อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพุธที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560

บิดอะห์ (ตอนที่ 5.2)



อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย เรียบเรียง


อธิบาย. 

สาเหตุที่ 1. เพราะท่านมีอุปสรรคจนไม่สามารถปฏิบัติสิ่งที่ดีเหล่านั้นได้ ตัวอย่างเช่น ...
1.1 การที่ท่านอบู บักรฺ ร.ฎ. ได้สั่งให้ท่านซัยด์ บิน ษาบิต ร.ฎ. ทำการสืบเสาะและรวบรวมอัล-กุรฺอ่าน เข้าเป็นเล่มเดียวกันทั้งหมด ....
การรวบรวมอัล-กุรฺอ่าน เข้าเป็นเล่มนี้ เป็นสิ่งที่ดีสำหรับประชาชาติอิสลาม, แต่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ้อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จำเป็นต้องละไว้ เพราะท่านมีอุปสรรค..... 
อุปสรรคของท่านก็คือ การยังไม่สิ้นสุดการประทานอัล-วะห์ยุ (อัล-กุรฺอ่าน) ลงมา..ตราบใดที่ท่านยังมีชีวิต ....
และเมื่อการประทานอัล-กุรฺอ่านยังไม่สิ้นสุด ท่านศาสดาจึงยังไม่สามารถรวมมันเป็นเล่มโดยสมบูรณ์ได้ ... 
จะอย่างไรก็ตาม ท่านศาสดา ก็ได้สั่งให้อาลักษณ์ของท่านหลายคน ทำการบันทึกอัล-กุรฺอ่านไว้ทุกครั้งที่ อัล-วะห์ยุ ถูกประทานลงมา, และหลายคนก็ได้อาศัยการท่องจำ ... แล้วจากบันทึก และจากความทรงจำของบรรดาเศาะหาบะฮ์เหล่านี้ ท่านซัยด์ บิน ษาบิต ร.ฎ. จึงได้ทำการรวบรวมอัล-กุรฺอ่านจนครบถ้วนสมบูรณ์ได้ ตามคำสั่งของท่านอบู บักรฺ ร.ฎ. .. หลังจากที่ท่านศาสดาได้สิ้นชีวิตไปแล้ว ....
การรวบรวมอัล-กุรฺอ่านดังกล่าวของท่านซัยด์ บิน ษาบิต ร.ฎ. จึงมิใช่เป็นเรื่องบิดอะฮ์ ตามบทบัญญัติ แต่กลับเป็นการป้องกันรักษาอัล-กุรฺอ่านไว้จากการสูญหาย ซึ่งเป็นเรื่องวาญิบ (จำเป็น) ตามหลักการขั้นพื้นฐานของศาสนา .. เหมือนการสร้างโรงเรียนสอนศาสนา ที่อธิบายผ่านมาแล้ว ...
1.2 การที่ท่านอุมัรฺ อิบนุล ค็อฏฏอบ ร.ฎ. ได้สั่งให้ท่านอุบัย์ บิน กะอฺบ์ (กะอับ) และท่านตะมีม อัด-ดารีย์ นำประชาชนนมาซตะรอเวี๊ยะห์ในลักษณะญะมาอะฮ์เดียว .....
การนมาซญะมาอะฮ์ในนมาซตะรอเวี๊ยะห์ เป็นเรื่องดี, แต่สาเหตุที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จำเป็นต้องละและปล่อยวางไว้ ก็เพราะท่านมีอุปสรรค ..... 
อุปสรรคของท่าน ก็คือ เกรงว่า การนมาซญะมาอะฮ์ในนมาซตะรอเวี๊ยะห์เป็นประจำ จะกลายเป็นข้อบังคับ ( ฟัรฺฎ) แล้วจะเป็นความยากลำบากสำหรับอุมมะฮ์ (ประชาชาติ) ของท่านภายหลัง .... 
ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้แจ้งแก่บรรดาเศาะหาบะฮ์ ที่มารอนมาซญะมาอะฮ์ตะรอเวี๊ยะห์พร้อมกับท่านในคืนหนึ่ง ของเดือนรอมะฎอน -- แต่ท่านก็มิได้ออกมานำนมาซญะมาอะฮ์พวกเขา -- โดยท่านได้บอกพวกเขาหลังจากนมาซซุบห์เสร็จว่า ...
( أَمَّابَعْدُ : فَإِنَّـهُ لَمْ يَخْفَ عَلَيَّ شَأْنُكُمْ اللَّيْلَةَ، وَلَكِنِّيْ خَشِيْتُ أَنْ تُفْرَضَ عَلَيْكُمْ صَلاَةُ اللَّيْلِ، فَتَعْجِزُوْا عَنْهَـا )
“แท้จริง พฤติการณ์ของพวกท่านเมื่อคืน (ที่มารวมตัวกันมากมายเพื่อต้องการนมาซญะมาอะฮ์ตะรอเวี๊ยะห์) มิได้เป็นความลับสำหรับฉันหรอก, ทว่า (ที่ฉันมิได้ออกมานำนมาซพวกท่าน เพราะ) ฉันกลัวว่า การนมาซยามค่ำคืน (ในลักษณะญะมาอะฮ์) จะกลายเป็นข้อบังคับ (ฟัรฺฎู) ต่อพวกท่าน แล้วพวกท่านจะรับไม่ไหว” ..... 
(บันทึกโดย ท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 2012, ท่านมุสลิม หะดีษที่ 178/761 และผู้บันทึกท่านอื่นๆ, สำนวนในที่นี้ เป็นสำนวนจากการบันทึกของท่านมุสลิม) .... 
ความจริง การนมาซตะรอเวี๊ยะห์ในลักษณะญะมาอะฮ์ ก่อนหน้านั้น ท่านศาสดาก็ได้เคยนำเศาะหาบะฮ์ในสมัยของท่าน นมาซญะมาอะฮ์มาแล้วถึง 3 คืนด้วยกัน แต่ท่านมีความจำเป็นที่ต้องระงับมันไว้ ดังเหตุผลที่ท่านได้แจ้งให้ทราบแล้วข้างต้น .. คือ กลัวว่า มันจะกลายเป็นฟัรฺฎู ....
ดังนั้น การนมาซตะรอเวี๊ยะห์ในลักษณะญะมาอะฮ์ แท้ที่จริง จึงมิใช่เป็น “บิดอะฮ์” .. ไม่ว่าจะมองในแง่ภาษาหรือในแง่ของบทบัญญัติ, .. 
แต่ว่ามันคือ “ซุนนะฮ์” ที่ถูกปล่อยวางไว้ .. ด้วยเหตุผลดังกล่าว ....
และเมื่อท่านศาสดาสิ้นชีวิตลงไปแล้ว ความหวั่นกลัวที่ว่า มันจะกลายเป็นฟัรูฎู ก็หมดสิ้นไปด้วย เพราะจะไม่มีฟัรฺฎูใดๆเกิดขึ้นมาอีกหลังจากการสิ้นชีวิตของท่าน ..
ด้วยเหตุนี้ ท่านอุมัรฺ ร.ฎ. จึงได้ทำการ “รื้อฟื้น” ซุนนะฮ์นี้ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง และคำว่า “รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่หลังจากถูกละทิ้งไป” นี้ ก็เป็นความหมายในเชิง “อุปมัยศิลป์ : مَجَازِيٌّ” ของคำว่า “บิดอะฮ์” ......
ดังนั้น คำพูดของท่านอุมัรฺ อิบนุล ค็อฏฏอบ ร.ฎ. ที่ว่า نِعْمَتِ الْبِدْعَـةُ هَـذِهِ ที่แปลกันว่า “บิดอะฮ์ที่ดี คือสิ่งนี้” จึงมิได้หมายความว่า ท่านเป็น “ผู้ริเริ่มการนมาซญะมาอะฮ์ตะรอเวี๊ยะห์ขึ้นมาเป็นคนแรก” ตามที่หลายคน ได้อ้างคำพูดนี้เป็นหลักฐานเรื่องบิดอะฮ์ดี, แต่ความหมายก็คือ ... “ ท่านเป็นคนแรกที่รื้อฟื้นสิ่งดีนี้ (ซุนนะฮ์การญะมาอะฮ์ในนมาซตะรอเวี๊ยะห์) ขึ้นมาใหม่หลังจากถูกละทิ้งไปชั่วคราว” ...
สรุปแล้ว การกระทำของท่านอุมัรฺ อิบนุล ค็อฏฏอบ ร.ฎ. ที่ได้ทำการรื้อฟื้นการนมาซญะมาอะฮ์ตะรอเวี๊ยะห์ขึ้นมาอีกครั้ง จึงมิใช่เป็นเรื่อง “บิดอะฮ์” ที่หมายถึงการอุตริกรรมสิ่งที่ไม่เคยมีแบบอย่างมาก่อนแต่ประการใด, .. และคำพูดของท่านที่ว่า “บิดอะฮ์ที่ดี คือสิ่งนี้” ก็มิใช่เป็นหลักฐานที่ใครๆ จะนำไปอ้าง เพื่อ “อุตริ” สิ่งใดที่ไม่เคยมีแบบอย่างมาก่อนจากซุนนะฮ์ เพื่อปฏิบัติ แล้วทึกทักเอาว่า เป็น “บิดอะฮ์ดี” ดังคำพูดของท่านอุมัรฺ อิบนุล ค็อฏฏอบ ร.ฎ. .. 
สาเหตุที่ 2. เพราะไม่มีประเด็นส่งเสริมให้ท่านกระทำสิ่งนั้น ขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ... 
ตัวอย่างเช่น การเพิ่มอะซานครั้งแรกในวันศุกร์ ตามอาคารสูงในตลาดของท่านเคาะลีฟะฮ์อุษมาน บิน อัฟฟาน ร.ฎ. เพราะมีประเด็นและเหตุผลใหม่ ซึ่งไม่มีในสมัยของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ......
นั่นคือ การมีจำนวนประชากร เพิ่มมากขึ้นกว่าในสมัยของท่านศาสดา ....
ท่านอุษมาน ร.ฎ. เกรงว่า การอะซานเพียงครั้งเดียวเมื่อเคาะฏีบขึ้นนั่งบนมิมบัรฺดังที่ปฏิบัติกันในสมัยท่านศาสดา จะทำให้ประชาชนที่มีจำนวนมาก และอยู่ห่างไกลออกไปมาก มานมาซวันศุกร์ไม่ทัน ท่านจึงกำหนดให้มีการอะซานขึ้นหนึ่งครั้งตามอาคารสูงในตลาด ก่อนการอะซานเดิม ... 
ท่านซาอิบ บิน ยะซีด (เป็นเศาะหาบะฮ์ผู้เยาว์, สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 91 และเป็นเศาะหาบะฮ์ท่านสุดท้ายที่เสียชีวิตที่นครมะดีนะฮ์) ได้กล่าวว่า ....
كَانَ النِّدَاءُ يَوْمَ الْجُمْعَةِ أَوَّلُـهُ إذَا جَلَسَ اْلإمَامُ عَلَى الْمِنْبَرِ عَلَى عَهْدِ رَسُوْلِ اللَّـهِ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَأَبِيْ بَكْرٍ وَعُمَرَ رَضِيَ اللَّـهُ عَنْهُمَا [ عَلَى بَابِ الْمَسْجِدِ ] فَلَمَّا كَانَ عُثْمَانُ رَضِيَ اللَّـهُ عَنْهُ – وَكَثُرَالنَّاسُ – [ وَتَبَاعَدَتِ الْمَنَازِلُ ] زَادَ النِّدَاءَ الثَّالِثَ عَلَى الزَّوْرَاءِ 
“การอะซานในวันศุกร์, เริ่มแรกนั้น จะมีขึ้นเมื่ออิหม่ามขึ้นนั่งบนมิมบัรฺ ในสมัยของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม, ท่านอบูบักรฺ, และท่านอุมัรฺ ร.ฎ. ] ที่ประตูมัสญิด [ .. ต่อมา เมื่อท่านอุษมาน ร.ฎ. (ได้เป็นเคาะลีฟะฮ์) – และจำนวนประชากรเพิ่มทวีมากขึ้น -- ] และอาคารบ้านเรือนก็ขยายห่างไกลออกไป [ ท่านจึงได้เพิ่มการอะซานเป็นครั้งที่ 3 บนอาคารสูง (ในตลาด) ...
(บันทึกโดย ท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 912, 913, 915, 916, ท่านอบู ดาวูด หะดีษที่ 1087, ท่านอัน-นซาอีย์ หะดีษที่ 1391, ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ในหนังสือ “อัล-อุมม์” เล่มที่ 1 หน้า 173, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 516, ท่านอะห์มัด เล่มที่ 3 หน้า 449, ท่านอิบนุ มาญะฮ์ หะดีษที่ 1135, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 192, 205 ) .....
คำว่า “เพิ่มการอะซานเป็นครั้งที่ 3” หมายถึงในสมัยของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม และเคาะลีฟะฮ์อีก 2 ท่านก่อนหน้านั้น จะมีการอะซานหนึ่งครั้งเมื่อเคาะฏีบขึ้นนั่งบนมิมบัรฺในวันศุกร์ และจะมีการอิกอมะฮ์ เมื่อจะนมาซ, ซึ่งการอะซานและการอิกอมะฮ์นี้ บางครั้งจะเรียกรวมกันว่า 2 อะซาน ... ดังนั้น เมื่อท่านอุษมาน ร.ฎ. ได้เพิ่มการอะซานครั้งแรกขึ้นมาอีกหนึ่งครั้ง จึงกลายเป็น 3 อะซานดังกล่าว ....
จะอย่างไรก็ตาม การเพิ่มอะซานครั้งแรกในวันศุกร์ของท่านเคาะลีฟะฮ์อุษมาน ร.ฎ.นี้ แม้ตามบทบัญญัติจะไม่เรียกว่า เป็นบิดอะฮ์, แต่ในทางปฏิบัติสำหรับผู้ที่จะเลียนแบบท่าน ก็ต้องคำนึงถึงเหตุผลในการเพิ่มอะซานครั้งนี้ของท่านด้วย .. นั่นคือ ประชาชนในท้องที่ มีปริมาณมาก, และอาคารบ้านเรือนก็ห่างไกลกัน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นท้องที่ ที่มีอาณาเขตกว้างขวางมาก ....
ดังนั้น การที่บางท้องที่มีการอะซานในวันศุกร์ 2 ครั้งเพื่อเลียนแบบท่านเคาะลีฟะฮ์อุษมาน ร.ฎ. ทั้งๆที่ประชาชนที่มานมาซวันศุกร์มีจำนวนเพียงเล็กน้อย และเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้องด้วยประการทั้งปวง .....
ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-อุมม์” ของท่าน เล่มที่1หน้า 173 มีข้อความว่า ..... 
وَقَدْ كَانَ عَطَاءُ يُنْكِرُ أَنْ يَكُوْنَ عُثْمَانُ أَحْدَثَـهُ، وَيَقُوْلُ أَحْدَثَـهُ مُعَاوِيَةُ وَاللَّـهُ أَعْلَمُ، وَأَيُّهُمَاكَانَ فَاْلأَمْرُالَّذِيْ عَلَى عَهْدِ رَسُوْلِ اللَّـهِ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَحَبُّ إلَـيَّ ... 
“ท่านอะฏออ์ ได้คัดค้านคำกล่าวที่ว่า ท่านอุษมาน เป็นผู้ริเริ่มการอะซานนี้ขึ้นมา โดยท่านกล่าวว่า ผู้ที่ริเริ่มมันขึ้นมา คือท่านมุอาวิยะฮ์ ... พระองค์อัลลอฮ์เท่านั้น ที่ทรงล่วงรู้ยิ่ง, แต่ไม่ว่าจะเป็นท่านใดจาก 2 ท่านนั้น (ที่ริเริ่มมัน) การกระทำที่เคยปรากฏในสมัยของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม (หมายถึงการอะซานเพียงครั้งเดียว) เป็นสิ่งที่ฉันชอบที่สุด” ...
นี่คือ “ความนิ่มนวล” ในด้านวาจาของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ ที่ผู้เผยแผ่ซุนนะฮ์ทุกท่าน พึงจดจำไว้เป็นแบบอย่าง, .. ท่านรักษามารยาทด้วยการไม่กล่าวตำหนิตรงๆต่อการกระทำของผู้ที่เพิ่มการอะซานครั้งแรกในวันศุกร์ ( ซึ่งในมุมมองของท่าน อาจจะมองว่า มัน “ก้ำกึ่งและคาบลูกคาบดอก” ในระหว่างการเป็นบิดอะฮ์หรือมิใช่บิดอะฮ์) ... แต่ท่านกลับกล่าวในลักษณะว่า การอะซานเพียงครั้งเดียว (อันเป็นซุนนะฮ์) ที่มีการปฏิบัติกันในสมัยท่านของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมนั้น เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในทัศนะของท่าน .... 
เพราะฉะนั้น จากคำอธิบายและจากตัวอย่างที่ผ่านมาทำให้พอจะประมวลได้ว่า สิ่งใดก็ตามที่ท่านศาสดาได้ละเอาไว้ .. โดยไม่มีสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งจาก 2 สาเหตุข้างต้น .. แสดงว่า “การกระทำ” สิ่งนั้นในภายหลัง เป็นบิดอะฮ์, และ “การไม่กระทำ” สิ่งนั้น คือ “ซุนนะฮ์” .. (เรียกตามศัพท์วิชาการว่า เป็น سُنَّـةٌ تَرْكِيَّـةٌ ) คือ “ซุนนะฮ์ในการละทิ้งตามท่าน” .....
ท่านอิหม่ามอัช-เชาว์กานีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 1255) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อิรฺชาด อัล-ฟุหูล” อันเป็นหนังสืออธิบายเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ขั้นพื้นฐานของนิติศาสตร์อิสลาม ( اُصُوْلُ الْفِقْهِ ) ว่า ....
تَرْكُهُ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لِلشَّـْئِ كَفِْعلِهِ لَـهُ فِى التَّأَسِّىْ بِهِ فِيْهِ، قَالَ ابْنُ السَّمْعَانِ : إذَا تَرَكَ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ شَيْأً وَجَبَ عَلَيْنَا مُتَابَعَتُهُ فِيْهِ ......
“การละทิ้งสิ่งใดของท่านรอซู้ลฯ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ก็เหมือนกับการกระทำของท่านต่อสิ่งนั้น ในแง่ที่เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตาม, .. ท่านอิบนุ อัซ-ซัมอาน ได้กล่าวว่า : เมื่อท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ละทิ้งสิ่งใด “วาญิบ” ต่อพวกเรา จะต้องปฏิบัติตามท่านใน (การละทิ้ง) สิ่งนั้นด้วย .....” 
ดังนั้น ความเข้าใจของคนทั่วๆไปที่ว่า ไม่ว่าสิ่งที่ท่านศาสดาเจตนาละทิ้งหรือเจตนากระทำ ย่อมมีน้ำหนักเพียงด้านเดียวเท่านั้นสำหรับเรา คือ ... “ท่านทำ เราทำตามก็เป็นสิ่งดี (ทำตามซุนนะฮ์), ท่านทิ้ง แต่เราทำ ก็เป็นสิ่งดี (ทำบิดอะฮ์ดี)”... จึงเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดและขัดแย้งกับกฎเกณฑ์ของวิชาอุศูลุลฟิกฮ์ข้อนี้ ...... 
ท่านเช็คอะลีย์ มะห์ฟูศ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-อิบดาอฺฯ” หน้า 34 - 35 ว่า وَأَمَّامَاتَرَكَهُ الرَّسُوْلُ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَاعْلَمْ أَنَّ سُنَّةَ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ كَمَا تَكُوْنُ بِالْفِعْلِ تَكُوْنُ بِالتَّرْكِ، فَكَمَا كَلَّفَنَااللَّـهُ تَعَالَى بِإتِّبَاعِ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِْي فِعْلِهِ الَّذِيْ يَتَقَرَّبُ بِهِ إذَا لَمْ يَكُنْ مِنْ بَابِ الْخُصُوْصِيَّاتِ كَذَلِكَ طَالَبَنَا بِإتِّبَاعِهِ فِيْ تَرْكِهِ، فَيَكُوْنُ التَّرْكُ سُنَّةً، وَكَمَا لاَ نَتَقَرَّبُ إلَى اللَّـهِ تَعَالَى بِتَرْكِ مَافَعَلَ لاَ نَتَقَرَّبُ إلَيْهِ بِفِعْلِ مَاتَرَكَ، فَلاَ فَرْقَ بَيْنَ الْفَاعِلِ لِمَا تَرَكَ وَالتَّارِكِ لِمَا فَعَلَ ... 
“อนึ่งสิ่งใดที่ท่านรอซู้ลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ละทิ้งไว้ก็พึงรู้เถิดว่า แท้จริง ซุนนะฮ์ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม นั้น มีทั้งที่ต้องปฏิบัติตาม และต้องละทิ้งตาม, ... การที่พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงกำหนดให้พวกเรา ปฏิบัติตามท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ในการกระทำที่ท่านปฏิบัติเพื่อความใกล้ชิดต่อพระองค์อัลลอฮ์ อันมิใช่เป็นเรื่องเฉพาะตัวของท่านฉันใด พระองค์อัลลอฮ์ก็ทรงต้องการให้เราปฏิบัติตามท่านศาสดาในการละทิ้ง (ไม่กระทำ ) ของท่านฉันนั้น, .. ดังนั้น การละทิ้ง (สิ่งใดที่ท่านศาสดาไม่ปฏิบัติ) จึงเป็นซุนนะฮ์, ..ก็เสมือนอย่างการที่เราไม่สามารถทำตัวให้ใกล้ชิดพระองค์อัลลอฮ์ด้วยการละทิ้งสิ่งที่ท่านศาสดาปฏิบัติฉันใดในทำนองเดียวกัน เราก็ไม่สามารถทำตัวให้ใกล้ชิดพระองค์อัลลอฮ์ ด้วยการปฏิบัติสิ่งที่ท่านศาสดาได้ละทิ้งฉันนั้น, ดังนั้น จึงไม่มีข้อแตกต่างอันใดในระหว่างผู้ปฏิบัติในสิ่งที่ท่านศาสดาละทิ้ง กับผู้ละทิ้งในสิ่งที่ท่านศาสดาปฏิบัติ ..........”
ท่านเช็ค อะลีย์ มะห์ฟูศ ยังได้กล่าวในหนังสือเล่มเดียวกัน หน้า 38 อีกว่า ...
فَإنَّ تَرْكَهُ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ سُنَّةٌ كَمَا أَنَّ فِعْلَهُ سُنَّةٌ، فَإذَا اسْتَحْبَبْنَافِعْلَ مَاتَرَكَ كَانَ نَظِيْرَاسْتِحْبَابِنَا تَرْكَ مَا فَعَلَ وَلاَ فَرْقَ .......
“แน่นอน, การละทิ้ง (ไม่กระทำ ) ของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม คือซุนนะฮ์, เหมือนอย่างการกระทำของท่าน ก็คือซุนนะฮ์ ! ... เมื่อเราถือว่า การกระทำในสิ่งที่ท่านละทิ้ง เป็นเรื่องที่ชอบ ก็อุปมาเหมือนอย่างเราถือว่า การละทิ้งสิ่งที่ท่านกระทำ ก็เป็นเรื่องที่ชอบเช่นเดียวกัน ... ไม่มีข้อแตกต่างกันเลย .......”
นี่คือ ที่มาของความหมายบิดอะฮ์ตามบทบัญญัติ หน้าที่ 9 .. ซึ่งถือว่า เป็นการให้ความหมายตามกฎเกณฑ์ของวิชา อุศูลุลฟิกฮ์ ที่สำคัญที่สุดในการกำหนดว่า สิ่งใด “เป็นบิดอะฮ์หรือไม่ใช่บิดอะฮ์ ?” ......
ความจริง ในแผนภูมิเรื่องบิดอะฮ์ตามบทบัญญัติทั้งหมด 4 ประการที่ได้นำเสนอไว้นั้น, ยกเว้นข้อที่ 3 คือ การอุตริในสิ่งที่เป็นข้อห้ามตามบทบัญญัติ และข้อที่ 4 คือ การอุตริในเรื่องของอะกีดะฮ์ (หลักศรัทธา) แล้ว อีก 2 ข้อที่เหลือ ก็ต้องอาศัย “บรรทัดฐาน” ของกฎเกณฑ์ของวิชาอุศูลฯ ข้อนี้ มาเป็นตัวกำหนดอีกทีหนึ่งทั้งสิ้น ...


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น