อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพุธที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2560

ชีอะฮ์กับมุตอะฮ์ (ตอนที่ 8)



โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย...


1. ในโองการที่ 35 จากซูเราะฮ์อัน-นิซาอ์ที่ พระองค์ทรงกล่าวว่า ...
فَانْكِحُوْهُنَّ بِإِذْنِ أَهْلِهِنَّ وَآتُوْهُنَّ أُجُوْرَهُنَّ بِالْمَعْرُوْفِ
“ดังนั้น พวกเจ้าจงแต่งงานกับพวกนาง (ทาสหญิง) ด้วยการอนุมัติจากผู้เป็นนายของพวกนาง และจงให้แก่พวกนางซึ่งค่าตอบแทนของพวกนางโดยชอบธรรม”
คำว่า “ค่าตอบแทนของพวกนาง” ในโองการนี้ หมายถึง “มะฮัรฺ” ในนิกาห์ถาวร มิใช่ค่าตอบแทนในนิกาห์มุตอะฮ์โดยไม่มีข้อขัดแย้ง ...
2. ในอายะฮ์ที่ 5 ซูเราะอัล-มาอิดะฮ์ พระองค์กล่าวว่า ...
وَالْمُحْصَنَاتُ مِنَ الْمُؤْمِنَاتِ وَالْمُحْصَنَاتُ مِنَ الَّذِيْنَ أَوْتُواالْكِتَابَ مِنْ قَبْلِكُمْ إِذَا آتَيْتُمُوْهُنَّ أُجُوْرَهُنَّ
“และบรรดาหญิงที่เป็นอิสรชนในหมู่ผู้ศรัทธาหญิงและหญิงอิสรชนในหมู่ชาวคัมภีร์ก่อนพวกเจ้า (ก็เป็นที่อนุมัติแก่พวกเจ้าด้วย) เมื่อพวกเจ้าได้มอบแก่พวกนางซึ่งค่าตอบแทนของพวกนาง .......”
คำว่า “ค่าตอบแทน” ในที่นี้ หมายถึง “มะฮัรฺ”ในนิกาห์ถาวรโดยไม่มีข้อขัดแย้งเช่นเดียวกัน ...
3. ในอายะฮ์ที่ 50 ซูเราะฮ์อัล-อะห์ซาบ พระองค์กล่าวว่า ...
يَاأَيُّهَاالنَّبِىُّ إِنَّا أَحْلَلْنَا لَكَ أَزْوَاجَكَ اللاَتِىْ آتَيْتَ أُجُوْرَهُنَّ ...
“นบีย์เอ๋ย แท้จริงเราได้อนุมัติแก่เจ้าแล้วซึ่งบรรดาภรรยาของเจ้าที่เจ้าได้มอบสินตอบแทนแก่พวกนาง.......”
คำว่า أُجُوْرَهُنَّ หรือ “สินตอบแทน”ในโองการนี้ คือมะฮัรฺโดยไม่มีข้อขัดแย้ง ...
ส่วนโองการอื่นที่พระองค์ได้ใช้สำนวนอื่นจากคำว่า أُجُوْرَهُنَّ แทนความหมายมะฮัรฺ ก็อย่างเช่นอายะฮ์ที่ 4 ซูเราะฮ์อัน-นิซาอ์ ที่ว่า ...
وَآتُواالنِّسَاءَ صَدُقَاتِهِنَّ نِحْلَةً
“และจงให้แก่บรรดาผู้หญิงซึ่งมะฮัรฺของพวกนางด้วยความเต็มใจ” ...
คำว่า صَدُقَاتٍ ในโองการนี้มิได้หมายถึง “สิ่งบริจาค” อันเป็นความหมายโดยทั่วไปของคำนี้ แต่หมายถึง “มะฮัรฺ” ในการนิกาห์ เพราะฉะนั้น ข้ออ้างของชีอะฮ์ที่ว่า คำว่า أُجُوْرَهُنَّ (ค่าตอบแทนของพวกนาง)ในอายะฮ์ที่ 24 ซูเราะฮ์อัน-นิซาอ์หมายถึงค่าตอบแทนในนิกาห์มุตอะฮ์ จึงเป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนักเพียงพอเช่นเดียวกัน ...
(4). ส่วนข้ออ้างที่ว่า มีเศาะหาบะฮ์บางคน เช่นท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.อ่านเพิ่มคำว่า إِلَى أَجَلٍ مُسَمًّى (จนถึงเวลาที่ถูกกำหนด) หลังจากคำว่า فَمَا اسْتَطَعْتُمْ بِهِ مِنْهُنَّ (ดังนั้น อันใดที่พวกเจ้าเสพสุขมันจากนาง) ซึ่งแสดงว่า การให้ค่าตอบแทนในโองการนี้หมายถึงให้ค่าตอบแทนในนิกาห์มุตอะฮ์ เพราะข้อความดังกล่าวแสดงว่ามีการกำหนดระยะเวลาในการเสพสุขนั้น ...
ผมขอเรียนชี้แจงว่า ...
การอ่าน – ของผู้ใดก็ตาม – ในข้อความใดที่ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของอัล-กุรฺอาน จะไม่ส่งผลให้มันเป็นถ้อยคำของอัล-กุรฺอานจริงๆ นอกจากมันจะถูกบันทึกไว้ในสมัยที่มีการรวบรวมอัล-กุรฺอาน - คือในสมัยของท่านอบูบักรฺ ร.ฎ. - ว่า ข้อความนั้นๆเป็นส่วนหนึ่งของอัล-กุรฺอาน! ...
การอ่านเพิ่มเติมในลักษณะนี้ มิใช่จะมีเฉพาะในโองการบทนี้เท่านั้น แต่จะมีอยู่ในอีกหลายโองการและในหลายซูเราะฮ์ ...
ทว่า .. ข้อความที่ว่า إِلَى أَجَلٍ مُسَمًّى จากการอ่านเพิ่มเติมของท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.และตาบิอีนบางคนนี้ บรรดาเศาะหาบะฮ์ผู้ถูกมอบหมายให้รวบรวมและบันทึกอัล-กุรฺอานได้มีมติเป็นเอกฉันท์ตรงกันว่า ข้อความนี้มิใช่ส่วนหนึ่งของอัล-กุรฺอาน ...
เหตุนี้ พวกท่านจึงมติไม่เขียนมันลงไป มันจึงไม่มีปรากฏในอัล-กุรฺอานตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน และไม่ปรากฏว่าจะมีเศาะหาบะฮ์ท่านใดทักท้วงหรือคัดค้านมตินี้ด้วย ...
เพราะฉะนั้น ข้อความที่ว่า إِلَى أَجَلٍ مُسَمًّى ดังปรากฏในคำอ่านของเศาะหาบะฮ์และตาบิอีนบางท่าน จึงถือว่ามิใช่เป็นข้อความในอัล-กุรฺอาน ...
เมื่อมิใช่เป็นอัล-กุรฺอาน ข้อความนี้จึงมิใช่หลักฐานที่จะมาบ่งชี้ว่า อายะฮ์ที่ 24 ของซูเราะฮ์อัน-นิซาอ์ เป็นเรื่องของนิกาห์มุตอะฮ์ดังความเข้าใจของชีอะฮ์ ...
(5). ภาคปฏิบัติของเศาะหาบะฮ์ในเรื่องการนิกาห์มุตอะฮ์กับสตรีดังที่มีบันทึกในหะดีษที่ถูกต้องทั้งหมดเป็นหลักฐานยืนยันว่า อายะฮ์ที่ 24 ซูเราะฮ์อัน-นิซาอ์ มิใช่เป็นเรื่องของนิกาห์มุตอะฮ์ และนิกาห์มุตอะฮ์ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีในอัล-กุรฺอาน ...
ทว่า .. มันคือ “ข้อห้าม” ในอัล-กุรฺอาน ดังข้อมูลที่กำลังจะถึง ...
ด้วยเหตุนี้ บรรดาเศาะหาบะฮ์จึงไม่กล้าทำนิกาห์มุตอะฮ์กับผู้หญิงคนใด เว้นแต่หลังจากได้รับการผ่อนผัน, การอนุญาต, หรือการใช้ ของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเท่านั้น ...
สรุปแล้ว เหตุผล 3 ประการที่ชีอะฮ์อ้างว่า อายะฮ์ที่ 24 จากซูเราะฮ์อัน-นิซาอ์เป็นบทบัญญัติเรื่องนิกาห์มุตอะฮ์ จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่ชีอะฮ์จะนำไปอ้างหลอกใคร นอกจากผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือผู้ขาดความรู้ความเข้าใจในอิสลามอันบริสุทธิ์เท่านั้น ...
หลักฐานห้ามนิกาห์มุตอะฮ์ .. ทั้งจากซุนนีย์และชีอะฮ์
หลักฐานห้ามจากการนิกาห์มุตอะฮ์ นอกจากจะมีจากฝ่ายซุนนีย์แล้ว จากฝ่ายชีอะฮ์ก็มีอยู่มากมายเช่นเดียวกัน เพียงแต่มันถูกปิดบังจากนักวิชาการชีอะฮ์เพื่อตัวเองจะได้ใช้มันเป็นเครื่องมือสำหรับนิกาห์มุตอะฮ์กับลูกสาวชาวบ้าน ในขณะเดียวกันใครจะมานิกาห์มุตอะฮ์กับลูกสาวตัวเองถือเป็นเรื่องต้องห้าม ดังข้อมูลที่ผมจะนำมาแฉในตอนท้าย อินชาอัลลอฮ์ ...
นี่แหละธาตุแท้ชีอะฮ์ ...
สำหรับหลักฐานห้ามนิกาห์มุตอะฮ์จากฝ่ายซุนนีย์ นอกจากหะดีษของท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุมัสอูด ร.ฎ. และหะดีษของท่านสะละมะฮ์ บินอัล-อักวะอฺ ร.ฎ.ที่อธิบายผ่านมาแล้ว หลักฐานห้ามนิกาห์มุตอะฮ์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ดำรัสของพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.ในซูเราะฮ์ อัล-มุอ์มินูน อายะฮ์ 1-7 ที่ว่า ...
قَدْ أَفْلََحَ الْمُؤْمِنُوْنَ، اَلَّذِيْنَ هُمْ فِىْ صَلاَتِهِمْ خَاشِعُوْنَ، وَالَّذِيْنَ هُمْ عَنِ اللَّغْوِ مُعْرِضُوْنَ، وَالَّذِيْنَ هُمْ لِلزَّكَاةِ فَاعِلُوْنَ، وَالَّذِيْنَ هُمْ لِفُرُوْجِهِمْ حَافِظُوْنَ، إلاَّ عَلَى أَزْوَاجِهِمْ أَوْمَامَلَكَتْ أَيْمَانُهُمْ فَإِنَّهُمْ غَيْرُمَلُوْمِيْنَ، فَمَنِ ابْتَغَى وَرَآءَ ذَلِكَ فَأُولَئِكَ هُمُ الْعَادُوْنَ
“แน่นอน บรรดาผู้ศรัทธาได้ประสบความสำเร็จแล้ว (คือ) บรรดาผู้ซึ่งนอบน้อมสำรวมในนมาซของพวกเขา, และบรรดาผู้ซึ่งหันเหออกจากเรื่องไร้สาระทั้งมวล, และบรรดาผู้ซึ่งพวกเขาได้จ่ายซะกาต, และบรรดาผู้ซึ่งพวกเขาปกป้องอวัยวะเพศของพวกเขา(จากการมีเพศสัมพันธ์กับสตรีใด) เว้นแต่กับบรรดาภรรยาของพวกเขา หรือสิ่งที่มือขวาของพวกเขาครอบครอง (คือทาสหญิง) เพราะ(ในกรณีดังกล่าวนี้) พวกเขาก็มิใช่ผู้ถูกตำหนิ ดังนั้น ผู้ใดที่แสวงหา(การมีเพศสัมพันธ์กับสตรี)อื่นจากนั้น (คืออื่นจากภรรยาและทาสหญิง) พวกเขาก็คือผู้ล่วงละเมิด” ...
คำดำรัสของพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.ที่ว่า .. “เว้นแต่กับบรรดาภรรยาของพวกเขา หรือสิ่งที่มือขวาของพวกเขาครอบครอง (คือทาสหญิง)” เป็นข้อห้ามที่ครอบคลุมถึงการระบายออกทางเพศทุกรูปแบบที่อื่นจากกับ “ภรรยา” และ “ทาสหญิง” ไม่ว่าจะเป็นการสำเร็จความใคร่ด้วยมือ, การมีเพศสัมพันธ์กับสตรีในลักษณะซินา, หรือการมีเพศสัมพันธ์กับสตรีที่นิกาห์มุตอะฮ์ ดังที่ปฏิบัติกันในสมัยญาฮิลียะฮ์ ...
ทั้งนี้ เพราะสตรีที่นิกาห์มุตอะฮ์ไม่ถือว่าเป็น “ภรรยา” ตามนัยของโองการข้างต้น ...
ซูเราะฮ์อัล-มุอ์มินูนเป็นซูเราะฮ์อัล-มักกียะฮ์ คือถูกประทานที่นครมักกะฮ์ จึงแสดงว่าข้อห้ามจากนิกาห์มุตอะฮ์ในอายะฮ์ที่ 5-6 ของซูเราะฮ์นี้ เป็นที่เข้าใจกันดีสำหรับเศาะหาบะฮ์ชาวมักกะฮ์ที่อพยพตามท่านศาสดามาอยู่นครมะดีนะฮ์ ...
เหตุนี้ หลังจากอพยพไปอยู่มะดีนะฮ์และต้องเดินทางไปทำสงครามต่างแดนพร้อมกับท่านศาสดา แล้วเกิดความกดดันจากอารมณ์เพศ ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุมัสอูดและพรรคพวกจึงคิดที่จะ “ตอน” ตัวเองแทนที่จะนิกาห์มุตอะฮ์ เพราะพวกท่านทราบดีว่า สตรีจากนิกาห์มุตอะฮ์มิใช่เป็นภรรยาที่ถูกอนุมัติ ...
เช็คมุหัมมัดชะรีฟนักวิชาการชีอะฮ์ ได้กล่าวในหนังสือ “สาส์นอิสลาม” หน้า 43 ว่า .. “หญิงที่ได้ทำการอักด์มุตอะฮ์ตามเงื่อนไขที่ได้กล่าวมา ถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับการคุ้มครองดูแลโดยสามีของนาง และโองการนี้ยังได้บอกอีกว่า การมีเพศสัมพันธ์ได้อนุญาตให้ทำได้กับผู้หญิง 2 ประเภทคือ ภรรยาและผู้หญิงที่เป็นทาสที่อยู่ภายใต้การคุ้มครอง ดังนั้นหญิงที่ได้ทำการอักด์มุตอะฮ์ด้วยนั้น จึงอยู่ในประเภทแรก (ประเภทภรรยา)” ...
ผมก็ขอเรียนชี้แจงคำกล่าวนี้ใน 2 ประเด็นคือ ...
1. ผู้หญิงที่ทำการนิกาห์มุตอะฮ์ ไม่ถือว่าเป็น “ภรรยา” ตามหลักการอิสลาม ดังนั้น นางจึงไม่ได้รับความคุ้มครองจากโองการบทนี้หรือบทไหนทั้งสิ้น ...
ท่านเช็คอัล-ชันกีฏีย์ ได้กล่าวอธิบายในหนังสือตัฟซีรฺ “อัฎวาอุ้ลบะยาน” เล่มที่ 1 หน้า 247 ว่า ...
وَمَعْلُوْمٌ أَنَّ الْمُسْتَمْتَعَ بِهَا لَيْسَتْ مَمْلُوْكَةً وَلاَ زَوْجَةً، فَمُبْتَغِيْهَا إِذَنْ مِنَ الْعَادِيْنَ بِنَصِّ
الْقُرْآنِ، أَمَّاكَوْنُهَا غَيْرَمَمْلُوْكَةٍ فَوَاضِحٌ، وَأَمَّاكَوْنُهَاغَيْرَ زَوْجَةٍ فَلاِنْتِفَاءِ لَوَازِمِ الزَّوْجِيَّةِ عَنْهَا كَالْمِيْرَاثِ وَالْعِدَّةِ وَالطَّلاَقِ وَالنَّفَقَةِ، وَلَوْكَانَتْ زَوْجَةً لَوَرِثَتْ وَاعْتَدَّتْ وَوَقَعَ عَلَيْهَاالطَّلاَقُ
وَوَجَبَتْ لَهَا النَّفَقَةُ
“สิ่งที่รับรู้กันก็คือ สตรีที่ถูกเสพสุขจากนิกาห์มุตอะฮ์นั้น นางมิใช่เป็นทาสหรือภรรยา เพราะฉะนั้น ผู้ที่แสวงหามันจึงเป็นผู้ล่วงละเมิดตามหลักฐานชัดเจนของอัล-กุรฺอาน อนึ่งข้อที่ว่านางมิใช่ทาส ข้อนี้แจ่มชัดอยู่แล้ว และข้อที่ว่านางมิใช่ภรรยาก็เพราะไม่มีคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับการเป็นภรรยาอยู่ในตัวนางเลย เช่นการสืบมรดกระหว่างกัน, อิดดะฮ์(จากการหย่าหรือตายของสามี), การหย่า, การได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะสมมุติถ้านางเป็นภรรยาจริง แน่นอนนางจะต้องรับมรดก(ของสามี)ได้, มีอิดดะฮ์, มีการหย่าร้างได้ และสามีจำเป็นต้องอุปการะเลี้ยงดูนาง” ...




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น