อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันจันทร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

การละหมาดรวมระหว่างละหมาดวันศุกร์กับละหมาดอัศรี่ (ตอนที่ 2)

ตอบคำถามคุณ Walid Binsa-i
เรื่อง การละหมาดรวมระหว่างละหมาดวันศุกร์กับละหมาดอัศรี่
(ตอนที่ 2)

โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

2. คำกล่าวที่ว่า .. เพราะไม่เคยมี نَصٌّ (ตัวบทชัดเจนเฉพาะเรื่อง) ที่รายงานมาเกี่ยวกับเรื่องละหมาดรวมระหว่างละหมาดวันศุกร์กับละหมาดอัศรี่ ดังนั้น การละหมาดรวมระหว่างละหมาดวันศุกร์กับละหมาดอัศรี่ จึงทำไม่ได้ ..
ก่อนอื่น ผมขออธิบายความหมายของคำว่า "ไม่มี نَصٌّ " ให้ท่านผู้อ่านเข้าใจเสียก่อน ..
คำกล่าวของนักวิชาการที่ว่า "มี نَصٌّ หรือไม่มี نَصٌّ " ของสิ่งใด มิได้หมายถึงการมีหรือไม่มี "ข้อเท็จจริง" ของสิ่งนั้น ..
แต่หมายถึง การ "มีหรือไม่มีรายงานที่ถูกต้องมา" ในเรื่องนั้นๆ ...
ถ้าไม่มีรายงานที่ถูกต้องมา ก็ถือว่าเรื่องนั้นไม่มี نَصٌّ .. แม้ข้อเท็จจริง อาจจะมีการปฏิบัติสิ่งนั้นของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม แล้วก็ตาม ..
ตัวอย่างเช่น การอ่านซิกรุ้ลลอฮ์ในอริยาบถต่างๆของการละหมาดสุนัต ซึ่งตามข้อเท็จจริงย่อมไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลับฮิวะซัลลัม จะต้องมีการอ่านซิกรุ้ลลอฮ์เหล่านี้แล้วในละหมาดสุนัตของท่าน ...
แต่เมื่อมันไม่มีรายงานมา ตามหลักการจึงถือว่า การอ่านซิกรุ้ลลอฮ์ในอริยาบถต่างๆของละหมาดสุนัต เป็นสิ่งไม่มี نَصٌّ ...
(จำความหมายข้อนี้ให้ดีนะครับ เพราะมันคือตัวบ่งชี้สิ่งที่ผมกำลังจะพูดต่อไป) ..
คำกล่าวจากข้อที่ 2 ข้างต้นทำให้มีปัญหาว่า ถ้าหลักการของท่านที่ว่า อิบาดะฮ์ทุกชนิด (ไม่จำกัดว่าจะเป็น "ตัวตน" ของอิบาดะฮ์ หรือ "องค์ประกอบ" บางอย่างของอิบาดะฮ์) .. จะต้องมี نَصٌّ (ตัวบทชัดเจนเฉพาะเรื่อง) รายงานมาเท่านั้น จึงจะทำได้ ถ้าไม่มี نَصٌّ รายงานมาก็ทำไม่ได้ ..
ผมก็ขอถามสั้นๆว่า ...
ก. เมื่อเกิดมีการลืมรุก่นใดหรือเพิ่มรุก่นใดในละหมาดซุบฮ์, ละหมาดมัคริบ หรือละหมาดอิชา ท่านจะทำอย่างไร? ...
หากท่านตอบว่า ก็ต้องสุญูดซะฮ์วี ผมก็ขอถามต่อว่า ...
ท่านจะสุญูดซะฮ์วีได้อย่างไร ในเมื่อ نَصٌّ เรื่องสุญูดซะฮ์วีในละหมาดซุบฮ์, ละหมาดมัคริบ และละหมาดอิชาอ์ ไม่เคยมีรายงานมาเลย ..
ที่มี "รายงานมา" มาเรื่องสุญูดซะฮ์วีกรณีลืมรุก่นหรือเพิ่มรุก่น ก็เฉพาะใน "ละหมาดซุฮ์รี่กับละหมาดอัศรี่" เท่านั้น ...
ข. เมื่อจะ "ละหมาดสุนัต" ใดๆ .. ในขณะที่ท่านรุกั๊วะอฺ, เอี๊ยะอฺติดาล, สุญูด และนั่งพักระหว่างสองสุญูด ท่านจะอ่านอะไร ? ...
หากตอบว่า ในรุกั๊วะอฺและในสุญูดก็ให้อ่านตัสบี๊ห์, ในตอนกำลังเงยขึ้นมาจากรุกั๊วะอฺสู่เอี๊ยะอฺติดาลก็ให้อ่านสะมิอัลลอฮ์, ในการนั่งพักระหว่างสองสุญูดก็อ่านร็อบบิฆฟิรฺลีย์ ฯลฯ ..
ผมก็ขอถามต่อไปว่า ท่านจะอ่านสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไรในเมื่อไม่มี نَصٌّ "รายงานมา" ในเรื่องนี้ ? ...
เพราะ نَصٌّ ที่ "รายงานมา" ในเรื่องการอ่านตัสบี๊ห์ในขณะรุกั๊วะอฺและขณะสุญูด, การอ่านสะมิอัลลอฮ์ขณะกำลังเงยขึ้นมาจากรุกั๊วะอฺสู่เอี๊ยะอฺติดาล, การอ่านร็อบบิฆฟิรฺลีย์ขณะนั่งระหว่างสองสุญูด เป็นต้น ล้วนเป็นรายงานการอ่านใน "ละหมาดฟัรฺฎู" ทั้งสิ้น ...
เพราะฉะนั้น คำตอบของท่านในกรณีนี้ก็คือ การที่ท่านสุญูดซะฮ์วีเมื่อลืมรุก่นหรือเพิ่มรุก่นในละหมาดซุบฮ์, ละหมาดมัคริบ หรือละหมาดอิชา ท่านมิได้อาศัย نَصٌّ.. แต่ท่านอาศัย "กิยาส" กับการสุญูดซะฮ์วีของละหมาดซุฮ์รี่กับละหมาดอัศรี ...
หรือซิกรุ้ลลอฮ์ที่ท่านอ่านในอริยาบถต่างๆของละหมาดสุนัต ท่านมิได้อ่านโดยอาศัย نَصٌّ (เพราะมันไม่มี نَصٌّ รายงานมา) .. แต่ท่านอ่านซิกรุ้ลลอ์เหล่านี้ในละหมาดสุนัตโดยอาศัย "กิยาส" กับซิกรุ้ลลอฮ์ที่มีรายงานมาในละหมาดฟัรฺฎู ...
ฯลฯ
นี่คือความจริงที่ท่านปฏิเสธไม่ได้ ...
เพื่อความชัดเจน ผมขอชี้แจงกรณีปัญหาข้างต้นดังต่อไปนี้ ...
เรื่องหลักการขั้นพื้นฐานที่ว่า "เรื่องอิบาดะฮ์เป็นเรื่องเตากีฟียะฮ์" .. คือจะต้องมีคำสั่งใช้จากพระองค์อัลลอฮ์ลงมาเท่านั้นถึงจะทำได้ หากไม่มีคำสั่งมาก็ทำไม่ได้ ...
หลักการนี้เป็นเรื่องถูกต้อง แต่ก็ถูกต้องเฉพาะในเรื่อง "รูปแบบเฉพาะ" ของอิบาดะฮ์ และใน "องค์ประกอบส่วนใหญ่ของอิบาดะฮ์ที่มีรูปแบบเฉพาะ" เท่านั้น .. เช่น รูปแบบและองค์ประกอบส่วนใหญ่ของละหมาด, ซะกาต, ศีลอด, การทำหัจญ์ เป็นต้น ล้วนเป็น "เตากีฟียะฮ์" ทั้งสิ้น .....
แต่หลักการนี้มิได้ครอบคลุมถึง "องค์ประกอบบางลักษณะ" ของอิบาดะฮ์บางประเภทเหล่านั้นด้วย ..
.
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง " องค์ประกอบบางลักษณะ" ของบางอิบาดะฮ์ ซึ่งท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้เคย "กำหนดแนวทางหรือทำตัวอย่าง" ไว้แล้วในอิบาดะฮ์หนึ่ง เพื่อให้เรานำแนวทางหรือตัวอย่างนั้นมา "ปรับใช้" .. (ภาษาอาหรับเรียกว่า กิยาส) .. กับ "บางองค์ประกอบของอิบาดะฮ์ประเภทเดียวกัน" ที่ไม่มีรายงานการกระทำลักษณะนั้นมา โดยท่านไม่จำเป็นจะต้องทำตัวอย่างลักษณะเดียวกันไว้จนหมดทุกเรื่อง ...
องค์ประกอบบางอย่างของอิบาดะฮ์ที่ท่านรอซู้ลฯ ศ็อลลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำตัวอย่างไว้แล้วในอิบาดะฮ์ประเภทเดียวกันนี้แหละ ที่เราสามารถใช้หลัก "กิยาส" เพื่อปฏิบัติมันได้ .. โดยไม่ถือว่าขัดแย้งกับกฎเกณฑ์พื้นฐานข้างต้นเรื่อง "เตากีฟียะฮ์" แต่ประการใด ...
ตัวอย่างในเรื่องนี้เช่น ...
ก. มี نَصٌّ รายงานมาว่า ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมได้อ่านซิกรุ้ลลอฮ์ในอริยาบถต่างๆในละหมาดฟัรฺฎู เช่นในรุกั๊วะอฺ, ในตอนยืนขึ้นจากรุกั๊วะอฺมาเอี๊ยะอฺติดาล, ในขณะเอี๊ยะอฺติดาล, ในขณะสุญูด และในขณะนั่งพักระหว่างสองสุญูด เหมือนอย่างที่เราใช้อ่านกันในปัจจุบัน ...
นักวิชาการจึงอาศัย نَصٌّ นั้นมากิยาสหรือปรับใช้อ่านในอริยาบถเดียวกันของละหมาดสุนัต .. ซึ่งการละหมาด ไม่ว่าฟัรูฎูหรือละหมาดสุนัตถือว่าเป็นอิบาดะฮ์ประเภทเดียวกัน ..
ข. มี نَصٌّ รายงานมาว่า ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมสั่งให้เก็บซะกาตจากเมล็ดพืช 2 ชนิดคือข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ ...
นักวิชาการจึงอาศัย نَصٌّ นั้นมากิยาสหรือปรับใช้ในการเก็บซะกาตจากเมล็ดข้าวเจ้า เพราะทั้งข้าวสาลี, ข้าวบาร์เลย์ และข้าวเจ้า เป็นเมล็ดพืชเหมือนกัน, เป็นอาหารหลักเหมือนกัน, และเก็บรักษาไว้ได้นานเหมือนกัน ...
ค. มี نَصٌّ รายงานมาว่า ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้สุญูดซะฮ์วี เมื่อท่านลืม .. โดยทำร็อกอะฮ์เพิ่มเพราะลืม, ทำร็อกอะฮ์ขาดเพราะลืม, ใน "ละหมาดซุฮ์รี่และละหมาดอัศรี่" ...
นักวิชาการจึงอาศัย نَصٌّ นั้นมากิยาสหรือปรับใช้ ด้วยการสุญูดซะฮ์วีจากความบกพร่องที่เกิดจากการหลงลืมในทุกละหมาดฟัรฺฎู ไม่ว่าจะเป็นละหมาดซุบฮ์, ละหมาดมัคริบ และละหมาดอิชา .. เพราะละหมาดทั้ง 5 นั้นเป็นอิบาดะฮ์ประเภทเดียวกัน ...
โดยนัยนี้ การละหมาดรวมระหว่างละหมาดวันศุกร์กับละหมาดอัศรี่ในภาวะจำเป็นจึงปฏิบัติได้, โดยอาศัยกิยาสกับการละหมาดรวมระหว่างละหมาดซุฮ์รี่กับละหมาดอัศรี่เมื่อจำเป็น เพราะทั้งละหมาดวันศุกร์และละหมาดซุฮ์รี่เป็นอิบาดะฮ์ประเภทเดียวกัน, เวลาปฏิบัติเป็นเวลาเดียวกัน .. ซึ่งคล้ายคลึงกับตัวอย่างทั้ง 3 กรณีที่ผมนำเสนอให้ดูนั้น ...
ผู้อ่านบางท่านหรือนักวิชาการบางท่านอาจจะท้วงติงว่า กรณีสุญูดซะฮ์วีที่ผมอ้างมาเป็นตัวอย่างเรื่องการกิยาส เป็นการอ้างตัวอย่างที่จะต้องพิจารณา เพราะเป็นไปได้ว่าสาเหตุที่ไม่มีรายงานมาเรื่องสุญูดซะฮ์วีในละหมาดซุบฮ์, ละหมาดมัคริบ และละหมาดอิชาของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม อาจจะเป็นเพราะท่าน "ไม่เคยมีการลืม" ในละหมาดเหล่านี้ ... และเมื่อไม่มีการลืม จึงเป็นสาเหตุให้ไม่มีรายงานเรื่องสุญูดซะฮ์วีมาในละหมาดเหล่านี้
 ดังนั้น การอ้างสุญูดซะฮ์วีในละหมาดซุฮ์รี่และละหมาดอัศรี่มาเป็นตัวอย่างในการกิยาสเพื่อให้มีความชอบธรรมในการทำละหมาดรวมระหว่างละหมาดวันศุกร์กับละหมาดอัศรี่ของผมในกรณีนี้จึงไม่สมบูรณ์ ...
ขอเรียนว่า ข้อท้วงติงดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของสมมุติฐานที่ว่า "เป็นไปได้ว่า ...." (ภาษาอาหรับเรียกว่า إِحْتِمَالٌ ) ซึ่งไม่ใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ..

ผมก็ขอเรียนชี้แจงในลักษณะ إِحْتِمَالٌ ได้เช่นเดียวกันว่า สาเหตุที่ไม่มีรายงานเรื่องการละหมาดวันศุกร์รวมกับละหมาดอัศรี่มาจากท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ก็เพราะเป็นไปได้ว่า หลังจากละหมาดวันศุกร์แล้วก็ไม่ปรากฏว่า ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จะเคยมี "ความจำเป็น" แม้แต่ครั้งเดียวที่จะต้องนำละหมาดอัศรี่มาทำรวมกับละหมาดวันศุกร์...
และเมื่อไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำ จึงไม่มีรายงานเรื่องการรวมละหมาดวันศุกร์กับละหมาดอัศรี่มาให้ได้รับทราบกัน ...
ความหมายในมุมกลับของ إِحْتِمَالٌ ดังกล่าวนี้ก็คือ สมมุติถ้าท่านมีความจำเป็น ท่านก็คงทำละหมาดรวมระหว่างละหมาดวันศุกร์กับละหมาดอัศรี่ จนมีการรายงานมาให้พวกเราได้รับทราบกันแล้ว เช่นเดียวกับรายงานการละหมาดรวมอื่นๆของท่าน ..
3. คำกล่าวที่ว่า .. การนำเอาละหมาดอัศรี่มาทำรวมกับละหมาดวันศุกร์ เท่ากับเป็นการนำละหมาดวันศุกร์มากิยาสหรือเปรียบเทียบกับละหมาดซุฮ์รี่ ซึ่งละหมาดทั้งสองนี้มีรูปแบบ, วิธีปฏิบัติ และเงื่อนไขหลายอย่างแตกต่างกัน จึงกิยาสหรือเปรียบเทียบกันไม่ได้ ฯลฯ ...
ผมมองว่า คำกล่าวข้างต้นนี้ ถ้าไม่เกิดจากความพลั้งเผลอ ก็คงเกิดจากความเข้าใจผิด
ใช่ครับ ถ้าเรานำละหมาดวันศุกร์มาเปรียบเทียบหรือกิยาสกับละหมาดซุฮ์รี่ในแง่มุมจำนวนร็อกอะฮ์, ในเรื่องมีคุฏบะฮ์หรือไม่มีคุฏบะฮ์, ในเรื่องอ่านดังอ่านค่อย ฯลฯ .. แน่นอนที่ว่า ย่อมมีความแตกต่างระหว่างสองละหมาดนั้นชัดเจน และจะมากิยาสหรือเปรียบเทียบให้เหมือนกันย่อมทำไม่ได้ ...
แต่ถ้านำละหมาดวันศุกร์มาเปรียบเทียบหรือกิยาสกับละหมาดซุฮ์รี่ในแง่มุมที่ว่า เวลาของทั้งสองละหมาดนั้นเป็นเวลาเดียวกัน, ละหมาดทั้งสองต้องทำก่อนละหมาดอัศรี่เหมือนกัน, อย่างนี้ทำไมจะนำมากิยาสกันไม่ได้ ?? ...
ตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆในกรณีนี้ อย่างเช่นชายคนหนึ่งกล่าวถึงเด็กซนๆคนหนึ่งว่า .. "ไอ้นี่มันเหมือนลิงจริงๆเลย" .
ถ้าคำกล่าวนี้ของเขา เพื่อจะเปรียบเทียบลักษณะเด็กซนคนนั้นว่ามีหางเหมือนลิง, มีขนยาวเหมือนลิง, มีใบหน้าเหมือนลิง, ร้องครอกๆเหมือนลิง จะต้องนำไปใส่กรงขังเหมือนลิง ฯลฯ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะความแตกต่างด้านสรีระและการดำรงชีพระหว่างคนกับลิงมันชัดเจนอยู่แล้ว ..
แต่ถ้าคำกล่าวเปรียบเทียบนี้ของเขา หมายถึงในแง่มุมที่ว่า เด็กคนนี้ มีนิสัยซุกซน หลุกหลิกเหมือนลิง .. อย่างนี้ทำไม่จะเปรียบเทียบไม่ได้ ..
ฉันใดก็ฉันนั้น ....
ขอย้ำอีกครั้งว่า เหตุผลสำคัญที่ผ่อนผันให้มีการละหมาดรวมได้ก็คือ "ความจำเป็น" ซึ่งหมายถึงความไม่สะดวกหรือความยุ่งยากลำบากที่จะทำละหมาดใดๆ "ในเวลาปกติ" ของมัน และความจำเป็นดังกล่าวนี้ มักจะเกิดขึ้นในภาวะเดินทางมากกว่าขณะอยู่ที่บ้าน ..
ด้วยเหตุนี้ เราจะสังเกตเห็นว่า รายงานเรื่อง "การละหมาดรวม" จากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม - ส่วนใหญ่ - มักจะเกิดขึ้นในภาวะเดินทาง ..
เพราะฉะนั้น เมื่อมี "ความจำเป็น" ใดๆที่อนุโลมให้นำละหมาดอัศรี่มาทำรวมกับละหมาดซุฮ์รี่ได้ - ไม่ว่าขณะอยู่ในภาวะเดินทางหรือขณะอยู่ที่บ้าน - ก็สามารถนำความจำเป็นเดียวกันนั้นมาเปรียบเทียบ เพื่ออนุโลมให้นำละหมาดอัศรี่มาทำรวมกับละหมาดวันศุกร์ได้เช่นเดียวกัน .
.
 สรุปแล้ว การกิยาสหรือการเปรียบเทียบละหมาดซุฮ์รี่กับละหมาดวันศุกร์ในแง่นี้ จึงเป็นสิ่งกระทำได้ และไม่ขัดแย้งกับหลักการกิยาสแต่ประการใด ..
4. ณ ที่นี้ ผมขออธิบายเพิ่มเติมว่า ...
คำว่า صَلاَةُ الْجَمْعِ (การละหมาดรวม) - ตามข้อเท็จจริง - ไม่ได้หมายถึงการนำเอาละหมาด 2 เวลา มาทำรวม "ให้เป็นละหมาดเดียวกัน" ...
แต่หมายถึง .. การนำเอาละหมาด 2 เวลา มาทำรวม "ในเวลาเดียวกัน" ..
ดังนั้น เป้าหมายของ "ละหมาดรวม" ที่แท้จริงจึงอยู่ที่ "เวลา" ของทั้ง 2 ละหมาด, ไม่ได้อยู่ที่ "ตัวตนหรือรูปแบบ" ของ 2 ละหมาด ...
เมื่อละหมาดรวมเป็นเรื่องของ "เวลา" ไม่ใช่เรื่องของ "ตัวหรือรูปแบบ" การนำเอาละหมาดซุฮ์รี่ และ/หรือละหมาดวันศุกร์ซึ่ง "เวลาของ 2 ละหมาดนี้เป็นเวลาเดียวกัน" .. มาทำรวมกับละหมาดอัศรี่ ภายใต้ "เหตุผลและความจำเป็นอย่างเดียวกัน" จึงไม่ได้ออกนอกกรอบของความหมายคำว่า "ละหมาดรวมที่ถูกอนุญาต" เลยแม้แต่น้อย ...
ตัวอย่างเช่น .....
ก. คนเดินทางคนหนึ่งแวะละหมาดซุฮ็รี่ระหว่างทางและรู้ว่า หลังจากละหมาดซุฮ์รี่เสร็จแล้ว รถโดยสารที่เขานั่งมาจะไม่แวะให้เขาละหมาดอัศรี่อีกจนกว่าจะค่ำ ดังนั้นเขาจึงนำละหมาดอัศรี่มาทำรวมกับละหมาดซุฮ์รี่ในเวลาซุฮ์รี่ ซึ่งถือเป็นความจำเป็นที่อนุญาตให้เขาทำละหมาดรวมได้ ...
ในทำนองเดียวกัน สมมุติถ้าคนเดินทางคนนั้นแวะทำละหมาดวันศุกร์ระหว่างทาง และรู้ว่า หลังจากนี้รถโดยสารที่เขานั่งไปจะไม่จอดแวะให้เขาละหมาดอัศรี่อีกจนค่ำซึ่งเลยเวลาอัศรี่ เขาจึงได้นำเอาละหมาดอัศรี่มาทำรวมกับละหมาดวันศุกร์ในตอนนั้นเสียเลย ..
ขอถามว่า กรณีอย่างนี้ทำไมเขาจะ "ละหมาดรวม" ระหว่างละหมาดวันศุกร์กับละหมาดอัศรี่ไม่ได้ ในเมื่อ "เหตุผล" การละหมาดรวมทั้ง 2 กรณีนี้ เป็นเหตุผลเดียวกัน .. คือ "ไม่สามารถทำละหมาดอัศรี่ในเวลาอัศรี่ได้" เหมือนกัน ? ...
ข. หมอผ่าตัดคนหนึ่งไปทำงานโรงพยาบาลใกล้บ้าน .. ซึ่งหลังจากละหมาดซุฮ์รี่แล้วเขาก็ต้องผ่าตัดคนไข้รายหนึ่งซึ่งเขารู้ดีว่าจะต้องใช้เวลานานถึงมืดค่ำกว่าการผ่าตัดจะเสร็จสิ้น
 กรณีนี้ ถือเป็นความจำเป็นที่อนุญาตให้เขานำละหมาดอัศรี่มาทำรวมกับละหมาดซุฮ์รี่ ในเวลาซุฮ์รี่ได้ ..
เพราะฉะนั้นในทำนองเดียวกัน สมมุติหากหมอคนเดียวกันนี้ละหมาดวันศุกร์เสร็จแล้ว และรู้ว่าตัวเองจะต้องผ่าตัดคนไข้จนถึงมืดค่ำ ...
ขอถามว่า .. แล้วอย่างนี้ ทำไมเขาจะนำละหมาดอัศรี่มาทำรวมกับละหมาดวันศุกร์ไม่ได้ ในเมื่อเหตุผลข้อนี้กับเหตุผลตอนต้น เป็นเหตุผลอย่างเดียวกันคือ ไม่สามารถทำละหมาดอัศรี่ในเวลาอัศรี่ได้ ?? ...
ค. สมมุติว่า นายช่างรายหนึ่งทำงานอยู่ในอู่ซ่อมเครื่องยนตร์เรือประมงแห่งหนึ่ง ซึ่งร่างกายของเขาต้องเปรอะเปื้อนน้ำมันเครื่องตลอดเวลา .. หากจะให้เขาต้องชำระล้างร่างกายจากน้ำมันเครื่องทุกครั้งเมื่อจะทำละหมาดซุฮ์รี่, ละหมาดวันศุกร์ หรือละหมาดอัศรี่ ก็จะเป็นเรื่องยุ่งยากลำบากมาก ซึ่งคนที่ทำงานอาชีพนี้จะรู้ดี ..
ดังนั้น ในภาวะอย่างนี้เขาจึงเลือกที่จะทำความสะอาดร่างกายเมื่อจะละหมาดซุ์รี่ เสร็จแล้วเขาก็จะนำละหมาดอัศรี่มาทำรวมกับละหมาดซุฮ์รี่ในเวลาซุฮ์รี่เลย ซึ่งกรณีอย่างนี้ถือว่าเป็นเป็นความจำเป็นที่ผ่อนผันให้เขาทำ "ละหมาดรวม" ได้ตามหลักการ ....
พอถึงวันศุกร์ เมื่อเขาชำระล้างร่างกายและละหมาดวันศุกร์เสร็จแล้ว ขอถามว่า .. ทำไมเขาจะนำละหมาดอัศรี่มาทำรวมกับละหมาดวันศุกร์ไม่ได้ ในเมื่อเหตุผลความยุ่งยากลำบากในการชำระล้างร่างกายและเวลาละหมาด - ไม่ว่าเวลาละหมาดซุฮ์รี่, เวลาละหมาดวันศุกร์ (และเวลาละหมาดอัศรี่หลังจากนั้น) - มีลักษณะเดียวกันทุกอย่าง ??? ...
สรุป
1. การละหมาดรวม เป็นอิบาดะฮ์ประเภท تَعَقُّلِىٌّ คือรู้เหตุผลได้, มิใช่เป็นอิบาดะฮ์ประเภท تَعَبُّدِىٌّ ซึ่งไม่สามารถรู้เหตุผลได้ ..
2. การละหมาดรวมเป็นเพียง "ลักษณะบางประการ" ของการละหมาด, มิใช่เป็น "แก่นแท้หรือตัวตน" ของการละหมาด ดังนั้น การละหมาดรวมระหว่างละหมาดอัศรี่กับละหมาดวันศุกร์โดยอาศัยการกิยาสเป็นหลักฐาน จึงสามารถปฏิบัติได้ แม้จะไม่มี نَصٌّ หรือหลักฐานชัดเจนรายงานมาก็ตาม ...
3. การกิยาสหรือการเปรียบเทียบระหว่างละหมาดซุฮ์รี่กับละหมาดวันศุกร์เพื่อใช้เป็นหลักฐานเรื่องการละหมาดรวมระหว่างละหมาดวันศุกร์กับละหมาดอัศรี่ .. โดยพิจารณาในแง่มุม "เวลาละหมาด" ที่เหมือนกันของสองละหมาดนั้น มิใช่พิจารณาในแง่มุมของ "รูปแบบ" ที่แตกต่างกันของสองละหมาดนั้น เป็นสิ่งปฏิบัติได้ และไม่ใช่เป็น قِيَاسٌ مَعَ الْفَارِقِ ที่ต้องห้าม .. ดังความเข้าใจของนักวิชาการอาหรับบางคนด้วย ..

สรุปแล้ว - ในทัศนะของผม - การละหมาดรวมระหว่างละหมาดวันศุกร์กับละหมาดอัศรี่ - ในกรณีจำเป็น - จึงสามารถกระทำได้ อันเป็นทัศนะของนักวิชาการสลัฟกลุ่มหนึ่งดังกล่าวมาแล้วตอนต้น ..
วัลลอฮุ อะอฺลัม ...
อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย
11/4/60
(หมายเหตุ .. มีการเพิ่มเติมข้อมูลและแก้ไขการเรียงลำดับเรื่องบางตอนหลังจากนำลงในเฟสไปแล้วเมื่อ 11/4/60 แต่เนื้อหายังคงเดิม)
อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย
12/4/60


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น