อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เรื่องของคำว่า "ชัยค์ (الشيخ)"




จำได้ว่า ขณะกำลังเรียนอยู่ที่ปอเนาะจะนะ บาบอได้อธิบายและให้คำนิยามของคำว่า "ชัยค์" ไว้ 2 ลักษณะ คือ ...
(1). หมายถึง مَنْ جَاوَزَ عُمْرًهُ أَرْبَعِيْنَ .. คือผู้ซึ่งอายุของเขาเลย 40 ปีไปแล้ว ...
ดังนั้น คำว่าชัยค์ตามนัยนี้ คงหมายถึง "ผู้อาวุโส" ในภาษาไทยนั่นแหละ ...
(2). หมายถึง مَنْ بَلَغَ رًتْبَةَ أَهْلِ الْفَضْلِ وَلَوْ صَبِيًّا.. คือ ผู้ซึ่งถึงขั้นเป็นคนระดับสำคัญหรือระดับเข้าขั้นสุดยอดในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ด้านวิชาการ เป็นต้น แม้จะเป็นเด็กก็ตาม ...
แต่ในปัจจุบัน - ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด - คำว่าชัยค์นี้ จะมีความหมายเพิ่มขึ้นมาอีกความหมายหนึ่งว่า หมายถึงผู้ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศหรือไกด์นำคนเดินทางไปทำหัจญ์หรืออุมเราะฮ์ ...
แต่ความหมายที่สามนี้ จะถูกเรียกเพี้ยนเป็น "แซะห์" ไป ...
สำหรับผมเอง (หรืออาจารย์หลายๆท่าน เช่น อาจารย์ฟารีด, อาจารย์คอลิด, อาจารย์อาบิดีน, อาจารย์อิสฮาก เป็นต้น) หากใครจะเรียกพวกเราว่าเป็น "ชัยค์" ตามความหมายที่ 1 ก็คงเรียกได้โดยไม่น่าเกลียด ...
โดยเฉพาะผมเองอีกไม่นาน (ถ้าไม่รีบด่วนตายเสียก่อน) ก็คงเป็นชัยค์ยกกำลังสอง เพราะอายุใกล้ 80 ปีเต็มทีแล้ว ......
อ้อ ผมยังเป็น "ชัยค์" หรือ "แซะห์" ตามความหมายที่ 3 ด้วย เพราะตอนนี้ นำคนไปทำหัจญ์เกือบทุกปี ...
แต่สมมุตินะครับ สมมุติว่าถ้าจะมีใครใช้คำว่า "ชัยค์" ตามความหมายที่สองเรียกผม ผมคงปฏิเสธไม่ยอมรับ เพราะผมรู้ตัวดีว่ายังไม่ถึงขั้นนั้นครับ ...

วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เรื่องเล่าในอดีต .. การรับซะกาตฟิฏเราะฮ์



โดย .. อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย …

ตอนนี้ในเฟสมีการพูดกันถึงเรื่องซะกาตุลฟิฏริ์หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ซะกาตฟิฏเราะฮ์” กันหนาหู ..
ทำให้ผมนึกถึงเรื่องขำๆเกี่ยวกับเรื่องการรับซะกาตฟิฏเราะฮ์ในอดีตครั้งหนึ่งขึ้นมาได้ ...
ผมขออนุญาตเอ่ยชื่อบุคคลท่านหนึ่งอันมีตำแหน่งเป็นอดีตคอฏีบมัสยิดอุสาสนอิสลาม บ้านบน สงขลา เมื่อ 40 กว่าปีมาแล้ว ...
ใครๆรู้จักท่านในนาม “โต๊ะหมีด” หรือ “หวะหมีด” .. แล้วแต่จะเรียกกัน (ขอพระองค์อัลลอฮ์ โปรดเมตตาต่อท่านด้วย) ...
ผมเรียกท่านว่า หวะหมีด ...
ตอนผมออกจากปอเนาะใหม่ๆมาอยู่กับภรรยาที่สงขลา ท่านกับผมไม่ค่อยถูกชะตากันเท่าไหร่ เพราะท่านเป็นคณะใหม่ ส่วนผมเป็นคณะเก่า ...
ความจริง ก่อนหน้านั้น – สมัยผมยังเป็นนักเรียนปอเนาะ - ผมเคยเจอกับท่านมาก่อนแล้วที่มัสยิดอุสาสนอิสลามนี่แหละ เพราะมีการโต้กันระหว่างคณะใหม่กับคณะเก่าในญัตติเรื่อง “เนื้อกุรฺบ่านให้คนต่างศาสนากินได้หรือไม่ ? ...
ประธานกรรมการอิสลามสงขลาสมัยนั้นได้ส่งหนังสือเชิญบรรดาโต๊ะครูที่อำเภอจะนะให้มาโต้กับหวะหมีดที่กล่าวว่า เนื้อกุรูบ่านให้คนต่างศาสนากินได้ ..
โต๊ะครูของผมท่านไม่มา จึงส่งให้ผมมาแทน .. แต่ผมก็ไม่ได้พูดอะไรในวันนั้น เพราะยังเป็นเด็กอยู่ และมีโต๊ะครูอาวุโสหลายท่านทำหน้าที่โต้กับหวะหมีดอยู่แล้ว ...
ตลอดเวลาในการโต้กับพวกโต๊ะครู หวะหมีดอ้างหลักฐานที่ว่าเนื้อกุรูบ่านให้คนต่างศาสนากินได้ก็เพราะ “ท่านนบีย์ไม่ได้ห้าม” ...
จนโต๊ะครูท่านหนึ่ง (ขอพระองค์อัลลอฮ์โปรดอภัยให้ท่านด้วย) อดรนทนไม่ได้ จึงถามหวะหมีดว่า .. ที่อ้างว่าท่านนบีย์ไม่ห้ามน่ะ เคยเห็นท่านนบีย์มาแล้วหรือ ? ...
จำได้ว่า หวะหมีดใช้มือตบพื้นดังผางแล้วกล่าวกับโต๊ะครูท่านนั้นว่า .. อ้าว ทำไมโต๊ะครูถามโง่ๆอย่างนี้ ผมถามโต๊ะครูมั่ง โต๊ะครูเชื่ออัลลอฮ์ไม๊ล่ะ ? ...
ถ้าโต๊ะครูเชื่อ แล้วโต๊ะครูเคยเห็นอัลลอฮ์แล้วเรอะ ? ...
โต๊ะครูท่านนั้นถึงกับนิ่งเงียบ ไม่พูดอะไรอีก ...
อีกหลายปีต่อมา เมื่อเรามีอุดมการณ์ศาสนาตรงกัน และผมเป็นนักบรรยายศาสนา หวะหมีดก็เป็นแฟนคลับคนหนึ่งของผม ...
คราวหนึ่ง ที่ ต.นาทับ ขณะผมนั่งคุยอยู่กับหวะหมีดรอเวลาขึ้นบรรยายต่อจาก อ.ชุอัยบ์ หวะหมีดพูดกับผมว่า .. หมูดเอ๊ย เสียดายที่เรามารู้จักกันช้าไป ถ้าฉันยังหนุ่มกว่านี้ มีหวังได้ลุยกันน่าดูชมเลย ...
หวะหมีดจากไปหลายสิบปีแล้วผมก็ยังไม่เคยลืมท่าน ...
อนุสรณ์ของท่านที่ทิ้งไว้ให้ผม นอกจากการช่วยฝากซื้อหนังสือ “تفسير المراغى” และหนังสือ “السنن والمبتدعات” ให้แล้ว หนังสือของท่านเองอีก 2 เล่มที่มอบให้ผมก่อนตายคือหนังสือ “الام” ของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์อันเป็นฉบับพิมพ์เก่าแก่ดั้งเดิมกว่า 50 ปีแล้ว ก็มีหนังสือ “الإبداع” ของท่านอะลีย์ มะห์ฟูศอีกเล่มหนึ่ง ...
เกริ่นเรื่องหวะหมีดไปนาน คราวนี้ขอวกเข้าเรื่อง การรับซะกาตฟิฏเราะฮ์เสียที ...
หวะหมีดเคยเล่าให้ผมฟังว่า ... ครั้งหนึ่ง เคยนำข้าวสารซะกาตฟิฏเราะฮ์ไปมอบให้กับคนยากจนแถวใกล้บ้านคนหนึ่ง ...
คนยากจนคนนั้นทำหน้าตาน่าสงสาร ถามหวะหมีดตรงๆว่า จะให้ผมรับอย่างไรล่ะ ผมรับไม่เป็น ...
หวะหมีดจึงกล่าวห้วนๆ(ประสาคนใต้) กับคนนั้นว่า .
บ้านเอ็งมีเผล้งสาร(ภาชนะใส่ข้าวสารทำด้วยดินเผา)ไหมล่ะ ? ...
เขาตอบว่า .. มีครับ ...
หวะหมีดจึงกล่าวต่อไปว่า .. งั้นเอ็งไปเอาเผล้งสารมา ..
.
เมื่อชายคนนั้นนำเผล้งสารมาให้ หวะหมีดก็ยื่นข้าวสารฟิฏเราะฮ์ให้เขาแล้วสั่งว่า ..
“เอ้า เอ็งเอาข้าวสารนี้เทใส่เผล้งของเอ็งซิ แล้วมันรับยากตรงไหนล่ะ ?” ...
ก็นั่นนะซิ ทำตามที่หวะหมีดว่า ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย ...
นิทาน(จริง)เรื่องนี้ ผมมานั่งวิเคราะห์ดูภายหลังก็พอจะสรุปได้ 2 ประการคือ ...
1. แสดงว่า คนยากจนคนนี้ไม่เคยได้รับข้าวสารฟิฏเราะฮ์มาก่อนเลยชั่วชีวิตของเขา
(ส่วนก่อนหน้านั้น ผู้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์จะนำซะกาตไปให้ใคร .. หรือทางมัสยิดจะปิดซะกาตฟิฏเราะฮ์เพื่อเอารายได้มาต่อเติมมัสยิดหรืออย่างไร ผมไม่ทราบ) ...
2. เขาเข้าใจ(ตามประสาชาวบ้านทั่วไป)ว่า การรับซะกาตฟิฏเราะฮ์จะต้องมี “พิธีรีตอง” ที่ยุ่งยากซึ่ง “ผู้รู้” หรือ “โต๊ะอิหม่าม, โต๊ะคอเต็บ, โต๊ะบิลาล” เท่านั้นที่ทำได้ และมีดุอาที่ “วายิบ” จะต้องอ่านซึ่งชาวบ้านธรรมดาๆอ่านและทำไม่เป็น ...
จบครับ ....

ปราโมทย์ ศรีอุทัย
2/6/62



เรื่องของวาทกรรม .. ทางเลือกระหว่างดอกไม้กับก้อนอิฐ



โดย .. อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย …

เรื่องของวาทกรรม (แกล้งพูดให้มันฟังดูโก้ๆไปงั้นเอง ความจริงก็คือ “คำพูด” นั่นแหละ) เป็นเรื่องของดาบสองคม ...
พูด “เรื่องเดียวกัน” แต่ใช้วาทกรรมหรือคำพูดต่างกัน ความรู้สึกของผู้รับฟังอาจแตกต่างกัน ..
สิ่งที่สะท้อนกลับมาจากผู้ฟังจึงอาจจะเป็นดอกไม้ก็ได้, เป็นก้อนอิฐก็ได้ ...
อย่างเมื่อไม่นานมานี้ นักวิชาการบางท่านพูดถึงอูละมาอฺ ..
ไม่มีใครปฏิเสธว่า สิ่งที่ท่านพูดนั้นถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ...
แต่ “วาทกรรม” ที่ท่านใช้พาดพิงถึงอูละมาอฺ ผู้ฟังรับไม่ได้ เพราะมันมีลักษณะเหมือนกับจะไม่ให้เกียรติอูละมาอฺ หรือเหมือนกับจะยกตนข่มท่านเกินไป (แม้คำพูดนั้นจะถูกต้องก็ตาม) ...
สิ่งที่สะท้อนกลับมาหาผู้พูด จึงเป็น “ก้อนอิฐ” ล้วนๆ ...
สมมุติถ้าผู้พูดจะใช้วาทกรรมอย่างอื่นที่นิ่มนวลกว่านี้กล่าวถึงอูละมาอฺหรือนักวิชาการ .. เช่นกล่าวว่า .. อูละมาอฺก็เป็นปุถุชน ย่อมมีผิดพลาดได้ .. อะไรทำนองนี้ อันมีความหมายเดียวกัน ...
กระแสสะท้อนกลับอาจไม่รุนแรงอย่างที่เห็น ...
การเลือกใช้วาทกรรมที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ...
ผมมีตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นคำพูดที่ส่งผลต่อความแตกต่างของความรู้สึกผู้ฟังในเรื่องเดียวกัน 3 เรื่องครับ ...
เรื่องที่หนึ่ง สามีจะเดินทางไปต่างจังหวัด จึงเข้ามาหอมแก้มแล้วบอกกับภรรยา (ซึ่งคงเพิ่งแต่งงานกันหมาดๆ)ว่า ...
“ผมไปต่างจังหวัด 7 วันนะที่รัก” ...
ถ้าภรรยาทำหน้าปรอยเศร้าแล้วกล่าวว่า .. “แหม พี่ไปตั้ง 7 วันเชียวเหรอ ?” ...
แสดงว่า “7 วัน” ในความรู้สึกของภรรยา มัน “นาน” เกินไปใช่ไหมครับ ...
แต่ถ้าภรรยากล่าวว่า “อ๋อ ไม่เป็นไรค่ะ ที่รัก แค่ 7 วันเอง” ..
อย่างนี้ แสดงว่า “7 วัน” ในความรู้สึกของภรรยา มันเป็นเวลา “สั้นๆ” มิใช่หรือครับ ...
เรื่องที่สอง สมมุติมีใครสักคนแสดงคำพูดเชิงอวิชา .. คือไม่ยอมเข้าใจคำพูดบางอย่างของเราจนเราทนไม่ไหว จึงกล่าวตำหนิเขาว่า ..
“ก็คุณ “ญาเฮ้ล” นี่” ...
กับถ้าเราใช้คำพูดกับเขาว่า ...
“ก็คุณ “ไม่รู้เรื่อง” นี่” ...
เชื่อไหมครับว่า ผู้ที่ถูกตำหนิด้วยคำว่า “ญาเฮ้ล” จะรู้สึกเจ็บปวดกว่าถูกตำหนิด้วยคำว่า “ไม่รู้” หลายเท่า ...
ทั้งๆที่คำว่า “ญาเฮ้ล” กับคำว่า “ไม่รู้” ความหมายก็ครือกันนั่นแหละ ..
เรื่องที่สาม มีเรื่องเล่าว่า ...
พระราชาองค์หนึ่ง รับสั่งให้โหรหลวงเข้าเฝ้า แล้วให้ทำนายทายทักดวงชะตาราศรีของพระองค์และลูกหลานของพระองค์ดู ...
โหรหลวงตรวจดูเลขผานาทีในกระดานชนวนแล้วก็กราบทูลว่า ...
“ข้าแต่พระราชา ข้าพระองค์ตรวจดูดวงชะตาแล้ว ขอเรียนทูลว่า ลูกหลานของพระองค์จะอายุสั้น ตายก่อนพระองค์ทุกคนพะยะค่ะ” ..
“อ้าว ไอ้ขบถ” พระราชาทรงพระพิโรธจนพระหนวดทรงพระกระดิก “เอ็งแช่งลูกหลานข้านี่หว่า เฮ้ย ทหาร เอาไอ้ขบถนี่ไปตัดหัว” ...
พระราชายังขุ่นพระทัยและติดใจไม่หาย จึงรับสั่งให้โหรมือรอง(เรียกถูกหรือเปล่าก็ไม่รู้) เข้ามาตรวจดูอีกคน ...
โหรคนที่สองตรวจดูแล้ว ผลการทำนายก็ออกมาเหมือนโหรคนแรกทุกประการ เพียงแต่จะกราบทูลยังไงถึงจะหัวไม่ขาด ดังตัวอย่างมีให้เห็นตำตาแล้ว ...
คิดอยู่นาน ในที่สุดโหรที่สองก็กลั้นใจทูลว่า ...
“ข้าแต่พระราชา ข้าพระองค์ตรวจดูดวงชะตาแล้ว ขอเรียนทูลว่า พระองค์จะมีพระชนมายุยืนนานกว่าลูกหลานทุกคนพะยะค่ะ” ...
“เออดี เอ็งให้พรข้านี่หว่า .. เฮ้ย เสนา ไปเอาเงินในท้องพระคลัง 100 ชั่งมามอบให้เจ้านี่เร็ว” ...
ท่านผู้อ่านลองคิดดูซิครับว่า คำทูลของโหรคนแรกที่ว่า “ลูกหลานของพระองค์จะอายุสั้น ตายก่อนพระองค์ทุกคน” .. กับคำทูลของโหรคนหลังที่ว่า .. “พระองค์จะมีพระชนมายุยืนนานกว่าลูกหลานทุกคน” ...
มันมีความหมายเดียวกันมิใช่หรือครับ ? ..
แต่ผลที่ได้รับ กลับต่างกันเหมือนฟ้ากับเหว ...
ขอยืนยันว่าผมเขียนเรื่องนี้ ไม่ได้มีเจตนาตำหนิผู้ใด แต่ต้องการให้เป็นอุทาหรณ์เตือนใจทุกท่านว่า ก่อนจะพูดเชิงวาทกรรมใดๆออกไป – แม้จะเป็นเรื่องถูกต้อง – ก็จงใคร่ครวญให้รอบคอบเสียก่อนว่าควรจะพูดอย่างไร, ใช้วาทกรรมแบบไหน จึงจะเหมาะสมหรือไม่ถูกตำหนิ ...
เว้นแต่ถ้าใครชอบก้อนอิฐมากกว่าดอกไม้ ก็ช่วยไม่ได้ครับ …

ปราโมทย์ ศรีอุทัย ...
3/6/62






หะดีษเรื่อง .. ท่านนบีย์รับรองการเห็นเดือนจากภายนอก




โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

มีหะดีษบทหนึ่งถูกรายงานโดยท่านอุมูมะฮ์ ร.ฎ. มีความหมายว่า ...
“เดือนเสี้ยวของเดือนเชาวาล (หมายถึงวันที่ 29 รอมะฎอนค่ำลง) ถูกก้อนเมฆปกคลุมแก่พวกเรา รุ่งขึ้นพวกเราจึงยังถือศีลดอดกัน (เพราะถือว่าเป็นวันที่ 30 เดือนรอมะฎอน) ต่อมาก็มีนักเดินทางกลุ่มหนึ่งขี่ม้ามาในตอนเย็น แล้วพวกเขาก็เป็นพยานยืนยัน ณ ที่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะอลัยฮิวะซัลลัมว่า พวกเขาเห็นเดือนเสี้ยวกันแล้วตั้งแต่เมื่อวาน(คือเมื่อหัวค่ำของคืนที่ผ่านมา) ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะอลัยฮิวะซัลลัม จึงมีคำสั่งให้พวกเขายุติการถือศีลอด และสั่งให้พวกเขาออกไปละหมาดอีดกันในวันรุ่งขึ้น” ...
หะดีษบทนี้ บันทึกโดยท่านอบูดาวูด, ท่านอะห์มัด, ท่านอัน-นซาอีย์, ท่านอิบนุมาญะฮ์, ท่านอิบนุหิบบาน และท่านอัล-บัยฮะกีย์ ...
ความหมายข้างต้น เป็นความหมายจากสำนวนของท่านอิบนุมาญะฮ์ ...
ผมขออนุญาตชี้แจงเกี่ยวกับหะดีษบทนี้ดังต่อไปนี้ ...
สถานภาพของหะดีษบทนี้ เป็นหะดีษหะซันครับ ...
หะดีษบทนี้ นอกจากจะเป็นหลักฐานว่าผู้ที่ไม่ทันละหมาดอีดในวันนี้ ก็ให้เขาละหมาดอีดในเช้าวันรุ่งขึ้นได้แล้ว ยังเป็นหลักฐาน “ยืนยัน” สิ่งที่ผมได้เขียนไปแล้วเมื่อวันก่อน 2 ประการคือ ...
(1). การตามการเห็นเดือนจากภายนอกหรือจากต่างประเทศเป็นสิ่งอนุญาตให้ทำได้ เพราะผมเขียนไปแล้วว่า ...
“เพราะไม่มีนักวิชาการแม้แต่ท่านเดียวกล่าวห้ามตามการเห็นเดือนต่างประเทศ” ...
(2). การแจ้งข่าวเห็นเดือนจากภายนอก จะต้องแจ้งผ่าน “องค์กรผู้นำ” ก่อนเท่านั้น ...
ถ้าผู้นำยอมรับ ผู้นำก็จะมีคำสั่งให้ประกาศให้ประชาชนปฏิบัติตามเอง ...
ผู้เห็นเดือนเองหรือแจ้งข่าวการเห็นเดือน จะประกาศต่อประชาชนให้ถือศีลอดหรือออกอีดก่อนการยอมรับของนำไม่ได้ ...
สมมุตินะครับ สมมุติถ้าหะดีษบทนั้นกล่าวว่า .. นักขี่ม้าเดินทางกลุ่มนั้นเข้ามาถึงก็ประกาศแก่ประชาชนว่า พวกเขาเห็นเดือนแล้วเมื่อหัวค่ำที่ผ่านมา ให้ประชาชนละศีลอดหรือยุติการถือศีลอดกันได้แล้ว เพราะวันนี้คือวันที่ 1 เดือนเชาวาลแล้ว ฯลฯ ...
อย่างนี้เราคงจะอ้างได้เต็มปากว่า หะดีษนี้คือหลักฐานให้เราถือศีลอดหรือออกอีดตามการเห็นเดือนจากภายนอกได้โดยอิสระ .. ไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้นำประกาศก่อน ...
แต่ข้อเท็จจริงกลับตรงกันข้ามกับสมมุติฐานข้างต้นอย่างที่ท่านผู้อ่านเห็น ...
ทั้งนี้ ก็เพราะหะดีษบทนั้นรายงานชัดเจนว่า กลุ่มผู้เห็นเดือนได้นำข่าวเห็นเดือนนั้น “มาแจ้งแก่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะอลัยฮิวะซัลลัม ก่อนอื่น” ..
ไม่มีพวกเขาคนใดไปประกาศโดยพลการให้ประชนออกอีด .. ก่อนการยอมรับของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะอลัยฮิวะซัลลัม ...
ผมเองไม่เคยเจอหลักฐานแม้แต่บทเดียว – ไม่ว่าในยุคของท่านศาสดาหรือยุคของคอลีฟะฮ์ท่านใด - ว่า จะมีผู้เห็นเดือนคนใดประกาศแจ้งข่าวการเห็นเดือนของตนแก่ประชาชนให้ปฏิบัติตามได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านองค์กรผู้นำก่อน ...
ถ้าท่านผู้ใดเคยอ่านเจอหลักฐานดังกล่าวก็โปรดแจ้งให้ผมรับทราบบ้างเพื่อเป็นวิทยาทาน จะขอบพระคุณมาก ...
ยิ่งไปกว่านั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยท่านคอลีฟะฮ์อุมัรฺ ร.ฎ. ก็ยิ่ง “ตอกย้ำ” ข้อเขียนของผมมากยิ่งขึ้น ...
เพราะ .. มีบันทึกรายงานบทหนึ่งมาจากท่าน มะอฺมัรฺ, จากท่านอบู กิลาบะฮ์ ซึ่งกล่าวว่า
“ชาย 2 คนได้เห็นเดือนเสี้ยว (ของเดือนเชาวาล) ในขณะเดินทาง และเขาทั้งสองก็มาถึงนครมะดีนะฮ์ในยามสายของวันรุ่งขึ้น, (ขณะที่ประชาชนกำลังถือศีลอดอยู่ และไม่มีผู้ใดออกอีดกัน เพราะไม่มีผู้ใดเห็นเดือนเสี้ยวในคืนที่ผ่านมานั้น) .. ต่อมาเขาทั้งสองก็บอกเรื่องการเห็นเดือนแก่ท่านอุมัรฺ อิบนุล ค็อฏฏอบ ร.ฎ. ท่านอุมัรฺจึงถามชายคนหนึ่งจากสองคนนั้นว่า .. “ท่านถือศีลอดหรือ?” ชายผู้นั้นก็ตอบว่า .. “ครับ, ผมไม่ชอบที่คน (ส่วนใหญ่) ถือศีลอดกันแล้วผมไม่ถือ, และผมก็ไม่ชอบที่จะ (ทำอะไรให้) ขัดแย้งกับประชาชน (ส่วนใหญ่) ด้วย” .. ท่านอุมัรฺจึงหันไปถามอีกคนว่า .. “แล้วท่านล่ะ?” ชายผู้นั้นก็ตอบว่า .. “ผมก็ไม่ถือศีลอดนะซี เพราะผมเห็นเดือนเสี้ยว (ของวันอีด) แล้วนี่” ท่านอุมัรฺจึงกล่าวแก่ชายผู้นั้นว่า .. “ถ้าไม่เพราะมีนายคนนี้ (ร่วมเห็นเดือน) ด้วยละก็ ฉันก็จะบ้อมกะโหลกแก และก็จะปฏิเสธ (คือไม่รับข้ออ้าง) การเห็นเดือนของแกด้วย” ..
ต่อจากนั้น ท่านอุมัรฺ ก็มีคำสั่งให้ประชาชนละศีลอด (และออกอีด)” ...
(บันทึกโดย ท่านอิบนุหัสม์ ในหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” เล่มที่ 3 ส่วนที่ 6 หน้า 238 และท่านสะอีด บิน มันศูรฺ ... ดังการอ้างอิงในหนังสือ “อัล-อัซอิละฮ์ วัล-อัจญ์วิบะฮ์” ของท่านเช็คอับดุลอะซีซ มุหัมมัด ซัลมาน เล่มที่ 2 หน้า 137) ...
ขนาดชายผู้นั้นเห็นเดือนเสี้ยว “ด้วยตาตัวเอง” แล้วออกอีด (ซึ่งก็เป็นเรื่องถูกต้องสำหรับเขาในกรณีนี้) ..
แต่ท่านอุมัรฺ ร.ฎ. กลับโกรธที่เขารีบด่วนออกอีดก่อนมาแจ้งให้ท่านทราบและก่อนประกาศของท่าน .. ถึงขนาดกล่าวว่าจะบ้อมกะโหลกเขา ...
แล้ว .. การรีบด่วนออกอีดเพราะแค่ “รับฟังข่าว” การเห็นเดือนเสี้ยวจากที่อื่นอย่างที่มีการปฏิบัติกันอยู่ ...
ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ถ้าเกิดขึ้นในสมัยท่านอุมัรฺ ท่านอุมัรฺจะโกรธขนาดไหน ? ...
สรุปแล้ว หะดีษบทข้างต้นนี้จึงไม่ใช่หลักฐานอนุญาตให้ถือศีลอดหรือออกอีดตามการเห็นเดือนของต่างประเทศโดยอิสระ ...
แต่หะดีษบทนี้ คือหลักฐาน “ยืนยัน” สิ่งที่ผมได้เขียนไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า การถือศีลอดและออกอีดตามการเห็นเดือนต่างประเทศ อนุญาตให้ทำได้ .. แต่ต้องผ่านการยอมรับจากผู้นำของอิสลามในประเทศของตนเองเสียก่อน ...
ส่วนการที่มีบางท่านกล่าวว่า ท่านจุฬาราชมนตรี ไม่ใช่ผู้นำมุสลิมในประเทศไทย แต่เป็นเพียงที่ปรึกษาขององค์พระมหากษัตริย์ในเรื่องของศาสนาอิสลามตามกฎหมายเท่านั้น ...
อันนั้น เป็นสิทธิ์ส่วนตัวของท่านที่จะเชื่อหรือเข้าใจเช่นนั้น ...
แต่ผมมั่นใจว่า มีมุสลิมในประเทศไทยกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ที่ยอมรับว่า ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคือตำแหน่งผู้นำอิสลามในประเทศไทยครับ ...
ในพ.ร.บ. การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ปี พ.ศ. 2540 มีบัญญัติเอาไว้ว่า ...
หมวด ๑ บททั่วไป มาตรา ๖ : พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีคนหนึ่ง เพื่อเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย ...
และในมาตรา ๘ (๓) : จุฬาราชมนตรีมีอำนาจหน้าที่ออกประกาศแจ้งผลการดูดวงจันทร์ตามมาตรา ๓๕ (๑๑) เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา ...
เพราะฉะนั้น หากใครจะไม่ยอมรับจุฬาราชมนตรีว่าเป็นผู้นำมุสลิมในประเทศไทย โดยถือว่า กฎหมายที่แต่งตั้งท่านไม่ใช่เป็นกฎหมายอิสลาม ...
ท่านก็ต้องปฏิเสธทุกตำแหน่งของมุสลิมในประเทศไทย ไม่ว่าตำแหน่งกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย, ตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำจังหวัด, ตำแหน่งอิหม่าม, คอเต็บ, บิลาล ...
เพราะทุกๆตำแหน่งเหล่านี้ ล้วนมีที่มาจากกฎหมายฉบับเดียวกันครับ ..

ปราโมทย์ ศรีอุทัย
7/6/62







ทำไมผมจึงเลือกออกอีดิ้ลฟิฏรีตามจุฬาฯ





....
โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ประมาณหลังเที่ยงคืนวันนี้ (4 มิถุนายน 2562) จนเกือบเช้า มีคนจำนวนมากโทรถามมาว่า จะให้ออกอีดตามจุฬาฯหรือจะตามซาอุฯดี ? ...
ผมตอบว่า เป็นสิทธิ์ของท่านที่จะเลือกตามใคร ...
แต่สำหรับผม ขอเลือกออกอีดตามคำประกาศของท่านจุฬาราชมนตรีครับ ...
สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ ไม่ได้เขียนเพื่อหักล้างความเชื่อของใคร และไม่ได้คัดค้านสิทธิ์ในการออกอีดตามซาอุฯของใคร ...
แต่เป็นเหตุผลส่วนตัวของผมที่ขอเลือกออกอีดตามประกาศของท่านจุฬาฯ (ซึ่งอาจแตกต่างกับเหตุผลของผู้ที่ออกอีดตามซาอุฯ) ...
เหตุผลที่ผมเลือกออกอีดตามประกาศสำนักจุฬาฯ ในวันพรุ่งนี้ มีดังนี้ ...
1. เพราะไม่เชื่อ “ข่าว” การเห็นเดือนภายในประเทศไทย ...
2. เพราะการออกอีดตามประกาศผู้นำมุสลิมในประเทศ (คือท่านจุฬาราชมนตรี) สอดคล้องกับหลักฐานจากหะดีษในทุกมิติ ...
รายละเอียดของทั้ง 2 กรณี มีดังต่อไปนี้ ...
(1). ผมไม่เชื่อ “ข่าว” การเห็นเดือนภายในประเทศไทยเมื่อคืน .. เช่นมีข่าวเห็นเดือนที่ภูเก็ต, ที่เชียงใหม่ และที่อื่นอีกบางแห่ง ...
เหตุผลที่ผมไม่เชื่อข่าวการเห็นเดือนในประเทศ เพราะ ...
ก. การอ้างเห็นเดือนเสี้ยวเมื่อคืน ขัดแย้งกับคำนวณดาราศาสตร์ “ทุกสำนัก” ในประเทศไทยที่รายงานตรงกันว่า เมื่อคืนประเทศไทยไม่สามารถเห็นเดือนเสี้ยวได้ ...
ข. เพราะข่าวการเห็นเดือนนั้น ขาดความน่าเชื่อถือตามหลักการ ...
ขออธิบายเพิ่มเติมนิดหนึ่งว่า .. เชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงได้ยินคำว่า “วันชักก์” (يوم الشك หรือวันแห่งความสงสัย) อันเป็นวันที่ท่านศาสดาห้ามถือศีลอด ...
คำถามคือ “วันชักก์” คือวันอะไร ? ...
นักวิชาการได้ให้คำนิยามของคำว่าวันชักก์ (يوم الشك ) แตกต่างกัน แต่ที่ผมเห็นว่าน่าจะใกล้เคียงต่อความถูกต้องที่สุดก็คือ คำนิยามในหนังสือ “الباجورى” อันเป็นตำราฟิกฮ์มัษฮับชาฟิอีย์ มีข้อความว่า ...
“วันชักก์ (يوم الشك) ก็คือ วันที่ 30 เดือนชะอฺบาน .. เมื่อในคืนนั้นไม่มีการ(แจ้งข่าว)เห็นเดือนเสี้ยว ทั้งๆที่อากาศโปร่ง แต่ประชาชนมาวิพากษ์วิจารณ์กันว่า มีการเห็นเดือนเสี้ยว” ...
(ดูหนังสือ “อัล-บาญูรีย์” เล่มที่ 1 หน้า 295) ...
อย่างเมื่อคืนที่ผ่านมา ได้ข่าวว่ามีผู้เห็นเดือนเสี้ยวที่ภูเก็ตบ้าง, ที่เชียงใหม่บ้าง, ที่จังหวัดอื่นๆบ้าง ...
ปัญหาก็คือ ผู้ที่อ้างว่าเห็นเดือนเสี้ยวนั้นคือใคร ?, เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง, เป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิม, เป็นผู้มีคุณธรรมพอที่จะเชื่อถือคำพูดของเขาหรือไม่ ?, และเขาไปแจ้งยืนยันการเห็นเดือนของเขาต่อประธานกรรมการจังหวัดที่ตนเองอยู่หรือไม่ ? ...
ข้อสงสัยดังกล่าวนี้ ไม่ปรากฏมีคำตอบหรือข้อยืนยันจากผู้ใดเลย ...
ปรากฏการณ์ “ข่าวลือ” ดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นในปลายเดือนรอมะฎอน จึงมีลักษณะคล้ายๆกับวันชักก์ของปลายเดือนชะอฺบานดังคำนิยามข้างต้น .. 
คือไม่แน่นอน, ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือตามหลักการ ...
และนี่คือเหตุผลที่ผมไม่ยอมรับ “ข่าวลือ” เรื่องการเห็นเดือนเสี้ยวในประเทศเมื่อคืน ...
(2). เพราะผมถือว่า การออกอีดตามประกาศผู้นำมุสลิมในประเทศของเราเอง สอดคล้องกับหลักฐาน .. ทั้งจากหะดีษ, จากคำอธิบายของนักวิชาการหะดีษทั้งอดีตและปัจจุบันในทุกมิติ อาทิเช่น ...
1. ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองมดีนะฮ์ ปฏิเสธที่จะออกอีดตามการเห็นเดือนเสี้ยวของท่านมุอาวิยะฮ์ที่เมืองชาม ตามการเสนอแนะของท่านกุร็อยบ์ ...
นักวิชาการผู้บันทึกหะดีษกุร็อยบ์เกือบทั้งหมด ไม่ว่าท่านมุสลิม, ท่านอัน-นซาอีย์, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ เป็นต้น กล่าวสอดคล้องกันว่า หะดีษบทนี้คือหลักฐาน “อนุญาตให้แต่ละเมือง มีสิทธิ์ดูเดือนเสี้ยวของตนเองได้” ...
2. ท่านอัต-ติรฺมีซีย์กล่าวว่า .. มีการปฏิบัติกันตามหะดีษบทนี้(หะดีษกุร็อยบ์) สำหรับบรรดานักวิชาการ นั่นคือ สำหรับชาวเมืองใด ก็ให้พวกเขาดูเดือนของพวกเขาเอง (จบคำพูดของท่านอัต-ติรฺมีซีย์) ..
ท่านเจ้าของหนังสืออัล-มันฮัลฯ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า .. นี่คือ สิ่งที่เหมาะสมที่สุด เพราะประชาชนทุกๆกลุ่ม จะถูกสั่งให้เห็นเดือนเสี้ยวของพวกเขาเอง ดังนั้น ชาวอียิปต์ ก็ไม่จำเป็นต้องตามการเห็นเดือนของชาวมักกะฮ์, และชาวมอร็อคโค ก็ไม่จำเป็นต้องตามการเห็นเดือนของชาวอียิปต์ เป็นต้น” ..
3. ท่านมุสลิมกล่าวว่า .. “บทว่าด้วยการอธิบายว่า สำหรับแต่ละเมือง ก็ให้ชาวเมืองดูเดือน (เพื่อกำหนดวันถือศีลอดและวันออกอีด) ของตนเอง, .. และเมื่อพวกเขาเห็นเดือนเสี้ยว หุก่มการเห็นเดือนของพวกเขา (คือวาญิบถือศีลอดหรือวาญิบออกอีด) ก็จะเป็นที่กำหนดสำหรับเมืองอื่นที่อยู่ห่างไกลจากพวกเขาไม่ได้” ...
ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ (สิ้นชีวิตปีฮ.ศ. 676)ได้กล่าวในการอธิบายการตั้งชื่อบทหะดีษของท่านมุสลิมข้างต้นว่า ...
“ในบทนี้ มี (กล่าวถึง) หะดีษของท่านกุร็อยบ์, จากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ..ซึ่งหะดีษบทนี้ ชัดเจนในการสื่อความหมายของการตั้งชื่อบท” ...
(จากหนังสือ “ชัรฺหุมุสลิม” ของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ เล่มที่ 7 หน้า 197)
4. ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “ฟัตหุ้ลบารีย์” เช่นกันว่า หะดีษกุร็อยบ์คือหลักฐานบ่งชี้เรื่องอนุญาตให้แต่ละเมือง มีสิทธิ์ดูเดือนเสี้ยวของตนเองได้ ... 
5. ท่านอิบนุตัยมียะฮ์ ได้กล่าวในหนังสือ “มัจญมุอฺ อัล-ฟะตาวีย์” เล่มที่ 25 หน้า 114 ของท่าน มีความหมายว่า การถือศีลอดและการออกอีดตามผู้นำในประเทศของตนเอง เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับหลักฐานมากที่สุด ...
6. นักวิชาการระดับโลกในกลุ่มประเทศอาหรับยุคปัจจุบันทั้งหมด เช่นท่านเช็คบินบาส, ท่านเช็คอุษัยมีน, ท่านเช็คเฟาซาน, ท่านเช็คอัล-อัลบานีย์, ท่านเช็คมุนัจญิด เป็นต้น ให้คำฟัตวา “ตรงกัน” ว่า มุสลิมที่อยู่ในประเทศใด ให้ถือบวชและออกอีดตามผู้นำและพร้อมกับประชาชนในประเทศของตนเอง .. ไม่จำเป็นต้องไปตามการดูเดือนเสี้ยวของประเทศซาอุฯหรือประเทศอื่นใดทั้งสิ้น ...
7. พระดำรัสของพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ในเรื่องการถือศีลอดที่มีความหมายว่า .. “พระองค์อัลลอฮ์ทรงประสงค์จะให้เกิดความสะดวกแก่พวกเจ้า และพระองค์ไม่พึงประสงค์จะให้เกิดความยากลำบากแก่พวกเจ้า” ...
ผมมองว่า การที่เราได้รับข่าวการดูจันทร์เสี้ยว (ไม่ว่าจะเห็นหรือไม่เห็น) หลังจากพระอาทิตย์ตกดินไม่นาน นั่นคือ “ความสะดวก” ที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงมอบให้มุสลิมในการดูเดือน ...
ส่วนการนั่งถ่างตา คอยติดตามข่าวการดูเดือนจากประเทศนั้นประเทศนี้จากวิทยุหรืออินเตอร์เน็ตจนเลยเที่ยงคืนหรือเกือบรุ่ง - แถมสุดท้าย บางครั้งก็ไม่มีข่าวเห็นเดือนอีก - ผมว่า นั่นคือส่วนหนึ่งของ “ความยากลำบาก” ที่พระองค์อัลลอฮ์ไม่พึงประสงค์จะให้มีแก่พวกเราในการถือศีลอด .. ตามนัยยะของโองการข้างต้นนี้ ...
ส่วนกรณีของญุมฮูรฺหรือนักวิชาการส่วนใหญ่ทั้ง 3 มัษฮับ (ได้แก่มัษฮับหะนะฟีย์, มัษฮับมาลิกีย์ และมัษฮับหัมบะลีย์) นั้น ผมตรวจสอบดูแล้ว พบว่า สำหรับพวกท่านในเรื่องการดูเดือนเสี้ยว จะมี 2 ประเด็นด้วยกันคือ ...
1. ทัศนะ
2. เงื่อนไข
“ทัศนะ” ของญุมฮูรฺก็คือ ที่ใดในโลกนี้เห็นเดือนเสี้ยว ก็ให้ประเทศอื่นๆ – ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล - จำเป็นจะต้องถือบวชออกบวชตามประเทศที่เห็นนั้น ...
ส่วน “เงื่อนไข” ของญุมฮูรฺเกี่ยวกับการตามการเห็นเดือนเสี้ยวของต่างประเทศก็คือ .. ต้องมีการแจ้งข่าวอย่าง “เป็นทางการ” (หมายถึงมีพยานที่มีคุณธรรม) จากประเทศที่เห็น มายังผู้นำประเทศที่ไม่เห็น และผู้นำอิสลามในประเทศที่ไม่เห็นยอมรับ แล้วประกาศให้ประชาชนในประเทศของตนปฏิบัติตาม ...
(ดูข้อมูลจากหนังสือ “ฟิกฮ์ 4 มัษฮับ” เล่มที่ 1 หน้า 500, หนังสือ “อัล-มันฮัลฯ” เล่มที่ 10 หน้า 51, และหนังสือ “อัล-ฟิกฮุ้ลอิสลามีย์” เล่มที่ 2 หนน้า 606) ...
แต่หากมีเพียงรับฟังการแจ้ง “ข่าว” (ไม่ว่าจากทางวิทยุ, อินเตอร์เน็ต หรือทางไหนก็ตาม) ว่า ประเทศนั้นประเทศนี้มีการเห็นเดือน ถือว่านั่นเป็นเพียง “ข่าว” ที่ไม่วายิบต้องปฏิบัติตาม ...
(ดูข้อมูลจากหนังสือ “อัล-ฟิกฮุ้ลอิสลามีย์” เล่มที่ 2 หนน้า 606) ...
สรุปว่า เรื่อง “ตามการเห็นเดือนต่างประเทศ” ตามทัศนะญุมฮูรฺนั้นไม่ใช่ปัญหา เพราะไม่มีนักวิชาการแม้แต่ท่านเดียวกล่าวว่าห้ามตามการเห็นเดือนต่างประเทศ ...
แต่ปัญหาก็คือ “วิธีการ” ตามการเห็นเดือนต่างประเทศนั้น ญุมฮูรฺกำหนดให้ตามการเห็นเดือนต่างประเทศอย่างไร ? ...
ตามได้ “โดยอิสระ” อย่างที่มีการปฏิบัติกันในประเทศไทย ? ..
หรือตามได้โดย “ต้องผ่านการยอมรับขององค์กรผู้นำอิสลามในประเทศของตนเอง” ? ...
คำตอบที่ถูกต้องก็คือ “ข้อหลัง” .. ดังข้อมูลที่ผ่านมาแล้ว ....
เพราะฉะนั้น การที่ผมไม่ตามการเห็นเดือนเสี้ยวจากต่างประเทศ ผมถือว่าผมทำถูกต้องตามเงื่อนไขของญุมฮูรฺแล้ว ...
เพราะที่ผ่านมาทุกครั้งและทุกปี เรื่องการเห็นเดือนจากต่างประเทศล้วนเป็นเพียง “ข่าว” จากอินเตอร์เน็ตเท่านั้น ...
ไม่เคยปรากฏมีผู้น่าเชื่อถือคนใดจากประเทศที่เห็นเดือนมาแจ้งข่าวการเห็นเดือนแก่ผู้นำมุสลิมของเราในประเทศไทย – ตามเงื่อนไขของญุมฮูรฺ - แม้แต่ครั้งเดียว ...
การที่ผมไม่ปฏิบัติตามการเห็นเดือนทางอินเตอร์เน็ต ไม่ใช่ผมไม่เชื่อข่าวการเห็นเดือนจากอินเตอร์เน็ต ..
เหมือนอย่างที่ท่านอิบนุอับบาสปฏิเสธข้อเสนอของท่านกุร็อยบ์ ก็มิใช่เพราะท่านไม่เชื่อคำบอกเล่าของท่านกุร็อยบ์เรื่องการเห็นเดือนของท่านมุอาวิยะฮ์ที่เมืองชาม ...
ท่านอิบนุอับบาส เชื่อคำบอกเล่าของท่านกุร็อยบ์สนิทใจครับ ..
แต่ท่านอิบนุอับบาสกล่าวว่า การที่ท่านไม่ทำตามข้อเสนอแนะของท่านกุร็อยบ์ เพราะ “ท่านปฏิบัติตามคำสั่งของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม” ...
และนี่จึงเป็นที่มาของวาทกรรมที่ว่า .. เรื่องการดูเดือน เป็นเรื่องประเทศใครประเทศมัน 
ผมก็เห็นจะต้องกล่าวเช่นเดียวกันว่า ที่ผมไม่ตามข่าวการเห็นเดือนจากต่างประเทศทางอินเตอร์เน็ต เพราะผมปฏิบัติตามคำสั่งของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ได้สั่งท่านอิบนุอับบาสไว้ ......
สรุปแล้ว ไม่ว่าจะพิจารณาจากแง่มุมไหน ผมถือว่า การเริ่มถือบวชรอมะฎอนและออกอีดฟิฏรี่ตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี เป็นสิ่งที่มีน้ำหนักแห่งความถูกต้องและสอดคล้องกับหะดีษทุกบทที่มีรายงานมาเกี่ยวกับเรื่องนี้มากที่สุดครับ ...
ขอเรียนอีกครั้งว่า ข้อมูลทั้งหมดข้างต้นผมไม่ได้นั่งเทียนเขียน แต่ล้วนเอามาจากอูละมาอฺทั้งสิ้น และข้อเขียนข้างต้นก็เป็นเหตุผลส่วนตัวของผม .. ไม่ได้พาดพิงถึงใครและไม่ได้หักล้างทัศนะหรือความเชื่อของใครทั้งสิ้น โปรดเข้าใจตามนี้ด้วย ...
วัลลอฮุ อะอฺลัม …

ปราโมทย์ ศรีอุทัย
4/6/62