อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2559

การเลียนแบบกลุ่มชนอื่น ที่เป็นที่ต้องห้าม



ตอบโดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม
อัสลามูอาลัยกุม อาจารย์ ดิฉันขอรบกวนถามอาจารย์ เรื่อง หะดิษที่ว่า"การเลียนแบบกลุ่มชนใด ถือว่าเป็นชนกลุ่มนั้น" มีขอบเขตเพีบงใดค่ะ
เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา หรือความเชื่อ อยู่ในเงื่อนไขนี้ไหมค่ะ เช่น การนุ่งกางเกงยีน การใส่เน็คไท การสวมชุดคลุยตามชาวตะวันตก เป็นต้น และหากไม่ได้เกี่ยวกับศาสนา หรือความเชื่อ แต่มีกำหนดวันที่แน่นอนทุปี เช่น การจัดงานวันเด็ก ที่ให้สำคัญแก่เด็กๆ เช่นนี้ถือเป็นการเลียนแบบและเพิ่มเติมในศาสนาหรือไม่ค่ะ
สำหรับวันปีใหม่ ที่ทำงานมีการจัดงานเลี้ยงมีการจับของขวัญเนื่องวันปีใหม่กัน พนักงานทั้งหมดที่เป็นมุสลิมเข้าร่วมจับของขวัญทั้งหมด ยกเว้นดิฉัน โดยเขาพูดว่าเจตนาไม่ใช่จับของขวัญเนื่องวันปีใหม่ แต่เพื่อแลกเปลียนสิ่งของกันเท่านั้น เพราะช่วงอื่นๆไม่มีโอกาสรวมตัวกันเช่นนี้ หากมีเจตนาเช่นนี้มุสลิมทำได้ใช่ไหมค่ะ

ตอบ
วะอลัยกุมุสสลาม ..
หะดีษที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวไว้ซึ่งมีความหมายว่า "ผู้ใดที่เลียนแบบชนกลุ่มใด เขาก็คือส่วนหนึ่งของชนกลุ่มนั้นด้วย" เป็นหะดีษที่ถูกต้อง หรืออย่างน้อยก็หะซัน บันทึกโดยท่านอบูดาวูดและท่านอะห์มัด มีเป้าหมายเพื่อห้ามปรามมุสลิมมิให้ปฏิบัติสิ่งใดเป็นการเลียนแบบศาสนิกอื่น ในสิ่งที่เป็น "บทบัญญัติ" เฉพาะของศาสนานั้นๆ เช่นการโกนผม โกนคิ้ว แล้วสวมใส่จีวรเลียนแบบพระสงฆ์ในศาสนาพุทธ เป็นต้น หรือเลียนแบบการกระทำใดๆที่ศาสนิกของศาสนาอื่นได้ "ริเริ่ม" กระทำขึ้นมา จนสุดท้ายกลายเป็น "ประเพณีนิยม" เหมือนกับเป็น "ส่วนหนึ่ง" ของศาสนานั้นไป เช่นการจัดงานวันเกิดอันเป็นการเลียนแบบวันคริสต์มาส, การสวมแหวนหมั้นหรือแหวนแต่งงาน, การตัดเค้กในวันแต่งงาน, การเฉลิมฉลองวันแห่งความรัก (วาเลนไทน์) ซึ่งเป็นประเพณีนิยมของชาวคริสต์ หากมุสลิมคนใดไปปฏิบัติตาม ก็ถือเป็นการเลียนแบบชาวคริสต์ในเรื่องเหล่านั้นอันเป็นเรื่องต้องห้ามตามนัยของหะดีษบทนั้น ..
หรือการไปร่วมในวันสงกรานต์, วันลอยกระทง อันเป็นประเพณีนิยมของชาวพุทธ,
หรือมีการยกเสาเอกและพิธีกรรมอื่นๆในการสร้างบ้านใหม่ อันเป็นการเลียนแบบพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ เป็นต้น
ก็ถือเป็นเรื่องต้องห้ามเช่นเดียวกัน ...
อนึ่ง หากการเลียนแบบนั้น เป็นเรื่องค่านิยมของประชาชนในแต่ละชาติหรือแต่ละประเทศ - ไม่ว่าพวกเขาจะถือศาสนาใด - ปฏิบัติกัน อันไม่เกี่ยวกับศาสนา อย่างเช่นการนุ่งกางเกงยีนส์, การใส่เน็คไทร์, การใส่ชุดสากลเลียนแบบชาวยุโรป, หรือการรับประทานอาหารโดยใช้ตะเกียบเลียนแบบชาวจีน, หรือการใส่เสื้อม่อฮ่อม เลียนแบบชาวเหนือ เป็นต้น อย่างนี้ ผมมองว่า ไม่เข้าในประเด็นห้ามของหะดีษบทนั้นหรอกครับ ...
สำหรับเรื่องงานวันเด็ก, วันครูที่ทางการจัดขึ้นมา ผมเห็นว่าไม่ผิดที่เด็กมุสลิมจะไปร่วมด้วย ยกเว้นจะมีพิธีกรรมใดๆในวันเด็กหรือวันครูที่ขัดแย้งกับหลักการอิสลาม ก็ห้ามเด็กของเราอย่าให้ไปร่วม
ส่วนเรื่องงานวันขึ้นปีใหม่ แม้พื้นฐานอาจเป็นสากลที่คนทั้งโลกเขาจัดกัน ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนาใดโดยเฉพาะ แต่ผมเห็นว่าไม่สมควรที่มุสลิมจะไปร่วม เพราะมันมีหลายอย่างในงานปีใหม่ที่เป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับมุสลิม ..
สำหรับการ "แลก" หรือ "จับสลาก" ของขวัญวันเด็กหรือวันปีใหม่กัน ในมุมมองผมเห็นว่า น่าจะทำได้ครับ เพราะมันไม่จัดอยู่ในความหมายต้องห้ามของหะดีษบทนั้น และไม่ใช่เป็นการเสี่ยงเรื่องโชคลางประเภท "ลางดี - ลางร้าย" ที่ศาสนาห้าม .. อย่างความเข้าใจของนักวิชาการบางท่าน
วัลลอฮุ อะอฺลัม ...


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น