อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2559

เมื่อผมเสียค่าโง่ !


โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

เมื่อวาน (วันเสาร์ ที่ 7 พฤศจิกายน 2558) เป็นวันที่ผมต้องสูญเสียเพื่อนซี้ – ฮุเซ็น นิยมเดชา - ซึ่งเคยหุงข้าวให้ผมกินมาร่วมเจ็ดปี สมัยเรียนปอเนาะตัสดีกียะฮ์ จะนะมาด้วยกัน .. ด้วยโรคอัมพฤกษ์ ...
บอกตรงๆ เป็นวันที่ผมเสียใจที่สุดในชีวิตอีกวันหนึ่ง ...
ยิ่งเมื่อนึกถึงความหลังเมื่อเรา 3 คน คือผม(เป็นพี่ใหญ่), ฮุเซ็น(เป็นน้องรอง แต่อายุรุ่นเดียวกับผม), และน้องเล็กในทีม .. อาดัม (หรืออิหม่ามศุภชัย นิยมเดชาแห่งมัสยิดนูรุลนาอีมในปัจจุบัน) เดินทางไปปอเนาะด้วยกัน, อยู่ปอเนาะห้องเดียวกัน, นอนไหล่เบียดซ้อนกันเพราะปอเนาะค่อนข้างคับแคบ, อดด้วยกัน, อิ่มด้วยกัน, เที่ยวด้วยกัน
และบางครั้ง ผมกับฮุเซ็นก็กัดฟัน ผลัดกันแบกถุงข้าวสารที่ชาวบ้านตลิ่งชันเมตตาบริจาคให้เกือบ 2 ถัง (ประมาณเกือบ 32 กิโลกรัม) .. เดินเท้าจากบ้านตลิ่งชันกลับปอเนาะเป็นระยะทางเกือบ 10 กิโลเมตร เพราะอาดัมยังตัวเล็ก ช่วยแบกไม่ไหว ...
คิดถึงจุดนี้ ก็ยิ่งทำให้ผมสะท้อนใจจนบอกไม่ถูก ...
และ .. หนึ่งในเหตุการณ์แห่งอดีตของเราที่ผมยังไม่เคยลืม ก็คือสิ่งที่ผมกำลังเขียนเล่าอยู่ขณะนี้แหละครับ ...
ก่อนอื่น ขออธิบายให้ทราบก่อนว่า การเดินทางไปปอเนาะสมัยนั้น ถ้าเป็นหน้าคลื่นลมสงบ ก็ไปกับเรือเมล์โดยสารทางทะเล จากหน้าศาลบ้านเกิด เรือวิ่งเลียบชายฝั่งทะเลไปถึงสงขลาเวลาค่ำ หรือจวนค่ำ
แต่ถ้าหากเป็นช่วงมรสุมคลื่นลมแรง ก็ต้องนั่งเรือหางยาวในคลอง .. จากคลองหัวไทร ผ่านคลองแดน จนถึง อ.ระโนด .. แล้วนั่งเรือเมล์โดยสารจากระโนด วิ่งไปในทะเลสาบสงขลายามราตรี และถึงสงขลาในเช้าวันรุ่งขึ้น ...
แล้วจากสงขลา เรานั่งรถสองแถวไป อ.หาดใหญ่ และจากหาดใหญ่ก็นั่งรถไฟไปลงสถานีจะนะ ...
แล้วสุดท้ายก็นั่งรถสามล้อถีบจากสถานีรถไฟไปปอเนาะอีกที ...
แต่เหตุการณ์เสียค่าโง่ของผม เกิดขึ้นหลังจากไปอยู่ปอเนาะแล้วประมาณปีเศษ และปอเนาะหยุดสอนเนื่องในเดือนเมาลิดหรือเดือนรอบีอุ้ลเอาวาล ...
จำได้ว่า วันนั้นผมกับฮุเซ็นขึ้นรถไฟจาก อ.จะนะ มุ่งหน้า อ.สู่หาดใหญ่ แล้วเดินทางต่อไปสงขลาเพื่อขึ้นเรือเมล์กลับบ้านที่หัวไทรต่อไป ..
รถไฟเที่ยวนั้นคนแน่นเอี๊ยดทุกโบกี้ ผมกับฮุเซ็นโชคดี(หรือโชคร้ายก็ไม่รู้) ได้ที่นั่งในโบกี้รถเสบียง และบังเอิญอีกเช่นกันที่มีที่นั่งเหลืออยู่ 2 ที่ สำหรับเราสองคนพอดี ...
รถไฟวิ่งผ่านสถานีเล็กๆแห่งหนึ่ง, ผ่านสถานีควนจง แล้วถึงสถานีควนมีด ...
ที่สถานีควนมีด มีผู้โดยสารขึ้นเพิ่มมา 7-8 คน .. และมี 2 คน ท่าทางเป็นนักธุรกิจ หิ้วกระเป๋าใบโตคนละใบ ขึ้นมารถไฟโบกี้เดียวกับที่ผมและฮุเซ็นนั่งอยู่ ...
พอขึ้นมาก็ไม่มีที่นั่ง จึงยืนเก้ๆกังๆโคลงไปเคลงมาตามจังหวะการเหวี่ยงของรถไฟอยู่ครู่ใหญ่ ..
แล้วหนึ่งจากสองคนนั้นก็หันมามองดูผมกับฮุเซ็นซึ่งแต่งกายแบบเด็กปอเนาะเต็มยศ คือนุ่งผ้าโสร่ง, ใส่เสื้อกุหร่งและสวมหมวกสีขาว (แถมวันนั้นผมโพกผ้าสาระบ่านด้วย) ...
แล้วหมอนั่นก็ชี้มือมาที่เรานั่งกันอยู่และหันไปพูดกับเพื่อนว่า ..
“เอ๊ะ ดูเหมือนตรงนั้น เมื่อตะกี้เขาเอาเนื้อหมูมาวางไว้นะ” ...
เหมือนโดนเข็มแทงก้น พอได้ยินคำว่า “เนื้อหมู” แค่นั้น ผมกับฮุเซ็นก็ลุกขึ้นอย่างพรวดพราดลนลาน แล้วผละออกห่างจากที่นั่งนั้น ไปยืนตัวลีบด้วยสีหน้าหวาดๆกลางโบกี้ทันที ...
นักธุรกิจสองตัว เอ๊ย สองคนนั้น รีบหย่อนก้นนั่งลงแทนที่เราทันที แล้วหัวเราะให้กันอย่างเบิกบานใจ และหันมามองดูผมกับฮุเซ็นอย่างเหยียดหยามเหมือนเป็นตัวอะไรสักอย่างหนึ่ง ...
รถไฟวิ่งต่อไปประมาณเกือบสิบนาทีโดยผมกับฮุเซ็นต้องยืนโหนต่องแต่งแทนเจ้าสองคนนั่น (และต้องโหนต่อไปร่วมชั่วโมงครึ่งจนถึงหาดใหญ่) แล้วผมก็เกิดเฉลียวใจขึ้นมาทันทีว่า ...
“ก็เราสองคนขึ้นมานั่งตรงนั้นก่อนมันทั้งสองคนตั้งนานนี่หว่า ก็ไม่เห็นใครจะเอาเนื้อหมูมาวางไว้เลย แล้วมันเพิ่งจะขึ้นมาหยกๆเอง แล้วมันรู้ได้อย่างไรวะ ว่า เขาเอาเนื้อหมูมาวางไว้ตรงนั้น ?” ...
แต่มันเป็นการเฉลียวใจและรู้สึกตัวที่สายเกินไป เพราะเราเสียค่าโง่และเสียที่นั่งให้มันไปแล้วอย่างเจ็บปวดที่สุด ...
สิ่งที่เราทำได้อย่างดีที่สุดยามนั้นก็คือ ได้แต่ยืนกัดฟันกรอดๆเพราะความแค้นใจ - ทั้งแค้นใจหมู, แค้นใจมัน และแค้นใจตัวเอง จนถึงสถานีรถไฟหาดใหญ่ ...
แล้วเดี๋ยวนี้น่ะหรือ ? .. เวลาเดินผ่านเขียงหมูในตลาด ผมอยากจะตบก้อนเนื้อหมูสีแดงๆที่วางอยู่บนเขียงโชว์ให้ให้เจ้าของมันที่เป็นคนไทยพุทธเห็นด้วย แล้วตะโกน(ในใจ)ใส่มันว่า ...
“กูไม่โง่กลัวมึงอีกแล้วโว้ย” ...
หลังจากนั้น ผมก็จะกลับบ้าน .. ไปล้างมือกับน้ำยาล้างจานครั้งเดียวจบ ...
ผมเพียงแต่คิดครับ ยังไม่ทำจริงหรอก ...
ทั้งนี้ เพราะท่านอิหม่ามนะวะวีย์ นักวิชาการหะดีษและนักวิชาการฟิกฮ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งมัษฮับชาฟิอีย์ท่านหนึ่ง (ขออัลลอฮ์โปรดเมตตาท่านด้วย, ท่านมีชีวิตระหว่างปี ฮ.ศ. 631-676) ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-มัจญมุอฺ” เล่มที่ 2 หน้า 576 ว่า ...
وَإعْلَمْ أَنَّ الرَّاجِحَ مِنْ حَيْثُ الدَّلِيْلُ أَنَّهُ يَكْفِىْ غَسْلَةٌ وَاحِدَةٌ بِلاَ تُرَابٍ وَبِهِ قَالَ أَكْثَرُ الْعُلَمَاءِ الَّذِيْنَ قَالُوْ
ا بِنَجَاسَةِ الْخِنْزِيْرِ وَهَذَا هُوَ الْمُخْتَارُ ..........
“พึงรู้เถิดว่า แท้จริง ที่มีน้ำหนักในแง่หลักฐานก็คือ เพียงพอแล้ว (ในกรณีสัมผัสกับเนื้อหมู) ด้วยการล้างเพียงครั้งเดียวโดยไม่ต้องใช้ดิน สิ่งนี้คือทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่ที่กล่าวว่าหมูเป็นนะยิส และนี่ มันเป็น(ทัศนะ)ที่(ควร)เลือกปฏิบัติ ........”
ที่ผมติดใจจากคำพูดของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ข้างต้นก็คือ คำกล่าวของท่านที่ว่า ...
“ที่มีน้ำหนักในแง่หลักฐาน” ....
เพราะเรื่องศาสนา ถ้าไม่เอา “หลักฐานที่มีน้ำหนัก” มาพูด แล้วจะเอาอะไรมาพูดกันอีกล่ะครับ ?? ....



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น