อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559

นิกาห์กับสตรีที่ตั้งครรภ์จากการซินาทำได้หรือไม่ ? (ตอนที่ 3)



โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

::ตอนที่ 3::
--------------------------------------------
.
(6). การเตาบะฮ์คืออย่างไร
มีคนจำนวนมากเข้าใจว่า การเตาบะฮ์คือการกล่าวว่า أَسْتَغْفِرُاللهَ الْعَظِيْمَ .. อันมีความหมายว่า ฉันขออภัยโทษต่อพระองค์อัลลอฮ์ผู้ยิ่งใหญ่ .. ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด ...
เพราะคำว่า أَسْتَغْفِرُاللهَ الْعَظِيْمَ มิใช่เตาบะฮ์ แต่เป็นดุอา .. เรียกว่า ดุอาอิสติฆฟารฺ คือดุอาขออภัยโทษ ซึ่งเราไม่อาจทราบได้ว่าพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.จะทรงตอบรับและอภัยโทษให้ตามที่เราขอหรือไม่ ...
แตกต่างกับการเตาบะฮ์หรือการลุกะโทษต่อพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ซึ่งหากเราปฏิบัติได้ถูกต้อง พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.ก็จะทรงอภัยโทษให้อย่างแน่นอน ...
ท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า ...
اَلتَّائِبُ مِنَ الذَّنْبِ كَمَنْ لاَ ذَنْبَ لَهُ
“ผู้ที่เตาบะฮ์จากบาป ก็เปรียบเสมือนผู้ที่ไม่มี (คือมิได้ทำ)บาปเลย” ...
(บันทึกโดยท่านอิบนุมาญะฮ์ หะดีษที่ 4250, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 10 หน้า 154 โดยสืบสายรายงานไปถึงท่านอบูอุบัยดะฮ์, จากบิดาของท่านคือท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุมัสอูด ร.ฎ. จากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ...
หะดีษนี้สายรายงานขาดตอนเพราะนักวิชาการหะดีษจำนวนมากกล่าวว่า ท่านอบูอุบัยดะฮ์ไม่เคยได้รับฟังหะดีษบทใดมาจากท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุมัสอูด ร.ฎ. ซึ่งเป็นบิดาของท่าน ...
หะดีษนี้, จากกระแสนี้ จึงถือว่าเป็นรายงานที่เฎาะอีฟ ...
แต่หะดีษด้วยข้อความข้างต้นนี้ยังมีชาฮิด คือการรายงานจากเศาะหาบะฮ์อื่นอีกหลายท่าน อาทิเช่น ท่านอบูสะอีด อัล-อันศอรีย์ และท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. เป็นต้น มาสนับสนุนให้มีน้ำหนักขึ้น ...
ดังนั้น ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์จึงกล่าวว่าในภาพรวมแล้วหะดีษนี้เป็นหะดีษหะซัน หรือหะดีษที่สวยงามพอจะเชื่อถือได้ ดังการบันทึกของท่านอัส-สะคอวีย์ในหนังสือ “อัล-มะกอศิดุ้ลหะสะนะฮ์” หน้า 158 ...
พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงกล่าวในซูเราะฮ์อัต-ตะห์รีม อายะฮ์ที่ 8 ว่า ...
يَا أَيُّهَاالَّذِيْنَ آمَنُوْا تُوْبُوْا إِلَى اللهِ تَوْبَةً نَصُوْحًا
“ศรัทธาชนทั้งหลาย พวกเจ้าจงเตาบะฮ์ (ลุกะโทษ) ต่อพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. อย่างบริสุทธิ์ใจ, จริงใจและจริงจังเถิด”
คำว่า تَوْبَةً نَصُوْحًا นี้ ท่านเช็คสะลีม บินอุบัยด์ อัล-ฮิลาลีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “บะฮ์ญะตุ้ลนาศิรีน” เล่มที่ 1 หน้า 51 ว่า นักวิชาการได้อธิบายความหมายของคำๆนี้แตกต่างกันกว่า 20 สำนวน แต่สรุปแล้วทุกสำนวนมีเป้าหมายเดียวกันดังที่ได้แปลไปนั้น คือการเตาบะฮ์ด้วยความบริสุทธิ์ใจต่อพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ., จริงใจ, จริงจังและมุ่งมั่นอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ว่า จะไม่หวนกลับไปทำบาปนั้นอีกแล้วตลอดไป ...
รุก่นการเตาบะฮ์
องค์ประกอบหลัก (รุก่น) การเตาบะฮ์ มี 3 ประการคือ ...
1. أَنْ يَقْلَعَ عَنِ الْمَعْصِيَةِ คือ ต้องถอนตัวหรือยุติการทำบาปนั้นอย่างสิ้นเชิง ...
2. أَنْ يَعْزِمَ أَنْ لاَ يَعُوْدَ إِلَيْهَا أَبَدًا คือ ต้องตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า จะไม่หวนกลับไปทำบาปนั้นอีกแล้วตลอดไป ...
3. أَنْ يَنْدَمَ نَدَمًا شَدِيْدًا عَلَى فِعْلِهَا คือ ต้องเศร้าใจและเสียใจอย่างแท้จริงในความผิดบาปที่กระทำลงไป ...
การเตาบะฮ์ใดๆที่ขาดองค์ประกอบหลักข้อใดข้อหนึ่งจาก 3 ประการนี้ ถือว่าการเตาบะฮ์นั้นไม่มีผลอะไรหรือเป็นโมฆะ ซึ่งดูเหมือนข้อสุดท้ายจะทำยากที่สุด ...
มีเด็กวัยรุ่นมุสลิมบางคู่ที่ทำซินากันแล้วผู้ปกครองนำมาหาผมเพื่อให้ช่วยนิกาห์ให้ ...
เมื่อผมอธิบายให้ทราบว่า คงจะนิกาห์ให้ไม่ได้ เพราะเงื่อนไขการนิกาห์คนทำซินาคือ ทั้งคู่ต้องเตาบะฮ์ให้ถูกต้องเสียก่อน ...
แทบทุกคู่ก็จะตอบตรงกันว่า พวกเขาเตาบะฮ์กันเรียบร้อยแล้ว (ซึ่งก็คงหมายถึงการกล่าวว่า أَسْتَغْفِرُ اللهَ الْعَظِيْمَ .. คือ ฉันขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ผู้ยิ่งใหญ่ นั่นเอง) ...
เมื่อผมถามว่า พวกคุณเตาบะฮ์กันอย่างไร ก็ตอบให้ไม่ได้ แถมหลายคู่ที่พากันมา ต่างก็หัวเราะกระซิกกระซี้ต่อกันอย่างมีความสุขใน “บาป” ที่พวกเขากระทำลงไปโดยไม่มีอาการเศร้าเสียใจใดๆเลย ซึ่งมันขัดแย้งกับรุก่นการเตาบะฮ์ข้อที่ 3 อย่างสิ้นเชิง ...
เรียกว่า ไม่ได้ “เสียใจ” แม้แต่นิดเดียวในบาปซินาที่กระทำลงไป แต่คง “เสียดาย” มากกว่าหากจะต้องให้เลิกซินากัน ...
หรือนักศึกษาบางคู่ที่ยอมรับโดยดุษฎีว่า ยังไม่ได้เตาบะฮ์และขอเวลาเพื่อจะเตาบะฮ์ให้ถูกต้องดังที่ผมอธิบายไป แต่มีเงื่อนไขด้วยการขอร้องผมว่า ระหว่างรอเวลาทำใจในการเตาบะฮ์ จะอนุญาตให้พวกเขากลับไปอยู่ร่วมบ้านเช่าหลังเดียวกันสองคนเหมือนเดิมจะได้หรือไม่ แถมรับรองอย่างแข็งขันว่าจะไม่มี “อะไร” กันอีกเด็ดขาด ...
แต่ผมไม่เชื่อวัวเคยขาม้าเคยขี่เหล่านี้ และไม่เชื่ออีกด้วยว่าหากโอกาสเปิดให้ดังที่ขอร้องมา พวกเขาจะไม่หวนกลับไปทำ “บาปแสนสุข” ที่เคยลิ้มรสมาได้อีก ...
ผมจึงไม่เคยนิกาห์ให้กับคู่ซินารายใดเลยแม้แต่รายเดียว ...
.
(7). อิดดะฮ์และอิสติบรออ์
คำว่า “อิดดะฮ์” ตามบทบัญญัติ หมายถึงระยะเวลาที่สตรีซึ่งถูกสามีหย่าหรือสามีเสียชีวิต จะต้องยับยั้งตัวเองจากการนิกาห์ครั้งใหม่จนกว่าจะหมดระยะเวลานั้นเสียก่อน ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่ามดลูกของนางสะอาดและปราศจากการตั้งครรภ์กับสามีเก่า
คำว่าอิดดะฮ์ตามหลักการ จะนำมามาใช้กับสตรีมุสลิมที่เป็นอิสรชนหรือสตรีมุสลิมที่เป็นทาสเท่านั้น ...
พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.ได้ทรงกล่าวถึงลักษณะและระยะเวลาของอิดดะฮ์สตรีไว้ในอัล-กุรฺอานหลายตอน คือ ...
ก. ในซูเราะฮ์อัล-บะกอเราะฮ์ อายะฮ์ที่ 228 กล่าวถึงอิดดะฮ์ของสตรีที่สามีหย่าโดยนางมีประจำเดือนตามปกติว่า อิดดะฮ์ของนางคือ 3 กุรูอ์หรือมีประจำเดือน 3 ครั้งหลังการหย่า ...
ข.ในซูเราะฮ์อัล-บะกอเราะฮ์ อายะฮ์ที่ 234 กล่าวถึงอิดดะฮ์ของสตรีที่สามีสิ้นชีวิตว่า อิดดะฮ์ของนางคือ สี่เดือนกับสิบวัน ...
ค. ในซูเราะฮ์อัล-อะห์ซาบ อายะฮ์ที่ 49 กล่าวถึงสตรีที่สามีหย่าหลังจากนิกาห์และก่อนมีเพศสัมพันธ์กันว่า นางไม่ต้องมีอิดดะฮ์แต่ประการใด ...
ง. ในซูเราะฮ์อัฏ-ฏอล้าก ตอนต้นอายะฮ์ที่ 4 กล่าวถึงอิดดะฮ์ของสตรีที่สามีหย่าหลังมีเพศสัมพันธ์กันแล้ว แต่นางยังเป็นผู้เยาว์ที่ไม่เคยมีประจำเดือนหรืออยู่ในวัยทองที่หมดประจำเดือนแล้วว่า อิดดะฮ์ของพวกนางคือ สามเดือน (ตามปฏิทินจันทรคติ) ...
จ. ในซูเราะฮ์อัฏ-ฏอล้ากอายะฮ์ที่ 4 กล่าวถึงสตรีที่สามีหย่าขณะนางกำลังตั้งครรภ์ว่า อิดดะฮ์ของนางก็คือ คลอดบุตร ...
ส่วนคำว่า “อิสติบรออ์” ตามหลักการจะหมายถึงระยะเวลาที่สตรีซึ่งมิใช่มุสลิมและตกเป็นเชลยจากการทำสงคราม จะต้องยับยั้งตนเองจากการมีเพศสัมพันธ์กับเจ้านายผู้พิชิตและครอบครองตัวนาง เป็นระยะเวลาอย่างน้อยต้องมีประจำเดือนหนึ่งครั้งหรือมากกว่านั้น ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องอิสติบรออ์นี้ ผมจะไม่กล่าวถึง ณ ที่นี้ ...
ที่น่าสังเกตก็คือ “สาเหตุ” ของอิดดะฮ์สตรีที่อัล-กุรฺอานระบุเอาไว้ในทุกลักษณะอิดดะฮ์ จะมีอยู่ 2 สาเหตุเท่านั้นคือ ...
1. สามีหย่า ...
2. สามีสิ้นชีวิต ...
ไม่มีปรากฏสาเหตุที่สาม ไม่ว่าจะเป็นการซินาหรืออื่นใดอีกทั้งสิ้น ...
ส่วนอิดดะฮ์ของนางทาสและอิสติบรออ์ของเชลยหญิงไม่มีปรากฏในอัล-กุรฺอาน แต่มีระบุในอัล-หะดีษของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น