อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559

การมอบหมายให้กระทำการแทน หรือ "วะเกล"


ตอบโดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม
ฉันสงสัยหลักการ “วะเกล” นิดหนึ่งค่ะ คือ ไม่ทราบว่า การ "วะเกล" นี้ต้องพูดออกมาตอบรับทั้งสองฝ่ายหรือไม่ค่ะ คือที่เห็นไม่ว่า การ "วะเกล"ให้เชือดกุรฺบาน หรืออากีเกาะฮ์ จะมีการจับตัวสัตว์กุรบานหรืออากีเกาะฮ์ แล้วมีการส่งมอบ พร้อมกับกล่าวว่า “สัตว์(กุรฺบาน, อากีเกาะฮ์)ตัวนี้ของ...วะเกลให้...” อีฝ่ายก็ตอบรับ และรับมอบสัตว์นั้นไปเชือด ประมาณนี้ค่ะ หากผู้ทำกุรบาน หรืออากีเกาะฮ์เจตนา "วะเกล" ให้ผู้ที่จะเชือดแทน โดยที่สัตว์นั้นอยู่ใกล้ๆทั้ง 2 คน แล้วผู้ทำการ "วะเกล" ก็ไปนำสัตว์นั้นมาเชือด โดยต่างฝ่ายต่างเข้าใจตรงกัน แต่ไม่ได้กระทำการพูดและส่งมอบอย่างที่กล่าวมาข้างต้น การ “วะเกล” นั้นใช้ได้ไหมค่ะ

ตอบ
ตามหลักการ ผู้มอบหมายงานใดของตนเองให้ผู้อื่นทำแทน จะต้องกล่าวเป็นวาจาให้ผู้รับมอบเข้าใจว่าเป็นการมอบหมาย ..
ซึ่งบางครั้งก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้คำพูดที่เป็นพิธีการจนเกินไป อย่างเช่นเราต้องการมอบหมาย (วะเกล)ให้เพื่อนซึ่งกำลังจะไปตลาด ช่วยซื้อปลาทูที่ตลาดแทนเรา เราก็ไม่จำเป็นต้องพูดว่า
"ผมวะเกลให้คุณซื้อปลาทูหนึ่งกิโลกรัมที่ตลาดแทนผมด้วย"
อะไรอย่างนี้ แต่เรายื่นเงิน 100 บาทให้เพื่อนแล้วพูดกับเพื่อนสั้นๆว่า
"ช่วยซื้อปลาทูมาซัก 1 กิโลกรัมด้วยนะ"
เพื่อนก็เข้าใจแล้วว่าเรามอบหมายให้เขาซื้อปลาทู เป็นต้น ..
ในกรณีที่คุณถามเรื่องการมอบหมายกันในการเชือดกุรฺบ่านก็เช่นเดียวกัน ผู้มอบหมายต้องกล่าวแก่ผู้รับมอบหมาย (โดยไม่จำเป็นต้องไปจับสายเชือกวัวหรือแพะ) ว่า ผมมอบหมายให้คุณเชือดวัวกุรฺบ่านตัวนี้แทนผมด้วย หรือจะพูดสั้นๆเพียงว่า นายช่วยเชือดวัวกุรฺบานตัวนี้แทนเราด้วยนะ แค่นี้ก็หมดเรื่องครับ ..
ส่วนผู้รับมอบหมาย ก็อาจรับคำสั้นๆว่า ครับ ก็ได้, หรือไม่พูดอะไรเลย แต่ปฏิบัติตาม คือจูงวัวตัวนั้นไปเชือดตามที่อีกฝ่ายมอบหมายมา ก็ถือว่า ใช้ได้เช่นเดียวกันครับ วัลลอฮุ อะอฺลัม .....
ผมขออธิบายเพิ่มเติมอีกนิดว่า ถ้าผู้มอบหมายไม่พูดอะไร ผู้รับมอบก็คงไม่ทราบจุดประสงค์ของผู้มอบได้หมือนกันว่า ต้องการอะไร ก็อาจจะเกิดปัญหาเข้าใจผิดกันได้ อย่างเช่นสมมุติคุณจะนำอัล-กุรฺอานสัก 10 เล่มไป "ฝาก" ไว้ที่บ้านเพื่อนคนหนึ่ง พอไปถึงคุณก็ยื่นอัล-กุรฺอานนั้นให้เขาโดยไม่ได้พูดอะไรเลย อย่างนี้ถ้าผมเป็นเพื่อนคนนั้นของคุณ ผมต้องเข้าใจว่า คุณ "ให้" อัล-กุรฺอานเหล่านั้นแก่ผมแล้วผมก็อาจนำมันไปแจกจ่ายแก่เด็กๆในหมู่บ้านคนละเล่มสองเล่มจนหมด และเมื่อคุณกลับมาทวงอัล-กุรฺอานที่ฝากไว้คืน จะเกิดอะไรขึ้น คุณคงเดาออกนะครับ .. ซึ่งในเรื่องการมอบหมายหรือวะเกลก็จะมีลักษณะคล้ายๆกันนี่แหละ เพราะฉะนั้น การเปล่งวาจาสำหรับผู้มอบหมายจึงเป็นสิ่งจำเป็นครับ...



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น