ตอบโดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย
ถาม
อัสลามูอาลัยกุม อาจารย์ ดิฉันอย่างทราบว่าการแข่งขันนกเขาหรือนกกรงหัวจุก กรณีใดบ้างที่เข้าขั้นการพนันขันต่อบ้างค่ะ การได้รับสนับสนุนรางวัลจากที่อื่น แต่ผู้แข่งขัน ต้องเสียค่าแขวนเสา (เช่น เสาละ 400 บาท) ยังอยู่ขั้นการพนันขันต่ออีกหรือไม่ค่ะ
ตอบ
วะอลัยกุมุสสลาม .. เรื่องการแข่งขันและมีการวางเงินที่อิสลามอนุญาตจะมีอยู่ 2 ลักษณะครับ ซึ่งทั้งสองลักษณะนี้ ผู้วางเงินจะมี "เสีย" หรือ "เสมอตัว" อย่างใดอย่างหนึ่งแต่ไม่มี "ได้" .. คือ
(1) สองคนแข่งขันกัน และมีคนหนึ่งวางเงินฝ่ายเดียว โดยมีเงื่อนไขว่า หากอีกฝ่ายชนะ ก็ให้เอาเงินนั้นไป แต่หากเจ้าของเงินชนะเขาก็เอาเงินของเขากลับ ..
(2) มีการวางเงินทั้งสองฝ่าย แต่มีคนกลางอีกคนร่วมแข่งขันด้วยโดยคนกลางไม่ต้องวางเงิน หากคนกลางชนะ ก็จะได้รับเงินจากทั้งสองฝ่าย แต่หากคนกลางแพ้ เงินนั้นก็จะกลับคืนสู่เจ้าของแต่ละคนตามเดิม .. ซึ่งกรณีนี้จะเห็นได้ว่า ผู้วางเงินจะไม่มีคำว่า "ได้" แต่จะมี "เสีย" หรือ "เสมอตัว" อย่างที่กล่าวมาแล้ว ..ข้อนี้ จะแตกต่างจากการพนันที่มีทั้งได้, มีทั้งเสีย, เพราะฉะนั้น การแข่งขันใดๆที่มีผลให้ผู้จ่ายเงินมี "ได้" หรือ "เสีย" อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ถือว่า เข้าข่ายการพนันที่ต้องห้ามครับ ..
สำหรับเรื่องการแข่งขันนกตามที่คุณถามมา ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าเจ้าของนกจะต้องจ่ายค่าสมัคร 400 บาท หากนกของเขาชนะเขาก็จะ "ได้" คือได้รับรางวัล อาจจะเป็นเงินสดหรือสิ่งของอย่างอื่น แต่หากนกของเขาแพ้ เขาก็จะ "เสีย" คือ เงินค่าสมัครนั้นจะถูกริบไป สรุปแล้ว การแข่งขันนกในลักษณะดังกล่าวจึงหลีกเลี่ยงจากคำว่า "การพนัน" ไม่ได้ครับ ..
วัลลอฮุ อะอฺลัม ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น