โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย
คำนำ
بـسم الله الرحـمن الرحـيم اَلْحَمْدُ لِلهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ، وَالصَّلاَةُ وَالسَّلاَمُ عَلَى أَشْرَفِ اْلأَنْبِيَاءِ وَالْمُرْسَلِيْنَ، نَبِيِّنَامُحَمَّدٍ وَعَلَى آلِهِ وَصَحْبِهِ أَجْمَعِيْنَ، ... أَمَّابَعْدُ ...
เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า .. “แหวน, กำไล, สร้อยทอง ต้องห้ามสำหรับมุสลิมะฮ์ด้วยหรือ?” ...
ในหนังสือเล่มนั้น ผมมิได้ “ฟันธง” หรือหุก่มว่า เครื่องประดับเหล่านั้นเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับสตรี .. แต่ผมได้นำเอาหลักฐานจากหะดีษที่เศาะเหี๊ยะฮ์ (ถูกต้อง) บางบท มาตีแผ่และวิเคราะห์ทั้งสายรายงานและเนื้อหาให้เห็นว่า เรื่องการต้องห้ามเครื่องประดับที่ทำจากทองคำบางประเภท(มิใช่ทั้งหมด) สำหรับมุสลิมะฮ์ .. อันได้แก่แหวนทองคำ, สร้อยทองคำ, และกำไลทองคำ เป็นสิ่งมีข้อมูลอยู่จริงตามหลักการศาสนา ...
ข้อมูลดังกล่าวที่ผมเขียนไปนั้น จนทุกวันนี้ ยังไม่ปรากฏว่าจะมีนักวิชาการท่านใดออกมาชี้แจงหักล้างหรือปฏิเสธความถูกต้องของมันแม้แต่ท่านเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเขียนชี้แจงในลักษณะตำราหรือชี้แจงกับผมด้วยวาจา .. นอกจากบางท่านที่อาจจะมีการพูดลับหลังอยู่บ้าง ซึ่งผมก็ไม่ถือสา เพราะถือว่า การพูดลับหลังมิใช่เป็นเรื่องของวิชาการแต่อย่างใด ...
ผมไม่ปฏิเสธว่า หนังสือเล่มนั้นยังเขียนไม่จบสิ้นสมบูรณ์ เพราะประเด็นสำคัญที่ผมยังมิได้เขียนก็คือ ยังมีหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์บางบทซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่า มุสลิมะฮ์สามารถจะใช้เครื่องประดับเหล่านี้ได้ --- ซึ่งผมก็ได้นำเอาหะดีษดังกล่าวนี้บทหนึ่งมาระบุไว้แล้วในหนังสือเล่มนั้น หน้าที่ 10 .. คือหะดีษที่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า .. “สองอย่างนี้ (หมายถึงผ้าไหมและทองคำ) เป็นที่ต้องห้ามสำหรับบุรุษเพศจากอุมมะฮ์ของฉัน, และเป็นที่อนุมัติแก่สตรีเพศของพวกเขา” --- แต่ก็ยังมีอีกบางบทเช่นกันที่ผมมิได้กล่าวถึงไว้ เพราะความตั้งใจของผมในการเขียนหนังสือเล่มนั้นก็คือ การเขียนชี้แจงและวิเคราะห์หลักฐานที่ต้องห้ามก่อนในช่วงแรก ...
และอีกประเด็นหนึ่งที่ผมยังมิได้เขียนถึงในหนังสือเล่มนั้นก็คือ การชี้แจง “ทางออก” ตามหลักวิชาการของความขัดแย้งระหว่างหลักฐานที่ “อนุญาต” และหลักฐานที่ “ห้าม” สตรีใช้เครื่องประดับจากทองคำในลักษณะดังกล่าวเอาไว้ .. เพียงแต่ผมได้เกริ่นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในหน้าที่ 6 และหน้าที่ 28 อันเป็นหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนั้นเท่านั้นว่า จะเขียนต่อในโอกาสหน้า อินชาอัลลอฮ์ ...
สาเหตุที่ผมจำเป็นต้องดร็อปการ “เขียนต่อ” เรื่องนี้เอาไว้ทั้งๆที่อยากจะเขียนให้จบตั้งแต่ต้น ก็เพราะมีปัญหาเฉพาะหน้า เกี่ยวกับเรื่องอื่นๆที่ผมต้องรีบตอบหรือช่วยวิเคราะห์หลักฐาน ที่ถูกทยอยส่งมาให้ตอบเป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละปัญหาเหล่านั้น ขอสารภาพว่า เป็นภาระหนักเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีความรู้น้อยอย่างผมในการตรวจสอบค้นคว้าหาข้อมูลที่ถูกต้องของแต่ละปัญหาจนแน่ใจแล้ว จึงกล้าเขียนคำตอบออกไป ...
นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ผมไม่มีเวลาพอที่จะเขียนเรื่องข้างต้นนี้ให้จบสิ้นได้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ...
แต่อย่างน้อย ข้อเขียนในหน้าที่ 10, หน้าที่ 28 และหน้าสุดท้ายในหนังสือเล่มนั้นดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็เป็นสิ่งยืนยันว่า ผมมี “อมานะฮ์” (ความซื่อตรง) และมีจรรยาบรรณของนักวิชาการเต็มเปี่ยมในการเขียนหนังสือของผม และมิได้มีเจตนาปกปิดอำพรางข้อมูลหลักฐานในเรื่องอนุมัติให้สตรีใช้เครื่องประดับทองคำเหล่านั้นแต่ประการใด ...
เพราะฉะนั้น ข้อกล่าวหาของเพื่อนนักวิชาการบางท่านที่ว่า ผมไม่มีอมานะฮ์ในการเขียนเรื่องนี้ เพราะนำเอาเฉพาะหลักฐานที่ว่า ห้ามสตรีสวมใส่เครื่องประดับเหล่านี้เท่านั้นมาเขียนไว้ โดยมิได้เขียนถึงหลักฐานอนุญาตไว้ด้วย .. จึงเป็นเรื่องของการกล่าวหาด้วยความอคติ มากกว่า การวิจารณ์ด้วยความเป็นธรรมอย่างที่นักวิชาการพึงกระทำ ...
ผมอยากทราบเพียงว่า ท่านนักวิชาการท่านนั้น ก่อนที่จะออกมากล่าวอย่างนี้ ได้อ่านหนังสือเล่มนั้นของผมจบสิ้น, โดยเฉพาะ ในหน้าที่ผมระบุเอาไว้นั้น .. อย่างเข้าใจ .. หรือเปล่า ? ...
ตอนนี้ ผมพอจะมีเวลาว่างจากการเขียนเรื่องอื่น จึงขอถือโอกาสนี้นำเอาเรื่องนี้มาเขียนต่อให้จบ ซึ่งรูปแบบในการเขียนก็คือ จะนำเอาต้นฉบับของหนังสือ “แหวน, กำไล, สร้อยทอง ต้องห้ามสำหรับมุสลิมะฮ์ด้วยหรือ?” มาเขียนใหม่อีกครั้ง เพราะการเขียนครั้งก่อนเป็นการเขียนด้วยพิมพ์ดีดธรรมดาซึ่งไม่ค่อยจะน่าอ่านเท่าใดนัก .. และเพื่อให้ผู้อ่านบางท่านที่อาจจะยังไม่เคยอ่านเรื่องนี้ ได้รับทราบข้อเท็จจริงของหะดีษที่ห้ามมุสลิมะฮ์จากการใช้เครื่องประดับประเภทนี้ และหะดีษอนุญาต .. อย่างต่อเนื่อง ...
ต่อจากนั้น ผมจะนำเอาหะดีษที่อนุญาตให้สตรีสามารถใช้เครื่องประดับประเภทนี้ได้มากล่าวถึง พร้อมทั้งการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงของหะดีษนั้นๆเท่าที่จำเป็น ...
และสุดท้าย ผมจะวิเคราะห์และวิจารณ์ “ทางออก” ของความขัดแย้งระหว่างหะดีษที่ห้ามและหะดีษที่อนุญาตเครื่องประดับเหล่านั้นแก่สตรี ตามที่นักวิชาการยุคก่อนได้เสนอทางออกเอาไว้แล้ว โดยจะชี้ให้เห็นว่า ทางออกนั้นๆ สอดคล้องหรือขัดแย้งต่อหลักวิชาการในเรื่องนี้อย่างไรหรือไม่ ? และทางออกใดน่าจะสอดคล้องและถูกต้องที่สุด ในกรณีนี้ ...
หนังสือนี้ จึงมิใช่เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อชี้ขาดหรือฟันธงว่า เครื่องประดับทองคำประเภทแหวน, กำไล และสร้อยคอ เป็นที่ต้องห้ามสำหรับมุสลิมะฮ์หรือไม่ ? .. และก็มิใช่เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อสร้างฟิตนะฮ์ใดๆแก่สังคม แต่เป็นหนังสือวิเคราะห์ข้อเท็จจริงของความขัดแย้งในเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความกระจ่างตามหลักวิชาการด้วยความบริสุทธิ์ใจ จึงเป็นหน้าที่ของท่านผู้อ่านที่จะใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบว่า สมควรที่ท่านจะใช้เครื่องประดับทองคำต่างๆเหล่านี้หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในด้านศาสนาและสวัสดิภาพในด้านชีวิตและทรัพย์สินของตัวท่านเอง ...
มะห์มูด (ปราโมทย์) ศรีอุทัย
โทรฯ 086 – 6859660
วันอังคาร ที่ 26 มิถุนายน 2550 ตรงกับวันอังคาร ที่ 11 ญะมาดุลอาคิรฺ 1428
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น