อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559

วิเคราะห์หะดีษ : ท่านนบีย์ฯทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวเองหลังจากถูกแต่งตั้งเป็นนบีย์แล้ว (ตอนที่ 1)


โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

(ตอนที่ 1)

เกี่ยวกับหะดีษเรื่องท่านนบีย์มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวเองหลังจากถูกแต่งตั้งเป็นนบีย์แล้ว และมีนักเขียนมุสลิมในประเทศไทยท่านหนึ่งวิจารณ์ว่า หะดีษบทนี้เป็นหะดีษมุงกัรฺ คืออ่อนมาก .. จึงนำมาอ้างเป็นหลักฐานเรื่องอนุญาตให้ผู้ซึ่งพ่อแม่มิได้ทำอะกีเกาะฮ์ให้ตอนเยาว์วัย แล้วเขามาทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวเองเมื่อโตไม่ได้ ...
เรื่องนี้ มิใช่เรื่องแปลก, มิใช่เป็นความผิดของท่านผู้เขียนหนังสือเล่มนั้น, และท่านก็มิใช่บุคคลแรกที่กล่าววิจารณ์หะดีษบทนี้ในลักษณะนั้น .....
เพราะนักวิชาการยุคแรกๆจำนวนหลายท่าน ก็เคยวิจารณ์หะดีษนี้, ในลักษณะอย่างเดียวกันนี้, .. มาก่อนแล้วเช่นเดียวกัน ....
ท่านอัล-บัยฮะกีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 458) กล่าววิจารณ์ในหนังสือ “อัส-สุนัน อัล-กุบรอ” เล่มที่ 9 หน้า 300 ว่า หะดีษนี้ เป็นหะดีษมุงกัรฺ ..
.
ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ (มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ฮ.ศ. 631-676) ได้กล่าววิจารณ์ในหนังสือ “อัล-มัจญมั๊วะอฺ” เล่มที่ 8 หน้า 431 ว่า หะดีษนี้ มุงกัรฺ, และในหน้า 432 ว่า หะดีษนี้ บาฏิล คือเป็นโมฆะ ....
ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ (มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ฮ.ศ. 773-853) ได้กล่าวในหนังสือ “ฟัตหุ้ลบารีย์” เล่มที่ 9 หน้า 595 ว่า หะดีษนี้ ไม่แน่นอน ....
ท่านมุบาร็อก ปูรีย์ นักวิชาการหะดีษแห่งอินเดีย (มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ฮ.ศ. 1283-1353) ได้กล่าวในหนังสือ “ตุห์ฟะตุ้ล อะห์วะซีย์” เล่มที่ 5 หน้า 116 ว่า หะดีษนี้ เฎาะอีฟ .....
นี่คือ ตัวอย่างคำวิจารณ์ของนักวิชาการยุคแรกๆ (และยุคหลังบางท่าน) ต่อหะดีษบทนี้ ...
แต่, ผมขอตั้งข้อสังเกตให้ท่านผู้อ่านทุกท่านรับทราบไว้ด้วยว่า ข้อวิจารณ์เกือบทั้งหมดข้างต้น พุ่งเป้าไปที่กระแสรายงาน “เพียงกระแสเดียว” จากสามกระแสของหะดีษนี้เท่านั้น
นั่นคือ กระแสของท่าน อับดุลลอฮ์ บิน มุหัรฺร็อรฺ, จากท่านเกาะตาดะฮ์, จากท่านอนัส บิน มาลิก ร.ฎ...
ถ้าหะดีษบทนี้ มีรายงานมาจากกระแสนี้เพียงกระแสเดียว ก็คงไม่มีข้อขัดแย้งใดๆในด้านความเป็นหะดีษมุงกัรฺของมัน ทั้งนี้ เพราะท่านอับดุลลอฮ์ บิน มุหัรฺร็อรฺ เป็นผู้รายงานหะดีษที่ถูกวิจารณ์ในด้านขาดความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก ....
แต่ในความเป็นจริงแล้ว หะดีษบทนี้ - จากการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนของนักวิชาการ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านชัยคุลหะดีษ คือท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ในหนังสือ “ฟัตหุ้ลบารีย์” เล่มที่ 9 หน้า 595, และท่านมุหัมมัด นาศิรุดดีน อัล-อัลบานีย์ ในหนังสือ “อัศ-เศาะหี้หะฮ์” เล่มที่ 6 หน้า 502 หรือหะดีษที่2726)) แล้ว -
ปรากฏว่า หะดีษบทนี้ มีการรายงานมาจากท่านอนัส บิน มาลิก ร.ฎ. รวม 3 กระแสด้วยกัน ...
และหนึ่งจาก 3 กระแสดังกล่าว ถือว่า เป็นกระแสรายงานที่ถูกต้อง ตามหลักวิชาการหะดีษอีกด้วย ......
และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมผู้ที่มีความรู้น้อยอย่างผมจึงกล้าขัดแย้งกับบรรดานักวิชาการหะดีษชั้นนำของโลกอิสลามดังที่ระบุนามมาข้างต้นใน “ข้อเท็จจริง”และ “สถานภาพ” ของหะดีษบทนี้ ( แม้กระทั่งกับท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ผู้ได้รับสมญานามว่า เป็น “คัมภีร์หะดีษ” เองก็ตาม ) .....
เพราะว่า, .. ถึงแม้ท่านจะมีความเชี่ยวชาญเลอเลิศเป็นเอตทัคคะในวิชาการแขนงนี้สักปานใด แต่ท่านก็คือปุถุชนคนหนึ่ง จึงย่อมจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งผมจะได้อธิบายให้ท่านผู้อ่านได้เห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ในตอนหลัง อินชาอัลลอฮ์
สายรายงานสองกระแสแรกของหะดีษบทนี้ เป็นสายรายงานที่เฎาะอีฟ, แต่สายรายงานของกระแสที่สาม เป็นสายรายงานที่เศาะเหี๊ยะฮ์ ดังรายละเอียดต่อไปนี้ ....
กระแสที่หนึ่ง
ท่านอนัส บิน มาลิก ร.ฎ. ได้รายงานมาว่า ......
اِنَّ النَّبِيَّ صَلَّي اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَـقَّ عَنْ نَفْسِهِ بَعْدَ مَـا بُعِثَ نَبِيًّـا
“แท้จริง ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวของท่านเอง หลังจากท่านถูกแต่งตั้งเป็นนบีย์แล้ว” ....
(บันทึกโดย ท่านอับดุรฺ ร็อซซาก ในหนังสือ “อัล-มุศ็อนนัฟ” เล่มที่ 4 หน้า 32, หรือหะดีษที่7960, ท่านอิบนุหิบบาน ในหนังสือ “อัฎ-ฎุอะฟาอฺ” เล่มที่ 2 หน้า 33, ท่านอัล-บัซซารฺในหนังสือ “อัล-มุสนัด” เล่มที่ 2 หน้า 74, และท่านอัล-บัยฮะกีย์ ในหนังสือ “อัส-สุนัน อัล-กุบรอ” เล่มที่ 9 หน้า 300) .....
สายรายงานของหะดีษข้างต้น มีดังต่อไปนี้ .....
1. อับดุรฺ ร็อซซาก และผู้บันทึกหะดีษท่านอื่นๆ
2. อับดุลลอฮ์ บิน มุหัรฺร็อรฺ
3. เกาะตาดะฮ์ อิบนุ ดิอามะฮ์
4. อนัส บิน มาลิก ร.ฎ.
5. ท่านรอซุ้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม
กระแสรายงานข้างบนนี้ถูกวิจารณ์ว่า เป็นกระแสรายงานที่มุงกัรฺหรืออ่อนมากจากนักวิชาการหลายท่าน ดังที่ผมได้ระบุนามไปแล้วข้างต้น,.. ซึ่งจุดบกพร่องของมันก็คือ ท่านอับดุลลอฮ์ บิน มุหัรฺร็อรฺ (หมายเลข 2) ......
ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้กล่าววิจารณ์ท่านอับดุลลอฮ์ผู้นี้ในหนังสือ “อัต-ตักรีบ” เล่มที่ 1 หน้า 445 ว่า “มัตรูก” .. คือ ถูกเมิน หรืออ่อนมาก .....
ท่านอัส-ษะฮะบีย์ ได้อ้างคำพูดของท่านบุคอรีย์ที่กล่าววิจารณ์ท่านอับดุลลอฮ์ บิน มุหัรฺร็อรฺมาระบุในหนังสือ “อัล-กาชิฟ” เล่มที่ 2 หน้า 110-111 ว่า “เขาเป็นผู้รายงานประเภท มุงกัรฺ อัล-หะดีษ .. ซึ่งก็มีความหมายคล้ายๆหรืออยู่ในระดับเดียวกับคำว่า มัตรูก นั่นเอง ...
และในหนังสือ “มีซาน อัล-เอี๊ยะอฺติดาล” เล่มที่ 2 หน้า 500-501 ท่านอัส-ษะฮะบีย์ก็ได้ตีแผ่รายนามนักวิชาการที่กล่าววิจารณ์ท่านอับดุลลอฮ์ บิน มุหัรฺร็อรฺ พร้อมด้วยตัวอย่างหะดีษต่างๆที่มีนามของท่านผู้นี้เป็นผู้ร่วมรายงานด้วย ซึ่งเกือบทุกบท เป็นหะดีษเฎาะอีฟ .....
สรุปแล้ว กระแสรายงานที่ 1 ของหะดีษเรื่องท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวเองหลังจากเป็นนบีย์แล้ว จึงเป็นกระแสรายงานที่อ่อนมาก .... ถูกต้องดังการวิจารณ์ของบรรดานักวิชาการหะดีษและนักเขียนมุสลิมท่านนั้น ....
กระแสที่สอง
ข้อความของหะดีษบทนี้จากกระแสที่สอง ก็เหมือนกับข้อความของกระแสที่หนึ่ง แต่มีสายรายงานดังต่อไปนี้ .....
1. อบู อัช-ชัยค์ (ชื่อจริงคือ หัยวาน บิน คอลิด)
2. อิสมาอีล บิน มุสลิม อัล-มักกีย์
3. เกาะตาดะฮ์ อิบนุ ดิอามะฮ์
4. .......................
5. ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม,
( โปรดดูหนังสือ “ฟัตหุ้ล บารีย์” ของท่านอิบนุ หะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ เล่มที่ 9 หน้า 595).....
สายรายงานนี้ ถือว่าเป็นสายรายงานที่เฎาะอีฟหรืออ่อน เพราะมีข้อบกพร่อง 2 ประการ คือ .......
(1) ท่านอิสมาอีล บิน มุสลิม อัล-มักกีย์ (ลำดับที่ 2) เป็นผู้รายงานที่เฎาะอีฟ ....
(โปรดดู “อัต-ตักรีบ” เล่มที่ 1 หน้า 74, และ “อัล-กาชิฟ” เล่มที่ 1 หน้า 78) ....
ท่านอบู หาติม อัรฺ-รอซีย์ (ชื่อจริงคือ ท่านมุหัมมัด บิน อิดริส, สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 277) ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ถือว่า มีความเคร่งครัดในเรื่องประวัติผู้รายงานหะดีษ ได้กล่าววิจารณ์ท่านอิสมาอีล บิน มุสลิม ผู้นี้ในหนังสือ “อัล-ญัรฺห์ วัต-ตะอฺดีล” เล่มที่ 2 หน้า 199 ว่า ....
وَاِسْمَاعِيْلُ هُوَ ضَعِيْفُ الْحَدِيْثِ, لَيْسَ بِمَتْرُوْكٍ , يُكْتَبُ حَدِيْثُـهُ ...
“และอิสมาอีลผู้นี้ เป็นผู้รายงานหะดีษที่เฎาะอีฟ, (แต่)ไม่ถึงกับถูกเมิน, หะดีษของเขา สามารถนำมาพิจารณา ( คือ ใช้ส่งเสริมหรือยืนยันหะดีษกระแสอื่น ) ได้”
ข้อความดังกล่าวนี้แสดงว่า แม้ท่านอิสมาอีล บินมุสลิม จะเป็นผู้รายงานที่เฎาะอีฟก็จริง แต่ก็ยังเฎาะอีฟน้อยกว่าท่านอับดุลลอฮ์ บิน มุหั้รฺร็อรฺของกระแสแรก ....
(2) หะดีษกระแสนี้ มีการรายงานในลักษณะ “มุรฺซัล” คือ ข้ามขั้นตอน .....
ท่านเกาะตาดะฮ์ อิบนุ ดิอามะฮ์ เป็นตาบิอีนหรือคนในยุคหลังจากเศาะหาบะฮ์ (สิ้นชีวิตประมาณปี ฮ.ศ. 117 หรือ 118 ) จึงไม่ทันเจอกับท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม แต่อ้างการรายงานมาจากท่านรอซู้ล ฯ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ...
ผลงานการอ้างข้ามขั้นตอนดังกล่าว มิได้เกิดจากท่านเกาะตาดะฮ์ซึ่งเป็นผู้ที่เชื่อถือได้, แต่เข้าใจว่า น่าจะเป็นผลงานของท่านอิสมาอีล บิน มุสลิม อัล-มักกีย์ ซึ่งแอบอ้างหะดีษบทนี้มาจากท่านอับดุลลอฮ์ บิน มุหัรฺร็อรฺ แล้วโยนกลองไปหาท่านเกาะตาดะฮ์อีกทีหนึ่ง .. ดังการกล่าวหาของท่านอับดุรฺ ร็อซซาก .. จากการบันทึกของท่านอิบนุหะญัรฺใน “ฟัตหุ้ลบารีย์” เล่มที่ 9 หน้า 595 .....
กระแสที่ 3.
ท่านอนัส บิน มาลิก ร.ฎ. ได้กล่าวว่า ....
اِنَّ النَّبِيَّ صَلَّي اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَقَّ عَنْ نَفْسِهِ بَعْدَ مَا جَاءَتْـهُ النُّبُوَّةُ
“แท้จริง ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวท่านเอง หลังจากถูกแต่งตั้งเป็นนบีย์แล้ว” ....
(บันทึกโดย ท่านอัฏ-เฏาะหาวีย์ในหนังสือ “มุชกิล อัล-อาษารฺ” เล่มที่ 1 หน้า 315 หรือหะดีษที่ 1093, ท่านอิบนุ หัสม์ ในหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” เล่มที่ 7 หน้า 528, ท่านอัฏ-ฏ็อบรอนีย์ในหนังสือ “อัล-มุอฺญัม อัล-เอาซัฏ” หะดีษที่ 976, ท่านอัฎ-ฎิยาอ์ อัล-มุก็อดดิซีย์ ในหนังสือ “อัล-อะหาดีษ อัล-มุขตาเราะฮ์” หะดีษที่ 71, และท่านอบู อัช-ชัยค์ ในหนังสือ “อัล-อะฎอฮีย์” ดังการอ้างอิงของท่านอัล-อัลบานีย์ในหนังสือ “อัศ-เศาะหี้หะฮ์” เล่มที่ 6 หน้า 502, และท่านอิบนุ หะญัรฺ อัล-อัศเกาะลานีย์ จากหนังสือ “ฟัตหุ้ลบารีย์” เล่มที่ 9 หน้า 595) ..
สายรายงานของหะดีษกระแสนี้ มีดังนี้ .....
1. อัฏ-เฏาะหาวีย์ และผู้บันทึกท่านอื่นๆ
2. อัล-หะซัน บิน อับดุลลอฮ์ บิน มันศูรฺ จากการบันทึกของท่านอัฏ-เฏาะหา วีย์, .... อบูบักร์ อัล-มุสตะมิลีย์ จากการบันทึกของท่านอบู อัช-ชัยค์, และ อัมรฺ บิน มุหัมมัด อัน-นากิด จากการบันทึกของท่านอิบนุหัสม์ ...
3. อัล-ฮัยษัม บิน ญะมีล
4. อับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนา บิน อับดุลลอฮ์ บิน อนัส บิน มาลิก ร.ฎ.
5. ษุมามะฮ์ บิน อับดุลลอฮ์ บิน อนัส บิน มาลิก ร.ฎ.
6. อนัส บิน มาลิก ร.ฎ.
7. ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม
สายรายงานของหะดีษนี้ ถือว่าเป็นสายรายงานที่ถูกต้อง, ... บุคคลตั้งแต่ลำดับที่ 4 ลงมา ล้วนเป็นผู้รายงานที่ท่านบุคอรีย์เชื่อถือและยอมรับในหนังสือ “อัศ-เศาะเหี๊ยะฮ์” ของท่าน,. ส่วนท่านอัล-ฮัยษัม บิน ญะมีล แม้จะมิใช่เป็นผู้รายงานของท่านบุคอรีย์ แต่ท่านก็เป็นผู้รายงานหะดีษที่ได้รับความเชื่อถือ ( ษิเกาะฮ์) เช่นเดียวกัน ....
( โปรดดูหนังสือ “อัต-ตักรีบ” เล่มที่ 2 หน้า 326, และหนังสือ “อัล-กาชิฟ” เล่มที่ 3 หน้า 202 ) ....
ท่านอิบนุ หะญัรฺ อัล-อัศเกาะลานีย์ ได้นำเอาหะดีษบทนี้จากทุกกระแส มาวิเคราะห์ในหนังสือ “ฟัตหุ้ล บารีย์” เล่มที่ 9 หน้า 595 .... ( ซึ่งผมจะขออธิบายแบบสรุปในบางตอนเพื่อความกระชับและเข้าใจง่ายขึ้น ) ดังต่อไปนี้ .....



ثَانِيْهِمَا : مِنْ رِّوَايَةِ اَبِيْ بَكْرٍ الْمُسْتَمِلِيِّ عَنِ اْلهَيْثَمِ بْنِ جَمِيْلٍ وَدَاوُدَ بْنِ الْمُحَبَّرِ قَالاَ : حَدَّثَنَاعَبْدُاللَّـهِ بْنُ الْمُثَنَّي عَنْ ثُمَامَةَ عَنْ اَنَسٍ، وَدَاوُدُ ضَعِيْفٌ، لَكِنِ الْهَيْثَمُ ثِقَـةٌ، وَعَبْدُاللَّـهِ مِنْ رِجَالِ الْبُخَارِىِّ، فَالْحَدِيْثُ قَوِىُّ اْلإِ سْنَادِ، وَقَدْ اَخْرَجَهُ مُحَمَّدُ بْنُ عَبْدِ الْمَلِكِ عَنْ عَمْرٍوالنَّاقِدِ، وَاَخْرَجَهُ الطَّبْرَانِيُّ فِي ( اْلاَوْسَطِ ) عَنْ اَحْمَدَ بْنِ مَسْعُوْدٍ كِلاَ هُمَا عَنِ الْهَيْثَمِ بْنِ جَمِيْلٍ وَحْدَهُ بِهِ فَلَوْلاَ مَافِيْ عَبْدِ اللَّـهِ بْنِ الْمُثَنَّي مِنَ الْمَقَالِ لَكَانَ هَذَاالْحَدِيْثُ صَحِيْحًا...... .
“ กระแสที่สองจากสองกระแสของหะดีษนี้ (จากการบันทึกของท่านอบู อัช-ชัยค์) มาจากการรายงานของท่านอบูบักรฺ อัล-มุสตะมิลีย์ ... ซึ่งรายงานมาจากท่าน อัล-ฮัยษัม บิน ญะมีล และท่านดาวูด บิน อัล-มุหับบัรฺ, โดยทั้ง 2 ท่านนั้นกล่าวว่า : ท่านอับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนาได้กล่าวกับเราโดยรายงานมาจาก ท่านษุมามะฮ์ บิน อนัส ....... ท่านดาวูด บิน อัล-มุหับบัรฺ เป็นผู้รายงานที่เฎาะอีฟ แต่ท่านอัล-ฮัยษัม เป็นผู้ที่เชื่อถือได้, และท่านอับดุลลอฮ์(บิน อัล-มุษันนา) ก็เป็นผู้รายงานของท่านบุคอรีย์ ดังนั้น หะดีษนี้จึงถือว่า มีสายรายงานแข็งแรง, (ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์กล่าวต่อไปว่า) ..ท่านมุหัมมัด บิน อับดุลมะลิก ได้บันทึกหะดีษนี้มาจากท่านอัมรฺ อัน-นากิด .. และท่านอัฏ-ฏ็อบรอนีย์ ก็ได้บันทึก(หะดีษนี้)ในหนังสือ “อัล-มุอฺญัม อัล-เอาซัฏ” มาจากท่านอะห์มัดบิน มัสอูด, ซึ่งแต่ละท่านจากทั้งสองนั้น (ท่านอัมรฺและท่านอะห์มัด) ได้รายงานหะดีษนี้มาจากท่านอัล-ฮัยษัม บิน ญะมีล ตามลำพัง.. (คือ ไม่มีชื่อท่านดาวูด บิน อัล-มุหับบัรฺร่วมรายงาน) ด้วย, ซึ่งถ้าไม่เพราะข้อวิจารณ์เกี่ยวกับตัวท่านอับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนาแล้ว หะดีษบทนี้ก็จะเป็นหะดีษที่ถูกต้อง (เศาะเหี๊ยะฮ์) .....
สรุปคำวิจารณ์ของท่านอิบนุหะญัรฺก็คือ “จุดอ่อน” ของหะดีษกระแสนี้ อยู่ที่ท่าน อับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนา ..
ผมจึงขออธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานภาพของท่านอับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนาให้ท่านผู้อ่านรับทราบพอเป็นสังเขปครับ ....
แม้ว่า, ท่านอับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนาผู้นี้จะเป็นผู้รายงานที่ท่านบุคอรีย์ยอมรับ แต่นักวิชาการหะดีษท่านอื่นๆก็มีมุมมองที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับตัวท่าน ... คือ นักวิชาการบางส่วนให้ความเชื่อถือ และบางส่วนก็ไม่ให้ความเชื่อถือ ......
( ดูรายละเอียดเกี่ยวกับข้อวิจารณ์ท่านอับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนาได้จากหนังสือ “มีซาน อัล-เอี๊ยะอฺติดาล” เล่มที่ 2 หน้า 499-500, และหนังสือ “ตะฮ์ซีบุต-ตะฮ์ซีบ” เล่มที่ 5 หน้า 338-339 ) ...
ซึ่งท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์เอง, ... หลังจากได้ตีแผ่รายนามนักวิชาการ - ทั้งที่ให้ความเชื่อถือและไม่ให้ความเชื่อถือต่อท่านอับดุลลอฮ์ บินอัล-มุษันนา - แล้ว ท่านอิบนุหะญัรฺ ก็กล่าวสรุปว่า ....
فَهَذَا مِنَ الشُّيُوْخِ الَّذِيْنَ اِذَاانْفَرَدَ اَحَدُهُمْ بِالْحَدِيْثِ لَمْ يَكُنْ حُجَّـةً
“ และนี่ (หมายถึงท่านอับดุลลอฮ์ บินอัล-มุษันนา) คือหนึ่งจากบรรดาผู้รายงานหะดีษที่หากเขารายงานหะดีษบทใดมาเพียงลำพังแล้ว หะดีษนั้นก็ไม่อาจจะนำมาเป็นหลักฐานได้” ....
(จาก “ฟัตหุ้ล บารีย์” เล่มที่ 9 หน้า 595)......
สรุปแล้ว หะดีษเรื่องท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวเองหลังจากถูกแต่งตั้งเป็นนบีย์แล้ว -- แม้กระทั่งจากกระแสรายงานที่ 3 .. คือกระแสของท่านอับดุลลอฮ์ บิน อัล-มุษันนา ที่รายงานมาจากท่าน ษุมามะฮ์ บิน อับดุลลอฮ์ ผู้เป็นลุงก็ตาม -- ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ถือว่า ในทัศนะของท่าน คือหะดีษเฎาะอีฟ, นำมาอ้างเป็นหลักฐานไม่ได้ ....
จุดนี้เองที่ผมมองว่า น่าจะเป็น “จุดพลาด” ของท่านอิบนุหะญัรฺในกรณีนี้ (ขออัลลอฮ์โปรดอภัยแก่ท่านด้วย) .....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น