โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย ...
ต่อไปนี้คือ คำถามของผม
1. ความเชื่อที่ว่า "วันพุธสุดท้ายของเดือนซอฟัร เป็น “วันซอฟัร” ซึ่งเป็นวันที่อัลลอฮฺเจ้าจะทรงกระหน่ำภัยพิบัติครั้งใหญ่ลงมาสู่หน้าโลกดุนยานี้ โดยพระองค์จะทรงโยกย้ายมาจากกระดานบันทึก (เลาฮิมมะหฺฟูซ) สู่ฟากฟ้าของโลกดุนยานี้ ในคืนวันพุธสุดท้ายของเดือนซอฟัร
" .....
" .....
ถามว่า .. ความเชื่อดังที่กล่าวนี้ มีบันทึกอยู่ในตำราหะดีษที่เชื่อถือได้เล่มใด ? ..
ที่ผมเคยเจอก็คือ ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวไว้ในหะดีษบทหนึ่ง เพื่อลบล้างความเชื่อของชาวอาหรับยุคญาฮิลียะฮ์ที่เชื่อว่า เดือนซอฟัรฺเป็นเดือนแห่งลางร้ายหรือความโชคร้าย .. ท่านศาสดาจึงกล่าวว่า ..
لاَ صَفَرَ
"ไม่มี(ลางร้ายใดๆในเดือน)ซอฟัรฺ" ..
(บันทึกโดยท่านบุคอรีย์, ท่านมุสลิม, ท่านอบูดาวูด, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์, ท่านอะห์มัด และท่านอื่นๆ) ...
ความเชื่อข้างต้น ขัดแย้งกับความหมายของหะดีษที่ถูกต้องบทนี้หรือไม่? .. โปรดพิจาณาดูเอง ...
2. คำกล่าวท่านแช็คชะรอฟัดดีน (ร.ฮ.) ในหนังสือ ตะอฺลีกอฮฺ ที่ว่า .. "บรรดาภัยพิบัติทั้งมวลจะถูกส่งลงมาจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) "ในรอบปี" เป็นจำนวนถึง 12,000 ภัยพิบัติ" ... กับคำกล่าวในหนังสือ كِتَابُ الْجَوَاهِرُالْخَمِيسْ ที่ว่า .. "ในทุกรอบปีอัลเลาะห์ (ซบ.) เจ้า จะทรงบันดาลให้บังเกิดภัยพิบัติขึ้นพร้อมกันทั่วโลก "ในคืนวันพุธสุดท้ายของเดือนซอฟัร" เป็นจำนวนถึง 320,000 ภัยพิบัติด้วยกัน ...
ขอถามว่า .. ข้อมูลข้างต้นนี้ มีบันทึกอยู่ในตำราหะดีษที่เชื่อถือได้เล่มใด ? และนักวิชาการหะดีษท่านใดที่รับรองว่า ข้อมูลนั้นถูกต้อง ? ...
ที่ผมต้องถามหาหะดีษที่ถูกต้องจากข้อที่ 1 และข้อที่ 2 ก็เพราะทั้ง 2 กรณีนี้ เป็นเรื่องอะกีดะฮ์หรือความเชื่อที่ทางวิชาการเรียกว่า ما لا مجال للإجتهاد فيه .. คือ สิ่งที่ไม่อยู่ในวิสัยมนุษย์ธรรมดาจะใช้สติปัญญาวิเคราะห์ได้ ! .. นอกจากจะต้องมี "หลักฐานที่ชัดเจน" จากอัล-กุรฺอานหรือจากหะดีษที่ถูกต้องของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมมายืนยันเท่านั้น ..
3. คำกล่าวของแช็คชะรอฟัดดีน (ร.ฮ.) ในหนังสือ ตะอฺลีกอฮฺ ที่ว่า .. อัลลอฮ์จะส่งภัยพิบัติมาในรอบปี (คือทั้งปี) รวม 12000 ภัยพิบัติ, .. กับคำกล่าวใน كِتَابُ الْجَوَاهِرُالْخَمِيسْ ที่ว่า .. อัลลอฮ์จะให้บังเกิดภัยพิบัติทั่วโลกใน "คืนพุธสุดท้ายของเดือนซอฟัรฺ" (คือแค่คืนเดียว) ถึง 320,000 ภัยพิบัติ ...
ตกลง จะให้ผู้อ่านเชื่อถือคำกล่าวไหน ? .. ทั้งปีมีแค่ 12000 ภัยพิบัติ แต่คืนเดียวมีถึง 320,000 ภัยพิบัติ ?? ...
4. คำกล่าวที่ว่า ...
- (สิ่งเหล่านี้) เป็น "ศาสนกิจ" ที่พึงปฏิบัติในวันซอฟัร ...
- การกำหนดให้ "ละหมาดสุนัต" 2 ร็อกอะฮ์ในคืนพุธสุดท้ายของเดือนซอฟัรฺ โดยร่อกาอัตแรกหลังจากอ่านฟาติฮะห์แล้ว ให้อ่านซูเราะห์อัลฟาลัก 10 ต้น และร่อกาอัตที่ 2 หลังจากอ่านฟาติฮะห์แล้ว ให้อ่านซูเราะห์อันนาส 10 ต้น ...
- การกำหนดให้ "ละหมาดสุนัต" ในตอนสายวันพุธสุดท้ายของเดือนซอฟัร 12 ร่อกาอัต 6 สลาม โดยให้ละหมาดครั้งละ 2 ร่อกาอัตแล้วให้สลาม ในทุกๆ ร่อกาอัต หลังจากอ่านฟาติฮะห์แล้วให้อ่านอายะห์กุรซีย์ ให้ทำเช่นนี้ จนครบ 12 ร่อกาอัต ...
- การกำหนดให้ถือศีลอดในวันพุธสุดท้ายของเดือนซอฟัรฺ เป็นต้น ...
ขอถามว่า.. "ศาสนกิจ" และ "อิบาดะฮ์ ..ทั้งละหมาดสุนัตและถือศีลอด" ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ใครคือผู้กำหนด "รูปแบบ" ให้กระทำ ? ...
ท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม หรือมนุษย์คนใดเป็นผู้กำหนด ???? ...
5. คำว่า وَقَفْ ثَلاَثِى ที่ให้เขียนลงกลางจานสีขาวนั้น หมายถึงอะไร? ..
หากท่านตอบว่า وَقَفْ ثَلاَثِى หมายถึงพยัญชนะ 3 ตัว คือ لا ج م ที่เป็นเครื่องหมายแทนค่า وَقْفٌ (การหยุดอ่าน) 3 ลักษณะในวิชาตัจญวีด .. ก็ขอถามต่อไปว่า มีนักวิชาการท่านใดบ้างที่กล่าวว่า พยัญชนะทั้ง 3 ตัวนี้ เป็นอายะฮ์หนึ่งของอัล-กุรฺอานจนสามารถนำมาเขียนรุกยะฮ์เพื่อบำบัดโรคหรือป้องกันภัยพิบัติได้ ? ...
หากตอบว่า ความหมาย وَقَفْ ثَلاَثِى คือสิ่งอื่นจากที่ผมกล่าวมา ก็ขอถามว่า สิ่งนั้น หมายถึงอะไร ? .. หรือเป็นอัล-กุรฺอานอายะฮ์ใด ? หรือเป็นดุอาอ์ของท่านนบีย์บทใด ? จึงสามารถนำมาใช้ในการรุกยะฮ์ที่อนุญาตได้ ...
6. คำกล่าวที่ว่า .. ให้เขียน وَ قَفْ ثَلاَثِىْ ลงบนกลางจานสีขาวล้อมรอบด้วยอายะห์อัลกุรอานทุกโองการที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า سَلاَمٌ ในคืนดังกล่าว (วันอังคารค่ำลง) โดยวิธีเขียน จะต้องมีน้ำละหมาด, .. และระหว่างเขียนนั้น ผู้เขียนจะต้องนั่งผินสู่ทิศกิบลัต โดยนำลิ้นดุนเพดานปากและซิกรุ้ลลอฮฺ จนกระทั่งเขียนเสร็จ ฯลฯ .....
ขอถามว่า ..ใครคือผู้กำหนดให้เขียนสิ่งนี้, ด้วยวิธีการอย่างนี้, และด้วยเงื่อนไขดังกล่าวนี้ ? .. และวิธีการนี้มีบันทึกอยู่ในตำราที่เชื่อถือได้เล่มใด ? ..
ท่านเช็คมุหัมมัด อับดุสสลาม อัช-ชุก็อยรีย์ ได้กล่าวว่า ....
قَدِ اعْتَادَ الْجُهَلاَءُ أَنْ يَكْتُبُوْا آيَاتِ السَّلاَمِ كَ (سَلاَمٌ عَلَى نُوْحٍ فِى الْعَالَمِيْنَ) الخ .. فِىْ آخِرِ أَرْبِعَاءَ مِنْ شَهْرِ صَفَرَ، ثُمَّ يَضَعُوْنَهَا فِى الْأَوَانِىْ يَشْرَبُوْنَهَا وَيَتَبَرَّكُوْنَ بِهَا، وَيَتَهَادَوْنَهَا لِاعْتِقَادِهِمْ أَنَّ هَذَا يُذْهِبُ الشُّرُوْرَ، وَهَذَا إعْتِقَادٌ فَاسِدٌ، وَتَشَاؤُمٌ مَذْمُوْمٌ، وَابْتِدَاعٌ قَبِيْحٌ .........
"แน่นอน กลุ่มชนผู้โง่เขลาได้ยึดถือเป็นประเพณีในการเขียนโองการที่มีคำว่า .. "سلام" อยู่ .. เช่นโองการที่ว่า .. سَلاَمٌ عَلَى نُوْحٍ فِى الْعَالَمِيْنَจนจบ .. ในคืนพุธสุดท้ายของเดือนซอฟัรฺ แล้วพวกเขาก็นำมันใส่ลงในภาชนะ(ที่มีน้ำเพื่อ) ดื่มมัน, เอาบารอกัตจากมัน, และยึดเหนี่ยวกับมัน .. ทั้งนี้เพราะพวกเขาเชื่อมั่นว่า สิ่งนี้จะช่วยขจัดความชั่วร้ายต่างๆได้ นี่คือความเชื่อที่เหลวไหลสิ้นดี, เป็นการถือโชคลางที่ต้องถูกประณาม, และเป็นอุตริกรรมที่น่าเกลียด ................."
(จากหนังสือ "อัส-สุนัน วัลมุบตะดะอาต" ของท่านเช็คมุหัมมัด อับดุสสลาม อัช-ชุก็อยรีย์ หน้า 137 - 138) ...
(ความจริง ยังมีสิ่งแปลกๆอีกมากในข้อเขียนข้างต้นที่ท่านผู้อ่านทุกท่านก็เห็นแล้ว ผมจึงไม่อยากจะนำมาถามให้เสียเวลาอีก) ....
สรุปแล้ว การกระทำของท่านอิหม่ามอะห์มัดในทั้ง 2 กรณีข้างต้น ไม่ว่าการเขียนอายะฮ์อัล-กุรฺอานให้แก่สตรีที่คลอดบุตรยาก หรือเขียน اَلتَّعَاوِيْذُ ให้แก่ญาติของท่านที่เจ็บป่วย จึงไม่ใช่หลักฐานการทำน้ำซอฟัรฺอย่างที่บางคนอ้าง เพราะท่านอิหม่ามอะห์มัดกระทำสิ่งเหล่านี้ในเป้าหมายเพื่อการบำบัดรักษาอาการป่วยที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่เป้าหมายเพื่อป้องกันลางร้ายที่ยังไม่เกิดขึ้นเหมือนการทำน้ำซอฟัรฺ ...
และผมก็ไม่เคยเจอหลักฐานใดๆจากท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม, หรือจากบรรดาสลัฟ อัส-ศอลิห์คนใดทั้งสิ้นว่า พวกท่านจะเคยกระทำสิ่งนี้ .. นอกจากเป็นการริเริ่มของบุคคลบางคนในยุคหลังๆที่เชื่อและเข้าใจว่า เดือนซอฟัรฺเป็นเดือนแห่งโชคร้าย เหมือนความเชื่อของพวกญาฮิลียะฮ์ในอดีต ...
ผมไม่นิยมการใช้ถ้อยคำรุนแรงและไม่มีสิทธิ์ประณามใคร จึงขอถามท่านผู้อ่านทุกท่านเพียงว่า ...
สมควรหรือไม่ที่เราจะยอมรับและนำเอา "พิธีกรรมส่วนเกิน" ที่เปรียบเสมือน "เนื้องอก" ในศาสนาอิสลาม - ดังเช่นการทำน้ำซอฟัรฺที่กล่าวมาข้างต้นนี้ - มาปฏิบัติ จนทำให้ชาวบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่และคนต่างศาสนาเข้าใจว่า นี่คือพิธีกรรมหนึ่งในศาสนาอิสลาม ???..
วัลลอฮุ อะอฺลัม ...
อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย
20/12/60
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น