อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2560

ชีอะฮ์กับมุตอะฮ์ (ตอนที่ 1)


คำนำ
بسـم الله ا لرحمـن الرحيـم
الحمد لله وحده، والصلاة والسلام على أشرف الرسل وآخرالنبوة، سيدنا ونبينا محمد وعلى آله وصحبـه ومن تبعهم بإحسان بعده، أما بعد ...
เรื่องชีวิตคู่ เป็นสิ่งที่อิสลามมีบทบัญญัติส่งเสริมทั้งในอัล-กุรฺอานและซุนนะฮ์หรือแบบอย่างของท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ... 
แต่ชีวิตคู่ที่อิสลามส่งเสริมและรับรองนั้น จะต้องเป็นชีวิตคู่ที่ผ่านพิธีการนิกาห์ที่ถูกต้องตามหลักการของอิสลามเท่านั้น เช่นคู่บ่าวสาวจะต้องไม่ใช่ญาติใกล้ชิดทางสายเลือดเกินไป, การนิกาห์นั้นจะต้องกระทำโดยวะลีย์หรือตัวแทนวะลีย์ของสตรี, จะต้องมีพยานที่มีคุณธรรมอย่างน้อย 2 คนร่วมเป็นสักขีพยานในขณะนิกาห์, จะต้องไม่มีการกำหนดเวลาการอยู่ร่วมที่แน่นอนในตอนเสนอคำและรับคำนิกาห์ เป็นต้น ...
ชีวิตคู่ที่อื่นจากนี้ ถือว่า เป็นการละเมิดบทบัญญัติของอิสลามทั้งสิ้น ...
ซึ่งหนึ่งจากนั้นก็คือ “นิกาห์มุตอะฮ์” หรือการแต่งงานที่ระบุกำหนดเวลาการอยู่ร่วมกันแน่นอนตายตัว ...
จริงอยู่ ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยอนุโลมหรือผ่อนผันให้นักรบที่ออกไปทำสงครามต่างแดนทำการนิกาห์มุตอะฮ์กับสตรีในท้องที่ได้ แต่นั่นเป็นเพียง “นิกาห์เฉพาะกิจ” สำหรับนักรบที่ไปทำสงครามต่างแดนในอดีต ซึ่งต่อมาท่านศาสดาก็ได้ยกเลิกการผ่อนผันนั้นในภายหลัง ดังหลักฐานที่จะถึงต่อไป ...
จะอย่างไรก็ตาม ยังมีชนกลุ่มหนึ่งคือชาวชีอะฮ์ที่ถือว่า นิกาห์มุตอะฮ์เป็นบทบัญญัติของอิสลาม และมิได้ถูกยกเลิก แต่ยังสามารถปฏิบัติได้จนถึงปัจจุบัน ...
ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังเปิดกว้างให้ผู้ที่อยู่บ้าน สามารถทำการนิกาห์มุตอะฮ์ได้โดยเสรี แถมยังอ้างอีกว่าการนิกาห์มุตอะฮ์มีผลบุญมากมายมหาศาลด้วย ดังข้อมูลของชีอะฮ์เองที่จะได้นำเสนอต่อไปเช่นเดียวกัน ...
การนิกาห์มุตะอะฮ์จึงเป็น “จุดขาย” หนึ่งของชีอะฮ์ในปัจจุบันสำหรับมุสลิมสายซุนนีย์ที่ขาดความรู้ความเข้าใจศาสนาของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาหรือวัยรุ่นที่ประสงค์กามารมณ์โดยไม่ต้องรับภาระการเลี้ยงดูใดๆต่อสตรี ...
ความจริงในประเทศไทยก็มีหนังสือภาษาไทยอยู่หลายเล่มที่เปิดโปงและอธิบายความไม่ถูกต้องของนิกาห์มุตอะฮ์และผลกระทบของมันต่อสังคมโดยรวม อาทิเช่นหนังสือ “ปัญหาซุนนีย์-ชีอะฮ์ในมุมมองของอิสลาม” หรือหนังสือ “นี่หรืออะกีดะฮ์ของชีอะฮ์” เป็นต้น ...
หนังสือเล่มนี้ก็เป็นอีกเล่มหนึ่งที่จะเปิดเผยข้อเท็จจริงและวิเคราะห์หลักฐานความขัดแย้งเรื่องนิกาห์มุตอะฮ์ระหว่างซุนนีย์-ชีอะฮ์อย่างตรงไปตรงมาในทุกแง่มุม ด้วยหลักฐานจากอัล-กุรฺอ่านและอัล-หะดีษที่ถูกต้องทั้งจากฝ่ายซุนนีย์และชีอะฮ์เอง จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีใจเป็นธรรมและต้องการทราบความจริงในเรื่องนี้จะนำไปศึกษา เพื่อจะได้รับรู้และปฏิบัติได้ถูกต้องต่อไป ...

อ.มะห์มูด (ปราโมทย์) ศรีอุทัย ...

วันศุกร์ ที่ 29 เมษายน 2554 วันศุกร์ ที่ 25 รอบีอุษษานีย์ 1432



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น