อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2561

ผู้หญิงใส่ สร้อยแหวน กำไล ทองคำได้หรือไม่ (ตอนที่ 3 )


โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

หลักการขั้นพื้นฐานของอิสลามเกี่ยวกับเครื่องประดับและอื่นๆ(11 )

หลักการขั้นพื้นฐานของอิสลามเกี่ยวกับเครื่องประดับและอื่นๆ
พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงวางโครงสร้างอันเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของอิสลาม เพื่อให้พวกเราได้ถือปฏิบัติกันอย่างถูกต้องเป็น 2 ลักษณะคือ โครงสร้างเกี่ยวกับศาสนพิธี (อิบาดะฮ์), และโครงสร้างเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวันทั่วๆไป (อฺาดะฮ์) ...
สำหรับโครงสร้างของหลักการข้อแรก คือเรื่องของศาสนพิธีหรืออิบาดะฮ์นั้นพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เป็นผู้เดียวที่ทรงสิทธิในการกำหนดว่า อะไรบ้างที่ถือว่าเป็นการทำอิบาดะฮ์ต่อพระองค์, และอิบาดะฮ์นั้นๆจะต้องมีรูปแบบหรือหลักในการปฏิบัติอย่างไร, ในเวลาใด และสถานที่ใด เป็นต้น .. ซึ่งจะเป็นที่รับรู้กันสำหรับนักวิชาการว่า โครงสร้างของอิบาดะฮ์ก็คือ تَوْقِيْفِيَّةٌ, .. หมายถึงการรอรับคำสั่งจากพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.เพียงสถานเดียว .. โดยมนุษย์ทุกคน, ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือใครก็ตาม ย่อมไม่มีสิทธิไปล่วงละเมิดหรือก้าวก่ายสิทธิข้อนี้ของพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ด้วยการกำหนดรูปแบบของอิบาดะฮ์ใดๆตามอำเภอใจของตนเองโดยพลการได้ เพราะนั่น ถือว่าเป็นการอธรรมและเป็นความผิดขั้นอุกฤษฏ์ สำหรับมุสลิมทุกคน ...
พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงดำรัสไว้ในซูเราะฮ์ อัช-ชูรออ์, โองการที่ 21 มีข้อความว่า ...
أَمْ لَهُمْ شُرَكَآءُ شَرَعُوْالَهُمْ مِنَ الدِّيْنِ مَالَمْ يَأْذَنْ بِهِ اللهُ وَلَوْلاَ كَلِمَةُ الْفَصْلِ لَقُضِيَ بَيْنَهُمْ وَإِنَّ الظَّالِمِيْنَ لَهُمْ عَذَابٌ اَلِيْمٌ
“หรือว่าสำหรับพวกเขา มีภาคีต่างๆที่พวกมันได้กำหนดบางส่วนของศาสนา ให้แก่พวกเขา (เพื่อยึดถือปฏิบัติ) ในสิ่งซึ่งพระองค์อัลลอฮ์มิได้ทรงอนุมัติไว้ ? .. และหากมิใช่เพราะมีพจนารถแห่งการตัดสิน (เกี่ยวกับการลงโทษพวกเขาในวันปรโลกได้ถูกดำรัสไว้ก่อนแล้ว) ก็คงได้มีการตัดสินในระหว่างพวกเขาแล้ว (ในโลกนี้) อย่างแน่นอน, แท้จริง บรรดาผู้อธรรมนั้น สำหรับพวกเขาก็คือ การลงโทษอันสุดเจ็บปวด”
ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ก็เคยกล่าวเอาไว้ว่า ...
إِيَّاكُمْ وَمُحْدَثَاتِ اْلاُمُوْرِ! فَإِنَّ شَرَّ اْلاُمُوْرِ مُحْدَثَاتُهَا، وَكُلَّ مُحْدَثَةٍ بِدْعَةٌ، وَكُلَّ بِدْعَةٍ ضَلاَلَةٌ ...
“พวกท่านพึงระวังจากบรรดาสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ (ในศาสนา) เพราะแท้จริง ที่เลวร้ายที่สุดจากกิจการทั้งหลายทั้งปวงก็คือ บรรดาสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่เหล่านั้น, และทุกสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่คือการอุตริ (บิดอะฮ์), และทุกๆการอุตริ (บิดอะฮ์) คือความหลงผิด” ...
หะดีษบทนี้, .. วรรคแรก เป็นการบันทึกของท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 2676 โดยรายงานมาจากท่านอัล-อิรฺบาฎ บิน ซาริยะ ฮ์ ร.ฎ. ส่วนวรรคหลังๆทั้งหมด เป็นการบันทึกของท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 1577 โดยรายงานมาจากท่านญาบิรฺ บิน อับดุลลอฮ์ ร.ฎ. ด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง ...
ส่วนโครงสร้างของหลักการข้อที่สอง คือเรื่องเกี่ยวกับการดำรงชีวิตและวัตถุปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานประจำวันของมนุษย์ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงชี้แจงให้ทราบว่า สรรพสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นมาในโลกนี้ ก็เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษย์, ดังนั้น สรรพสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ --- ทั้งหมด --- ไม่ว่าอาหารการกิน, เครื่องนุ่งห่ม, เครื่องประดับ, เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ แม้กระทั่งในเรื่องของเพศคู่ ฯลฯ .. ตามหลักการเดิมแล้วถือว่า เป็นที่อนุมัติ (حَلاَلٌ) แก่มนุษย์ทั้งสิ้น
พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงดำรัสไว้ในซูเราะฮ์อัล-บะกอเราะฮ์ โองการที่ 29 มีข้อความว่า ...
هُوَ الَّذِىْ خَلَقَ لَكُمْ مَا فِى اْلأَرْضِ جَمِيْعٌا
“พระองค์คือผู้ทรงสร้าง เพื่อสูเจ้า ซึ่งสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในแผ่นดิน”
แล้วต่อมาภายหลัง พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ก็ได้ทรงมีบทบัญญัติในลักษณะ “ห้ามปราม” บางสิ่งบางอย่างจากสิ่งที่เคยอนุมัติเหล่านี้ไว้, ซึ่งการห้ามปรามดังกล่าว ส่วนใหญ่จะมีระไว้ในอัล-กุรฺอ่านโดยตรง อาทิเช่น การห้ามแต่งงานกับสตรีที่เป็นญาติใกล้ชิดร่วมสายเลือด เช่น มารดา, ลูกสาว, พี่สาวน้องสาว, ย่าและยาย เป็นต้น, ห้ามบริโภคเนื้อสุกร เนื้อสัตว์ที่ตายเอง สัตว์ที่ถูกขวิดตาย สัตว์ที่ตกจากที่สูงตาย ฯลฯ หรือห้ามดื่มสุรา เป็นต้น ...
ขณะเดียวกัน ก็มีการห้ามบางอย่างที่ผ่านทางรอซู้ลของพระองค์ อาทิเช่น ห้ามบริโภคเนื้อสัตว์ดุร้ายที่มีเขี้ยว หรือนกบางชนิดที่มีกรงเล็บไว้ล่าเหยื่อ, หรือห้ามใช้ผ้าไหมสำหรับผู้ชาย เป็นต้น .. ซึ่งตามหลักการถือว่า ข้อห้ามเหล่านี้ก็มาจากพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เช่นเดียวกัน ...
พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในซูเราะฮ์ อัล-อันอฺาม โองการที่ 119 มีข้อความว่า ...
وَقَدْ فَصَّلَ لَكُمْ مَا حَرَّمَ عَلَيْكُمْ
“และแน่นอนยิ่ง พระองค์ได้ทรงอธิบายแก่พวกสูเจ้าแล้ว ในสิ่งซึ่งพระองค์ทรงห้ามมันต่อพวกสูเจ้า”
เมื่อพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.ทรงแจ้งให้ทราบว่า อันใดที่เป็นเรื่องต้องห้าม พระองค์ก็ได้ทรงอธิบายไว้อย่างชัดเจนแล้ว โดยนัยนี้จึงถือว่า สิ่งใดก็ตามที่พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. หรือท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม มิได้กล่าวห้ามเอาไว้ ย่อมแสดงว่า สิ่งนั้นยังคงเป็นที่อนุมัติ (หะล้าล) ตามหลักการเดิมทั้งสิ้น ...
ท่านชัยคุ้ลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮ์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 728) ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า ...
إِنَّ تَصَرُّفَاتِ الْعِبَادِ مِنَ اْلأَقْوَالِ وَاْلأَفْعَالِ نَوْعَانِ، عِبَادَاتٌ يَصْلُحُ بِهَا دِيْنُهُمْ، وَعَادَاتٌ يَحْتَاجُوْنَ إِلَيْهَا فِىْ دُنْيَاهُمْ، فَبِاسْتِقْرَاءِ أُصُوْلِ الشَّرِيْعَةِ نَعْلَمُ أَنَّ الْعِبَادَاتِ الَّتِىْ أَوْجَبَهَا اللهُ لاَ يَثْبُتُ اْلأَمْرُبِهَا إِلاَّ بِالشَّرْعِ ...
وَأَمَّا الْعَادَاتُ فَهِىَ مَا اعْتَادَهُ النَّاسُ فِىْ دُنْيَاهُمْ مِمَّا يَحْتَاجُوْنَ إِلَيْهِ، وَاْلأَصْلُ فِيْهِ عَدَمُ الْحَظْرِ، فَلاَ يُحْظَرُمِنْهُ إِلاَّ مَا حَظَرَهُ اللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَالَى ...
“แท้จริง หลักปฏิบัติต่างๆของมวลมนุษย์ อันหมายถึงคำพูดหรือการกระทำของพวกเขานั้น จะมี 2 ชนิดด้วยกันคือ อิบาดะฮ์ (ศาสนาพิธี) อันเหมาะสมสำหรับศาสนาของพวกเขา และอฺาดะฮ์ (การใช้ชีวิตประจำวันและวัตถุปัจจัย) ที่จำเป็นสำหรับพวกเขาในโลกนี้, ซึ่งจากการตรวจสอบหลักการขั้นพื้นฐานของบทบัญญัติ ทำให้เราทราบว่า เรื่องของอิบาดะฮ์ต่างๆที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกำหนดมานั้น คำสั่งใดๆของอิบาดะฮ์นั้นจะไม่ชัดเจนแน่นอน, .. ยกเว้นในสิ่งที่เป็นบทบัญญัติ (มาจากพระองค์) เท่านั้น ...
อนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับอาดะฮ์ ซึ่งหมายถึงวัตถุและสิ่งที่มนุษย์จำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันในโลกนี้ของพวกเขา พื้นฐานของศาสนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ไม่มีข้อห้ามใดๆ .. ดังนั้น ในเรื่องนี้จึงไม่มีสิ่งใดถูกจำกัดหรือห้าม ยกเว้นในสิ่งที่พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงจำกัดหรือห้ามไว้เท่านั้น” ...
(จากหนังสือ “อัล-หะล้าล วัลหะรอม ฟิลอิสลาม” ของท่านเช็คยูซุฟ อัล-ก็อรฺฎอวีย์ หน้า 24) ...
เพราะฉะนั้น เมื่อเราสรุปเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องเครื่องประดับที่กำลังพูดถึงอยู่นี้อันถือว่าเป็นเรื่องของอาดะฮ์ จึงสามารถกล่าวได้ว่า หลักการขั้นพื้นฐานของอิสลามในเรื่องนี้ก็คือ เครื่องประดับที่เป็นทองคำและผ้าไหมนั้น เป็นที่อนุมัติแก่ทุกคนไม่ว่าเพศชายหรือเพศหญิงก็ตาม, พวกเขาย่อมมีเสรีภาพที่จะใช้เครื่องประดับที่ทำจากทองคำได้ทุกรูปแบบและทุกลักษณะ, และสามารถจะนำผ้าไหมมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าหรือเครื่องแต่งกายได้ โดยไม่ขัดต่อหลักศาสนาแต่ประการใด ...
หมายเหตุ
เมื่อท่านเช็คอัล-อัลบานีย์ ได้อ้างถึงกฏเกณฑ์ที่เกี่ยวกับโครงสร้างของศาสนาในเรื่องอฺาดะฮ์ข้างต้นว่า พื้นฐานของทุกสิ่งคือ เป็นที่อนุมัติมาก่อน .. ดังที่ผมได้เขียนไปนั้น ปรากฏว่าท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ ได้กล่าวโต้แย้งท่านเช็คอัล-อัลบานีย์ในกรณีนี้ในลักษณะส่อเจตนาต้องการจะเอาชนะคะคานมากกว่าจะโต้แย้งกันด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง .. โดยท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ได้กล่าวโต้แย้งในหนังสือ “อัล-อิบาหะฮ์” ของท่าน หน้า 128 ว่า คำกล่าวของท่านเช็คอัล-อัลบานีย์ที่ว่า พื้นฐานของสิ่งต่างๆเป็นที่อนุมัติมาก่อนนั้น ไม่ถูกต้อง, .. เพราะพื้นฐานของการตั้งภาคี (شِرْكٌ) ต่อพระองค์อัลลอฮ์, การผิดประเวณี หรือการฆาตกรรมนั้น มิใช่เป็นที่อนุมัติมาก่อน แต่เป็นเรื่องต้องห้ามมาก่อน ... ซึ่งผู้อ่านที่มีใจเป็นธรรมทุกท่านคงจะมองออกว่า สิ่งที่ท่านอัล-อัลบานีย์พูดถึงว่า พื้นฐานของสิ่งเป็นที่อนุมัติก่อนนั้น ท่านหมายถึงเรื่องของอฺาดะฮ์ในส่วนที่เป็น “วัตถุปัจจัย” ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ แต่เรื่องของการตั้งภาคี, การผิดประเวณี และการฆาตกรรมที่ท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์นำมาหักล้างนั้น เป็นเรื่องของอะกีดะฮ์และภาคปฏิบัติที่เลวร้ายของมนุษย์อันเป็นเรื่องต้องห้ามมาแต่เดิมในทัศนะของอิสลาม .. จึงถือว่า เป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง ...



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น