อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์
พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า
(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น
(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...
อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย
ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่
1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000
2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660
3. Facebook
4. เว็บไซต์
http://pramote-sriutai.blogspot.com
5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com
วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2559
หลักเกณฑ์ในการละหมาดย่อ-รวม
Q: อัสลามมูอาลัยกุม อาจารย์ครับ ขอทราบหลักเกณฑ์ของการละหมาด ย่อ รวม ว่ามีหลักการอย่างไร กรณีใดบ้าง
---------------------------------
ตอบ อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย
.
A: วะอลัยกุมุสสลาม ..
.
เรื่องละหมาดย่อ คือละหมาดประเภท 4 ร็อกอะฮ์ เราทำเพียง 2 ร็อกอะฮ์ เป็นบทบัญญัติเฉพาะคนเดินทางเท่านั้น คนอยู่บ้านไม่มีสิทธิ์ทำละหมาดย่อไม่ว่าในกรณีใดๆ
.
ส่วนละหมาดรวม คือละหมาดสองเวลา เรามาทำรวมกันในเวลาใดเวลาหนึ่ง เป็นเพียง "ข้อผ่อนผัน" สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกที่จะทำแต่ละละหมาดในเวลาของมัน ศาสนาจึงอนุโลมให้เขาทำละหมาด 2 คู่คือละหมาดซูอ์รี่กับละหมาดอัศรี่คู่หนึ่ง, ละหมาดมัคริบกับละหมาดอิชาอ์อีกคู่หนึ่ง ในเวลาใดเวลาหนึ่งของคู่ของมัน ละหมาดรวมจึงสามารถกระทำได้ ไม่ว่าคนอยู่ที่บ้านหรือคนเดินทางถ้าจำเป็น ..
.
ที่ผมพูดว่าละหมาดรวม "เป็นข้อผ่อนผัน" ถ้าจำเป็นไม่ว่าคนอยู่บ้านหรือคนเดินทางก็เพราะพื้นฐานการละหมาดเป็นบทบัญญัติที่ "ถูกกำหนดเวลาชัดเจน" สำหรับผู้ศรัทธา หมายความว่า ตามปกติ เราจะทำละหมาดใดๆก่อนเวลาของมันหรือหลังเวลาของมันไม่ได้ เหมือนกับการรับประทานเนื้อหมูซึ่งปกติก็เป็นเรื่องต้องห้าม แต่ถ้าฉุกเฉิน ศาสนาก็ "ผ่อนผัน" ให้เรารับประทานได้ เรื่องการละหมาดก็เช่นเดียวกันคือ ถ้า "จำเป็น" หรือไม่สะดวกจะทำละหมาดในเวลาของมัน ตัวอย่างเช่น แพทย์ผ่าตัดซึ่งต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงผ่าตัดคนไข้จนละทิ้งคนไข้ที่กำลังผ่าตัดไปละหมาดเมื่อถึงเวลาไม่ได้, หรือคนทำงานเกี่ยวกับการซ่อมเครื่องยนตร์ซึ่งเนื้อตัวมอมแมมน้ำมันเครื่องตลอดเวลา จะอาบน้ำทุกครั้งเมื่อถึงเวลาละหมาดก็ไม่สะดวก, หรือคนป่วยหนักที่ไม่สะดวกในการทำละหมาดในเวลาของมัน ฯลฯ ศาสนาก็ "ผ่อนผัน" ให้เขาละหมาดรวมได้ ..
.
สรุปแล้วหลักเกณฑ์เรื่องละหมาดรวมกับละหมาดย่อจึงแตกต่างกันคือ
"ละหมาดย่อเพราะเดินทาง ละหมาดรวมเพราะจำเป็น" ..
หมายความว่า คนอยู่บ้านละหมาดรวมได้ (ถ้าจำเป็น)แต่จะละหมาดย่อไม่ได้ เหมือนกับคนเดินทางทำละหมาดย่อได้ แต่จะละหมาดรวมไม่ได้ถ้าไม่จำเป็น
.
ซึ่งเรื่องนี้ นักวิชาการหลายท่านยังเข้าใจผิดว่า หลักเกณฑ์ของละหมาดย่อและละหมาดรวมสำหรับคนเดินทางแล้ว เหมือนกัน ..
คือถ้าออกเดินทางเมื่อไรก็สามารถละหมาดทั้ง "ย่อ" และ "รวม" ได้ทันที โดยไม่คำนึงว่า ตอนจะทำละหมาดรวมนั้น มีความจำเป็น เช่น รีบด่วนในการเดินทางหรือไม่ เป็นต้น ..
.
ส่วนรายละเอียดและเงื่อนไขอื่นๆของละหมาดย่อและละหมาดรวม คุณต้องศึกษาเพิ่มเติมจากตำราหรือจากท่านผู้รู้ก็ได้ครับ
วัลลอฮุ อะอฺลัม .
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น