โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย
อนึ่ง สำหรับเรื่องการยกมือขอดุอาหลังนมาซสุนัต ดังที่มีการอ้างหลักฐานจากหะดีษในเอกสารที่ท่านผู้ถามส่งมาให้ผมนั้น ก่อนอื่น ผมก็ต้องขออนุญาตคัดลอกข้อความในเอกสารแผ่นนั้น ให้ท่านผู้อ่านได้เห็นกันดังนี้ ....
عَنْ أبِيْ مُوْسَى اَْلأشْعَرِيِّ أنَّهُ طَلَبَ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَن يَّسْتَغْفِرَ ِلأَخِيْهِ، فَقَامَ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَصَلَّى رَكْعَتَيْنِ، ثُمَّ بَعْدَالصَّلاَةِ رَفَعَ يَدَيْهِ وَدَعَا صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ِلأَبِيْ مَالِكٍ ثُمَّ ِلأَبِيْ مُوْسَى رَضِىَ اللَّهُ عَنْهُمَا ...
ท่านอบู มูสา อัลอัชอารีย์ ขอให้ท่านรสูลุลลอฮ์ช่วยขออภัยให้แก่พี่น้องของเขา จากนั้น ท่านรสูลจึงลุกขึ้นนมาซสองร็อกอะฮ์ ภายหลังนมาซเสร็จ ท่านรสูลก็ยกมือทั้งสองของท่านและดุอาอฺให้แก่ท่านอบูมาลิก จากนั้น ก็ขอให้แก่ท่านอบูมูสา (เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุมา)
จากหะดีษข้างต้นสรุปได้ว่า ท่านรสูลุลลอฮ์เคยยกมือขอดุอาอฺหลังนมาซสุนัต ซึ่งเป็นการบ่งบอกให้รู้ว่า อนุญาตให้กระทำเช่นนั้นได้ กระนั้นก็ตาม ท่านรสูลกระทำเช่นนั้นเพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น ในหนังสือ “ฟัยฎุลบารีย์” เล่ม 4 หน้า 417 ได้กล่าวไว้ว่า
“การยกมือทั้งสองเพื่อขอดุอาหลังนมาซสุนนะฮ์ พบหลักฐานว่า ถูกปฏิบัติเพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น”
จากข้อความข้างต้น พอจะสรุปได้ดังนี้ .....
1. การยกมือขอดุอาหลังนมาซสุนัต ท่านรอซู้ลฯ เคยปฏิบัติเพียงหนึ่งครั้งหรือสองครั้ง......
2. หะดีษบทนั้น คือหลักฐานเรื่องการยกมือขอดุอาหลังนมาซสุนัต, .....
ผมขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ ดังต่อไปนี้ ....
(1). คำกล่าวที่ว่า “การยกมือทั้งสองเพื่อขอดุอาหลังนมาซสุนนะฮ์ พบหลักฐานว่า ถูกปฏิบัติเพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น” หากคำว่า “นมาซสุนนะฮ์” ในที่นี้ หมายถึงการนมาซในกรณีเกิดปรากฏการณ์ตามการกำหนดสภาวะของอัลลอฮ์ ที่เรียกกันทั่วๆไปว่า “ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ” เช่น การนมาซขอฝนเมื่อเกิดแล้งจัด, หรือนมาซกุซูฟ เมื่อเกิดสุริยคราสหรือจันทรคราส ก็ถือว่าเป็นเรื่องถูกต้อง, ทั้งนี้ เพราะท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม เคยยกมือขอดุอาหลังนมาซขอฝนดังการรายงานของท่านบุคอรีย์จากท่านอนัส บิน มาลิก ร.ฎ, และหลังนมาซสุริยคราสดังการรายงานของท่านมุสลิม จากท่านอับดุรฺเราะห์มาน บิน สะมุเราะฮ์ และท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. ......
แต่ถ้าหากคำว่า “นมาซสุนนะฮ์” ในที่นี้ หมายถึงนมาซสุนัตอื่นจากนมาซขอฝนและนมาซสุริยคราส อันเป็นความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วๆไปของคำว่านมาซสุนัต อย่างเช่น นมาซสุนัตหลังมัคริบ, นมาซสุนัตก่อนนมาซซุบห์, นมาซสุนัตก่อนหรือหลังซุฮริ, เป็นต้น ผมก็ไม่เคยเจอรายงานหะดีษแม้แต่บทเดียวว่า ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จะเคยยกมือขอดุอาหลังนมาซสุนัตเหล่านี้ ....
(2). สำหรับหะดีษที่ถูกนำมาอ้างเป็นหลักฐานเรื่องการยกมือขอดุอาหลังนมาซสุนัตบทนั้น แม้ว่าผมจะไม่เคยเจอสายรายงานของหะดีษดังสำนวนข้างต้น แต่เมื่อพิจารณาดูแล้ว หะดีษสำนวนข้างต้นนี้ น่าจะเป็นหะดีษที่ข้อความผิดเพี้ยน (เรียกตามศัพท์วิชาการหะดีษว่า حَدِيْثٌ شَاذٌّّ ) หรือมิฉะนั้น ก็เป็นหะดีษที่ถูกคัดค้าน ( حَدِيْثٌ مُنْكَرٌ ) ซึ่งถือว่า เป็นหะดีษที่อ่อนมาก, ทั้งนี้ เนื่องจากข้อความบางส่วนของหะดีษนี้ ขัดแย้งกับข้อความของหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ ซึ่งถูกรายงานโดยท่านบุคอรีย์และท่านมุสลิม อันมีเนื้อหายาวพอประมาณ ซึ่งผมจะสรุปตอนต้นให้ทราบพอเป็นสังเขปดังนี้ ......
“หลังจากได้ปราบปรามศัตรูผู้กระด้างกระเดื่อง อันเป็นยิวเผ่าษะกีฟและเผ่าฮะวาซิน ในสงครามหุนัยน์ (เป็นชื่อหุบเขา, อยู่ระหว่างเส้นทางไปเมืองฏออิฟ) ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 10 เดือนเชาวาล ฮ.ศ. 8 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ก็ได้แต่งตั้งให้ท่านอบูอามิรฺ อัล-อัชอะรีย์ ร.ฎ.(ชื่อจริงคือ อุบัยด์ บิน สุลัยม์) เป็นแม่ทัพ ร่วมคุมทหารกองหนึ่งเดินทางไปกับหลานชาย คือท่านอบูมูซา อัล-อัชอะรีย์ ร.ฎ. (ชื่อจริงคือ อับดุลลอฮ์ บิน ก็อยซ์ บิน สุลัยม์) เพื่อติดตามจับกุมพวกยิวเหล่านั้นที่แตกพ่ายไปจากหุนัยน์, และไปพึ่งพาอาศัยอยู่กับยิวเผ่าฮะวาซินที่หุบเขาแห่งหนึ่งคือหุบเขาเอาฏ็อซ ( أوطاس ) .......
ในการต่อสู้กับศัตรูที่เอาฏ็อซ ท่านอบูอามิรฺ ร.ฎ.ถูกข้าศึกคนหนึ่งจากเผ่าญุชัม ใช้ธนูยิงโดนที่เข่าอย่างจังและเสียโลหิตมาก แต่ท่านอบูมูซาผู้เป็นหลาน ก็ได้ติดตามไปสังหารข้าศึกคนนั้นได้สำเร็จ .....
ก่อนสิ้นชีวิต ท่านอบูอามิรฺ ร.ฎ. ก็ได้มอบหมายให้ท่านอบูมูซารับหน้าที่เป็นแม่ทัพแทนท่าน และได้กล่าวแก่ท่านอบูมูซา (ตามการรายงานของท่านอบู มูซาเอง) ว่า ....
" يَا إبْنَ أخِىْ ! إنْطَلِقْ إلَى رَسُوْلِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، فَأَقْرِئْهُ مِنِّي السَّلاَم،َ وَقُلْ لَهُ : يَقُوْلُ لَكَ اَبُوْعَامِرٍ : إسْتَغْفِرْلِيْ"، .. وَمَكَثَ يَسِيْرًا ثُمَّ إنَّهُ مَاتَ، فَلَمَّا رَحَعْتُ إلَى النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْه وَسَلَّمَ ... قُلْتُ لَهُ : " قَالَ : قُلْ لَـهُ : يَسْتَغْفِرْلِيْ " فَدَعَارَسُوْلُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ بِمَاءٍ فَتَوَضَّاَمِنْهُ، ثُمَّ رَفَعَ يَدَيْهِ، ثُمَّ قَالَ : " اَللَّهُمَّ إغْفِرْلِعُبَيْدٍ أَبِيْ عَامِرٍ"، حَتَّى رَأَيْتُ بَيَاضَ إبْطَيْهِ، ثُمَّ قَالَ : أَللَّهُمَّ اجْعَلْهُ يَوْمَ اْلقِيَامَةِ فَوْقَ كَثِيْرٍمِنْ خَلْقِكَ أوْمِنَ النَّاسِ" فَقُلْتُ : " وَلِيْ، يَارَسُوْلَ اللَّهِ ! فَاسْتَغْفِرْ" فَقَالَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ " اَللَّهُمَّ اغْفِرْلِعَبْدِاللَّهِ بْنِ قَيْسٍ ذَنْبَهُ، وَأَدْخِلْهُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ مُدْخَلاً كَرِيْمًا"
قَالَ أبُوْبُرْدَةَ : إحْدَاهُمَا ِلأَبِيْ عَامِرٍ، وَاْلاُخْرَى ِلأَبِيْ مُوْسَى .....
“หลานเอ๋ย ! จงกลับไปหาท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิ วะซัลลัม และบอกท่านว่า ฉันฝากสล่ามมาด้วย, แล้วจงบอกแก่ท่านว่า อบู อามิรฺสั่งมาว่า ให้ท่านขออภัยโทษ (ต่ออัลลอฮ์) แก่ฉันด้วย, .. ท่านมีชีวิตอยู่ได้ครู่หนึ่ง ก็สิ้นใจ, เมื่อฉัน (อบู มูซา) กลับไปหาท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ... ฉันก็กล่าวแก่ท่านว่า ท่านอบู อามิรฺได้สั่งมาว่า ให้ท่านขออภัยโทษ (ต่ออัลลอฮ์) ให้เขาด้วย, ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงสั่งให้คนนำน้ำมาให้ แล้วท่านก็ทำวุฎูอ์, จากนั้นท่านก็ยกมือทั้งสองขึ้นแล้วกล่าวว่า “โอ้ อัลลอฮ์ ! โปรดยกโทษให้อุบัยด์ .. อบู อามิรฺด้วยเถิด” ..จนฉันสามารถมองเห็นความขาวของรักแร้ของท่านได้, แล้วท่านก็กล่าวอีกว่า ..โอ้ อัลลอฮ์ ! โปรดให้เขาได้อยู่ในตำแหน่งที่สูงส่งในวันกิยามะฮ์เหนือกว่าปวงบ่าวส่วนมาก ..หรือประชาชนจำนวนมาก .. ของพระองค์” ฉัน (อบู มูซา) จึงกล่าวว่า “ขออภัยโทษให้ฉันบ้างซิ โอ้ ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ !” ท่านจึงกล่าวว่า “โอ้ อัลลอฮ์ ! โปรดอภัยโทษให้แก่อับดุลลอฮ์ บิน ก็อยซ์ (ชื่อจริงของท่านอบู มูซา), และโปรดให้เขาได้เข้าอยู่ ณ สถานที่อันทรงเกียรติในวันกิยามะฮ์ด้วยเถิด”
ท่านอบู บุรฺดะฮ์ (เป็นบุตรชายของท่านอบู มูซา อัล-อัชอะรีย์ ร.ฎ. สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 104) ได้กล่าวว่า .. “ครั้งหนึ่ง ท่านนบีย์ขอดุอาให้แก่ท่านอบู อามิรฺ, และอีกครั้งหนึ่ง ขอให้แก่ท่านอบู มูซา”) ...
(บันทึกโดย ท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 4323, ท่านมุสลิม หะดีษที่ 2498, และมีบันทึกในหนังสือ “อัล-บิดายะฮ์ วัล-นิฮายะฮ์” ของท่านอิบนุ กะษีรฺ เล่มที่ 4 หน้า 736 ด้วย) ...
หะดีษบทนี้ เป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์โดยปราศจากข้อสงสัย ...
จะเห็นได้ว่า หะดีษบทนี้กับหะดีษข้างต้น คือหะดีษเดียวกัน ! แต่มีข้อความที่ขัดแย้งกัน 2 ตำแหน่ง คือ ...
(1). หะดีษข้างต้นกล่าวว่า พอท่านอบู มูซา ขอให้ช่วยขออภัยให้ ท่านนบีย์ก็ลุกขึ้นทำนมาซ 2 ร็อกอะฮ์ (ไม่ทราบว่าเป็นนมาซอะไร? ทั้งยังแสดงว่า ขณะนั้นท่านนบีย์คงมีวุฎูอ์พร้อมอยู่แล้ว) แต่ในหะดีษที่ถูกต้องบทนี้กล่าวว่า พอท่านอบู มูซาขอร้อง ท่านนบีย์ก็สั่งให้คนไปเอาน้ำมาให้ แล้วท่านก็ทำวุฎูอ์, ต่อจากนั้น ท่านก็ยกมือขึ้นขอดุอาโดยไม่ได้นมาซ 2 ร็อกอะฮ์ ดังที่ถูกกล่าวอ้างในหะดีษข้างต้น .....
ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้อธิบายข้อความของหะดีษตอนนี้ ในหนังสือ “ฟัตหุ้ล บารีย์” เล่มที่ 8 หน้า 43 ว่า .....
يُسْتَفَادُمِنْهُ إسْتِحْبَابُ التَّطْهِيْرِِ ِلإرَادَةِ الدُّعَاءِ، وَرَفْعِ الْيَدَيْنِ فِي الدُّعَاءِ ......
“สิ่งที่ได้รับจากหะดีษตอนนี้ก็คือ สมควรทำความสะอาด (เช่นทำวุฎูอ์) เมื่อต้องการจะขอดุอา, และชอบให้มีการยกมือทั้งสองในการขอดุอา” ....
เพราะฉะนั้น หะดีษบทนี้จึงมิใช่หลักฐานเรื่องการยกมือขอดุอาหลังนมาซสุนัต ดังที่หนังสือเล่มนั้นอ้าง, ... แต่ถ้าหากจะอ้างว่า หะดีษตอนนี้ คือหลักฐานอีกบทหนึ่งเรื่องสุนัตให้ยกมือเพื่อขอดุอาอิสติฆฟารฺ (ขออภัยโทษ) ให้แก่ผู้ตาย (ไม่ว่าจะเป็นการอิสติฆฟารฺตอนฝังเสร็จใหม่ๆ หรืออิสติฆฟารฺให้ผู้ตาย ไม่ว่าที่ใดก็ตาม) ก็น่าจะถูกต้องกว่า ....
(2). หะดีษข้างต้นนั้นกล่าวว่า ท่านนบีย์ยกมือขอดุอาให้แก่ท่านอบู มาลิก (อัล-อัชอะรีย์), แต่หะดีษที่ถูกต้องบทนี้กล่าวว่า ผู้ที่เสียชีวิตและท่านนบีย์ขอดุอาให้ ก็คือ ท่านอบู อามิรฺ อัล-อัชอะรีย์ ซึ่งเป็นอาของท่านอบู มูซา อัล-อัชอะรีย์ และเป็นคนละคนกับท่านอบู มาลิก อัล-อัชอะรีย์ ...
ท่านอบู อามิรฺ อัล-อัชอะรีย์ มีชื่อจริงว่า “อุบัยด์ บิน สุลัยม์” ดังได้กล่าวมาแล้ว,ส่วนท่านอบู มาลิก อัล-อัชอะรีย์ ก็เป็นเศาะหาบะฮ์ที่มีนามสกุลเดียวกันกับท่านอบู อามิรฺ, และเศาะหาบะฮ์ที่มีสมญานามว่า อบู มาลิก อัล-อัชอะรีย์นี้ มีอยู่ 2 ท่านด้วยกัน, ท่านแรกคือ “ท่านอัล-หาริษ บิน อัล-หาริษ” (จากหนังสือ “อัล-อิศอบะฮ์” เล่มที่ 1 หน้า 288), ส่วนอีกท่านหนึ่งมีชื่อจริงว่า “กะอฺบ์ (กะอับ) บิน อาศิม” (จากหนังสือ “อัล-อิศอบะฮ์” เล่มที่ 7 หน้า 168) ..ซึ่งไม่ว่าจะเป็นท่านใดจากทั้ง 2 ท่านนี้ ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขอดุอาอิสติฆฟารฺให้ของท่านนบีย์ในหะดีษบทนี้แต่อย่างใด ทั้งสิ้น
จุดขัดแย้งทั้ง 2 ประการนี้ แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องในด้าน ”ความจำ” ของผู้รายงานบางท่านของหะดีษข้างต้น, และหะดีษบทใดก็ตามที่ผู้รายงานที่บกพร่อง ได้รายงานให้ขัดแย้งกับผู้รายงานที่เชื่อถือได้ จะเรียกหะดีษนั้นตามศัพท์วิชาการว่า “หะดีษมุงกัรฺ” ( حَدِيْثٌ مُنْكَرٌ ) ซึ่งถือเป็นหะดีษที่อ่อนมากดังกล่าวมาแล้ว ...
สรุปแล้ว เรื่องการยกมือขอดุอาหลังนมาซสุนัต, ไม่ว่านมาซสุนัตชนิดใด จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีหลักฐานที่ถูกต้องมายืนยันแม้แต่บทเดียว นอกจากในนมาซสุนัตเมื่อเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่นนมาซขอฝนเมื่อฝนแล้ง หรือนมาซกุซูฟเมื่อเกิดสุริยคราสหรือจันทรคราส ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ......
วัลลอฮุ อะอฺลัม.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น