อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2559

ซุนนะฮ์ตัรฺกียะฮ์ มีหลักฐานหรือไม่ในบทบัญญัติ (ตอนจบ)


โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

กรอบของซุนนะฮ์ ตัรฺกียะฮ์ในอิสลาม
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ซุนนะฮ์ ตัรฺกียะฮ์ มิได้หมายถึงการละทิ้งทุกสิ่งที่ท่านนบีย์ไม่ทำ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเคยมีสาเหตุเกิดขึ้นแก่ท่านนบีย์หรือไม่ก็ตาม ...
แต่จะหมายถึงสิ่งที่ท่านเจตนาละทิ้งหรือไม่ทำ ทั้งๆที่มีสาเหตุเกิดขึ้นแก่ท่านแล้ว ...
เพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว สิ่งที่ไม่เคยมีสาเหตุหรือไม่เคยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับท่าน ท่านจะไปละทิ้งมันได้อย่างไร ? ...
ดังนั้น นักวิชาการอุศู้ลุลฟิกฮ์ จึงได้วิเคราะห์ และกำหนดกรอบของสิ่งที่จะเรียกว่าเป็น "ซุนนะฮ์ ตัรฺกียะฮ์" เอาไว้อย่างรัดกุม ภายใต้เงื่อนไข 3 ประการ ดังนี้ ...
ซุนนะฮ์ ตัรฺกียะฮ์ หมายถึงสิ่งใดก็ตามที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม "เจตนาไม่กระทำ" .. ทั้งๆที่ ...
(1). มีสาเหตุหรือเหตุการณ์นั้นๆเกิดขึ้นแล้วแก่ตัวท่าน หรือในสมัยของท่าน ...
(จากตัวอย่างข้างต้น สาเหตุหรือเหตุการณ์ของการขอดุอาในกรณีนี้ก็คือ การขว้างญัมเราะฮ์ในพิธีกรรมหัจญ์) ...
(2). สิ่งนั้น เป็นสิ่งดีที่ควรกระทำ ...
(จากตัวอย่างข้างต้น คงไม่มีใครปฏิเสธว่า การขอดุอาเป็นสิ่งดีที่ควรกระทำ) ...
(3). ไม่มีอุปสรรคใดๆขัดขวางท่านจากการกระทำสิ่งนั้น ...
(จากตัวอย่างข้างต้น ไม่มีอุปสรรคใดเลยที่จะขัดขวางท่านนบีย์จากการขอดุอาหลังจากขว้างญัมเราะฮ์ที่สาม)
...
แต่ท่านนบีย์ก็มิได้หยุดยืนขอดุอาหลังจากขว้างญัมเราะฮ์ที่สาม ทั้งๆที่ท่านก็ได้หยุดยืนขอดุอาในสองญัมเราะฮ์ก่อนหน้านั้นมาแล้ว ...
ดังนั้น ซุนนะฮ์ในเรื่องนี้สำหรับทุกคนที่เดินทางไปทำหัจญ์ก็คือ การไม่ขอดุอาหลังจากขว้างญัมเราะฮ์ที่สาม เพื่อปฏิบัติตามแบบอย่างของท่าน ซึ่งเรียกกันว่า เป็นซุนนะฮ์ ตัรฺกียะฮ์ ...
และการหยุดยืนขอดุอาในกรณีนี้ นักวิชาการถือว่า เป็นบิดอะฮ์ ...
ก็มีหลายๆตัวอย่างเกี่ยวกับซุนนะฮ์ ตัรฺกียะฮ์ ที่พอจะนำมาเปรียบเทียบได้กับเรื่องนี้ หากมีลักษณะตรงกัน, มีเงื่อนไขครบ 3 ประการตรงกัน ...
ผมขอนำเสนอตัวอย่างสัก 2 ตัวอย่างที่นักวิชาการกล่าวว่าเป็นซุนนะฮ์ ตัรฺกียะฮ์ เพราะตรงกับเงื่อนไขข้างต้นทั้ง 3 ประการ คือ ...
ก. การอ่านอัล-กุรฺอานเพื่ออุทิศผลบุญให้แก่ผู้ตาย .. ไม่ว่าอ่านที่บ้านหรือที่กุบูรฺ ...
สิ่งนี้เป็นซุนนะฮ์ ตัรฺกียะฮ์ คือ ไม่ควรกระทำ เพราะ ...
1. สาเหตุแห่งการอ่านอัล-กุรฺอานในกรณีนี้ - ได้แก่การตาย - มิใช่จะเพิ่งเกิดมีในยุคของเราเท่านั้น แต่เกิดขึ้นแล้วมากมายในสมัยของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ...
2. การอ่านอัล-กุรฺอานเพื่อส่งบุญให้แก่ผู้ตาย โดยเฉพาะเมื่อผู้ตายเหล่านั้นเป็นเศาะหาบะฮ์ของท่านที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นสิ่งดีที่ควรปฏิบัติ ...
3. ไม่มีอุปสรรคใดๆเลยที่จะขัดขวางท่านจากการอ่านอัล-กุรฺอานเพื่ออุทิศผลบุญให้แก่พวกเขา ...
แต่ไม่เคยปรากฏ - แม้แต่ครั้งเดียว - ว่า ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จะเคยอ่านอัล-กุรฺอานเพื่ออุทิศผลบุญให้แก่เศาะหาบะฮ์ของท่านที่ตายคนใดเลย ไม่ว่าอ่านที่บ้านหรือที่กุบูรฺ ...
โดยนัยนี้ นักวิชาการอุศู้ลฯจึงถือว่า การไม่อ่านอัล-กุรฺอานให้แก่คนตาย เป็นซุนนะฮ์ (ที่เรียกกันว่า ซุนนะฮ์ ตัรฺกียะฮ์), และการอ่านอัล-กุรฺอานแก่ผู้ตาย เป็นบิดอะฮ์ ...
ท่านเช็คอะลีย์ มะห์ฟูศ ได้กล่าวอธิบายในหนังสือ "อัล-อิบดาอฺฯ ของท่าน หน้า 44 ว่า
وَمِنْ هَذَااْلأَصْلِ الْعَظِيْمِ تَعْلَمُ أَنَّ أَكْثَرَ أَفْعَالِ النَّاسِ الْيَوْمَ مِنَ الْبِدَعِ الْمَذْمُوْمَةِ كَقِرَاءَةِ الْقُرْآنِ عَلَى الْقُبُوْرِ رَحْمَـةً بِالْمَيِّتِ، تَرَكَهُ النَّبِّيُ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَتَرَكَهُ الصَّحَابَةُ مَعَ قِيَامِ الْمُقْتَضِيْ لِلْفِعْلِ وَهُوَالشَّفَقَةُ بِالْمَيِّتِ، وَعَدَمِ الْمَانِعِ مِنْهُ، فَعَلَى هَذَااْلأَصْلِ الْمَذْكُوْرِ يَكُوْنُ تَرْكُهُ هُوَالسُّـنَّةُ وَفِعْلُهُ بِدْعَـةً مَذْمُوْمَةً، __
وَكَيْفَ يُعْقَلُ أَنْ يَتْرُكَ الرَّسُوْلُ شَيْأً نَافِعًا يَعُوْدُ عَلَى أُمَّـتِهِ بِالرَّحْمَةِ ؟ ..... فَهَلْ يُعْقَلُ أَنْ يَكُوْنَ هَذَا بَابًا مِنْ أَبْوَابِ الرَّحْمَةِ وَيَتْرُكُهُ الرَّسُوْلُ طُوْلَ حَيَاتِـهِ وَلاَ يَقْرَأُ عَلَى مَيِّتٍ مَرَّةً وَاحِدَةً ؟ ........
“และจากกฎเกณฑ์อันสำคัญยิ่ง (ของวิชาอุศูลฯ) ข้อนี้ ทำให้ท่านรู้ว่า ภาคปฏิบัติของประชาชนส่วนมากในปัจจุบันนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของบิดอะฮ์ที่ควรตำหนิ ... อย่างเช่น การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่หลุมฝังศพ (กุบูรฺ) เพื่อแสดงความเมตตารักใคร่ผู้ตาย, (สิ่งนี้) ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม และบรรดาเศาะหาบะฮ์ของท่าน ได้ละทิ้งมัน ทั้งๆที่มีประเด็นส่งเสริมให้กระทำ นั่นคือ ความห่วงใยที่มีต่อผู้ตาย, และก็ไม่มีอุปสรรคใดๆที่จะขัดขวางพวกท่านจากกระทำมัน ... ดังนั้น ตามกฎเกณฑ์ดังกล่าว ถือว่า การละทิ้ง (คือไม่กระทำ) สิ่งนี้ คือซุนนะฮ์, และการกระทำมัน จึงเป็นบิดอะฮ์ที่ควรตำหนิ .....
มันจะกินกับปัญญาได้อย่างไรว่า ท่านรอซู้ลฯ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จะละทิ้งสิ่งหนึ่งซึ่งอำนวยคุณประโยชน์ในด้านเมตตาธรรมที่กลับคืนไปหาอุมมะฮ์ของท่านเอง ? ...... มันกินกับปัญญาหรือว่า สิ่งนี้ (การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ) เป็นประตูหนึ่งจากบรรดาประตูแห่งความเมตตา แล้วท่านรอซู้ลฯ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม กลับละทิ้งมันตลอดชีวิตของท่าน, โดยไม่เคยไปอ่านอัล-กุรฺอ่านให้กับผู้ตายคนใดเลยแม้แต่ครั้งเดียว ? ...........”
หมายเหตุ ผมขออธิบายเพิ่มเติมว่า ในกรณีเรื่องการอ่านอัล-กุรอานให้แก่ผู้ตายนี้ - ในส่วนตัวผม - จะขอพูดในประเด็นที่ว่า "มิใช่เป็นซุนนะฮ์ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม" เท่านั้น ! .. แต่มิได้พูดถึงประเด็นที่ว่า การอุทิศผลบุญอัล-กุรฺอาน จะ "ถึง" หรือ "ไม่ถึง" ผู้ตาย เพราะเคยบอกหลายครั้งแล้วว่า เรื่องผลบุญเป็นเรื่องของพระองค์อัลลอฮ์เพียงผู้เดียว ใครๆจะไปก้าวก่ายหรือทึกทักเอาเองเรื่องผลบุญว่าทำอย่างนั้นได้บุญ, ทำอย่างนี้ได้บุญ ฯลฯ ในสิ่งที่พระองค์มิได้สัญญาไว้ไม่ได้ .. แต่ผมมิใช่อัลลอฮ์ จึงไม่ทราบว่าอุทิศผลบุญถึงหรือไม่ถึง .. และจะไม่ขอก้าวก่ายอำนาจของพระองค์ในเรื่องนี้เด็ดขาดครับ ...
ข. พิธีกรรมเมาลิด หรือเฉลิมฉลองวันเกิดของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม
หมายเหตุ สิ่งที่ผมจะนำมากล่าวเปรียบเทียบกับเงื่อนไขของซุนนะฮ์ ตัรฺกียะฮ์ในกรณีเรื่องเมาลิดนี้ ก็เฉพาะประเด็น "พิธีกรรม" ของงานเมาลิดที่ถูกจัดขึ้นเท่านั้นว่า มันตรงกับเงื่อนไขของซุนนะฮ์ ตัรฺกียะฮ์ .. คือ ไม่มีแบบอย่างให้แสดงความรักต่อท่านนบีย์ หรือต่อวันเกิดของท่านนบีย์ด้วยวิธีการหรือพิธีกรรมอย่างนี้ ..
แต่ผมมิได้พูดถึงประเด็น "ความรู้สึก" ของผู้จัดงานเมาลิดที่อ้างว่า ต้องการยกย่องเทิดทูนท่านนบีย์หรือยกย่องเทิดทูนวันเกิดของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ..
เพราะเกี่ยวกับเรื่อง "ความรู้สึก" นี้ ท่านอิบนุตัยมียะฮ์ ก็ได้กล่าวไว้อย่างน่าฟังแล้วในหนังสือ “อิกติฎออุศ ศิรอฏิล มุสตะกีมฯ” เล่มที่ 2 หน้า 123 – 124 ของท่านดังนี้ .....
( وَكَذَلِكَ مَايُحْدِثُـهُ بَعْضُ النَّاسِ، إمَّا مُضَاهَاةً لِلنَّصَارَى فِيْ مِيْلاَدِ عِيْسَى عَلَيْهِ السَّلاَمُ، وَإمَّا مَحَبَّةً لِلنَّبِيِّ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَتَعْظِيْمًا، وَاللَّـهُ قَدْ يُثِيْبُهُمْ عَلَى هَذِهِ الْمَحَبَّةِ وَاْلإجْتِهَادِ، لاَ عَلَى الْبِدْعَـةِ مِنِ اتِّخَـاذِ مَوْلِدِ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عِيْدًا، مَعَ اخْتِلاَفِ النَّاسِ فِيْ مَوْلِدِهِ، فَإنَّ هَذَا لَمْ يَفْعَلْـهُ السَّلَفُ، مَعَ قِيَامِ الْمُقْتَضِيْ لَـهُ وَعَدَمِ الْمَانِعِ مِنْهُ، لَوْكَانَ خَيْرًا مَحْضًا أَوْرَاجِحًا لَكَانَ السَّلَفُ رَضِيَ اللَّـهُ عَنْهُمْ أَحَقَّ بِـهِ مِنَّا، فَإنَّـهُمْ كَانُوْا أَشَدَّ مَحَبَّةً لِرَسُوْلِ اللَّـهِ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَتَعْظِيْمًا لَـهُ مِنَّا، وَهُمْ عَلَى الْخَيْرِ أَحْرَصَ وَإنَّمَا كَمَالُ مَحَبَّتِـهِ وَتَعْظِيْمِهِ فِيْ مُتَابَعَتِهِ وَطَاعَتِهِ وَاتِّبَاعِ أَمْرِهِ، وَإحْيَاءِ سُنَّتِهِ بَاطِنًاوَظَاهِرًا، وَنَشْرِمَابُعِثَ بِـهِ، وَالْجِهَادِعَلَى ذَلِكَ بِالْقَلْبِ وَالْيَدِ واللِّسَانِ، فَإنَّ هَـذِهِ طَرِيْقَةُ السَّابِقِيْنَ اْلاَوَّلِيْنَ، مِنَ الْمُهَاجِرِيْنَ وَاْلاَنْصَارِ، وَالَّذِيْنَ اتَّبَعُوْهُـمْ بِإحْسَانٍ .....)
“และเฉกเช่นเดียวกับสิ่งที่กล่าวมานี้ ก็คือ สิ่งซึ่งประชาชนบางคนได้ริเริ่มขึ้นมาใหม่ ..ในมุมมองหนึ่ง ก็เป็นการเลียนแบบชาวคริสต์ในการจัดงานฉลองวันเกิดของท่านนบีย์อีซา อะลัยฮิสสลาม (วันคริสต์มาส), แต่ในอีกมุมมองหนึ่งก็เป็นการแสดงความรักและเทิดทูนต่อท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม, ซึ่ง "บางที พระองค์อัลลอฮ์ อาจจะให้ผลบุญต่อพวกเขาเพราะความรักและความทุ่มเทนี้บ้างก็ได้" ... แต่มิใช่ (พระองค์จะให้ผลบุญ) เพราะการทำบิดอะฮ์ ด้วยการยึดถือเอาวันเกิดของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม เป็นวันรื่นเริง, ทั้งๆที่พระชาชนก็ยังขัดแย้งกันอยู่เกี่ยวกับวันเกิดของท่าน, ทั้งนี้ เพราะการกระทำดังกล่าวนี้ บรรดาบรรพชนยุคแรกไม่เคยมีผู้ใดกระทำมาก่อนทั้งๆที่มีประเด็นส่งเสริม และไม่มีอุปสรรคอันใดเลย, สมมุติว่า หากการกระทำสิ่งนี้ เป็นเรื่องดีล้วนๆหรือมีน้ำหนักแห่งความดีอยู่บ้าง แน่นอนบรรพชนเหล่านั้น เหมาะสมที่สุดที่จะทำมันยิ่งกว่าพวกเรา,.. ทั้งนี้ เนื่องจากพวกเขารักและเทิดทูนท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ยิ่งกว่าพวกเรา, ทั้งยังเป็นผู้ที่กระหายในเรื่องการทำสิ่งดีมากที่สุดด้วย ...
ความสมบูรณ์เพียบพร้อมในเรื่องความรักและการเทิดทูนท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมนั้นมิใช่อื่นใด หากอยู่ที่การปฏิบัติตามท่าน, เชื่อฟังท่าน, กระทำตามคำสั่งของท่าน, ฟื้นฟูซุนนะฮ์ของท่าน ทั้งที่ลับและที่แจ้ง, เผยแผ่สารของท่าน, เสียสละเพื่อสิ่งเหล่านี้ทั้งใจ กาย และวาจา, เพราะสิ่งเหล่านี้ คือแนวทางของบรรดาบรรพชนยุคแรกๆ อันได้แก่ชาวมุฮาญิรีนและชาวอันศ็อรฺ, และบรรดาผู้ซึ่งปฏิบัติตามพวกท่านเหล่านั้นด้วยคุณธรรมความดี ......”
นักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่มองว่า "พิธีกรรม" งานเมาลิด (ขอย้ำอีกครั้งว่า พิธีกรรมงานเมาลิด) ที่มีการจัดขึ้นในปัจจุบัน ถือเป็นซุนนะฮ์ ตัรฺกียะฮ์ คือไม่ควรกระทำ .. ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ ...
1. เพราะการจัดงานเมาลิดหรืองานฉลองวันเกิดท่านศาสดา เป็นการเลียนแบบการจัดงานวันคริสต์มาสของชาวคริสต์ซึ่งจัดขึ้นเพื่อฉลองวันเกิดของท่านนบีย์อีซา (พระเยซู) ....
2. เหตุผลของการจัดงานเมาลิด - คือเฉลิมฉลองวันเกิดของท่านนบีย์ ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม - ก็เป็นเหตุผลที่มีมาแล้วตั้งแต่สมัยท่านนบีย์ยังมีชีวิตอยู่ ...
ยิ่งไปกว่านั้น ท่านนบีย์เองและเศาะหฟาบะฮ์ของท่าน ย่อมรู้วันเกิดของท่านนบีย์ดียิ่งกว่าพวกเราเสียอีก ...
3. การฉลองวันเกิดให้แก่ท่านนบีย์ด้วยการการเลี้ยงอาหาร, การอ่านอัล-กุรฺอาน, การอ่านประวัติของท่านนบีย์ ฯลฯ ก็เป็นสิ่งที่ดีและควรกระทำ ...
4. ไม่มีอุปสรรคใดเลยที่จะขัดขวางท่าน (หรือเศาะหาบะฮ์ของท่าน) จากการจัดงานฉลองวันเกิดให้แก่ท่านด้วย "วิธีการ" หรือ "พิธีกรรม" อย่างนี้ ..
.
แต่ไม่เคยปรากฏแม้แต่ครั้งเดียวว่า ท่านนบีย์ก็ดี, เศาะหาบะฮ์ของท่านก็ดี (หรือแม้กระทั่งนักวิชาการผู้ทรงคุณธรรมในยุคสลัฟ คือยุค 300 ปีแรกก็ดี) จะมีผู้ใดเคยจัดงานเฉลิมฉลองวันเกิดให้ท่านนบีย์ด้วย "วิธีการ" อย่างที่พวกเราทำกันอยู่นี้ ...
ตรงกันข้าม พวกท่านเหล่านั้น "เฉลิมฉลองวันเกิด" ให้แก่ท่านนบีย์ ด้วยการปฏิบัติอย่างง่ายๆตามแบบอย่างที่ท่านนบีย์ทำตัวอย่างไว้ .. คือ "การถือศีลอด" ในวันที่ตรงกับเกิดของท่าน
โดยนัยนี้ นักวิชาการเหล่านี้จึงถือว่า รูปแบบพิธีกรรมเมาลิดที่ถูกจัดขึ้นในปัจจุบัน เป็นซุนนะฮ์ ตัรฺกียะฮ์ .. คือไม่ควรกระทำ เพราะในพิธีกรรมดังกล่าวย่อมจะมีผสมผสานสิ่งต้องห้ามตามหลักการศาสนาอยู่มากมายเช่นเดียวกัน ...
ท่านอิบนุ หะญัรฺ อัล-ฮัยตะมีย์ นักวิชาการฟิกฮ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด และเป็นเจ้าของหนังสือ “ตุ๊ห์ฟะตุ้ล มุ๊ห์ตาจญ์” อันลือลั่น ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-ฟะตาวีย์” ของท่านว่า
اَلْمَوَالِدُ وَاْلأَذْكَارُ مَتَى تُفْعَلُ عِنْدَنَا أَكْثَرُهَا مُشْتَمِلٌ عَلَى خَيْرٍ كَصَدَقَةٍ وَذِكْرٍ وَصَلاَةٍ وَسَلاَمِ عَلَى رَسُوْلِ اللَّـهِ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَمَدْحِهِ، وَعَلَى شّرٍَ، بَلْ شُرُوْرٍ وَلَوْلَمْ يَكُنْ فِيْهَا إِلاَّ رُؤْيَةُ النِّسَاءِ لِلرِّجَالِ اْلأَجَانِبِ لَكَفَى ....
“การจัดงานฉลองวันเกิดและงานที่ระลึกต่างๆ เท่าที่จัดกันส่วนใหญ่ มักจะประกอบขึ้นจากสิ่งที่ดีๆ อาทิเช่น การเศาะดะเกาะฮ์, การซิกรุ้ลลอฮ์, การเศาะละวาต การให้สล่ามและการสรรเสริญท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม, แต่ขณะเดียวกัน งานดังกล่าวยังประกอบขึ้นจากสิ่งต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายๆอย่างอยู่เสมอเช่นกัน, มาตรว่า จะไม่มีสิ่งต้องห้ามอื่นใดในงานดังกล่าวนั้นนอกจากการเปิดโอกาสให้สตรีได้มองดูผู้ชายอื่น (ที่มิใช่มะห์รอมของตน) ก็ถือว่าเป็นเหตุผลเพียงพอแล้ว (ที่จะ “ห้าม” จากการจัดงานนั้นๆ)” ...
(จากหนังสือ “อัล-อิบดาอฺ ฟี มะฎ็อรฺ อัล-อิบติดาอฺ” ของท่านเช็คอะลีย์ มะห์ฟูศ หน้า 264) ...
สรุปแล้ว ขอยืนยันว่า ผมไม่ได้คัดค้านการที่ผู้ใดจะแสดงออกถึงการรักท่านนบีย์หรือต้องการยกย่องวันเกิดท่านนบีย์ แต่ผมขอสนับสนุนแนวคิดที่ว่า หากเรารักท่านนบีย์จริงหรือต้องการยกย่องวันเกิดท่านนบีย์จริง ก็ควรเปลี่ยนวิธีการแสดงความรักหรือวิธีการเฉลิมฉลองวันเกิดท่านนบีย์เสียใหม่ ด้วยการปฏิบัติตาม "ซุนนะฮ์จริงๆ" ของท่าน คือ รณรงค์ให้มุสลิม ถือศีลอดในวันที่ตรงกับวันเกิดของท่าน ก็น่าจะได้รับผลบุญแน่นอนชัดเจนกว่า ..
รักนบีย์ด้วยการปฏิบัติตามซุนนะฮ์ ย่อมดีกว่ารักนบีย์ด้วยการปฏิบัติสิ่งที่นักวิชาการจำนวนมากกล่าวว่า เป็นบิดอะฮ์ .. มิใช่หรือครับ ??? ..
วาทกรรมของไทยกล่าวว่า .. เราเป็นคนเก่งได้โดยไม่ต้องพึ่งยาเสพติด ...
วาทกรรมของเราก็คือ เรารักท่านนบีย์ได้โดยไม่ต้องทำเมาลิด ...
เก๋ซะไม่มี ...
และผมก็เห็นด้วยกับคำพูดของ่ท่านเช็คอะลีย์ มะห์ฟูศที่กล่าวว่า ...
"เมื่อเราถือว่า "การกระทำในสิ่งที่ท่านนบีย์ละทิ้ง" เป็นเรื่องที่ชอบ ก็อุปมาเหมือนอย่างเราถือว่า "การละทิ้งในสิ่งที่ท่านนบีย์กระทำ" ก็เป็นเรื่องที่ชอบเช่นเดียวกัน ไม่มีข้อแตกต่างกันเลย" ...
เพราะ .. ถ้าท่านยึดถือทัศนะที่ว่า สิ่งที่ท่านนบีย์ "เจตนาละทิ้ง" เป็นแบบอย่างไว้ เป็นเรื่องชอบให้เรากระทำ หรือเราสามารถกระทำได้ไม่มีปัญหา .. และ/หรืออาจจะมีผลบุญด้วยในการกระทำสิ่งนั้น แล้วมีผู้โต้แย้งท่านโดยอาศัยตรรกะเดียวกันว่า ถ้าอย่างนั้น สิ่งที่ท่านนบีย์ "เจตนากระทำ" เป็นแบบอย่างไว้ ก็เป็นเรื่องชอบให้เราละทิ้ง ไม่มีปัญหาอะไร .. และ/หรืออาจจะมีผลบุญด้วยเช่นเดียวกันในการละทิ้งสิ่งที่ท่านนบีย์ทำนั้น ...
ท่านจะตอบเขาอย่างไร ??? ...

อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย ...

16/3/59


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น