อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2560

ชีอะฮ์กับมุตอะฮ์ (ตอนที่ 2)






โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ก่อนที่จะทำการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงเรื่องนิกาห์มุตอะฮ์ ก็ขออธิบายให้ท่านผู้อ่านเข้าใจความหมายนิกาห์มุตอะฮ์และวิธีการมุตอะฮ์ของชีอะฮ์, ที่มาของนิกาห์มุตอะฮ์ในอิสลาม, และความแตกต่างระหว่างการนิกาห์ถาวรกับนิกาห์มุตอะฮ์ ดังต่อไปนี้ ...
(1). นิกาห์มุตอะฮ์คืออะไร ?
คำว่า “มุตอะฮ์” ตามหลักภาษา แปลว่า ความสุข, ความสบาย ...
เพราะฉะนั้น การนิกาห์มุตอะฮ์จึงหมายถึง การนิกาห์(ชั่วคราว)ที่มีเป้าหมายเพื่อแสวงหา “ความสุข” ทางเพศจากสตรีที่นิกาห์ด้วย, ภายในระยะเวลาที่ตกลงกัน, โดยจ่ายค่าตอบแทนให้นางตามที่ตกลงกัน ดังจะได้กล่าวต่อไป ...
นิกาห์มุตอะฮ์จึงมีเป้าหมายที่แตกต่างจากการนิกาห์ถาวร ซึ่งเรื่องกามารมณ์แม้จะมีความสำคัญมากเพียงใดก็ถือเป็นเรื่องรอง แต่เป้าหมายหลักของการนิกาห์ถาวรก็คือ เพื่อสามีและภรรยาจะได้สร้างครอบครัวที่อบอุ่นมั่นคงตามหลักการอิสลามร่วมกัน, เพื่อภรรยาจะได้เป็นกำลังใจให้สามีสร้างฐานะครอบครัว, เพื่อทั้งคู่จะมีลูกไว้สำหรับสืบสกุลร่วมกัน, เพื่อให้เกิดความเมตตารักใคร่และเห็นอกเห็นใจกันระหว่างคู่สามีภรรยา, เพื่อจะได้ช่วยเหลือดูแลกันและกันยามเจ็บไข้ได้ป่วย, และคู่สามีภรรยาจะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันในหน้าที่ของแต่ละฝ่ายตามที่ศาสนามีบทบัญญัติเอาไว้ ...
นิกาห์มุตอะฮ์หรือนิกาห์ชั่วคราว เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวอาหรับยุคญาฮิลียะฮ์ก่อนการอุบัติของอิสลามเสียอีก คือ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4 เป็นต้นมา ...
ในสารานุกรมอิสลามฉบับย่อ(The Shorter Encyclopaedia of Islam) กล่าวว่า ...
“เมื่อคนแปลกหน้ามายังหมู่บ้านหนึ่ง และเขาไม่มีสถานที่พัก เขาจะแต่งงานกับสตรีผู้หนึ่งในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อเธอจะได้เป็นคู่นอนบนเตียงของเขา และดูแลข้าวของของเขา” ...
ในหนังสือเล่มเดียวกันหน้า 419 ท่านเซทานี (Caetani) กล่าวว่า ...
“ในยุคป่าเถื่อนนั้น มุตอะฮ์เป็นการขายตัวทางศาสนารูปแบบหนึ่งที่กระทำกันในเทศกาลหัจญ์” ...
(จากหนังสือ “ปัญหาซุนนีย์-ชีอะฮ์ในมุมมองของอิสลาม” แปลโดยคุณฟาฏิมะฮ์ บินติอิบรอฮีม อัล-อันซอรีย์ หน้า 143) ...
มีหะดีษซึ่งบันทึกโดยท่านมุสลิม (หะดีษที่ 27/1406) รายงานจากท่านอิบนุอบีย์อัมเราะฮ์ เป็นหลักฐานพอจะเชื่อได้ว่า ในตอนแรกเริ่มของอิสลามนั้นการนิกาห์มุตอะฮ์ดังที่เคยปฏิบัติกันในสมัยญาฮิลียะฮ์ เป็นเรื่องน่ารังเกียจสำหรับมุสลิมเหมือนกับการน่ารังเกียจที่จะรับประทานซากสัตว์, เลือด และเนื้อสุกร ...
หรืออีกนัยหนึ่ง นิกาห์มุตอะฮ์คือ “สิ่งต้องห้าม” สำหรับมุสลิมเหมือนซากสัตว์ เลือดและเนื้อสุกร ...
ต่อมา พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.ได้ประทานซูเราะฮ์อัล-มุอ์มินูนลงมา ซึ่งอายะฮ์ที่ 5-6 ของซูเราะฮ์นี้ ห้ามผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กับสตรีใดเว้นแต่กับภรรยาและทาสหญิงเท่านั้น ...
ข้อห้ามดังกล่าวนี้จึงเป็นการ “ตอกย้ำ” การห้ามนิกาห์มุตอะฮ์ และห้ามมีเพศสัมพันธ์กับสตรีจากการนิกาห์มุตอะฮ์ เพราะสตรีที่นิกาห์มุตอะฮ์มิใช่เป็นภรรยาและมิใช่เป็นทาสหญิง ดังคำอธิบายที่จะถึงต่อไป ...
ข้อห้ามนี้สืบเนื่องต่อมาจนถึงปีที่ 8 ของฮิจญเราะฮ์ศักราช อันเป็นปีที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยกกองทัพจากมะดีนะฮ์ไปยึดครองนครมักกะฮ์ ซึ่งในการยึดครองมักกะฮ์ครั้งนี้ นิกาห์มุตอะฮ์ถูกผ่อนผันแก่มุสลิมที่เดินทางมาจากนครมะดีนะฮ์ให้กระทำได้ชั่วคราว ก่อนที่การผ่อนผันนั้นจะถูกยกเลิกอย่างถาวรในที่สุด ...
นี่คือสิ่งที่แทบจะเป็นมติเอกฉันท์ของนักวิชาการฝ่ายซุนนีย์ ...
สิ่งที่ยังเป็นความขัดแย้งก็คือ การผ่อนผันให้นิกาห์มุตอะฮ์เคยมีขึ้นก่อนหน้าการยึดครองนครมักกะฮ์หรือไม่ ? .. โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคราวสงครามค็อยบัรฺ ...
ทั้งนี้ เพราะมีหะดีษจากการบันทึกของท่านบุคอรีย์และท่านมุสลิม โดยรายงานจากท่านอะลีย์ บินอบีย์ฏอลิบ ร.ฎ.ว่า ...
نَهَى النَّبِىُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَنِ الْمُتْعَةِ وَعَنْ لُحُوْمِ الْحُمُرِ اْلأَهْلِيَّةِ زَمَنَ خَيْبَرَ
“ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ห้ามจากนิกาห์มุตอะฮ์และห้ามจากการรับประทานเนื้อลาบ้าน ในสงครามค็อยบัรฺ” ...
ลาบ้าน คือลาที่ถูกมนุษย์เลี้ยงเพื่อใช้ขี่หรือใช้บรรทุกสิ่งของในสมัยนั้น ..
ค็อยบัรฺเป็นตำบลของชาวยิวที่มีพื้นที่กว้างขวาง อยู่ห่างจากนครมะดีนะฮ์ไปด้านเหนือประมาณ 96 ไมล์ตามเส้นทางไปแคว้นชาม ใช้เวลาเดินทางปกติประมาณ 8-9 วัน ..
สงครามค็อยบัรฺเกิดขึ้นในเดือนมุหัรฺร็อม ปีฮิจญเราะฮ์ศักราชที่ 7 ตรงกับเดือนสิงหาคม ฮ.ศ. 628 ... ยังมีต่อ..?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น