2. บิดอะฮ์ คืออะไร ?
อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย เรียบเรียง
2. บิดอะฮ์ คืออะไร ?
ความหมายบิดอะฮ์ตามความเข้าใจทั่วๆไป หมายถึงการกระทำสิ่งใดก็ตามในเรื่องศาสนา ที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ไม่เคยกระทำแบบอย่างเอาไว้, ...
การกระทำดังกล่าว – ทุกอย่าง -- ถือว่า เป็นความหลงผิด ตามคำกล่าวของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ...
ความเข้าใจดังกล่าวนี้ แม้จะถือว่าถูกต้อง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด, ทั้งนี้ เนื่องจากเรื่องบิดอะฮ์เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเกินกว่าที่เราจะมองอย่างผิวเผินได้ ...
เพราะตามข้อเท็จจริงที่ประมวลได้จากหลักฐานทั้งหมดบ่งชี้ว่า บางสิ่งบางอย่างที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม มิได้กระทำ (ในสิ่งซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเรื่องของศาสนา) ขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่, แล้วมีผู้มากระทำสิ่งนั้นภายหลัง (ซึ่งผู้กระทำก็คือ เศาะหาบะฮ์ระดับคอลีฟะฮ์ของท่านเอง) .. ก็ไม่มีมุสลิมคนใดกล่าวหาว่า คอลีฟะฮ์เหล่านั้น กระทำสิ่งที่เป็นบิดอะฮ์เฎาะลาละฮ์หรือบิดอะฮ์หลงผิด ...
แม้ตามหลักภาษา อาจจะเรียก การกระทำดังกล่าวนั้นว่า เป็นบิดอะฮ์ก็ตาม(ดังที่หลายคน ชอบนำเรื่องเหล่านี้มาเป็นข้ออ้าง เพื่อหาความชอบธรรมในสิ่งที่ตนกระทำทั้งๆที่ไม่มีแบบอย่างว่า เป็น “บิดอะฮ์ดี” โดยอ้างการกระทำของคอลีฟะฮ์เหล่านั้นเป็นหลักฐานสนับสนุน) ...
ทั้งนี้ เนื่องจากตามมุมมองในแง่ภาษา, ไม่ว่าสิ่งใด .. (คือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศาสนาหรือเรื่องทางโลก,ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือเป็นเรื่องเลว) .. เมื่อมันไม่เคยมีแบบอย่างมาก่อน แล้วมีผู้มากระทำทีหลัง ก็สามารถใช้คำว่า “บิดอะฮ์” กับสิ่งนั้น-- ตามหลักภาษา --ได้ทั้งสิ้น ...
ขณะที่ในมุมมองของบทบัญญัติ -- บางครั้ง -- อาจไม่ถือว่าสิ่งนั้น เป็นบิดอะฮ์ ก็ได้ .....
เรื่องของบิดอะฮ์ จึงเป็นเรื่องสลับซับซ้อนพอสมควร ....
บางกรณี ในแง่ของภาษามองการกระทำบางอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ว่า เป็นบิดอะฮ์ดี, แต่ในแง่ของบทบัญญัติ ไม่เรียกสิ่งนั้น ว่าเป็นบิดอะฮ์เลย ...
ตัวอย่างเช่น กรณีที่ท่านอบูบักรฺ ร.ฎ. ได้สั่งให้ท่านซัยด์ บิน ษาบิต ร.ฎ.ทำการบันทึกและเก็บรวมรวมอัล-กุรฺอ่านเข้าเป็นเล่ม หลังจากก่อนหน้านั้น .. คือในสมัยของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม อัล-กุรฺอ่านเคยแต่เพียงถูกท่องจำหรือถูกบันทึกกระจัดกระจายตามที่ต่างๆ ...
การรวมรวมอัล-กุรฺอ่านเป็นเล่มของท่านซัยด์ บิน ษาบิต ร.ฎ. ตามหลักภาษาเรียกว่า “เป็นบิดอะฮ์” ที่ถูกพ่วงท้ายด้วยคำว่า “หะสะนะฮ์” หมายถึงบิดอะฮ์ที่ดี ...
ที่เรียกว่า “เป็นบิดอะฮ์” เพราะเป็นการกระทำในสิ่งที่ไม่มีใคร -- แม้กระทั่งท่านนบีย์ -- จะเคยกระทำมาก่อน ...
ที่เรียกว่า “หะสะนะฮ์” หรือดี ก็เพราะเป็นการป้องกันอัล-กุรฺอ่านจากการสูญหายอันเนื่องมาจากผู้ท่องจำอัล-กุรฺอ่าน ถูกสังหารในสงครามเป็นจำนวนมาก ....
แต่ขณะเดียวกัน การรวบรวมอัลกุรฺอ่านดังกล่าวนั้น ในแง่ของบทบัญญัติ ไม่ถือว่าเป็นบิดอะฮ์ .. ดังจะได้อธิบายต่อไป ....
และในบางกรณี,.. ในแง่ของภาษาอาจจะมองการกระทำบางอย่างว่าเป็น “บิดอะฮ์ดี” แต่ตามนัยของบทบัญญัติ กลับเป็นตรงกันข้าม, คือมองสิ่งนั้นว่า “เป็นบิดอะฮ์ที่ถูกตำหนิ” ...
ตัวอย่างเช่น การจัดพิธีเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดของท่านศาสดา ที่เรียกกันว่า งานเมาลิด ....
สิ่งนี้ .. ในมุมมองของภาษา เรียกว่า เป็น “บิดอะฮ์ หะสะนะฮ์” หรือบิดอะฮ์ดี
ที่เรียกว่า “เป็นบิดอะฮ์” เพราะเป็นการกระทำที่ไม่เคยมีปรากฏแบบอย่างมาก่อนในยุคแรกๆ .......
ที่เรียกว่า “ดี” ก็เพราะมองว่า เป็นการแสดงออกถึงความรักที่มีต่อท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม .....
แต่ในมุมมองตามนัยของบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของหะดีษ กลับมองว่า พิธีกรรมเมาลิด เป็นบิดอะฮ์ (อุตริกรรม) ที่ถูกตำหนิ .. ดังจะได้อธิบายต่อไปเช่นเดียวกัน ....
และในบางกรณี, การกระทำ “สิ่งใหม่” บางอย่าง มีความสอดคล้องกันทั้งมุมมองในแง่ภาษาและมุมมองในแง่ศาสนาว่า เป็นบิดอะฮ์ที่ต้องห้าม อย่างเช่นการประดิษฐ์วิธีการเรื่องการพนันแบบใหม่ๆ เช่น ลอตเตอรี่ ขึ้นมา เป็นต้น ....
เรื่องของบิดอะฮ์ จึงมีทั้งบิดอะฮ์ตามนัยของภาษา (بِدْعَـةٌ لُغَوِيَّـةٌ ) และบิดอะฮ์ตามนัยของบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของหะดีษ (بِدْعَـةٌ شَرْعِيَّةٌ ) ซึ่ง ทั้งสองกรณีนี้ มีทั้ง “จุดต่าง” และ “จุดเหมือน” อยู่ในตัวเอง ดัง 3 ตัวอย่างข้างต้นนั้น ....
ดังนั้น ก่อนที่เราจะรีบด่วนไปตัดสินสิ่งใดว่า เป็นบิดอะฮ์ต้องห้ามหรือสิ่งใดเป็นบิดอะฮ์ดี เราก็ควรจะต้องรู้และเข้าใจเสียก่อนว่า ความหมายของบิดอะฮ์ตามหลักภาษานั้น หมายความว่าอย่างไร ? .. ความหมายของบิดอะฮ์ตามนัยของบทบัญญัติ มีความหมายและขอบเขตอย่างไร ? .. และความหมายที่ว่า “บิดอะฮ์ดี” ใช้ได้ในกรณีใด?
และ, คำกล่าวของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมที่ว่า “ทุกๆบิดอะฮ์ คือความหลงผิด” หมายถึงบิดอะฮ์ในเรื่องอะไร ?, ... มีเจตนารมณ์อย่างไร ?, และขอบเขตของ “ศาสนา” ที่ห้ามทำบิดอะฮ์ มีอยู่มากน้อยแค่ไหน? .....
เหล่านี้ คือความจำเป็นที่มุสลิมทุกคนจะต้องศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อความปลอดภัยในภาคปฏิบัติ และในการถือศาสนาของตนเองต่อไป, และตลอดไป ...
3.การแยกประเภทของบิดอะฮ์
หากเราจะจำแนกความแตกต่างในระหว่าง “บิดอะฮ์ตามหลักภาษา” (เรียกเป็นภาษาอฺรับว่า بِدْعَـةٌ لُغَوِيَّـةٌ) .. กับ “บิดอะฮ์ตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของหะดีษ” (เรียกเป็นภาษาอฺรับว่า بِدْعَـةٌ شَرْعِيَّةٌ ) และองค์ประกอบในภาพรวมโดยย่อของมัน ก็จะได้แผนภูมิดังต่อไปนี้, .....
หากเราจะจำแนกความแตกต่างในระหว่าง “บิดอะฮ์ตามหลักภาษา” (เรียกเป็นภาษาอฺรับว่า بِدْعَـةٌ لُغَوِيَّـةٌ) .. กับ “บิดอะฮ์ตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของหะดีษ” (เรียกเป็นภาษาอฺรับว่า بِدْعَـةٌ شَرْعِيَّةٌ ) และองค์ประกอบในภาพรวมโดยย่อของมัน ก็จะได้แผนภูมิดังต่อไปนี้, .....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น