَّ هَذَيْنِ حَرَامٌ عَلَى ذُكُوْرِأُمَّتِىْ، حِلٌّ ِلإنَاثِهِمْ ...
“ ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้เอาผ้าไหมมาถือไว้ในมือขวา และเอาทองคำมาถือไว้ในมือซ้าย แล้วท่านก็กล่าวว่า .. “สองอย่างนี้ เป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) สำหรับบุรุษเพศจากอุมมะฮ์ของฉัน, และเป็นที่อนุมัติแก่สตรีเพศของพวกเขา” ...
หะดีษบทนี้ บันทึกโดยท่านอบูดาวูด, ท่านอัน-นะซาอีย์, ท่านอะห์มัด, ท่านอิบนุมาญะฮ์, และท่านอิบนุหิบบาน ซึ่งในภาพรวมถือว่าเป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ .. ดังที่อธิบายผ่านมาแล้วจากหน้า 11-12 ...
(2). ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. ได้กล่าวว่า ...
(( قَدِمَتْ عَلَى النَّبِىِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ حِلْيَةٌ مِنْ عِنْدِ النَّجَاشِىِّ أَهْدَاهَالَهُ، فِيْهَا خَاتَمٌ مِنْ ذَهَبٍ فِيْهِ فَصٌّ حَبَشِىٌّ، قَالَتْ : فَأَخَذَهُ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم بِعُوْدٍ مُعْرِضًا عَنْهُ _ أَوْ بِبَعْضِ أَصَابِعِهِ _ ثُمَّ دَعَا أُمَامَةَ بِنْتَ أَبِى الْعَاصِ اِبْنَةَ ابْنَتِهِ، فَقَالَ : تَحَلَّىْ بِهَذَا يَا بُنَيَّةُ ! ))
“ของขวัญจากเครื่องประดับซึ่งกษัตริย์นะญาชีย์ (แห่งเอธิโอเปีย) มอบให้เป็นบรรณาการ ได้ถึงมายังท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม .. ในนั้นมีแหวนทองคำอยู่วงหนึ่งซึ่งหัวของมันเป็น (พลอย) แห่งเอธิโอเปีย, ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ใช้กิ่งไม้ (หรือนิ้วบางนิ้วของท่าน) หยิบมันขึ้นมาด้วยท่าทางขยะแขยง แล้วท่านก็เรียกท่านอุมามะฮ์ ซึ่งเป็นบุตรีของท่านอบีย์ อัล-อาศ กับท่านหญิงซัยหนับ ร.ฎ.บุตรสาวของท่านเข้ามา แล้วกล่าวว่า .. “เอามันไปสวมซิ แม่หนูน้อย !” ..
(บันทึกโดย ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 4235, ท่านอิบนุมาญะฮ์ หะดีษที่ 3644, ท่านอิบนุ อบีย์ชัยบะฮ์ เล่มที่ 6 หน้า 65, ท่านอิบนุหัสมินในหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” เล่มทื่ 10 หน้า 85 และท่านอิบนุสะอัด ในหนังสือ “อัฏ-เฏาะบะกอตฯ” เล่มทื่ 8 หน้า 263 ด้วยสายรายงานที่หะซัน (สวยงาม) ...
(3). ท่านซัยหนับ บินติ นุบัยฏ์ ภริยาของท่านอนัส บินมาลิก ร.ฎ. ได้รายงานมาว่า ...
(( إِنَّ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ حَلَّى أُمَّهَا وَخَالَتَهَا، وَكَانَ أَبُوْهُمَا أَبُوْأُمَامَةَ أَسْعَدُ بْنُ زُرَارَةَ أَوْصَى بِهِمَا إِلَى رَسُوْلِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ، فَحَلاَّهُمَا رِعَاثًا مِنْ تِبْرِ ذَهَبٍ فِيْهِ لُؤْلُؤٌ، قَالَتْ زَيْنَبُ : فَأَدْرَكْتُ بَعْضَ ذَلِكَ الْحُلِىِّ عِنْدَ أَهْلِىْ ))
“แท้จริง ท่านรอซู้ลลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ใส่เครื่องประดับให้แก่มารดาของเธอ (คือท่านหะบีบะฮ์ บินติ อบีย์อุมามะฮ์) และให้แก่น้าสาวของเธอ -- โดยบิดาของทั้งสองท่านนั้น คือท่านอบีย์อุมามะฮ์ (ชื่อจริงคือท่านอัซอัด บิน ซุรอเราะฮ์ ร.ฎ. ได้สั่งให้ทั้งสองไปหาท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม) – แล้วท่านศาสดาก็ได้ใส่เครื่องประดับอันเป็นพวงตุ้มหูที่ทำจากแร่ทองคำซึ่งมีไข่มุกประดับอยู่ด้วยให้แก่ทั้งสอง .. ท่านซัยหนับกล่าวต่อไปว่า .. “แล้วดิฉันก็เคยเจอบางส่วนของเครื่องประดับเหล่านั้นที่บุคคลในครอบครัวของดิฉันเอง” ...
(บันทึกโดย ท่านอัล-หากิม เล่มที่ 3 หน้า 207, ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ในหนังสือ “อัล-อิศอบะฮ์” เล่มที่ 8 หน้า 47, และท่านอิบนุล-อะษีรฺ ในหนังสือ "อัน-นิฮายะฮ์ ฟี เฆาะรีบิลหะดีษ” เล่มที่ 2 หน้า 234 .. สำนวนในที่นี้เป็นสำนวนจากการบันทึกของท่านอัล-หากิม) ...
สถานภาพของหะดีษบทนี้ เป็นหะดีษหะซัน (สวยงาม) เช่นเดียวกัน ...
(4). มีรายงานมาจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. ว่า ...
(( عَثَرَ أُسَامَةُ بِعَتَبَةِ الْبَابِ، فَشُجَّ فِىْ وَجْهِهِ، فَقَالَ رَسُوْلُ الله ِصَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : يَا عَائِشَةُ ! أَمِيْطِىْ عَنْهُ اْلأَذَى ! فَتَقَذَّرْتُهُ، فَجَعَلَ يَمُصُّ عَنْهُ الدَّمَ وَيَمُجُّهُ عَنْ وَجْهِهِ، ثُمَّ قَالَ : لَوْ كَانَ أُسَامَةُ جَارِيَةً لَحَلَّيْتُهُ وَكَسَوْتُهُ حَتَّى أُنَفِّقَهُ ))
“อุซามะฮ์ (บิน ซัยด์) ได้ลื่นล้มลงที่ธรณีประตู และมีบาดแผลที่หน้า, ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมจึงกล่าวว่า .. “นี่ อาอิชะฮ์ ! เช็ดเลือดให้เขาทีซิ” แต่ฉันขยะแขยงมัน ท่านจึงลงมือดูดเลือดนั้นจากหน้าของเขาและถ่มมันออกไป เสร็จแล้วท่านจึงกล่าวว่า .. “สมมุติถ้าอุซามะฮ์เป็นเด็กผู้หญิงนะหรือ ฉันจะประดับประดาและแต่งตัวเขาให้สวยเช้ง เพื่อจะให้เขาขายดี (หมายถึง มีผู้มาจีบเยอะ) เลยเชียว” ...
(บันทึกโดย ท่านอะห์มัด เล่มที่ 6 หน้า 139, 222, ท่านอิบนุมาญะฮ์ หะดีษที่ 1976, ท่านอิบนุสะอัดในหนังสือ “อัฏ-เฏาะบะกอต” เล่มที่ 4 หน้า 349, ท่านอบูยะอฺลา เล่มที่ 3 หน้า 1131) ...
หะดีษบทนี้ในภาพรวม ถือว่าเป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ ดังการวิเคราะห์ของท่านอัล-อัลบานีย์ในหนังสือ “อัศเศาะหี้หะฮ์” เล่มที่ 3 หน้า 16 ...
(5). ท่านสะอีด บิน อัล-มุซัยยับ ได้กล่าวว่า ...
قَدِمَتْ صَفِيَّةُ بِنْتُ حُيَيٍّ َوَفِىْ أُذُنَيْهَا خُرْصَةٌ مِنْ ذَهَبٍ، فَوَهَبَتْ مِنْهُ لِفَاطِمَةَ وَلِنِسَاءٍ مَعَهَا ...
“ท่านหญิงศอฟียะฮ์ บินติ หุยัยย์ ร.ฎ. (ภริยาของท่านรอซู้ลลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม, สมรสกับท่านเมื่อเสร็จสิ้นสงครามค็อยบัรฺในปี ฮ.ศ. ที่ 7) ได้มุ่งหน้ามา (นครมะดีนะฮ์) โดยที่หูทั้งสองของท่านมีตุ้มหูทองคำอยู่, แล้วท่านก็มอบตุ้มหูบางอันแก่ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ร.ฎ. และแก่สตรีที่อยู่พร้อมกับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ด้วย” ...
(หะดีษนี้ บันทึกโดยท่านอิบนุ สะอัด ในหนังสือ “อัฏ-เฏาะบะกอต” เล่มที่ 8 หน้า 309, แต่การรายงานมีลักษณะมุรฺซัล (ขาดตอน) เพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีที่ 7 ของฮิจญเราะฮ์ศักราช, .. แต่ท่านสะอีด บินอัล-มุซัยยับผู้รายงานเกิดในปีที่ 2 ของการเป็นคอลีฟะฮ์ของท่านอุมัรฺ อิบนุลค็อฏฏอบ ร.ฎ. .. คือเกิดหลังจากที่เหตุการณ์นี้ผ่านมาแล้วประมาณ 8 ปี ...
หะดีษบทนี้ตามรูปการ จึงไม่น่าจะเป็นหลักฐานในเรื่องอนุญาตให้ใช้เครื่องประดับทองคำแก่สตรีได้ ...
สรุปแล้ว หะดีษมัรฺฟูอฺ (คือ หะดีษที่อ้างการรายงานมาจากท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม) ที่อนุมัติให้สตรีใช้เครื่องประดับที่ทำจากทองคำ (เท่าที่ผมพอจะรวบรวมได้) ก็น่าจะมีอยู่แค่นี้ หรือหากจะมีหลงเหลืออยู่บ้างก็คงไม่มากนัก ...
นักวิชาการ “ส่วนใหญ่” ที่มีทัศนะว่า เครื่องประดับทองคำทุกชนิดเป็นที่อนุมัติแก่สตรี ได้พยายามหา “ทางออก” จากความขัดแย้ง -- ตามความเข้าใจของพวกท่าน -- กับหะดีษที่ห้ามสตรีใช้เครื่องประดับทองคำบางชนิดดังในตอนต้น .. โดยทางออกตามทัศนะของพวกท่าน ยังขัดแย้งกันเองเป็นหลายทฤษฎีด้วยกันดังต่อไปนี้ ...
1. ถือว่า หะดีษที่ห้ามสตรีจากการใช้เครื่องประดับทองคำ เป็นหะดีษเฎาะอีฟ
2. ถือว่า การห้ามดังกล่าว หมายถึงกรณีสวมใส่เพื่อโชว์หรือโอ้อวด
3. ถือว่า การห้ามดังกล่าว หมายถึงกรณียังไม่ได้จ่ายซะกาต
4. ถือว่า การอนุมัติเครื่องประดับทองคำทุกชนิดแก่สตรี เป็นมติเอกฉันท์ (อิจญมาอฺ) ของบรรดานักวิชาการแล้ว จึงไม่สามารถห้ามหรือคัดค้านได้อีก
5. ถือว่า การห้ามดังกล่าวเกิดขึ้นจริงในช่วงแรกของอิสลาม แต่ถูกยกเลิกไปแล้ว
6. ถือว่า ข้อห้ามดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงหลังสุดของอิสลามก่อนการสิ้นชีพของท่านศาสดาไม่นาน, แต่เป็นการห้ามเฉพาะเครื่องประดับทองคำที่ถูกระบุมาในหะดีษ คือ แหวนทองคำ, สร้อยคอทองคำ และกำไลทองคำเท่านั้น, มิได้ห้ามทองคำทั้งหมดแก่สตรี ...
ต่อไปนี้ คือรายละเอียดของแต่ละทฤษฎีหรือแต่ละทัศนะเหล่านั้น พร้อมด้วยข้อชี้แจงหรือโต้แย้งเท่าที่จำเป็น ...


ผู้หญิงใส่ สร้อยแหวน กำไล ทองคำได้หรือไม่ (ตอนที่ 6)



โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

 ข้อโต้แย้งของท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์เกี่ยวกับหะดีษบทนี้
ท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ ได้วิจารณ์เชิงโต้แย้งหะดีษบทนี้ใน 2 ลักษณะคือ ในด้านสายรายงานของหะดีษ, และในด้านความหมายของหะดีษ ...
(1). ในด้านสายรายงานของหะดีษ
ท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ได้กล่าวโต้แย้งในหนังสือ “อัล-อิบาหะฮ์” ของท่าน หน้า 87-88 เกี่ยวกับสายรายงานของหะดีษบทนี้เพียงประเด็นเดียว โดยพุ่งเป้าไปที่ “ท่านอะซีด บิน อบีย์อะซีด อัล-บัรฺรอด” .. ซึ่งท่านเช็คอิสมาอีล ถือว่าไม่น่าเชื่อถือ .. โดยได้อ้างการวิจารณ์ของท่านอัด-ดารุกุฏนีย์ จากหนังสือ “ตะฮ์ซีบ อัต-ตะฮ์ซีบ” เล่มทื่ 1 หน้า 300 ที่กล่าวว่า ...
(( يُعْتَبَرُبِهِ ))
“เขา (อะซีด บินอบีย์อะซีด อัล-บัรฺรอด) จะถูกนำมาพิจารณา (ประกอบการรายงานของผู้อื่น) ได้” ...
ความหมายดังกล่าวก็คือ ท่านอะซีด บินอบีย์ อะซีด มิใช่เป็นผู้รายงานที่ได้รับความเชื่อถือโดยตรงในตัวเอง นอกจากการนำมาพิจารณาร่วมกับการรายงานของผู้อื่นเท่านั้น, ดังนั้น หะดีษบทใดที่ท่านอะซีดรายงานมาเพียงผู้เดียว (อย่างกรณีหะดีษบทนี้) โดยไม่มีผู้อื่นรายงานมายืนยันหรือสอดคล้องด้วย หะดีษบทนั้นจากการรายงานของท่านก็จะนำมาอ้างเป็นหลักฐานไม่ได้ ...
ข้อชี้แจง
ท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ ได้นำข้อวิจารณ์เกี่ยวกับตัวท่านอะซีด บิน อบีย์อะซีด มาจากท่านอัด-ดารุกุฏนีย์เพียงผู้เดียวที่กล่าวถึงท่านอะซีดผู้นี้ในด้านลบ, ...
แต่การกล่าววิจารณ์ของนักวิชาการท่านอื่นอีกมากที่ให้ความความเชื่อถือแก่ท่านอะซีด ท่านเช็คอิสมาอีล กลับมิได้กล่าวถึงแต่ประการใด ...
ท่านอบูดาวูด, ท่านอัน-นะซาอีย์, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์, และท่านอิบนุมาญะฮ์ ได้ยอมรับท่านอะซีด บินอบีย์อะซีด เป็นผู้รายงานที่เชื่อถือได้ในตำราหะดีษ “อัส-สุนัน” ของพวกท่าน, ท่านบุคอรีย์ก็ยอมรับท่านอะซีด เป็นผู้รายงานในหนังสือ “อัล-อะดับ อัล-มุฟร็อด” ของท่าน ดังมีการบันทึกในหนังสือ “ตะฮ์ซีบ อัต-ตะฮ์ซีบ” เล่มที่ 1 หน้า 300, และท่านอิบนุหิบบาน ก็ถือว่าท่านอะซีด เป็นผู้รายงานที่เชื่อถือได้ ดังกล่าวมาแล้วในหน้า 16 ...
นอกจากนี้ ท่านอิบนุคุซัยมะฮ์, ท่านอัล-หากิม ก็ถือว่า หะดีษต่างๆที่ถูกรายงานโดยท่านอะซีด บิน อบีย์อะซีด เป็นหะดีษที่แข็งแรง (จากหนังสือ “อาดาบุซ-ซะฟาฟ” หน้า 12) ...
ท่านอัษ-ษะฮะบีย์ ได้กล่าวสรุปประวัติของท่านอะซีด ผู้นี้ในหนังสือ “อัล-กาชิฟ” เล่มที่ 1 หน้า 81, และท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ก็ได้กล่าวสรุปมาตรงกันในหนังสือ “อัต-ตักรีบ” เล่มที่ 1 หน้า 77 ว่า ท่านอะซีด บิน อบีย์อะซีด อัล-บัรฺรอดนั้น صَدُوْقٌ .. คือ เป็นผู้รายงานที่พอจะเชื่อถือได้, .. อันถือได้ว่า จัดอยู่ในสถานภาพของผู้รายงานหะดีษหะซัน ที่สามารถนำมาอ้างเป็นหลักฐานได้ ...
นอกจากนี้ นักวิชาการหะดีษหลายท่านตามที่ระบุนามมาข้างต้น คือท่านอัล-มุนซิรีย์, ท่านอัช-เชากานีย์, ท่านอะห์มัด มุหัมมัดชากิรฺ และท่านอิบนุหัสมิน ต่างก็ยอมรับหะดีษบทนี้จากการรายงานของท่านอะซีด บิน อบีย์อะซีดว่า เป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ ดังกล่าวมาแล้ว, ...
ส่วนคำกล่าวของท่านอัด-ดารุกุฏนีย์ที่วิจารณ์ท่านอะซีด บิน อบีย์อะซีดในลักษณะว่า มิใช่เป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือโดยตรงนอกจากในกรณีที่มีผู้อื่นรายงานมาให้สอดคล้องกันเท่านั้น .. คำวิจารณ์ดังกล่าวนี้ -- ตามหลักวิชาการหะดีษ -- ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะไปหักล้างทัศนะนักวิชาการหะดีษท่านอื่นอีกหลายท่านที่ให้ความเชื่อถือต่อท่านอะซีด, ทั้งนี้ เนื่องจากท่านอัด-ดารุกุฏนีย์ “มิได้อธิบายเหตุผล” ด้วยว่า ท่านอะซีด บิน อบีย์อะซีดมีความบกพร่องด้วยเหตุใด ? ...
กฎเกณฑ์ของวิชามุศเฏาะลาห์ อัล-หะดีษข้อหนึ่ง กล่าวเอาไว้ว่า ...
اَلْجَرْحُ الْمُفَسَّرُ مُقَدَّمٌ عَلَى التَّعْدِيْلِ
“ข้อบกพร่องที่ได้รับการชี้แจงหรืออธิบาย ต้องมาก่อนการให้ความเชื่อถือ”
ในกรณีของท่านอะซีด บิน อบีย์อะซีดนี้ ปรากฏว่ามีทั้งผู้ที่ให้ความเชื่อถืออยู่หลายท่าน ขณะเดียวกันก็ผู้ไม่ให้ความเชื่อถืออยู่ 1 ท่าน คือท่านอัด-ดารุกุฏนีย์ ...
ถ้าหากว่า ท่านอัด-ดารุกุฏนีย์มีการชี้แจงมาด้วยว่า ท่านอะซีดผู้นี้ไม่น่าเชื่อถือเพราะเหตุใด ? มีความบกพร่องอย่างไร .. คำกล่าวของท่านย่อมมีน้ำหนักและจะได้รับการยอมรับมากกว่าผู้ที่ให้ความเชื่อถือ ตามนัยของกฎเกณฑ์ของวิชาการหะดีษข้อนี้ ...
แต่เมื่อท่านอัด-ดารุกุฎนีย์มิได้ชี้แจงเหตุผลและจุดบกพร่องของท่านอะซีด บิน อบีย์อะซีดไว้ด้วย จึงถือว่าการวิจารณ์ของท่านดังข้างต้น เป็นข้อวิจารณ์ลอยๆที่ไม่มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอที่จะไปหักล้างความน่าเชื่อถือที่นักวิชาการท่านอื่นๆมีให้แก่ท่านอะซีดบิน อบีย์อะซีดลงได้ ...
สรุปแล้ว การโต้แย้งของท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ ต่อท่านเช็คอัล-อัลบานีย์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของท่านอะซีด บิน อบีย์อะซีด อันเป็นหนึ่งของผู้ที่มีชื่อในสายรายงานหะดีษบทนี้ จึงรับฟังไม่ขึ้น ...
(2). ในด้านความหมายของหะดีษ
ท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-อิบาหะฮ์” ของท่าน หน้า 76-78 โดยอ้างอิงข้อมูลจากทัศนะของนักวิชาการบางท่านว่า คำว่า حَبِيْبَهُ ซึ่งแปลว่า “ผู้ที่เขารัก” ที่ถูกกล่าวถึงในหะดีษบทนี้ .. ว่าหมายถึง ทารกเพศชาย,.. มิได้หมายถึง “ภรรยาหรือบุตรสาวที่บรรลุศาสนภาวะ” แต่ประการใด ...
ข้อชี้แจง
1. คำว่า حَبِيْبَهُ ซึ่งแปลว่า “ผู้ที่เขารัก” ตามหลักเกณฑ์ด้านภาษาอาหรับแล้ว จะใช้บ่งความหมายเป็นเพศชายก็ได้, เป็นเพศหญิงก็ได้ .. ซึ่งการที่ท่านศาสดากล่าวถึงเครื่องประดับประเภทแหวน, สร้อยคอ และกำไลในหะดีษบทนี้ ตามรูปการน่าจะหมายถึงเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ทั้งนี้ เพราะเพศหญิงคือเพศที่ชอบใช้เครื่องประดับเหล่านี้มากกว่าเพศชาย ...
2. หากข้อห้ามจากการใช้แหวนทองคำ, สร้อยคอทองคำ และกำไลทองคำในหะดีษนี้ หมายถึง เด็กทารกเพศชาย .. ดังคำอธิบายของท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์แล้ว ข้อห้ามดังกล่าวของท่านศาสดาย่อมแสดงว่า เด็กทารกเพศชายที่ถูกผู้ปกครองสวมใส่เครื่องประดับทองคำเหล่านี้ให้ จะต้องมีบาปหรือจะต้องตกนรก .. ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงตามหลักการศาสนาอิสลามที่ว่า เด็กๆที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะนั้น อยู่ในภาวะไร้บาปโดยสิ้นเชิง ...
3. ท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ อธิบายว่า การห้ามสวมเครื่องประดับทองคำเหล่านี้แก่ผู้ที่เรารักอันได้แก่ทารกเพศชาย .. เหตุผลก็คือ เพื่อฝึกฝนให้พวกเขาหลีกเลี่ยงจากเครื่องประดับเหล่านี้ที่ทำจากทองคำเมื่อเติบโตขึ้น ...
ผมก็อยากจะขอเรียนว่า ถ้าเหตุผลของการห้ามสวมใส่เครื่องประดับทองคำจากหะดีษข้างต้น เป็นดังที่ว่ามานี้ เราก็ควรจะห้ามผู้ปกครอง สวมใส่เครื่องประดับเหล่านี้ที่ทำจากเงินแก่ทารกเพศชายด้วย .. ด้วยเหตุผลเดียวกัน .. คือเพื่อฝึกฝนพวกเขาให้รู้จักหลีกเลี่ยงจากการใช้เครื่องประดับเหล่านี้ที่ทำจากเงินเมื่อโตขึ้น เพราะนักวิชาการต่างก็เห็นพ้องกันแล้วว่า ห้ามผู้ชายใช้เครื่องประดับทุกชนิดที่ทำจากเงิน อย่างเดียวกับการห้ามใช้เครื่องประดับทองคำ .. ยกเว้น “แหวนเงิน” อย่างเดียวเท่านั้น ...
ทว่า ข้อความตอนท้ายของหะดีษบทนี้ที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ “ส่งเสริม” ให้ใช้เครื่องประดับที่ “ทำด้วยเงิน” แก่ผู้ที่เรารัก แสดงว่า “ผู้ที่เรารัก” ในที่นี้ ย่อมมิใช่เป็นทารกเพศชายที่ “ถูกห้าม” ใช้เครื่องประดับที่ทำด้วยเงินตามเหตุผลข้างต้นแน่นอน, .. แต่จะต้องเป็นเพศหญิงซึ่งถูกส่งเสริมและได้รับอนุญาตให้สวมใส่เครื่องประดับที่ทำจากเงินได้ ไม่ว่าในยามเยาวัยหรือตอนเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วโดยไม่มีข้อห้ามใดๆ ...
เพราะฉะนั้น เหตุผลและคำอธิบายของท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ที่อ้างว่า คำว่า “ผู้ที่เขารัก” ในหะดีษบทนี้ มีความหมายถึงทารกเพศชาย .. จึงรับฟังไม่ขึ้น ...
4. คำอธิบายคำว่า “ผู้ที่เขารัก” ว่าหมายถึงทารกเพศชาย เป็นเพียงทัศนะหนึ่งซึ่งขัดแย้งกับความเข้าใจของนักวิชาการส่วนใหญ่ที่ถือว่า “ผู้ที่เขารัก” ในหะดีษบทนี้ หมายถึงเพศหญิง, แต่เนื่องจากความเชื่อที่ว่า เครื่องประดับทองคำทุกชนิดเป็นที่อนุมัติแก่สตรี บรรดานักวิชาการส่วนใหญ่เหล่านั้นจึงพยายาม تَأْوِيْلٌ คือ เบี่ยงเบนข้อห้ามสตรีจากการสวมใส่แหวนทองคำ, สร้อยคอทองคำ, และกำไลทองคำดังที่ระบุไว้ในหะดีษบทนี้ ออกเป็นหลายทฤษฎีด้วยกัน .. อาทิเช่น ข้อห้ามสตรีใส่เครื่องประดับทองคำในหะดีษบทนี้ ถูกยกเลิกไปแล้ว, หรือหมายถึงในกรณีสวมใส่มันโดยมิได้จ่ายซะกาต, หรือสวมใส่มันเพื่อโอ้อวด เป็นต้น .. ทั้งนี้ เพื่อให้มันสอดคล้องกับความเชื่อที่ว่า เครื่องประดับทองคำนั้น เป็นที่อนุมัติแก่สตรีในทุกรูปแบบ ดังกล่าวมาแล้ว ...
ท่านอาบาดีย์ ได้กล่าวอธิบายคำว่า حَبِيْبَهُ นี้ในหนังสือ “เอานุ้ลมะอฺบูด” เล่มที่ 11 หน้า 295 ว่า ...
(حَبِيْبَهُ) أَيْ مَحْبُوْبَهُ مِنْ زَوْجَةٍ، أَوْوَلَدٍ أَوْغَيْرِهِمَا
“คำว่า حَبِيْبَهُ หมายถึงผู้ที่เขารัก, อันได้แก่ภรรยาของเขา, ลูกๆของเขา, หรือบุคคลอื่นจากทั้งสองนั้น” ...
5. ท่านอับดุรฺ ร็อซซาก, ท่านอิบนุศออิด, ท่านอิบนุหัสมิน ได้บันทึกรายงานมาจากท่านมุหัมมัด บิน ซีรีน (ด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง, ดังจะได้กล่าวต่อไปในตอนหลัง) .. ว่า ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ ร.ฎ. ได้เคยกล่าวแก่ บุตรสาว ของท่านว่า .. “ลูกอย่าสวมเครื่องประดับทองคำเป็นอันขาด, เพราะพ่อกลัวว่าลูกจะพินาศจากไฟนรก” ...
ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ ร.ฎ. คือเศาะหาบะฮ์ผู้รายงานหะดีษบทข้างต้นที่ว่า .. “ผู้ใดพึงใจจะให้ผู้ที่เขารักสวมแหวน, สร้อยคอ, และกำไลจากไฟนรก ก็ให้สวมแหวน หรือสร้อยคอ หรือกำไลจากทองคำให้เถิด” ...
การที่ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ ร.ฎ. ผู้ซึ่งรายงานหะดีษบทนี้ด้วยตนเอง ได้ห้ามปรามบุตรสาวของท่านจากการใช้เครื่องประดับที่ทำจากทองคำ แสดงว่า คำว่า “ผู้ที่เขารัก” ในหะดีษบทนี้ตามความเข้าใจของท่าน หมายถึงผู้หญิง ...
เพราะฉะนั้น เมื่อได้พิจารณาอย่างละเอียดในทุกแง่ทุกมุมแล้ว ข้อโต้แย้งของท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ที่มีต่อท่านเช็คอัล-อัลบานีย์เกี่ยวกับหะดีษบทนี้ .. ไม่ว่าในด้านสายรายงานหรือในด้านความหมายของหะดีษ จึงรับฟังไม่ขึ้น ...
หลักฐานที่ 2
ท่านเษาบาน อัล-ฮาชิมีย์ คนรับใช้ผู้ใกล้ชิดของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 54 ที่เมืองฮิมศ์) ได้กล่าวว่า ...
جَاءَتْ بِنْتُ هُبَيْرَةَ إِلَىالنَّبِىِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَفِىْ يَدِهَا فَتَخٌ (مِنْ ذَهَبٍ) فَجَعَلَ النَّبِىُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَضْرِبُ يَدَهَا (بِعُصَيَّةٍ مَعَهُ، يَقُوْلُ لَهَا : أَيَسُرُّكِ أَنْ يَجْعَلَ اللهُ فِىْ يَدِكِ خَوَاتِيْمَ مِنْ نَارٍ؟) فَأَتَتْ فَاطِمَةَ تَشْكُوْ إِلَيْهَا، قَالَ ثَوْبَانُ : فَدَخَلَ النَّبِىُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَلَىفَاطِمَةَ وَأَنَا مَعَهُ، وَقَدْ أَخَذَتْ مِنْ عُنُقِهَا سِلْسِلَةً مِنْ ذَهَبٍ، فَقَالَتْ : هَذَا أَهْدَى لِىْ أَبُوْحَسَنٍ _ وَفِىْ يَدِهَا السِّلْسِلَةُ _ فَقَالَ النَّبِىُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : يَا فَاطِمَةُ ! أَيَسُرُّكِ أَنْ يَقُوْلَ النَّاسُ : فَاطِمَةُ بِنْتُ مُحَمَّدٍ فِىْ يَدِهَا سِلْسِلَةٌ مِنْ نَارٍ؟ .. (ثُمَّ عَذِمَهَا عَذْمًا شَدِيْدًا) فَخَرَجَ وَلَمْ يَقْعُدْ، فَعََمَدَتْ فَاطِمَةُ إِلَى السِّلْسِلَةِ فَبَاعَتْهَا، فَاشْتَرَتْ بِهَا نَسَمَةً فَأَعْتَقَتْهَا، فَبَلَغَ ذَلِكَ النَّبِىَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَقَالَ : اَلْحَمْدُ لِلَّهِ الَّذِىْ نَجَّى فَاطِمَةَ مِنَ النَّارِ ...
“บุตรสาวของท่านฮุบัยเราะฮ์ ได้ไปหาท่านนบีย์ ศ็อลลัลลออุ อะลัยฮิวะซัลลัม โดยที่มือของนางสวมแหวน (ทองคำ) วงใหญ่อยู่หลายวง, ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะวัลลัม ได้ตีมือของนาง (ด้วยไม้เท้าเล็กๆที่ท่านถืออยู่ แล้วกล่าวแก่นางว่า “เธอชอบที่จะให้อัลลอฮ์เอาแหวนจากไฟนรกใส่ในมือของเธอหรือ ?”) .. นางจึงเข้าไปหาท่านหญิงฟาฏิมะฮ์แล้วเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง .. ท่านเษาบานกล่าวต่อไปว่า .. “แล้วท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมก็เข้าไปหาท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ โดยที่ฉันก็อยู่พร้อมกับท่านด้วย, ขณะนั้น ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ได้ถอดสร้อยคอทองคำออกจากคอของเธอแล้ว และบอกว่า .. “สิ่งนี้ ท่านอบูหะซัน (หมายถึงท่านอะลีย์สามีของเธอ) ได้ให้เป็นของขวัญแก่ฉัน” -- โดยที่ขณะนั้น สร้อยยังอยู่ในมือของเธอ -- ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จึงกล่าวแก่เธอว่า .. “ฟาฏิมะฮ์เอ๋ย, เจ้าชอบหรือที่จะให้ประชาชนพูดกันว่า ฟาฏิมะฮ์, บุตรสาวของมุหัมมัด, .. ในมือของนาง มีสร้อยจากไฟนรกอยู่ ?” (จากนั้น ท่านก็ดุเธออย่างรุนแรง) แล้วก็เดินออกไปโดยไม่ยอมนั่ง, ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ จึงกำสร้อยเส้นนั้นแน่นแล้วนำมันไปขาย และนำเอาราคาของมันซื้อทาสคนหนึ่งแล้วปล่อยให้เป็นอิสระ, เมื่อข่าวนี้ล่วงรู้ไปถึงท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ท่านจึงกล่าวว่า .. “มวลการสรรเสริญ เป็นสิทธิของอัลลอฮ์ผู้ทรงปลดปล่อยฟาฏิมะฮ์ให้พ้นจากไฟนรก” ...
หะดีษบทนี้ บันทึกโดยท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 5155, 5156, ท่านอบูดาวูด อัฏเฏาะยาลิซีย์ เล่มที่ 1 หน้า 354, ท่านอะห์มัด เล่มที่ 5 หน้า 278, ท่านอัล-หากิมเล่มที่ 3 หน้า 165, 166, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 4 หน้า 141, และท่านอัฏ-ฏ็อบรอนีย์ ในหนังสือ “อัล-มุอฺญัม อัล-กะบีรฺ” หะดีษที่ 1448 ...
สำนวนข้างต้นนี้ เป็นสำนวนจากการบันทึกของท่านอัล-บัยฮะกีย์, ส่วนข้อความตัวหนาในวงเล็บ เป็นสำนวนเพิ่มเติมจากการบันทึกของท่านอะห์มัด จากเล่มและหน้าดังกล่าว ...
สายรายงานของหะดีษบทนี้ มีดังต่อไปนี้ ...
1. ท่านฮิชาม อัล-ดัสติวาอีย์ .. (จากการบันทึกของท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 5155), และท่านฮัมมาม บินยะห์ยา อัล-อัซดีย์ หรืออัล-เอาซีย์ .. (จากการบันทึกของท่านอะห์มัด เล่มที่ 5 หน้า 278) ...
2. ท่านยะห์ยา บิน อบีย์กะษีรฺ
3. ท่านซัยด์ บิน ซัลลาม
4. ท่านอบีย์ ซัลลาม
5. ท่านอบีย์อัสมาอ์ อัรฺ-เราะหะบีย์
6. ท่านเษาบาน อัล-ฮาชิมีย์ ร.ฎ.
อธิบาย
หะดีษบทนี้ ถูกรายงานมาจากท่านเษาบาน อัล-ฮาชิมีย์ ร.ฎ. เป็น 2 กระแส, กระแสที่ 1 คือกระแสรายงานดังข้างต้นนี้ .. ส่วนกระแสที่ 2 เป็นกระแสรายงานของท่านอบู กิลาบะฮ์ อัล-ญัรฺมีย์ จากการบันทึกของท่านอัรฺ-เรายานีย์ที่จะกล่าวถึงต่อไป ...
ท่านอัล-อัลบานีย์ ได้กล่าวสรุปเกี่ยวกับหะดีษกระแสแรกนี้ในหนังสือ “อาดาบุซ-ซะฟาฟ” หน้า 231 ว่า “إِسْنَادُهُ صَحِيْحٌ، مَوْصُوْلٌ” .. คือ สายรายงานของมันถูกต้อง และต่อเนื่องกัน ...
นักวิชาการในอดีตที่ถือว่า หะดีษบทนี้จากกระแสที่หนึ่งนี้เป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ ได้แก่ท่านอิบนุหัสมิน, ท่านอัล-หากิม, ท่านอัษ-ษะฮะบีย์, ท่านอัล-มุนซิรีย์ และท่านอัล-อิรอกีย์ เป็นต้น ...
(จากหนังสือ “อาดาบุซ-ซะฟาฟ” หน้าเดียวกัน) ...
ท่านอิบนุหัสมิน ได้บันทึกหะดีษบทนี้ไว้ในหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” ของท่าน เล่มที่ 10 หน้า 84, .. ทว่า สำนวนในช่วงแรกของหะดีษจากการบันทึกของท่าน มีข้อความดังนี้ ...
“บุตรีของท่านฮุบัยเราะฮ์ ได้ไปหาท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม โดยที่มือของนางมีแหวนอยู่หลายวง ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จึงได้ตีที่มือของนาง นางจึงเข้าไปหาท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ร.ฎ. ............”
จะเห็นได้ว่า สำนวนจากการบันทึกของท่านอิบนุหัสมิน มิได้ระบุไว้ด้วยว่า แหวนนั้นเป็นแหวนทองคำ, .. และคำพูดของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมหลังจากตีมือของนางแล้วที่ว่า .. “เธอชอบที่จะให้อัลลอฮ์ เอาแหวนจากไฟนรกใส่ในมือของเธอหรือ ?” .. ก็ไม่มีระบุไว้ในรายงานของท่านอิบนุ หัสมินเช่นกัน ...
ด้วยเหตุนี้ ท่านอิบนุหัสมินจึงกล่าววิจารณ์ว่า ไม่มีหลักฐานว่า การที่ท่านนบีย์ตีมือบุตรีของท่านฮุบัยเราะฮ์นั้น เพราะนางสวมแหวน, .. แต่อาจจะเป็นเพราะนางทำให้ข้อมือโผล่ออกมาก็ได้, .. และไม่มีหลักฐานอีกเช่นกันว่า แหวนที่นางสวมอยู่นั้น เป็นแหวนทองคำ, ดังนั้น หะดีษบทนี้จึงมิใช่หลักฐานห้ามสตรีใช้เครื่องประดับทองคำ ...
แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว หะดีษบทนี้จากการบันทึกของนักวิชาการท่านอื่นๆ อาทิเช่น ท่านอะห์มัด (เล่มที่ 5 หน้า 278), ท่านอัล-หากิม (เล่มที่ 3 หน้า 166), ท่านอัน-นะซาอีย์ (หะดีษที่ 5156), และท่านอัรฺ-เรายานีย์ (อัล-มุสนัด 14/126/1 ซึ่งถือเป็นรายงานที่ถูกต้องที่สุดของหะดีษบทนี้ดังจะได้กล่าวต่อไป) .. ล้วนระบุตรงกันว่า แหวนที่นางสวมอยู่นั้น เป็นแหวนทองคำ, .. และคำกล่าวของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมที่กล่าวแก่นางว่า .. “เธอชอบที่จะให้อัลลอฮ์ เอาแหวนจากไฟนรกใส่ในมือของเธอหรือ” .. นั้น ก็บ่งบอกความหมายชัดเจนว่า เหตุผลที่ท่านตีมือของนางนั้น ก็เพราะนางสวมแหวนทองคำนั่นเอง ...
ท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ และท่านเช็คอัรฺชัด อัส-สะละฟีย์ ได้กล่าววิจารณ์ความบกพร่องของหะดีษกระแสนี้ในหนังสือ “อัล-อิบาหะฮ์” ใน 3 ประเด็นคือ ...
1. การรายงานของท่านยะห์ยา บิน อบีย์กะษีรฺ จากท่านซัยด์ บิน ซัลลามนั้น เชื่อถือไม่ได้, เพราะท่านยะห์ยา บิน อบีย์กะษีรฺ เป็นผู้รายงานประเภทมุดัลลิซ หรือชอบมั่วนิ่ม, ..
2. สายรายงานของหะดีษบทนี้ ขาดตอน (مُنْقَطِعٌ) ในระหว่างท่านยะห์ยา บิน อบีย์กะษีรฺ กับท่านอบีย์ซัลลาม ...
3. และท่านฮัมมาม บิน ยะห์ยา อัล-อัซดีย์ ผู้รายงานหมายเลข 1/2 เชื่อถือไม่ได้ ...
ข้อชี้แจง
เพื่อมิให้เป็นการยืดเยื้อ ผมจึงขอสรุปการชี้แจงข้ออ้างดังกล่าวดังนี้คือ ...
(1). ข้ออ้างที่ว่า .. การรายงานของท่านยะห์ยา บิน อบีย์กะษีรฺ จากท่านซัยด์ บิน ซัลลาม เชื่อถือไม่ได้นั้น .. ถูกหักล้างโดยหะดีษบทหนึ่งซึ่งท่านอัต-ติรฺมีซีย์ได้บันทึกไว้ใน “อัส-สุนัน” ของท่าน อันเป็นหะดีษที่ 3235, เป็นการรายงานของท่านยะห์ยา บิน อบีย์กะษีรฺ, จากท่านซัยด์ บิน ซัลลาม, จากท่านอบีย์ซัลลาม .. เหมือนกับสายรายงานหะดีษนี้ทุกประการ (โปรดพลิกกลับไปดูสายรายงานหะดีษนี้อีกครั้งในหน้าที่ 24) ...
ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ ได้กล่าวในตอนท้ายของหะดีษดังกล่าวว่า ...
هَذَا حَدِيْثٌ صَحِيْحٌ، سَأَلْتُ مُحَمَّدَ بْنَ إِسْمَاعِيْلَ عَنْ هَذَاالْحَدِيْثِ فَقَالَ : هَذَا حَدِيْثٌ صَحِيْحٌ ...
“นี่คือ หะดีษที่สวยงามและถูกต้อง, ฉันได้ถามท่านมุหัมมัด บิน อิสมาอีล (หมายถึงท่านบุคอรีย์) เกี่ยวกับหะดีษนี้ ท่านตอบว่า มันเป็นหะดีษที่สวยงามและถูกต้อง” ...
(โปรดดูหนังสือ “สุนันอัต-ติรฺมีซีย์” จากการตะห์กีกของท่านอะห์มัด มุหัมมัดชากิรฺ เล่มที่ 5 หน้า 343-344) ...
ท่านเช็คชุอัยบ์ อัล-อัรฺนาโอ็ต นักวิชาการหะดีษผู้มีชื่อเสียงยุคปัจจุบันอีกท่านหนึ่ง ได้กล่าวในหนังสือ “اَلتَّعْلِيْقُ عَلَى شَرْحِ السُّنَّةِ” เล่มที่ 4 หน้า 37 เกี่ยวกับหะดีษบทหนึ่งซึ่งเป็นการรายงานของท่านยะห์ยา บิน อบีย์กะษีรฺ, จากท่านซัยด์ บิน ซัลลาม, จากท่านอบีย์ซัลลาม -- เหมือนสายรายงานของหะดีษบทนี้ -- โดยท่านเช็คชุอัยบ์กล่าวว่า ...
(( إِسْنَادُهُ صَحِيْحٌ ))
“สายรายงานของมัน ถูกต้อง”
ส่วนประวัติของท่านยะห์ยา บิน อบีย์กะษีรฺ ผู้รายงานหะดีษบทนี้ที่ถูกท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์กล่าววิจารณ์ว่า เป็นผู้รายงานประเภทมุดัลลิซ(มั่วนิ่ม) นั้น ปรากฏว่าข้อเท็จจริงก็คือ ท่านเป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือในระดับสูงมากท่านหนึ่ง ...
ท่านอัยยูบ นักวิชาการท่านหนึ่งกล่าวว่า ...
(( مَابَقِىَ عَلَى وَجْهِ اْلأَرْضِ مِثْلُ يَحْيَى بْنِ أَبِىْ كَثِيْرٍ ))
“ไม่มีอีกแล้ว ผู้ซึ่งยังหลงเหลือในโลกนี้ ที่จะเหมือนท่านยะห์ยา บิน อบีย์กะษีรฺ” ...
(จากหนังสือ “อัล-กาชิฟ” ของท่านอัษ-ษะฮะบีย์ เล่มที่ 3 หน้า 233)
ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้กล่าวในอารัมภบทของหนังสือฟัตหุ้ลบารีย์ .. คือหนังสือ “อิรฺชาด อัซ-ซารีย์” หน้า 452 ว่า ...
يَحْيَى بْنُ أَبِىْكَثِيْرٍ الِيَمَامِىُّ، أَحَدُ اْلأَئِمَّةِ اْلأَثْبَاتِ الِمُكْثِرِيْنَ ..... إِحْتَجَّ بِهِ اْلأَئِمَّةُ
“ยะห์ยา บิน อบีย์กะษีรฺ อัล-ยะมามีย์, คือหนึ่งจากนักวิชาการระดับแนวหน้าที่เชื่อถือได้ และรายงานหะดีษไว้มากมาย, ....... บรรดานักวิชาการชั้นนำต่างให้ความเชื่อถือต่อเขา” ...
ส่วนหนึ่งจากข้อยืนยันคำกล่าวของท่านอิบนุหะญัรฺข้างต้นนี้ก็คือ ท่านยะห์ยา บิน อบีย์กะษีรฺ คือผู้รายงานหะดีษที่ได้รับการยอมรับจากท่านบุคอรีย์, ท่านมุสลิม, ท่านอบูดาวูด, ท่านอัน-นะซาอีย์, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ และท่านอิบนุมาญะฮ์ .. ดังที่มีระบุไว้ในหนังสือ “ตะฮ์ซีบ อัต-ตะฮ์ซีบ” เล่มที่ 11 หน้า 235 ...
สำหรับกรณีที่อ้างว่า ท่านยะห์ยา บิน อบีย์กะษีรฺ เป็นผู้รายงานประเภทมั่วนิ่ม (مُدَلِّسٌ) .. ดังการบันทึกของท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ในหนังสือ “อัต-ตักรีบ” เล่มที่ 2 หน้า 356 นั้น ...
ข้อเท็จจริงก็คือ หะดีษนี้เรื่องที่ท่านนบีย์ได้ตีมือที่สวมแหวนทองคำของบุตรีท่านฮุบัยเราะฮ์, และเรื่องเกี่ยวกับสร้อยคอของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ร.ฎ.ฯลฯ นั้น .. จากการบันทึกของท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 5155, และการบันทึกของท่านอะห์มัด เล่มที่ 5 หน้า 278, และการบันทึกของท่านอิบนุหัสมินในหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” เล่มที่ 10 หน้า 84 .. ปรากฏว่าท่านยะห์ยา บิน อบีย์กะษีรฺ ได้กล่าวอย่างชัดเจนในการรายงานว่า ...
حَدَّثَنِىْ زَيْدُ بْنُ سَلاَّمٍ ...
... คือ “ท่านซัยด์ บิน ซัลลาม ได้พูด กับฉันว่า ...” .. ซึ่งการรายงานในลักษณะนี้ ถือว่า เป็นการรายงานที่ถูกต้องตามหลักวิชาหะดีษ, มิใช่เป็นรายงานประเภทมั่วนิ่มหรือตัดลิซ ...
ท่านอบูหาติม อัล-มัรฺวะซีย์ นักวิจารณ์ประวัติผู้รายงานหะดีษที่ได้รับความเชื่อถืออย่างมากท่านหนึ่ง ก็ได้กล่าวยืนยันในหนังสือ “อัล-มะรอซีล” ของท่าน หน้าที่ 244 ว่า .. ท่านยะห์ยา บิน อบีย์กะษีรฺ เคยได้รับฟังหะดีษจากท่านซัยด์ บิน ซัลลามจริง
(ดูข้อมูลจากหนังสือ “อัต-ตัดลีซ ฟิลหะดีษ” ของท่านด็อกเตอร์ มิสฟิรฺ บิน ฆ็อรฺมุลลอฮ์ หน้า 284) ...
(2). ส่วนข้ออ้างที่ว่า .. หะดีษบทนี้ สายรายงาน “ขาดตอน” ในระหว่างท่านยะห์ยา บิน อบีย์กะษีรฺ กับท่าน อบีย์ ซัลลามนั้น ...
ข้อเท็จจริงก็คือ การขาดตอนดังกล่าวมีปรากฏอยู่ในสายรายงานของผู้บันทึกบางท่านเท่านั้น .. อาทิเช่น ในสายรายงานของท่านอัล-หากิม เล่มที่ 3 หน้า 165, 166, .. และในสายรายงานของท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 4 หน้า 140 เป็นต้น ...
แต่จากการบันทึกอันเชื่อถือได้ของท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 5155, และการบันทึกของท่านอะห์มัด เล่มที่ 5 หน้า 278 ปรากฏว่า สายรายงานของหะดีษนี้จากการบันทึกของทั้งสองท่านนั้นมิได้ขาดตอนดังสายรายงานข้างต้น แต่เป็นสายรายงานที่ ต่อเนื่อง, เพราะมีการระบุชื่อ “ท่านซัยด์ บิน ซัลลาม” ในระหว่างท่านยะห์ยา บิน อบีย์กะษีรฺกับท่านอบีย์ ซัลลาม เอาไว้ด้วย (โปรดเปิดดูสายรายงานหะดีษนี้อีกครั้งในหน้าที่ 24) ...
สายรายงานหะดีษบทข้างต้นนี้จึงมิได้ “ขาดตอน” ดังการวิจารณ์ของท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์และท่านเช็คอัรฺชัด อัส-สะละฟีย์ ...
จากข้อมูลทั้งหมดที่ได้อธิบายมานี้ จึงเป็นหลักฐานหักล้างข้ออ้างของท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ และท่านอัรฺชัด อัส-สะละฟีย์ ที่ว่า ... การรายงานของท่านยะห์ยา บิน อบีย์กะษีรฺ จากท่านซัยด์ บิน ซัลลามนั้น เชื่อถือไม่ได้, .. ท่านยะห์ยาบิน อบีย์กะษีรฺ เป็นผู้รายงานประเภทมั่วนิ่ม, .. และสายรายงานของหะดีษนี้มีลักษณะขาดตอน .. ลงได้อย่างสิ้นเชิง ...
(3). ส่วนคำวิจารณ์ของทั้งสองท่านนั้นที่ว่า .. ท่านฮัมมาม บิน ยะห์ยา อัล-อัซดีย์ (หรืออัล-เอาซีย์) หนึ่งในผู้รายงานหะดีษนี้ เป็นผุ้รายงานที่ขาดความเชื่อถือนั้น ...
ท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ ได้อ้างทัศนะของนักวิจารณ์บางท่านจากหนังสือ “ตะห์ซีบ อัต-ตะห์ซีบ” เล่มที่ 11 หน้า 60-62, และหนังสือ “มีซาน อัล-เอี๊ยะอฺติดาล” เล่มที่ 4 หน้า 309-310 มายืนยันคำวิจารณ์ดังกล่าวนี้ ...
แม้ข้อมูลดังกล่าวจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์มิได้กล่าวถึงก็คือ บทสรุปเกี่ยวกับคุณสมบัติและภาพพจน์ที่แท้จริงของท่านฮัมมาม บิน ยะห์ยา อัล-อัซดีย์ .. ตามที่ตำราทั้ง 2 เล่มนั้นและตำราอื่นๆได้กล่าวเอาไว้ ดังต่อไปนี้ ...
1. คำกล่าวของท่านอัษ-ษะฮะบีย์ในหนังสือ “อัล-มีซานฯ” เล่มที่ 4 หน้า 309 ตอนเริ่มต้นประวัติของท่านฮัมมาม ว่า ... هَمَّامُ بْنُ يَحْيَى أَحَدُ عُلَمَاءِ الْبَصْرَةِ وَثِقَاتِهَا .. คือ ท่านฮัมมาม บินยะห์ยา อัล-อัซดีย์ เป็นหนึ่งจากนักวิชาการแห่งเมืองบัศเราะฮ์ และเป็นหนึ่งจากผู้ที่เชื่อถือได้แห่งเมืองนั้น ...
2. คำกล่าวของท่านอัษ-ษะฮะบีย์ในตอนท้ายของประวัติท่านฮัมมามว่า ...
قَالَ أَحْمَدُ بْنُ حَنْبَلٍ : هَمَّامٌ ثَبْتٌ فِىْ كُلِّ مَشَايِخِهِ،... وَقَالَ أَبُوْ زُرْعَةَ : لاَ بَأْسَ بِهِ
“ท่านอิหม่ามอะห์มัด อิบนุหัมบัลกล่าวว่า .. ท่านฮัมมาม เชื่อถือได้ในทุกๆคนที่ท่านรายงานมา ... ท่านอบูซุรฺอะฮ์กล่าวว่า .. ท่านฮัมมาม (เชื่อถือได้) ไม่มีปัญหาใดๆ”
3. มีบันทึกในหนังสือ “ตะฮ์ซีบ อัต-ตะฮ์ซีบ” เล่มที่ 11 หน้า 60, และหนังสือ “อิรฺชาด อัซ-ซารีย์ หน้า 449 .. ว่า ท่านฮัมมาม บินยะห์ยา เป็นผู้รายงานใน(اَلصِّحَاحُ السِّـتَّةُ) คือในตำราหะดีษของผู้บันทึกที่โลกมุสลิมยอมรับทั้ง 6 .. คือท่านบุคอรีย์, ท่านมุสลิม, ท่านอบูดาวูด, ท่านอัน-นะซาอีย์, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ และท่านอิบนุมาญะฮ์,
4. ท่านอิบนุ อะดีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-กามิล” หน้า 2592 ว่า ...
(( وَهَمَّامٌ أَشْهَرُ وَأَصْدَقُ مِنْ أَنْ يُذْكَرَ، لَهُ حَدِيْثٌ مُنْكَرٌ، وَأَحَادِيْثُهُ مُسْتَقِيْمَةٌ عَنْ قَنَادَةَ، وَهُوَ مُقَدَّمٌ فِىْ يَحْيَى بْنِ أَبِىْ كَثِيْرٍ، وَعَآمَّةُ مَايَرْوِيْهِ مُسْتَقِيْمَةٌ ))
“ท่านฮัมมาม เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงแพร่หลาย และน่าเชื่อถือมากเสียยิ่งกว่าสิ่งที่ท่านถูกกล่าวขวัญถึง, ท่านรายงานหะดีษที่มุงกัรฺ (อ่อนมาก) มาบทหนึ่ง, หะดีษต่างๆที่ท่านรายงานมาจากท่านเกาะตาดะฮ์ ถือว่าเที่ยงตรง, และท่านต้องถูกยอมรับก่อนใครอื่นในการรายงานมาจากท่านยะห์ยา บิน อบีย์กะษีรฺ (อย่างหะดีษเรื่องบุตรีของท่านฮุบัยเราะฮ์บทนี้ เป็นต้น) .. และภาพรวมของสิ่งที่ท่านรายงานมาถือว่า เที่ยงตรง” ...
5. ท่านอิบนุหะญัรฺ ได้บันทึกในหนังสือ “ตะฮ์ซีบ อัต-ตะฮ์ซีบ” เล่มที่ 11 หน้า 61 จากคำพูดของท่านอับดุรฺเราะห์มาน อัล-มะฮ์ดีย์ว่า ...
((ظَلِمَ يَحْيَى بْنُ سَعِيْدٍ هَمَّامَ بْنَ يَحْيَى، لَمْ يَكُنْ لَهُ بِهِ عِلْمٌ وَلاَ مُجَالَسَةٌ ))
“ท่านยะห์ยา บินสะอีด ได้อธรรมต่อท่านฮัมมาม บิน ยะห์ยาเกินไป, เขาไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับท่านฮัมมาม และก็ไม่เคยนั่งร่วมกับท่านฮัมมามเลยด้วยซ้ำ” ...
หมายเหตุ ท่านยะห์ยา บิน สะอีด ก็เป็นผู้หนึ่งที่กล่าวหาท่านฮัมมามว่า ไม่น่าเชื่อถือ, .. และท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ ก็ได้อ้างทัศนะของท่านยะห์ยา บินสะอีดมาเป็นข้อมูลในการวิจารณ์ท่านฮัมมามด้วย .. ซึ่งตอนนี้ ท่านผู้อ่านก็คงได้รับทราบจากคำพูดของท่านอับดุรฺเราะห์มาน อัล-มะฮ์ดีย์แล้วว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ...
.......ฯลฯ ......
เหนือสิ่งอื่นใด หะดีษกระแสนี้ถูกรับรองความถูกต้อง (เศาะเหี๊ยะฮ์) จากนักวิชาการหะดีษที่มีชื่อเสียงในอดีตหลายท่าน .. ดังข้อมูลที่ได้นำเสนอไปแล้วในหน้าที่ 24 ...
แต่ “ตัวชี้ขาด” ที่แท้จริงของหะดีษเรื่องบุตรีท่านฮุบัยเราะฮ์และท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ร.ฎ.บทนี้ ก็คือ รายงานกระแสที่สองของหะดีษนี้จากท่านอบู กิลาบะฮ์ อัล-ญัรฺมีย์ดังที่ผมได้เกริ่นไว้แล้วในหน้าที่ 24 .. อันถือว่าเป็นสายรายงานที่ถูกต้องที่สุดและไม่มีข้อบกพร่องใดๆเลย ...
ความจริง สายรายงานกระแสที่สองของหะดีษนี้ ท่านอัล-อัลบานีย์ก็ได้อ้างถึงเอาไว้แล้วในหนังสือ “อาดาบุซ-ซะฟาฟ” ของท่าน หน้า 231 ...
แต่เท่าที่ผมได้ตรวจสอบหนังสือ “อัล-อิบาหะฮ์” ของท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ที่เขียนโต้แย้งท่านอัล-อัลบานีย์เกี่ยวกับเรื่องเครื่องประดับทองคำตั้งแต่ต้นจนจบ ก็ไม่พบว่า ท่านจะเอ่ยถึงหรือ “แตะต้อง” หะดีษกระแสนี้แต่อย่างใด ...
ผมไม่ทราบว่า เพราะเหตุใดท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ จึงไม่ยอมเอ่ยถึงและไม่ยอมโต้แย้งหะดีษกระแสนี้ ? .. เพราะเผลอหรือเจตนามองข้าม เนื่องจากมันเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่สนับสนุนข้ออ้างของท่านเช็คอัล-�



ผู้หญิงใส่ สร้อยแหวน กำไล ทองคำได้หรือไม่ (ตอนที่ 5)


โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ห้ามทั้งบุรุษและสตรี ดื่มกินจากภาชนะทองคำและเงิน
ท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ...
اَلَّذِىْ (يَأْكُلُ وَ) يَشْرَبُ فِىْ إِنَاءِ (الذَّهَبِ وَ) الْفِضَّةِ إِنَّمَا يُجَرْجِرُ فِىْ بَطْنِهِ نَارَ جَهَنَّمَ
“ผู้ซึ่ง (กินและ) ดื่มในภาชนะ (ทองคำและ) เงินนั้น มันมิใช่อื่นใดนอกจากเขากำลังทำให้ท้องของเขาเต็มไปด้วยไฟนรก” ...
(บันทึกโดยท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 5634, ท่านมุสลิม หะดีษที่ 1/2065, ท่านอิบนุมาญะฮ์ หะดีษที่ 3413, ท่านอัด-ดาริมีย์ หะดีษที่ 2129, ท่านอะห์มัด เล่มที่ 6 หน้า 301, 302, 304, 306, ท่านมาลิกใน “อัล-มุวัฏเฏาะอ์” หะดีษที่ 1782 โดยรายงานมาจากท่านหญิงอุมมุ สะละมะฮ์ ร.ฎ.) ...
สำนวนดังกล่าวนี้ เป็นสำนวนจากการบันทึกของทุกท่านข้างต้น .. ยกเว้นข้อความตัวหนาในวงเล็บทั้ง 2 ตำแหน่ง เป็นข้อความจากการบันทึกของท่านมุสลิมโดยเฉพาะ ...
จากคำชี้แจงนี้ จะเห็นได้ว่า สำนวนจากการบันทึกของท่านมุสลิม ผิดเพี้ยนไปจากการบันทึกของผู้บันทึกท่านอื่น เพราะมีการเพิ่มคำว่า “กิน” และคำว่า “ทองคำ” เข้าไปในตัวบทของหะดีษ, ขณะที่บันทึกของผู้รายงานท่านอื่น จะไม่มี 2 คำนี้ ...
จะอย่างไรก็ตาม การเพิ่มเติมคำว่า “กิน” และ “ทองคำ” จากการบันทึกของท่านมุสลิมในหะดีษบทนี้ ก็ได้รับการยืนยัน (شَاهِدٌ) จากหะดีษอีกบทหนึ่ง .. นั่นคือ ท่านหุซัยฟะฮ์ บิน อัล-ญะมาน ร.ฎ. เศาะหาบะฮ์อีกท่านหนึ่งได้รายงานมาว่า ...
(( سَمِعْتُ النَّبِىَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَقُوْلُ : لاَ تَلْبَسُواالْحَرِيْرَ وَلاَ الدِّيْبَاجَ، وَلاَ تَشْرَبُوْا فِىْ آنِيَةِ الذَّهَبِ وَالْفِضَّةِ، وَلاَ تَأْكُلُوْا فِىْ صِحَافِهَا، فَإِنَّهَا لَهُمْ فِى الدُّنْيَا، وَلَنَا فِى اْلآخِرَةِ .. ))
ฉันเคยได้ยินท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า .. “พวกท่านอย่าสวมเครื่องแต่งกายที่เป็นผ้าไหมบริสุทธิ์ หรือผ้าไหมยกเงินยกทอง, และพวกท่านอย่าดื่มในภาชนะที่ทำจากทองคำหรือเงิน และอย่ารับประทานจากจานเหล่านั้น เพราะสิ่งนี้ มันเป็นของพวกเขา (กาฟิรฺ) ในโลกนี้, และเป็นของพวกเรา (มุสลิม) ในโลกหน้า” ...
(บันทึกโดย ท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 5426, .. และหะดีษของท่านหุซัยฟะฮ์ในสำนวนที่คล้ายคลึงกันนี้ ยังถูกบันทึกโดยท่านมุสลิม, ท่านอบูดาวูด, ท่านอัน-นะซาอีย์, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์, ท่านอัด-ดาริมีย์, ท่านอะห์มัด และท่านอิบนุมาญะฮ์ด้วยเช่นกัน ...
เมื่อเราพิจารณาดูเนื้อหาของหะดีษนี้ทั้ง 2 บท จะเห็นได้ว่า ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ห้ามในภาพรวม -- คือมิได้ระบุว่าห้ามเพศใด -- จากการแต่งกายด้วยผ้าไหม, และห้ามดื่มกินจากภาชนะที่ทำด้วยเงินหรือทองคำ ...
แต่ดังเป็นที่ทราบกันดีจากหะดีษบทก่อน (หน้าที่ 11) ที่ผ่านมาแล้วว่า ผ้าไหมและทองคำ เป็นที่ต้องห้ามสำหรับบุรุษเพศเท่านั้น แต่ทั้งสองอย่างนี้เป็นที่อนุมัติสำหรับสตรีเพศ (โดยไม่มีข้อแม้) ...
ดังนั้น เมื่อเรานำเอาหะดีษ 2 บทหลังนี้มาพิจารณาร่วมกับหะดีษบทก่อนในหน้า 11 .. ตามรูปการจึงน่าจะเข้าใจได้ว่า การห้ามใช้ผ้าไหมและห้ามดื่มกินจากภาชนะที่ทำจากทองคำหรือเงิน น่าจะเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับเพศชายโดยเฉพาะ ...
แต่ข้อเท็จจริงมิใช่เป็นเช่นนั้น ... เพราะบรรดานักวิชาการต่างเห็นพ้องกันว่า ข้อห้ามจากการดื่มกินในภาชนะที่ทำด้วยทองคำหรือเงินนั้น มิใช่จำกัดเฉพาะเพศชาย ทว่ายังครอบคลุมถึงเพศหญิงด้วยเช่นเดียวกัน จึงดูเหมือนว่าทัศนะดังกล่าวของบรรดานักวิชาการ น่าจะขัดแย้งกับหะดีษข้างต้นที่อนุมัติทองคำสำหรับเพศหญิงทุกชนิด ...
สิ่งนี้ จึงเท่ากับเป็นการยอมรับโดยปริยายของบรรดานักวิชาการว่า การอนุมัติให้เพศหญิงใช้ทองคำได้นั้น มิได้หมายความว่า จะอนุมัติไปเสียทุกเรื่องโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆดังกล่าวมาแล้ว หากแต่ยังมีข้อห้ามเพศหญิงจากการดื่มกินในภาชนะทองคำหรือเงิน อันถือได้ว่าเป็น “ข้อยกเว้น” จากการอนุมัติทองคำทั้งหมดแก่เพศหญิง .. ตามที่เข้าใจได้จากหะดีษในหน้าที่ 11 นั้น ...
ดังนั้น เมื่อการอนุมัติให้เพศหญิงใช้ทองคำได้ทุกชนิด ยังถูกยกเว้นโดยหะดีษที่ห้ามดื่มหรือกินในภาชนะทองคำ การยกเว้นในลักษณะเดียวกัน คือห้ามใช้ทองคำในเครื่องประดับบางชนิด คือ แหวน, สร้อยคอ, และกำไล, จึงมิใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใดตามทัศนะของท่านอัล-อัลบานีย์ ตราบใดที่มีหะดีษที่ถูกต้อง (เศาะเหี๊ยะฮ์) เกี่ยวกับข้อห้ามดังกล่าวมายืนยันไว้ เหมือนกับหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ที่มายืนยันเรื่องห้ามกินหรือดื่มจากภาชนะที่ทำจากทองคำฉะนั้น ...
หลักฐานห้ามสตรีใช้แหวนทองคำ, สร้อยคอทองคำ, และกำไลทองคำ
หลักฐานที่ 1.
ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ...
مَنْ أَحَبَّ أَنْ يُحَلِّقَ حَبِيْبَهُ حَلْقَةً مِنْ نَارٍ فَلْيُحَلِّقْهُ حَلْقَةً مِنْ ذَهَبٍ، وَمَنْ أَحَبَّ أَنْ يُطَوِّقَ حَبِيْبَهُ طَوْقًا مِنْ نَارٍ فَلْيُطَوِّقْهُ طَوْقًا مِنْ ذَهَبٍ، وَمَنْ أَحَبَّ أَنْ يُسَوِّرَ حَبِيْبَهُ سِوَارًامِنْ نَارٍ فَلْيُسَوِّرْهُ سِوَارًا مِنْ ذَهَبٍ، وَلَكِنْ عَلَيْكُمْ بِالْفِضَّةِ ! فَلْعَبُوْابِهَا، ( اِلْعَبُوْابِهَا، اِلْعَبُوْابِهَا)
“ผู้ใดพึงใจจะให้ผู้ที่เขารักสวมแหวนจากไฟนรกละก็ จงสวมแหวนทองคำให้เขาเถิด, ผู้ใดพึงใจจะให้ผู้ที่เขารักสวมสร้อยคอจากไฟนรกละก็ จงสวมสร้อยคอทองคำให้เขาเถิด, และผู้ใดพึงใจจะให้ผู้ที่เขารักสวมกำไลจากไฟนรกละก็ จงสวมกำไลทองคำให้เขาเถิด, .. แต่ว่า, สิ่งจำเป็น (เหมาะสม) สำหรับพวกท่านคือ(แร่)เงิน, ดังนั้น พวกท่านจงหาความเพลิดเพลินด้วยมัน (เงิน) เถิด, (พวกท่านจงหาความเพลิดเพลินด้วยมันเถิด, พวกท่านจงหาความเพลิดเพลินด้วยมันเถิด)” ...
(บันทึกโดย ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 4236, ท่านอะห์มัด เล่มที่ 2 หน้า 378, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 4 หน้า 140, และท่านอิบนุหัสมิน ในหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” เล่มที่ 10 หน้า 84, .. สำนวนในที่นี้เป็นสำนวนของผู้รายงานทั้งหมด, ยกเว้นในวงเล็บตอนท้าย เป็นสำนวนเพิ่มเติมจากการบันทึกของท่านอะห์มัด เล่มที่ 2 หน้า 334) ...
สายรายงานของหะดีษข้างต้น เป็นดังนี้ ...
1. อับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัด-ดะรอวัรฺดีย์ (عَبْدُالْعَزِيْزِ بْنُ مُحَمَّدٍ الدَّرَاوَرْدِىُّ)
2. อะซีด บิน อบีย์อะซีด อัล-บัรฺรอด (أََسِيْدُ بْنُ أَبِىْ أَسِيْدٍ الْبَرَّادُ)
3. นาเฟี๊ยะอฺ บิน อับบาส (หรือบินอัยยาช) (نَافِعُ بْنُ عَبَّاسٍ أَوِ بْنُ عَيَّاشٍ)
4. ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ ร.ฎ.
5. ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม
ผู้ที่รายงานหะดีษนี้มาจากท่านอะซีดบิน อบีย์อะซีด (หมายเลข 2) นอกจากท่านอับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัด-ดะรอวัดดีย์ (หมายเลข 1) ดังในรายงานกระแสนี้แล้ว ยังมีท่านซุฮัยรฺ บินมุหัมมัด อัต-ตัยมีย์ .. จากการบันทึกของท่านอะห์มัด (เล่มที่ 2 หน้า 334), .. และท่านอิบนุ อบีย์ซิบิน จากการบันทึกของท่านอบุลหะซัน อัล-อิคมีมีย์ (ในหนังสือ “อัล-หะดีษ” ของท่าน หมายเลข 2/9/2) ...
อธิบาย
ผู้รายงานของหะดีษบทนี้ทุกท่าน เป็นผู้ที่เชื่อถือได้, เพราะเป็นผุ้รายงานที่ได้รับการยอมรับโดยท่านมุสลิม, .. ยกเว้นผู้รายงานลำดับที่ 2 คือ ท่านอะซีด บินอบีย์อะซีด อัล-บัรฺรอด, ซึ่งมิใช่เป็นผู้รายงานของท่านมุสลิม แต่ท่านก็ได้รับความเชื่อถือจากท่านอิบนุหิบบาน และนักวิชาการอื่นๆอีกหลายท่าน ...
นักวิชาการหะดีษกลุ่มหนึ่งถือว่า หะดีษบทนี้ของท่านอะซีด บินอบีย์อะซีด เป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ .. ดังมีรายนามต่อไปนี้ ...
1. ท่านอัล-มุนซิรีย์ ในหนังสือ “อัต-ตัรฆีบ วัต-ตัรฺฮีบ” เล่มที่ 1 หน้า 273 ...
2. ท่านอัช-เชากานีย์ ในหนังสือ “อัล-วัชยุลมัรฺกูม” ดังการอ้างอิงในหนังสือ “เอานุ้ล มะอฺบูด” เล่มที่ 11 หน้า 296 ...
3. ท่านอะห์มัด มุหัมมัดชากิรฺ ในการอธิบายหนังสือ “อัล-มุสนัด” ของท่านอิหม่ามอะห์มัด เล่มที่ 16 หน้า 177 (หะดีษที่ 8397) .. และเล่มที่ 17 หน้า 62 (หะดีษที่ 8897) ...
4. ท่านอัล-อัลบานีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “เศาะเหี๊ยะฮ์ อบูดาวูด” เล่มที่ 2 หน้า 797 ว่า หะดีษบทนี้ เป็นหะดีษหะซัน (สวยงาม) ...
ในมุมมองส่วนตัวของผม เห็นว่า หะดีษบทนี้เป็นเพียงหะดีษหะซัน มิใช่หะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์, เพราะท่านอะซีด บิน อบีย์อะซีด อัล-บัรฺรอด ถูกท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ กล่าววิจารณ์ในหนังสือ “อัต-ตักรีบ” เล่มที่ 1 หน้า 77, และท่านอัษ-ษะฮะบีย์ ได้กล่าววิจารณ์ในหนังสือ “อัล-กาชิฟ” เล่มที่ 1 หน้า 81 มาตรงกันว่า صَدُوْقٌ, ... หมายความว่าเป็น “ผู้ที่พอจะเชื่อถือได้” .. อันถือว่าเป็นคุณสมบัติของผู้รายงานหะดีษหะซัน, มิใช่คุณสมบัติของผู้รายงานหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ ...
อีกกระแสหนึ่งของหะดีษบทนี้ มาจากการรายงานของท่านอะซีด บิน อบีย์อะซีด ที่รายงานมาจากท่านนาเฟี๊ยะอฺ บิน อัยยาชเหมือนกระแสแรก,.. แต่ในกระแสนี้ ท่านนาเฟี๊ยะอฺอ้างการรายงานมาจากบุตรชายของท่านอบูมูซา อัล-อัชอะรีย์ ร.ฎ. หรือบุตรชายของท่านอบูเกาะตาดะฮ์ ร.ฎ. ท่านใดท่านหนึ่ง .. ดังการบันทึกของท่านอะห์มัดในหนังสือ “อัล-มุสนัด” เล่มที่ 4 หน้า 414 ...
ท่านอัล-ฮัยษะมีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-มัจญมะฮ์ อัซ-ซะวาอิด” เล่มที่ 5 หน้า 262 ว่า ถ้าหากบุตรชายของท่านอบูมูซาในที่นี้ คือท่านมูซา, .. และบุตรชายของท่านอบูเกาะตาดะฮ์ คือท่านอับดุลลอฮ์ .. ก็ถือว่าหะดีษนี้เป็นหะดีษหะซัน (สวยงาม) ...
ท่านอิบนุหัสมินเอง หลังจากที่ได้ระบุหะดีษบทนี้ (จากกระแสที่ 1)ไว้ในหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” ของท่าน เล่มที่ 10 หน้า 84 แล้ว ท่านก็ไม่ได้วิจารณ์ข้อเท็จจริงใดๆของหะดีษบทนี้, แตกต่างจากหะดีษบทอื่นที่เมื่อมีกล่าวถึงการห้ามสตรีใช้เครื่องประดับทองคำ ท่านอิบนุหัสมินก็จะวิจารณ์ความบกพร่องหรือความไม่ถูกต้องของหะดีษเหล่านั้นทุกบทไป ...
ยิ่งไปกว่านั้น ท่านอิบนุหัสมินยังกล่าวอธิบายต่อไปในทำนองว่า หะดีษบทนี้เป็นหะดีษคลุมเครือ (مُجْمَلٌ) ซึ่งจะต้องถูกจำกัดความหมายลงด้วยหะดีษที่อนุมัติผู้หญิงใช้ทองคำได้ทุกชนิด .. บทที่ผ่านมาแล้วในหน้าที่ 11 ..
คำอธิบายดังกล่าวบ่งบอกความหมายว่า ท่านอิบนุหัสมิน ยอมรับความถูกต้องของหะดีษบทนี้โดยปริยายเช่นเดียวกัน ...
สรุปแล้ว ในภาพรวมของหะดีษบทนี้ อย่างน้อยก็เป็นหะดีษหะซัน, หรืออาจจะเป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ .. ดังทัศนะของนักวิชาการที่ผมได้อ้างอิงไปแล้วนั้น ...
ดังนั้น หะดีษบทนี้จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่า ห้ามสตรีจากการใช้แหวนทองคำ, สร้อยคอทองคำ และกำไลทองคำ .. แต่ส่งเสริมให้พวกนางหันไปใช้เครื่องประดับเหล่านี้ที่ทำจากเงินแทน .. ดังข้อความตอนท้ายของหะดีษนี้ ...



ผู้หญิงใส่ สร้อยแหวน กำไล ทองคำได้หรือไม่ (ตอนที่ 4)



โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย
ผ้าไหมและทองคำเป็นที่ต้องห้ามสำหรับบุรุษ แต่เป็นที่อนุมัติสำหรับสตรี
ต่อมาในช่วงสุดท้ายก่อนการสิ้นชีวิตของท่านศาสดาไม่นาน อิสลามก็ได้มีบทบัญญัติห้ามผู้ชายใช้เครื่องประดับที่เป็นทองคำ และเครื่องแต่งกายที่ทำจากผ้าไหม(แท้) แต่ยังคงการอนุมัติทั้งสองอย่างนั้นไว้สำหรับสตรีเช่นเดิม ...
ท่านอะลีย์ บิน อบีย์ฏอลิบ ร.ฎ. ได้กล่าวว่า ...
أَخَذَ النَّبِىُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ حَرِيْرًا فَجَعَلَهُ فِىْ يَمِيْنِهِ، وَأَخَذَ ذَهَبًا فَجَعَلَهُ فِىْ شِمَالِهِ، ثُمَّ قَالَ : إِنَّ هَذَيْنِ حَرَامٌ عَلَىذُكُوْرِأُمَّتِىْ، .. وَزَادَ ابْنُ مَاجَهْ : حِلٌّ ِلإنَاثِهِمْ
ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้เอาผ้าไหมมาถือไว้ในมือขวา และเอาทองคำมาถือไว้ในมือซ้าย แล้วท่านก็กล่าวว่า .. “สองอย่างนี้ เป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) สำหรับบุรุษเพศจากอุมมะฮ์ของฉัน” .. ท่านอิบนุมาญะฮ์ได้รายงานข้อความเพิ่มเติมว่า “และเป็นที่อนุมัติ (หะล้าล) แก่สตรีเพศของพวกเขา” ...
(หะดีษบทนี้ ข้อความอันเป็นคำกล่าวของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ในวรรคแรก เป็นการบันทึกโดย ท่านอะห์มัด เล่มที่ 1 หน้า 115, ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 4057, ท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 5161, และท่านอิบนุหิบบาน หะดีษที่ 1465, ส่วนท่านอิบนุมาญะฮ์ ได้บันทึกไว้ทั้ง 2 วรรคในหะดีษที่ 3595) ...
หะดีษซึ่งมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับหะดีษบทนี้ ยังถูกรายงานมาจากเศาะหาบะฮ์อีกหลายท่าน คือ ...
1. จากท่านอบูมูซา อัล-อัชอะรีย์ ร.ฎ. จากการบันทึกของท่านอะห์มัด เล่มที่ 4 หน้า 392, 394, 407, ท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 5163, และท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 1720 ...
2. จากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. จากการบันทึกของท่านอัล-บัซซารฺ หะดีษที่ 3006, ท่านอัฏ-ฏ็อบรอนีย์ในหนังสือ “อัล-มุอฺญัม อัล-กะบีรฺ” หะดีษที่ 10889, 11333และหนังสือ “อัล-มุอฺญัม อัลเอาซัฏ” หะดีษที่ 405 ...
3. จากท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. จากการบันทึกของท่านอัล-หะซัน อัล-หัรฺบีย์ ...
หะดีษบทนี้ มีลักษณะของสายรายงานคล้ายกับหะดีษเรื่องหู้ล (حَوْلٌ) หรือการกำหนดครบรอบปีของเรื่องซะกาต .. นั่นคือ ทุกๆกระแสของมันล้วนมีข้อบกพร่องทั้งสิ้น แต่มีบางกระแสที่บกพร่องเพียงเล็กน้อย ซึ่งในภาพรวมแล้วบรรดานักวิชาการหะดีษต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่า หะดีษบทนี้ เป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ (ถูกต้อง) ...
(โปรดดูรายละเอียดการวิเคราะห์หะดีษบทนี้จากหนังสือ “นัศบุรฺรอยะฮ์” ของท่านอัซ-ซัยละอีย์ เล่มที่ 4 หน้า 222-225, และหนังสือ “ฆอยะตุ้ลมะรอม” ของท่านอัล-อัลบานีย์ หน้า 64-66) ...
เมื่อเราพิจารณาดูเนื้อหาของหะดีษบทนี้ ก็จะเข้าใจได้ว่าความหมายของมันก็คือ ห้ามผู้ชายใช้เครื่องแต่งกายที่ถูกตัดเย็บจากผ้าไหมแท้ทุกชนิด, และห้ามใช้อะไรก็ตามที่มีทองคำเป็นองค์ประกอบทุกชนิด, แต่จะอนุญาตแก่ผู้หญิงใช้เครื่องประดับหรือเครื่องใช้ทุกชนิดที่ทำจากทองคำโดยปราศจากข้อแม้ใดๆทั้งสิ้น ...
แต่ข้อเท็จจริงมิใช่เป็นเช่นนั้น เพราะกฎทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้น ...
ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม เคยผ่อนผันให้ท่านอับดุรฺเราะห์มาน บินเอฺาฟ์ และท่านอัซ-ซุบัยรฺ บิน อัล-เอฺาวาม ร.ฎ. สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำด้วยผ้าไหมบริสุทธิ์ได้ ดังการบันทึกของท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 2919, 2920, 2921, 2922, 5839, และท่านมุสลิม หะดีษที่ 24, 25/2076 หรือเล่มที่ 3 หน้า 1641 เป็นต้น .. ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ เพราะทั้งสองท่านนั้นเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ...
ในทำนองเดียวกัน การที่ท่านศาสดาอนุมัติให้สตรีใช้ทองคำได้ ก็มิได้หมายความว่า สตรีสามารถจะนำเอาทองคำมาประดิดประดอยทำอะไรทุกอย่างได้ตามอำเภอใจ ไม่ว่าเครื่องประดับหรือเครื่องใช้ อย่างที่เข้าใจกัน, .. ทั้งนี้ เนื่องจากมีข้อยกเว้น คือ มีหลักฐานจากหะดีษที่ถูกต้อง ห้ามสตรีใช้ทองคำใน “บางลักษณะ” ดังที่จะกล่าวถึงต่อไป ...


ผู้หญิงใส่ สร้อยแหวน กำไล ทองคำได้หรือไม่ (ตอนที่ 3 )


โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

หลักการขั้นพื้นฐานของอิสลามเกี่ยวกับเครื่องประดับและอื่นๆ(11 )

หลักการขั้นพื้นฐานของอิสลามเกี่ยวกับเครื่องประดับและอื่นๆ
พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงวางโครงสร้างอันเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของอิสลาม เพื่อให้พวกเราได้ถือปฏิบัติกันอย่างถูกต้องเป็น 2 ลักษณะคือ โครงสร้างเกี่ยวกับศาสนพิธี (อิบาดะฮ์), และโครงสร้างเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวันทั่วๆไป (อฺาดะฮ์) ...
สำหรับโครงสร้างของหลักการข้อแรก คือเรื่องของศาสนพิธีหรืออิบาดะฮ์นั้นพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เป็นผู้เดียวที่ทรงสิทธิในการกำหนดว่า อะไรบ้างที่ถือว่าเป็นการทำอิบาดะฮ์ต่อพระองค์, และอิบาดะฮ์นั้นๆจะต้องมีรูปแบบหรือหลักในการปฏิบัติอย่างไร, ในเวลาใด และสถานที่ใด เป็นต้น .. ซึ่งจะเป็นที่รับรู้กันสำหรับนักวิชาการว่า โครงสร้างของอิบาดะฮ์ก็คือ تَوْقِيْفِيَّةٌ, .. หมายถึงการรอรับคำสั่งจากพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.เพียงสถานเดียว .. โดยมนุษย์ทุกคน, ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือใครก็ตาม ย่อมไม่มีสิทธิไปล่วงละเมิดหรือก้าวก่ายสิทธิข้อนี้ของพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ด้วยการกำหนดรูปแบบของอิบาดะฮ์ใดๆตามอำเภอใจของตนเองโดยพลการได้ เพราะนั่น ถือว่าเป็นการอธรรมและเป็นความผิดขั้นอุกฤษฏ์ สำหรับมุสลิมทุกคน ...
พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงดำรัสไว้ในซูเราะฮ์ อัช-ชูรออ์, โองการที่ 21 มีข้อความว่า ...
أَمْ لَهُمْ شُرَكَآءُ شَرَعُوْالَهُمْ مِنَ الدِّيْنِ مَالَمْ يَأْذَنْ بِهِ اللهُ وَلَوْلاَ كَلِمَةُ الْفَصْلِ لَقُضِيَ بَيْنَهُمْ وَإِنَّ الظَّالِمِيْنَ لَهُمْ عَذَابٌ اَلِيْمٌ
“หรือว่าสำหรับพวกเขา มีภาคีต่างๆที่พวกมันได้กำหนดบางส่วนของศาสนา ให้แก่พวกเขา (เพื่อยึดถือปฏิบัติ) ในสิ่งซึ่งพระองค์อัลลอฮ์มิได้ทรงอนุมัติไว้ ? .. และหากมิใช่เพราะมีพจนารถแห่งการตัดสิน (เกี่ยวกับการลงโทษพวกเขาในวันปรโลกได้ถูกดำรัสไว้ก่อนแล้ว) ก็คงได้มีการตัดสินในระหว่างพวกเขาแล้ว (ในโลกนี้) อย่างแน่นอน, แท้จริง บรรดาผู้อธรรมนั้น สำหรับพวกเขาก็คือ การลงโทษอันสุดเจ็บปวด”
ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ก็เคยกล่าวเอาไว้ว่า ...
إِيَّاكُمْ وَمُحْدَثَاتِ اْلاُمُوْرِ! فَإِنَّ شَرَّ اْلاُمُوْرِ مُحْدَثَاتُهَا، وَكُلَّ مُحْدَثَةٍ بِدْعَةٌ، وَكُلَّ بِدْعَةٍ ضَلاَلَةٌ ...
“พวกท่านพึงระวังจากบรรดาสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ (ในศาสนา) เพราะแท้จริง ที่เลวร้ายที่สุดจากกิจการทั้งหลายทั้งปวงก็คือ บรรดาสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่เหล่านั้น, และทุกสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่คือการอุตริ (บิดอะฮ์), และทุกๆการอุตริ (บิดอะฮ์) คือความหลงผิด” ...
หะดีษบทนี้, .. วรรคแรก เป็นการบันทึกของท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 2676 โดยรายงานมาจากท่านอัล-อิรฺบาฎ บิน ซาริยะ ฮ์ ร.ฎ. ส่วนวรรคหลังๆทั้งหมด เป็นการบันทึกของท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 1577 โดยรายงานมาจากท่านญาบิรฺ บิน อับดุลลอฮ์ ร.ฎ. ด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง ...
ส่วนโครงสร้างของหลักการข้อที่สอง คือเรื่องเกี่ยวกับการดำรงชีวิตและวัตถุปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานประจำวันของมนุษย์ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงชี้แจงให้ทราบว่า สรรพสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นมาในโลกนี้ ก็เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษย์, ดังนั้น สรรพสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ --- ทั้งหมด --- ไม่ว่าอาหารการกิน, เครื่องนุ่งห่ม, เครื่องประดับ, เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ แม้กระทั่งในเรื่องของเพศคู่ ฯลฯ .. ตามหลักการเดิมแล้วถือว่า เป็นที่อนุมัติ (حَلاَلٌ) แก่มนุษย์ทั้งสิ้น
พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงดำรัสไว้ในซูเราะฮ์อัล-บะกอเราะฮ์ โองการที่ 29 มีข้อความว่า ...
هُوَ الَّذِىْ خَلَقَ لَكُمْ مَا فِى اْلأَرْضِ جَمِيْعٌا
“พระองค์คือผู้ทรงสร้าง เพื่อสูเจ้า ซึ่งสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในแผ่นดิน”
แล้วต่อมาภายหลัง พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ก็ได้ทรงมีบทบัญญัติในลักษณะ “ห้ามปราม” บางสิ่งบางอย่างจากสิ่งที่เคยอนุมัติเหล่านี้ไว้, ซึ่งการห้ามปรามดังกล่าว ส่วนใหญ่จะมีระไว้ในอัล-กุรฺอ่านโดยตรง อาทิเช่น การห้ามแต่งงานกับสตรีที่เป็นญาติใกล้ชิดร่วมสายเลือด เช่น มารดา, ลูกสาว, พี่สาวน้องสาว, ย่าและยาย เป็นต้น, ห้ามบริโภคเนื้อสุกร เนื้อสัตว์ที่ตายเอง สัตว์ที่ถูกขวิดตาย สัตว์ที่ตกจากที่สูงตาย ฯลฯ หรือห้ามดื่มสุรา เป็นต้น ...
ขณะเดียวกัน ก็มีการห้ามบางอย่างที่ผ่านทางรอซู้ลของพระองค์ อาทิเช่น ห้ามบริโภคเนื้อสัตว์ดุร้ายที่มีเขี้ยว หรือนกบางชนิดที่มีกรงเล็บไว้ล่าเหยื่อ, หรือห้ามใช้ผ้าไหมสำหรับผู้ชาย เป็นต้น .. ซึ่งตามหลักการถือว่า ข้อห้ามเหล่านี้ก็มาจากพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เช่นเดียวกัน ...
พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในซูเราะฮ์ อัล-อันอฺาม โองการที่ 119 มีข้อความว่า ...
وَقَدْ فَصَّلَ لَكُمْ مَا حَرَّمَ عَلَيْكُمْ
“และแน่นอนยิ่ง พระองค์ได้ทรงอธิบายแก่พวกสูเจ้าแล้ว ในสิ่งซึ่งพระองค์ทรงห้ามมันต่อพวกสูเจ้า”
เมื่อพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.ทรงแจ้งให้ทราบว่า อันใดที่เป็นเรื่องต้องห้าม พระองค์ก็ได้ทรงอธิบายไว้อย่างชัดเจนแล้ว โดยนัยนี้จึงถือว่า สิ่งใดก็ตามที่พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. หรือท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม มิได้กล่าวห้ามเอาไว้ ย่อมแสดงว่า สิ่งนั้นยังคงเป็นที่อนุมัติ (หะล้าล) ตามหลักการเดิมทั้งสิ้น ...
ท่านชัยคุ้ลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮ์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 728) ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า ...
إِنَّ تَصَرُّفَاتِ الْعِبَادِ مِنَ اْلأَقْوَالِ وَاْلأَفْعَالِ نَوْعَانِ، عِبَادَاتٌ يَصْلُحُ بِهَا دِيْنُهُمْ، وَعَادَاتٌ يَحْتَاجُوْنَ إِلَيْهَا فِىْ دُنْيَاهُمْ، فَبِاسْتِقْرَاءِ أُصُوْلِ الشَّرِيْعَةِ نَعْلَمُ أَنَّ الْعِبَادَاتِ الَّتِىْ أَوْجَبَهَا اللهُ لاَ يَثْبُتُ اْلأَمْرُبِهَا إِلاَّ بِالشَّرْعِ ...
وَأَمَّا الْعَادَاتُ فَهِىَ مَا اعْتَادَهُ النَّاسُ فِىْ دُنْيَاهُمْ مِمَّا يَحْتَاجُوْنَ إِلَيْهِ، وَاْلأَصْلُ فِيْهِ عَدَمُ الْحَظْرِ، فَلاَ يُحْظَرُمِنْهُ إِلاَّ مَا حَظَرَهُ اللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَالَى ...
“แท้จริง หลักปฏิบัติต่างๆของมวลมนุษย์ อันหมายถึงคำพูดหรือการกระทำของพวกเขานั้น จะมี 2 ชนิดด้วยกันคือ อิบาดะฮ์ (ศาสนาพิธี) อันเหมาะสมสำหรับศาสนาของพวกเขา และอฺาดะฮ์ (การใช้ชีวิตประจำวันและวัตถุปัจจัย) ที่จำเป็นสำหรับพวกเขาในโลกนี้, ซึ่งจากการตรวจสอบหลักการขั้นพื้นฐานของบทบัญญัติ ทำให้เราทราบว่า เรื่องของอิบาดะฮ์ต่างๆที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกำหนดมานั้น คำสั่งใดๆของอิบาดะฮ์นั้นจะไม่ชัดเจนแน่นอน, .. ยกเว้นในสิ่งที่เป็นบทบัญญัติ (มาจากพระองค์) เท่านั้น ...
อนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับอาดะฮ์ ซึ่งหมายถึงวัตถุและสิ่งที่มนุษย์จำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันในโลกนี้ของพวกเขา พื้นฐานของศาสนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ไม่มีข้อห้ามใดๆ .. ดังนั้น ในเรื่องนี้จึงไม่มีสิ่งใดถูกจำกัดหรือห้าม ยกเว้นในสิ่งที่พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงจำกัดหรือห้ามไว้เท่านั้น” ...
(จากหนังสือ “อัล-หะล้าล วัลหะรอม ฟิลอิสลาม” ของท่านเช็คยูซุฟ อัล-ก็อรฺฎอวีย์ หน้า 24) ...
เพราะฉะนั้น เมื่อเราสรุปเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องเครื่องประดับที่กำลังพูดถึงอยู่นี้อันถือว่าเป็นเรื่องของอาดะฮ์ จึงสามารถกล่าวได้ว่า หลักการขั้นพื้นฐานของอิสลามในเรื่องนี้ก็คือ เครื่องประดับที่เป็นทองคำและผ้าไหมนั้น เป็นที่อนุมัติแก่ทุกคนไม่ว่าเพศชายหรือเพศหญิงก็ตาม, พวกเขาย่อมมีเสรีภาพที่จะใช้เครื่องประดับที่ทำจากทองคำได้ทุกรูปแบบและทุกลักษณะ, และสามารถจะนำผ้าไหมมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าหรือเครื่องแต่งกายได้ โดยไม่ขัดต่อหลักศาสนาแต่ประการใด ...
หมายเหตุ
เมื่อท่านเช็คอัล-อัลบานีย์ ได้อ้างถึงกฏเกณฑ์ที่เกี่ยวกับโครงสร้างของศาสนาในเรื่องอฺาดะฮ์ข้างต้นว่า พื้นฐานของทุกสิ่งคือ เป็นที่อนุมัติมาก่อน .. ดังที่ผมได้เขียนไปนั้น ปรากฏว่าท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ ได้กล่าวโต้แย้งท่านเช็คอัล-อัลบานีย์ในกรณีนี้ในลักษณะส่อเจตนาต้องการจะเอาชนะคะคานมากกว่าจะโต้แย้งกันด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง .. โดยท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ได้กล่าวโต้แย้งในหนังสือ “อัล-อิบาหะฮ์” ของท่าน หน้า 128 ว่า คำกล่าวของท่านเช็คอัล-อัลบานีย์ที่ว่า พื้นฐานของสิ่งต่างๆเป็นที่อนุมัติมาก่อนนั้น ไม่ถูกต้อง, .. เพราะพื้นฐานของการตั้งภาคี (شِرْكٌ) ต่อพระองค์อัลลอฮ์, การผิดประเวณี หรือการฆาตกรรมนั้น มิใช่เป็นที่อนุมัติมาก่อน แต่เป็นเรื่องต้องห้ามมาก่อน ... ซึ่งผู้อ่านที่มีใจเป็นธรรมทุกท่านคงจะมองออกว่า สิ่งที่ท่านอัล-อัลบานีย์พูดถึงว่า พื้นฐานของสิ่งเป็นที่อนุมัติก่อนนั้น ท่านหมายถึงเรื่องของอฺาดะฮ์ในส่วนที่เป็น “วัตถุปัจจัย” ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ แต่เรื่องของการตั้งภาคี, การผิดประเวณี และการฆาตกรรมที่ท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์นำมาหักล้างนั้น เป็นเรื่องของอะกีดะฮ์และภาคปฏิบัติที่เลวร้ายของมนุษย์อันเป็นเรื่องต้องห้ามมาแต่เดิมในทัศนะของอิสลาม .. จึงถือว่า เป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง ...



ผู้หญิงใส่ สร้อยแหวน กำไล ทองคำได้หรือไม่ (ตอนที่ 2)


โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

บทที่1.
นักวิชาการที่ห้ามสตรีใช้แหวน, กำไล, และสร้อยทองคำ
มีข้อมูลระบุมาว่า นักวิชาการในอดีตบางท่านมีทัศนะว่า เครื่องประดับที่ทำจากทองคำ เป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับสตรี ดังที่จะกล่าวถึงต่อไป แต่ทัศนะเหล่านั้น ก็ไม่สู้จะเป็นที่รับรู้กันแพร่หลายนัก ...
นักวิชาการยุคใหม่ที่เปิดประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมา ก็คือ ท่านเช็คมุหัมมัด นาศิรุดดีน อัล-อัลบานีย์ ซึ่งท่านผู้นี้เป็นนักวิชาการหะดีษที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันมากที่สุดในยุคปัจจุบัน และเพิ่งจะสิ้นชีวิตไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ...
ท่านเช็คอัล-อัลบานีย์ ได้เขียนในหนังสือ “อาดาบุส ซะฟาฟ” ชึ้แจงและวิเคราะห์หลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ในทุกแง่ทุกมุมตามมุมมองของท่าน แล้วสรุปว่า เครื่องประดับของสตรีตามลักษณะข้างต้น คือ แหวน, กำไล, และสร้อยคอที่เป็นทองคำนั้น มิใช่เป็นที่ต้องห้ามเฉพาะบุรุษเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ต้องห้ามสำหรับสตรีด้วยเช่นเดียวกัน ...
ข้อเขียนดังกล่าวนี้ของท่านอัล-อัลบานีย์ ถือเป็นการหักล้างข้อเขียนของท่านอิบนุ หัสมิน (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 456) ที่ได้เขียนไว้ในหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” ของท่าน เล่มที่ 10 หน้า 82-86 ซึ่งสรุปว่า เครื่องประดับที่เป็นทองคำนั้น เป็นที่อนุมัติสำหรับสตรีในทุกรูปแบบ, .. และยังเป็นการหักล้างความเชื่อถือเดิมของมุสลิมทั่วๆไป (รวมทั้งตัวผมเองด้วย) ที่เคยเข้าใจในเรื่องนี้เหมือนข้อเขียนของท่านอิบนุ หัสมิน ...
แน่นอน, ข้อเขียนของท่านอัล-อัลบานีย์ในเรื่องนี้ สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการมุสลิมและมุสลิมะฮ์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบรรดานักวิชาการ, ซึ่งมีทั้งที่เห็นด้วยและคัดค้านทัศนะดังกล่าวของท่าน ...
ข้อเขียนของผู้ที่คัดค้านทัศนะดังกล่าวของท่านอัล-อัลบานีย์เท่าที่ผมอ่านเจอก็คือหนังสือ “إِبَاحَةُ التَّحَلِّىْ بِالذَّهَبِ الْمُحَلَّقِ لِلنِّسَاءِ” ของท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์,และหนังสือ “اَْلأَلْبَانِىُّ، شُذُوْذُهُ وَأَخْطَاؤُهُ” ของท่านเช็คอัรฺชัด อัส-สะละฟีย์ ซึ่งพิมพ์ผนวกไว้ตอนท้ายหนังสือดังกล่าวของท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์อีกทีหนึ่ง ...
หมายเหตุ ชื่อ “อัรฺชัด อัส-สะละฟีย์” เป็นนามแฝง, .. ชื่อจริงก็คือ เช็คหะบีบุรฺ เราะห์มาน อัล-อะอฺซอมีย์ ดังที่ถูกเปิดโปงในภายหลัง .. ซึ่งการใช้นามแฝงในการเขียนคัดค้านท่านอัล-อัลบานีย์ของท่านเช็คผู้นี้ ทำให้ท่านถูกมองอย่างตำหนิว่า ไม่กล้าสู้ความจริงเท่าที่ควร ...
ส่วนข้อเขียนของผู้ที่สนับสนุนแนวคิดของท่านอัล-อัลบานีย์เท่าที่อ่านเจอ ก็มักจะเป็นนักวิชาการหะดีษที่ศรัทธาในวิชาการและแนวคิดของท่าน ซึ่งข้อเขียนดังกล่าว ได้แก่หนังสือ “حَيَاةُ اْلأَلْبَانِىِّ” ของท่านเช็ค อัช-ชัยบานีย์ อันมีเนื้อหาบางส่วนเป็นการหักล้างข้อเขียนของท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ข้างต้น, .. และหนังสือ “اَلرَّدُّ الْعِلْمِىُّ عَلَى حَبِيْبِ الرَّحْمِنَ اْلأَعْظَمِىّ” ที่ร่วมกันเขียนโดยท่านเช็คสุลัยม์ อัล-ฮิลาลีย์ และท่านเช็คอะลีย์หะซัน อะลีย์ อับดุลหะมีด สองนักวิชาการหะดีษที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน .. เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นมาเพื่อตอบโต้และหักล้างข้อเขียนของท่านเช็คอัรฺชัด อัส-สะละฟีย์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ท่านเช็คหะบีบุรฺ เราะห์มาน อัล-อะอฺซอมีย์ ดังกล่าวมาแล้ว ...
เท่าที่เขียนอธิบายมานี้ ก็เพื่อเป็นการเปิดเผยให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบว่า ผมเขียนเกี่ยวกับเรื่องเครื่องประดับทองคำสตรีนี้ มิใช่อาศัยข้อมูลจากเพียงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่ผมอาศัยข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย มาประกอบกับการศึกษาค้นคว้าโดยส่วนตัวของผมเอง โดยพยายามจะใช้ดุลยพินิจแห่ง “ความเป็นกลาง” ให้มากที่สุดในการเขียนครั้งนี้ ...
แล้วผมก็พบว่า แม้ข้อเขียนของท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ และท่านเช็คอัรฺชัด อัส-สะละฟีย์ จะสอดคล้องกับทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่ก็จริง แต่ก็ไม่สามารถหักล้างข้อเขียนของท่านเช็คอัล-อัลบานีย์, ท่านเช็คอัช-ชัยบานีย์, ท่านเช็คสุลัยม์ อัล-ฮิลาลีย์ และท่านเช็คอะลีย์หะซันได้ นอกจากเพียงบางส่วนเท่านั้น .. ดังที่ท่านผู้อ่านจะได้เห็นต่อไป ...
จะอย่างไรก็ตาม ผมขอกล่าวอีกครั้งว่า ผมไม่เคยพูดหรือฟัตวาชัดเจนแม้แต่ครั้งเดียวเลยว่า แหวนทองคำ, สร้อยทองคำ, และกำไลทองคำ เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) สำหรับมุสลิมะฮ์, ผมจะพูดแต่เพียงว่า ผมไม่สบายใจและเห็นว่ามุสลิมะฮ์ไม่สมควรใช้เครื่องประดับเหล่านี้ เพราะแนวโน้มของหลักฐาน มันส่อไปในทางที่น่าจะเป็นเรื่องต้องห้ามดังทัศนะของท่านอัล-อัลบานีย์ .. ซึ่งผมก็ไม่ปฏิเสธว่า ได้เคยพูดในลักษณะเช่นนี้มานานแล้ว เท่าที่เวลาและโอกาสอันเหมาะสมจะอำนวยให้ ...
ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่สมควรจะต้องชี้แจงกันก็คือ แนวโน้มของข้อห้ามเกี่ยวกับเครื่องประดับสตรีที่ทำจากทองคำนั้น เป็นเรื่องจำกัดเฉพาะแหวน, กำไล และสร้อยคอเท่านั้น มิได้ครอบคลุมไปถึงเครื่องประดับทองคำในลักษณะอย่างอื่น เช่น จี้ทองคำ, ปิ่นปักผมทองคำ, กระดุมทองคำ, เข็มกลัดทองคำ, หวีทองคำ, กรอบแว่นตาทองคำ, หรือตุ้มหูทองคำบางลักษณะ ฯลฯ .. ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีบางคนกล่าวหาว่า ท่านอัล-อัลบานีย์ ห้ามสตรีจากการใช้เครื่องประดับที่ทำจากทองคำทุกชนิด อันถือว่า เป็นเรื่องของการใส่ร้ายป้ายสีกันมากกว่า ...
เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น ในช่วงแรกนี้ ผมก็จะเขียนอธิบายเรื่องนี้ โดยเรียงลำดับดังต่อไปนี้ ...
1. หลักการขั้นพื้นฐานของอิสลามเกี่ยวกับเครื่องประดับและอื่นๆ ..
2. ผ้าไหมและทองคำ เป็นที่ต้องห้ามสำหรับบุรุษ แต่เป็นที่อนุมัติสำหรับสตรี ..
3. ห้ามทั้งบุรุษและสตรี ดื่มกินจากภาชนะที่ทำจากทองคำหรือเงิน ..
4. หลักฐานจากหะดีษที่ห้ามสตรีใช้แหวนทองคำ, กำไลทองคำ และสร้อยทองคำ พร้อมการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงของหะดีษเหล่านั้น และชี้แจงข้อโต้แย้งของท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ และเช็คอัรฺชัด อัส-สะละฟีย์ ..
5. หลักฐานจากหะดีษที่อนุญาตให้สตรีใช้เครื่องประดับที่ทำจากทองคำได้และการวิเคราะห์หลักฐานเหล่านั้นเท่าที่จำเป็น ..
ต่อไปนี้ คือรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ตามลำดับข้างต้น ...