อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559

การนั่งของผู้ที่ละหมาดประเภท 2 ร็อกอะฮ์


ตอบโดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม
อัสลามุอาลัยกุม อาจารย์สบายดีนะค่ะ ดิฉันมีคำถามอีกแล้วค่ะ อาจารย์อย่าเพิ่งเบื่อนะค่ะ
ขอถามอาจารย์ เรื่องการนั่งตะฮฺชะฮุดครั้งสุดท้าย ของละหมาด 2 ร็อกอัต เช่น ละหมาดศุบฮฺ ละหมาดสุนัตต่างๆ นั้น ต้องนั่งแบบก้นราบกับพื้นหรือนั่งบนเท้า แบบไหนถูกต้องกว่ากันและมีหลักฐานรองรับ หรือทั้งสองเป็นเพียงทัศนะค่ะ ดิฉันเคยสังเกตขณะละหมาดตะรอเวียะฮ์ อีหม่ามบางคนนั่งก้นราบกับพื้นบ้าง นั่งบนเท้าบ้าง ทำให้ผู้ตามบางคนสับสน เคยมาบ่นกับดิฉันค่ะ

ตอบ
วะอลัยกุมุสสลาม ..
อัลหัมดุลิลลาฮ์ ผมสบายดีครับและไม่เคยเบื่อที่จะตอบคำถามของศิษย์คนใดเลยครับ และขอถือโอกาสนี้ ขอโทษต่อผู้ถามบางท่านที่ผมยังไม่ได้ตอบคำถามให้เลยจนลืมไปแล้วว่า มีคำถามอะไบ้างที่ยังค้างอยู่ เพราะผมไม่ค่อยมีเวลาว่างเลย อย่างวันนี้ ผมก็ต้องไปหัวไทรแล้วเลยไปสงขลาอีกวันสองวัน
สำหรับคำถามของคุณเรื่องการนั่งของผู้ที่ละหมาดประเภท 2 ร็อกอะฮ์ เช่นละหมาดซุบฮ์, ละหมาดวันศุกร์, หรือละหมาดวันอีด เป็นต้นว่าจะต้องนั่งอย่างไร ? นั่งบนฝ่าเท้าซ้าย (อิฟติรอช) หรือนั่งก้นราบกับพื้น(ตะวัรฺรุก) ? นั้น เรื่องนี้ผมเคยเขียนวิเคราะห์หลักฐานไว้ครั้งหนึ่งแล้วสมัยยังใช้พิมพ์ดีดต็อกแต็กอยู่
สรุปก็คือ เป็นปัญหาขัดแย้งครับ โดยท่านอิหม่ามชาฟิอีย์เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นละหมาดประเภท 2 หรือ 3 หรือ 4 ร็อกอะฺฮ์ การนั่งในตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้ายจะต้องนั่งก้นราบกับพื้นหรือตะวัรฺรุกเสมอ
แต่ท่านอิหม่ามอะห์มัด อิบนุหัมบัล ศิษย์ของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์กลับมีความเห็นต่าง โดยท่านเห็นว่า ในกรณีละหมาดประเภท 2 ร็อกอะฮ์ซึ่งมีตะชะฮ์ฮุดครั้งเดียว ก็ให้นั่งตะชะฮ์ฮุดบนฝ่าเท้าซ้าย(คือ แบบอิฟติรอช)
แต่ถ้าเป็นละหมาดประเภท 3 หรือ 4 ร็อกอะฮ์ซึ่งมีสองตะชะฮ์ฮุด ก็ให้นั่งในตะชะฮ์ฮุด "ครั้งที่สอง" หรือครั้งสุดท้ายแบบตะวัรฺรุก
ซึ่งในมุมมองของผม - หลังจากที่ได้ตรวจสอบหลักฐานของทั้งสองฝ่ายละเอียดถี่ถ้วนแล้ว - เห็นด้วยกับทัศนะของท่านอิหม่ามอะห์มัดที่ว่า ให้ผู้ละหมาดประเภท 2 ร็อกอะฮ์ซึ่งมีตะชะฮ์ฮุดแค่ครั้งเดียว ให้นั่งบนฝ่าเท้าซ้ายแบบอิฟติรอชครับ
วัลลอฮุ อะอฺลัม ...



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น