อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2559

วิเคราะห์หลักฐานเรื่อง การอ่านศ่อละวาตแก่ท่านนบีย์หลังตะชะฮ์ฮุดครั้งแรก (ตอนที่ 4)



โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

นักวิชาการที่มีทัศนะดังกล่าว ได้อ้างหลักฐานและการวิเคราะห์มา 2 ประเด็นดังนี้ ...
1. เพราะหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ทุกบทที่ใช้ให้อ่านศ่อละวาตในนมาซ(หลังตะชะฮ์ฮุด) ไม่มีบทใดเลยกำหนดว่าให้อ่านศ่อละวาตเฉพาะในตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้าย ดังนั้นคำสั่งให้อ่านศ่อละวาตในตะชะฮ์ฮุดจึงถือว่า مُطْلَقٌ .. คือครอบคลุมทั้งสองตะชะฮ์ฮุด ...
ท่านอัล-อัลบานีย์ ได้กล่าวอธิบายในกรณีนี้ว่า ...
فَكَمَا أَنَّ السَّلاَمَ عَلَيْهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يُشْرَعُ فِىْ كُلِّ تَشَهُّدٍ فَكَذَلِكَ تُشْرَعُ الصَّلاَةُ عَلَيْهِ بَعْدَ كُلِّ تَشَهُّدٍ، سَوَاءٌ فِى الْجُلُوْسِ اْلأَوَّلِ أَوِ اْلآخِرِ لِعُمُوْمِ اْلأَدِلَّةِ وَإِطْلاَقِهَا
“ดังเช่นที่การอ่านสล่ามแก่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นบทบัญญัติในทุกๆตะชะฮ์ฮุด ในทำนองเดียวกันการอ่านศ่อละวาตแก่ท่านก็เป็นบทบัญญัติหลังจากทุกๆตะชะฮ์ฮุดเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นในการนั่งครั้งแรกหรือครั้งสุดท้าย เพราะหลักฐานของเรื่องนี้(การอ่านศ่อละวาต) กว้างและครอบคลุม(ทั้งสองตะชะฮ์ฮุด)” ...
(จากหนังสือ “อัศลุ ศิฟะติศ่อลาตินนบีย์ฯ” ของท่านอัล-อัลบานีย์ เล่มที่ 3 หน้า 904) ...
การกำหนด (تَخْصِيْصٌ) บทบัญญัติใดที่มีหลักการครอบคลุมให้มีความหมายแคบลง ตามหลักการจะต้องอาศัยหลักฐานที่ถูกต้อง, ชัดเจน (صَحِيْحٌ صَرِيْحٌ) เท่านั้น จะใช้หลักฐานที่ชัดเจนแต่ไม่ถูกต้อง, หรือหลักฐานที่ถูกต้องแต่ไม่ชัดเจนมากำหนดบทบัญญัติที่ครอบคลุมกว้างๆไม่ได้ ...
2. จากการวิเคราะห์คำสั่งของพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ในอายะฮ์ที่ 56 ซูเราะฮ์อัล-อะห์ซาบ ที่ว่า ...
يَا اَيُّهَاالَّذِيْنَ آمَنُوْا صَلُّوْا عَلَيْهِ وَسَلِّمُوْا تَسْلِيْمًا
“โอ้ ศรัทธาชนทั้งหลาย พวกท่านจงศ่อละวาตและสล่ามแก่เขา (นบีย์) อย่างเทิดทูนเถิด” ...
โองการบทนี้แสดงว่า พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.ได้สั่งให้บรรดาผู้ศรัทธากล่าวศ่อละวาตและกล่าวสล่ามแก่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ควบคู่กันไปทั้งสองอย่าง
ท่านอิบนุ้ลก็อยยิม อัลญูซียะฮ์ ได้กล่าวอธิบายในกรณีนี้ว่า ...
فَدَلَّ عَلَى أَنَّهُ حَيْثُ شُرِعَ التَّسْلِيْمُ عَلَيْهِ شُرِعَتِ الصَّلاَةُ عَلَيْهِ، وَلِهَذَا سَأَلَهَ أَصْحَابُهُ عَنْ كَيْفِيَّةِ الصَّلاَةِ عَلَيْهِ وَقَالُوْا : قَدْ عَلِمْنَاكَيْفَ نُسَلِّمُ عَلَيْكَ، فَكَيْفَ نُصَلِّىْ عَلَيْكَ؟ فَدَلَّ عَلَى أَنَّ الصَّلاَةَ عَلَيْهِ مَقْرُوْنَةٌ بِالسَّلاَمِ عَلَيْهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْه وَسَلَّمَ، وَمَعْلُوْمٌ أَنَّ الْمُصَلِّىَ يُسَلِّمُ عَلَى النَّبِىِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ – يَعْنِىْ فِى التَّشَهُّدِ اْلأَوَّلِ، فَيُشْرَعُ لَهُ أَنْ يُصَلِّىَ عَلَيْهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ...
“โองการข้างต้นแสดงว่า ณ ที่ใดที่มีบทบัญญัติให้กล่าวสล่ามแก่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม (ณ ที่นั้น) ก็มีบทบัญญัติให้กล่าวศ่อละวาตแก่ท่านด้วย! ด้วยเหตุนี้ บรรดาเศาะหาบะฮ์จึงได้ถามท่านนบีย์ถึงวิธีการกล่าวศ่อละวาตแก่ท่านโดยกล่าวว่า .. “แน่นอน พวกเราทราบแล้วถึงวิธีการกล่าวสล่ามแก่ท่าน, แล้วศ่อละวาตเล่า พวกเราจะกล่าวแก่ท่านอย่างไร?” .. คำถามดังกล่าวแสดงว่า การกล่าวศ่อละวาตแก่ท่าน นบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะต้องมาควบคู่กับการกล่าวสล่ามแก่ท่าน .. ซึ่งสิ่งอันเป็นที่รับรู้กันก็คือ ผู้นมาซนั้นจะต้องกล่าวสล่ามแก่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม(ในตะชะฮ์ฮุดครั้งแรก) ดังนั้นจึงมีบทบัญญัติให้เขากล่าวศ่อละวาตแก่ท่าน (ในตะชะฮ์ฮุดครั้งแรก) ด้วย” ...
(จากหนังสือ “ญะลาอุ้ลอัฟฮาม” ของท่านอิบนุ้ลก็อยยิม หน้า 249) ...
สิ่งที่ช่วยเน้นน้ำหนักความเข้าใจดังกล่าวก็คือ ในโองการนี้มีการเชื่อมระหว่างคำว่า صَلُّوْا عَلَيْهِ และคำว่า سَلِّمُوْا تَسْلِيْمًا ด้วยพยัญชนะ وَ (แปลว่า และ) ...
ตามหลักไวยากรณ์อาหรับถือว่า การเชื่อมระหว่างคำต่อคำหรือระหว่างประโยคต่อประโยคด้วยพยัญชนะ وَ (และ) จะบ่งบอกความหมาย مُطْلَقِ الْجَمْعِ (การรวมกันโดยปราศจากข้อแม้) .. ซึ่งความหมายในที่นี้ก็คือ ทั้งคำที่เชื่อม (การอ่านสล่าม) และคำที่ถูกเชื่อม (การอ่านศ่อละวาต) จะต้องกล่าวควบคู่กันไป ...
ดังนั้น เมื่อท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สอนบรรดาเศาะหาบะฮ์ของท่านให้อ่านสล่ามแก่ท่านในตะชะฮ์ฮุดทั้งสองของการนมาซ ซึ่งแสดงว่าการอ่านสล่ามในตะชะฮ์ฮุดทั้งสองเป็นบทบัญญัติ แล้วบรรดาเศาะหาบะฮ์ก็ถามต่อไปถึงการอ่านศ่อละวาตแก่ท่านโดยพวกเขาอ้างถึงคำสั่งของพระองค์อัลลอฮ์ที่สั่งให้อ่านทั้งศ่อละวาตและสล่าม (จากโองการที่ 56 ซูเราะฮ์อัล-อะห์ซาบ) มาเป็นไตเติ้ลในคำถาม ...
แสดงว่า การอ่านศ่อละวาตดังคำสั่งของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ต้องเป็นบทบัญญัติหลังจากตะชะฮ์ฮุดทั้งสองเช่นเดียวกัน ...


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น