โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย
การซื้อขายเงินเชื่อหรือเงินผ่อนตามระบบที่นิยมปฏิบัติกัน - ทั้งในอดีตและปัจจุบัน - หมายถึง การที่พ่อค้า ได้ตั้งราคาสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งในการซื้อขายแต่ละครั้งไว้ 2 ราคา คือราคาเงินสดและราคาเงินผ่อน โดยให้ลูกค้าเป็นผู้เลือกเอาว่า จะซื้อราคาเงินสดซึ่งถูกกว่า หรือจะซื้อด้วยราคาเงินผ่อนซึ่งแพงกว่า, และอยู่ที่การตกลงกันว่า จะผ่อนชำระกันอย่างไร หรือเดือนละเท่าไร เป็นต้น ....
การซื้อขายเงินผ่อนในลักษณะนี้ตามหลักฐานที่ถูกต้องถือว่า หากลูกค้าเลือกซื้อเงินสด ก็เป็นที่อนุมัติ, แต่หากเลือกซื้อด้วยเงินผ่อนที่มีมูลค่ามากกว่า, ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนระยะสั้นหรือระยะยาว ก็เป็นที่ต้องห้าม, เพราะเงินผ่อนส่วนที่เกินจากเงินสดนั้น ถือว่าเป็น “ดอกเบี้ย” ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามตามระบอบอิสลาม ....
แต่จะอย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบมา ปรากฏว่า การซื้อขายเงินผ่อนในลักษณะนี้ ก็ยังมีการปฏิบัติกันอยู่ในกลุ่มเงินทุนต่างๆของมุสลิม จึงทำให้เกิดปัญหาและข้อคลางแคลงใจสำหรับพี่น้องมุสลิมทั่วๆไปว่า เรื่องนี้ มีหลักฐานห้ามหรือไม่ ? หากมี .. หลักฐานเหล่านั้นเป็นหลักฐานที่ถูกต้องหรือไม่ ? และมีความหมายตรงประเด็นกับที่มีการปฏิบัติกันอยู่หรือไม่ ? ....
เพื่อความกระจ่างสำหรับพี่น้องมุสลิมที่หวั่นเกรงความผิดจากเรื่องระบบดอกเบี้ยที่เกิดจากการซื้อขายเงินผ่อนดังกล่าว ผมจึงขออธิบายรายละเอียดและหลักฐานจากหะดีษเกี่ยวกับเรื่องนี้ดังต่อไปนี้ .....
หะดีษบทที่ 1
ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ ร.ฎ. กล่าวว่า ...
إِنَّ رَسُوْلَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ نَهَى عَنْ بَيْعَتَيْنِ فِىْ بَيْعَةٍ ....
“ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ห้ามจากการขายสองครั้ง ในการขายครั้งเดียว” ....
(บันทึกโดย ท่านอัน-นซาอีย์ หะดีษที่ 4646, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 1231, ท่านอะห์มัด เล่มที่ 2 หน้า 432, 475, 503, ท่านอิบนุล ญารูด หะดีษที่ 286, ท่านอิบนุหิบบานในหนังสือ “อัศ-เศาะเหี๊ยะฮ์” หะดีษที่ 1109, ท่านอัล-บัฆวีย์ในหนังสือ “ชัรฺหุ อัส-ซุนนะฮ์” เล่มที่ 4 หน้า 305, และท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 5 หน้า 343) ...
หะดีษบทนี้ เป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ ดังคำกล่าวของท่านอัล-อัลบานีย์ในหนังสือ “เศาะเหี๊ยะฮ์ อัต-ติรฺมีซีย์” เล่มที่ 2 หน้า 8 ...
คำว่า بَاعَ بَيْعَتَيْنِ فِىْ بَيْعَةٍ (ขายสองครั้งในการขายครั้งเดียว) หมายความว่าอย่างไร ?
บรรดานักวิชาการจำนวนมาก ได้อธิบายความหมายและตัวอย่างของหะดีษที่ว่า “ท่านรอซุ้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ห้ามจากการขาย 2 ครั้ง ในการขายครั้งเดียวกัน” ... ออกเป็น 2-3 ลักษณะด้วยกัน .. อาทิเช่น การที่ผู้ขายกล่าวว่า .. “ผมขายบ้านของผมหลังนี้แก่คุณด้วยจำนวนเงินเท่านั้นๆ (สมมุติว่า 20 ดีนารฺ) .. โดยคุณจะต้องขายทาสคนนั้นของคุณให้ผม ด้วยจำนวนเงินเท่านั้นๆ”, ..
นี่คือตัวอย่างความหมายหนึ่งของคำว่า بَاعَ بَيْعَتَيْنِ فِىْ بَيْعَةٍ จากคำกล่าวของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ .. ดังการอ้างอิงของท่านอัต-ติรฺมีซีย์ ในหนังสือ “อัส-สุนัน” ของท่าน เป็นต้น ...
แต่, เท่าที่ผมตรวจสอบดูอย่างละเอียดแล้ว ปรากฏว่า แม้จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง 2-3 ทัศนะในความหมายของหะดีษข้างต้น แต่ความหมายและตัวอย่างที่นักวิชาการแทบทุกท่านนำเสนอมาสอดคล้องกันในเรื่องนี้ ได้แก่ความหมายที่ว่า การที่พ่อค้า เสนอขายสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเสนอทั้งราคาเงินสด, และเงินเชื่อหรือเงินผ่อนในคราวเดียวกัน อันเป็นรูปแบบการซื้อขายเงินผ่อนที่มีการปฏิบัติกันแพร่หลายในปัจจุบัน ...
จะอย่างไรก็ตาม, .. ไม่ว่านักวิชาการท่านใด, จะให้ความหมายและตัวอย่างของคำว่า .. ขายสองครั้งในการขายครั้งเดียว .. ในลักษณะใด, .. ข้อเท็จจริงที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ทุกความหมายและทุกตัวอย่าง มีผลลัพธ์เท่าเทียมกัน .. นั่นคือ เป็นเรื่อง ต้องห้าม ตามนัยของหะดีษบทนี้ทั้งสิ้น ......
ต่อไปนี้คือข้อมูลจากคำกล่าวที่สอดคล้องกันของนักวิชาการเกี่ยวกับความหมายหะดีษที่ว่า “ขาย 2 ครั้งในการขายครั้งเดียว” มีดังต่อไปนี้ ...
1. ท่านอัน-นซาอีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 303) ได้กล่าวอธิบายไว้ในหนังสือ “อัส-สุนัน” ของท่าน, เริ่มต้นบาบที่ 73 กิตาบอัล-บุยูอฺ หรือบทว่าด้วยเรื่องการค้าขายว่า
وَهُوَأَنْ يَقُوْلَ : أَبِيْعُكَ هَذِهِ السِّلْعَةَ بِمِائَةِ دِرْهَمٍ نَقْدًا، وَبِمِائَتَيْ دِرْهَمٍ نَسِيْئَةً ...
ได้แก่การกล่าวว่า : ฉันขายสินค้านี้แก่ท่านด้วยราคา 100 ดิรฺฮัมถ้าเป็นเงินสด, และราคา 200 ดิรฺฮัม ถ้าเป็นเงินเชื่อ (คือติดค้างหรือเงินผ่อน) ...
2. ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 297) ได้กล่าวอธิบายในหนังสือ “อัส-สุนัน” ของท่าน, บาบที่ 18 บทว่าด้วยเรื่องการค้าขายว่า ....
وَقَدْ فَسَّرَ بَعْضُ أَهْلِ الْعِلْمِ، قَالُوْا : بَيْعَتَيْنِ فِىْ بَيْعَةٍ أَنْ يَقُوْلَ : أَبِِيْعُكَ هَذَاالثَّوْبَ بِنَقْدٍ بِعَشَرَةٍ، وَبِنَسِيْئَةٍ بِعِشْرِيْنَ .....
นักวิชาการบางท่านได้อธิบายความหมายของหะดีษ “(ข้อห้ามจาก) การขายสองครั้งในการขายครั้งเดียว” ว่า : ได้แก่การกล่าวว่า .. ฉันขายผ้าผืนนี้แก่ท่านด้วยเงินสด 10 (ดีนารฺ), และด้วยเงินเชื่อ 20 (ดีนารฺ) ...
3. ท่านอับดุลวะฮ์ฮาบ บิน อะฏออ์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 206) ได้กล่าวอธิบายว่า ...
يَعْنِىْ يَقَوْلُ : هُوَلَكَ بِنَقْدٍ بِعَشَرَةٍ، وَبِنَسِيْئَةٍ بِعِشْرِيْنَ ....
คือการกล่าวว่า : มัน (สินค้า)จะเป็นกรรมสิทธิ์ของท่านด้วยราคาเงินสด 10 (ดีนารฺ) และด้วยราคาเงินเชื่อ 20 (ดีนารฺ) ....
(อัล-บัยฮะกีย์, เล่มที่ 5 หน้า 343) ....
4..ท่านมุหัมมัด บิน ซีรีน (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 110) มีรายงานมาว่า ..
كَانَ يَكْرَهُ أَنْ يَقُوْلَ : أَبِيْعُكَ بِعَشَرَةِ دَنَانِيْرَ نَقْدًا، أَوْبِخَمْسَةَ عَشَرَ إلَى أََجَلٍ
ท่านรังเกียจที่ผู้ขายจะกล่าวว่า :ฉันขาย(สิ่งนี้)แก่ท่านด้วยเงินสด 10 ดีนารฺ, หรือหากยืดเวลาก็ 15 ดีนารฺ ...
(อับดุรฺ ร็อซซากใน “อัล-มุศ็อนนัฟ” หะดีษที่ 14630) ...
5. ท่านอิบนุ หิบบาน (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 354) ได้กล่าวในหนังสือ “อัศ-เศาะเหี๊ยะฮ์” ของท่าน เล่มที่ 7 หน้า 225 ว่า .....
ذِكْرُالزَّجْرِعَنْ بَيْعِ الشَّىْءِ بِمِائَةِ دِيْنَارٍ نَسِيْئَةً، وَبِتِسْعِيْنَ دِيْنَارًا نَقْدًا ...
“กล่าวเรื่องการปราม .. จากการขายสิ่งใด 100 ดีนารฺ ด้วยราคาเงินเชื่อ, แต่จะขายเพียง 90 ดีนารฺ หากเป็นเงินสด” ...
6. ท่านอิบนุล อะษีรฺ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 606) ได้กล่าวอธิบายในหนังสือ “อัน-นิฮายะฮ์ฯ” เล่มที่ 1 หน้า 173 ว่า ...
وَفِيْهِ " نَهَى عَنْ بَيْعَتَيْنِ فِىْ بَيْعَةٍ " هُوَ أَنْ يَقُوْلَ : بِعْتُكَ هَذَاالثَّوْبَ نَقْدًا بِعَشَرَةٍ، وَنَسِيْئَةً بِخَمْسَةَعَشَرَ ....
และมีปรากฏในหะดีษว่า .. “ท่านรอซู้ลฯ ได้ห้ามจากการขายสองครั้งในการขายครั้งเดียว” ก็คือ การที่ผู้ขายกล่าวว่า : ฉันขายผ้าผืนนี้แก่ท่านด้วยเงินสด 10 (ดีนารฺ) และด้วยเงินเชื่อ 15 ( ดีนารฺ) ...
7. ท่านอัล-บัฆวีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 516) ได้อธิบายหะดีษบทนี้ในหนังสือ “ชัรฺหุส ซุนนะฮ์” เล่มที่ 3 หน้า 305 ว่า
....
وَفَسَّرُواالْبَيْعَتَيْنِ فِىْ بَيْعَةٍ عَلَى وَجْهَيْنِ، أَحَدُهُمَا أَنْ يَقُوْلَ : بِعْتُكَ هَذَاالثَّوْبَ بِعَشَرَةٍ نَقْدًا، أَوْبِعِشْرِيْنَ نَسِيْئَةً إلَى شَهْرٍ...
และบรรดานักวิชาการได้อธิบายความหมาย .. “การขายสองครั้ง ในการขายครั้งเดียว” เป็น 2 แนวทางด้วยกัน, แนวทางแรก ได้แก่การกล่าวว่า : ฉันขายผ้าผืนนี้แก่ท่านในราคา 10 (ดีนารฺ ) ด้วยเงินสด, หรือ 20 (ดีนารฺ) โดยยืดเวลาให้1 เดือน ....
ส่วนแนวทางที่สอง ได้แก่การกล่าวว่า : ฉันขายทาสชายคนนี้ของฉันแก่ท่านด้วยเงิน 20 ดีนารฺ โดยท่านจะต้องขายทาสหญิงคนนั้นของท่านให้ฉัน ...
8. ท่านซิมาก บิน หัรฺบ์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 123) ได้กล่าวอธิบายว่า ....
اَلرَّجُلُ يَبِيْعُ الْبَيْعَ فَيَقُوْلُ : هُوَ بِنَسَاءٍ بِكَذَاوَكَذَا، وَهُوَ بِنَقْدٍ بِكَذَا وَكَذَا
(หมายถึง)ใครสักคนหนึ่งจะขายสินค้าอย่างหนึ่ง แล้วกล่าวว่า : ถ้าเป็นเงินเชื่อ จะต้องราคาเท่านั้นๆ, และถ้าเป็นเงินสด ก็ราคาเท่านั้นๆ (คือ ราคาเงินเชื่อและเงินสดจะไม่เท่ากัน) ...
(ท่านอะห์มัดใน “อัล-มุสนัด” เล่มที่ 1 หน้า 398) ....
9. ท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 388) ได้กล่าวอธิบายในหนังสือ “มะอาลิม อัส-สุนัน” เล่มที่ 3 หน้า 105 ว่า หนึ่งจาก 2 ความหมายหะดีษข้างต้นก็คือ การที่ผู้ขายกล่าวว่า ....
بِعْتُكَ هَذَاالثَّوْبَ نَقْدًا بِعَشَرَةٍ، وَنَسِيْئَةً بِخَمْسَةَ عَشَرَ .....
“ฉันขายผ้าผืนนี้แก่ท่านด้วยราคาเงินสด 10 ดีนารฺ, และด้วยราคาเงินเชื่อ 15 ดีนารฺ” ...
สรุปแล้ว ความหมายของหะดีษข้างต้นที่กล่าวว่า .. “การขายสองครั้ง ในการขายครั้งเดียว” หมายถึง “การขายสองราคาในการขายครั้งเดียว คือราคาเงินสดราคาหนึ่ง และราคาเงินเชื่อหรือเงินผ่อนอีกราคาหนึ่ง” .. แม้นักวิชาการบางท่านจะอธิบายความหมายหะดีษนี้ออกเป็น 2 หรือ 3 ความหมาย แต่ทุกท่าน .. จะต้องระบุความหมายดังกล่าวนี้ เป็น “ความหมายหลัก”จากบรรดาความหมายเหล่านั้นด้วยเสมอ ...
และความหมายข้อนี้ ก็ตรงกันกับระบบการซื้อขายเงินผ่อนที่แพร่หลายในยุคปัจจุบันทุกอย่าง ...
ทัศนะของนักวิชาการต่อการซื้อขายด้วยวิธีให้ลูกค้าเลือกระหว่างราคาเงินสดและเงินผ่อน
นักวิชาการมีทัศนะขัดแย้งกันในเรื่องนี้ แบ่งออกเป็น 3 ทัศนะด้วยกัน คือ ..
ทัศนะที่ 1 ถือว่า อนุญาตทั้งหมด, .... หมายความว่า หากผู้ซื้อตกลงใจเลือกราคาใดราคาหนึ่ง .. ไม่ว่าราคาเงินสดหรือราคาเงินผ่อน .. ก่อนที่จะแยกจากกันกับผู้ขาย ถือว่า การซื้อขายตามราคาที่ตกลงกันนั้น ถูกต้อง ....
นี่คือทัศนะของนักวิชาการส่วนมาก ดังการอ้างอิงของท่านอัต-ติรฺมีซีย์, ท่านอัล-บัฆวีย์ และนักวิชาการท่านอื่นๆ ....
ทัศนะที่ 2 ถือว่า ต้องห้ามทั้งหมด, ... หมายความว่า การซื้อขายในลักษณะดังกล่าว เป็นเรื่องต้องห้ามและเป็นโมฆะ, .. ไม่ว่าผู้ซื้อจะเลือกซื้อด้วยราคาเงินสดหรือราคาเงินผ่อนก็ตาม เพราะเป็นการซื้อขายที่ถูกห้าม ดังหะดีษข้างต้น ....
นี่คือ ทัศนะของท่านอิบนุ หัสม์ ในหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” เล่มที่ 9 หน้า 15-16
ทัศนะที่ 3 ถือว่า อนุญาตในกรณีเงินสดและต้องห้ามในกรณีเงินผ่อน, หมายความว่า หากลูกค้าตกลงใจเลือกซื้อราคาเงินสด การซื้อขายนั้น ถูกต้อง, .. แต่ถ้าหากลูกค้าตกลงใจซื้อราคาเงินผ่อน การซื้อขายนั้นเป็นโมฆะและเป็นที่ต้องห้าม, เพราะราคาเงินผ่อนในลักษณะนี้ คือดอกเบี้ย .. ดังข้อความที่ชัดเจนของหะดีษอีกบทหนึ่ง ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป ....
นี่คือ ทัศนะของท่านฏอวูส(สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 106), ท่านอัล-เอาซาอีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 157), และท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 161) ...
(โปรดดูข้อมูลทัศนะทั้ง 3 ท่านนั้นจากหนังสือ “อัล-มุศ็อนนัฟ” ของท่านอับดุรฺ ร็อซซาก หะดีษที่ 14631, หนังสือ “มะอาลิม อัส-สุนัน” ของท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ เล่มที่ 3 หน้า 104, และหนังสือ “อัล-มุศ็อนนัฟ” ของท่านอับดุรฺ ร็อซซาก หะดีษที่ 14632 ตามลำดับ) ...
ข้อมูล-หลักฐานของทัศนะที่ 1
1. ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “อัส-สุนัน” ของท่าน ในการอธิบายหะดีษข้างต้น (อันเป็นหะดีษที่ 1231) ว่า ...
قَالُوْا : بَيْعَتَيْنِ فِىْ بَيْعَةٍ أَنْ يَقُوْلَ : أَبِيْعُكَ هَذَاالثَّوْبَ بِنَقْدٍ بِعَشَرَةٍ، وَبِنَسِيْئَةٍ بِعِشْرِيْنَ، وَلاَ يُفَارِقُـهُ عَلَى بَيْعَتَيْنِ، فَإذَا فَارَقَـهُ عَلَى أَحَدِهِمَا فَلاَ بَأْسَ إذَاكَانَتِ الْعُقْدَةُ عَلَى أَحَدٍ مِنْهُمَا ...
พวกเขา (นักวิชาการ) กล่าวว่า : (ข้อห้ามจาก)หะดีษที่ว่า .. “การขายสองครั้งในการขายครั้งเดียว” ก็คือการกล่าวว่า : ฉันขายผ้าผืนนี้แก่ท่านด้วยราคาเงินสด 10 ดีนารฺ และด้วยเงินเชื่อ 20 ดีนารฺ ... และผู้ซื้อก็ยังไม่ได้แยกจากผู้ขายโดยยังคงราคาทั้งสองนั้นไว้ (คือ ยังไม่ตกลงซื้อ) ... แต่เมื่อผู้ซื้อจะแยกจากผู้ขายด้วยการตกลงใจในราคาใดราคาหนึ่ง ก็ไม่มีปัญหา (คือ การซื้อขายนั้นถือว่าถูกต้อง) .. ในเมื่อได้มีการตกลง(ซื้อขาย) กันด้วยราคาใดราคาหนึ่งจากสองราคานั้น ....
2. ท่านอัช-เชากานีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “นัยลุ้ล เอาฏอรฺ” เล่มที่ 5 หน้า 250 ว่า
وَالْعِلَّةُ فِىْ تَحْرِيْمِ بَيْعَتَيْنِ فِىْ بَيْعَةٍ عَدَمُ اسْتِقْرَارِالثَّمَنِ فِىْ صُوْرَةِ بَيْعِ الشَّىْءِ الْوَاحِدِ بِثَمَنَيْنِ
“และเหตุผลที่ห้ามขายสองครั้ง (คือสองราคา) ในการขายครั้งเดียว ก็เพราะความไม่นิ่ง (ไม่ชัดเจน) ของราคา ในรูปแบบของการขายสินค้าอย่างเดียวด้วยสองราคานั้น” ...
3. ท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “มะอาลิม อัส-สุนัน” เล่มที่ 3 หน้า 105 ว่า ...
أَنْ يَقُوْلَ : بِعْتُكَ هَذَاالثَّوْبَ نَقْدًا بِعَشَرَةٍ، وَنَسِيْئَةً بِخَمْسَةَعَشَرَ فَهَذَا لاَيَجُوْزُ ِلأَنَّـهُ لاَ يُدْرَى أَيُّهُمَاالثَّمَنُ الَّذِىْ يَخْتَارُهُ مِنْهُمَا فَيَقَعَ بِـهِ الْعَقْدُ، وَإذَا جُهِلَ الثَّمَنُ بَطَلَ الْبَيْعُ ...
“การกล่าวว่า .. ฉันขายผ้าผืนนี้แก่ท่านด้วยราคาเงินสด 10 ดีนารฺ, และด้วยราคาเงินเชื่อ 20 ดีนารฺ, .. การเสนอขายลักษณะนี้ ไม่เป็นที่อนุมัติ เพราะไม่รู้ว่าราคาไหนจากสองราคานั้นที่เขาจะเลือกและตกลงซื้อ, และเมื่อไม่รู้ราคาการซื้อขายก็เป็นโมฆะ” ... และท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ ยังได้กล่าวในหน้าที่ 106 จากหนังสือเล่มนั้นอีกว่า ....
فَأَمَّاإذَا بَاتَّـهُ عَلَى أَحَدِاْلأَمْرَيْنِ فِىْ مَجْلِسِ الْعَقْدِ فَهُوَ صَحِيْحٌ ...
“อนึ่ง เมื่อเขา(ผู้ซื้อ) ตกลงซื้อราคาใดราคาหนึ่งจากสองราคานั้นในสถานที่ตกลงซื้อขายกัน ก็ถือว่า การซื้อขายนั้น ถูกต้อง .....”
จากตัวอย่างของข้อมูลที่นำเสนอมานั้น ทำให้พอจะสรุปแนวทางของทัศนะที่ 1 ได้ดังนี้ ....
1. รูปแบบการขาย .. ที่ผู้ขาย “เสนอขาย” สินค้า 2 ราคาในคราวเดียวกัน .. คือราคาเงินสดและราคาเงินเชื่อหรือเงินผ่อนที่ไม่เท่ากัน, .. (ดังรูปแบบที่มีการปฏิบัติกันในปัจจุบัน) ถือว่าการเสนอขายในรูปแบบนี้ - ตามปกติ – ไม่เป็นที่อนุมัติ ดังคำกล่าวของท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ที่เพิ่งผ่านมา ...
แต่,.. ถ้ามีผู้เสนอขายในลักษณะดังกล่าว และผู้ซื้อ ตกลงซื้อสินค้านั้นด้วยราคาใดราคาหนึ่งจากสองราคาภายในสถานที่ซื้อขายแห่งนั้น ถือว่า “การซื้อขาย” นั้น ถูกต้อง ....
2 เหตุผล ที่การเสนอขายในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องต้องห้าม ก็เพราะความไม่ชัดเจนหรือไม่รู้ (مَجْهُوْلٌ) ราคาที่แท้จริงของสินค้านั้น ...
ข้อโต้แย้ง.
เหตุผล ของทัศนะที่ 1 ดังข้างต้น เมื่อพิจารณาดูอย่างละเอียดแล้ว จะเห็นได้ว่า นอกจากจะเป็นเพียง “ทัศนะ” ที่ไม่มีหลักฐานบทใดมายืนยันแล้ว ยัง “ขัดแย้ง” กับหะดีษบทที่ผมจะนำเสนอในลำดับต่อไปทั้ง 2 ประการคือ .. .
ประการแรก ทัศนะนี้กล่าวว่า การที่ผู้ซื้อ ตกลงซื้อด้วยราคาใดราคาหนึ่ง .. คือไม่ว่าจะเลือกซื้อราคาเงินสดหรือราคาเงินเชื่อ(เงินผ่อน) ถือว่า เป็นที่อนุญาต .. ขณะที่ตัวบทของหะดีษบทที่จะถึงต่อไป กล่าวอย่างชัดเจนว่า ในกรณีนี้ อนุญาตให้ผู้ซื้อ ตกลงซื้อด้วยราคาเงินสดซึ่งเป็นราคาต่ำสุดได้เพียงอย่างเดียว, แต่ไม่อนุญาตให้เลือกซื้อด้วยราคาเงินเชื่อหรือเงินผ่อนซึ่งสูงกว่า ...
ประการที่สอง ทัศนะนี้อ้างว่า เหตุผลที่ห้ามเสนอขายสินค้าในลักษณะทั้งเงินสดและเงินผ่อนในคราวเดียวกัน เพราะถือว่า การเสนอขายสองราคาทำให้ไม่รู้ ราคาที่แท้จริงของสินค้า ... ขณะที่ตัวบทหะดีษบทนั้น ได้ระบุเหตุผลที่ห้ามซื้อด้วยราคาเงินผ่อนว่า เพราะมันเป็นดอกเบี้ย ....
ดังนั้น ในทัศนะส่วนตัวของผมเห็นว่า ทัศนะที่ 1 นี้เป็นทัศนะที่ห่างไกลจากหลักฐานและความถูกต้องมากที่สุด แม้จะเป็นทัศนะที่มีนักวิชาการหลายท่านสนับสนุนก็ตาม ...
ข้อมูล-หลักฐานของทัศนะที่ 2.
ท่านอิบนุหัสม์ ได้กล่าวอธิบายไว้ในหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” เล่มที่ 9 หน้า 15-16 ซึ่งสรุปได้ว่า การเสนอขายสินค้าด้วย 2 ราคา คือทั้งราคาเงินสดและราคาเงินผ่อนในคราวเดียวกัน เป็นเรื่องต้องห้าม, .. และการซื้อขายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะตกลงซื้อด้วยราคาเงินสดหรือเงินเชื่อ การซื้อขายนั้น เป็นโมฆะทั้งสิ้น ... เพราะคำกล่าวในหะดีษข้างต้นที่ว่า .. “ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ห้ามจากการ (เสนอ) ขายสองครั้ง (สองราคา) ในการขายครั้งเดียว” .. ถือได้ว่า โดยรูปการหรือ( ظَاهِرٌ ) ของประโยคแล้ว การห้ามนั้น ครอบคลุมการเสนอขายสองราคาตั้งแต่ต้นแล้ว โดยไม่จำเป็นว่า การซื้อขายจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่เกิดขึ้น ในภายหลังก็ตาม ...
ทัศนะของท่านอิบนุหัสม์ดังกล่าว ถ้าจะพิจารณาในแง่ของหลักฐานข้างต้น ก็ดูจะใกล้เคียงกับความถูกต้องมากกว่าทัศนะที่ 1 .. แต่ขณะเดียวกัน ทัศนะนี้ที่ห้ามซื้อขายหมดทั้ง 2 ราคา ก็ยังมีจุดขัดแย้งกับหะดีษที่อนุญาตให้เลือกเอาราคาต่ำสุด – คือราคาเงินสด -- ในการซื้อขายได้ .. ดังเป็นหลักฐานของทัศนะที่ 3 ที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ ...
ข้อมูล-หลักฐานของทัศนะที่ 3.
1. หลักฐานจากหะดีษ ... ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ ร.ฎ. ได้รายงานมาจากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมว่า ...
مَنْ بَاعَ بَيْعَتَيْنِ فِىْ بَيْعَةٍ فَلَـهُ أَوْكَسُهُمَا أَوِالرِّبَا
“ผู้ใดที่(เสนอ)ขายสินค้า 2 ครั้ง (คือ 2 ราคา) ในการขายครั้งเดียว ก็ให้เขาเลือกเอาระหว่างราคาต่ำสุดจากสองราคานั้น (คือราคาเงินสด) .. หรือจะเลือกเอาดอกเบี้ย (คือราคาเงินเชื่อหรือเงินผ่อน)” ...
(บันทึกโดย ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 3461, ท่านอิบนุ อบีชัยบะฮ์ เล่มที่ 5 หน้า 55, ท่านอัล-หากิม เล่มที่ 2 หน้า 52, ท่านอิบนุหิบบานในหนังสือ “อัศ-เศาะเหี๊ยะฮ์” หะดีษที่ 1110, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 5 หน้า 343, และท่านอิบนุหัสม์ ในหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” เล่มที่ 9 หน้า 16) .....
หะดีษบทนี้ เป็นหะดีษหะซัน (หะดีษที่สวยงาม) ดังคำกล่าวของท่านอัล-อัลบานีย์ในหนังสือ “เศาะเหี๊ยะฮ์ อบีดาวูด” เล่มที่ 2 หน้า 662 ...
2. หลักฐานจากคำพูดเศาะหาบะฮ์ .. ท่านอิบนุ มัสอูด ร.ฎ. ได้กล่าวว่า ...
صَفْقَتَانِ فَىْ صَفْقَةٍ رِبًا، أَنْ يَقُوْلَ الرَّجُلُ : إنْ كَانَ بِنَقْدٍ فَبِكَذَا، وَإنْ كَانَ بِنَسِيْئَةٍ فَبِكَذَا
“ข้อตกลง 2 ครั้ง ในการตกลงเพียงครั้งเดียว มีดอกเบี้ย, (ได้แก่)การที่บุคคลหนึ่ง(ผู้ขาย)กล่าวว่า .. หากเป็นเงินสด ก็จะราคาเท่านี้ แต่ถ้าเป็นเงินเชื่อ ก็จะราคาเท่านี้” .....
(จากหนังสือ “อัล-มุศ็อนนัฟ” ของท่านอิบนุ อบีย์ชัยบะฮ์ เล่มที่ 5 หน้า 54 , หนังสือ “อัล-มุศ็อนนัฟ” ของท่านอับดุรฺ ร็อซซาก เล่มที่ 8 หน้า 138-139, หนังสือ “อัศ-เศาะเหี๊ยะฮ์” ของท่านอิบนุหิบบาน หะดีษที่ 136, 1111)
สายรายงานของหะดีษนี้ ถูกต้อง ..
คำว่า “ข้อตกลง 2 ครั้ง ในการตกลงครั้งเดียว” .. ท่านอิบนุลอะษีรฺ ได้อธิบายในหนังสือ “อัน-นิฮายะฮ์ฯ” เล่มที่ 3 หน้า 38 ว่า มีความหมายเหมือนกันกับข้อความของหะดีษที่ว่า .. การขาย 2 ครั้ง ในการขายครั้งเดียว .. จากหะดีษทั้ง 2 บทที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ......
3. หลักฐานจากคำพูดตาบิอีน ท่านฎอวูส (เป็นตาบิอีนระดับอาวุโส, สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 106) ได้กล่าวว่า ...
إذَا قَالَ : هُوَ َبِكَذَا وَكَذَا إلَى كَذَا وَكَذَا، وَبِكَذَا وَكَذَا إلَى كَذَا وَكَذَا، فَوَقَعَ الْمَبِيْعُ عَلَى هَذَا فَهُوَ بِأَقَلِّ الثَّمَنَيْنِ إلَى أَبْعَدِ اْلأَجَلَيْنِ ...
เมื่อผู้ขายพูดว่า .. “สินค้านี้ หาก(ท่านซื้อ) ด้วยราคานี้ (สมมุติว่า 20 บาท) ก็จะยืดเวลาได้ถึงเวลานั้นๆ (เช่น 1 เดือน) แต่ถ้าหากด้วยราคานี้ (สมมุติว่า 40 บาท) ก็จะยืดเวลาได้ถึงเวลานั้นๆ (เช่น 2 เดือน) แล้วมีการตกลงซื้อขายกันตามนี้ (ในกรณีนี้)ก็อนุญาตให้(ผู้ซื้อ) ซื้อสินค้านั้นได้ด้วยราคาต่ำสุดจากสองราคานั้น (คือ 20 บาท) .. โดยให้ยืดเวลาจ่ายเงินได้ตามเวลาที่นานที่สุด (คือ 2 เดือน)” ....
(บันทึกโดยท่านอับดุรฺร็อซซากในหนังสือ “อัล-มุศ็อนนัฟ” หะดีษที่ 14631 ด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง) ...
เมื่อเราพิจารณาจากข้อมูลทั้งหมดที่ได้นำเสนอมานี้ ก็จะเห็นได้ว่า ทัศนะที่ 3 นี้ น่าจะถือได้ว่า เป็นทัศนะที่ถูกต้องที่สุด, และสอดคล้องกับหลักฐานจากอัล- หะดีษ มากที่สุดยิ่งกว่า 2 ทัศนะแรกที่ผ่านมา ...
นั่นก็คือ การเสนอขายสินค้าทั้งราคาเงินสดและราคาเงินผ่อนในคราวเดียวกัน, ด้วยราคาที่แตกต่างกัน .. ดังที่มีการปฏิบัติกันแพร่หลายในปัจจุบัน เป็นเรื่องไม่ถูกต้องตามหลักการศาสนา, ซึ่งถ้าหากมีการเสนอขายดังกล่าวจริง ผู้ซื้อก็มีสิทธิเลือกซื้อได้เฉพาะราคาเงินสดซึ่งเป็นราคาต่ำสุดเท่านั้น ส่วนราคาเงินผ่อนซึ่งเป็นราคาสูงกว่า ตามหลักการถือว่า เป็นดอกเบี้ยที่เป็นเรื่องต้องห้ามของอิสลาม ...
ดังนั้น ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องที่ผมขอมอบให้อยู่ในดุลยพินิจของท่านผู้อ่านแต่ละท่านว่า ควรจะปฏิบัติอย่างไรในการประกอบธุรกิจการค้าของท่านในคราวต่อไป และหวังว่าความเข้าใจศาสนาและอะกีดะฮ์ที่ถูกต้อง จะช่วยให้ท่านตัดสินใจในเรื่องนี้ได้ ...
สรุป
จากข้อห้ามของหะดีษข้างต้นทั้ง 2 บทก็ดี, จากคำกล่าวของท่านอิบนุมัสอูด ร.ฎ.ก็ดี, ตลอดจนข้อมูลที่ได้นำเสนอและชี้แจงไปแล้วทั้งหมดก็ดี ทำให้พอจะสรุปได้ว่า “ประเด็นห้าม” ในเรื่องการซื้อขายเงินผ่อนนั้น ประกอบขึ้นจากเงื่อนไข 2 ประการ ดังต่อไปนี้ .....
1. เป็นการเสนอขายสินค้า -- ไม่ว่าชิ้นเดียวหรือหลายชิ้น .. ต่อผู้ซื้อคนเดียวหรือหลายคน -- ในคราวเดียวกัน ...
2. ราคาที่เสนอขายนั้น มี 2 ราคาให้ผู้ซื้อเลือก ซึ่งเป็นราคาที่เหลื่อมล้ำกัน .. คือราคาเงินสดซึ่งจะย่อมเยากว่า และราคาเงินเชื่อหรือเงินผ่อนซึ่งจะแพงกว่า ...
แล้วผู้ซื้อก็เลือกซื้อด้วยราคาเงินผ่อนแทนที่จะเลือกซื้อราคาเงินสด ซึ่งจะทำให้การซื้อขายนั้นเป็นเรื่องต้องห้ามไป ดังกล่าวมาแล้ว ...
แต่, ถ้าหากการซื้อขายเงินสดหรือเงินผ่อนที่ขาดเงื่อนไขประการหนึ่งประการใดจากเงื่อนไข 2 ประการที่กล่าวมาแล้ว ถือว่าการซื้อขายนั้นใช้ได้ และไม่ถือว่าเป็นดอกเบี้ย ...
ตัวอย่างเช่น
1. แม่ค้าขายปลาตลาดนัด ช่วงเช้าบอกขายปลาตัวหนึ่งกิโลกรัมละ 50 บาทก็ยังขายไม่ได้, พอตอนสายผู้คนชักน้อยลง ก็บอกขายปลาตัวเดิม กิโลกรัมละ 35 บาท, ราคาที่เสนอขายทั้ง 2 ครั้งนี้ แม้จะเป็นปลาตัวเดียวกัน และราคาแตกต่างกัน แต่ก็ไม่เรียกราคาที่เสนอขายสูงกว่าในช่วงเช้าว่า เป็นดอกเบี้ย ... เพราะเป็นการเสนอขายคนละครั้ง, ไม่ใช่เสนอขายในคราวเดียวกันดังข้อห้ามในหะดีษ ...
2. ในกรณีที่คล้ายคลึงกันนี้ ผู้ขายปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างหนึ่งได้ขายทีวีเครื่องหนึ่งแก่ลูกค้าคนหนึ่งในราคา 10,000 บาท, แต่อีก 1 ชั่วโมงต่อมา ได้ขายทีวี ยี่ห้อและรุ่นเดียวกันอีกเครื่องหนึ่งแก่ลูกค้าอีกคน (ที่คงจะไม่สันทัดในการต่อรองราคา) ด้วยราคา 11,000 บาท, อย่างนี้ ก็ไม่เรียกการขายครั้งหลังด้วยราคาที่สูงกว่าว่า เป็นดอกเบี้ย, เพราะเป็นการขายคนละครั้ง เหมือนในกรณีแรก ...
3. พ่อค้าขายผ้าปลีกและส่ง, ขายผ้าให้ลูกค้าที่ซื้อปลีกผืนละ 200 บาท แต่ขายส่งให้ลูกค้าประจำที่ซื้อจำนวนมาก ราคาเฉลี่ยผืนละ 160 บาท, ราคาส่วนขายปลีกที่มากกว่าราคาขายส่งดังกล่าว ไม่เรียกว่า เป็นดอกเบี้ย เพราะเป็นการขายคนละครั้งดังตัวอย่างข้างต้นเช่นเดียวกัน ....
4. แม่ค้าขายเครื่องทองรูปพรรณเสนอขายต่อลูกค้าว่า สร้อยคอเส้นนี้ ไม่ว่าคุณจะซื้อเงินสดหรือเงินผ่อน จะขายเพียงราคาเดียว คือ 9,000 บาท, แล้วลูกค้าก็เลือกซื้อด้วยเงินผ่อน อย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นดอกเบี้ย เพราะการเสนอขายมี “ราคาเดียว” ซึ่งไม่มีส่วนต่างของราคา ที่เรียกว่าเป็นดอกเบี้ยตามหลักการศาสนา ...
วัลลอฮุ อะอฺลัม
เพิ่มเติม
หลังจากที่ผมได้เขียนเรื่อง “การซึ้อขายเงินผ่อน” จบลง และได้ถ่ายเอกสารต้นฉบับจากคอมพิวเตอร์ แจกจ่ายให้กับองค์กรมัสญิดและโรงเรียนบางแห่ง, ตลอดจนนักศึกษาและผู้สนใจบางท่านไปบ้างแล้ว ก็มีท่านผู้อ่านบางท่านโทรศัพท์ถามมาว่า การที่มีกองทุนในลักษณะสหกรณ์ของมุสลิมบางท้องที่ อำนวยความสะดวกแก่พี่น้องมุสลิมที่มีทุนรอนน้อย ด้วยการไปซื้อสิ่งของที่เขาต้องการมาจากร้านค้าในตัวเมืองด้วยเงินสด แล้วมาให้ผู้ที่ต้องการสิ่งนั้น ซื้อผ่อนจากกองทุนฯ .. โดยมีเงื่อนไขว่า สมมุติถ้าผ่อน 1 ปี ก็กำหนดราคาไว้เท่านี้, .. แต่ถ้าผ่อน 1 ปี 6 เดือน ก็จะกำหนดราคามากขึ้นตามสัดส่วน .. การกำหนดราคาในลักษณะนี้ .. โดยเฉพาะราคาผ่อน 1 ปี 6 เดือน .. จะถือเป็นดอกเบี้ยหรือไม่ ? ...
เท่าที่ผมพิจารณาข้อมูลจากคำอธิบายของนักวิชาการ เกี่ยวกับความหมายของหะดีษที่ว่า .. “ผู้ใด ขายสองครั้ง (สองราคา) ในการขายครั้งเดียว .....” อันเป็นเรื่องต้องห้าม --- ไม่ว่าจะอธิบายความหมายของคำว่า “ขายสองครั้ง” ในลักษณะใดก็ตาม, ดังที่ผมได้ชี้แจงรายละเอียดไปแล้วในหนังสือนั้น --- ปรากฏว่า ลักษณะของเงื่อนไขการขายเงินผ่อนดังที่ถามมานั้น ก็จัดอยู่ในหลักเกณฑ์ของ .. การขายสองครั้งหรือ 2 ราคา ในการขายครั้งเดียว .. ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามเช่นเดียวกัน ....
ข้อมูลดังกล่าว มีดังต่อไปนี้ .....
(1). ท่านฏอวูส (เป็นตาบิอีน, สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 106) ได้กล่าวว่า ...
إِذَاقَالَ : هُوَ بِكَذَاوَكَذَا إِلَى كَذَاوَكَذَا، وَبِكَذَاوَكَذَا إِلَى كَذَاوَكَذَا، فَوَقَعَ الْمَبِيْعُ عَلَى هَذَا فَهُوَ بِأَقَلِّ الثَّمَنَيْنِ إِلَى أَبْعَدِ اْلأَجَلَيْنِ ....
เมื่อผู้ขายพูดว่า .. “สินค้านี้ หาก(ท่านซื้อ)ด้วยราคานี้ (สมมุติว่า 20 บาท) ก็จะยืดเวลาได้ถึงเวลานั้นๆ (เช่น 1 เดือน) .. แต่ถ้าหากเป็นราคานี้ (สมมุติว่า 40 บาท) ก็จะยืดเวลาได้ถึงเวลานั้นๆ (เช่น 2 เดือน) แล้วมีการตกลงซื้อขายกันตามเงื่อนไขนี้ ก็อนุญาตให้(ผู้ซื้อ) ซื้อสินค้านั้นได้ด้วยราคาต่ำสุดจากสองราคานั้น (คือ 20 บาท) .. โดยให้ยืดเวลาจ่ายเงินได้ตามเวลาที่นานที่สุด (คือ 2 เดือน) ....
(บันทึกโดย ท่านอับดุรฺ ร็อซซาก ในหนังสือ อัล-มุศ็อนนัฟ” หะดีษที่ 14631)
จะเห็นได้ว่า คำพูดของท่านฏอวูสดังกล่าว ตรงกับคำถามข้างต้นทุกประการ ... คือ ผู้ขาย เสนอขายด้วยราคาเงินผ่อนเป็น 2 ระยะ, .. คือผ่อนระยะสั้น ซึ่งราคาสินค้าจะย่อมเยาลง, และ ผ่อนระยะยาว ซึ่งราคาสินค้าก็จะเพิ่มขึ้นตามอัตราส่วนที่ผู้ขายกำหนดไว้ ซึ่งมุมมองของท่านฏอวูส ก็สอดคล้องกับตัวบทของหะดีษที่ว่า อนุญาตให้ผู้ซื้อ เลือกซื้อในราคาต่ำสุดดังที่ได้อธิบายมาแล้วในตัวอย่างของราคาเงินสดและเงินผ่อน,
แต่ในกรณีนี้ที่ทั้งสองราคาเป็นเงินผ่อนทั้งหมด ท่านก็มีมุมมองเพิ่มเติมว่า นอกจากจะเลือกซื้อในราคาต่ำสุดแล้ว ก็อนุญาตให้ผู้ซื้อผ่อนชำระในเวลาที่นานที่สุดจาก 2 เวลาที่ถูกกำหนดให้ผ่อนนั้นได้อีกต่างหาก ...
(2). ท่านอิหม่าม อิบนุ กุตัยบะฮ์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 276) ได้กล่าวในหนังสือ “เฆาะรีบุล หะดีษ” เล่มที่ 1 หน้า 18 ว่า ....
وَمِنَ الْبُيُوْعِ الْمَنْهِىِّ عَنْهَا ...... شَرْطَانِ فِىْ بَيْعٍ، وَهُوَ أَنْ يَشْتَرِىَ الرَّجُلُ السِّلْعَةَ إِلَى شَهْرَيْنِ بِدِيْنَارَيْنِ، وَإِلَى ثَلاَثَةِ أَشْهُرٍ بِثَلاَثَةِ دَنَانِيْرَ، وَهُوَ بِمَعْنَى بَيْعَتَيْنِ قِىْ بَيْعَةٍ ...
“และรูปแบบหนึ่งจากการซื้อขายที่ต้องห้ามก็คือ .. การกำหนดเงื่อนไข 2 อย่างในการขายครั้งหนึ่งๆ .. นั่นคือ การที่บุคคลหนึ่ง ซื้อสินค้าอย่างหนึ่ง (โดยกำหนดจ่าย) เป็นเวลา 2 เดือนด้วยราคา 2 ดีนารฺ, และ(กำหนดจ่าย) เป็นเวลา 3 เดือน ด้วยราคา 3 ดีนารฺ, .. ลักษณะอย่างนี้ จัดอยู่ในความหมายของ .. “การขายสองครั้งในการขายครั้งเดียว” .. (อันเป็นเรื่องต้องห้ามตามนัยของหะดีษ) ....
จะเห็นได้ว่า คำพูดของท่านอิหม่ามอิบนุ กุตัยบะฮ์ดังกล่าว กับคำพูดของท่านฏอวูสข้างต้น ตรงกัน, และมีความหมายชัดเจนว่า การซื้อขายในลักษณะการเสนอราคาเงินผ่อน ... ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ... ให้ลูกค้าเลือกเอาตามความสมัครใจในการเสนอขายแต่ละครั้ง ถือเป็นเรื่องต้องห้าม, ซึ่งก็ไม่แตกต่างกับการเสนอราคาเงินสดและเงินผ่อนให้ลูกค้าเลือกในการเสนอขายแต่ละครั้ง ก็เป็นเรื่องต้องห้าม ... ดังที่ได้อธิบายผ่านมาแล้วนั่นเอง ...
และนี่ คือบทสรุปคำตอบของผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ....
ก็ขอย้ำอีกครั้งว่า ถือเป็นความดำริชอบและเป็นสิทธิส่วนบุคคลของผู้อ่านแต่ละท่านที่จะ ”เลือกปฏิบัติ” และ “ใช้ความรอบคอบ” เพื่อความปลอดภัยในธุรกิจการค้าของท่าน โดยไม่มีใครสามารถบังคับท่านได้, ....
หากมั่นใจว่า ระบบการค้าขาย ด้วยการเสนอราคาที่แตกต่างกันให้ผู้ซื้อเลือกเอาในการซื้อขายแต่ละครั้ง --- ไม่ว่าจะด้วยราคาเงินสดกับเงินผ่อน, หรือเงินผ่อนระยะสั้นกับระยะยาวดังที่เคยกระทำอยู่ --- เป็นเรื่องถูกต้อง ท่านก็มีสิทธิที่จะทำการซื้อขายในลักษณะนั้นต่อไปได้ ...
แต่ขณะเดียวกัน ท่านก็ต้อง “พร้อม” --- โดยไม่มีสิทธิแก้ตัวใดๆทั้งสิ้นว่า ไม่เคยรับทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อน --- ที่จะรับผิดชอบในการกระทำของท่านต่อพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ถ้าหากว่า ธุรกิจที่ท่านกระทำไปในลักษณะนั้น เป็นเรื่อง “ต้องห้าม” ตามข้อมูลอันชัดเจนของหะดีษ ดังที่ผมได้นำเสนอไปแล้ว .....
เท่าที่ผมพิจารณาข้อมูลจากคำอธิบายของนักวิชาการ เกี่ยวกับความหมายของหะดีษที่ว่า .. “ผู้ใด ขายสองครั้ง (สองราคา) ในการขายครั้งเดียว .....” อันเป็นเรื่องต้องห้าม --- ไม่ว่าจะอธิบายความหมายของคำว่า “ขายสองครั้ง” ในลักษณะใดก็ตาม, ดังที่ผมได้ชี้แจงรายละเอียดไปแล้วในหนังสือนั้น --- ปรากฏว่า ลักษณะของเงื่อนไขการขายเงินผ่อนดังที่ถามมานั้น ก็จัดอยู่ในหลักเกณฑ์ของ .. การขายสองครั้งหรือ 2 ราคา ในการขายครั้งเดียว .. ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามเช่นเดียวกัน ....
ข้อมูลดังกล่าว มีดังต่อไปนี้ .....
(1). ท่านฏอวูส (เป็นตาบิอีน, สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 106) ได้กล่าวว่า ...
إِذَاقَالَ : هُوَ بِكَذَاوَكَذَا إِلَى كَذَاوَكَذَا، وَبِكَذَاوَكَذَا إِلَى كَذَاوَكَذَا، فَوَقَعَ الْمَبِيْعُ عَلَى هَذَا فَهُوَ بِأَقَلِّ الثَّمَنَيْنِ إِلَى أَبْعَدِ اْلأَجَلَيْنِ ....
เมื่อผู้ขายพูดว่า .. “สินค้านี้ หาก(ท่านซื้อ)ด้วยราคานี้ (สมมุติว่า 20 บาท) ก็จะยืดเวลาได้ถึงเวลานั้นๆ (เช่น 1 เดือน) .. แต่ถ้าหากเป็นราคานี้ (สมมุติว่า 40 บาท) ก็จะยืดเวลาได้ถึงเวลานั้นๆ (เช่น 2 เดือน) แล้วมีการตกลงซื้อขายกันตามเงื่อนไขนี้ ก็อนุญาตให้(ผู้ซื้อ) ซื้อสินค้านั้นได้ด้วยราคาต่ำสุดจากสองราคานั้น (คือ 20 บาท) .. โดยให้ยืดเวลาจ่ายเงินได้ตามเวลาที่นานที่สุด (คือ 2 เดือน) ....
(บันทึกโดย ท่านอับดุรฺ ร็อซซาก ในหนังสือ อัล-มุศ็อนนัฟ” หะดีษที่ 14631)
จะเห็นได้ว่า คำพูดของท่านฏอวูสดังกล่าว ตรงกับคำถามข้างต้นทุกประการ ... คือ ผู้ขาย เสนอขายด้วยราคาเงินผ่อนเป็น 2 ระยะ, .. คือผ่อนระยะสั้น ซึ่งราคาสินค้าจะย่อมเยาลง, และ ผ่อนระยะยาว ซึ่งราคาสินค้าก็จะเพิ่มขึ้นตามอัตราส่วนที่ผู้ขายกำหนดไว้ ซึ่งมุมมองของท่านฏอวูส ก็สอดคล้องกับตัวบทของหะดีษที่ว่า อนุญาตให้ผู้ซื้อ เลือกซื้อในราคาต่ำสุดดังที่ได้อธิบายมาแล้วในตัวอย่างของราคาเงินสดและเงินผ่อน,
แต่ในกรณีนี้ที่ทั้งสองราคาเป็นเงินผ่อนทั้งหมด ท่านก็มีมุมมองเพิ่มเติมว่า นอกจากจะเลือกซื้อในราคาต่ำสุดแล้ว ก็อนุญาตให้ผู้ซื้อผ่อนชำระในเวลาที่นานที่สุดจาก 2 เวลาที่ถูกกำหนดให้ผ่อนนั้นได้อีกต่างหาก ...
(2). ท่านอิหม่าม อิบนุ กุตัยบะฮ์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 276) ได้กล่าวในหนังสือ “เฆาะรีบุล หะดีษ” เล่มที่ 1 หน้า 18 ว่า ....
وَمِنَ الْبُيُوْعِ الْمَنْهِىِّ عَنْهَا ...... شَرْطَانِ فِىْ بَيْعٍ، وَهُوَ أَنْ يَشْتَرِىَ الرَّجُلُ السِّلْعَةَ إِلَى شَهْرَيْنِ بِدِيْنَارَيْنِ، وَإِلَى ثَلاَثَةِ أَشْهُرٍ بِثَلاَثَةِ دَنَانِيْرَ، وَهُوَ بِمَعْنَى بَيْعَتَيْنِ قِىْ بَيْعَةٍ ...
“และรูปแบบหนึ่งจากการซื้อขายที่ต้องห้ามก็คือ .. การกำหนดเงื่อนไข 2 อย่างในการขายครั้งหนึ่งๆ .. นั่นคือ การที่บุคคลหนึ่ง ซื้อสินค้าอย่างหนึ่ง (โดยกำหนดจ่าย) เป็นเวลา 2 เดือนด้วยราคา 2 ดีนารฺ, และ(กำหนดจ่าย) เป็นเวลา 3 เดือน ด้วยราคา 3 ดีนารฺ, .. ลักษณะอย่างนี้ จัดอยู่ในความหมายของ .. “การขายสองครั้งในการขายครั้งเดียว” .. (อันเป็นเรื่องต้องห้ามตามนัยของหะดีษ) ....
จะเห็นได้ว่า คำพูดของท่านอิหม่ามอิบนุ กุตัยบะฮ์ดังกล่าว กับคำพูดของท่านฏอวูสข้างต้น ตรงกัน, และมีความหมายชัดเจนว่า การซื้อขายในลักษณะการเสนอราคาเงินผ่อน ... ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ... ให้ลูกค้าเลือกเอาตามความสมัครใจในการเสนอขายแต่ละครั้ง ถือเป็นเรื่องต้องห้าม, ซึ่งก็ไม่แตกต่างกับการเสนอราคาเงินสดและเงินผ่อนให้ลูกค้าเลือกในการเสนอขายแต่ละครั้ง ก็เป็นเรื่องต้องห้าม ... ดังที่ได้อธิบายผ่านมาแล้วนั่นเอง ...
และนี่ คือบทสรุปคำตอบของผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ....
ก็ขอย้ำอีกครั้งว่า ถือเป็นความดำริชอบและเป็นสิทธิส่วนบุคคลของผู้อ่านแต่ละท่านที่จะ ”เลือกปฏิบัติ” และ “ใช้ความรอบคอบ” เพื่อความปลอดภัยในธุรกิจการค้าของท่าน โดยไม่มีใครสามารถบังคับท่านได้, ....
หากมั่นใจว่า ระบบการค้าขาย ด้วยการเสนอราคาที่แตกต่างกันให้ผู้ซื้อเลือกเอาในการซื้อขายแต่ละครั้ง --- ไม่ว่าจะด้วยราคาเงินสดกับเงินผ่อน, หรือเงินผ่อนระยะสั้นกับระยะยาวดังที่เคยกระทำอยู่ --- เป็นเรื่องถูกต้อง ท่านก็มีสิทธิที่จะทำการซื้อขายในลักษณะนั้นต่อไปได้ ...
แต่ขณะเดียวกัน ท่านก็ต้อง “พร้อม” --- โดยไม่มีสิทธิแก้ตัวใดๆทั้งสิ้นว่า ไม่เคยรับทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อน --- ที่จะรับผิดชอบในการกระทำของท่านต่อพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ถ้าหากว่า ธุรกิจที่ท่านกระทำไปในลักษณะนั้น เป็นเรื่อง “ต้องห้าม” ตามข้อมูลอันชัดเจนของหะดีษ ดังที่ผมได้นำเสนอไปแล้ว .....
วัลลอฮุ อะอฺลัม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น