โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย
ถาม
ดิฉันทำธุรกิจขายทองคำรูปพรรณด้วยระบบเงินผ่อน แต่มีอาจารย์บางท่านบอกว่าทองคำซื้อขายเงินผ่อนไม่ได้เพราะจะเป็นดอกเบี้ย ทำให้ดิฉันตกใจมาก จึงอยากจะถามอาจารย์ว่า ทองคำซื้อขายเงินผ่อนได้หรือไม่ ? ...
นักศึกษามุสลิมะฮ์ สถานี 2 หาดใหญ่
ตอบคำว่า ดอกเบี้ย ภาษาอาหรับเรียกว่า ริบา (رِبَا) .. ความหมายทางภาษาศาสตร์หมายถึง การเพิ่มพูนขึ้น, การขยายส่วนออกไปจากเดิม ...
เรื่องดอกเบี้ย เป็นเรื่องต้องห้ามที่ร้ายแรงตามหลักการอิสลาม ...
ดังนั้น การเรียนรู้เรื่อง “สิ่ง” ที่เป็นดอกเบี้ย, และเรียนรู้เรื่อง “รูปแบบ” ของดอกเบี้ยจึงเป็นสิ่งจำเป็น(วาญิบ)สำหรับมุสลิมทุกคน .. ทั้งที่กลัวบาปและไม่กลัวบาปจากดอกเบี้ย ...
สิ่งที่ท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะวัลลัมระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นดอกเบี้ย มี 6 ชนิด คือ แร่ทองคำ, แร่เงิน, ข้าวสาลี, ข้าวบาร์เลย์, อินทผลัมแห้ง และเกลือ .. ดังหะดีษที่จะถึงต่อไป ...
พื้นฐานเดิมของสิ่งที่เป็นดอกเบี้ยตามคำกล่าวท่านนบีย์จึงมีเพียง 6 ชนิดนี้เท่านั้น
ย้ำอีกครั้งว่า พื้นฐานเดิมของดอกเบี้ย มีเพียง 6 ชนิดข้างต้นเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่น ..
ดังนั้น สิ่งอื่นจาก 6 ชนิดนี้ที่บางอย่างถูกถือว่าเป็นดอกเบี้ยด้วย เช่นธนบัตรกระดาษที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทุกประเทศในปัจจุบัน จึงไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นดอกเบี้ยมาจากพื้นฐานเดิม แต่เป็นผลพวงมาจากการนำมันไปเปรียบเทียบ (قِيَاسٌ) กับทองคำ ซึ่งเป็น 1 จาก 6 ชนิดของสิ่งที่ถือว่าเป็นดอกเบี้ย ดังรายละเอียดที่จะถึงต่อไป ...
และรูปแบบของดอกเบี้ยตามหลักการอิสลาม จะมีอยู่ 2 ลักษณะคือ ดอกเบี้ยส่วนเกิน (رِبَاالْفَضْلِ، رِبَاالتَّفَاضُلِ) กับ ดอกเบี้ยยืดเวลา (رِبَاالنَّسِيْئَةِ) ...
(จากหนังสือ “บิดายะตุ้ล มุจญตะฮิด” ของท่านอิบนุรุชด์ เล่มที่ 2 หน้า 128)
رِبَاالنَّسِيْئَةِ หรือดอกเบี้ยยืดเวลา ปัจจุบันหมายถึง ดอกเบี้ยที่เกิดจากการซื้อขายเงินเชื่อหรือซื้อขายเงินผ่อนหรือการกู้ยืมโดยกำหนดให้จ่ายคืนมากกว่าที่กู้ยืมไป ...
ต่อไปนี้คือคำอธิบายพอเป็นสังเขปเกี่ยวกับรูปแบบหรือลักษณะของดอกเบี้ยทั้ง 2 ชนิด (ซึ่งในที่นี้จะเน้นเรื่องดอกเบี้ยในทองคำและเงินเป็นการเฉพาะ) ...
(1). ดอกเบี้ยส่วนเกิน (رِبَاالْفَضْلِ) ในทองคำและเงิน...
หมายถึงการซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งของชนิดเดียวกัน .. จากสิ่งที่ท่านศาสดากล่าวว่าเป็นดอกเบี้ย 6 ชนิดข้างต้น เช่นทองคำแลกกับทองคำ, เงินแลกกับเงิน เป็นต้น ..โดยทองคำและเงินที่สองฝ่ายนำมาแลกเปลี่ยนกันนั้นมีน้ำหนักไม่เท่ากัน ...
ข้อห้ามการแลกเปลี่ยนดังกล่าวนี้ ไม่ว่าทองคำกับทองคำและเงินกับเงินที่นำมาแลกเปลี่ยนกัน จะอยู่ในรูปลักษณ์ของเงินตรา เช่นเหรียญกษาปณ์ทองคำ (เงินดีนารฺ) และเหรียญกษาปณ์เงิน (เงินดิรฺฮัม) หรืออยู่ในรูปเครื่องประดับ เช่นแหวน, สร้อย, กำไล เป็นต้น .. และไม่ว่าจะมีการส่งมอบให้กันและกัน ณ ที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนหรือไม่ก็ตามหากมีน้ำหนักไม่เท่ากันแล้วก็จะเป็นเรื่องต้องห้ามเพราะถือเป็นดอกเบี้ยส่วนเกิน ...
ส่วนการเป็นดอกเบี้ยในเรื่องของอาหาร 4 ชนิดถัดมา คือข้าวสาลี, ข้าวบาร์เลย์, อินทผลัมแห้งและเกลือ ก็มีลักษณะเดียวกันกับทองคำหรือเงินที่กล่าวมาแล้ว ...
แต่ปริมาตรที่ใช้กำหนดความ “เท่าเทียม” ของอาหารเหล่านี้ในสมัยก่อนคือการตวง.. มิใช่วิธีการชั่งน้ำหนักเหมือนปัจจุบัน ...
หลักฐานเรื่องดอกเบี้ยส่วนเกิน
มีหะดีษที่ถูกต้องหลายบทเป็นหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งในที่นี้จะขอนำเสนอเพียงบทเดียว ...
ท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า ...
اَلذَّهَبُ بِالذَّهَبِ، وَالْفِضَّةُ بِالْفِضَّةِ، وَالْبُرُّ بِالْبُرِّ، وَالشَّعِيْرُ بِالشَّعِيْرِ، وَالتَّمْرُ بِالتَّمْرِ، وَالْمِلْحُ بِاْلمِلْحِ مِثْلاً بِمِثْلٍ، يَدًا بِيَدٍ! فَمَنْ زَادَ أَوِاسْتَزَادَ فَقَدْ أَرْبَى، اْلآخِذُ وَالْمُعْطِى فِيْهِ سَوَاءٌ
“ทองคำกับทองคำ, เงินกับเงิน, ข้าวสาลีกับข้าวสาลี, ข้าวบาร์เลย์กับข้าวบาร์เลย์, อินทผลัมแห้งกับอินทผลัมแห้ง, และเกลือกับเกลือ (การซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้)จะต้องเท่าๆกัน, และจะต้องส่งมอบให้กันและกันเลย! ดังนั้น ผู้ใดให้เพิ่มหรือขอเพิ่ม แน่นอนเขาเอาดอกเบี้ย, (ซึ่ง)ทั้งผู้รับและผู้ให้ในกรณีนี้ จะเท่าเทียมกัน (คือมีความผิดในดอกเบี้ยร่วมกัน)” ...
(บันทึกโดยท่านมุสลิม หะดีษที่ 82/1584 และผู้บันทึกท่านอื่นๆ โดยรายงานมาจากท่านอบูสะอีด อัล-คุดรีย์ ร.ฎ.) ...
อธิบาย
1. สิ่งที่เป็นดอกเบี้ยดังที่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมระบุมานั้น มีอยู่แค่ 6 ชนิดดังกล่าวมาแล้ว! .. ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วก็จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ ...
กลุ่มที่หนึ่ง เป็นแร่ธาตุ ที่ใช้วิธีการ “ชั่งนำหนัก” ได้แก่ทองคำและเงิน ...
กลุ่มที่สอง เป็นอาหาร ที่ใช้วิธีการ “ตวง” ได้แก่ข้าวสาลี, ข้าวบาร์เลย์, อินทผลัม และเกลือ ...
2. ข้อความในหะดีษที่ว่า “مِثْلاً بِمِثْلٍ” แล้วเรามาแปลว่า “จะต้องเท่าๆกัน” นั้น หมายถึง เท่ากันในด้าน “น้ำหนัก”จากการชั่ง หรือในด้าน “ปริมาณ” จากการตวง ...
เพราะคำศัพท์ว่า “مِثْلِىٌّ” ตามหลักวิชาฟิกฮ์ จะหมายถึงสิ่งที่กำหนดปริมาตรของมันด้วยการ “ชั่ง” หรือการ “ตวง” เท่านั้น ...
ด้วยเหตุนี้ บางสำนวนจากการบันทึกของท่านบุคอรีย์ จึงใช้คำว่า وَزْنًا بِوَزْنٍ .. แทนสำนวนว่า مِثْلاً بِمِثْلٍ .. คือ น้ำหนักต่อน้ำหนักจะต้องเท่ากัน ...
และ .. สิ่งที่ถูกระบุเป็นดอกเบี้ยทั้ง 6 ชนิดข้างต้น ไม่ว่าทองคำหรือเงินที่เป็นแร่ธาตุและอาหารอีก 4 ชนิด ล้วนเป็นสิ่ง مِثْلِىٌّ .. คือต้อง “ชั่ง” หรือ “ตวง” ทั้งสิ้น ...
ข้อนี้ต่างกับสิ่งที่เรียกกันว่า “مُتَقَوِّمٌ” ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ซื้อขายโดยไม่ต้องชั่งหรือตวง แต่ใช้วิธีการตีราคาหรือประเมินราคา เช่นนาฬิกา, เสื้อผ้า, รองเท้า, กระเป๋า, วิทยุ, พัดลม, ทีวี, รถยนต์ ฯลฯ ซึ่งการแลกเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้จะไม่ถือเป็นดอกเบี้ย ...
โดยนัยนี้ การแลกเปลี่ยนระหว่างทองคำกับทองคำ หรือเงินกับเงิน ตามความหมายหะดีษบทนี้ที่กล่าวว่า مِثْلاً بِمِثْلٍ ก็คือ ทั้งสองฝ่ายจะต้องมี “น้ำหนัก” เท่ากัน
หากทองคำกับทองคำ, หรือเงินกับเงินที่นำมาแลกเปลี่ยนกันมีน้ำหนักไม่เท่ากัน ถือเป็นดอกเบี้ยส่วนเกิน (رِبَاالْفَضْلِ) อันเป็นเรื่องต้องห้ามดังที่กล่าวมาแล้ว ...
(2). ดอกเบี้ยยืดเวลาหรือดอกเบี้ยเงินเชื่อ (رِبَاالنَّسِيْئَةِ) ...
ดอกเบี้ยยืดเวลาหรือดอกเบี้ยเงินเชื่อ(หรือเงินผ่อน) จะมี 2 ลักษณะคือ ...
ลักษณะที่หนึ่ง หมายถึง การซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งของซึ่งเป็นดอกเบี้ยทั้ง 6 ชนิดข้างต้น เช่นแลกเปลี่ยนทองคำกับทองคำ, หรือเงินกับเงินที่มีน้ำหนักเท่ากัน แต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้ส่งมอบสิ่งของให้อีกฝ่ายหนึ่ง ณ ที่แลกเปลี่ยน, ทว่า กลับยืดเวลาการส่งมอบให้ล่าช้าออกไป ...
ลักษณะที่สอง หมายถึงการซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นดอกเบี้ย 6 ชนิดดังข้างต้นโดยมีการสลับชนิดกัน .. เช่นการแลกเปลี่ยนทองคำกับเงิน, หรือข้าวสาลีกับอินทผลัม เป็นต้น โดยไม่มีการส่งมอบ “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง” หรือ “ทั้งสองสิ่ง” นั้นให้กันและกันเลยในสถานที่ซื้อขาย แต่จะค่อยมอบอย่างใดอย่างหนึ่งให้ภายหลัง ...
ดอกเบี้ยเงินเชื่อในลักษณะที่สองนี้ จะไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเรื่องน้ำหนักหรือปริมาตรสิ่งของต่างชนิดที่นำมาแลกเปลี่ยนกันนั้นว่าจะต้องเท่ากันเหมือนกรณีดอกเบี้ยส่วนเกิน แต่จะกำหนดเรื่องเวลาการส่งมอบว่า จะต้องส่งมอบให้กัน ณ ที่ซื้อขายเท่านั้น
ดังนั้น แม้ทองคำและเงินที่นำมาแลกเปลี่ยนกันนั้นจะมีน้ำหนักเท่ากัน แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยืดเวลาในการส่งมอบแล้ว ถือว่าเป็น رِبَاالنَّسِيْئَةِ (ดอกเบี้ยเงินเชื่อ)ทั้งสิ้น ...
หลักฐานเรื่องดอกเบี้ยเงินเชื่อ
ท่านอุบาดะฮ์ บินอัศ-ศอมิต ร.ฎ.ได้รายงานมาจากท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมด้วยข้อความที่คล้ายคลึงกับการรายงานของท่านอบูสะอีด อัล-คุดรีย์ข้างต้น แต่มีข้อความเพิ่มเติมว่า ...
فَإِذَا اخْتَلَفَتْ هَذِهِ اْلأَصْنَافُ فَبِيْعُوْا كَيْفَ شِئْتُمْ إِذَا كَانَ يَدًا بِيَدٍ
“ถ้ามีความแตกต่างในชนิดของสิ่งเหล่านี้ ก็ให้พวกท่านซื้อขายมันได้ตามความพอใจ (คือไม่ว่าจะมีน้ำหนักหรือปริมาตรเท่ากันหรือไม่เท่ากันก็ตาม) เมื่อมีการส่งมอบให้กันและกัน ณ ที่ซื้อขาย” ...
(บันทึกโดยท่านมุสลิม หะดีษที่ 81/1584) ...
หะดีษบทนี้ คือหลักฐานของนักวิชาการที่มีทัศนะว่า ห้ามซื้อขายทองคำกับธนบัตรกระดาษในลักษณะเงินเชื่อหรือเงินผ่อน ..
ผมขอเรียนชี้แจงกรณีข้างต้น ดังนี้ ...
ก่อนอื่นโปรดสังเกตคำกล่าวของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า .. هَذِهِ اْلأَصْنَافُ فَإِذَااخْتَلَفَتْ (ถ้ามีความแตกต่างกันในชนิดของสิ่งเหล่านี้) ..
คำว่า “สิ่งเหล่านี้” ในหะดีษบทนี้ มิได้หมายถึงสิ่งอื่นใดนอกจาก “ชนิดของสิ่งที่เป็นดอกเบี้ยทั้ง 6 ชนิด” ที่ท่านได้กล่าวไว้ตอนต้น ...
เพราะฉะนั้น พื้นฐานของการเป็นดอกเบี้ยเงินเชื่อหรือดอกเบี้ยเงินผ่อน - ในกรณีของทองคำและเงิน - ตามข้อความในหะดีษ จึงหมายถึง การแลกเปลี่ยน “ทองคำกับเงิน” เท่านั้น! ...
ไม่ได้หมายถึงการแลกเปลี่ยนทองคำกับทองเหลือง, เงินกับทองแดง, หรือทองคำกับธนบัตรกระดาษ แต่ประการใด ...
ในสมัยท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มีการนำทองคำมาหลอมทำเหรียญกษาปณ์สำหรับใช้เป็น “ราคา” ในการซื้อขาย เรียกว่า ดีนารฺ (دِيْنَارٌ) และนำเงินมาทำเหรียญกษาปณ์ เรียกว่า ดิรฺฮัม (دِرْهَمٌ) ...
ทั้งเหรียญดีนารฺและเหรียญดิรฺฮัมเป็น “ราคาจริง” .. มี “คุณค่าในตัวเอง” อย่างแท้จริง ...
ทว่าในปัจจุบัน เรานำสิ่งที่ไม่มีคุณค่าในตัวเองอย่างแท้จริงคือกระดาษ มาตบแต่งและพิมพ์ให้สวยงามตามต้องการ แล้วสมมุติเป็น “ราคา” เพื่อใช้ในการซื้อขาย โดยเรียกมันว่า ธนบัตร! ...
นักวิชาการยุคใหม่บางท่าน อาทิเช่นท่านเช็คซัยยิด ซาบิก ได้เปรียบเทียบ(กิยาส) ธนบัตรกระดาษในสมัยปัจจุบันว่า “เหมือน” กับเหรียญทองคำหรือเหรียญเงินในสมัยของท่านนบีย์ ในแง่ที่ใช้เป็น “ราคา” สำหรับซื้อขายเหมือนกัน ...
ดังนั้นการซื้อขาย “ทองคำ” กับ “ธนบัตร” ด้วยระบบเงินเชื่อหรือเงินผ่อน ถือเป็นการซื้อขาย “สิ่งของต่างชนิดกัน” เหมือนซื้อขายทองคำกับเงิน จึงถือเป็น رِبَالنَّسِيْئَةِ หรือดอกเบี้ยเงินเชื่อ ดังมีระบุในหะดีษบทนี้ ...
(ดูเนื้อหาจากหนังสือ “ฟิกฮุส ซุนนะฮ์” เล่มที่ 3 หน้า 179) ...
สรุปก็คือ การนำ “ธนบัตรกระดาษ” เข้าไปรวมกลุ่มกับสิ่งที่เป็นดอกเบี้ยร่วมกับทองคำและเงินหรือสิ่งที่เป็นดอกเบี้ยทั้ง 6 ชนิดข้างต้น จึงมิใช่เป็นหลักการเดิมของดอกเบี้ย ...
แต่เกิดจากการกิยาส หรือการอนุมานเปรียบเทียบ ...
และเหตุผลในการเปรียบเทียบระหว่างธนบัตรกับทองคำหรือเงินตามทัศนะนี้ก็มีเพียงประการเดียว คือ “การเป็นราคา” ของทั้งสองอย่างนั้น ...
ข้อนี้ แตกต่างจากมุมมองของนักวิชาการยุคแรก (ชาวสะลัฟ) ที่ดูจะมีความละเอียดอ่อนและสุขุมกว่ามุมมองข้างต้นเป็นอย่างมาก ดังจะได้อธิบายต่อไป ...
เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ ผมก็จะขออธิบายให้ผู้อ่านรับทราบเหตุผล(عِلَّةٌ) การเป็น “ดอกเบี้ย” ของทองคำ(และเงิน)ตามทัศนะของอิหม่ามทั้ง 4 ท่านซึ่งถือเป็นนักวิชาการชาวสะลัฟเสียก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อท่านจะได้พิจารณาดูว่า ธนบัตรกระดาษในปัจจุบันจะมีเหตุผลแห่งการเป็นดอกเบี้ยเหมือนทองคำและเงิน จนพอที่จะนำมาเปรียบเทียบกันได้หรือไม่ ? .. และจะอธิบายให้ท่านได้รับทราบถึงแนวทางในการเปรียบเทียบ (طَرِيْقُ الْقِيَاسِ) ระหว่างทองคำกับธนบัตรว่า ถูกต้องสมบูรณ์หรือไม่ .. ดังต่อไปนี้ ...
1. เหตุผล (عِلَّةٌ) การเป็นดอกเบี้ยของทองคำและเงินในกรณีซื้อขายเงินสดหรือเงินเชื่อ
ในการกิยาสหรือการอนุมานเปรียบเทียบแต่ละครั้ง จะมีองค์ประกอบหลัก 3 ประการคือ ...
1. ตัวยืนหรือตัวหลักในการเปรียบเทียบ (مَقِيْسٌ عَلَيْهِ .. ซึ่งในที่นี้คือทองคำและเงิน), ...
2. สิ่งที่ถูกนำไปเปรียบเทียบ (مَقِيْسٌ .. ซึ่งในที่นี้ก็คือธนบัตรกระดาษ), และ ...
3. เหตุผลหรือความคล้ายคลึงกัน (عِلَّةٌ أَوْوَجْهُ الشِّبْهِ) ระหว่างสิ่งที่เป็นตัวยืนกับสิ่งที่ถูกนำไปเปรียบเทียบ (ซึ่งในที่นี้อาจหมายถึงการเป็น “ราคา” ของทั้ง 2 ฝ่าย หรือเหตุผลอื่นๆอีกที่คล้ายคลึงกัน ดังจะได้อธิบายต่อไป) ...
ดังนั้น เรื่อง “เหตุผล” การเป็นดอกเบี้ยของทองคำและเงิน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในกรณีนี้ เพราะเหตุผลคือ“หัวใจหลัก”ของการกิยาสที่จะเป็นตัวชี้ขาดว่า ธนบัตรกระดาษที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบันซึ่ง - โดยพื้นฐาน - ยังไม่มีหลักฐานว่าเป็นดอกเบี้ย .. สามารถนำไปเปรียบเทียบ (قِيَاسٌ) กับทองคำและเงินที่มีหลักฐานชัดเจนจากหะดีษแล้วว่าเป็นดอกเบี้ย เพื่อจะยอมรับ “หุก่มร่วม” ว่า เป็นดอกเบี้ยเหมือนกัน ได้หรือไม่ ? ...
อิหม่ามทั้ง 4 ท่านซึ่งเป็นที่ยอมรับของโลกอิสลามมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน มีทัศนะที่ขัดแย้งกันใน “เหตุผลการเป็นดอกเบี้ย” ของทองคำและเงินดังนี้ ...
ก. อิหม่ามอบูหะนีฟะฮ์ (มัษฮับหะนะฟีย์) ถือว่า เหตุผล (عِلَّةٌ) ที่ทองคำ, เงิน (และอาหารอีก 4 ชนิด) ถูกจัดเป็นดอกเบี้ยในการซื้อขายเงินเชื่อ ก็เพราะความต่างชนิดของมัน (إِخْتِلاَفُ الْصِنْفِ) ...
ท่านอิบนุรุชด์ ได้กล่าวอธิบายแนวทางของท่านอบูหะนีฟะฮ์ในเรื่องนี้ว่า ...
وَعِلَّةُالنَّسَاءِ فِيْهَا إخْتِلاَفُ الصِّنْفِ، مَا عَدَاالنُّحَاسَ وَالذَّهَبَ، فَإِنَّ اْلإِجْمَاعَ إِنْعَقَدَ عَلَى أَنَّهُ يَجُوْزُ فِيْهَا النَّسَاءُ
“เหตุผลการเป็นดอกเบี้ยเงินเชื่อของสิ่งที่เป็นดอกเบี้ยทั้ง 6 ชนิดนั้นก็คือ ความต่างชนิดของมัน, ยกเว้น “ทองเหลือง” กับ “ทองคำ” เพราะนักวิชาการมีมติเอกฉันท์แล้วว่า อนุญาตให้ซื้อขายยืดเวลา (หรือซื้อขายเงินเชื่อ) กันได้” ...
(จากหนังสือ “บิดายะตุ้ลมุจญตะฮิด” เล่มที่ 2 หน้า 130) ...
จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ขนาด “ทองเหลือง” ซึ่งเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับทองคำ และในสมัยก่อนถูกนำมาทำเป็นเหรียญกษาปณ์เช่นเดียวกับทองคำ (เรียกว่า فُلُوْسٌ) ก็ยังไม่ถือเป็นดอกเบี้ยในการซื้อขายด้วยระบบเงินเชื่อกับทองคำ .. ตามมติเอกฉันท์ของนักวิชาการ ...
ดังนั้น ธนบัตรในปัจจุบัน (ซึ่งถูกสร้างมาจากกระดาษ, ไม่ใช่เป็นแร่ธาตุเหมือนทองเหลือง) จึงไม่น่าจะอยู่ในข่ายของดอกเบี้ยยิ่งกว่าเหรียญกษาปณ์ทองเหลืองเสียอีกหากนำไปซื้อขายกับทองคำในลักษณะเงินเชื่อหรือเงินผ่อน ดังที่มีผู้ถามมา ...
ข. ท่านอิหม่ามมาลิก มีทัศนะว่า เหตุผลการเป็นดอกเบี้ยของทองคำและเงิน --ไม่ว่าในเรื่องดอกเบี้ยส่วนเกิน (رِبَاالْفَضْلِ)หรือดอกเบี้ยเงินเชื่อ (رِبَاالنَّسِيْئَةِ) -- ก็คือ ...
كَوْنُهُمَا رُؤُوْسًا لِلأَثْمَانِ وَقِيَمًا لِلْمُتْلَفَاتِ
... ทั้งสองเป็นสุดยอดสำหรับการเป็นราคา, และเป็นหลักสำหรับ(ชดใช้)สิ่งที่ถูกทำให้เสียหายทั้งหลาย ...
(จากหนังสือ “บิดายะตุ้ลมุจญตะฮิด” เล่มที่ 2 หน้า 130) ...
แสดงว่า เหตุผลการเป็นดอกเบี้ยของทองคำและเงินตามทัศนะของท่านอิหม่ามมาลิก จะมีเหตุผล 2 ประการ “ร่วมกัน” คือ ...
1. เพราะทองคำและเงิน เป็นสุดยอดของราคา และ ..
2. เพราะทองคำและเงิน เป็นหลักสำหรับชดใช้ค่าเสียหายโดยทั่วๆไป ...
จากเหตุผลข้อแรก .. คำว่า “เป็นสุดยอดของราคา” ก็เพราะทองคำและเงินเป็นแร่ธาตุที่มีคุณค่าและราคา “ในตัวของมันเอง” ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพเป็นเหรียญกษาปณ์, เป็นเครื่องประดับ เป็นทองคำแท่งหรือแยกส่วนเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยขนาดเม็ดทรายก็ตาม
เหตุผลข้อนี้ จะแตกต่างกับธนบัตรกระดาษ เพราะ“กระดาษ” ที่นำมาใช้ทำธนบัตร ไม่ใช่เป็นสุดยอดของราคาในตัวเองเหมือนทองคำ แต่จะกลายเป็นราคาก็ต่อเมื่อนำมันมาทำเป็นธนบัตรแล้วเท่านั้น ดังเป็นที่ทราบกันดี ...
ส่วนจากเหตุผลข้อที่สอง ก็พอจะอนุโลมได้ว่า ธนบัตรกระดาษสามารถใช้เป็นราคาหลักสำหรับชดใช้ความเสียหายต่างๆได้เหมือนทองคำ ...
จะอย่างไรก็ตาม การมีเหตุผลที่คล้ายคลึงกันเพียงประการเดียวจากเหตุผลร่วม 2 ประการของการเป็นดอกเบี้ยดังได้กล่าวมาแล้วในกรณีนี้ จึงขาดเงื่อนไขที่สมบูรณ์ตามหลักการกิยาส หรือการอนุมานเปรียบเทียบ ...
สรุปแล้ว การกิยาสธนบัตรกระดาษกับทองคำและเงินว่าเป็นสิ่งที่ถือเป็นดอกเบี้ยเหมือนกันในการซื้อขายเงินเชื่อหรือเงินผ่อน จึงถือเป็นการกิยาสที่ยังบกพร่องและไม่สมบูรณ์ตามทัศนะของท่านอิหม่ามมาลิกข้างต้น ...
ค. ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ มีทัศนะว่า เหตุผลที่ทองคำและเงินเป็นดอกเบี้ย มีเพียงเหตุผลเดียว นั่นคือ ..
كَوْنُهُمَا جِنْسَ اْلأَثْمَانِ غَالِبًا، وَهَذِهِ عِنْدَهُ عِلَّةٌ قَاصِرَةٌ عَلَيْهِمَا لاَ تَتَعَدَّاهُمَا ....
... “เพราะทั้งสองเป็นสิ่งที่ใช้เป็นราคาโดยทั่วไป (คือตามมาตรฐานสากล) ซึ่งเหตุผลข้อนี้ของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ถือเป็นเหตุผลที่จำกัดเฉพาะทั้งสอง (ทองคำและเงิน) เท่านั้น โดยไม่อาจล่วงเลย (ด้วยการนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งอื่น) จากทั้งสองได้เลย” ...
(จากหนังสือ “อัล-มัจญมุอฺ” ของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ เล่มที่ 9 หน้า 393)
คำกล่าวที่ว่า ทองคำเป็นราคาตามมาตรฐานสากลเป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง เพราะทุกประเทศในโลกจะต้องมีเงินทุนสำรองในประเทศของตน และเงินทุนสำรองดังกล่าว -- นอกเหนือจากเงินตราภายในประเทศของตนเอง (หรือเงินสกุลดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกาที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกในปัจจุบัน) แล้ว -- จะต้องใช้ทองคำเป็นทุนสำรองของประเทศทั้งสิ้น ...
ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ยังได้อธิบายเหตุผลที่ว่า ทำไมเหรียญกษาปณ์ทองเหลือง (فُلُوْسٌ) จึงไม่ถูกจัดเป็นดอกเบี้ยในการซื้อขายเงินเชื่อว่า ...
أَنَّ الْعِلَّةَ عِنْدَنَا كَوْنُ الذَّهَبِ وَالْفِضَّةِ جِنْسَ اْلأَثْمَانِ غَالِبًا، وَلَيْسَتِ الْفُلُوْسُ كَذَلِكَ فَإِنَّهَا وَإِنْ كَانَتْ ثَمَنًا فِىْ بَعْضِ الْبِلاَدِ فَلَيْسَتْ مِنْ جِنْسِ اْلأَثْمَانِ غَالِبًا ....
“แท้จริง เหตุผลการเป็นดอกเบี้ยของทองคำและเงินสำหรับพวกเราก็คือ ทั้งสองเป็นราคาตามมาตรฐานสากล(ในทุกประเทศ) .. แต่เงินเหรียญทองเหลืองมิใช่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากแม้มันจะใช้เป็นราคาในบางประเทศ แต่ก็มิใช่เป็นราคาที่เป็นสากล” ...
(จากหนังสือ “อัล-มัจญมุอฺ” ของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ เล่มที่ 9 หน้า 394) ...
ตัวอย่างเปรียบเทียบที่เห็นกันง่ายๆก็คือ ธนบัตรของไทย ซึ่งไม่จำเป็นต้องพูดถึงการเป็นราคามาตรฐานสากลอะไรหรอก เอากันแค่ในประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันเช่นมาเลเซียบางรัฐ เงินไทยก็แทบไม่มีราคาค่างวดหรือใช้ซื้อขายอะไรได้เลยนอกจากจะต้องนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินริงกิตของมาเลเซียก่อนเท่านั้น ...
เหตุผลการเป็นดอกเบี้ยของทองคำและเงินตามทัศนะของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ จึงปิดกั้นการนำธนบัตรกระดาษไปกิยาสกับทองคำหรือเงินอย่างสิ้นเชิง ..
ค. ท่านอิหม่ามอะห์มัด อิบนุหัมบัล มีทัศนะ 2 อย่างในกรณีการเป็นดอกเบี้ยของทองคำและเงิน คือ ...
ค.1 เพราะทองคำและเงินเป็นสิ่งที่ใช้ “การชั่งน้ำหนัก” เป็นเกณฑ์ ...
นี่เป็นทัศนะที่แพร่หลายที่สุดของท่านอิหม่ามอะห์มัดซึ่งสามารถใช้เปรียบเทียบ (قِيَاسٌ) ในแง่การเป็นดอกเบี้ยเมื่อซื้อขายเงินเชื่อหรือเงินผ่อนกับสินค้าทุกอย่างที่ซื้อขายโดยการชั่งน้ำหนักเป็นเกณฑ์ อาทิเช่น ขนสัตว์, ทองแดง, เหล็ก, ตะกั่ว เป็นต้น ...
(จากหนังสือ “อัล-มุฆนีย์” ของท่านอิบนุกุดามะฮ์ เล่มที่ 4 หน้า 125) ...
ผมขออธิบายเพิ่มเติมว่า ทัศนะนี้ของท่านอิหม่ามอะห์มัด อาจพิจารณามาจากคำกล่าวของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมในหะดีษบทข้างต้นที่ว่า “مِثْلاً بِمِثْلٍ” .. ซึ่งหมายถึง “น้ำหนักของมันจะต้องเท่ากัน” .. ดังที่ได้อธิบายผ่านมาแล้ว ...
ตามทัศนะนี้ ธนบัตรกระดาษทุกสกุลก็ไม่สามารถนำไปกิยาสกับทองคำและเงินเพื่อให้เป็นดอกเบี้ยได้ เพราะธนบัตรไม่ใช่เป็นสิ่งที่ชั่งนำหนักเหมือนทองคำและเงิน ...
ค.2 เพราะทองคำและเงินเป็น جَوْهَرِيَّةُ الثَّمَنِيَّةِ غَالِبًا فَيَخْتَصُّ بِالذَّهَبِ وَالْفِضَّةِ .. คือ เป็น อัญมณีสูงค่าที่ใช้เป็นราคาโดยทั่วไปตามมาตรฐานสากล .. ดังนั้นเรื่องดอกเบี้ยจึงเป็นเรื่อง “เฉพาะทองคำและเงิน” เท่านั้น ...
(จากหนังสือ “อัล-มุฆนีย์” ของท่านอิบนุกุดามะฮ์ เล่มที่ 4 หน้า 126) ...
ดังนั้น ตามเหตุผลในมุมมองที่ 2 ของท่านอิหม่ามอะห์มัดนี้ ธนบัตรที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันจึงไม่อาจนำไปเปรียบเทียบกับทองคำและเงิน เพื่อหุก่มว่ามันเป็นดอกเบี้ยในการซื้อขายกับทองคำและสิ่งอื่นใดได้ เพราะธนบัตรมิใช่เป็นอัญมณีสูงค่าแต่ประการใด ...
โปรดพิจารณาข้อความที่ว่า .. “ดังนั้น เรื่องดอกเบี้ยจึงเป็นเรื่องเฉพาะทองคำและเงินเท่านั้น” ให้ดี ...
หลักการข้อนี้ของท่านอิหม่ามอะห์มัด สอดคล้องกับแนวทางของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ที่คัดลอกมาจากหนังสือ “อัล-มัจญมุอฺ” ของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ (เล่มที่ 9 หน้า 393 ที่ผ่านมาแล้วในหน้าที่ 8) ว่า ไม่อาจนำสิ่งอื่นใดมาเปรียบเทียบกับทองคำและเงิน เพื่อกำหนดให้เป็นดอกเบี้ยเหมือนทั้งสองนั้นได้ ...
มิใช่เฉพาะทองคำกับเงินเท่านั้นที่ห้ามนำสิ่งอื่นมาเปรียบเทียบ(ตามทัศนะของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์และท่านอิหม่ามอะห์มัด) แต่ยังมีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกกันว่า “อะฮ์ลุซซอฮิรฺ” หรือผู้ยึดถือข้อความตรงตามตัวบท มีทัศนะว่า ทั้งหกชนิดของสิ่งที่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮูอะลัยฮิวะซัลลัมระบุว่าเป็นดอกเบี้ย ก็ไม่สามารถนำสิ่งอื่นใดมาเปรียบเทียบเพื่อให้เป็นดอกเบี้ยได้อีก ...
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ สิ่งที่ถือว่าเป็นดอกเบี้ยมีเพียงหกชนิดตามที่ท่านศาสดาระบุมาเท่านั้น ไม่มีดอกเบี้ยในสิ่งอื่นจากนั้น ...
ที่สำคัญ ท่านเช็คศ็อนอานีย์ เจ้าของหนังสือ “สุบุลุส สลาม” อันเป็นตำราหะดีษที่ได้รับความเชื่อถืออย่างกว้างขวาง ได้กล่าวยอมรับว่า ...
فَذَهَبَ الْجُمْهُوْرُ اِلَى ثُبُوْتِهِ فِيْمَاعَدَاهَا مِمَّا شَارَكَهَا فِى الْعِلَّةِ، وَلَكِنْ لَمَّالَمْ يَجِدُوْا عِلَّةً مَنْصُوْصَةً إِخْتَلَفُوْا فِيْهَا إِخْتِلاَفًا كَثِيْرًا يُقَوِّى لِلنَّاظِرِ الْعَارِفِ أَنَّ الْحَقَّ مَا ذَهَبَتْ إِلَيْهِ الظَّاهِرِيَّةُ مِنْ أَنَّهُ لاَ يَجْرِىْ الرِّبَا إِلاَّ فِى السِّتَّةِ الْمَنْصُوْصَةِ عَلَيْهَا ....
“นักวิชาการส่วนใหญ่มีทัศนะว่า สิ่งอื่นจากหกชนิด(ที่มีระบุในหะดีษ) ก็เป็นดอกเบี้ยได้เช่นเดียวกันหากมันมีเหตุผล(แห่งการเป็นดอกเบี้ย)ตรงกับหกชนิดนั้น ทว่า เมื่อพวกเขาไม่เจอหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับเหตุผลแห่งการเป็นดอกเบี้ยของมัน พวกเขาจึงขัดแย้งกันอย่างมากในเหตุผลดังกล่าว ซึ่ง(ความขัดแย้งนี้) จะช่วยเน้นน้ำหนักสำหรับผู้ที่มีวิจารณญาณอย่างถ่องแท้ว่า ที่ถูกต้องนั้นก็คือทัศนะของอะฮ์ลุซซอฮิรฺที่ว่า เรื่องดอกเบี้ยไม่อาจนำมาใช้(ในสิ่งอื่นใด)นอกจากในหกชนิดที่มีหลักฐานระบุไว้ชัดเจนเท่านั้น” ...
(จากหนังสือ “สุลุบุสสลาม” เล่มที่ 3 หน้า 38) ...
สรุปแล้ว การที่ทองคำหรือเงินถูกจัดเป็นดอกเบี้ย ก็เพราะมีเหตุผลหลักหลายประการตามมุมมองที่แตกต่างกันของนักวิชาการในอดีต อาทิเช่น เพราะเป็นแร่ธาตุที่ใช้วิธีการชั่งน้ำหนัก, เป็นอัญมณีที่สูงค่าและราคาแพง, เป็นสุดยอดของสิ่งที่เรียกว่าราคา และเป็นราคาสากลของทุกประเทศทั่วโลก ...
ไม่เคยปรากฏว่าจะมีนักวิชาการท่านใดในอดีตกล่าวว่า การที่ทองคำหรือเงินเป็นดอกเบี้ยส่วนเกินหรือดอกเบี้ยเงินเชื่อก็เพราะเหตุผลหลักเพียงประการเดียวคือ “เพราะมันเป็นราคา”.. ดังความเข้าใจของนักวิชาการร่วมสมัยบางท่านที่นำเอาธนบัตรไปเปรียบเทียบ (กิยาส) กับทองคำหรือเงินด้วยเหตุผลเพียงข้อเดียวนี้ โดยไม่พิจารณาถึงเหตุผลอื่นๆของมันเยี่ยงนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิที่แท้จริงและเป็นที่ยอมรับในอดีต ...
อีกประเด็นหนึ่งที่ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ ซึ่งเป็นทั้งนักวิชาการหะดีษและนักวิชาการฟิกฮ์แห่งมัษฮับชาฟิอีย์อ้างเป็นหลักฐานว่า อนุญาตให้ซื้อขายทองคำ(หรือเงิน)ในลักษณะเงินเชื่อหรือเงินผ่อนได้ก็คือ อิสลามอนุญาตให้นำสิ่งอื่นจากสิ่งที่เป็นดอกเบี้ยทั้ง 6 ชนิด เช่นเหล็ก, ทองเหลือง, ทองแดง, ตะกั่ว, ขนสัตว์, ผ้าฝ้าย เป็นต้นมาทำเป็น “ราคา” เพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายกับสิ่งใดจากสิ่งที่เป็นดอกเบี้ยดังกล่าว - แม้กระทั่งกับทองคำ - ในลักษณะ بَيْعُ السَّلَمِ ได้ ตาม “มติเอกฉันท์” ของนักวิชาการ ...
(จากหนังสือ “อัล-มัจญมูอฺ” ของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ เล่มที่ 9 หน้า 393) ...
بَيْعُ السَّلَمِ หมายความว่าอย่างไร ? ...
คำว่า بَيْعُ السَّلَمِ (การซื้อขายโดยกำหนดสเป็คสินค้า) หมายถึงการซื้อขายที่ผู้ซื้อ จ่ายราคา (ซึ่งอาจจะเป็นเหรียญกษาปณ์ทองเหลือง, เหรียญกษาปณ์ทองแดง, ธนบัตรกระดาษ, ขนสัตว์ ฯลฯ) ให้แก่บุคคลใดไปก่อน โดยให้บุคคลผู้นั้นไปหาสินค้า (จะเป็นทองรูปพรรณหรืออะไรก็ได้) โดยกำหนดสเป็คของสินค้าที่ต้องการให้ชัดเจน แล้วให้นำมามอบให้ตนภายหลัง ...
ตามหลักการข้างต้น สมมุติว่าถ้าเราจะซื้อสร้อยทองคำเส้นหนึ่งในแบบ بَيْعُ السَّلَمِ คือ มอบเงินจำนวนสองหมื่นบาทให้บุคคลใดไปหาสร้อยทองคำมาให้ตามสเป็คที่เรากำหนด และให้นำมาให้เราในระยะเวลา 4-5 วัน เป็นต้น ...
คำถามจึงมีว่า นี่คือการซื้อขายระหว่างธนบัตรกับทองคำใช่หรือไม่ ? ...
คำตอบก็คือ ใช่ ...
ถ้าถามต่อไปว่า การส่งมอบ “ราคา” คือธนบัตร และ “สินค้า” คือสร้อยคอทองคำตามการซื้อขายระบบ بَيْعُ السَّلَمِ ข้างต้น เรียกว่าเป็นการส่งมอบกันแบบ يَدًا بِيَدٍ .. คือ ส่งมอบเงินและทองคำให้กันและกัน ณ ที่ซื้อขายเลย ใช่หรือไม่ ? ...
คำตอบก็คือ ไม่ใช่เป็นการส่งมอบกันแบบ يَدًا بِيَدٍ เพราะมีการส่งมอบราคา - คือธนบัตร - ล่วงหน้าให้ผู้ขายไปก่อน แล้วจึงรับสินค้า คือทองคำทีหลัง ...
ถ้าถามต่อไปอีกว่า แล้วการซื้อขายดังกล่าวนี้ จะใช้ได้หรือ ? เป็นเรื่องดอกเบี้ยที่ต้องห้ามมิใช่หรือ ? เพราะไม่มีการรับราคาและทองคำกันแบบ يَدًا بِيَدٍ ดังคำกล่าวของนักวิชาการบางท่าน ? ...
คำตอบก็คือ การซื้อขายดังกล่าวนี้ถือว่าใช้ได้ และไม่มีผู้ใดเลยที่กล่าวว่า มันเป็นดอกเบี้ย ..โดยมติเอกฉันท์ของนักวิชาการตามคำกล่าวของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ ...
เพราะฉะนั้น ลักษณะและหุก่มการซื้อขายทองคำกับธนบัตรในลักษณะเงินเชื่อหรือเงินผ่อนดังที่มีการปฏิบัติกัน จึงไม่แตกต่างอันใดกับการซื้อขายในรูปแบบ بَيْعُ السَّلَمِ ข้างต้น คือแม้จะไม่ส่งมอบราคาและสินค้าให้กันและกันเลย ณ ที่ซื้อขาย (يَدًابِيَدٍ) แต่ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องต้องห้ามหรือเป็นดอกเบี้ย ดังความเข้าใจของนักวิชาการบางท่าน ...
2. ความแตกต่างระหว่างทองคำ(หรือเงิน)กับธนบัตร
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า นักวิชาการบางท่านในปัจจุบัน ได้นำเอาธนบัตรไปกิยาส(เปรียบเทียบ)กับทองคำหรือเงิน โดยมองเพียงแง่มุมเดียวคือ “การเป็นราคา” ของทั้งสองด้าน แล้วหุก่มออกมาว่า ธนบัตรถือเป็นดอกเบี้ยได้ในทุกรูปแบบเหมือนทองคำและเงิน ไม่ว่าดอกเบี้ยส่วนเกินในการกู้ยืม (رِبَاالْفَضْلِ) หรือดอกเบี้ยเงินเชื่อในการซื้อขาย (رِبَاالنَّسِيْئَةِ) ...
ยิ่งกว่านั้น นักวิชาการบางท่านยังมีแนวคิดว่า ธนบัตรและทองคำคือสิ่งเดียวกัน เพราะการพิมพ์ธนบัตรของทุกๆประเทศ จะต้องอิงราคาทองคำเป็นเกณฑ์ทุกครั้ง ...
เมื่อพิจารณาจากมุมมองและหลักการข้อนี้ นักวิชาการเหล่านี้ก็เลยสรุปว่า ธนบัตรก็คือทองคำ และทองคำก็คือธนบัตร ...
ผมขอเรียนชี้แจงว่า ...
ความเข้าใจดังกล่าวนี้ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะ ...
1. ราคาของทองคำเป็นราคาจริง เนื่องจากทองคำมีคุณค่าในตัวเองอย่างแท้จริง แต่ราคาของธนบัตรเป็นเพียงราคาสมมุติ เพราะพื้นฐานของ “กระดาษ” แต่ละใบที่ใช้พิมพ์ธนบัตรแต่ละฉบับ - เช่นธนบัตรฉบับที่ถูกสมมุติมูลค่า 1000 บาท - ก็มิใช่เป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงในตัวเองเหมือนทองคำ ดังนั้นการพิมพ์ธนบัตรแต่ละครั้งแม้จะอิงกับมูลค่าทองคำ ก็มิได้หมายความว่า จะทำให้ธนบัตรเหล่านั้นอัพเกรดตัวเองจนเหมือนกับทองคำ ทั้งด้านคุณค่าและราคา ...
2. ทองคำเป็นสิ่ง مِثْلِىٌّ คือต้องชั่งน้ำหนักซึ่งน้ำหนักของทองคำจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ธนบัตรเป็นเพียง “สิ่งสมมุติราคา”ไม่ใช่สิ่งชั่งน้ำหนัก เพราะฉะนั้น มาตรฐานใน “ราคา” ของธนบัตรจึงไม่แน่นอนเหมือน “น้ำหนัก” ของทองคำ ...
ทองคำหนัก 1 บาทก็คือทองคำหนัก 1 บาทตลอดกาลไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ขณะที่ราคาธนบัตร 1000 บาทในวันนี้อาจเหลือเท่ากับ 900 บาทในวันหน้า! ...
ผู้ใดกล้ารับรองหรือว่า ขณะที่ทองคำยังมี “น้ำหนัก” คงที่ ราคาของธนบัตรก็จะคงที่เหมือนน้ำหนักทองคำด้วย คือไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ไม่ว่าด้านแข็งค่าขึ้นหรืออ่อนค่าลง .. ตลอดไป ?? ...
เพราะฉะนั้นในเชิงปฏิบัติแล้วจะไม่มีใครสามารถกำหนดมาตรฐาน “ความเท่ากัน” ระหว่างน้ำหนักทองคำกับราคาของธนบัตรได้เลย ซึ่งความเข้าใจที่ว่า “ทองคำก็คือธนบัตร” จะนำไปสู่การขัดแย้งหรือค้านกับคำสั่งท่านศาสดาในหะดีษบทข้างต้นที่ว่า การแลกเปลี่ยนระหว่างทองคำกับทองคำ “จะต้องเท่ากัน” ...
ตัวอย่างของคำกล่าวข้างต้นก็คือ สมมุติว่ารัฐบาลไทยมีการพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้ครั้งหนึ่งโดยกำหนดว่า มูลค่าของธนบัตร 25000 บาทจะอิงกับทองคำขณะนั้น ที่น้ำหนัก 1 บาท ...
แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การพิมพ์ธนบัตร แม้จะอิงกับน้ำหนักมาตรฐานของทองคำ ถือเป็นเรื่องหนึ่ง ...
ส่วนภาคปฏิบัติของร้านค้าทองคำหรือชาวบ้านในการซื้อขายทองคำจริงๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อาจจะสัมพันธ์หรือไม่สัมพันธ์กับการกำหนดค่าธนบัตรของรัฐบาลก็ได้ ..
เพราะฉะนั้น จึงเป็นไปได้ว่า หลังจากมีการพิมพ์ธนบัตรออกมาตามมาตรฐานข้างต้นแล้ว สี่ห้าวันต่อมา อาจมีร้านค้าทองคำบางร้านได้ขายทองคำไปตามราคามาตรฐานที่ว่านั้น คือสร้อยทองคำหนัก 1 บาท ขายไปเป็นเงิน 25000 บาท ...
แต่ขณะเดียวกัน ร้านขายทองคำรูปพรรณอีกร้านหนึ่งได้ขายสร้อยทองคำน้ำหนัก 1 บาทให้กับลูกค้าขาจรคนหนึ่งด้วยเงินสดตาม “ราคาที่ตกลงกัน” .. คือ 25500 บาท (แพงกว่าราคากลาง 500 บาท) ...
ส่วนอีกร้านหนึ่งซึ่งลูกค้าและเจ้าของร้านสนิทสนมกันเป็นพิเศษ เจ้าของร้านจึงขายสร้อยทองคำน้ำหนัก 1 บาทให้กับลูกค้าคนนั้นด้วยเงินสดเช่นเดียวกันในราคาเพียง 24600 บาท (ถูกกว่าราคากลาง 400 บาท) ...
ส่วนเราเองก็กำลังเดือดร้อนเรื่องการเงินและขี้เกียจไปตลาดเพราะมันอยู่ห่างไกลจากบ้านมากเกินไป จึงตัดใจยอมเอาสร้อยทองคำหนัก 1 บาทไปขายกับคนใกล้บ้านในราคาเงินสด 24300 บาท (ถูกกว่าราคากลาง 700 บาท) ...
ดังนั้น ถ้าเราจะยึดถือตามทัศนะที่ว่า ทองคำกับธนบัตรคือสิ่งเดียวกัน ผมก็อยากจะถามว่า ...
แล้วเราจะเอาอะไรมาเป็น “บรรทัดฐาน” วัดความ “เท่ากัน” ระหว่างทองคำกับธนบัตร ในตัวอย่างการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายข้างต้น ? ...
สร้อยคอทองคำน่ะ ย่อมมีน้ำหนักเท่ากันในทุกกรณี คือหนัก 1 บาท ...
แต่ธนบัตรที่นำไปซื้อล่ะ .. เงิน 25000 บาท, 25500 บาท, 24600 บาท และ 24300 บาท! ...
ราคาไหนคือ ราคาที่ “เท่า” กับทองคำหนัก 1 บาท ??? ...
ด้วยเหตุนี้ ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์, ท่านอิหม่ามอะห์มัด และนักวิชาการอีกหลายท่านจึงไม่ยอมรับการนำเอาสิ่งอื่นใดซึ่ง “ถูกสมมุติเป็นราคา” -ไม่ว่าเหรียญกษาปณ์ทองเหลือง (فُلُوْسٌ) หรือธนบัตรกระดาษ - ไปกิยาสกับทองคำและเงินดังกล่าวมาแล้ว...
ความแตกต่างระหว่างธนบัตรกับทองคำ
“ความแตกต่าง” ในระหว่างทองคำ(หรือเงิน)กับธนบัตรกระดาษยังมีอีกหลายประการที่เป็นอุปสรรคต่อการกิยาสตามหลักการศาสนา อาทิเช่น ...
1. ทองคำหรือเงิน (ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นดอกเบี้ย) เป็นแร่ธาตุหรืออัญมณีที่มี “ค่า” และ “ราคา” ในตัวของมันเองจนเป็นที่ยอมรับของมนุษยชาติทั่วโลก, และไม่ว่าจะนำไปดัดแปลงเป็นรูปแบบใด หรือจะตัดออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเพียงใด คุณค่าและราคาของมันจะยังคงมีอยู่ตามสภาพและอัตราส่วนน้ำหนักของมันเสมอ ...
ข้อนี้ แตกต่างกับธนบัตรกระดาษที่จะมีราคาได้ก็ต่อเมื่อมันอยู่ในสภาพสมบูรณ์แห่งความเป็นธนบัตรของมันเท่านั้น แต่ถ้ามันเกิดชำรุดหรือฉีกขาด มันก็จะสิ้นสภาพการเป็นราคาทันที ...
ตัวอย่างเช่น ธนบัตรใบละ 1000 บาท เมื่อตัดออกเป็น 2 ชิ้น มันก็จะสิ้นสภาพความเป็น “ราคา 1000 บาท” ในตลาดซื้อขายสินค้าทุกชนิด เพราะแต่ละชิ้นของมันอย่าว่าแต่จะนำไปซื้อสินค้าใดๆในราคา 500 บาทได้ตามราคาสมมุติเดิมเลย แค่สลึงเดียวหรือยกให้ฟรีๆก็แทบไม่ใครรับ ...
2. ทองคำ(หรือเงิน) มิใช่เป็นแร่ธาตุหรืออัญมณีที่ใช้เป็น “ราคา” ได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นอะไรได้หลายอย่าง .. เช่นเป็นภาชนะประเภทขันน้ำ, จาน, ช้อนส้อม .. หรือเป็นเครื่องประดับ เช่นแหวน, กำไล, สร้อยคอ เป็นต้น ..หรือแม้แต่จะใช้เสริมอวัยวะบางส่วนของมนุษย์ เช่นฟันเลี่ยมทอง ก็ยังได้ ...
ที่สำคัญ .. ทองคำหรือเงินที่จะถูกเรียกว่าเป็น “ราคา” ได้ ก็ต่อเมื่อมันถูกนำมาทำเป็นเหรียญดีนารฺและเหรียญดิรฺฮัมเท่านั้น ...
หากเมื่อใดมันถูกนำไปแปรรูปเป็นเครื่องใช้, เป็นเครื่องประดับ ฯลฯ มันก็จะไม่ถูกเรียกว่าเป็น“ราคา”อีก แต่จะกลายเป็นสิ่งที่เรียกกันว่า “สินค้า” เหมือนสินค้าอื่นๆทันที ...
แม้ว่า “ตัวตน” ของมันจะยังคงสภาพเป็นดอกเบี้ยในกรณีการแลกเปลี่ยนกับทองคำหรือเงินด้วยกันก็ตาม ...
(สรุปจากหนังสือ “มัจญมุอฺ” ของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ เล่มที่ 9 หน้า 393)
ข้อนี้ต่างกับ “ธนบัตรกระดาษ” (หมายถึงกระดาษที่เป็นธนบัตรแล้ว, มิใช่กระดาษทั่วๆไป) ซึ่งไม่สามารถนำไป “แปรรูป” เป็นอื่นใดได้เลย นอกจากจะสมมุติเป็น “ราคา” ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ตราบใดที่ยังไม่สิ้นสภาพความเป็นธนบัตรของมัน ...
3. ทองคำและเงิน “ในแง่ที่เป็นราคา” ก็เป็นราคาที่ยอมรับกันเป็นมาตรฐานสากลทั่วโลก ...
หมายความว่าทองคำสามารถนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ประเทศไหนก็ได้ในโลก.. ต่างจากธนบัตรกระดาษของประเทศต่างๆที่จะมีค่าหรือใช้ซื้อสินค้าได้ ก็เฉพาะภายในประเทศของตนเองหรือในบางประเทศที่ใกล้เคียงกันเท่านั้น ...
ดังนั้นการกิยาสธนบัตรกระดาษกับทองคำหรือเงินเพื่อใช้อ้างเป็นดอกเบี้ยในทุกรูปแบบ --ไม่ว่าดอกเบี้ยส่วนเกินหรือดอกเบี้ยเงินเชื่อ -- จึงเป็นการกิยาสที่บกพร่องและไม่สมบูรณ์ตามหลักการกิยาส ...
ข้อเปรียบเทียบผู้ที่กิยาสธนบัตรกับทองคำโดยพิจารณาเพียงว่า ทั้งสองใช้เป็น “ราคา” เหมือนกัน ก็ไม่แตกต่างอันใดกับผู้ที่กิยาส “ลองกอง” กับ “อินทผลัมแห้ง” เพื่อเป็นหลักฐานว่า วาญิบต้องเก็บซะกาตลองกองเหมือนวาญิบซะกาตในอินทผลัมแห้ง โดยอ้างเหตุผลเพียงแง่มุมเดียวว่า เพราะทั้งสองนั้นเป็น “ผลไม้” เหมือนกัน ...
แต่ลืมนึกถึงสภาพและข้อเท็จจริงของผลไม้ทั้งสองชนิดนั้นว่า มันแตกต่างกันและไม่เหมือนกัน.. ทั้งในแง่การเป็นอาหารหลัก, และการเก็บไว้ได้นาน ในอินทผลัม แต่ไม่มีในลองกอง ...
ในทัศนะของผม .. จากดอกเบี้ย 2 ประเภทที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือดอกเบี้ยส่วนเกินกับดอกเบี้ยเงินเชื่อนั้น ผมมองว่าการกิยาสธนบัตร (ไทย) ของเรากับทองคำ น่าจะ “อนุโลม” ให้ได้ในระดับหนึ่ง .. คือในกรณี رِبَاالْفَضْلِ หรือดอกเบี้ยส่วนเกิน อันเป็นการกู้ยืมเงินที่เจ้าหนี้ กำหนดให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้คืนมากกว่าเงินที่กู้มา ...
ทั้งนี้ เพราะการกู้ยืมระหว่างธนบัตร(ไทย)กับธนบัตร(ไทย) ถือเป็น “ราคา” จาก “ธนบัตรชนิดเดียวกัน” .. เหมือนทองคำกับทองคำ ...
ดังนั้น เมื่อมีการเหลื่อมล้ำกันในปริมาณจึงเป็นเรื่องต้องห้าม .. ดังที่ได้อธิบายผ่านมาแล้วในเรื่อง رِبَاالْفَضْلِ หรือดอกเบี้ยส่วนเกิน ...
อนึ่ง สำหรับในกรณี رِبَاالنَّسِيْئَةِ .. คือดอกเบี้ยเงินเชื่อจากการซื้อขายทองคำกับธนบัตรด้วยระบบเงินเชื่อ(หรือเงินผ่อน) ดังที่มีผู้ถามมานั้น ผมมองว่าการซื้อขายดังกล่าวจะเข้าประเด็นดอกเบี้ยที่ต้องห้าม ก็ต่อเมื่อ มีการเสนอขายสองราคา เท่านั้น .. คือราคาเงินสดที่ต่ำกว่าและราคาเงินผ่อนที่สูงกว่า .. แล้วผู้ซื้อ ก็เลือกซื้อด้วยราคาเงินผ่อน อย่างนี้ไม่เป็นที่อนุมัติ เพราะถือว่าราคาเงินผ่อนในกรณีนี้เป็นดอกเบี้ย ตามข้อความชัดเจนของหะดีษอีกบทหนึ่ง ...
แต่ถ้ามีการเสนอขายเพียงราคาเดียว ไม่ว่าจะเป็นเงินสดหรือเงินผ่อน แล้วผู้ซื้อเลือกที่จะซื้อด้วยเงินผ่อน อย่างนี้ย่อมเป็นที่อนุมัติ และไม่ถือเป็นดอกเบี้ย .. ดังในกรณีของคำถามข้างต้น ...
รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมได้เคยอธิบายไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วในหนังสือเรื่อง “การซื้อขายเงินผ่อน” ของผม ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถจะไปค้นหาดูได้ ...
สรุป
การซื้อขายทองคำกับธนบัตรในระบบเงินผ่อน เป็นที่อนุมัติและไม่ถือว่าเป็นดอกเบี้ย เพราะ ...
1. การกิยาสธนบัตรกระดาษกับทองคำ(หรือเงิน) เป็นการกิยาสที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากมีจุดต่างมากมายซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกิยาสตามหลักวิชาการ ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว ...
ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการหลายท่าน จึงไม่อนุญาตและไม่ยอมรับการกิยาสทองคำ(หรือเงิน) กับธนบัตรทุกชนิด ..ในทุกๆกรณี .. คือไม่ว่าดอกเบี้ยส่วนเกินหรือดอกเบี้ยเงินเชื่อ ...
2. ทองคำที่ซื้อขายเงินผ่อนกันนั้น ตามปกติจะเป็นทองรูปพรรณ .. คือเป็นเครื่องประดับเช่นแหวน, สร้อย, กำไล เป็นต้น ซึ่งถือว่า ขณะนั้นมันได้สิ้นสภาพความเป็น “ราคา” และกลายเป็นเพียงสินค้าชนิดหนึ่ง จึงสามารถซื้อขายในระบบเงินผ่อนได้เหมือนสินค้าอื่นๆทั่วไป ภายใต้กรอบแห่งการอนุมัติเรื่องการซื้อขายเงินผ่อน คือ ต้องเสนอขายราคาเดียว ดังกล่าวมาแล้ว ...
3. นักวิชาการ(ในอดีต)ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ (إِجْمَاعٌ) แล้วว่า เหรียญกษาปณ์ทองเหลือง (فُلُوْسٌ .. ซึ่งคล้ายกับทองคำมากกว่าธนบัตรกระดาษเสียอีกเนื่องจากเป็นแร่ธาตุเหมือนกัน) สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนกับทองคำในระบบเงินเชื่อหรือเงินผ่อนได้โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องดอกเบี้ย ...
เพราะฉะนั้น การซื้อขายทองคำกับธนบัตรกระดาษของเราด้วยระบบเงินเชื่อหรือเงินผ่อนในปัจจุบัน จึงไม่น่าจะเป็นดอกเบี้ยด้วยประการทั้งปวง ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้
วัลลอฮุ อะอฺลัม ...
อ. มะห์มูด (ปราโมทย์) ศรีอุทัย
โทร 086-6859660
วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ตรงกับวันที่ 25 เดือนซุลหิจญะฮ์ ฮ.ศ. 1429
แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555 ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น