อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2559

นมาซตะหี้ยะตุ้ลมัสญิดรวมกับนมาซสุนัตก่อนฟัรฺฎู ได้หรือไม่ ?.


โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

การนมาซตะหี้ยะตุ้ลมัสญิด หมายถึงการนมาซเพื่อเป็นการเคารพหรือให้เกียรติแก่มัสญิดในทุกครั้งที่เข้าไปในมัสญิด ก่อนที่จะนั่งลง ....
ไม่เคยปรากฏมีข้อความด้วยคำว่า الْمَسْجِدِ تَحِيَّةِ صَلاَةُ หรือ “นมาซตะหี้ยะตุ้ลมัสญิด” ในสำนวนของหะดีษบทใดที่สั่งให้มีการนมาซเมื่อเข้าไปในมัสญิด, .. เหมือนๆกับไม่เคยปรากฏคำว่า “นมาซตะรอเวี๊ยะห์” ในสำนวนของหะดีษบทใดในเรื่องการนมาซยามค่ำคืนของเดือนรอมะฎอน ....
ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม เคยแต่เพียงสั่งว่า “เมื่อพวกท่านคนใดเข้าไปในมัสญิด ก็ให้เขานมาซ 2 ร็อกอะฮ์ก่อนที่เขาจะนั่งลง” .. หรืออีกสำนวนหนึ่งก็คือ “เมื่อพวกท่านคนใดเข้าไปในมัสญิด ก็อย่าเพิ่งนั่งลงจนกว่าจะนมาซ 2 ร็อกอะฮ์เสียก่อน” ...
แล้วนักวิชาการก็มาวิเคราะห์ดูว่า ทำไมท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จึงมีคำสั่งให้นมาซทุกครั้งเมื่อเข้าไปในมัสญิด ? ......
คำตอบก็คือ มิใช่เพื่ออื่นใดนอกจากเพื่อเป็นการให้เกียรติและแสดงความเคารพต่อสถานที่อันทรงเกียรตินี้, เพราะเจตนารมณ์ที่แท้จริงที่ได้ให้มีการสร้างมัสญิดขึ้นมา ก็เพื่อมุ่งเน้นการนมาซเป็นหลักใหญ่, ดังนั้น สิ่งแรกสุดที่ต้องกระทำเมื่อเข้าไปในมัสญิดก็คือ “การนมาซ” เพื่อเป็นการให้เกียรติสถานที่.... (ซึ่งโดยรูปการณ์จะเป็นนมาซอะไรก็ได้ สุดแต่เงื่อนไขของเวลาที่เข้าไปในมัสญิดแต่ละครั้ง ถือว่าเป็นการเคารพและให้เกียรติมัสญิดทั้งนั้น) ... ดังจะได้อธิบายต่อไป ......
หะดีษเกี่ยวกับเรื่องการนมาซตะหี้ยะตุ้ลมัสญิด มีรายงานมาจากเศาะหาบะฮ์หลายท่าน อาทิเช่น ท่านเกาะตาดะฮ์ บิน ริบอีย์ อัล-อันศอรีย์, ท่านญาบิรฺ บิน อับดุลลอฮ์, ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ , ท่านอบู ซัรฺร์ อัล-ฆิฟารีย์ ร.ฎ. เป็นต้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ......
หะดีษบทที่ 1 .. ท่านอบู เกาะตาดะฮ์ บิน ริบอีย์ ร.ฎ. ได้กล่าวว่า ... ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ...
اِذَادَخَلَ اَحَدُكُمُ الْمَسْجِدَ فَلْيَرْكَعْ رَكْعَتَيْنِ قَبْلَ اَنْ يَجْلِسَ ...
“เมื่อพวกท่านคนใดเข้าไปในมัสญิด ก็ให้เขานมาซ 2 ร็อกอะฮ์ก่อนที่จะนั่งลง”.....
(บันทึกโดย ท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 1163, ท่านมุสลิม หะดีษที่ 69/714, ท่านอบูดาวูด -หะดีษที่ 467, ท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 729, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 316, ท่านอิบนุมาญะฮ์, หะดีษที่ 1013, และท่านผู้บันทึกหะดีษท่านอื่นๆอีก)
และในสำนวนของท่านอบูดาวูด มีข้อความจากคำกล่าวของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมเพิ่มเติมว่า .....
( ثُمَّ لِيَقْعُدْ بَعْدُ اِنْ شَآءَ، اَوْ لِيَذْهَبْ لِحَاجَتِهِ )
.....“แล้วหลังจากนั้น หากเขาต้องการจะนั่งก็ให้เขานั่ง, หรือเขาต้องการจะไปธุระที่ไหนก็ให้เขาไป” ......
และในบันทึกของท่านมุสลิม (หะดีษที่ 70/714) จากการรายงานของท่านอัมร์บิน สุลัยม์,- จากท่านเกาะตาดะฮ์ มีรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาของหะดีษนี้ ดังนี้ .....
หะดีษบทที่ 2 .. ท่านเกาะตาดะฮ์ บิน ริบอีย์ ร.ฎ. ได้เล่าว่า ....
دَخَلْتُ الْمَسْجِدَ وَرَسُوْلُ اللَّـهِ صَلَّي اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ جَالِسٌ بَيْنَ ظَهْرَانِي النَّاسِ، قَالَ : -- فَجَلَسْتُ، فَقَالَ رَسُوْلُ اللَّـهِ صَلَّي اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : " مَامَنَعَكَ اَنْ تَرْكَعَ رَكْعَتَيْنِ قَبْلَ اَنْ تَجْلِسَ ؟" قَالَ : فَقُلْتُ : يَارَسُوْلَ اللَّـهِ ! رَأَيْتُكَ جَالِسًا، وَالنَّاسُ جُلُوْسٌ، قَالَ : -"فَإِذَا دَخَلَ اَحَدُكُمُ الْمَسْجِدَ ، فَلاَ يَجْلِسْ حَتَّي يَرْكَعَ رَكْعَتَيْنِ " .......
“ฉันเข้าไปในมัสญิด ขณะที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม นั่งอยู่ท่ามกลางวงล้อมของประชาชน, (ท่านเกาะตาดะฮ์กล่าวว่า) ฉันจึงนั่งลง, ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมจึงกล่าวว่า “ท่านขัดข้องอย่างใดหรือจึงไม่ทำนมาซ 2 ร็อกอะฮ์ก่อนที่จะนั่งลงน่ะ?” .... ฉันจึงตอบว่า “โอ้ ท่านรอซู้ลุลลอฮ์! ก็ฉันเห็นท่านกำลังนั่งอยู่ และคนอื่นๆก็นั่งอยู่ทั้งนั้น” .... ท่านจึงกล่าวว่า “เมื่อคนใดจากพวกท่านเข้าไปในมัสญิด เขาก็อย่าเพิ่งนั่งลงจนกว่าจะได้นมาซ 2 ร็อกอะฮ์เสียก่อน” ......
บรรดานักวิชาการ ต่างมีทัศนะที่ขัดแย้งกันในเรื่องของการนมาซตะหี้ยะตุ้ลมัสญิดอยู่ 3 ประเด็นด้วยกัน คือ ..
1. การนมาซตะหี้ยะตุ้ลมัสญิดเป็นวาญิบหรือเป็นสุนัต ?, ...
2. เมื่อเข้าไปในมัสญิดแล้วนั่งลงก่อนที่จะนมาซ เขาจะต้องลุกขึ้นทำนมาซนี้หรือไม่ ?,
3. หากเข้าไปในมัสญิดหลังอะซานนมาซฟัรฺฎู แล้วทำนมาซสุนัตก่อนฟัรฺฎูหรือทำนมาซฟัรฺฎูเลย โดยมิได้ทำนมาซตะหี้ยะตุ้ลมัสญิดเสียก่อน จะถือว่า ได้นมาซตะหี้ยะตุ้ลมัสญิดโดยอัตโนมัติด้วยหรือไม่ ....
สำหรับในประเด็นแรก ... หลักฐานสำคัญของผู้ที่มีทัศนะว่า การนมาซตะหี้ยะตุ้ลมัสญิดเป็นวาญิบก็คือ กฎเกณฑ์ของวิชาอุศูลุลฟิกฮ์ที่ว่า “พื้นฐานของคำสั่ง ถือว่า เป็นวาญิบ” ... และ..... “พื้นฐานของการห้าม คือ หะรอม” ...... ซึ่งในเรื่องของการนมาซตะหี้ยะตุ้ลมัสญิดนี้ ก็มีทั้งคำสั่งและคำห้าม, คือ สั่งให้นมาซก่อนที่จะนั่งลง -- ดังสำนวนของหะดีษบทแรก,... และห้ามนั่งจนกว่าจะได้นมาซเสียก่อน-- ดังสำนวนของหะดีษบทที่สอง .....
นอกจากนี้ การที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้สั่งท่านสุลัยก์ อัล-ฆ็อฏฟานีย์ ให้ลุกขึ้นทำนมาซตะหี้ยะตุ้ลมัสญิด --- ทั้งๆที่ท่านได้นั่งลงเรียบร้อยแล้วหลังจากเข้ามาในมัสญิดในวันศุกร์ ขณะที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมกำลังนั่งบนมิมบัรฺ ... ก็เป็นสิ่งยืนยันน้ำหนักให้แก่ทัศนะนี้มากยิ่งขึ้น .....
ท่านอัช-เชากานีย์ ได้นำเอาหลักฐานจากทัศนะของผู้ที่ถือว่า การนมาซตะหี้ยะตุ้ลมัสญิดเป็นสุนัตทั้งหมด มาตีแผ่ในหนังสือ “นัยลุ้ลเอาฏ็อรฺ” เล่มที่ 3 หน้า 82-84, .... แล้วท่านก็ได้นำเอาหลักฐานต่างๆและเหตุผลมาหักล้างทัศนะเหล่านั้น แล้วกล่าวสรุปในหน้าที่ 84 ว่า ตามรูปการณ์แล้ว ความถูกต้องน่าจะอยู่กับทัศนะที่ว่า การนมาซตะหี้ยะตุ้ลมัสญิด เป็นวาญิบ ....
ส่วนในประเด็นที่สอง,... คือเมื่อเข้าไปในมัสญิดแล้วนั่งลงก่อนที่จะนมาซ จะต้องลุกขึ้นทำนมาซนี้อีกหรือไม่ ? .... ท่านอิบนุ หะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้ทำการวิเคราะห์ในหนังสือ “ฟัตหุ้ล บารีย์” เล่มที่ 2 หน้า 412, โดยได้วิเคราะห์จากหะดีษบทที่สอง จากการรายงานของท่านเกาะตาดะฮ์ บิน ริบอีย์, (และจากหะดีษที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้สั่งให้ท่านสุลัยก์ อัล-ฆ็อฏฟานีย์ ลุกขึ้นทำนมาซนี้อีกหลังจากที่เขาได้นั่งลงแล้วเมื่อตอนเข้ามาในมัสญิดขณะท่านนบีย์กำลังอ่านคุฏบะฮ์วันศุกร์) ว่า การนมาซตะหี้ยะตุ้ลมัสญิด จะไม่ขาดตอนเพราะการนั่ง ... คือ สามารถลุกขึ้นทำได้อีก ...
แต่นักวิชาการบางท่านได้กำหนดเงื่อนไขว่า การลุกขึ้นมาทำนมาซนี้หลังจากได้นั่งลงแล้ว ควรจำกัดเฉพาะคนที่นั่งลงเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเพราะลืมเท่านั้น .. ดังในกรณีย์ของท่านเกาะตาดะฮ์และท่านสุลัยก์เป็นตัวอย่าง, มิใช่ในกรณีย์ของผู้ที่มีเจตนาหรือจงใจจะนั่งทั้งๆที่รู้ว่า ยังไม่ได้นมาซตะหี้ยะตุ้ลมัสญิดแต่ประการใด ..... ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับทัศนะดังกล่าวนี้ เพราะถือว่า เป็นทัศนะที่ได้รวมหะดีษสองบทที่ดูจะขัดแย้งกัน ---- คือ คำสั่งให้ผู้ที่เข้าไปในมัสญิด นมาซก่อนที่จะนั่ง, และคำสั่งให้ผู้ที่นั่งลงแล้วลุกขึ้นมาทำนมาซอีก ---- ได้อย่างลงตัวที่สุด .....
สำหรับประเด็นสุดท้าย คือในประเด็นที่ว่า หากเราเข้าไปในมัสญิดหลังจากอะซานนมาซซุบฮ์หรือนมาซซุฮ์รี่ แล้วเราก็นมาซสุนัต 2 ร็อกอะฮ์ ก่อนละหมาดฟัรฺฎูนั้น โดยเนียตรวมนมาซตะหี้ยะตุ้ลมัสญิดเข้าไปด้วย จะได้หรือไม่ ? .....
สำหรับคำตอบปัญหานี้ ก็อย่างที่ผมได้เรียนไปตั้งแต่ต้นแล้วว่า เจตนารมณ์ของการนมาซตะหี้ยะตุ้ลมัสญิดก็คือ เพื่อเคารพและให้เกียรติมัสญิดด้วยการนมาซ, จะเป็นนมาซอะไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับเวลาที่เราเข้าไปในมัสญิด ......
หากเราเข้าไปในมัสญิด ในเวลาปกติที่มิใช่ตรงกับเวลาของการนมาซใดๆ, ก็ให้เรานมาซเป็นเอกเทศ 2 ร็อกอะฮ์ อย่างที่เรียกกันว่า นมาซตะหี้ยะตุ้ลมัสญิด, ...
หากเราเข้าไปในมัสญิดหลังจากการอะซานของนมาซใดๆ แต่ยังไม่มีการอิกอมะฮ์ ก็ให้เรานมาซสุนัตก่อนนมาซฟัรฺฎู (ถ้านมาซนั้นมีสุนัตก่อนฟัรฺฎู) .... ก็ถือว่า เราได้ให้เกียรติแก่มัสญิดแล้ว ด้วยการนมาซสุนัตก่อนฟัรฺฏูนั้น .....
หากเราเข้าไปในมัสญิดขณะกำลังมีการอิกอมะฮ์ เพื่อจะนมาซฟัรฺฎูใดๆ ... แล้วเราก็รีบไปเข้าแถวและร่วมนมาซญะมาอะฮ์พร้อมกับอิหม่าม ... ก็ถือว่า เราได้ให้เกียรติแก่มัสญิดแล้วด้วยการนมาซฟัรฺฎูนั้น .....
นี่คือ ทัศนะของบรรดานักวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้ และผมยังไม่เคยเจอทัศนะใดๆที่จะแตกต่างไปจากนี้ ....
ท่านอิบนุ หะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้กล่าวอธิบายในหนังสือ “ฟัตหุ้ลบารีย์” ซึ่งเป็นหนังสืออธิบายหะดีษของท่านบุคอรีย์, เล่มที่ 1 หน้า 14 มีข้อความว่า ....
وَقَدْ يَحْصُلُ غَيْرُ الْمَنْوِىِّ لِمُدْرِكٍ آخَرَ، كَمَنْ دَخَلَ الْمَسْجِدَ فَصَلَّي الْفَرْضَ اَوِالرَّاتِبَةِ قَبْلَ اَنْ يَقْعُدَ فَاِنَّهُ يَحْصُلُ لَهُ تَحِيَّةُ الْمَسْجِدِ نَوَاهَـا اَوْ لَمْ يَنْوِهَـا، ِلاَنَّ الْقَصْدَ بِالتَّحِيَّةِ شُغْلُ الْبُقْعَةِ وَقَدْ حَصَلَ ...
“และบางครั้ง ก็อาจจะได้รับในสิ่งที่มิได้ตั้งเจตนาเอาไว้ด้วย เนื่องจากมีสิ่งหนุนเนื่องอย่างอื่นประกอบ, อย่างเช่นผู้ที่เข้าไปในมัสญิด แล้วเขาก็นมาซฟัรฺฎูหรือนมาซสุนัตก่อนฟัรฺฎูเลยก่อนที่จะนั่งลง ในกรณีนี้ ถือว่า เขาได้รับผลของการนมาซตะหี้ยะตุ้ลมัสญิดด้วย ไม่ว่าเขาจะเนียตมันหรือไม่ก็ตาม, ... ทั้งนี้ เพราะเจตนารมณ์ของการนมาซตะหี้ยะตุ้ลมัสญิดก็คือ การปฏิบัติภารกิจ (หมายถึงการนมาซ) ในสถานที่นั้นๆ (คือในมัสญิด) ซึ่งมันก็ได้บังเกิดขึ้นมาแล้ว (ด้วยการนมาซฟัรฺฎูหรือนมาซสุนัตก่อนฟัรฺฎูที่เขาได้ปฏิบัติลงไป” ....
สรุปแล้ว ผมมองว่า การนมาซตะหี้ยะตุ้ลมัสญิด ก็มีหลักการคล้ายๆกับการ “ฏอว้าฟกุดูม” หรือ การฏอว้าฟเยือนบัยตุ้ลลอฮ์ สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าไปในนครมักกะฮ์วันแรกๆไม่มีผิด, ....
ผู้ที่เดินทางเข้าสู่นครมักกะฮ์ในเวลาปกติ โดยมิใช่เป็นเทศกาลแห่งการทำหัจญ์, และเขามิได้เนียตทำอุมเราะฮ์ ก็ให้เขาให้เกียรติบัยตุ้ลลอฮ์ด้วยการฏอว้าฟเยือนเป็นเอกเทศ, ... ด้วยการเนียตว่า เขาฏอว้าฟกุดูม .. หรือฏอว้าฟเยือนบัยตุ้ลลอฮ์ ...
แต่ถ้าเขาเดินทางเข้าสู่นครมักกะฮ์พร้อมกับการเนียตทำอุมเราะฮ์เข้าไปด้วย การฏอว้าฟของเขาในครั้งแรกที่เดินทางเข้าไปในมัสญิดหะรอม ก็คือการฏอว้าฟเพื่อปฏิบัติภารกิจหรือเป็นรุก่นของอุมเราะฮ์เลย ... ซึ่งในการฏอว้าฟครั้งนี้ครั้งเดียว เขาก็ได้รับผลทั้ง 2 อย่างพร้อมกัน, คือได้ทั้งฏอว้าฟรุก่นของการทำอุมเราะฮ์, และได้ทั้งการฏอว้าฟกุดูมหรือฏอว้าฟเยือนบัยตุ้ลลอฮ์ไปด้วยโดยอัตโนมัติ ... แม้ว่าเขาจะมิได้เนียตฏอว้าฟกุดูมเลยก็ตาม .....
และผมก็ยังไม่เคยเจอความขัดแย้งของบรรดานักวิชาการในกรณีนี้แต่ประการใดเช่นเดียวกัน........

วัลลอฮุ อะอฺลัม



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น