อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพุธที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560

บิดอะห์ (ตอนที่ 4)



อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย เรียบเรียง

นักวิชาการอีกท่านหนึ่ง คือท่านอิซซุดดีน อิบนุ อับดิสสลาม (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 661) และศิษย์ของท่าน คือ ท่านชิฮาบุดดีน อัล-เกาะรอฟีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 684) ได้จัดแบ่งเรื่องบิดอะฮ์ออกเป็น 5 ประเภท คือบิดอะฮ์วาญิบ, บิดอะฮ์สุนัต, บิดอะฮ์อนุญาต, บิดอะฮ์น่ารังเกียจ และบิดอะฮ์ต้องห้าม ... ซึ่งหากเราวิเคราะห์ดูลักษณะการแบ่งบิดอะฮ์ดังกล่าวจากตัวอย่างที่ท่านอัล-เกาะรอฟีย์ได้นำเสนอประกอบ ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เป็นการแบ่งบิดอะฮ์ตามหลักภาษา หรือ بِدْعَـةٌ لُغَوِيَّـةٌ เช่นเดียวกัน .... 

ท่านเช็คอะลีย์ มะห์ฟูศ ได้สรุปคำพูดของท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-ฮัยตะมีย์นักวิชาการฟิกฮ์แห่งมัษฮับชาฟิอีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 974) ที่เขียนไว้ในหนังสือ “อัล-ฟะตาวีย์” มาระบุไว้ในหนังสือ “อัล-อิบดาอฺฯ” หน้า 39 เอาไว้ว่า
فَإنَّ الْبِدْعَـةَ الشَّرْعِـيَّةَ ضَلاَلَـةٌ كَمَا قَالَ رَسُوْلُ اللَّـهِ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلّمَ وَمَنْ قَسَّمَهَامِنَ الْعُلَمَاءِ إلَى حَسَنٍ وَغَيْرِحَسَنٍ فَإنَّمَاقَسَّمَ الْبِدْعَـةَ اللُّغَوِيَّـةَ، وَمَنْ قَالَ كُلُّ بِدْعَـةٍ ضَلاَلَـةٌ فَمَعْنَاهُ الْبِدْعَـةُ الشَّرْعِيَّةُ .....
“แน่นอน สิ่งบิดอะฮ์ (ทุกอย่าง) ตามนัยของบทบัญญัตินั้น เป็นความหลงผิด .. ดังคำกล่าวของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม, ..และนักวิชาการท่านใดที่แบ่งมันออกเป็นบิดอะฮ์ดีหรือบิดอะฮ์ไม่ดี ก็มิใช่อื่นใดนอกจากเป็นการแบ่งมันตามนัยของภาษาเท่านั้น, และผู้ใดที่กล่าวว่า ทุกๆบิดอะฮ์คือความหลงผิด ความหมายของมันก็คือ สิ่งบิดอะฮ์ตามนัยของบทบัญญัติ” ....
คำพูดของท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-ฮัยตะมีย์ดังกล่าว ถือว่า เป็นคำพูดที่ถูกต้อง, ซึ่งทุกคนที่ต้องการจะศึกษาหาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องบิดอะฮ์ จะต้องจดจำเอาไว้ให้มั่น .. เพราะเป็นการจำแนกลักษณะของสิ่งบิดอะฮ์ ที่ประชาชนจำนวนมากยังไม่เข้าใจและสับสนได้อย่างตรงต่อประเด็นที่สุด, ...
แน่นอน, มุสลิมจำนวนมาก .. แม้กระทั่งผู้ได้ชื่อว่า เป็นผู้รู้และเป็นนักวิชาการ ... ก็ยังสับสนเกี่ยวกับเรื่องของบิดอะฮ์ ... คือยังแยกแยะข้อเท็จจริงไม่ได้, โดยเฉพาะ คำว่า บิดอะฮ์ดี ตามที่ ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์, หรือท่านอิซซุดดีน อิบนุอับดิสสลาม ได้กล่าวไว้นั้น .. ประชาชนจำนวนมาก ยังไม่เข้าใจว่า บิดอะฮ์ดีที่ท่านทั้งสองพูดนั้น เป็นบิดอะฮ์ในลักษณะใด? เป็นเรื่องบิดอะฮ์ตามมุมมองของภาษา หรือบิดอะฮ์ตามมุมมองของบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของหะดีษ ?...
เมื่อยังสับสน จึงทำให้เกิดมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและผิดพลาดตามมา นั่นคือ หลายสิ่งหลายอย่างที่เป็น “บิดอะฮ์ต้องห้าม” ตามบทบัญญัติและตามเจตนารมณ์ของหะดีษ ก็กลับไปเข้าใจและมอง (ตามหลักภาษา) ว่า เป็น “บิดอะฮ์ดี” ที่อนุญาตให้ปฏิบัติได้.. ดังตัวอย่างในตอนท้ายของหน้า 7 ที่ผ่านมาแล้ว ... ] เพราะดูตามรูปการณ์ว่า สิ่งนั้น เป็นสิ่งที่ดี (ตามความเข้าใจของมนุษย์) ... แทนที่จะมองตามกฎเกณฑ์ของหลักวิชาการเกี่ยวกับความหมายของ بِدْعَـةٌ شَرْعِيَّةٌที่นักวิชาการได้กำหนดเอาไว้ และบ่งชี้ว่า สิ่งนั้น เป็นเรื่องของการอุตริที่น่ารังเกียจ[ ...
ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. เศาะหาบะฮ์ผู้เคร่งครัดท่านหนึ่งได้เคยกล่าวไว้ว่า
(كُلُّ بِدْعَـةٍ ضَلاَلَـةٌ ! وَإِنْ رَآهَـاالنَّاسُ حَسَـنَةً )
“ทุกๆบิดอะฮ์ (ตามนัยของบทบัญญัติ) คือความหลงผิด ! แม้ประชาชนทั่วไปจะมองว่า มันเป็นเรื่องดีงามก็ตาม” ......
(บันทึกโดย ท่านอัล-ลาลิกาอีย์ในหนังสือ “ شَرْحُ أُصُوْلِ إعْتِقَادِ أَهْلِ السُّـنَّةِ” เล่มที่ 1 หน้า 92, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ในหนังสือ “اَلْمَدْخَلُ إلَي السُّنَنِ الْكُبْرَى “ หมายเลข 191, และท่านมุหัมมัด บิน นัศรฺ ในหนังสือ “أَلسُّـنَّةُ” หน้า 24) ....
คำพูดของท่านอิบนุ อุมัรฺ ร.ฎ. ข้างต้น ถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทุกคนจะต้องจับตามอง เพราะเป็นคำพูดที่สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงว่า คำว่า “บิดอะฮ์ดี” ที่เป็นข้ออ้างของผู้ปฏิบัติสิ่งที่ถูกอุตริขึ้นมาในศาสนานั้น มีรากฐานมาจากการใช้สามัญสำนึกและความรู้สึก เป็น “ตัวกำหนด” คำว่า “ดี” ของสิ่งที่ถูกประดิษฐ์เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่....โดยไม่คำนึงถึงคำว่า “ซุนนะฮ์” อันเป็นแม่บทที่แท้จริงของภาคปฏิบัติในเรื่องศาสนาเลย ...
แน่นอน การใช้สามัญสำนึกของมนุษย์ มาเป็นตัวกำหนด “สิ่งดี” ... จนก่อกำเนิดคำว่า “บิดอะฮ์ดี” ในบทบัญญัติศาสนาขึ้นมา จะทำให้คำว่า “บิดอะฮ์ เฎาะลาละฮ์” ที่ท่านศาสดาได้พร่ำย้ำเตือนให้ประชาชาติของท่านพยายามหลีกห่างนั้น ไม่มีที่ยืนหลงเหลืออยู่อีกเลย ... และคงจะหายสาบสูญไปจากแวดวงศาสนาในไม่ช้า ....
เพราะทุกๆเรื่องที่ถูกเสกสรรเพิ่มเติมใหม่นั้น มีหรือจะเป็นสิ่ง “ไม่ดี” ในมุมมองของผู้ริเริ่มหรืออุตริมัน, .. และผู้ปฏิบัติมัน ?? .......
และเมื่อเป็นอย่างนี้ แล้วเราจะเอาหลักการข้อใด มาหักล้างตัวอย่างด้านล่างต่อไปนี้ ... หากจะมีผู้ใดกระทำ แล้วอ้างว่ามันเป็นบิดอะฮ์ดี ?? ....
(1). การอะซานเพื่อเรียกร้องให้คนมานมาซญะมาอะฮ์วันอีด หรือนมาซญะมาอะฮ์ตะรอเวี๊ยะห์ เหมือนการอะซานในนมาซฟัรฺฎู....
เขาอาจจะตั้งคำถาม ... ในลักษณะ “หนามยอกเอาหนามบ่ง” กับเราได้ว่า ...
“การอะซาน” เพื่อเรียกร้องให้คนมานมาซวันอีดนั้น ไม่ดีตรงไหน? ....
แค่คำถามข้อนี้เพียงคำถามเดียว เราก็จนปัญญาในการหาคำตอบแล้ว, ...
และถ้าเราเฉไฉไปค้านในลักษณะว่า ... การอะซานดังกล่าว ไม่มีหลักฐานจากอัล-กุรฺอ่านและซุนนะฮ์ ! ... ผู้ปฏิบัติ ก็อาจจะ “ตีแสกหน้าเรา” ด้วยการอ้างหลักฐานจากอัล-กุรฺอ่าน ซูเราะฮ์ฟุศศิลัต โองการที่ 33 อีกว่า .....
وَمَنْ أَحْسَنُ قَوْلاً مِمَّنْ دَعَـاإِلَى اللَّـهِ وَعَمِلَ صَالِحًـا ..........
“และผู้ใดเล่า จะเลอเลิศที่สุดในด้านคำพูด ยิ่งไปกว่าผู้ที่เรียกร้องเชิญชวนมาสู่อัลลอฮ์ และเขาปฏิบัติความดี ...........”
แล้วเราจะกล้าปฏิเสธหรือว่า “การอะซาน” เพื่อประกาศให้คนมานมาซอีดหรือมานมาซตะรอเวี๊ยะห์ มิใช่เป็นคำพูดที่ดีที่เลอเลิศ ?, ... มิใช่เป็นการเรียกร้องเชิญชวนไปสู่อัลลอฮ์ ? .....
เราจะกล้าปฏิเสธหรือว่า ผู้ที่อะซานเพื่อเรียกร้องคนมานมาซนั้น มิใช่ผู้ปฏิบัติความดี ? ......
หรืออย่างน้อยที่สุด หากเขาอ้างว่า การอะซานในนมาซอีดหรือนมาซตะรอเวี๊ยะห์ดังกล่าว เป็นการ “กิยาส” กับการอะซานในนมาซฟัรฺฎู, เพราะมี “จุดเหมือน” คือ เป็นการนมาซเหมือนกัน, และมีบทบัญญัติให้ปฏิบัติในลักษณะญะมาอะฮ์เหมือนกัน, ....
อาวุธหนักทั้ง 2 -3 ดอกนี้ เราจะ “ปิดป้อง” ได้อย่างไร ? ......
ในเมื่อเราปฏิเสธไม่ได้, .. แน่นอน เราก็ต้อง “จำใจยอมรับ” มันว่า เป็นบิดอะฮ์ดี .. เหมือนการเป็นบิดอะฮ์ดีในเรื่องการให้ญาติผู้ตายเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหาร, เป็นบิดอะฮ์ดีในเรื่องการจัดงานเมาลิด หรือเรื่องอื่นๆที่เราทุกคนยอมรับโดยดุษฎีว่าไม่มีแบบอย่าง แต่เราบางคนหรือหลายคน ก็นำมาปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย ด้วยเหตุผลว่า มันเป็น “บิดอะฮ์ดี” นั่นแหละ .....
และเมื่อเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นบิดอะฮ์ดี ก็แล้วทำไมเราจึงไม่ปฏิบัติ, หรืออย่างน้อยก็รณรงค์ให้มีการอะซานในนมาซอีดหรือนมาซตะรอเวี๊ยะห์กันบ้าง ? เหมือนอย่างที่เรารณรงค์กันอย่างเป็นบ้าเป็นหลังในเรื่อง “บิดอะฮ์ดี” อื่นๆของเรา ??? .......



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น