โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย ...
ประเด็นที่สอง การกระทำของประชาชนในสมัยของท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ.
(ก) หลักฐานประชนในสมัยท่านอุมัรฺ ทำนมาซตะรอเวี๊ยะห์ 11 ร็อกอะฮ์ ...
1. ท่านสะอีด บินมันศูรฺ ได้บันทึกในหนังสือ “อัล-มุศ็อนนัฟ” โดยรายงานจากท่านมุหัมมัด บินยูซุฟ, จากท่านอัซ-ซาอิบ บินยะซีด ร.ฎ. ว่า ...
كُنَّا نَقُوْمُ فِىْ زَمَنِ عُمَرَ بْنِ الْخَطَّابِ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ بِإِحْدَى عَشْرَةَ رَكْعَةً
“พวกเราทำนมาซ(ตะรอเวี๊ยะห์) กันในสมัยของท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ. 11 ร็อกอะฮ์” ...
(จากหนังสือ “ตุ๊ห์ฟะตุ้ล อะห์วะซีย์” เล่มที่ 3 หน้า 530) ...
ท่านอัส-สะยูฏีย์ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-มะศอเบี๊ยะห์ ฟีศ่อลาติตตะรอเวี๊ยะห์” ซึ่งรวมชุดอยู่ในหนังสือ “อัล-หาวีย์ ลิ้ลฟะตาวีย์” เล่มที่ 1 หน้า 542 เพื่อท้วงติงท่านอัล-บัยฮะกีย์และท่านอื่นๆที่อ้างรายงานจากท่านอัซ-ซาอิบ บินยะซีด ร.ฎ. ด้วยสายรายงานที่ถูกต้องว่า พวกท่านได้นมาซตะรอเวี๊ยะห์ในสมัยท่านอุมุรฺ 20 ร็อกอะฮ์ โดยท่านอัส-สะยูฏีย์ ได้กล่าวท้วงติงว่า ...
وَلَكِنْ فِى الْمُوَطَّأِ وَفِىْ مُصَنَّفِ سَعِيْدِ بْنِ مَنْصُوْرٍ بِسَنَدٍ فِىْ غَايَةِ الصِّحَّةِ عَنْ السَّائِبِ بْنِ يَزِيْدَ إِحْدَى عَشْرَةَ رَكْعَةً ...
“แต่ .. มีปรากฏในหนังสืออัล-มุวัฎเฎาะอ์(ของท่านอิหม่ามมาลิก) และหนังสืออัล-มุศ็อนนัฟของท่านสะอีด บินมันศูรฺ “ด้วยสายรายงานที่ถูกต้องสุดๆ” (จากท่านมุหัมมัด บินยูซุฟ) จากท่านอัซ-ซาอิบ บินยะซีด(ที่กล่าว)ว่า (พวกเราทำตะรอเวี๊ยะห์กันในสมัยท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ) 11 ร็อกอะฮ์” ...
คำว่า "ด้วยสายรายงานที่ถูกต้องสุดๆ" ของท่านอัส-สยูฏีย์ ท่านหมายถึงสายรายงานของหะดีษบทข้างต้นนี้ ..
รายงานนี้จึงถือว่า เป็นรายงานที่เศาะเหี๊ยะฮ์ (ถูกต้อง) ที่สุดที่รายงานมาเกี่ยวกับการละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ของประชาชนในสมัยของท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ. ...
(ข) หลักฐานประชนในสมัยท่านอุมัรฺ นมาซตะรอเวี๊ยะห์ 20 ร็อกอะฮ์ ...
1. ท่านอัล-บัยฮะกีย์ ได้บันทึกรายงานไปจนถึงท่านยะซีด บินคุศ็อยฟะฮ์, จากท่านอัซ-ซาอิบ บินยะซีด ร.ฎ. ว่า ...
كَانُوْا يَقُوْمُوْنَ عَلَى عَهْدِ عُمَرَ بْنِ الْخَطَّابِ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ فِىْ شَهْرِ رَمَضَانَ بِعِشْرِيْنَ رَكْعَةً
“ประชาชนในสมัยของท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ.ได้ทำนมาซ(ตะรอเวี๊ยะห์) ในเดือนรอมะฎอน 20 ร็อกอะฮ์”
(บันทึกโดย ท่านอัลบัยฮะกีย์ในหนังสือ “อัส-สุนัน อัล-กุบรออ์” เล่มที่ 2 หน้า 496 และท่านอิบนุลญุอฺดิ ในหนังสือ “อัล-มุสนัด” เล่มที่ 1 หน้า 413) ...
สายรายงานนี้เป็นสายรายงานที่ถูกต้อง ดังคำกล่าวของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ในหนังสืออัล-มัจญมุอฺ เล่มที่ 4 หน้า 32 - 33) ...
และรายงานนี้ ถือเป็น “หลัก” สำคัญที่สุดของผู้ที่มีทัศนะว่า จำนวนร็อกอะฮ์ของนมาซตะรอเวี๊ยะห์ที่ประชาชนในสมัยท่านอุมัรฺ ร.ฎ.ปฏิบัติกัน คือ 20 ร็อกอะฮ์ ...
ทว่า ประเด็นสำคัญ อยู่ที่ "ความขัดแย้ง" ในการรายงานระหว่างท่านยะซีด บินคุศ็อยฟะฮ์ กับท่านมุหัมมัด บินยูซุฟ โดยท่านยะซีด บินคุศ็อยฟะฮ์อ้างว่า ท่านอัซ-ซาอิบ บินยะซีด ร.ฎ. กล่าวว่า ประชาชนในสมัยของท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ.ได้ทำนมาซ(ตะรอเวี๊ยะห์) ในเดือนรอมะฎอน 20 ร็อกอะฮ์ ...
แต่ท่านมุหัมมัด บินยุซูฟ (จากหะดีษบทก่อนหน้านี้) อ้างว่า ท่านอัซ-ซาอิบ บินยะซีด ร.ฎ. กล่าวว่า ประชาชนในสมัยของท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ.ได้ทำนมาซ(ตะรอเวี๊ยะห์) ในเดือนรอมะฎอน 11 ร็อกอะฮ์ ...
ทางออกของความขัดแย้งในกรณีนี้ - ตามหลักวิชาการ - จะมี 2 แนวทางคือ ...
ก. เน้นน้ำหนัก (اَلتَّرْجِيْحُ) ...
ข. รวมหะดีษ (اَلْجَمْعُ) ...
การเน้นน้ำหนักก็คือ การพิจารณาดูความน่าเชื่อถือของผู้รายงานที่ขัดแย้งกันนั้นว่า รายงานของใครจะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่า ก็ให้ยึดถือรายงานของท่านนั้นและปัดรายงานที่ขัดแย้งทิ้งไป ...
ถ้าจะยึดถือตามแนวทางนี้ ก็ปรากฏว่า ท่านมุหัมมัด บินยูซุฟ ผู้รายงาน 11 ร็อกอะฮ์ มีคุณสมบัติน่าเชื่อถือกว่าท่านยะซีด บินคุศ็อยฟะฮ์ผู้รายงาน 20 ร็อกอะฮ์ ...
เพราะท่านมุหัมมัด บินยูซุฟ เป็นหลาน (ลูกน้องสาว) ของท่านอัซ-ซาอิบ บินยะซีด ร.ฎ. การรายงานของท่านจากน้าชายของท่านจึงย่อมมีน้ำหนักมากกว่ารายงานของผู้อื่น ...
นอกจากนั้น ท่านอิบนุหะญัรฺ อัลอัสเกาะลานีย์ ก็ได้ให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือแก่ท่านมุหัมมัด บินยูซุฟ มากกว่าท่านยะซีด บินคุศ็อยฟะฮ์ โดยท่านอิบนุหะญัรฺได้สรุปคุณสมบัติของท่านมุหัมมัด บินยูซุฟไว้ในหนังสือ "ตักรีบุต ตะฮ์ซีบ เล่มที่ 2 หน้า 221 ว่า ...
ثِقَةٌ، ثَبْتٌ
คือ เชื่อถือได้, แน่นอนมาก ...
ขณะเดียวกัน ท่านอิบนุหะญัรฺ ได้สรุปคุณสมบัติของท่านยะซีด บินคุศ็อยฟะฮ์ ไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน หน้า 367 มีข้อความสั้นๆเพียงว่า ...
ثِقَةٌ
คือ เชื่อถือได้ ..
โดยนัยนี้ - ตามหลักวิชาการ - รายงาน 11 ร็อกอะฮ์ของท่านมุหัมมัด บินยูซุฟ จึงมีน้ำหนัก น่าเชื่อถือกว่ารายงาน 20 ร็อกอะฮ์ของท่านยะซีด บินคุศ็อยฟะฮ์ ...
ดังนั้น ข้อความจากการรายงาน 20 ร็อกอะฮ์ของท่านยะซีด บินคุศ็อยฟะฮ์ จึงถือว่าเป็นข้อความที่ผิดเพี้ยน (شَاذٌّ) ซึ่งถือเป็นรายงานที่เฎาะอีฟ และรายงาน 11 ร็อกอะฮ์ของท่านมุหัมมัด บินยูซุฟ จึงเป็นรายงานที่ถูกต้อง (مَحْفُوْظٌ) ...
นักวิชาการหะดีษที่ยึดถือแนวทางการเน้นน้ำหนักดังกล่าว - เท่าที่ผมอ่านเจอ - ได้แก่ท่านมุบาร็อกปูรีย์ ในหนังสือ ตุห์ฟะตุ้ลอะห์วะซีย์ และท่านเช็คมุหัมมัด นาศิรุดดีน อัล-อัลบานีย์ในหนังสือ เศาะลาตุตตะรอเวี๊ยะห์ ...
แต่นักวิชาการบางท่าน อาทิเช่นท่านอัล-บัยฮะกีย์ ได้ยึดถือแนวทางการ "รวมหะดีษ" อันเป็นแนวทางที่มีควรปฏิบัติก่อนแนวทางอื่นตามหลักวิชาการหะดีษซึ่งผมก็เห็นด้วย ...
( แต่แนวทางนี้, ในกรณีนี้, ยังมีปัญหาบางประการที่จะต้องพิจารณา ซึ่งผมจะอธิบายต่อไปตอนท้าย อินชาอัลลอฮ์) ..
โดยท่านอัล-บัยฮะกีย์ ได้กล่าวในหนังสือ "อัส-สุนัน อัล-กุบรออ์" เล่มที่ 2 หน้า 496 มีข้อความว่า ...
وَيُمْكِنُ الْجَمْعُ بَيْنَ الرِّوَايَتَيْنِ، فَإِنَّهُمْ كَاُنْوا يَقُوْمُوْنَ بِإِحْدَى عَشْرَةَ، ثُمَّ كَانُوْا يَقُوْمُوْنَ بِعِشْرِيْنَ وَيُوْتِرُوْنَ بِثَلاَثٍ وَاللهُ أَعْلَمُ
"เป็นไปได้ในการรวมสองรายงาน(ที่ขัดแย้งกัน)นี้ว่า พวกเขา (ประชาชนในสมัยท่านอุมัรฺ) เคยยืนนมาซ(ตะรอเวี๊ยะห์)กัน 11 ร็อกอะฮ์ก่อน, หลังจากนั้น พวกเขาก็ยืนนมาซ(ตะรอเวี๊ยะห์)กัน 20 ร็อกอะฮ์และนมาซวิเตรฺอีก 3 ร็อกอะฮ์ วัลลอฮุ อะอฺลัม" ...
นักวิชาการบางท่านในประเทศไทย ได้นำข้อมูลการรวมหะดีษของท่านอัล-บัยฮะกีย์ข้างต้นมาสนับสนุนและยอมรับว่าเป็นเรื่องถูกต้อง แต่ลืมเฉลียวใจว่า การยอมรับความถูกต้องการรวมหะดีษของท่านอัล-บัยฮะกีย์ในกรณีนี้ กลับสร้างปัญหาให้แก่ตัวเอง ตลอดจนผู้ที่เชื่อถือศรัทธาในตัวท่านชนิดกลืนไม่เข้า - คายไม่ออกตลอดไปจนกว่าจะ "กล้า" ยอมรับความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ ...
1. การเห็นด้วยและยอมรับความถูกต้องในการรวมหะดีษของท่านอัล-บัยฮะกีย์ ก็เท่ากับการยอมรับว่า "นมาซ 11 ร็อกอะฮ์คือนมาซตะรอเวี๊ยะห์จริง" .. เคยมีการปฏิบัติกันจริงในช่วงแรกๆของสมัยท่านอุมัรฺ อิบนุ้ลค็อฏฏอบ ร.ฎ. ก่อนที่จะมาเปลี่ยนเป็น 20 ร็อกอะฮ์ภายหลัง ..
2. เมื่อยอมรับว่า การนมาซ 11 ร็อกอะฮ์เป็นนมาซตะรอเวี๊ยะห์ ท่านจะว่าอย่างไรในข้อเขียนของท่านและการบรรยายของท่าน ตลอดจนข้อเขียนของสานุศิษย์ของท่านในเฟสที่กล่าว "คัดค้านหัวชนฝา" ตลอดมาว่า ..
การนมาซ 11 ร็อกอะฮ์ ไม่ใช่นมาซตะรอเวี๊ยะห์ ! ....
ท่านจะอธิบายอย่างไรในการขัดขาตัวเองในครั้งนี้ ...
3. และเมื่อยอมรับว่า นมาซ 11 ร็อกอะฮ์เป็นนมาซตะรอเวี๊ยะห์ซึ่งเคยมีการปฏิบัติกันในสมัยท่านอุมัรฺ ก็ขอถามว่า จำนวน 11 ร็อกอะฮ์ของตะรอเวี๊ยะห์ดังกล่าวนี้ ท่านอุมัรฺเอามาจากไหน ถ้าไม่ใช่รับมาจากการกระทำของท่านนบีย์ ?..
สอดคล้องกับรายงานของท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ.ที่ว่า ท่านนบีย์ไม่เคยนมาซยามค่ำคืนเกิน 11 ร็อกอะฮ์ ไม่ว่าในเดือนรอมะฎอน (ที่ปัจจุบันเรียกกันว่านมาซตะรอเวี๊ยะฮ์)หรือนอกเดือนรอมะฎอน (ที่ปัจจุบันเรียกกันว่า กิยามุลลัยล์) ใช่หรือไม่ !!!...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น