อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559

วันอารอฟะฮ์, วันอีดิ้ลอัฎหาอ์ และวันตัชรีก ท่านนบีได้ผูกโยงวันสำคัญเหล่านั้นให้ต่อเนื่องกัน



อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย คุยกับคุณTO Procede

TO Procede :
"อาจารย์ครับ เนื่องจากผมไปอ่านงานเขียนของ Muhammad Nisarul Haq อดีตเลคเชอร์ คณะอุซูลุดดีน ของมหาวิทยาลัยอิสลามิค อิสลามาบัด เขาได้ชี้แจงว่า ไม่มีหลักฐานในตัวบทที่จะเชื่อมโยงว่า วันอิดิ้ลอัฏฮาจะต้องยึดตาม กำหนดหารทำฮัจญ์ ของซาอุดิอาระเบีย (แต่เนื่องจากบทความเป็นภาษาอังกฤษ ผมแปลไว้แล้ว และอยากให้อาจารย์ได้ตรวจสอบว่า หลักฐานที่เขายกมาเป็นอย่างไร? อันนี้เพียงอยากจะทราบตามหลักวิชาการครับ อนึ่งเขาได้ยกคำถามคำตอบที่ พี่น้องมุสลิมได้ถามชัยคฺอุษัยมีน ผมจะให้อาจารย์ดูครับ)"
----> นักวิชาการจากซาอุดิอะราเบียที่มีชื่อเสียง ท่านชัยคฺมุฮัมหมัดอิบนฺศอและห์ อัล-อุซัยมีน ได้ตอบประเด็นนี้อย่างชัดเจน ตามที่ได้มีการตั้งคำถามจากพี่น้องของเรามาจากเมืองอิทาคา นิวยอร์ค ชื่อ “อับดุลเราะห์มาน บินอับดุลลอฮ อัล-คอลิดี ซึ่งมีการถามตอบดังนี้:
ถาม: เราควรจะยึดการดูจันทร์เสี้ยวตามแต่ละประเทศในการกำหนดวันอิดิ้ลอัฏฮา หรือเราควรทำตามการกำหนดวันตามอะรอฟะห์ของการทำฮัจญ์, พึงทราบว่าการดูจันทร์เสี้ยวในอเมริกาอาจเห็นก่อนซาอุดิอาระเบีย?
ตอบ:ท่านควรยึดถือการดูจันทร์เสี้ยวตามประเทศที่ท่านอาศัยอยู
ถาม:นั่นก็หมายความว่าเราจะถือศีลอดวันที่9 ซุลฮิจญะห์ของอเมริกาเหนือ และละหมาดอีดตามอเมริกาเหนือ
ตอบ: ใช่นั่นคือสิ่งที่ท่านควรทำโดยปราศจากข้อกังวลใดๆ
เกริ่นนำ
อีกครั้งหนึ่งที่มุสลิมในอเมริกาและแคนาดาที่ตกอยู่ในท่ามกลางความขัดแย้งกันในเรื่องของวันอีด: จะกำหนดอย่างไรในเรื่องของวันอีด ในข้อขัดแย้งจะเกิดจากสองมุมมองดังนี้
1) มุสลิมทั่วโลกจะต้องยึดวันอิดิ้ลอัฎฮาตามการประกาศของกำหนดการของการทำฮัจญ์ในมักกะห์ . ไม่เป็นไปตามอิดิ้ลฟิตรีที่ยึดการตามดูเดือนของแต่ละพื้นที่
2) มุสลิมส่วนต่างๆของโลกควรจะฉลองอิดิ้ลอัฎฮาในวันที่10 ของเดือนซุลฮิจญะห์ตามดวงจันทร์ในท้องถิ่นของตนโดยไม่คำนึงถึงวันที่ของการแสวงบุญ
ฉะนั้น เราไม่ต้องตั้งอคติใดๆให้เราแยกตัวเราออกมา “กลับสู่จุดเริ่มต้น” ปฎิบัติด้วยความบริสุทธิใจต่ออัลลอฮและอิสลามเพื่อที่จะหาคำตอบจากสองมุมมองนี้ที่ถูกต้องกว่า และตามหลักฐานทางด้านชารีอะห์อย่างแท้จริง
ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้โดยยึดถือตามกีตาบุลลอฮ, ซุนนะห์ของท่านนบี(ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม), ชีวิตของท่านนบี(ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม), ข้อปฏิบัติของเหล่าศอฮาบะห์, ความเห็นของนักวิชาการฟิกส์, ฉันทามติของนักวิชาการ, และการย้อนกลับไปสู่การพิจารณาจากประวัติศาสตร์ ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ และตัวแปรในเชิงปฏิบัติ
เท่าที่การทำฮัจญ์และวันอิดิ้ลอัฏฮาที่ต้องมาพิจารณาคือ วันที่9 และ10 ซุลฮิจญะห์ และที่เราต้องนำมาพิจารณาก็คือว่า ในการกำหนดวันทำฮัจญ์ซึ่งจะประกาศจากมักกะห์ และประกาศวันอิดิ้ลอ้ฏฮาในวันเดียวกัน ไม่ว่าเขาจะอยู่รอบๆมักกะห์ หรือห่างออกไปยังยุโรป อเมริกา หรืออินเดีย. เพื่อเป็นการกำหนดเราต้องการตัวบทหลักฐานตามหลักกฏหมายของอิสลาม ในการที่เราละทิ้งการดูเดือนตามท้องถิ่นเพื่อกำหนดวันอิดิ้ลอ้ฏฮา และหันไปใช้ตามการประกาศของมักกะห์
ตัวบทจากกุรอาน
هُوَ الَّذِى جَعَلَ الشَّمْسَ ضِيَآءً وَالْقَمَرَ نُوراً وَقَدَّرَهُ مَنَازِلَ لِتَعْلَمُواْ عَدَدَ السِّنِينَ وَالْحِسَابَ
พระองค์ทรงทำให้ดวงอาทิตย์มีแสงจ้าและดวงจันทร์มีแสงนวล และทรงกำหนดมันให้มีทางโคจร เพื่อพวกท่านจะได้รู้จำนวนปีและการคำณวณ
(ยูนุส (10):5)
يَسْـَلُونَكَ عَنِ الأَهِلَّةِ قُلْ هِىَ مَوَاقِيتُ لِلنَّاسِ وَالْحَجِّ
“เขาเหล่านั้นจะถามเจ้าเกี่ยวกับเดือนแรกขึ้น จงกล่าวเถิดมันคือกำหนดเวลาสำหรับมนุษย์ และสำหรับประกอบพิธีฮัจย์” อัลบะกอเราะห์(2) :189
อัลลอฮได้กล่าวว่าให้ใช้ดวงจันทร์เป็นตัวกำหนดวันซึ่งเหตุการณ์ต่างๆในการดำเนินชีวิต แน่นอนอายะห์นี้ไม่ได้บอกให้เรากำหนดวันตามการดูเดือนของมักกะห์ แล้วมากำหนดวันอิดิ้ลอัฏฮา,โดยให้ละทิ้งการดูดวงจันทร์ในพื้นที่ ยังไม่มีนักตัฟซีรอัลกุรอานทั้งจากยุคร่วมสมัยนี้หรือในอดีต มาทำการกำหนดวันอีดตามหลักการดังกล่าว,
ในอีกด้านหนึ่งนักตัฟซีรที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ อิบนีญารีร อัล-ตอบารี ได้ให้ความชัดเจนในการตัฟซีรใน อัลบะกอเราะห์(2) :189 ว่า เป็นการกำหนดวันเชือดซึ่งไม่ได้ต่างไปจากการกำหนดวันถือศีลอด วันอิดฟิตรี ซึ่งท่านตอบารีได้กล่าวว่า
حَدَّثَنا الحسن بْن يَحْيَي , قال . أَخْبَرَ نَاعَبْدالرَزَّاق,,
( قال. أَخْبَرَ نَامَعْمَرعَنْ قَتَادَة فِي قَوْله. ( مَوَا قِيت لِلنَّاسِ وَالْحَجَّ
قال. هِيَ مَوَا قِيت لِلنَّاسِ فِي حَجّهمْ وَصَوْمَهمْ وَفِطْرهمْ وَنُسُكهمْ
“ฮาซันบินยะห์ยาได้บอกแก่พวกเราว่า ท่านอับดุลรอซักได้รายงานแก่เราว่า ท่านมะมัรรายงานจากกลุ่มของกอตาฏอฮว่า จากอายะห์ هِىَ مَوَاقِيتُ لِلنَّاسِ หมายความว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างเช่นการทำฮัจญ์ การถือศีลอด อีดฟิตรี และการเชือด ให้ดูเดือนในพื้นที่”
ผมแปลงานเขียนของเขา จากภาษาอังกฤษ ส่วนที่เป็นภาษาอะหรับนั้น ผมพิมพ์มาให้อาจารย์ดู ผมอาจจะแปลผิดพลาด เอาแค่นี้ก่อนครับ ด้านวิชาการคิดว่าเป็นอย่างไรครับ
:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

ปราโมทย์ ศรีอุทัย :
ที่คุณแปลมานั้นเป็น "ทัศนะ" ของท่านชัยค์อุษัยมีนซึ่งผมเคยอ่านมาก่อนแล้ว (บางที ทัศนะของท่านอาจเป็นทัศนะที่ถูกต้องก็ได้ อินชาอัลลอฮ์) ..
แต่ผมกลับมีความเห็นต่างกับท่านในเรื่องนี้คือ ..
1. ใช่ครับ "ถ้า" เราคิดกันแค่วัน "อีดิ้ลอัฎหาอ์" เพียงอย่างเดียว, และ "ถ้า" ท่านศาสดาก็ไม่กำชับให้พวกเราที่ไม่เดินทางไปทำหัจญ์ถือศีลอด "วันอารอฟะฮ์" ด้วย ก็เป็นเรื่องถูกต้องที่แต่ละประเทศ มีสิทธิ์ดูเดือนเสี้ยวเพื่อกำหนดวันอีดิ้ลอัฎหาอ์ของประเทศตนเองเหมือนการดูเดือนเสี้ยวเพื่อกำหนดวันถือศีลอดและออกอีดเดือนรอมะฎอนเช่นเดียวกัน
แต่ข้อเท็จจริงมิใช่เช่นนั้น เพราะท่านศาสดากำชับให้ถือศีลอดในวันอารอฟะฮ์ มิใช่ให้ถือศีลอดในวันที่ 9 ..
และผมก็อธิบายไปแล้วว่า วันอารอฟะฮ์มิได้หมายถึงวันที่ 9 ของประเทศใดในโลก แต่เป็นวันที่ "คนทำหัจญ์ไปวุกู้ฟที่ทุ่งอารอฟะฮ์" วันเดียวเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ไม่ว่ามุสลิมจะอาศัยอยู่ ณ ส่วนไหนของโลก หากเขาจะถือ "ศีลอดวันอารอฟะฮ์" ตามคำสั่งของท่านนบีย์ แต่เขากลับไปถือมันในวันที่ 9 ของประเทศเขาที่มันไม่ตรงกับวันอารอฟะฮ์จริงๆ เราจะพูดได้หรือครับว่า เขาถือศีลอดวันอารอฟะฮฺแล้ว ? ..
2. ประการต่อมา ถ้าเรายอมรับความจริงและยอมถือศีลอดในวันอารอฟะฮ์จริงดังที่ผมกล่าวมา (ซึ่งบางทีอาจจะเป็นวันที่ 8 ของประเทศเรา) แล้วเราก็เว้นวรรควันที่ 9 ของเราไว้วันหนึ่งเพื่อไปทำละหมาดอีดิ้ลอัฎหาอ์ในวันที่ 10 ตามปฏิทินของเรา
ผมก็อยากจะทราบว่า แล้วจะให้เรียกวันที่ 9 ตามปฏิทินของเราที่เราเว้นวรรคเอาไว้นั้นว่า เป็น "วันอะไร" ตามหลักศาสนา ? ..
เพราะท่านศาสดาได้ผูกโยงวันสำคัญเหล่านั้นให้ต่อเนื่องกัน - ตั้งแต่วันอารอฟะฮ์, วันอีดิ้ลอัฎหาอ์ และวันตัชรีกทั้งสาม
- เป็นลูกโซ่ในหะดีษบทหนึ่งดังเป็นที่ทราบกันดีแล้ว ดังนั้นการกระทำของเราดังคำถามนี้จะมิหมายความว่า เราอุตริเพิ่มเติมวันอะไรก็ไม่รู้ ? ..
เข้ามา "แทรกกลาง" ระหว่างวันอารอฟะฮ์จริง กับวันอีดิ้ลอัฎหาอ์จริงซึ่งต่อเนื่องกันตามที่ท่านศาสดากล่าวไว้หรือครับ ?...



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น