โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย
(ตอนที่ 5)
2. ข้อกล่าวหาที่ว่า .. ท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. กล่าวกับท่านนาเฟี๊ยะอฺว่า : ท่านอย่าโกหกใส่ฉันเหมือนที่อิกริมะฮ์โกหกใส่ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.
ชี้แจง
ข้อกล่าวหานี้ก็เหมือนกับข้อแรก คือเชื่อถือไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะมาจากการรายงานของอบูคอลัฟ อัล-ญัซซารฺ, จากยะห์ยา (บินมุสลิม) อัล-บักกาอีย์ ...
ยะห์ยา อัล-บักกาอีย์ผู้นี้ เป็นผู้รายงานที่มีพฤติกรรมที่เรียกกันว่า มัตรูกุลหะดีษ .. คือ รายงานของเขาเชื่อถือไม่ได้เลย ..
(จากหนังสือ “ฮัดยุซซารีย์ฯ” หน้า 427, และหนังสือ “อัด-ดุอะฟาอ์ วัลมัตรูกีน” ของท่านอัน-นะซาอีย์ หมายเลขที่ 636) ...
และสำหรับข้อกล่าวหาที่ว่า .. ท่านสะอีด บินอัล-มุซัยยับ ได้กล่าวกับท่านบัรฺด์ซึ่งเป็นคนรับใช้ว่า อย่าโกหกใส่ฉันเหมือนที่อิกริมะฮ์โกหกใส่อิบนุอับบาส ร.ฎ. นั้น ...
ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้กล่าวชี้แจงกรณีนี้ว่า ...
وَأَمَّا قَوْلُ سَعِيْدِ يْنِ الْمُسَيَّبِ فَقَالَ ابْنُ جَرِيْرٍ : لَيْسَ بِبَعِيْدٍ أَنْ يَكُوْنَ الَّذِىْ حُكِىَ عَنْهُ نَظِيْرَالَّذِىْ حُكِىَ عَنِ ابْنِ عُمَرَ، قُلْتُ : وَهُوَكَمَا قَالَ، فَقَدْ تَبَيَّنَ ذَلِكَ مِنْ حِكَايَةِ عَطاَءٍ الْخُرَاسَانِىِّ عَنْهُ فِىْ تَزْوِيْجِ النَّبِىِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ بِمَيْمُوْنَةَ وَلَقَدْ ظُلِمَ عِكْرِمَةُ فِىْ ذَلِكَ فَإِنَّ هَذَا مَرْوِىٌّ عَنِ ابْنِ عَبَّاسٍ مِنْ طُرُقٍ كَثِيْرَةٍ أَنَّهُ كَانَ يَقُوْلُ : إِنَّ النَّبِىَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ تَزَوَّجَهَا وَهُوَ مُحْرِمٌ ...
“อนึ่ง คำพูดของท่านสะอีด บิน อัล-มุซัยยับนั้น ท่านอิบนุญะรีรฺกล่าวว่า : ไม่เป็นเรื่องห่างไกล (จากความจริง) เลยที่สิ่งซึ่งถูกรายงานมาจากเขา(สะอีด บินอัล-มุซัยยับ) ก็คล้ายๆกับสิ่งซึ่งถูกรายงานมาจากท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ.นั่นเอง ซึ่งฉัน(อิบนุหะญัรฺ) ขอกล่าวว่า ข้อเท็จจริงก็เป็นเหมือนที่ท่านอิบนุญะรีรฺกล่าว ทั้งนี้ เพราะปรากฏชัดเจนจากเรื่องเล่าของท่านอะฏออ์ อัล-คุรอซานีย์ ที่รายงานมาจากท่านอิกริมะฮ์ว่า ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมสมรสกับท่านหญิงมัยมูนะฮ์ (ขณะที่ท่านกำลังครองเอี๊ยะห์รอม .. แล้วท่านอะฏออ์ก็ได้เล่าเรื่องนี้ให้ท่านสะอีด บินอัล-มุซัยยับฟัง ซึ่งท่านสะ อีดก็กล่าวว่า คนโสโครกนั้นกล่าวเท็จ .. คือโกหกใส่ท่านอิบนุอับบาส) แน่นอน ท่านอิกริมะฮ์ถูกอธรรม (จากท่านสะอีด) ในกรณีนี้ เพราะเรื่องนี้ถูกรายงานมาจากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ด้วยกระแสรายงานจำนวนมาก ว่าท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.เคยกล่าวไว้จริงว่า ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม สมรสกับท่านหญิงมัยมูนะฮ์ขณะท่านกำลังครองเอี๊ยะห์รอม” ...
(จากหนังสือ “ฮัดยุซซารีย์ มุก็อดดิมะฮ์ฟัตหุ้ลบารีย์ หน้า 427)
เพราะฉะนั้น ข้อกล่าวหาของท่านสะอีด บินอัล-มุซัยยับต่อท่านอิกริมะฮ์ดังกล่าว หากเป็นเรื่องจริง ก็เกิดจากความเข้าใจผิดของท่านสะอีดเอง มิใช่ท่านอิกริมะฮ์โกหกใส่ท่านอิบนุอับบาสดังที่ถูกกล่าวหา เพราะท่านอิกริมะฮ์ได้รับฟังเรื่องนี้มาจากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.จริงๆ ...
ผมมีข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่า ท่านอิกริมะฮ์ไม่เคยกล่าวเท็จใส่ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ..นั่นคือรายงานของท่านอุมัรฺ บินฟุฎ็อยล์, จากท่านอุษมาน บินหะกีมซึ่งกล่าวว่า
كُنْتُ جَالِسًا مَعَ أَبِىْ أُمَامَةَ بْنِ سَهْلٍ إِذْ جَاءَ عِكْرِمَةُ، فَقَالَ : يَا أَبَا أُمَامَةَ، أُذَكِّرُكَ اللهَ! هَلْ سَمِعْتَ ابْنَ عَبَّاسٍ يَقُوْلُ : مَا حَدَّثَكُمْ عَنِّىْ عِكْرِمَةُ فَصَدِّقُوْهُ، فَإِنَّهُ لَمْ يُكَذِّبْ عَلَّى، فَقَالَ أَبُوْ أُمَامَةَ : نَعَمْ! ...
“ฉัน (อุษมาน บินหะกีม)กำลังนั่งอยู่กับท่านอบู อุมามะฮ์ บินซะฮ์ลิ ทันใดนั้นท่านอิกริมะฮ์ก็โผล่เข้ามาแล้วกล่าวว่า : นี่แน่ะ ท่านอบู อุมามะฮ์, ฉันขอเตือนท่านให้นึกถึงอัลลอฮ์! .. ท่านเคยได้ยินท่านอิบนุอับบาสพูดหรือไม่ว่า อันใดก็ตามที่อิกริมะฮ์พูดกับพวกท่าน (โดยอ้าง)จากฉัน พวกท่านก็จงเชื่อเถิดว่ามันเป็นความเป็นจริง เพราะเขาไม่เคยโกหกใส่ฉัน, ท่านอบู อุมามะฮ์ก็รับว่า ใช่ (ฉันเคยได้ยิน)” ...
(จากหนังสือ “สิยัรฺ อะอฺลามิ้นนุบะลาอ์” เล่มที่ 5 หน้า 507, และหนังสือ “ตะฮ์ซีบุตตะฮ์ซีบ” เล่มที่ 7 หน้า 236) ...
หลักฐานบทนี้จึงเป็นข้อมูลหักล้างข้อกล่าวหา – ไม่ว่าจากผู้ใดก็ตาม -- ที่อ้างว่า ท่านอิกริมะฮ์เคยโกหกใส่ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ...
3. ข้อกล่าวหาของท่านอะฏออ์ และท่านยะห์ยา บินสะอีด อัล-อันศอรีย์ที่กล่าวว่า “كَذَبَ عِكْرِمَةُ” .. (ซึ่งผู้วิเคราะห์ชีอะฮ์ในเว็บฯ แปลว่า "อิกริมะฮ์โกหก" นั้น ) ...
ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ได้ชี้แจงในกรณีนี้ว่า ...
قَالَ ابْنُ حِبَّانَ : أَهْلُ الْحِجَازِ يُطْلِقُوْنَ كَذَبَ فِىْ مَوْضِعِ أَخْطَأَ، ذَكَرَ هَذَا فِىْ تَرْجَمَةِ بَرْدٍ مِنْ كِتَابِ الثِّقَاتِ، وَيُؤَيِّدُ ذَلِكَ إِطْلاَقُ عُبَادَةَ بْنِ الصَامِتِ قَوْلَ (كَذَبَ أَبُوْ مُحَمَّدٍ) لمَاَّ أُخْبِرَ أَنَّهُ يَقُوْلُ : اَلْوِتْرُ وَاجِبٌ، فَإِنَّ أَبَا مُحَمَّدٍ لَمْ يَقُلْهُ رِوَايَةً وَإِنَّمَا قَالَهُ إِجْتِهَادًا، وَالْمُجْتَهِدُ لاَ يُقَالُ :إِنَّهُ كَذَبَ، إِنَّمَا يُقَالُ : إِنَّهُ أَخْطَأَ، وَذَكَرَ ابْنُ عَبْدِالْبَرِّ لِذَلِكَ أَمْثِلَةً كَثِيْرَةً ...
ท่านอิบนุหิบบานกล่าวว่า ชาวหิญาซนั้น พวกเขานิยมใช้คำว่า كَذَبَ (ซึ่งปกติแปลว่าเขาโกหก) แทนคำว่า أَخْطَأَ (แปลว่า เขาพลาดแล้ว), .. ท่านอิบนุหิบบานได้ระบุข้อความนี้ในรายงานประวัติท่านบัรฺด์ ในหนังสือ “อัษ-ษิกอต” .. และสิ่งที่ช่วยเน้นน้ำหนักเรื่องนี้ ได้แก่การที่ท่านอุบาดะฮ์ บินอัศ-ศอมิต ร.ฎ.ได้ใช้คำว่า كَذَبَ ต่ออบูมุหัมมัด เมื่อมีผู้บอกท่านว่า เขาเคยกล่าวว่า .. นมาซวิตรฺ เป็นวาญิบ .. (แล้วท่านอุบาดะฮ์ก็กล่าวว่า كَذَبَ أَبُوْ مُحَمَّدٍ ซึ่งความหมายในที่นี้ก็คือ อบูมุหัมมัดพลาดแล้ว มิใช่แปลว่า อบูมุหัมมัดโกหกแล้ว) .. ทั้งนี้เพราะอบูมุหัมมัดมิได้กล่าวคำนี้ (นมาซวิตรฺ เป็นวาญิบ)ในลักษณะการรายงาน แต่เขากล่าวมันในลักษณะการวินิจฉัย (อันเป็นมุมมองส่วนตัวของเขาเอง) และผู้ที่วินิจฉัย (เรื่องใด) จะไปกล่าวว่า “เขาโกหก” ย่อมไม่ได้! เพียงอาจกล่าวได้ว่า “เขาผิดพลาดแล้ว” เท่านั้น ซึ่งท่านอิบนุ อับดิลบัรรฺ ก็ได้ระบุตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้มากมาย” ...
(จากหนังสือ “ฮัดยุซซารีย์ มุก็อดดิมะฮ์ฟัตหุ้ลบารีย์” เล่มที่ 5 หน้า 427) ...
ผมขอเสนออีกตัวอย่างหนึ่งในเรื่องนี้จากหะดีษของท่านบุคอรีย์ .. คือหะดีษที่1002, โดยท่านอาศิม อัล-อะห์วัลได้ถามท่านอนัส บินมาลิกเกี่ยวกับเรื่องกุนูต, ซึ่งท่านอนัสก็ตอบว่า เคยมีการอ่านกุนูตกันจริง, แล้วท่านอาศิมก็ถามต่อไปว่า การอ่านกุ นูตต้องก่อนหรือหลังรุกั๊วะอฺ ซึ่งท่านอนัสตอบว่า อ่านก่อนรุกั๊วะอฺสิ, แล้วท่านอาศิมแย้งว่า มีบุคคลหนึ่งได้บอกฉันโดยอ้างว่า ท่านกล่าวว่าให้อ่านหลังรุกั๊วะอฺ ซึ่งท่านอนัสก็ตอบว่า كَذَبَ ! ...
ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ได้อธิบายข้อความตอนนี้ว่า ...
وَمَعْنَى قَوْلِهِ ,كَذَبَ، أَىْ أَخْطَأَ، وَهُوَلُغَةُ أَهْلِ الْحِجَازِ، يُطْلِقُوْنَ الْكَذِبَ عَلَى مَا هُوَ أَعَمُّ مِنَ الْعَمْدِ وَالْخَطَأِ ...
“ความหมายคำว่า كَذَبَ ก็คือ أَخْطَأَ (เขาพลาดแล้ว) .. และนี่เป็นภาษาของชาวหิญาซซึ่งพวกเขามักจะใช้คำว่า اَلْكَذِبَ (ที่แปลว่าการโกหก) ในความหมายที่ครอบคลุมกว่าการทำผิดโดยเจตนาและการทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์” ...
(จากหนังสือ “ฟัตหุ้ลบารีย์” เล่มที่ 2 หน้า 490) ...
เพราะฉะนั้น รายงานคำพูดของท่านอะฏอฮ์และท่านยะห์ยา บินสะอีด อัล-อันศอรีย์ที่กล่าวว่า كَذَبَ عِكْرِمَةُ จึงมีความหมายว่า .. อิกริมะฮ์พลาดแล้ว, มิใช่มีความหมายว่า อิกริมะฮ์โกหกแล้ว .. ดังคำแปลของท่านผู้วิเคราะห์หะดีษนี้ในเว็บฯ ...
ส่วนในกรณีของท่านอิบนุซีรีนที่ไม่ระบุชื่อท่านอิกริมะฮ์ในรายงานของตนนั้น ข้อเท็จจริงมีว่า สาเหตุเพราะเพราะท่านอิบนุซีรีนไม่พอใจท่านอิกริมะฮ์เป็นการส่วนตัว ไม่ใช่เพราะท่านอิกริมะฮ์เป็นคนโกหก ...
ท่านคอลิด อัล-หัซซาอ์ยืนยันว่า ทุกๆสิ่งที่ท่านอิบนุซีรีกล่าวว่า "ฉันรับมาจากท่านอิบนุอับบาส" นั้น ที่แท้ล้วนเป็นสิ่งที่เขาได้ยินมาจากท่านอิกริมะฮ์ทั้งสิ้น
ดังนั้น ข้อกล่าวหาว่าท่านอิกริมะฮ์ "โกหก" จากทุกๆรายงานจึงถือว่าไม่ถูกต้องและไม่มีมูลความจริงแต่ประการใด ...
4. คำกล่าวของท่านอุษมาน บินมัรฺเราะฮ์ที่รายงานจากท่านกอซิม บินมุหัมมัดว่า อิกริมะฮ์เชื่อถือไม่ได้ เพราะตอนเช้าเล่าอย่างนี้ พอตอนเย็นก็เล่าขัดกับตอนเช้า ...
ชี้แจง
ท่านอิบนุหะญัรฺได้ชี้แจงในกรณีนี้ว่า ...
“อนึ่งเรื่องเล่าจากกอซิม บินมุหัมมัดนั้น สาเหตุของมันก็ได้รับการอธิบายอย่างชัดเจนแล้วซึ่งไม่ใช่เป็นความเสื่อมเสียแต่ประการใด ทั้งนี้เนื่องจากไม่ถือว่าเป็นข้อห้ามสำหรับผู้ที่มีความรู้แตกฉาน จะมี 2 หรือ 3 ทัศนะในปัญหาใดๆ แล้วเขาก็จะบอกกล่าวปัญหานั้น(แก่ผู้อื่น) ตามที่เขานึกออก (ในขณะนั้น) ...
ข้อยืนยันในเรื่องนี้ก็คือ สิ่งที่ท่านฮุบัยเราะฮ์รายงานมาว่า ท่านอิกริมะฮ์ได้มาหาพวกเราที่อียิปต์ แล้วก็เล่าหะดีษบทหนึ่งจากเศาะหาบะฮ์ท่านหนึ่งให้พวกเราฟัง, หลังจากนั้นท่านก็เล่าหะดีษบทเดียวกันจากเศาะหาบะฮ์ท่านอื่นแก่พวกเราอีก พวกเราจึงไปหาท่านอิสมาอีล บินอุบัยด์ อัล-อันศอรีย์ (โดยที่ท่านอิสมาอีลก็เคยได้รับฟังหะดีษมาจากท่านอิบนุอับบาสเช่นเดียวกัน) แล้วพวกเราก็เล่าเรื่องนี้ให้ท่านอิสมาอีลฟัง ท่านจึงกล่าวว่า ฉันจะบอกเรื่องนี้ของพวกท่านแก่เขาเอง, ท่านอิสมาอีลจึงไปหาท่านอิกริมะฮ์แล้วถามเขาในหลายๆอย่างที่ท่านเคยได้ยินมาจากท่านอิบนุอับบาส ซึ่งท่านอิกริมะฮ์ก็ชี้แจงตรงกันกับสิ่งที่ท่านอิสมาอีลเคยได้ยินมานั้น หลังจากนั้นพวกเราก็ไปหาท่านอิสมาอีลอีกแล้วถามท่าน ท่านก็ตอบว่า ชายผู้นั้น (อิกริมะฮ์) เป็นคนพูดความจริง! เพียงแต่ว่าเขาได้ยินความรู้มามาก(คือหลายแนวทาง)เกินไป ดังนั้นทุกครั้งที่เขานึกแนวทางใดออก เขาก็ว่าไปตามแนวทางนั้น, ท่านอบู อัล-อัสวัดกล่าวว่า อิกริมะฮ์น่ะฉลาดน้อย เพราะเขาเคยได้รับหะดีษบทหนึ่งมาจากบุคคล 2 คน .. แล้วเมื่อถูกถาม(ครั้งแรก)เขาก็พูดอ้างมันจากคนหนึ่ง ต่อมาเมื่อถูกถามอีกหลังจากนั้นเพียงชั่วครู่เขาก็อ้างมันจากอีกบุคคลหนึ่ง ประชาชนจึงกล่าวว่า เขาช่างพูดเท็จอะไรเช่นนี้ .. ทั้งๆที่เขาก็พูดความจริง” ...
(จากหนังสือ “ฮัดยุซซารีย์ฯ หน้า 427-428) ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น