ตอบคำถามคุณ Mareeyah Si •
อัสลามูอาลัยกุม อาจารย์
ดิฉันอยากทราบหลักฐานการยืนละหมาดของมะมูม กรณีละหมาด 2 คน ที่ให้มะมูมยืนอยู่ด้านขวามืออิหม่าม และยืนเสมอกับอิหม่าม (เพศเดียวกัน) ดิฉันเคยยืนแบบนี้ แต่เขาให้ยืนถอยหลังไปอีก และอยากทราบกรณีที่มีการยืนละหมาดที่ให้มะมูมยืนทางด้านขวามือและเฉียงไปทางด้านหลังอิหม่ามกรณีละหมาด 2 คนนั้น มีหลักฐาน หรือทัศนะอย่างไรบ้าง การปฏิบัติแบบใดถูกต้องตามสุนนะฮ์มากที่สุด ค่ะ
ตอบ
ปัญหาเรื่องการยืนของมะอฺมูมคนเดียวที่ละหมาดพร้อมอิหม่ามนั้น ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ได้กล่าวในหนังสือ "ฟัตหุ้ลบารีย์" เล่มที่ 2 หน้า 191 ว่า ...
وَقَدْ نَقَلَ بَعْضُهُمْ اْلإتِّفَاقَ عَلَى أَنَّ الْمَأْمُوْمَ الْوَاحِدَ يَقِفُ عَنْ يَمِيْنَ اْلإمَامِ، إِلاَّ النَّخَعِىَّ فَقَالَ : إذَا كَانَ اْلإمَامُ وَرَجُلٌ قَامَ الرَّجُلُ خَلْفَ اْلإمَامِ ...........
"แน่นอน นักวิชาการบางท่านได้คัดลอกความเห็นที่สอดคล้องกัน(ของบรรดานักวิชาการ)มาว่า มะอฺมูมคนเดียวจะต้องยืน "ด้านขวามือ" ของอิหม่าม ยกเว้นท่านอัน-นะคออีย์ที่กล่าวว่า เมื่อมีอิหม่ามและผู้ชาย (คือมะอฺมูม)คนหนึ่ง ก็ให้ผู้ชายนั้นยืนหลังอิหม่าม ......."
หลักฐานของบรรดานักวิชาการส่วนใหญ่ที่เห็นว่า ให้มะอฺมูมคนเดียวยืนทางด้านขวามืออิหม่ามก็คือ หะดีษซึ่งท่านอัล-บุคอรีย์ได้บันทึกรายงานมาจากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ว่า คืนหนึ่งท่านไปค้างคืนที่บ้านน้าสาวของท่าน คือท่านหญิงมัยมูนะฮ์ ร.ฎ. โดยมีท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมอยู่ด้วย แล้วท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมก็ได้ลุกขึ้นทำนมาซกิยามุ้ลลัยล์ ...
ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. กล่าวต่อไปว่า ...
فَقُمْتُ عَنْ يَسَارِهِ، فَجَعَلَنِىْ عَنْ يَمِيْنِهِ .............
"แล้วฉันก็ไปยืนนมาซด้านซ้ายมือของท่าน แล้วท่านก็ดึงฉันให้มายืนด้านขวามือของท่าน ........"
(หะดีษที่ 697 จากหนังสือฟัตหุ้ลบารีย์)
ท่านอัล-บุคอรีย์ได้ตั้งชื่อบาบนี้ - อันเป็นบาบที่ 57 ของกิตาบอัล-อะซาน - ว่า ...
بَابٌ .. يَقُوْمُ عَنْ يَمِيْنِ اْلإمَامِ بِحِذَائِهِ سَوَاءً إِذَا كَانَا اِثْنَيْنِ
"บาบ .. ให้เขา(มะอฺมูม) ยืนทางด้านขวามือของอิหม่าม โดยให้ยืนชิดกันและเสมอกัน เมื่อพวกเขามีเพียง 2 คน (คืออิหม่ามคนหนึ่งและมะอฺมูมอีกคนหนึ่ง) ...
คำว่า سَوَاءً (เสมอกัน) ในหะดีษบทนี้ ท่านอิบนุหะญัรฺ อธิบายว่า ...
أَىْ لاَ يَتَقَدَّمُ وَلاَ يَتَأَخَّرُ
"คือ อย่าให้เขายืนล้ำหน้า(อิหม่าม) และอย่าให้เขายืนคล้อยหลัง(อิหม่าม) ...
นี่คือ ทัศนะของท่านอัล-บุคอรีย์เกี่ยวกับประเด็นนี้ ...
อนึ่ง ทัศนะของนักวิชาการมัษฮับชาฟีอีย์ที่ว่า สมควรให้มะอฺมูมคนเดียว ยืนคล้อยต่ำลงมาจากอิหม่ามนิดหนึ่งนั้น รู้สึกว่า น่าจะขัดแย้งกับหะดีษที่ถูกต้องอีกบทหนึ่งจากการบันทึกของท่านอิหม่ามอะห์มัด อิบนุหัมบัลในหนังสือ "อัล-มุสนัด" ของท่าน เล่มที่ 1 หน้า 330 โดยรายงานจากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. เช่นเดียวกัน มีข้อความว่า ...
أَتَيْتُ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ مِنْ آخِرِ اللَّيْلِ، فَصَلَّيْتُ خَلْفَهُ، فَأَخَذَ بِيَدِىْ فَجَرَّنِىْ، فَجَعَلَنِىْ حِذَائَهُ، فَلَمَّا أَقْبَلَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَلَى صَلاَتِهِ خَنَسْتُ، فَصَلَّى رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَلَمَّا انْصَرَفَ قَالَ لِىْ : مَا شَأْنِىْ أَجْعَلُكَ حِذَائِىْ فَتَخْنِسُ ؟ فَقُلْتُ : يَا رَسُوْلَ اللهِ أَوَ يَنْبَغِىْ لِأَحَدٍ أَنْ يُصَلِّىَ حِذَائَكَ وَأَنْتَ رَسُوْلُ اللهِ الَّذِىْ أَعْطَاكَ اللهُ ؟ ...........
"ฉันได้ไปหาท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในช่วงท้ายกลางคืน แล้วฉันก็นมาซข้างหลังท่าน, ท่านจึงดึงมือของฉันให้ขึ้นมายืนชิด(เสมอ)กับท่าน ครั้นเมื่อท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมมุ่งหน้าทำนมาซของท่านต่อไป ฉันก็ถอยหลังลงมา, โดยท่านยังทำนมาซอยู่ เมื่อนมาซเสร็จแล้วท่านก็กล่าวแก่ฉันว่า .. ฉันเป็นอะไรไปหรือ ? ฉันให้เจ้ามายืนชิดเสมอกับฉัน(ในนมาซ) แล้วเจ้ากลับถอยลงไปอีก .. ฉันจึงตอบว่า .. โอ้ ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ผู้ใดหรือที่สมควรจะยืนนมาซเสมอกับท่าน ในเมื่อท่านคือศาสนทูตของอัลลอฮ์ ที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงประทาน(ตำแหน่งนี้)แก่ท่าน ..............."
หะดีษบทนี้ และหะดีษของท่านอัล-บุคอรีย์ที่ผ่านมาแล้วเป็นหลักฐานยืนยันว่า พิ้นฐานของซุนนะฮ์ในการยืนนมาซของมะอฺมูมคนเดียวก็คือ ให้ยืนทางด้านขวาของอิหม่ามและยืนเสมอกับอิหม่าม ...
ส่วนการที่ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ได้ถอยหลังลงมาหลังจากที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ดึงให้มายืนเสมอกับท่าน ดังข้อความของหะดีษบทนี้ ประเด็นนี้ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.ก็ได้แจ้งเหตุผลให้ทราบแล้วว่า ที่ท่านทำดังนั้นเพราะท่านเห็นว่า ไม่บังควรที่ท่านหรือใคร จะไปยืนนมาซเสมอกับท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ! ....
เพราะฉะนั้น การที่ผู้ใดจะอ้างการกระทำของท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. จากหะดีษบทนี้เป็นหลักฐานว่า มะอฺมูมไม่สมควรจะยืนเสมอกับอิหม่าม แต่ควรถอยหลังลงมานิดหนึ่ง .. ผู้นั้นก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ...
อิหม่ามทุกคนที่นำนมาซในทุกๆมัสญิดปัจจุบันนี้ มีใครบ้างที่ได้รับเกียรติจากพระองค์อัลลอฮ์เท่าเทียมท่านรอซู้ล หรือมีสถานภาพเป็นรอซู้ลฯ .. เหมือนอิหม่ามที่นำท่านอิบนุอิบบาส ร.ฎ. นมาซในคืนนั้น ??..
หากไม่ใช่ ก็แสดงว่า การที่เรานำอิหม่ามพวกเราไปกิยาสหรือเปรียบเทียบกับท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมในกรณีนี้ ถือเป็น "กิยาสมะอัลฟาริก" ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามตามหลักกิยาส ...
เมื่อกิยาสไม่ได้ เราก็ต้องปฏิบัติในเรื่องนี้ให้เป็นไปตามซุนนะฮ์ที่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้วางรากฐานไว้ให้แล้วทั้งการกระทำของท่าน, และคำพูดของท่านต่อท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ในหะดีษทั้ง 2 บทข้างต้นนั้น ..
นั่นคือ มะอฺมูมคนเดียว ให้ยืนนมาซทางด้านขวามืออิหม่าม และยืนเสมอกับอิหม่าม ! .. ดังคำกล่าวของท่านอัล-บุคอรีย์ที่ผ่านมาแล้ว ...
วัลลอฮุ อะอฺลัม ...
อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย
24 /3 /60
......
คำถาม
อาจารย์คะ ถ้าสามีละหมาดกับภรรยาต้องยืนอย่างไรคะ ด้านซ้ายหรือขวาคะ
คำตอบ
ในกรณีถ้ามะอฺมูมคนเดียวเป็นผู้หญิง ก็ต้องยืนข้างหลังอิหม่ามที่เป็นผู้ชายครับ จะยืนเสมออิหม่ามเหมือนมะอฺมูมผู้ชายไม่ได้ ...
คำถาม
ขอถามอีกนิดค่ะ กรณีมะอฺมูมไม่ยืนเสมอกับอิหม่าม นี้เฉพาะมัซฮับชาฟีอีย์ใช่ไหม ค่ะ และทัศนะนี้เป็นคำพูดของท่านอีหม่ามชาฟีอีย์ใช่ไหม ค่ะ
คำตอบ
เท่าที่ผมอ่านเจอทัศนะรายบุคคล ก็ได้แก่คำกล่าวของท่านอัล-ก็อซฏ็อลลานีย์ ในหนังสือ ฮัดยุซซารีย์ ชะเราะห์บุคอรีย์ของท่าน ซึ่งท่านผู้นี้ สังกัดมัษฮับชาฟิอีย์ และคำกล่าวในภาพรวมของท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ในหนังสือฟัตหุ้ลบารีย์ที่กล่าวว่า เป็นทัศนะของ อัศหาบหรือศานุศิษย์ของท่านอิหม่ามชาฟีอีย์ แต่ไม่เจอการอ้างถึงว่า เป็นคำกล่าวของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์เลยครับ
...
หมายเหตุ
คำตอบของผมต่อคำถามคุณมารียะฮ์ที่ผมกล่าวว่า มะอฺมูมคนเดียวให้ยืนด้านขวาอิหม่ามและยืนเสมอกับอิหม่ามดังที่ผ่านมาแล้วนั้น ผมขอเรียนชี้แจงเพิ่มเติมว่า .. หมายถึงในกรณีถ้านมาซนั้น เป็นนมาซอื่นจากนมาซญะนาซะฮ์ (นมาซให้คนตาย)
อนึ่ง หากเป็นการนมาซให้คนตาย และมีมะอฺมูมเพียงคนเดียว ก็ให้มะอฺมูมนั้น ยืนด้านหลังอิหม่าม ไม่ใช่ยืนเสมอกับอิหม่ามเหมือนนมาซญะมาอะฮ์อื่นๆ ...
หลักฐานในเรื่องนี้ก็คือ รายงานของท่านอับดุลลอฮ์ บินอบีย์ฏ็อลหะฮ์ ร.ฎ. ที่ว่า ...
أَنَّ أَبَا طَلْحَةَ دَعَا رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِلَى عُمَيْرِ بْنِ أَبِىْ طَلْحَةَ حِيْنَ تُوُفِّىَ، فَأَتَاهُ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَصَلَّى عَلَيْهِ فِىْ مَنْزِلِهِمْ، فَتَقَدَّمَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَكَانَ اَبُوْ طَلْحَةَ وَرَاءَهُ، وَاُمَّ سُلَيْمٍ وَرَاءَ أَبِىْ طَلْحَةَ، وَلَمْ يَكُنْ مَعَهُمْ غَيْرُهُمْ
"ท่านอบีย์ฏ็อลหะฮ์ ได้เชิญท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมให้มาที่มัยยิตท่านอุมัยร์ บินอบีย์ฏ็อลหะฮ์ขณะที่เขาสิ้นชีวิต ซึ่งท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมก็มา แล้วท่านก็นมาซให้เขาที่บ้านพักของพวกเขา โดยท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ขึ้นไปยืนข้างหน้า, มีท่านอบีย์ฏ็อลหะฮ์ยืนข้างหลังท่าน และท่านอุมมุสุลัยม์(ภรรยาท่านอบีย์ฏ็อลหะฮ์) ก็ยืนหลังท่านอบีย์ฏ็อลหะฮ์อีกทีหนึ่ง โดย(ตอนนั้น) ไม่มีผู้ใดอยู่ร่วมกับพวกเขาเลย"
(บันทึกโดย ท่านอัล-หากิมในหนังสือ "อัล-มุสตัดร็อก" เล่มที่ 1 หน้า 519, และท่านอัล-บัยฮะกีย์ในหนังสือ "อัส-สุนัน อัล-กุบรอ" เล่มที่ 4 หน้า 30-31) ...
สายรายงานของหะดีษนี้ ตรงตามเงื่อนไขของท่านมุสลิม ...
ด้วยเหตุนี้ ท่านอัล-ฮัยษะมีย์ จึงได้กล่าวในหนังสือ "มัจญมะอฺ อัซ-สะวาอิด" เล่มที่ 3 หน้า 141 ว่า
رَوَاهُ الطَّبْرَانِىُّ فِى الْكَبِيْرِ، وَرِجَالُهُ رِجَالُ الصَّحِيْحِ
"รายงานโดยท่านอัฏ-ฏ็อบรอนีย์ในหนังสือ "อัล-มุอฺญัม อัล-กะบีรฺ", .. และผู้รายงานของมัน(หะดีษนี้) เป็นผู้รายงานของหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ (หมายถึงผู้รายงานของบุคอรีย์หรือมุสลิม) ..
วัลลอฮุ อะอฺลัม ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น