อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2561

ผู้หญิงใส่ สร้อยแหวน กำไล ทองคำได้หรือไม่ (ตอนที่ 2)


โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

บทที่1.
นักวิชาการที่ห้ามสตรีใช้แหวน, กำไล, และสร้อยทองคำ
มีข้อมูลระบุมาว่า นักวิชาการในอดีตบางท่านมีทัศนะว่า เครื่องประดับที่ทำจากทองคำ เป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับสตรี ดังที่จะกล่าวถึงต่อไป แต่ทัศนะเหล่านั้น ก็ไม่สู้จะเป็นที่รับรู้กันแพร่หลายนัก ...
นักวิชาการยุคใหม่ที่เปิดประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมา ก็คือ ท่านเช็คมุหัมมัด นาศิรุดดีน อัล-อัลบานีย์ ซึ่งท่านผู้นี้เป็นนักวิชาการหะดีษที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันมากที่สุดในยุคปัจจุบัน และเพิ่งจะสิ้นชีวิตไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ...
ท่านเช็คอัล-อัลบานีย์ ได้เขียนในหนังสือ “อาดาบุส ซะฟาฟ” ชึ้แจงและวิเคราะห์หลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ในทุกแง่ทุกมุมตามมุมมองของท่าน แล้วสรุปว่า เครื่องประดับของสตรีตามลักษณะข้างต้น คือ แหวน, กำไล, และสร้อยคอที่เป็นทองคำนั้น มิใช่เป็นที่ต้องห้ามเฉพาะบุรุษเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ต้องห้ามสำหรับสตรีด้วยเช่นเดียวกัน ...
ข้อเขียนดังกล่าวนี้ของท่านอัล-อัลบานีย์ ถือเป็นการหักล้างข้อเขียนของท่านอิบนุ หัสมิน (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 456) ที่ได้เขียนไว้ในหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” ของท่าน เล่มที่ 10 หน้า 82-86 ซึ่งสรุปว่า เครื่องประดับที่เป็นทองคำนั้น เป็นที่อนุมัติสำหรับสตรีในทุกรูปแบบ, .. และยังเป็นการหักล้างความเชื่อถือเดิมของมุสลิมทั่วๆไป (รวมทั้งตัวผมเองด้วย) ที่เคยเข้าใจในเรื่องนี้เหมือนข้อเขียนของท่านอิบนุ หัสมิน ...
แน่นอน, ข้อเขียนของท่านอัล-อัลบานีย์ในเรื่องนี้ สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการมุสลิมและมุสลิมะฮ์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบรรดานักวิชาการ, ซึ่งมีทั้งที่เห็นด้วยและคัดค้านทัศนะดังกล่าวของท่าน ...
ข้อเขียนของผู้ที่คัดค้านทัศนะดังกล่าวของท่านอัล-อัลบานีย์เท่าที่ผมอ่านเจอก็คือหนังสือ “إِبَاحَةُ التَّحَلِّىْ بِالذَّهَبِ الْمُحَلَّقِ لِلنِّسَاءِ” ของท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์,และหนังสือ “اَْلأَلْبَانِىُّ، شُذُوْذُهُ وَأَخْطَاؤُهُ” ของท่านเช็คอัรฺชัด อัส-สะละฟีย์ ซึ่งพิมพ์ผนวกไว้ตอนท้ายหนังสือดังกล่าวของท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์อีกทีหนึ่ง ...
หมายเหตุ ชื่อ “อัรฺชัด อัส-สะละฟีย์” เป็นนามแฝง, .. ชื่อจริงก็คือ เช็คหะบีบุรฺ เราะห์มาน อัล-อะอฺซอมีย์ ดังที่ถูกเปิดโปงในภายหลัง .. ซึ่งการใช้นามแฝงในการเขียนคัดค้านท่านอัล-อัลบานีย์ของท่านเช็คผู้นี้ ทำให้ท่านถูกมองอย่างตำหนิว่า ไม่กล้าสู้ความจริงเท่าที่ควร ...
ส่วนข้อเขียนของผู้ที่สนับสนุนแนวคิดของท่านอัล-อัลบานีย์เท่าที่อ่านเจอ ก็มักจะเป็นนักวิชาการหะดีษที่ศรัทธาในวิชาการและแนวคิดของท่าน ซึ่งข้อเขียนดังกล่าว ได้แก่หนังสือ “حَيَاةُ اْلأَلْبَانِىِّ” ของท่านเช็ค อัช-ชัยบานีย์ อันมีเนื้อหาบางส่วนเป็นการหักล้างข้อเขียนของท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ข้างต้น, .. และหนังสือ “اَلرَّدُّ الْعِلْمِىُّ عَلَى حَبِيْبِ الرَّحْمِنَ اْلأَعْظَمِىّ” ที่ร่วมกันเขียนโดยท่านเช็คสุลัยม์ อัล-ฮิลาลีย์ และท่านเช็คอะลีย์หะซัน อะลีย์ อับดุลหะมีด สองนักวิชาการหะดีษที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน .. เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นมาเพื่อตอบโต้และหักล้างข้อเขียนของท่านเช็คอัรฺชัด อัส-สะละฟีย์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ท่านเช็คหะบีบุรฺ เราะห์มาน อัล-อะอฺซอมีย์ ดังกล่าวมาแล้ว ...
เท่าที่เขียนอธิบายมานี้ ก็เพื่อเป็นการเปิดเผยให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบว่า ผมเขียนเกี่ยวกับเรื่องเครื่องประดับทองคำสตรีนี้ มิใช่อาศัยข้อมูลจากเพียงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่ผมอาศัยข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย มาประกอบกับการศึกษาค้นคว้าโดยส่วนตัวของผมเอง โดยพยายามจะใช้ดุลยพินิจแห่ง “ความเป็นกลาง” ให้มากที่สุดในการเขียนครั้งนี้ ...
แล้วผมก็พบว่า แม้ข้อเขียนของท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ และท่านเช็คอัรฺชัด อัส-สะละฟีย์ จะสอดคล้องกับทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่ก็จริง แต่ก็ไม่สามารถหักล้างข้อเขียนของท่านเช็คอัล-อัลบานีย์, ท่านเช็คอัช-ชัยบานีย์, ท่านเช็คสุลัยม์ อัล-ฮิลาลีย์ และท่านเช็คอะลีย์หะซันได้ นอกจากเพียงบางส่วนเท่านั้น .. ดังที่ท่านผู้อ่านจะได้เห็นต่อไป ...
จะอย่างไรก็ตาม ผมขอกล่าวอีกครั้งว่า ผมไม่เคยพูดหรือฟัตวาชัดเจนแม้แต่ครั้งเดียวเลยว่า แหวนทองคำ, สร้อยทองคำ, และกำไลทองคำ เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) สำหรับมุสลิมะฮ์, ผมจะพูดแต่เพียงว่า ผมไม่สบายใจและเห็นว่ามุสลิมะฮ์ไม่สมควรใช้เครื่องประดับเหล่านี้ เพราะแนวโน้มของหลักฐาน มันส่อไปในทางที่น่าจะเป็นเรื่องต้องห้ามดังทัศนะของท่านอัล-อัลบานีย์ .. ซึ่งผมก็ไม่ปฏิเสธว่า ได้เคยพูดในลักษณะเช่นนี้มานานแล้ว เท่าที่เวลาและโอกาสอันเหมาะสมจะอำนวยให้ ...
ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่สมควรจะต้องชี้แจงกันก็คือ แนวโน้มของข้อห้ามเกี่ยวกับเครื่องประดับสตรีที่ทำจากทองคำนั้น เป็นเรื่องจำกัดเฉพาะแหวน, กำไล และสร้อยคอเท่านั้น มิได้ครอบคลุมไปถึงเครื่องประดับทองคำในลักษณะอย่างอื่น เช่น จี้ทองคำ, ปิ่นปักผมทองคำ, กระดุมทองคำ, เข็มกลัดทองคำ, หวีทองคำ, กรอบแว่นตาทองคำ, หรือตุ้มหูทองคำบางลักษณะ ฯลฯ .. ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีบางคนกล่าวหาว่า ท่านอัล-อัลบานีย์ ห้ามสตรีจากการใช้เครื่องประดับที่ทำจากทองคำทุกชนิด อันถือว่า เป็นเรื่องของการใส่ร้ายป้ายสีกันมากกว่า ...
เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น ในช่วงแรกนี้ ผมก็จะเขียนอธิบายเรื่องนี้ โดยเรียงลำดับดังต่อไปนี้ ...
1. หลักการขั้นพื้นฐานของอิสลามเกี่ยวกับเครื่องประดับและอื่นๆ ..
2. ผ้าไหมและทองคำ เป็นที่ต้องห้ามสำหรับบุรุษ แต่เป็นที่อนุมัติสำหรับสตรี ..
3. ห้ามทั้งบุรุษและสตรี ดื่มกินจากภาชนะที่ทำจากทองคำหรือเงิน ..
4. หลักฐานจากหะดีษที่ห้ามสตรีใช้แหวนทองคำ, กำไลทองคำ และสร้อยทองคำ พร้อมการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงของหะดีษเหล่านั้น และชี้แจงข้อโต้แย้งของท่านเช็คอิสมาอีล อัล-อันศอรีย์ และเช็คอัรฺชัด อัส-สะละฟีย์ ..
5. หลักฐานจากหะดีษที่อนุญาตให้สตรีใช้เครื่องประดับที่ทำจากทองคำได้และการวิเคราะห์หลักฐานเหล่านั้นเท่าที่จำเป็น ..
ต่อไปนี้ คือรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ตามลำดับข้างต้น ...


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น