อบคำถามคุณ Walid Binsa-i
เรื่อง การละหมาดรวมระหว่างละหมาดวันศุกร์กับละหมาดอัศรี่
โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย
(ตอนที่ 1)
(ตอนที่ 1)
(หมายเหตุ คำตอบนี้มีทั้งหมด 11 หน้ากระดาษ A 4 ผมจึงจำเป็นต้องแบ่งเพื่อทยอยนำลงเป็น 2 ตอนครับ )...
ถาม .. อัสสลามุอลัยกุมครับ ผมมีคำถามนิดนึงครับ อยากทราบว่าเราเดินทางแล้วแวะละหมาดวันศุกร์ในพื้นที่นั้น ต่อจากนั้นเราสามารถละหมาดรวมอัสรี่ 2 ร็อกอะฮ์ได้หรือไม่? ...
ตอบ .. วะอลัยกุมุสสลาม ...
ก่อนอื่นเราต้องทราบเสียก่อนว่า พื้นฐานเรื่องละหมาดฟัรฺฎู 5 เวลานั้น ผู้เป็นมุสลิมจะต้องทำมัน, ในเวลาของมันที่ถูกกำหนดไว้เท่านั้น จะเจตนาทำละหมาดใดก่อนเวลาหรือหลังเวลาของมันไม่ได้เป็นอันขาด ..
นี่คือ สิ่งที่เข้าใจได้จากคำดำรัสของพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ในอายะฮ์ที่ 103 ซูเราะฮ์ อัน-นิซาอ์ ...
และนี่คือสิ่งที่เป็น إِجْمَاعٌ หรือ "มติเอกฉันท์" ของนักวิชาการอิสลามทั้งมวล .. ดังคำกล่าวของท่านอิบนุกุดามะฮ์ในหนังสือ "อัล-มุฆนีย์" เล่มที่ 1 หน้า 378 ...
แต่ขณะเดียวกัน อิสลามก็มีหลักการเรื่อง صَلاَةُ الْجَمْعِ หรือละหมาดรวม .. อันหมายถึงการนำละหมาด 2 เวลา มา "ทำพร้อมกัน" ในเวลาของละหมาดใดละหมาดหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่า ในการทำละหมาดรวมทุกครั้ง ย่อมส่งผลให้มีการทำละหมาดใดๆ "ก่อน" หรือ "หลัง" เวลาจริงของมันเสมอ ..
การกระทำละหมาดใดๆ "ก่อน" หรือ "หลัง" เวลาจริงของมัน - ตามปกติ - เป็นเรื่องต้องห้ามที่มุสลิมคนใด จะกระทำมิได้เป็นอันขาดดังกล่าวมาแล้ว ..
เพราะฉะนั้น หลักการเรื่องละหมาดรวมจึงมิใช่เป็นหลักการปกติที่ใครๆจะทำได้ตลอดเวลาที่ต้องการจะทำ .. อย่างเช่นการทำละหมาดรวมของลัทธิชีอะฮ์ เป็นต้น ...
แต่การละหมาดรวมเป็นเพียง رُخْصَةٌ (ข้อผ่อนผันของอิสลาม) ให้ปฏิบัติได้เมื่อ "เกิดมีความจำเป็น" เท่านั้น ...
คำว่า "จำเป็น" หมายถึง "ความไม่สะดวกหรือความยุ่งยากลำบาก" ในการจะทำละหมาดใดในเวลาปกติของมัน - ไม่ว่าขณะอยู่ที่บ้านหรือขณะเดินทาง - หรือผู้เดินทางที่มีความเร่งรีบในการเดินทางจนไม่สามารถทำละหมาดใดละหมาดหนึ่งในเวลาปกติของมันได้ เป็นต้น ...
คำว่า "ผ่อนผัน" .. หมายความว่า ในกรณีเกิดความจำเป็นดังกล่าวมาแล้ว เราจะนำเอาละหมาด 2 เวลามาทำรวมในเวลาเดียวกันก็ได้ .. หรือเราจะแยกทำแต่ละละหมาดในเวลาปกติของมันก็ย่อมทำได้เช่นเดียวกัน และเป็นสิ่งที่ดีกว่าการละหมาดรวมด้วย เพราะเป็นการปฏิบัติละหมาดตามบทบัญญัติเดิม .. คือการทำแต่ละละหมาดในเวลาจริงๆของมัน ...
เมื่อการละหมาดรวมเป็นข้อผ่อนผันให้ปฏิบัติได้ยามจำเป็น คำถามของคุณ Walid Binsa-i ข้างต้น จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของสมมุติฐานที่ว่า .. "ถ้า" มีความจำเป็นแล้ว การละหมาดรวมระหว่างละหมาดวันศุกร์กับละหมาดอัศรี่ในเวลาเดินทาง จะผ่อนผันด้วยหรือไม่ ? หรือเป็นที่อนุญาตหรือไม่ ? ...
ที่คุณ Walid Binsa-i ถามมาอย่างนี้ ก็เพราะหลักฐานเกี่ยวกับละหมาดรวม, โดยเฉพาะการละหมาดรวมในเวลากลางวันซึ่งมี 3 ละหมาดคือ ละหมาดซุฮ์รี่, ละหมาดวันศุกร์ และละหมาดอัศรี่นั้น รายงานที่มีมาเป็นรายงานเรื่อง "การละหมาดรวมระหว่างละหมาดซุฮ์รี่กับละหมาดอัศรี่" เท่านั้น ...
ไม่เคยมีหลักฐานรายงานมาเกี่ยวกับการละหมาดรวมระหว่าง "ละหมาดวันศุกร์กับละหมาดอัศรี่" เลย ...
คำถามนี้จึงเป็นคำถามที่ท้าทายผู้ตอบเป็นอย่างยิ่ง ...
ก่อนอื่น ผมขอเรียนให้ทราบข้อเท็จจริงก่อนว่า .. การละหมาดรวมระหว่างละหมาดวันศุกร์กับละหมาดอัศรี่ เป็นปัญหาขัดแย้งของนักวิชาการครับ !..
นักวิชาการส่วนใหญ่ (جُمْهُوْرٌ) ของ 4 มัษฮับมีทัศนะว่า ทำไม่ได้ !.. ขณะที่นักวิชาการสลัฟกลุ่มหนึ่งมีทัศนะว่า ทำได้ ...
เมื่อเป็นปัญหาขัดแย้ง คำตอบของผมที่จะถึงต่อไปจึงเป็นเพียงการ "ให้น้ำหนัก" ตามมุมมองของผมต่อทัศนะหนึ่งจากสองทัศนะที่ขัดแย้งกันเท่านั้น ...
หาใช่เป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในเรื่องนี้ไม่ .. ท่านผู้อ่านทุกท่านจึงโปรดรับทราบไว้ด้วยครับ ...
เท่าที่ผมตรวจสอบดูแล้ว การที่นักวิชาการส่วนใหญ่มีทัศนะว่า การละหมาดรวมระหว่าง "ละหมาดวันศุกร์กับละหมาดอัศรี่" ทำไม่ได้ สรุปเหตุผลหลักที่อ้างมามี 3 ประการคือ ..
1. เพราะเรื่องละหมาด - ไม่ว่าละหมาดในเวลาหรือละหมาดรวม - เป็นเรื่องอิบาดะฮ์ประเภท تَعَبُّدِىٌّ .. คือ ให้ปฎิบัติตามคำสั่งหรือตัวบทเท่านั้น .. ไม่สามารถทราบเหตุผลได้ ..
2. ไม่เคยปรากฏมี نَصٌّ (ตัวบทชัดเจนเฉพาะเรื่อง) ที่รายงานมาว่า ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยละหมาดรวมระหว่างละหมาดวันศุกร์กับละหมาดอัศรี่ ...
3. การนำเอาละหมาดอัศรี่มาทำรวมกับละหมาดวันศุกร์ เท่ากับเป็นกิยาส (อนุมานเปรียบเทียบ) ระหว่างละหมาดวันศุกร์ (ซึ่งไม่มีหลักฐานว่าท่านศาสดาจะเคยทำรวมกับละหมาดอัศรี่) กับละหมาดซุฮ์รี่ (ที่มีหลักฐานว่าท่านศาสดาเคยทำรวมกับละหมาดอัศรี่)
การนำเอาละหมาดวันศุกร์ไปกิยาสหรือเปรียบเทียบกับละหมาดซุฮ์รี่นี้ นักวิชาการบางท่านมองว่า เป็น قِيَاسٌ مَعَ الْفَارِقِ .. คือ การนำเอาของ 2 อย่างที่แตกต่างกัน (หมายถึงรูปแบบละหมาดวันศุกร์กับรูปแบบละหมาดซุฮ์รี่) .. มาปรับใช้หุก่มเดียวกัน (คือ ทั้งละหมาดซุฮ์รี่กับละหมาดวันศุกร์ สามารถทำรวมกับละหมาดอัศรี่ได้เหมือนกันด้วยสาเหตุเพราะการกิยาส) ..
ซึ่ง قِيَاسٌ مَعَ الْفَارِقِ นี้ ถือเป็นเรื่องต้องห้ามและไม่สามารถทำได้ตามหลักวิชาการ ..
ชี้แจง
ส่วนตัวของผม เห็นด้วยกับทัศนะของนักวิชาการที่กล่าวว่า การละหมาดรวม ระหว่างละหมาดวันศุกร์กับละหมาดอัศรี่สามารถทำได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ ...
1. คำกล่าวที่ว่า .. เรื่องการละหมาด - ไม่ว่าละหมาดในเวลาหรือละหมาดรวม - เป็นเรื่องอิบาดะฮ์ประเภท تَعَبُّدِىٌّ.. คือ ให้ปฎิบัติตามคำสั่งหรือตัวบท โดยไม่อาจทราบเหตุผลได้ ..
ผมขอเรียนว่า ...
คำกล่าวที่ว่า .. การละหมาด (ภาษาอาหรับเรียกว่า اَلصَّلاًةِ ) เป็นอิบาดะฮ์ประเภท تَعَبُّدِىٌّ .. เป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง ...
แต่การ "ละหมาดรวม" ซึ่งภาษาอาหรับเรียกว่า صَلاَةُ الْجَمْعِ (ขอย้ำคำว่า ละหมาดรวม! มิใช่ละหมาดเฉยๆในเวลา) .. ตามความเป็นจริงแล้วมิใช่เป็นอิบาดะฮ์ประเภท تَعَبُّدِىٌّ หรือการให้ปฎิบัติตามตัวบทโดยไม่สามารถทราบเหตุผล ..
แต่การละหมาดรวมซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกผ่อนผันเมื่อมีความจำเป็นดังที่ได้อธิบายมาแล้ว เป็นอิบาดะฮ์ประเภท تَعَقُّلِىٌّ .. หรือ "สิ่งที่ให้เราปฏิบัติโดยสามารถทราบเหตุผลได้" ...
สำหรับเหตุผลที่ผ่อนผันให้มีการละหมาดรวมได้ ก็คือ رَفْعُ الْحَرَجِ หรือเพื่อลดภาระความยุ่งยากลำบาก - ในบางขณะ - ต่อการทำละหมาดใดในเวลาปกติของมัน ...
เหตุผลข้างต้นนี้ เรารับทราบได้จากคำกล่าวของท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. - (เมื่อถูกถามถึงสาเหตุที่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยทำละหมาดรวมระหว่างละหมาดซุฮ์รี่กับละหมาดอัศรี่, และระหว่างละหมาดมัคริบกับละหมาดอิชาอ์ขณะอยู่ที่บ้านในบางครั้ง) - โดยท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. กล่าวตอบว่า : لِأَنْ لاَ يُحْرِجَ اُمَّتَهُ : (ที่ท่านศาสดากระทำอย่างนี้) ก็เพราะท่านไม่ประสงค์จะให้เกิดความยุ่งยากลำบากแก่อุมมะฮ์ของท่าน ...
คำว่า "ยุ่งยากลำบาก" หมายถึงความไม่สะดวกที่จะทำแต่ละละหมาดในเวลาปกติของมัน ไม่ว่าขณะเดินทางหรืออยู่บ้าน .. ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ...
คำตอบของท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ดังกล่าว คือหลักฐานชัดเจนที่สุดที่ยืนยันว่า เรื่องการละหมาดรวม เป็นเรื่อง تَعَقُّلِىٌّ .. หรือเป็นสิ่งที่มีเหตุผลและสามารถเข้าใจเหตุผลนั้นได้ .. มิใช่เป็นสิ่งประเภท تَعَبُّدِىٌّ หรือไม่สามารถทราบเหตุผลได้ .. ดังความเข้าใจของนักวิชาการในประเทศอาหรับบางท่าน ..
เมื่อสามารถทราบเหตุผลได้ จึงไม่เป็นเรื่องต้องห้ามที่จะนำสิ่งอื่นที่เป็นประเภทเดียวกัน, มีเหตุผลตรงกัน, .. มาปรับใช้ในลักษณะเดียวกันเพื่อการปฏิบัติที่เหมือนกัน, .. ดังในกรณีละหมาดอัศรี่รวมกับละหมาดวันศุกร์นี้ .. และในกรณีอื่นๆดังที่จะถึงต่อไป ..
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น