โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย
นึกแล้วเชียว ..
ว่าออกความเห็นเรื่องโต๊ะจีนขึ้นมา มีหวังกระเทือนแน่ ..
.
สาบาน ผมมิได้เขียนเรื่องนี้เพื่อเอาใจใครหรือเพื่อหักล้างใคร แต่เขียนไปตามเนื้อผ้า, ตามมุมมองของผมด้วยความบริสุทธิ์ใจ และผมก็บอกไปแล้วว่า มุมมองของผมอาจผิดพลาดก็ได้ ...
จะอย่างไรก็ตาม ผมขอบคุณทุกท่าน – ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย - ที่ได้คอมเมนท์มาด้วยความบริสุทธิ์ใจ เหมือนสิ่งที่ผมเขียนไปด้วยความบริสุทธิ์ใจเช่นกัน ..
ถ้าท่านสังเกตสักนิด จะเห็นได้ว่า ผมมิได้ตำหนิ, ท้วงติง, หรือวิจารณ์แม้แต่อักษรเดียวต่อ “หลักฐาน” ที่ อ.อิสหากได้เขียนอธิบายไปยืดยาวเกี่ยวกับเรื่องการซื้อขาย ...
เพราะหลักฐานเหล่านั้น ถูกต้อง .. และผมก็เห็นด้วยกับ อ.อิสหากทุกประการถ้าเหตุการณ์เรื่องโต๊ะจีน - ทั้งหมด - เป็นไปตรงตามที่ท่านเขียนมา ...
แต่ที่ผมเห็นต่างก็คือ บทสรุปของเรื่องนี้ตอนท้าย อันเป็น “มุมมองส่วนตัว” ของแต่ละคน มิได้เกี่ยวข้องกับหลักฐานหรือข้อเท็จจริงของหลักฐานที่ท่านนำเสนอ ..
เพราะในช่วงสุดท้าย .. ผมจะมองที่เจตนาเป็นหลัก ดังที่ได้อธิบายไปแล้ว จึงไม่ต้องอธิบายซ้ำอีก ...
แต่มีผู้หวังดีท้วงติงมาว่า .. ถ้าเป็นเรื่องที่ผิด ต่อให้เจตนาดีอย่างไร ก็ไม่ทำให้เรื่องที่ผิดนั้น กลายเป็นถูกต้องขึ้นมาได้ ...
ใช่ครับ คำพูดนี้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นความถูกต้องเพียงระดับหนึ่งเท่านั้นมิใช่ทั้งหมด .. จากหลากหลายมิติของคำว่า “เนียต” หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า เจตนา ...
ขออธิบายดังนี้ครับ ...
เรื่องของการเนียตหรือเจตนา มิได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องดี-ไม่ดี, ผิด-ถูก เท่านั้น แต่มันมีหลายๆกรณีดังนี้ ...
ในเรื่องอิบาดะฮ์ทั่วๆไป เช่นการละหมาด, การถือศีลอด, การทำหัจญ์ เป็นต้น การเนียตไม่เกี่ยวกับดีหรือไม่ดี แต่เป็นตัวบ่งชี้ถึงการใช้ได้ (เศ๊าะห์) หรือใช้ไม่ได้ (ไม่เศ๊าะห์) ของอิบาดะฮ์เหล่านี้ ...
ในเรื่องอิบาดะฮ์บางอย่าง การเนียตเป็นตัวบ่งชี้ถึงความอิคลาศหรือไม่อิคลาศ เช่นการเศาะดะเกาะฮ์ ถ้าเราเนียตว่าทำเพื่ออัลลอฮ์แสดงว่าเราอิคลาศ แต่ถ้าเราเนียตว่าทำเพื่อเอาหน้าให้คนยกย่องชมเชย อย่างนี้จะเป็นชิริก (เล็ก) ทันที ...
ในเรื่องการหย่าร้าง การเนียตก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องดีหรือเลว แต่เป็นตัวบ่งชี้ว่า ถ้อยคำหย่าร้างบางลักษณะต้องอาศัยการเนียตเป็นตัวตัดสิน เช่นสามีกล่าวขณะทะเลาะกับภรรยาว่า “เธอกลับไปหาแม่เธอเลย” .. อย่างนี้ ถ้าสามีเนียต (ขณะพูด) ว่าต้องการหย่าภรรยา ก็จะมีผลเป็นการหย่า แต่ไม่ไม่เนียตอย่างนั้นก็ไม่ใช่การหย่า ...
ในเรื่องอาดีย์หรือการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่าง เช่นการรับประทานอาหาร ถ้าเนียตว่า รับประทานเพื่อให้ร่างกายมีแรงทำอิบาดะฮ์ เนียตอย่างนี้จะได้บุญ แต่ถ้าเนียตว่า รับประทานเพื่อให้ร่างกายมีแรงไว้ทำชั่ว เนียตอย่างนี้จะได้บาป ...
ส่วนในกรณีคำกล่าวข้างต้นที่ว่า .. ถ้าเป็นเรื่องที่ผิด ต่อให้เจตนาดีอย่างไร ก็ไม่ทำให้เรื่องที่ผิด กลายเป็นถูกต้องขึ้นมาได้ .. นั้น ..
คำกล่าวนี้ มิได้หมายถึงสิ่งที่ผิดตามความเข้าใจหรือความเชื่อของเรา ...
แต่หมายถึงสิ่งนั้นเป็นสิ่งผิดที่ “มีหลักฐานยืนยันชัดเจนแล้วว่าผิด” ครับ ..
ตัวอย่างเช่น .. ชายผู้หนึ่ง ดื่มเหล้า โดยเนียตว่า ดื่มน้ำชา ...
การเนียตอย่างนี้ ไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งผิดหรือหะรอม .. คือเหล้า ให้กลายเป็นสิ่งถูกหรือหะล้าล .. คือน้ำชา ขึ้นมาได้หรอกครับ ...
หรืออย่างชายผู้หนึ่งหลับนอนกับโสเภณี โดยเนียตว่าหลับนอนกับภรรยา ...
เนียตอย่างนี้ ก็ใช้ไม่ได้เช่นเดียวกันครับ ...
สำหรับเรื่องโต๊ะจีนที่กำลังเป็นปัญหาอยู่นี้ เราต้องเข้าใจเสียก่อนว่า มันมีอยู่ 2 ขั้นตอนด้วยกัน ...
ขั้นตอนที่หนึ่ง ผู้ซื้อ ได้ไปตกลงกับผู้ขายโต๊ะจีนว่า ต้องการอาหารกี่โต๊ะ, อาหารมีอะไรบ้าง, ราคาเท่าไร และกำหนดส่งให้วันไหน เป็นต้น แล้วมีการจ่ายเงิน ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วนตามแต่จะตกลงกัน) ....
ขั้นตอนนี้ ถูกต้องตามเงื่อนไขการซื้อขายแบบสลัมหรือสลัฟแล้วครับ ...
ขั้นตอนที่สอง จุดนี้แหละครับคือจุดสำคัญที่ผมอยากจะบอกว่า มันยัง “ไม่ชัดเจน” เลยว่า ต่อไปจะผิดหรือถูก ?? ซึ่งเราจะไปฟันธงว่าผิดเลย ย่อมไม่ได้ ...
เพราะถ้าเมื่อถึงวันกำหนด แล้วเขาเอาอาหารโต๊ะจีนนั้นไปเลี้ยงมิตรสหายของเขา ...
อย่างนี้ ใครกล้าพูดว่าเขาทำผิดครับ ...
เพราะฉะนั้น ข้อตัดสินผิดถูก มันจึงขึ้นอยู่กับ “เจตนา” ของผู้ซื้อโต๊ะจีนครับว่า เขาจะทำอย่างไรต่อไป ...
ถ้าเขาเจตนาว่า จะเอาโต๊ะจีนที่สั่งไว้นั้นมาขายต่อให้ผู้อื่น แล้วก็ปฏิบัติไปตามนั้น โดยที่ขณะนั้นเขาก็ยังไม่ได้รับอาหารโต๊ะจีนที่สั่งไว้ การขายโต๊ะจีนต่อในลักษณะนี้ถือว่า ..ไม่ถูกต้อง ! ตรงตามที่ท่าน อ.อิสหากเขียนไว้ทุกประการ ...
แต่ถ้าเขาเจตนาว่า จะเอาโต๊ะจีนที่สั่งไว้นั้นมาเลี้ยงลูกน้องในบริษัท, หรือเลี้ยงสังสรรค์เพื่อนฝูง, หรือเลี้ยงสมนาคุณผู้บริจาคเงินช่วยเหลือมูลนิธิของเขาตามที่เขาจะขอรับบริจาคไป ...
เนียตอย่างนี้แหละครับที่ผมมองว่าไม่ผิด และยากที่จะเอาผิด ! ...
เราจะไปรู้ดีกว่าตัวผู้กระทำ .. ถึงขนาดไปฟันธงว่า คุณเอามาขาย .. ในเมื่อเจ้าตัวเขายืนยันชัดๆแล้วว่า ผมเอามาเลี้ยง ไม่ได้เอามาขาย .. ได้อย่างไร ??? ...
ส่วนประเด็นการกำหนดยอดเงินขอรับบริจาคก็ดี, การใช้ศัพท์หวือหวาจนฟังดูเหมือนจะเป็นการขายก็ดี ผมก็ได้อธิบายและยกตัวอย่างไปแล้วว่า มันไม่สามารถไปหักล้างเจตนาได้ ...
สรุปแล้ว ผมยังยืนยันทัศนะของตัวเองว่า ผู้ไปตกลงซื้อโต๊ะจีนมา แล้ว “เจตนาจะเอามาเลี้ยงผู้อื่น” ด้วยรูปแบบใดๆดังตัวอย่างข้างต้น ไม่ถือว่าเป็นความผิดครับ ...
แต่ถ้าเขา “เจตนาเอามาขายต่อ” ทั้งๆที่ตนเองยังไม่ได้อาหารที่ซื้อมา ก็ถือว่า ใช้ไม่ได้ครับ ...
และก็ขอบอกย้ำอีกครั้งว่า ผมไม่ขอยืนยันว่าทัศนะของผมดังกล่าวจะถูกต้องแน่นอน ...
เพราะบางที มันอาจจะผิดก็ได้ ...
ก็อยากจะขอแนะนำ (ไม่กล้าใช้คำว่า ตักเตือน เพราะผมความรู้น้อยและต่ำต้อยเกินไปเที่จะใช้คำนี้) ต่อนักวิชาการรุ่นน้องๆทุกท่านว่า ...
เรื่องความขัดแย้งในวิชาฟิกฮ์ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ...
เมื่อมีความเห็นต่างเกิดขึ้นในเรื่องใด แต่ละฝ่ายก็มีสิทธิ์ถูกได้ - ผิดได้ พอๆกัน ...
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่บางครั้ง นักวิชาการระดับกระจอกๆอย่างเรา ไปมีมุมมองในบางปัญหาศาสนา ขัดแย้งหรือแตกต่างกับนักวิชาการระดับโลก (ซึ่งขอสารภาพว่า ผมเองก็มีบ่อย) ...
ก็ขอแนะนำครับว่า แม้เราจะ "มั่นใจ" ในหลักฐานของเราเพียงไร ก็อย่าไปมั่นใจถึงขนาดฟันธงว่า มุมมองของเราถูกต้อง, แน่นอน ...
ออกตัวไว้บ้าง .. ว่า บางที่มุมมองเราอาจจะผิดก็ได้ ..น่าจะดีกว่าครับ ..
.
รับรองว่า ไม่มีใครตำหนิหรอกครับ มีแต่คนจะชมเชยคุณว่า เป็นคนน่ารัก อ่อนน้อมถ่อมตนดี ด้วยซ้ำไป ...
การออกตัว ไม่ได้ลดคุณค่าสิ่งที่เราเขียนหรอกครับ หากมันมีน้ำหนักหรือถูกต้องจริง ...
ผู้อ่านหรือผู้ฟัง - ส่วนใหญ่ – เป็นคนฉลาดและคิดเป็น คงจะแยกแยะออกครับว่า อะไรถูก อะไรผิด ...
และนี่คือคำชี้แจงครั้งสุดท้ายของผมเกี่ยวกับเรื่องโต๊ะจีน อินชาอัลลอฮ์ ...
ส่วนใครจะมีปัญหาข้องใจต่อไปอีกอย่างไร ก็ให้ไปถาม อ.ฟารีดเอาเอง ไม่ใช่มาถามผม ...
والله أعلم بالصواب، وإليه المرجع والمآب وصلى الله على محمد وعلى آله وصحبه
อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย
27/2/58
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น