อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559

จำเป็นหรือไม่ที่ผู้นำจะต้องเป็นมะอฺศูม (ผู้ไร้บาป)


โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย ... 

ผมเคยกล่าวไว้แล้วว่า นักวิชาการบางท่านยอมรับความจริงว่า จุฬาราชมนตรี คือผู้นำของมุสลิมในประเทศไทย ...
แต่ปฏิเสธที่จะถือบวชออกบวชตามจุฬาราชมนตรี เพราะรังเกียจพฤติการณ์ของจุฬาราชมนตรีบางท่านที่มองดูแล้วเข้าข่ายชิริก หรือผิดบทบัญญัติของศาสนาอย่างร้ายแรง ...
เรียกว่า ทั้งรัก ทั้งชัง .. ว่างั้นเถอะ ...
ผมเคยสะเออะคุยเรื่องการบ้านการเมืองกับเพื่อนคนหนึ่ง .. ผมถามเขาว่า ชอบนายกรัฐมนตรีคนไหนมากที่สุด ...
เขาตอบว่า ชอบนายกทักษิณมากที่สุด ...
ผมถามอีกว่า แล้วเกลียดนายกรัฐมนตรีคนไหนมากที่สุด ..
เขาตอบว่า เกลียดนายกทักษิณมากที่สุด ...
เอ๊ะ แปลกแฮะ ชอบมากก็ทักษิณ เกลียดมากก็ทักษิณ ...
ผมเลยถามเหตุผลจากคำตอบข้างต้นว่าหมายความว่าอย่างไร ? ...
เขาอธิบายว่า ที่ชอบนายกทักษิณมากที่สุดก็เพราะในทัศนะของเขา นายกทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีที่เก่งและมีความสามารถที่สุดยิ่งกว่านายกฯทุกคนเท่าที่ ประเทศไทยเคยมีมา ...
แต่ที่เกลียดนายกทักษิณมากที่สุด ก็เพราะนายกทักษิณเป็นนายกที่มีพฤติการณ์เห็นแก่ตัวที่สุด .. ยิ่งกว่านายกทุกคนเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา ...
ผมจึงถึงบางอ้อ และเชื่อว่า คงมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีความคิดเช่นเดียวกับเพื่อนของผมคนนี้ ...
มาพูดเรื่องของเราต่อกันดีกว่า ...
ผมเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของผู้ที่ปฏิเสธจะตามจุฬาฯ ด้วยเหตุผลที่ว่าจุฬาฯ บางท่านทำชิริก, บางท่านก็ทำผิดบทบัญญัติอย่างร้ายแรง, และในอดีต จุฬาฯบางท่านก็ประกาศให้คนถือบวชออกบวชโดยอ้างว่ามีผู้เห็นเดือนเสี้ยว ทั้งๆที่ในคืนนั้น ไม่มีเดือนเสี้ยวค้างอยู่ตามหลักคำนวณดาราศาสตร์ ...
แต่ผมก็เข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของผู้เป็นจุฬาราชมนตรีเช่นเดียวกันว่า บางครั้งก็อาจตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้า – คายไม่ออก ...
ตัวอย่างเช่น หลายครั้งในอดีตที่จุฬาราชมนตรีบางท่าน ออกประกาศในคืนที่ 29 ให้ประชาชนดูเดือนเสี้ยว และให้ผู้เห็นเดือนเสี้ยวแจ้งข่าวแก่ท่าน ทั้งๆที่ท่านก็รู้ดีว่า ตามหลักคำนวณดาราศาสตร์แล้ว เดือนเสี้ยวคืนนั้นมันไม่มี ...
เมื่อออกประกาศไปแล้ว และมีผู้มาแจ้งข่าวเห็นเดือนแก่ท่าน หากท่านไม่ยอมรับโดยยึดถือตามคำนวณดาราศาสตร์ว่าเดือนเสี้ยวไม่มี ผู้แจ้งข่าวเห็นเดือนก็อาจต่อว่าท่าน(ด้วยความโมโห) ว่า ...
“คุณมึงใช้ให้ผมดูเดือนและให้มาแจ้งข่าวถ้าเห็นเดือน พอผมดูเดือนและแจ้งข่าวเห็นเดือน คุณมึงกลับไม่ยอมรับ อ้างว่าคืนนี้เดือนเสี้ยวไม่มี .. ก็เมื่อรู้แล้วว่าเดือนเสี้ยวไม่มีแล้วคุณมึงใช้ให้ผมดูเดือนทำห่ ... อะไรวะ” ...
ถ้าท่านเป็นจุฬาราชมนตรีเอง ท่านจะตอบเขาอย่างไรครับ ? ...
จริงอยู่ ตามปกติผู้นำทุกท่าน ทุกระดับ ควรจะมีวุฒิภาวะ, คุณธรรม, จริยธรรม เหนือกว่าชาวบ้านธรรมดา ...
แต่เราก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า ผู้นำทุกระดับที่ว่านั้นไม่ใช่มลาอิกะฮ์ แต่เป็นปุถุชนเหมือนเรา ...
เมื่อเป็นปุถุชน จึงยากที่จะหลีกเลี่ยงจากความผิดพลาด ...
ในอัล-กุรฺอ่านได้กล่าวถึง “ความผิด” ของท่านนบีย์อาดัมอะลัยฮิสสลามที่ฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์อัลลอฮ์ซ.บ. ด้วยการไปกินผลไม้ต้องห้าม .. ในอายะฮ์ที่ 36 ซูเราะฮ์อัล-บะกอเราะฮ์ ...
และในอัล-กุรฺอ่าน ยังได้กล่าวถึง “ความพลาด” ของท่านนบีย์มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่แสดงความไม่พอใจต่อคนตาบอดที่เข้ามาขัดจังหวะขณะที่ท่านกำลังสนทนากับผู้ นำมุชริกบางคน .. จนถูกพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ตำหนิในอายะฮ์ที่ 1-10 ซูเราะฮ์ عَبَسَ ...
ตัวอย่างเหล่านี้จากอัล-กุรฺอ่าน แสดงว่ามนุษย์ทุกคน –ไม่มีข้อยกเว้นแม้กระทั่งผู้เป็นนบีย์หรือรอซู้ลฯ – จะหลีกเลี่ยงจากความ “ผิด–พลาด” หาได้ไม่ ...
ผมชอบใจคำคมของ “อิงอร” นักเขียนคนหนึ่งที่เคยกล่าวไว้ในนิยายเรื่องหนึ่งว่า
“ความผิดพลาดเป็นธรรมดาของมนุษย์ ไม่เคยมีเด็กคนไหนที่เติบโตขึ้นมาโดยไม่เคยหกล้ม” ...
เห็นภาพเลยครับ ...
ดังนั้น ในหลักการของอิสลามจึงไม่เคยมีบทบัญญัติไว้ว่า “ผู้นำ” จะต้องเป็นมะอฺศูม คือเป็นผู้ไร้บาปและ/หรือจะต้องปราศจากความผิดพลาดโดยสิ้นเชิง ...
นอกจากใน “อะกีดะฮ์” ของพวกชีอะฮ์เท่านั้นที่มีกำหนดเอาไว้ว่า อิหม่ามของพวกเขาล้วนเป็นมะอฺศูม .. ซึ่งพวกเรา – ขาวซุนนะฮ์ - ไม่ถือว่า ข้อกำหนดอย่างนี้เป็นอะกีดะฮ์หรือความเชื่อของอิสลาม ...
เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ถ้าเราเป็นคนมีเหตุผล, มีความเป็นธรรมอยู่ในหัวใจ และศรัทธาในคำสั่งของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมอย่างแท้จริง เราก็ควรจะแยกให้ออกระหว่างอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว กับหลักการศาสนาตามคำสั่งของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมมิใช่หรือครับ ? ...
ผู้นำระดับคอลีฟะฮ์ของมุสลิมในอดีตหลายท่าน ก็เคยมีพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมและถูกประณามว่าเป็นคน “ฟาซิก” จนกลายเป็น “จุดอ่อน” ให้พวกชีอะฮ์นำมากล่าวโจมตีพวกซุนหนี่ (อะฮฺลิซซุนนะฮ์) อยู่จนถึงปัจจุบัน ...
แต่กระนั้น ประชาชนในยุคของเขาก็ยังฏออัตต่อคำสั่งที่ถูกต้องของเขา ...
ความจริงผมไม่อยากจะรื้อฟื้นเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาพูดเป็นการสาวไส้ให้กากิน แต่จำเป็นจะต้องนำข้อมูลเพียงบางส่วนมาให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบเพื่อเป็น หลักฐานว่า ต่อให้พฤติการณ์ส่วนตัวของผู้นำจะแย่ขนาดไหน ก็วายิบสำหรับประชาชนจะต้องปฏิบัติตาม หากคำสั่งของเขาเป็นคำสั่งใช้ให้กระทำสิ่งที่ “ถูกต้อง” ตามบทบัญญัติ ...
(1). ท่านอัล-วะลีด บินอุกบะฮ์ บินอบีย์มุอีฏ ผู้ซึ่งท่านคอลีฟะฮ์อุษมาน บินอัฟฟาน ร.ฎ. แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองกูฟะฮ์ในปี ฮ.ศ. 26 หลังจากที่ได้ถอดท่านสะอัด บินอบีย์วักกอฏ ร.ฎ. ออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองดังกล่าว ...
มีกล่าวในหนังสือ “شَرْحُ الْعَقِيْدَةِ الطَّحَاوِيَّةِ” .. หน้า 422 ว่า ...
وَكَذَلِكَ عَبْدُاللهِ بْنُ مَسْعُوْدٍ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ وَغَيْرُهُ يُصَلُّوْنَ خَلْفَ الْوَلِيْدِ بْنِ عُقْبَةَ بْنِ أَبِىْ مُعِيْطٍ، وَكَانَ يَشْرَبُ الْخَمْرَ ....
“ในทำนองเดียวกัน ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุมัสอูด ร.ฎ. และเศาะหาบะฮ์ท่านอื่นๆ ก็ยังเคยนมาซตามท่านอัล-วะลีด บินอุกบะฮ์ บินอบีย์มุอีฏ ทั้งๆที่เขาเป็นคนชอบดื่มสุรา (จนครั้งหนึ่ง เคยนำนมาซซุบห์ถึง 4 ร็อกอะฮ์ก็มี) ...
(2). ท่านยะซีด บินมุอาวิยะฮ์ (เป็นคอลีฟะฮ์ท่านที่ 2 แห่งวงศ์อุมัยยะฮ์ .. ครองอาณาจักรชามต่อจากท่านมุอาวิยะฮ์ ร.ฎ. ผู้เป็นบิดาในปี ฮ.ศ. 61-64, รวมเวลาอยู่ในตำแหน่ง 3 ปี 8 เดือน) ...
ท่านอิบนุหะญัร อัล-ฮัยตะมีย์ นักวิชาการฟิกฮ์ผู้โด่งดังแห่งมัษฮับชาฟิอีย์ (มีชีวิตระหว่างปี ฮ.ศ. 909-974, สิ้นชีวิตที่นครมักกะฮ์, มัยยิตของท่านถูกฝังที่สุสานมะอฺลา) ได้กล่าวในหนังสือ “اَلصَّوَاعِقُ الْمُحَرِّقَةُ” เล่ม 2 หน้า 630, 632 ว่า ...
وَاعْلَمْ أَنَّ أَهْلَ السُّنَّةِ قَدِ اخْتَلَفُوْا فِىْ تَكْفِيْرِ يَزِيْدَ بْنِ مُعَاوِيَةَ وَوَلْىِ عَهْدِهِ مِنْ بَعْدِهِ، فَقَالَتْ طَائِفَةٌ : إِنَّهُ كَافِرٌ، ........... وَقَالَتْ طَائِفَةٌ : لَيْسَ بِكَافِرٍ ...
“พึงทราบเถิดว่า แท้จริงชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ได้ขัดแย้งกัน (ขอย้ำว่า ที่ขัดแย้งกันคือชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์, ไม่ใช่พวกชีอะฮ์) ในการหุก่มว่า ท่านยะซีด บินมุอาวิยะฮ์เป็นกาฟิรฺหรือไม่ ? .. และการปกครองของท่านในยุคหลังจากท่านมุอาวิยะฮ์ถูกต้องหรือไม่ ? บางพวกกล่าวว่า ท่านยะซีดเป็นกาฟิรฺ ........ และบางพวกกล่าวว่า ท่านไม่ใช่กาฟิรฺ”
แล้วท่านอิบนุหะญัรฺ ก็ได้กล่าวสรุปในหน้าที่ 632 หนังสือเล่มเดียวกันนั้นว่า ...
وَعَلَى الْقَوْلِ بِأَنَّهُ مُسْلِمٌ، فَهُوَ فَاسِقٌ، شَرِيْرٌ، سَكِيْرٌ، جَائِرٌ
“และแม้จะยึดถือตามทัศนะที่ว่า ท่านยะซีดยังเป็นมุสลิมอยู่ แต่เขาก็คือ คนเลว, คนชั่ว, คนขี้เมา, คนอธรรม” ...
ถึงขนาดนี้ ก็ไม่เคยปรากฏว่าจะมีมุสลิมคนใด ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ถูกต้องของท่าน ...
(3). ท่านอัล-หัจญาจญ์ บินยูซุฟ อัษ-ษะเกาะฟีย์ ซึ่งเคยปกครองนครมะดีนะฮ์, ต่อมาท่านอับดุลมะลิก บินมัรฺวาน คอลีฟะฮ์ท่านที่ 5 แห่งวงศ์อุมัยยะฮ์ ได้โยกท่านออกจากตำแหน่งเดิม ไปเป็นผู้ครองเมืองอิรัก, บัศเราะฮ์ และกูฟะฮ์ ในปี ฮ.ศ. 75 .. ดังข้อมูลจากหนังสือหนังสือ “อัล-บิดายะฮ์ วัน-นิฮายะฮ์” เล่มที่ 9 หน้า 11 ...
มีกล่าวในหนังสือ “شَرْحُ الْعَقِيْدَةِ الطَّحَاوِيَّةِ” หน้า 421 เกี่ยวกับท่านอัล-หัจญาจญ์ ว่า ...
((وَفِىْ صَحِيْحِ الْبُخَارِىِّ)) أَنَّ عَبْدَاللهِ بْنَ عُمَرَ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ كَانَ يُصَلِّى خَلْفَ الْحَجَّاجِ بْنِ يُوْسُفَ الثَّقَفِىِّ، وَكَذَلِكَ أَنَسُ بْنُ مَالِكٍ، وَكَانَ الْحَجَّاجُ فَاسِقًا ظَالِمًا
“มีบันทึกในหนังสือเศาะเหี๊ยะฮ์บุคอรีย์ว่า ท่านอับดุลลอฮ์ บินอุมัรฺ ร.ฎ. และเช่นเดียวกัน ท่านอนัส บินมาลิก ร.ฎ. ได้เคยนมาซหลัง (คือเป็นมะอ์มูมของ) ท่านอัล-หัจญาจญ์ บินยูซุฟ อัษ-ษะเกาะฟีย์ ทั้งที่ท่านอัล-หัจญาจญ์เป็นคนฟาซิก, คนอธรรม”
(4). ท่านอัล-วะลีด บินยะซีด บินอับดุลมะลิก, (เป็นคอลีฟะฮ์ท่านที่ 11 แห่งวงศ์อุมัยยะฮ์, ดำรงตำแหน่งคอลีฟะฮ์ในปี ฮ.ศ. 125) ...
ท่านอิบนุกะษีรฺ ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-บิดายะฮ์ วัน-นิฮายะฮ์” เล่มที่ 6 หน้า 635 ว่า ท่านอัล-วะลีด บิน ยะซีดผู้นี้ เป็นคนฟาซิก (คนเลว) ...
ท่านอัล-หะซัน อัล-บัศรีย์ (เป็นตาบิอีนระดับอาวุโส, สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 110) ได้ตอบคำถามของผู้ที่ถามท่านเรื่อง “การนมาซตามหลังอิหม่ามที่ทำบิดอะฮ์” ว่า ..
صَلِّ خَلْفَهُ! وَعَلَيْهِ بِدْعَتُهُ
“จงนมาซตามเขาไปเถอะ! เรื่องบิดอะฮ์ของเขา เขาจะต้องรับผิดเอาเอง”
(จาก “เศาะเหี๊ยะฮ์บุคอรีย์” บาบที่ 56 กิตาบอัล-อะซาน ด้วยสายรายงานมุอัล
ลัก, และท่านสะอีด บิน มันศูรฺ ได้บันทึกด้วยสายรายงานที่ต่อเนื่องและถูกต้อง) ...
และท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ยังได้เคยกล่าวไว้ว่า ...
((يُصَلُّوْنَ لَكُمْ! فَإِنْ أَصَابُوْا فَلَكُمْ، وَإِنْ أَخْطَؤُوْا فَلَكُمْ وَعَلَيْهِمْ))
“ให้พวกเขา (ผู้นำ)นำนมาซพวกท่านไปเถอะ! ถ้าหากพวกเขาถูกต้อง พวกท่านก็ได้รับผลบุญ (และพวกเขาก็ได้รับผลบุญ), ถ้าหากพวกเขาทำผิด พวกท่านก็ยังได้รับผลบุญ แต่พวกเขาต้องรับความผิดนั้นเอาเอง”
(บุคอรีย์, หะดีษที่ 694)
ตัวอย่างจากข้อมูลที่ได้นำเสนอมานี้ จึงเป็นหลักฐานที่แสดงว่า ผู้นำนั้น –ไม่ว่าจะเป็นคอลีฟะฮ์ซึ่งเป็นผู้นำระดับประเทศ, หรืออิหม่ามมัสญิดซึ่งเป็นผู้นำระดับล่าง -- ก็คือปุถุชนคนหนึ่ง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะต้องบริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากมลทินเหมือนผ้าขาวที่ถูก พับเก็บไว้ในตู้เซฟ ...
ขนาดผู้นำบางท่านเป็นคนฟาซิก, คนเลว, คนชั่ว, คนอธรรม, คนขี้เหล้า บรรดาเศาะหาบะฮ์ชั้นนำระดับท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุมัสอูด, ท่านอนัส อิบนุมาลิก, ท่านอับดุลลอฮ์อิบนุอุมัร ร.ฎ. และเศาะหาบะฮ์ท่านอื่นๆ ก็ยังคงนมาซตามพวกเขา ...
ขนาดผู้นำทำบิดอะฮ์ ท่านอัล-หะซัน อัล-บัศรีย์ นักวิชาการระดับสูงของตาบิอีนก็ยังแนะนำให้นมาซตามหลังเขา เพราะบิดอะฮ์ของเขา เขารับผิดชอบ ไม่ใช่เราต้องไปรับผิดชอบแทนเขา ...
และต่อให้ผู้นำนมาซผิด ท่านศาสดาก็ยังสั่งใช้ให้เป็นมะอ์มูมของพวกเขา ..
แล้ว, .. ผู้นำที่ยึดหลักการถือศีลอดและออกอีดด้วยการดูเดือน .. ถูกต้องตามซุนนะฮ์ทุกประการ ...
มีหลักฐานข้อใดหรือที่อนุญาตให้เราแยกตัวออกและไม่ต้องปฏิบัติตาม ? ...
หมายเหตุ
เพื่อนฝูงบางคน กึ่งถาม-กึ่งปรึกษากับผมว่า มีผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นชาวซุนนะฮ์จำนวนหนึ่ง ถือบวชออกบวชตามการคำนวณดาราศาสตร์โดยตรง ไม่ยอมดูเดือนเสี้ยวเลย อย่างนี้จะใช้ได้หรือไม่ ? ...
ขออภัยที่ผมจำเป็นต้องตอบว่า ผู้ที่ถือบวชออกบวชตามการคำนวณดาราศาสตร์โดยไม่ยอมดูเดือนเสี้ยว ไม่ถือว่า เป็นชาวซุนนะฮ์หรอกครับ ...
คนกลุ่มนี้ คงอาศัยความเข้าใจ (เอาเอง) จากคำสั่งของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมที่ว่า ............... صُوْمُوْالِرُؤْيَتِهِ : แปลว่า พวกท่านจงถือศีลอดเนื่องจากการเห็นเดือนเสี้ยว .........) แล้วพวกเขาก็คงอธิบายว่า ...
ภาษาอาหรับว่า رُؤْيَتِهِ แปลเป็นภาษาไทยว่า เห็นมัน(เดือนเสี้ยว), .. ซึ่งการ “เห็น” นั้น จะมี 2 ลักษณะคือ ...
1. “เห็น” ด้วยตา ...
2. “เห็น” ด้วยความรู้ (คือการคำนวณดาราศาสตร์) ...
เพราะฉะนั้น เราจึงมีสิทธิ์ที่จะเลือกการเห็นเดือนเสี้ยวด้วย “ตา” ก็ได้, ด้วยการ “คำนวณดาราศาสตร์” ก็ได้ ....
โดนเข้าไม้นี้ ท่านจะตอบเขาว่าอย่างไรครับ ? ...
สำหรับผม ขอเรียนชี้แจงว่า ...
1. ความเข้าใจของเขาที่ว่า คำว่า رُؤْيَةٌ ในทางภาษา จะแปลว่าเห็นด้วยตา ก็ได้, เห็นด้วยใจ (คือรู้) ก็ได้ เป็นเรื่องถูกต้องครับ ...
แต่มิได้หมายความว่า คำว่า رُؤْيَةٌ คำเดียว, ในประโยคเดียวกันดังหะดีษบทนั้น จะเลือกแปลอย่างหนึ่งอย่างใดจาก 2 ความหมายได้ตามใจชอบ อย่างที่พวกเขาเข้าใจ ...
เพราะในแง่ภาษาอาหรับ .. رُؤْيَةٌ ที่แปลว่าเห็นด้วยตา จะมีลักษณะอย่างหนึ่ง และ رُؤْيَةٌ ที่แปลว่าเห็นด้วยใจหรือรู้ จะมีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกันหรอกครับ
คำว่า رُؤْيَةٌ ที่แปลว่าเห็นด้วยตา จะมี “กรรม” เพียงตัวเดียวมารองรับ ...
แต่ رُؤْيَةٌ ที่แปลว่ารู้ ต้องมีกรรม 2 ตัวมารองรับครับ ...
“กรรม” ตามความหมายในวิชาไวยากรณ์ หมายถึงสิ่งที่ถูกกระทำ อย่างเช่นคำสั่งให้เห็นเดือนเสี้ยวในหะดีษบทนี้ ...
คำว่า เดือนเสี้ยว ถือว่าเป็นกรรม .. เพราะเป็นสิ่งที่ “ถูกเห็น” ...
หลักฐานในเรื่องนี้ก็คือ ท่านอิบนุมาลิก ได้กล่าวอธิบายในหนังสือ “أَلْفِيَّةُ” ของท่านว่า ...
إِنْصِبْ بِفِعْلِ الْقَلْبِ جُزْأَيِ ابْتِدَا أَعْنِىْ رَأَى خَلاَ عَلِمْتُ وَجَدَا
ผมจะไม่แปลให้ท่านฟังนะครับ เพราะผมไม่มีเป้าหมายสอนไวยากรณ์อาหรับขณะนี้ .. เพียงแต่จะบอกให้รู้ว่า ความหมายของบทกลอนข้างต้นก็คือ رُؤْيَةٌ ที่แปลว่ารู้ (ไวยากรณ์อาหรับเรียกว่า فِعْلُ الْقَلْبِ)จะต้องมีกรรม 2 ตัว .. ดังที่ผมบอกไปนั้น ...
ทีนี้เรามาดูหะดีษบทนั้น ที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า ...
صًوْمًوْا لِرُؤْيَتِهِ .............................
ซึ่งมีความหมายว่า “พวกท่านจงถือศีลอดเนื่องจากเห็นมัน” ...
คำว่า “เห็นมัน” แปลมาจากคำในหะดีษที่ว่า رُؤْيَتِهِ ซึ่งเป็นคำสมาส (إِضَافَةٌ) สามารถแยกแฟ็คเตอร์ออกเป็น رُؤْيَةِ แปลว่าเห็น, กับ هِ แปลว่า มัน ...
ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า คำว่า “เห็น” (رُؤْيَةِ) ในประโยคนี้ มีกรรมเพียงตัวเดียวมารองรับ คือคำว่า “มัน” (هِ) ...
เพราะฉะนั้น เมื่อ رُؤْيَةِ ในประโยคนี้, ในหะดีษบทนี้มีกรรมเพียงตัวเดียว ก็จะแปลว่า “เห็นด้วยความรู้” ไม่ได้ครับ ...
แต่จะต้องแปลว่า “เห็นด้วยตา” (إِبْصَارٌ) เท่านั้น ...
2. การใช้หลักคำณวนดาราศาสตร์เพื่อถือบวชออกบวชอย่างอิสระ จะขัดแย้งกับหะดีษบทหนึ่งที่ผ่านมาแล้วข้างต้น คือหะดีษที่ว่า ...
اَلصَّوْمُ يَوْمَ تَصُوْمُوْنَ، وَالْفِطْرُ يَوْمَ تُفْطِرُوْنَ، وَاْلأَضْحَى يَوْمَ تُضَحُّوْنَ ...
ท่านอิบนุล ก็อยยิม อัลญูซียะฮ์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 751) ได้กล่าวอธิบายหะดีษบทนี้ในหนังสือ “ตะฮ์ซีบ อัส-สุนัน” เล่มที่ 3 หน้า 214 ว่า ...
(( قِيْلَ : فِيْهِ الرَّدُ عَلَى مَنْ يَقُوْلُ : إِنَّ مَنْ عَرَفَ طُلُوْعَ الْقَمَرِ بِتَقْدِيْرِ حِسَابِ الْمَنَازِلِ جَازَ لَهُ أَن يَّصُوْمَ وَيُفْطِرَ ........ وَقِيْلَ : إِنَّ الشَّاهِدَ الْوَاحِدَ إِذَا رَأَى الْهِلاَلَ وَلَمْ يَحْكُمِ الْقَاضِىْ بِشَهَادَتِهِ أَنَّهُ لاَ يَكُوْنُ هَذَا لَهُ صَوْمًا، كَمَالَمْ يَكُنْ لِلنَّاسِ )) ...
“กล่าวกันว่า ในหะดีษบทนี้ เป็นหลักฐาน “หักล้าง” ผู้ที่กล่าวว่า อนุญาตให้ผู้ที่รู้เวลาการขึ้นหรือตกของดวงจันทร์โดยการคำนวณดาราศาสตร์ สามารถถือศีลอดหรือออกอีดได้โดยอิสระ ........... และยังกล่าวกันอีกว่า บุคคลเพียงคนเดียวที่เห็นเดือนเสี้ยว โดยที่ผู้นำหรือกอฎีย์ไม่ยอมรับการเห็นเดือนของเขา เขาก็ไม่จำเป็นต้องถือศีลอด อย่างเดียวกับประชาชนทั่วไปก็ไม่จำเป็นต้องถือศีลอด (ตามการเห็นเดือนเสี้ยวของเขา)เช่นเดียวกัน” ...
สรุปเนื้อหาจากเรื่องจำเป็นหรือไม่ที่ผู้นำจะต้องเป็น “มะอฺศูม” (ผู้ไร้บาป)ก็คือ ผู้นำไม่จำเป็นต้องเป็นมะอฺศูมหรอกครับ ...
และประเด็นเรื่องการ “วายิบ” ต้องตามผู้นำก็ไม่ได้อยู่ที่ผู้นำดีหรือผู้นำเลว ...
แต่อยู่ที่คำสั่งของผู้นำว่า ถูกหรือผิด เท่านั้นครับ ...
อย่างผม .. สมมุตินะครับ, สมมุติว่าผมจะไม่ชอบน้ำหน้าจุฬาราชมนตรีสักขนาดไหน (แต่เรื่องจริงมันไม่มีดังที่สมมุติ เพราะท่านจุฬาราชมนตรีคนปัจจุบันกับผมเป็นทั้งเพื่อนสนิทกันและเป็นทั้งญาติ กัน แต่นั่นเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่หลักการ) ผมก็ขอเรียนท่านตรงๆ, สั้นๆ ว่า ...
ถ้าท่านสั่งให้ผมทำสิ่งถูก ผมตาม, แต่ถ้าท่านสั่งให้ผมทำสิ่งผิด ผมไม่ตาม 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น