อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2562

หะดีษเรื่อง .. ท่านนบีย์รับรองการเห็นเดือนจากภายนอก




โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

มีหะดีษบทหนึ่งถูกรายงานโดยท่านอุมูมะฮ์ ร.ฎ. มีความหมายว่า ...
“เดือนเสี้ยวของเดือนเชาวาล (หมายถึงวันที่ 29 รอมะฎอนค่ำลง) ถูกก้อนเมฆปกคลุมแก่พวกเรา รุ่งขึ้นพวกเราจึงยังถือศีลดอดกัน (เพราะถือว่าเป็นวันที่ 30 เดือนรอมะฎอน) ต่อมาก็มีนักเดินทางกลุ่มหนึ่งขี่ม้ามาในตอนเย็น แล้วพวกเขาก็เป็นพยานยืนยัน ณ ที่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะอลัยฮิวะซัลลัมว่า พวกเขาเห็นเดือนเสี้ยวกันแล้วตั้งแต่เมื่อวาน(คือเมื่อหัวค่ำของคืนที่ผ่านมา) ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะอลัยฮิวะซัลลัม จึงมีคำสั่งให้พวกเขายุติการถือศีลอด และสั่งให้พวกเขาออกไปละหมาดอีดกันในวันรุ่งขึ้น” ...
หะดีษบทนี้ บันทึกโดยท่านอบูดาวูด, ท่านอะห์มัด, ท่านอัน-นซาอีย์, ท่านอิบนุมาญะฮ์, ท่านอิบนุหิบบาน และท่านอัล-บัยฮะกีย์ ...
ความหมายข้างต้น เป็นความหมายจากสำนวนของท่านอิบนุมาญะฮ์ ...
ผมขออนุญาตชี้แจงเกี่ยวกับหะดีษบทนี้ดังต่อไปนี้ ...
สถานภาพของหะดีษบทนี้ เป็นหะดีษหะซันครับ ...
หะดีษบทนี้ นอกจากจะเป็นหลักฐานว่าผู้ที่ไม่ทันละหมาดอีดในวันนี้ ก็ให้เขาละหมาดอีดในเช้าวันรุ่งขึ้นได้แล้ว ยังเป็นหลักฐาน “ยืนยัน” สิ่งที่ผมได้เขียนไปแล้วเมื่อวันก่อน 2 ประการคือ ...
(1). การตามการเห็นเดือนจากภายนอกหรือจากต่างประเทศเป็นสิ่งอนุญาตให้ทำได้ เพราะผมเขียนไปแล้วว่า ...
“เพราะไม่มีนักวิชาการแม้แต่ท่านเดียวกล่าวห้ามตามการเห็นเดือนต่างประเทศ” ...
(2). การแจ้งข่าวเห็นเดือนจากภายนอก จะต้องแจ้งผ่าน “องค์กรผู้นำ” ก่อนเท่านั้น ...
ถ้าผู้นำยอมรับ ผู้นำก็จะมีคำสั่งให้ประกาศให้ประชาชนปฏิบัติตามเอง ...
ผู้เห็นเดือนเองหรือแจ้งข่าวการเห็นเดือน จะประกาศต่อประชาชนให้ถือศีลอดหรือออกอีดก่อนการยอมรับของนำไม่ได้ ...
สมมุตินะครับ สมมุติถ้าหะดีษบทนั้นกล่าวว่า .. นักขี่ม้าเดินทางกลุ่มนั้นเข้ามาถึงก็ประกาศแก่ประชาชนว่า พวกเขาเห็นเดือนแล้วเมื่อหัวค่ำที่ผ่านมา ให้ประชาชนละศีลอดหรือยุติการถือศีลอดกันได้แล้ว เพราะวันนี้คือวันที่ 1 เดือนเชาวาลแล้ว ฯลฯ ...
อย่างนี้เราคงจะอ้างได้เต็มปากว่า หะดีษนี้คือหลักฐานให้เราถือศีลอดหรือออกอีดตามการเห็นเดือนจากภายนอกได้โดยอิสระ .. ไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้นำประกาศก่อน ...
แต่ข้อเท็จจริงกลับตรงกันข้ามกับสมมุติฐานข้างต้นอย่างที่ท่านผู้อ่านเห็น ...
ทั้งนี้ ก็เพราะหะดีษบทนั้นรายงานชัดเจนว่า กลุ่มผู้เห็นเดือนได้นำข่าวเห็นเดือนนั้น “มาแจ้งแก่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะอลัยฮิวะซัลลัม ก่อนอื่น” ..
ไม่มีพวกเขาคนใดไปประกาศโดยพลการให้ประชนออกอีด .. ก่อนการยอมรับของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะอลัยฮิวะซัลลัม ...
ผมเองไม่เคยเจอหลักฐานแม้แต่บทเดียว – ไม่ว่าในยุคของท่านศาสดาหรือยุคของคอลีฟะฮ์ท่านใด - ว่า จะมีผู้เห็นเดือนคนใดประกาศแจ้งข่าวการเห็นเดือนของตนแก่ประชาชนให้ปฏิบัติตามได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านองค์กรผู้นำก่อน ...
ถ้าท่านผู้ใดเคยอ่านเจอหลักฐานดังกล่าวก็โปรดแจ้งให้ผมรับทราบบ้างเพื่อเป็นวิทยาทาน จะขอบพระคุณมาก ...
ยิ่งไปกว่านั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยท่านคอลีฟะฮ์อุมัรฺ ร.ฎ. ก็ยิ่ง “ตอกย้ำ” ข้อเขียนของผมมากยิ่งขึ้น ...
เพราะ .. มีบันทึกรายงานบทหนึ่งมาจากท่าน มะอฺมัรฺ, จากท่านอบู กิลาบะฮ์ ซึ่งกล่าวว่า
“ชาย 2 คนได้เห็นเดือนเสี้ยว (ของเดือนเชาวาล) ในขณะเดินทาง และเขาทั้งสองก็มาถึงนครมะดีนะฮ์ในยามสายของวันรุ่งขึ้น, (ขณะที่ประชาชนกำลังถือศีลอดอยู่ และไม่มีผู้ใดออกอีดกัน เพราะไม่มีผู้ใดเห็นเดือนเสี้ยวในคืนที่ผ่านมานั้น) .. ต่อมาเขาทั้งสองก็บอกเรื่องการเห็นเดือนแก่ท่านอุมัรฺ อิบนุล ค็อฏฏอบ ร.ฎ. ท่านอุมัรฺจึงถามชายคนหนึ่งจากสองคนนั้นว่า .. “ท่านถือศีลอดหรือ?” ชายผู้นั้นก็ตอบว่า .. “ครับ, ผมไม่ชอบที่คน (ส่วนใหญ่) ถือศีลอดกันแล้วผมไม่ถือ, และผมก็ไม่ชอบที่จะ (ทำอะไรให้) ขัดแย้งกับประชาชน (ส่วนใหญ่) ด้วย” .. ท่านอุมัรฺจึงหันไปถามอีกคนว่า .. “แล้วท่านล่ะ?” ชายผู้นั้นก็ตอบว่า .. “ผมก็ไม่ถือศีลอดนะซี เพราะผมเห็นเดือนเสี้ยว (ของวันอีด) แล้วนี่” ท่านอุมัรฺจึงกล่าวแก่ชายผู้นั้นว่า .. “ถ้าไม่เพราะมีนายคนนี้ (ร่วมเห็นเดือน) ด้วยละก็ ฉันก็จะบ้อมกะโหลกแก และก็จะปฏิเสธ (คือไม่รับข้ออ้าง) การเห็นเดือนของแกด้วย” ..
ต่อจากนั้น ท่านอุมัรฺ ก็มีคำสั่งให้ประชาชนละศีลอด (และออกอีด)” ...
(บันทึกโดย ท่านอิบนุหัสม์ ในหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” เล่มที่ 3 ส่วนที่ 6 หน้า 238 และท่านสะอีด บิน มันศูรฺ ... ดังการอ้างอิงในหนังสือ “อัล-อัซอิละฮ์ วัล-อัจญ์วิบะฮ์” ของท่านเช็คอับดุลอะซีซ มุหัมมัด ซัลมาน เล่มที่ 2 หน้า 137) ...
ขนาดชายผู้นั้นเห็นเดือนเสี้ยว “ด้วยตาตัวเอง” แล้วออกอีด (ซึ่งก็เป็นเรื่องถูกต้องสำหรับเขาในกรณีนี้) ..
แต่ท่านอุมัรฺ ร.ฎ. กลับโกรธที่เขารีบด่วนออกอีดก่อนมาแจ้งให้ท่านทราบและก่อนประกาศของท่าน .. ถึงขนาดกล่าวว่าจะบ้อมกะโหลกเขา ...
แล้ว .. การรีบด่วนออกอีดเพราะแค่ “รับฟังข่าว” การเห็นเดือนเสี้ยวจากที่อื่นอย่างที่มีการปฏิบัติกันอยู่ ...
ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ถ้าเกิดขึ้นในสมัยท่านอุมัรฺ ท่านอุมัรฺจะโกรธขนาดไหน ? ...
สรุปแล้ว หะดีษบทข้างต้นนี้จึงไม่ใช่หลักฐานอนุญาตให้ถือศีลอดหรือออกอีดตามการเห็นเดือนของต่างประเทศโดยอิสระ ...
แต่หะดีษบทนี้ คือหลักฐาน “ยืนยัน” สิ่งที่ผมได้เขียนไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า การถือศีลอดและออกอีดตามการเห็นเดือนต่างประเทศ อนุญาตให้ทำได้ .. แต่ต้องผ่านการยอมรับจากผู้นำของอิสลามในประเทศของตนเองเสียก่อน ...
ส่วนการที่มีบางท่านกล่าวว่า ท่านจุฬาราชมนตรี ไม่ใช่ผู้นำมุสลิมในประเทศไทย แต่เป็นเพียงที่ปรึกษาขององค์พระมหากษัตริย์ในเรื่องของศาสนาอิสลามตามกฎหมายเท่านั้น ...
อันนั้น เป็นสิทธิ์ส่วนตัวของท่านที่จะเชื่อหรือเข้าใจเช่นนั้น ...
แต่ผมมั่นใจว่า มีมุสลิมในประเทศไทยกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ที่ยอมรับว่า ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคือตำแหน่งผู้นำอิสลามในประเทศไทยครับ ...
ในพ.ร.บ. การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ปี พ.ศ. 2540 มีบัญญัติเอาไว้ว่า ...
หมวด ๑ บททั่วไป มาตรา ๖ : พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีคนหนึ่ง เพื่อเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย ...
และในมาตรา ๘ (๓) : จุฬาราชมนตรีมีอำนาจหน้าที่ออกประกาศแจ้งผลการดูดวงจันทร์ตามมาตรา ๓๕ (๑๑) เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา ...
เพราะฉะนั้น หากใครจะไม่ยอมรับจุฬาราชมนตรีว่าเป็นผู้นำมุสลิมในประเทศไทย โดยถือว่า กฎหมายที่แต่งตั้งท่านไม่ใช่เป็นกฎหมายอิสลาม ...
ท่านก็ต้องปฏิเสธทุกตำแหน่งของมุสลิมในประเทศไทย ไม่ว่าตำแหน่งกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย, ตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำจังหวัด, ตำแหน่งอิหม่าม, คอเต็บ, บิลาล ...
เพราะทุกๆตำแหน่งเหล่านี้ ล้วนมีที่มาจากกฎหมายฉบับเดียวกันครับ ..

ปราโมทย์ ศรีอุทัย
7/6/62







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น