โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย
....
ความจริงผมไม่อยากจะเขียน ไม่อยากจะวิเคราะห์อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะมันไม่ใช่ปัญหาขัดแย้งของศาสนาโดยรวม แต่เป็นความขัดแย้ง - ส่วนตัว - ของนักวิชาการบางกลุ่มในประเทศไทยโดยเฉพาะ แล้วมีการขยายความกันต่อๆไปจนทำท่าจะลุกลามบานปลาย .. (ทุกคนพูดและมองสาเหตุกันอย่างนี้ หากเข้าใจผิดก็ขออภัย) ...
แต่เมื่อมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมากขอร้องมา ผมจึงจำเป็นต้องเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ตามมุมมองของผม ซึ่งมันอาจจะผิดก็ได้ ...
ผมเขียนเรื่องนี้ คิดว่าคงไม่ยืดยาวจนเกินไป และคงไม่มีการอ้างอิงหลักฐานอะไรมากมายนัก เพราะเรื่องการกินเลี้ยงแบบโต๊ะจีน เป็นเรื่องทางสังคมยุคใหม่ที่ไม่มีหลักฐานศาสนามาอ้างอิงในทัศนะของผม ...
ก่อนอื่น ขอเล่าประวัติสังเขปของโต๊ะจีนสักนิดก่อนครับ ...
คำว่า “โต๊ะจีน” ก็บ่งบอกแล้วว่า เป็นการกินอาหารแบบจีน คือนั่งกินพร้อมกันบนโต๊ะ มิใช่นั่งพับเพียบกินบนพื้นแบบไทยๆในอดีต ...
ผมเคยดูภาพยนตร์จีนเรื่องสามก๊กตอนที่มีการกินเลี้ยงกัน ก็เห็นว่า เจ้าภาพจะเชิญให้แขก (ไม่ว่าจะมีสักกี่คน) นั่งบนม้านั่งเตี้ยๆคนละตัว มีโต๊ะสำหรับวางสุราอาหารคนละตัวเช่นเดียวกัน อยู่ด้านหน้าแขกทุกคนซึ่งนั่งเรียงแถวเป็นสองแถว หันหน้าเข้าหากัน
แต่ปัจจุบัน โต๊ะจีนได้พัฒนามาเป็นการนั่งบนเก้าอี้หรือม้านั่งสูงๆที่ถูกวางรอบโต๊ะอาหาร และโต๊ะอาหารก็ไม่ใช่วางไว้ข้างหน้าแบบของใครของมันเหมือนเมื่อก่อน แต่เป็นโต๊ะกลมแทน ...
ที่ใช้เป็นโต๊ะกลม นัยว่า เพื่อให้ลูกหลานรักใคร่กลมเกลียวกัน ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมต่อกันเหมือนเหลี่ยมโต๊ะ, จุคนนั่งได้มากกว่าโต๊ะทรงสี่เหลี่ยม, ผู้ร่วมโต๊ะสามารถพูดคุยเห็นหน้ากันได้ทุกคนอย่างใกล้ชิด และเพื่อไม่เป็นการแบ่งชั้นวรรณะเหมือนฝรั่งที่นิยมโต๊ะเป็นสี่เหลี่ยม แล้วให้ประธานนั่งที่หัวโต๊ะ ...
ในประเทศไทย โต๊ะจีนเข้ามามีบทบาทตั้งแต่เมื่อไรไม่มีหลักฐานชี้ชัด แต่เท่าที่ทราบ ปัจจุบันนี้โต๊ะจีนบูมมากที่จังหวัดนครปฐม มีการรับจ้างจัดโต๊ะจีนกันเป็นล่ำเป็นสัน เช่นเฮียปิงโต๊ะจีน, อนันต์โต๊ะจีน, พรชัยโภชนาโต๊ะจีน, ฮองมินโต๊ะจีน เป็นต้น
ว่ากันถึงเรื่องอาหาร ก็แล้วแต่จะตกลงกันระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างจัดโต๊ะจีนว่า จะเอาอาหารอะไรบ้าง, โต๊ะละกี่อย่าง แต่ส่วนมากจะอยู่ระหว่าง 8 -12 อย่าง ...
ผู้ที่ว่าจ้างโต๊ะจีนส่วนใหญ่ - หรือทั้งหมด - มักนำไปใช้ในงานเลี้ยงต่างๆ เช่นงานเลี้ยงแต่งงาน, งานเลี้ยงขึ้นบ้านใหม่, งานเลี้ยงฉลองตำแหน่งใหม่ เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวก และรสชาติอาหารก็มักจะดีกว่าจะมาจัดปรุงกันเอง ...
ส่วนคนที่ไปในงานเลี้ยงโต๊ะจีน เมื่อกินเลี้ยงเสร็จแล้วก็จะบริจาคเงินให้เจ้าภาพตามความสมัครใจ (และความเกรงใจ) .. อาจจะคนละพัน, หลายพันหรือเป็นหมื่นก็มี แล้วแต่ความใหญ่โตของเจ้าภาพและของงานเลี้ยงนั้นๆ ...
ทุกคนตั้งใจว่า มากินเลี้ยงตามที่ถูกเชิญเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าภาพ และการบริจาคเงินก็เพื่อเป็นการช่วยเหลือเจ้าภาพ ...
ไม่มีใครเนียตว่า มาซื้ออาหารกินหรอก เพราะมันแพงเกินจริง ...
ที่นี้ เข้าเรื่องปัญหาโต๊ะจีนของเราบ้าง ...
นักวิชาการบางท่านฟันธงว่า การเลี้ยงโต๊ะจีนที่อาจารย์ฟารีดจัดขึ้นนี้ เป็นไปในลักษณะการซื้อขายอาหารที่ไม่ถูกต้อง จึงหุก่มว่า เป็นการซื้อขายที่ขัดต่อหลักศาสนา แล้วก็พยายามหาหลักฐานต่างๆมาสนับสนุนแนวคิดตัวเองอย่างที่เห็นๆกัน ซึ่งผมจะไม่ขออธิบายซ้ำ ...
แต่ผมมีความเห็นต่างกับทัศนะนี้ โดยผมยึดถือหลักตามหะดีษที่ว่า ..
إِنَّمَا اْلأَعْمَالُ بِالنِّيَاتِ
“งานทุกอย่างมิใช่อื่นใด แต่ขึ้นอยู่กับเจตนา” ...
เพราะฉะนั้น การเลี้ยงโต๊ะจีนของอาจารย์ฟารีด ผมเชื่อว่า ท่านมีเจตนาเลี้ยงเพื่อขอรับบริจาคเงินไปใช้ในมูลนิธิฯของท่านตามที่มีการระบุเอาไว้ในแผ่นโปสเตอร์แล้ว ...
เพียงแต่การขอรับบริจาคของท่าน เป็นไปตามยุคไฮเท็ค .. คือ มีการระบุจำนวนเงินบริจาคไว้อย่างชัดเจน ซึ่งผมก็ไม่เคยเจอหลักฐานห้ามในเรื่องนี้ ...
ส่วนการเลี้ยงอาหาร – ไม่ว่าจะเป็นแบบโต๊ะจีนหรือแบบธรรมดา – ผมมองว่า ก็ไม่ใช่เป็นการขายอาหาร แต่เป็นการเลี้ยงเพื่อสมนาคุณหรือตอบแทนผู้บริจาค เหมือนการเลี้ยงอาหารในงานมัสยิดแถวภาคใต้เช่นเดียวกัน ..
.
งานมัสยิดแทบทุกแห่งในภาคใต้ จะระบุไว้อย่างชัดเจนในแผ่นโปสเตอร์ว่า งานนี้มี “การเลี้ยงอาหาร” ตลอดงาน ...
คือ มัสยิดต้องการขอรับบริจาคเงินไปใช้ในกิจการของมัสยิด และมีการเลี้ยงอาหารตอบแทนผู้มาร่วมงาน ..
.
ผู้มาร่วมงานและบริจาคเงินแล้วเข้าไปทานอาหารในโรงเลี้ยง ก็ไม่มีใครถือว่า ตนเองเข้าไปซื้ออาหารกิน ...
แต่ถือว่า มาบริจาคเงินและกินเลี้ยงในงานมัสยิดตามคำเชิญเท่านั้นเอง ...
นี่คือ เจตนาของทั้งสองฝ่ายครับ ...
เช่นเดียวกันกับผู้มากินเลี้ยงโต๊ะจีนที่ท่านอาจารย์ฟารีดจัดขึ้น ...
ผมเชื่อว่าท่านอาจารย์ฟารีดไม่มีเจตนาเปิดร้านขายอาหาร และเชื่อว่า ไม่มีแขกรับเชิญท่านใดมีเจตนาว่า มาซื้ออาหารของอาจารย์ฟารีดกิน ...
แต่คงมีเจตนาว่า มาร่วมกินเลี้ยงและบริจาคเงินช่วยเหลือตามที่อาจารย์ฯ ขอมามากกว่า ...
ส่วนการใช้คำศัพท์ให้ฟังดูหวือหวาว่า ค่าอาหารโต๊ะละ 3000 บาท นั้น ...
ผมขอย้ำคำเดิมว่า งานทุกอย่าง ย่อมขึ้นอยู่กับเจตนา ! ....
คือ ให้ดูที่ “เจตนา” เป็นเกณฑ์ มิใช่ดูที่ “การใช้คำ” เป็นเกณฑ์ ...
ตัวอย่างเช่น เคยมีนักวิชาการมุสลิมท่านหนึ่งในประเทศไทยและเสียชีวิตไปแล้ว (ขออัลลอฮ์เมตตาต่อท่านด้วย) ได้เขียนหนังสืออรรถาธิบายอัล-กุรฺอานเป็นภาษาไทย ...
เมื่อท่านจะ “ขาย” หนังสือที่ท่านเขียน ท่านมิได้บอกว่า จะขายราคาชุดละเท่านั้นเท่านี้บาท ...
แต่ท่านบอกว่า “ฮะดียะฮ์” ชุดละเท่านั้นเท่านี้บาท ...
ตกลงจะให้เราเข้าใจว่า หนังสือนั้น ท่านจะขาย (ตามเจตนา) .. หรือท่านจะฮะดียะฮ์ (แจกฟรี .. ตามโฆษณา) กันแน่ ?? ...
หรือตัวอย่างเช่น เกจิอาจารย์บางท่านของศาสนาพุทธ เมื่อศิษยานุศิษย์ของท่านจะ “ขาย” รูปหล่อหลวงพ่อดังที่ท่านปลุกเศกขึ้นมา พวกเขาก็ไม่ได้บอกว่า จะขายองค์ละเท่านั้นเท่านี้ ...
แต่จะโฆษณาว่า “ให้เช่า” ไปบูชา องค์ละเท่านั้นเท่านี้ ...
แล้วตกลง ศิษยานุศิษย์ของเกจิอาจารย์ท่านจะขายองค์พระที่ปลุกเศกนั้น(ตามเจตนา) หรือจะให้เช่า (ตามคำโฆษณา) กันแน่ ??? ...
สรุปแล้ว ในมุมมองของผม จึงเห็นว่า อาจารย์ฟารีดไม่ได้ทำผิดหลักการศาสนาหรอกครับในเรื่องนี้ เพียงแต่ท่านใช้วิธีการและคำศัพท์ในการขอรับบริจาคให้มันทันสมัยกับยุคไฮเท็ค ซึ่งทำให้ฟังดูแล้ว แปลกๆไปบ้างเท่านั้น ...
ขอย้ำอีกครั้งว่า มุมมองนี้ของผมอาจจะผิดก็ได้ เพราะเป็นมุมมองที่ง่ายๆ ใม่มีอะไรซับซ้อน และผมเป็นคนมองคนในแง่ดี, ไม่ชอบทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ด้วย..
พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่จะทรงทราบดีในเรื่องนี้ ...
แต่สิ่งสุดท้ายที่ผมอยากจะขอร้องต่อทุกท่านที่ยังพยายามปลุกกระแสเรื่องนี้ขึ้นมาอีกก็คือ ...
หยุดเถอะครับ ! ....
พวกเราปวดร้าวกันมามากพอแล้วกับการทะเลาะวิวาท (อย่ามาอ้างว่าเป็นความขัดแย้ง) ของนักวิชาการที่ล้วนเป็น “คนกันเอง” ทั้งนั้น ...
ไม่อายพี่น้องมุสลิมตาดำๆที่อิดหนาระอาใจ แต่พูดไม่ออกบอกไม่ถูก และไม่รู้จะไประบายกับใคร, ...
หรือไม่อายต่อชีอะฮ์ที่พวกท่านเคย "ร่วม" กันต่อต้านพวกเขา, ไม่อายต่อพวกที่ท่านเรียกพวกเขาว่า “คณะเก่า” ที่นั่งตีขิมหัวเราะเยาะ ....
ก็อายต่อคนต่างศาสนาที่เขาฟัง, พูด, อ่าน, เขียนภาษาที่พวกท่านใช้สาดโคลนแสบๆเข้าหากันได้เหมือนกับพวกท่านบ้างเป็นไร ...
มีแต่เสียกับเสียครับ ไม่มีอะไรได้เลย ......
ปราโมทย์ ศรีอุทัย
25 ก.พ. 58
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น