อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559

วิเคราะหะดิษ .. مَنْ سَنَّ فِى الْإِسْلاَمِ (ผู้ใดที่ได้ริเริ่มทำขึ้นมาในอิสลาม)


โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

คำถาม ... 
หะดีษที่ว่า ...

من سن فى الإسلام سنة حسنة فله أجرها، وأجر من عمل بها بعده من غير أن ينقص من اجورهم شيئ، ومن سن فى الإسلام سنة سيئة كان عليه وزرها ووزرمن عمل بها من بعده من غير أن ينقص من أوزارهم شيئ

"ผู้ใดที่ได้ริเริ่มทำขึ้นมาในอิสลามซึ่งแนวทาง(แบบฉบับที่ดี) แน่นอนเขาก็จะได้รับผลบุญ และผลบุญของผู้ที่ได้ปฏิบัติตามหลังจากเขา(ได้เสียชีวิตไปแล้ว) โดยไม่มีสิ่งบกพร่องลงเลยจากผลบุญของพวกเขา และผู้ใดที่ได้ริเริ่มทำขึ้นมาในอิสลามซึ่งแนวทาง (แบบอย่าง) ที่เลว แน่นอนบาปของมันก็ตกบนเขา และบาปของผู้ที่ปฏิบัติมันหลังจากเขา (เสียชีวิตไปแล้วก็ตกบนเขา)โดยไม่มีสิ่งใดบกพร่องลงไปเลยจากบรรดาบาปของพวกเขา (รายงานโดย มุสลิม /1017)
อาจารย์ครับ ช่วยอธิบายฮาดิษนี้หน่อยครับ ... .

คำตอบ
 หะดีษบทนี้เป็นหะดีษถูกต้อง บันทึกโดยท่านมุสลิม, ท่านอัน-นซาอีย์, ท่านอัด-ดาริมีย์, ท่านอัล-บัยฮะกีย์, ท่านอะหมัด และท่านอื่นๆ โดยรายงานมาจากท่านญะรีรฺ บินอับดุลลอฮ์ อัล-บัจญลีย์ ร.ฎ. ..
สำนวนข้างต้น เป็นสำนวนจากการบันทึกของท่านมุสลิม ในกีตาบอัซ-ซะกาต หะดีษที่ 1017 ...
ข้อความก่อนหน้านี้ - ดังการบันทึกของท่านมุสลิมในกิตาบ อัล-อิลม์ หะดีษที่ 2673 - คือ มีชาวอาหรับชนบทกลุ่มหนึ่งมาหาท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในสภาพการแต่งกายปอนๆและมอมแมมบ่งบอกถึงความยากจน ท่านจึงกระตุ้นให้เศาะหาบะฮ์ของท่านร่วมกันบริจาคช่วยเหลือเขา แต่พวกเขาก็ยังโอ้เอ้กัน จนกระทั่งมีเศาะหาบะฮ์ท่านหนึ่งนำร่องขึ้นก่อน โดยนำเงินกองหนึ่งไปบริจาคให้ เศาะหาบะฮ์อื่นๆจึงพากันปฎิบัติตามจนได้ส่วนบริจาคเป็นกองโต ...
ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงได้กล่าวหะดีษดังข้างต้น ...
เมื่อเราพิจารณาดูเนื้อหาและที่มาของหะดีษบทนี้ จะเห็นได้ว่า ท่านศาสดากล่าวขึ้นเพื่อยกย่องและส่งเสริมการกระทำของเศาะหาบะฮ์ท่านนั้นที่ "นำร่อง" ปฏิบัติ "สิ่งดีในอิสลาม" - คือการบริจาค - ตามที่ท่านสั่ง .. จนเป็นตัวอย่างให้เศาะหาบะฮ์ท่านอื่นๆปฏิบัติตามด้วย ...
คำสั่งของท่านนบีย์ คือซุนนะฮ์! .. และการปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบีย์ ก็คือ การปฏิบัติตามซุนนะฮ์! ...
เพราะฉะนั้น ข้อความจากหะดีษที่ว่า ..... مَنْ سَنَّ فِى الْإِسْلاَمِ سُنَّةً حَسَنَةًُ َفَلهُ أَجْرُهَا จึงมีความหมายว่า "ผู้ใดริเริ่ม (คือ นำร่อง)แบบอย่างที่ดี (ที่มีอยู่แล้ว) ในอิสลาม (เช่นการศ่อดะเกาะฮ์ช่วยเหลือคนยากจน) เขาก็จะได้รับผลบุญของตนเองและผลบุญของผู้ปฏิบัติตามเขาในเรื่องนั้นอย่างครบถ้วน" ...
หะดีษบทนี้จึงไม่ใช่หลักฐานสนับสนุนหรือส่งเสริมให้มุสลิมคนใด ริเริ่มหรือนำร่องกระทำสิ่งใดที่ไม่เคยมีในซุนนะฮ์หรือค้านกับซุนนะฮ์ขึ้นมาให้คนปฏิบัติตาม แล้วจะได้รับผลบุญ .. ดังความเข้าใจผิดของบางคน ...
จะอย่างไรก็ตาม แม้สาเหตุอันเป็นที่มาของหะดีษนี้คือการบริจาค! .. แต่คำว่า سُنَّةً حَسَنَةً หรือ "แบบอย่างที่ดี" ก็มีความหมายครอบคลุมถึงความดีทุกอย่างที่อิสลามได้กำหนดไว้แล้ว เช่นการศึกษา, การละหมาด, การถือศีลอด, การพูดความจริง, ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นต้น ...
เพราะฉะนั้น ผู้ที่นำร่องให้ผู้อื่นกระทำความดีทุกอย่างตามที่ศาสนากำหนดไว้แล้ว ถือว่า เขาถูกจัดเข้าอยู่ในความหมายหะดีษบทนี้แล้ว ...
ตัวอย่างเช่น สมมุติถ้าในหมู่บ้านใดไม่มีเด็กที่สนใจจะเรียนรู้ศาสนาแม้แต่คนเดียว แล้วจู่ๆก็มีเด็กคนหนึ่งในหมู่บ้านนำร่องขึ้นมาก่อน จนเด็กๆอื่นในหมู่บ้าน พลอยเข้าเรียนศาสนาตามกันเป็นแถว ...
การกระทำของเด็กคนนั้นก็จัดเข้าอยู่ในความหมายของหะดีษบทนี้เช่นเดียวกัน ...
สรุปแล้ว เป้าหมายของหะดีษบทนี้ - ในวรรคแรก - จึงส่งเสริมและสนับให้มุสลิมพยายามชักจูงให้ผู้อื่นทำความดีตามบทบัญญัติของอิสลามและทำตามซุนนะฮ์ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งผู้ใดที่นำร่องในการทำความดีหรือปฏิบัติตามซุนนะฮ์จนมีผู้อื่นปฏิบัติตามเขา เขาก็จะได้รับผลบุญจากการทำความดีของตัวเอง และผลบุญการทำความดีของผู้ที่ปฏิบัติตามเขาอย่างครบถ้วนโดยไม่ขาดตกบกพร่องเลย ...
แต่ในด้านตรงข้าม ความหมายหะดีษบทนี้ - ในวรรคหลัง - ก็เป็นการประณามและคาดโทษผู้ที่ "นำร่อง" ในการทำสิ่งที่เป็นความชั่ว, เช่นนำร่องทำสิ่งที่เป็นบิดอะฮ์หรืออุตริกรรมในศาสนา, นำร่องเล่นการพนัน, นำร่องดื่มเหล้า ฯลฯ .. โดยตัวผู้นำร่องนั้นจะต้องรับบาปทั้งจากการปฏิบัติของตนเอง และบาปจากการปฏิบัติของผู้ที่คล้อยตามเขา โดยบาปนั้น จะไม่มีการลดหย่อนจากเขาแม้แต่นิดเดียว เช่นเดียวกัน ...

วัลลอฮุ อะอฺลัม ...

2 ความคิดเห็น:

  1. เมื่อข้าพเจ้า ได้อ่าน ข้อความในเบื้องต้นแล้ว ก็มีประเด็นสงสัยว่า ท่านได้ระบุในข้างต้นว่า ((เพราะฉะนั้น ข้อความจากหะดีษที่ว่า ..... مَنْ سَنَّ فِى الْإِسْلاَمِ سُنَّةً حَسَنَةًُ َفَلهُ أَجْرُهَا จึงมีความหมายว่า "ผู้ใดริเริ่ม (คือ นำร่อง)แบบอย่างที่ดี (ที่มีอยู่แล้ว) ในอิสลาม (เช่นการศ่อดะเกาะฮ์ช่วยเหลือคนยากจน) เขาก็จะได้รับผลบุญของตนเองและผลบุญของผู้ปฏิบัติตามเขาในเรื่องนั้นอย่างครบถ้วน" ...)) ก็เท่ากับว่า من سن سنة سيئة "ผู้ใดริเริ่ม (คือ นำร่อง)แบบอย่างที่ไม่ดี (ที่มีอยู่แล้ว) ในอิสลาม กระนั้นหรือ???

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ18 สิงหาคม 2567 เวลา 03:07

    ไปเริ่มแบบอย่างที่ไม่ดี คือ ไปเริ่มในสิ่งที่นบีจงใจทิ้งงัยครับ

    ตอบลบ