อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2561

ผู้หญิงใส่ สร้อยแหวน กำไล ทองคำได้หรือไม่ (ตอนที่ 4)



โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย
ผ้าไหมและทองคำเป็นที่ต้องห้ามสำหรับบุรุษ แต่เป็นที่อนุมัติสำหรับสตรี
ต่อมาในช่วงสุดท้ายก่อนการสิ้นชีวิตของท่านศาสดาไม่นาน อิสลามก็ได้มีบทบัญญัติห้ามผู้ชายใช้เครื่องประดับที่เป็นทองคำ และเครื่องแต่งกายที่ทำจากผ้าไหม(แท้) แต่ยังคงการอนุมัติทั้งสองอย่างนั้นไว้สำหรับสตรีเช่นเดิม ...
ท่านอะลีย์ บิน อบีย์ฏอลิบ ร.ฎ. ได้กล่าวว่า ...
أَخَذَ النَّبِىُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ حَرِيْرًا فَجَعَلَهُ فِىْ يَمِيْنِهِ، وَأَخَذَ ذَهَبًا فَجَعَلَهُ فِىْ شِمَالِهِ، ثُمَّ قَالَ : إِنَّ هَذَيْنِ حَرَامٌ عَلَىذُكُوْرِأُمَّتِىْ، .. وَزَادَ ابْنُ مَاجَهْ : حِلٌّ ِلإنَاثِهِمْ
ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้เอาผ้าไหมมาถือไว้ในมือขวา และเอาทองคำมาถือไว้ในมือซ้าย แล้วท่านก็กล่าวว่า .. “สองอย่างนี้ เป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) สำหรับบุรุษเพศจากอุมมะฮ์ของฉัน” .. ท่านอิบนุมาญะฮ์ได้รายงานข้อความเพิ่มเติมว่า “และเป็นที่อนุมัติ (หะล้าล) แก่สตรีเพศของพวกเขา” ...
(หะดีษบทนี้ ข้อความอันเป็นคำกล่าวของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ในวรรคแรก เป็นการบันทึกโดย ท่านอะห์มัด เล่มที่ 1 หน้า 115, ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 4057, ท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 5161, และท่านอิบนุหิบบาน หะดีษที่ 1465, ส่วนท่านอิบนุมาญะฮ์ ได้บันทึกไว้ทั้ง 2 วรรคในหะดีษที่ 3595) ...
หะดีษซึ่งมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับหะดีษบทนี้ ยังถูกรายงานมาจากเศาะหาบะฮ์อีกหลายท่าน คือ ...
1. จากท่านอบูมูซา อัล-อัชอะรีย์ ร.ฎ. จากการบันทึกของท่านอะห์มัด เล่มที่ 4 หน้า 392, 394, 407, ท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 5163, และท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 1720 ...
2. จากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. จากการบันทึกของท่านอัล-บัซซารฺ หะดีษที่ 3006, ท่านอัฏ-ฏ็อบรอนีย์ในหนังสือ “อัล-มุอฺญัม อัล-กะบีรฺ” หะดีษที่ 10889, 11333และหนังสือ “อัล-มุอฺญัม อัลเอาซัฏ” หะดีษที่ 405 ...
3. จากท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. จากการบันทึกของท่านอัล-หะซัน อัล-หัรฺบีย์ ...
หะดีษบทนี้ มีลักษณะของสายรายงานคล้ายกับหะดีษเรื่องหู้ล (حَوْلٌ) หรือการกำหนดครบรอบปีของเรื่องซะกาต .. นั่นคือ ทุกๆกระแสของมันล้วนมีข้อบกพร่องทั้งสิ้น แต่มีบางกระแสที่บกพร่องเพียงเล็กน้อย ซึ่งในภาพรวมแล้วบรรดานักวิชาการหะดีษต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่า หะดีษบทนี้ เป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ (ถูกต้อง) ...
(โปรดดูรายละเอียดการวิเคราะห์หะดีษบทนี้จากหนังสือ “นัศบุรฺรอยะฮ์” ของท่านอัซ-ซัยละอีย์ เล่มที่ 4 หน้า 222-225, และหนังสือ “ฆอยะตุ้ลมะรอม” ของท่านอัล-อัลบานีย์ หน้า 64-66) ...
เมื่อเราพิจารณาดูเนื้อหาของหะดีษบทนี้ ก็จะเข้าใจได้ว่าความหมายของมันก็คือ ห้ามผู้ชายใช้เครื่องแต่งกายที่ถูกตัดเย็บจากผ้าไหมแท้ทุกชนิด, และห้ามใช้อะไรก็ตามที่มีทองคำเป็นองค์ประกอบทุกชนิด, แต่จะอนุญาตแก่ผู้หญิงใช้เครื่องประดับหรือเครื่องใช้ทุกชนิดที่ทำจากทองคำโดยปราศจากข้อแม้ใดๆทั้งสิ้น ...
แต่ข้อเท็จจริงมิใช่เป็นเช่นนั้น เพราะกฎทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้น ...
ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม เคยผ่อนผันให้ท่านอับดุรฺเราะห์มาน บินเอฺาฟ์ และท่านอัซ-ซุบัยรฺ บิน อัล-เอฺาวาม ร.ฎ. สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำด้วยผ้าไหมบริสุทธิ์ได้ ดังการบันทึกของท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 2919, 2920, 2921, 2922, 5839, และท่านมุสลิม หะดีษที่ 24, 25/2076 หรือเล่มที่ 3 หน้า 1641 เป็นต้น .. ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ เพราะทั้งสองท่านนั้นเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ...
ในทำนองเดียวกัน การที่ท่านศาสดาอนุมัติให้สตรีใช้ทองคำได้ ก็มิได้หมายความว่า สตรีสามารถจะนำเอาทองคำมาประดิดประดอยทำอะไรทุกอย่างได้ตามอำเภอใจ ไม่ว่าเครื่องประดับหรือเครื่องใช้ อย่างที่เข้าใจกัน, .. ทั้งนี้ เนื่องจากมีข้อยกเว้น คือ มีหลักฐานจากหะดีษที่ถูกต้อง ห้ามสตรีใช้ทองคำใน “บางลักษณะ” ดังที่จะกล่าวถึงต่อไป ...


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น