อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันจันทร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2560

บิดอะห์


1.ควรปฏิบัติตนอย่างไรเกี่ยวกับปัญหาบิดอะฮ์?


อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย เรียบเรียง

1.ควรปฏิบัติตนอย่างไรเกี่ยวกับปัญหาบิดอะฮ์?
มุสลิมแทบทุกคน คงจะคุ้นเคยกับคำว่า “บิดอะฮ์” กันเป็นอย่างดี หรืออย่างน้อย คำๆนี้ก็คงจะเคยผ่านหูมาบ้างพอสมควร ...
แม้จะไม่ทราบความหมายของมันชัดเจนนัก แต่ทุกคนก็สามารถล่วงรู้ได้โดยสัญชาติญาณว่า คำว่าบิดอะฮ์ มีความหมายในทางลบอย่างแน่นอน ....
ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากมีการกล่าวขวัญถึงโทษอันรุนแรงของผู้ที่ทำบิดอะฮ์ด้วยการอ้างหลักฐานจากหะดีษที่ถูกต้องในวาระต่างๆอย่างต่อเนื่อง ..., อาทิเช่น จากการบรรยายบนเวทีโดยบรรดานักวิชาการ, จากหนังสือตำรับตำราด้านศาสนาซึ่งมีจำหน่ายอย่างแพร่หลาย, จากม้วนเท็ปคาสเส็ท หรือแม้กระทั่งจากการนั่งสนทนากันเองในกลุ่มเพื่อนฝูง .....
และสิ่งที่มุสลิมทุกคนจะปฏิเสธไม่ได้ก็คือ คำว่า “บิดอะฮ์” นี้ ได้สร้างความสั่นสะเทือน, สร้างความบาดหมาง และสร้างบาดแผลฉกรรจ์ให้แก่สังคมมุสลิม, --- ทั้งในวงแคบและวงกว้าง --- อย่างมหาศาล จนถึงขนาดในบางท้องที่ มีการทำร้ายร่างกายหรือการลอบเข่นฆ่ากัน, แยกมัสญิดกัน, สามีภรรยาหย่าร้างกัน, ตัดญาติขาดมิตรกัน,หรืออย่างเบาะๆที่สุดก็คือ ไม่ยอมพูดจาและไม่ยอมคบค้าสมาคมกัน ....
แน่นอน, พฤติการณ์ดังที่กล่าวมานี้ เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และเป็นข้อห้ามตามหลักการศาสนา .. ทั้งผู้ที่กล่าวหาและผู้ที่ถูกกล่าวหา .. แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องยากยิ่งและคงไม่มีใครบังอาจพอจะไปตัดสินว่า ผู้ใดผิดผู้ใดถูก ...
ทั้งนี้ เพราะแต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งกันในเรื่องของบิดอะฮ์ต่างก็อ้าง “ความชอบธรรม” ในมุมมองของตนว่า ตนเอง คือฝ่ายถูกต้อง ....
ฝ่ายหนึ่งอ้างว่า มีความจำเป็นที่จะต้องพูดและห้ามปรามจากการทำบิดอะฮ์ เพราะท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวประณามและตราโทษของการทำบิดอะฮ์ไว้อย่างรุนแรงถึงขั้นลงนรก, เพราะฉะนั้น เรื่องบิดอะฮ์จึงเป็นเรื่อง “มุงกัรฺ” (เรื่องต้องห้าม) ตามหลักการศาสนา, และทุกๆเรื่องมุงกัรฺ วาญิบจะต้องห้ามปรามเท่าที่สามารถโดยมีหลักฐานระบุไว้อย่างชัดเจนจากทั้งอัล-กุรฺอ่าน และซุนนะฮ์ .....
ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็โต้แย้ง (โดยการอ้างทัศนะของนักวิชาการบางท่านมายืนยัน) ว่า สิ่งที่ตนกระทำอยู่นั้น แม้จะเป็นบิดอะฮ์ ก็เป็นบิดอะฮ์ดี ...
ดังนั้นการกระทำของตนจึงเป็นสิ่งที่ได้รับผลบุญ, มิใช่ได้รับบาปหรือจะต้องลงนรกอเวจีดังที่อีกฝ่ายหนึ่งกล่าวหา ..
ทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันในเรื่องบิดอะฮ์จึงมี “จุดยืน” กันคนละฟากฝั่งอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นการยากยิ่งที่จะโน้มน้าวให้มาบรรจบกันได้ เพราะเป็นการมองที่แตกต่างในสิ่งเดียวกัน .. เหมือนกับบุคคล 2 คนที่มองเหรียญเดียวกัน, แต่มองกันคนละด้าน, อย่างไรอย่างนั้น....
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เรื่องเดียวกันนั้น .. ขณะที่ฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นนรก อีกฝ่ายหนึ่งกลับมองว่า เป็นสวรรค์ ...
นี่คือ “เส้นขนานด้านความคิด” ที่มีมานานแสนนาน และอาจจะดำรงอยู่ต่อไปอีกนานแสนนาน .. ตราบใดก็ตามที่แต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งกันนั้น ยังไม่ละ, หรือลด “ทิษฐิ” ของตนลงไป ...
หากเรายอมรับว่า ความขัดแย้งและความแตกแยกเป็นเรื่องเลวร้าย, และต้องการจะให้ความขัดแย้งเกี่ยวกับเรื่องนี้สลายไปหรือบรรเทาลงบ้าง ก็ขอเพียงแต่ให้ทุกคนหยุดตั้งสติคิด,.. และทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่กับคำว่า “บิดอะฮ์” --- ไม่ว่าจะเป็นผู้คัดค้านหรือผู้ปฏิบัติ --- จะต้องถือหลักปฏิบัติดังต่อไปนี้ คือ ...
1. ผู้ที่ถูกตักเตือนว่าทำบิดอะฮ์ .. ควรจะเข้าใจด้วยว่า ผู้ที่ตักเตือนเราเขามีเจตนาดีต่อเราและเป็นการปฏิบัติหน้าที่มุสลิมที่ดีของเขา ตามคำสั่งของพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ที่ให้มุสลิมทุกคน ต้องยับยั้งมุงกัรฺหรือเรื่องต้องห้ามตามความสามารถ ... (แม้จะเป็นมุมมองของเขาที่แตกต่างกับเราก็ตาม), .. ดังนั้น จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่เราจะไปออกอาการโมโหโกรธา, โกรธเคือง, หรือแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้หวังดีต่อเราและทำหน้าที่มุสลิมที่ดีของเขา, .. เพราะพฤติกรรมดังกล่าว --- ไม่ว่าเราจะเป็นชาวบ้านธรรมดาหรือผู้รู้ --- ย่อมส่อให้เห็นว่า เราเป็นคนอวดดี, เจ้าอารมณ์, ไร้เหตุผล และความคิดคับแคบในเรื่องศาสนา โดยเฉพาะ ... ในปัญหาขัดแย้ง ...
และในความเป็นจริง, ถ้าหากจะพูดกันอย่างใจเป็นธรรมแล้ว ทุกเรื่องที่ถูกกล่าวหาว่า “เป็นบิดอะฮ์” และมีมุมมองที่ขัดแย้งกันนั้น... ผู้ที่กำลังปฏิบัติสิ่งนั้นอยู่ ก็คือ ผู้ที่ตกอยู่ในสถานะการณ์ที่ “ล่อแหลมและเสี่ยง” ต่อความผิดพลาด มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งถึง 3 เท่าตัว ! ....
ทั้งนี้ เพราะข้อขัดแย้งทุกเรื่องในปัญหาบิดอะฮ์ ย่อมวนเวียนอยู่ในประเด็นที่ว่า สิ่งนั้น เป็นบิดอะฮ์ดีหรือบิดอะฮ์เลว .. ซึ่งความหมายก็คือ ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องกันว่า สิ่งนั้นเป็นบิดอะฮ์ .. แต่มาขัดแย้งกันในประเด็นที่ว่า มัน “ดี” หรือ “เลว” เท่านั้น ...
เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับและเห็นพ้องกันว่า เรื่องที่กำลังขัดแย้งกันนั้น “เป็นบิดอะฮ์” ... หากจะเปรียบเทียบกันในเชิงคณิตศาสตร์ ก็เท่ากับว่า ฝ่ายที่ปฏิบัติหรือถือว่าสิ่งนั้นเป็นบิดอะฮ์ดี เสียเปรียบไปแล้วครึ่งหนึ่งหรือ 50 เปอร์เซ็นต์ .. เพราะท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าว(ซึ่งก็คล้ายกับเป็นการ “ให้น้ำหนัก” ฝ่ายที่เตือน)ไว้ว่า “ทุกๆบิดอะฮ์ คือความหลงผิด (เลว)”....
ส่วนอีกครึ่งหนึ่งหรือ 50 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ, คือความขัดแย้งที่ว่า ... สิ่งนั้นเป็นบิดอะฮ์ดี ดังความเข้าใจของเรา หรือบิดอะฮ์หลงผิด (เลว) ดังคำเตือนของเขา ..ข้อนี้เราก็มีความหวังแค่ 25 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างสูง ทั้งนี้ เพราะเรายังหาข้อพิสูจน์ใดๆมายืนยันให้แน่ชัดไม่ได้เลยว่า “สิ่งนั้น” เป็น “บิดอะฮ์ดี” ดังที่เราเข้าใจ .. เพราะนอกจากความเข้าใจดังกล่าวของเราจะไปค้านกับหะดีษท่านนบีย์แล้ว เราก็ไม่มีหลักยึดเหนี่ยวอื่นใดอีกนอกจากสายเชือกเปราะบางเพียงเส้นเดียว คือ ทัศนะของนักวิชาการบางท่านที่บอกว่า สิ่งนั้น เป็นบิดอะฮ์ดี .. ซึ่งทัศนะของนักวิชาการ, ไม่ว่านักวิชาการระดับไหน --- ที่เป็นเพียงปุถุชนธรรมดา --- อาจจะผิดหรือถูกก็ได้ ....
ต่างกับเขา -- ผู้ตักเตือนเรา -- ที่มีหลักฐานอันแข็งแกร่งและมั่นคงค้ำยันอยู่ ... นั่นคือ หะดีษของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมบทนั้น,.ที่กล่าวว่า “ทุกๆบิดอะฮ์ คือความหลงผิด” .. และคำพูดหรือหะดีษที่ถูกต้องของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมนั้น ย่อมปราศจากความผิดพลาดและมีน้ำหนักมากกว่าทัศนะของนักวิชาการทุกท่านแน่นอน ...
เพราะฉะนั้น ในสัดส่วนความถูกต้องที่มีอยู่ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ของความขัดแย้งในเรื่องบิดอะฮ์ดีหรือเลว เรา -- ที่เชื่อเรื่องบิดอะฮ์ดี -- มีสิทธิ์ถูกต้องอย่างมากไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น, ส่วนอีก 75 เปอร์เซ็นต์ คือ “จุดเสี่ยง” อย่างที่กล่าวมาแล้ว
สรุปแล้ว ที่ถูกต้องเราจึงควรจะขอบคุณผู้ที่ตักเตือนเรา แทนที่จะโกรธเคืองเขาด้วยซ้ำไป ...
2. ผู้ตักเตือนผู้อื่นเรื่องบิดอะฮ์ .. แม้จะมั่นใจว่าเราพูดในเรื่องที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่สมควรใช้วาจาก้าวร้าวรุนแรงหรือใช้วิธีการประณามอีกฝ่ายหนึ่งในการเผยแผ่ “ความจริง” .. (ตามความเข้าใจของเรา), ซึ่งเราไม่มีสิทธิ์ใดๆเลยที่จะกระทำเช่นนั้น .. ทว่า, ควรใช้ความสุภาพนิ่มนวล, เจตนาดี และความบริสุทธิ์ใจเป็นที่ตั้งในการตักเตือน แทนการพูดประณามและโจมตีเพื่อความสะใจผู้ฟังบางท่าน .. ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปฏิบัติตามหลักการเผยแพร่ศาสนาตามแนวทางที่พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.ได้ทรงสั่งไว้, นั่นคือ “จงเรียกร้องเชิญชวนไปสู่พระผู้อภิบาลของเจ้า ด้วยวิทยปัญญา และการตักเตือนที่ดี” (ซูเราะฮ์ อัน-นะห์ลิ, โองการที่ 125) ...
เหนือสิ่งอื่นใด ต้องตระหนักและสำนึกในสิทธิและหน้าที่ของตนเองอยู่เสมอว่าในฐานะของนักวิชาการหรือผู้รู้นั้น .. “ เรามีหน้าที่สอนคน, แต่ไม่มีหน้าที่ด่าคน”
3. จะต้องให้เกียรติในดุลยพินิจและความดำริชอบของผู้ปฏิบัติสิ่งที่เรามองว่าเป็นบิดอะฮ์ ขณะที่เขามองว่าไม่ใช่, และจะต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า ข้อเท็จจริงของสิ่งนี้ -- ส่วนมาก -- คือความขัดแย้งของนักวิชาการ,.. แล้วเราก็ไม่มีสิทธิ์ใดๆเลยที่จะไปประณามหรือไปบังคับ “ความคิด” ผู้ใดให้ต้องคล้อยตามความเชื่อของเรา, หากเมื่อเขาปฏิบัติตามมุมมองของเขาที่แตกต่างกับเราอันเป็นทัศนะของนักวิชาการอีกด้านหนึ่ง ก็ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมของเขาอย่างเต็มเปี่ยม, ...
ดังนั้น เมื่อเราได้ตักเตือนผู้ใดในสิ่งที่เรามองว่าเป็นบิดอะฮ์ แล้วเขายังไม่ยุติ ก็แสดงว่า เขาพร้อมแล้วที่จะรับผิดชอบในการกระทำของเขาทุกอย่าง ต่อพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ด้วยตัวของเขาเอง, ไม่ว่าจะลงนรกขุมไหนก็ตาม! ....
ถามว่า .. แล้วเรามีภาระต้องรับผิดชอบอะไรในตัวเขาอีก ? ...
4. ทุกฝ่าย, ...หากมั่นใจที่จะ “ยอมรับความจริง” ในปัญหาว่าสิ่งใดเป็นบิดอะฮ์หรือไม่ ? .. ก็ต้องกล้าหาญพอที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ด้วยการปลูกฝังความยำเกรงต่อพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ให้มากขึ้น, และจะต้องมีความบริสุทธิ์ใจ ในการตรวจสอบอย่างจริงจังเกี่ยวกับเรื่องนี้จากหลักฐานที่ถูกต้อง, ทั้งจากอัล-กุรฺอ่านและจากอัล-หะดีษ, และจาก “กฎเกณฑ์” อันเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการ, แต่มิใช่ไปค้นหาจาก “ทัศนะ” ของนักวิชาการ – โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, ทัศนะที่สอดคล้องกับความต้องการเพียงถ่ายเดียว) -- โดยไม่ต้องไปกังวล, พะวงหรือตะขิดตะขวงใจว่า ในอดีต ตนเองเคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นบิดอะฮ์ในฐานะผู้เคยคัดค้านหรือผู้เคยปฏิบัติ,.. หรือเคยมีความเชื่ออย่างแน่นแฟ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรมาก่อน .......
แต่ให้ตั้งปณิธานว่า .. ปัจจุบันนี้, ขณะนี้, และเดี๋ยวนี้ เราพร้อมแล้วที่จะยอมรับความจริงตามหลักฐานและกฎเกณฑ์ของวิชาการนั้น !......
หากปฏิบัติได้ดังที่กล่าวมานี้ .. บางที อินชาอัลลอฮ์, เรื่องยากก็อาจจะกลายเป็นเรื่องง่ายไปอย่างคาดไม่ถึงก็ได้ ด้วยความเมตตาของพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ....
จะอย่างไรก็ตาม ดังได้กล่าวมาแล้วว่าเรื่องของบิดอะฮ์เป็นเรื่องที่ “ละเอียดอ่อน” เป็นอย่างมาก, ทั้งในด้านวิชาการซึ่งขัดแย้งกันมานมนาน, และทั้งในด้านผลกระทบต่อความรู้สึกอันอ่อนไหวของพี่น้องมุสลิมโดยทั่วๆไป ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ว่า ผู้ซึ่งพูดหรือเขียนเกี่ยวกับเรื่องบิดอะฮ์นี้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะสามารถเก็บรายละเอียดของเรื่องนี้ได้อย่างถูกต้องทั้งหมดโดยปราศจากผู้โต้แย้ง, หรือให้ เป็นที่ยอมรับ ของทุกฝ่ายได้.....
และผมเอง, ก่อนที่จะลงมือพูดหรือเขียนเรื่องบิดอะฮ์นี้ ก็ย่อมรับรู้และเตรียมตัวเตรียมใจพร้อมรับสภาพการณ์ดังที่กล่าวนี้ ไว้แล้วเช่นเดียวกัน ......



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น