โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย
ในกรณีนี้ ผมไม่เคยเจอรายงานใดๆที่ระบุสาเหตุดังกล่าวนี้เอาไว้แม้แต่บทเดียว ...
แต่ในแง่การ "สันนิษฐาน" .. นักวิชาการหลายท่านมองตรงกันว่า สาเหตุที่มีการเพิ่มจำนวนร็อกอะฮ์นมาซตะรอเวี๊ยะห์จาก 11 ร็อกอะฮ์ เป็น 20 ร็อกอะฮ์ในสมัยนั้น อาจเป็นเพราะต้องการแก้ไขปัญหา "ยืนนาน - อ่านยาว" ของอิหม่ามสมัยนั้นที่สร้างความเหนื่อยล้าให้กับมะอฺมูม ...
(ดูข้อมูลจากหนังสือ "ฟัตหุ้ลบารีย์" เล่มที่ 4 หน้า 253, หนังสือ "มัจญมุอฺ ฟะตาวีย์" ของท่านอิบนุตัยมียะฮ์ เล่มที่ 23 หน้า 113, หนังสือ "อัลหาวีย์ ลิ้ลฟะตาวีย์" ของท่านอัส-สะยูฏีย์ เล่มที่ 1 หน้า 543 เป็นต้น) ...
ก่อนอื่น ขอเรียนว่า จากการที่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ออกมานำเศาะหาบะฮ์ของท่านนมาซตะรอเวี๊ยะห์ 3 คืนนั้น มีรายงานที่ถูกต้องว่า ..
ในคืนแรก ท่านจะนำนมาซเสร็จประมาณ 1 ใน 3 ของกลางคืน คือเสร็จประมาณ 4 ทุ่ม
คืนที่สอง ท่านจะนำพวกเขานมาซจนถึงครึ่งคืนหรือเที่ยงคืน ...
คืนที่สาม ท่านจะนำนมาซจนเกือบถึงเวลานมาซซุบฮี่ ...
รายงานดังกล่าวนี้แสดงว่า ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ผ่อนผันให้อุมมะฮ์ของท่านเลือกทำนมาซตะรอเวี๊ยะห์ได้ตามความเหมาะสมและความสามารถของพวกเขา คือใช้เวลาน้อย, ใช้เวลาปานกลาง และใช้เวลานานมาก ...
แต่ไม่ว่าใครจะเลือกเอาเวลาน้อย, เวลาปานกลาง หรือเวลานานมาก ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามซุนนะฮ์ทั้งสิ้น ...
จากคำสั่งของท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ.ที่สั่งท่านอุบัยย์และท่านตะมีมให้นำบรรดาเศาะหาบะฮ์นมาซตะรอเวี๊ยะห์กัน 11 ร็อกอะฮ์ ปรากฏว่า - ในช่วงแรกๆ - ท่านอุบัยย์ซึ่งเป็นอิหม่ามนำนมาซฝ่ายผู้ชายเลือกปฏิบัติตามข้อสาม .. คือใช้เวลานานมาก .. เพราะท่านนำพวกเขานมาซกันจนถึงเวลา(เกือบ)ปรากฏแสงอรุณจึงเสร็จสิ้นการนมาซ .. ดังรายงานที่ถูกต้องของท่านอิหม่ามมาลิกในหนังสือ อัล-มุวัฏเฏาะอ์ เล่มที่ 1 หน้า 137 หรือหะดีษที่ 248 ......
จากจุดนี้ จึง "อาจจะ" เป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงจำนวนร็อกอะฮ์ของนมาซตะรอเวี๊ยะห์จาก 11 เป็น 20 ภายหลังก็เป็นได้ ...
ท่านอิบนุตัยมียะฮ์กล่าวว่า ...
وَأُبَىُّ بْنُ كَعْبٍ لَمَّا أَقَامَ بِهِمْ وَهُمْ جَمَاعَةٌ وَاحِدَةٌ لَمْ يُمْكِنْ أَنْ يُطِيْلَ بِهِمُ الْقِيَامَ، فَكَثَّرُوْاالرَّكَعَاتِ لِيَكُوْنَ ذَلِكَ عِوَضًا عَنْ طُوْلِ الْقِيَامِ، .................فَإِنَّهُ كَانَ يَقُوْمُ بِاللَّيْلِ إِحْدَى عَشْرَةَ رَكْعَةً أَوْ ثَلاَثَ عَشْرَةَ رَكْعَةً، ثُمَّ بَعْدَ ذَلِكَ كَانَ النَّاسُ بِالْمَدِيْنَةِ ضَعُفُوْا عَنْ طُوْلِ الْقِيَامِ، فَكَثَّرُوْاالرَّكَعَاتِ، حَتىَّ بَلَغَتْ تِسْعًا وَثَلاَثِيْنَ ...
“และท่านอุบัยย์ บินกะอฺบ์นั้น เมื่อท่านนำพวกเขานมาซ(ตะรอเวี๊ยะห์)เป็นญะมาอะฮ์เดียว ท่านก็ไม่อาจนำพวกเขายืนนมาซนานๆได้ พวกเขาจึงเพิ่มจำนวนร็อกอะฮ์ให้มากขึ้นเพื่อเป็นการทดแทนจากการยืนนานๆ, .................. เนื่องจากท่านอุบัยย์เคยยืนนมาซยามค่ำคืนเพียง 11 ร็อกอะฮ์หรือ 13 ร็อกอะฮ์ หลังจากนั้น(คือหลังจากเคยเพิ่มจาก 11 ร็อกอะฮ์เป็น 23 ร็อกอะฮ์แล้ว) ชาวเมืองมะดีนะฮ์ยังรู้สึกอ่อนล้าจากการยืนนมาซนานๆ พวกเขาจึงเพิ่มร็อกอะฮ์ให้มากขึ้นอีกจนถึง 39 ร็อกอะฮ์” ...
(จากหนังสือ “มัจญมูอุ้ลฟะตาวีย์” ของท่านอิบนุตัยมียะฮ์ เล่มที่ 23 หน้า 113) ...
ชี้แจง
จากคำกล่าวของท่านอิบนุตัยมียะฮ์ข้างต้น พอจะมีคำอธิบายในบางประเด็นดังต่อไปนี้
1. สมมุติว่าถ้าคำอธิบายข้างต้นนี้ถูกต้องต่อความเป็นจริง ก็แสดงว่า การนมาซตะรอเวี๊ยะห์ 23 ร็อกอะฮ์ มิใช่เป็นการกระทำของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ... แต่เป็นสิ่งที่ “เพิ่งบังเกิดขึ้นมา” ในยุคหลังๆ ...
อาจเกิดขึ้นโดยท่านอุบัยย์ บินกะอฺบ์ในสมัยของท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ. หรืออาจเกิดขึ้นหลังจากสมัยของท่านอุมุรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ. ตามความขัดแย้งดังที่ได้อธิบายผ่านมาแล้ว ...
2. จากการสันนิษฐาน หรืออีกนัยหนึ่งจากคำอธิบายข้างต้นนี้ (สมมุติว่าถ้าเป็นจริง) ก็แสดงว่า การเพิ่มจำนวนร็อกอะฮ์จาก 11 เป็น 23 ของท่านอุบัยย์ มิใช่เป็นการเพิ่มตามอำเภอใจ แต่มี “สาเหตุ” มาจากการ “ยืนนาน-อ่านยาว” ของอิหม่าม -- คือตัวท่านอุบัยย์ บินกะอฺบ์เอง -- ในแต่ละร็อกอะฮ์ของนมาซ 11 ร็อกอะฮ์ในตอนแรกๆซึ่งทำให้ประชาชนอ่อนล้าและรับไม่ไหว ...
จากสาเหตุดังกล่าวนี้ ท่านอุบัยย์จึงได้แก้ปัญหา .. ด้วยการลดการอ่านซูเราะฮ์ในแต่ละร็อกอะฮ์ให้สั้นลงเพื่อไม่ให้ต้องยืนนาน ขณะเดียวกันก็ทดแทนด้วยการเพิ่มจำนวนร็อกอะฮ์ให้มากขึ้น ทำให้มีการให้สล่ามมากครั้งขึ้น ประชาชนจึงมีเวลาพักมากขึ้นในระหว่างการให้ สล่ามแต่ละครั้ง ...
3. สมมุติถ้าข้อเท็จจริงเป็นดังที่ว่ามานี้ ก็ขอยืนยันว่า เรื่องการ “ยืนนาน-อ่านยาว” ของอิหม่ามสมัยก่อนที่ประชาชนรับไม่ไหวจนทำให้ท่านอุบัยย์ บินกะอฺบ์ต้องมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนร็อกอะฮ์จาก 11 เป็น 20 ร็อกอะฮ์นั้น ...
ปัจจุบันนี้ .. เหตุผลข้อนี้ ไม่มีแล้ว ...
เพราะคงไม่มีผู้ใดปฏิเสธว่า การนมาซตะรอเวี๊ยะห์ที่ชาวไทยมุสลิมปฏิบัติกันอยู่ในเดือนรอมะฎอนแทบทุกมัสญิดในปัจจุบันนี้ แต่ละคืนจะใช้เวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมงครึ่งหรือสองชั่วโมง เป็นอย่างสูง ...
เผลอๆบางแห่งหรือบางมัสญิดอาจจะใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงก็ยังมี ...
และระยะเวลาที่ว่านี้ ก็ทำเหมือนๆกันทั้งนั้น, ไม่ว่าคณะเก่าที่ทำ 23 ร็อกอะฮ์ หรือคณะใหม่ที่ทำ 11 ร็อกอะฮ์ ...
ผมไม่เคยได้รับข่าวคราวเลยว่า มีมัสญิดใดในประเทศไทยที่อิหม่ามจะนำประชาชนนมาซตะรอเวี๊ยะห์ครั้งละ 8-9 ชั่วโมงจนเกือบถึงเวลานมาซซุบห์ดังสมัยแรกๆ
เพราะฉะนั้น เมื่อ “เหตุผล” ที่ทำให้จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนร็อกอะฮ์ให้มากขึ้นเพื่อทดแทนการยืนนมาซในแต่ละร็อกอะฮ์นานๆดังยุคแรกๆหมดไปแล้ว ผมจึงอยากถามว่า ...
เป็นความผิดฉกรรจ์นักหรือหากผู้ใดจะหันกลับไปนมาซตะรอเวี๊ยะห์ 11 ร็อกอะฮ์ เพื่อเป็นการปฏิบัติตาม "ซุนนะฮ์” ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และปฏิบัติตาม "คำสั่ง" ของท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ.?? ...
หรือที่มันผิด เพราะ "หลักการ" ข้อนี้ มันไม่ตรงกับ "หลักกู" ของพวกท่าน ? ..
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น