อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กระดิกหรือชี้ ? (ตอนที่ 3)



โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

(ตอนที่ 3)

ก่อนอื่น ก็ขอให้เราลองมาพิจารณาดูข้อเท็จจริง -- ไม่ว่าตามหลักภาษาและการปฏิบัติของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะวัลลัม -- ว่า การ “ชี้” กับการ “กระดิก” ค้านกันหรือไม่ ? ...
1. ในแง่ของภาษา
ก. คำว่า أَشَارَ، يُشِيْرُ، إِشَارَةً ในภาษาอาหรับดังที่มีระบุในหะดีษข้างต้นนี้ โดยพื้นฐานของภาษาแล้วไม่ได้แปลว่าชี้, แต่หมายถึง“การสื่อสัญญาณ, การทำสัญญาณ, การแสดงอาการให้รู้ด้วยอวัยวะหรือสิ่งใด เพื่อสื่อความหมายที่ต้องการแทนคำพูด” ...
(โปรดดูหนังสือ “อัล-มิศบาห์ฯ” เล่มที่ 1 หน้า 350, หนังสือ“อัล-มั๊วะอฺญัม อัล-วะซีฏ” เล่มที่ 1 หน้า 499, หนังสือกอมูส “อัล-มุฮีฏ” เล่มที่ 2 หน้า 134, หนังสือกอมูส “อัล-มุนญิด” หน้า 407, หนังสือ “อัน-นิฮายะฮ์ ฟี เฆาะรีบิ้ลหะดีษ” เล่มที่ 2 หน้า 518 เป็นต้น) ...
โปรดดูตัวอย่างจากสำนวนต่างๆดังต่อไปนี้ ...
ภาษาอาหรับกล่าวว่า ...
أَشَارَ بِالْحَاجِبِ แปลว่า เขาสื่อสัญญาณด้วยคิ้ว คือยักคิ้ว ...
أَشَارَ بِالْعَيْنِ แปลว่า เขาสื่อสัญญาฯด้วยตา คือขยิบตาหรือหรี่ตาให้ ...
أَشَارَ بِالرَّأْسِ แปลว่า เขาแสดงสัญญาณด้วยศีรษะ คือส่ายศีรษะเมื่อปฏิเสธหรือผงกศีรษะเมื่อยอมรับ ...
أَشَارَ بِالْيَدِ แปลว่า เขาทำสัญญาณด้วยมือ คือการกวักมือเรียกให้เข้ามา หรือโบกมือทักทาย หรือโบกมือไล่ให้ออกไป หรือชี้มือไปข้างหน้า ...
أَشَارَ بِالْخِنْصِرِ แปลว่า เขาทำสัญญาณด้วยนิ้วก้อย คือ “ชู” นิ้วก้อยขึ้นเป็นความหมายว่า เรามาดีกันนะ หรือเราเลิกโกรธกันนะ ...
أَشَارَ بِاْلإِبْهَامِ แปลว่า เขาทำสัญญาณด้วยหัวแม่มือ คือ “ชู” นิ้วหัวแม่มือขึ้นเป็นความหมายยอมรับว่า นายแน่มาก ..ฯลฯ. ...
ข้อความข้างต้นทั้งหมดนี้ใช้คำว่า أَشَارَ เช่นเดียวกัน แต่มีผู้ใดบ้างที่จะแปลว่า เขาชี้ด้วยคิ้ว, เขาชี้ด้วยตา, เขาชี้ด้วยศีรษะ, เขาชี้ด้วยนิ้วก้อย, เขาชี้ด้วยหัวแม่มือ ? ...
ทีนี้ ท่านผู้อ่านลองหลับตานึกดูสภาพความเป็นจริงของการทำสัญญาณด้วยอวัยวะต่างๆดังกล่าวมาข้างต้นนั้นว่า เวลาเราส่งสัญญาณห้ามหรือยุใครด้วยการขยิบตาก็ดี, เราโบกมือทักทายใครก็ดี, เรายอมรับใครด้วยการผงกศีรษะก็ดี, เราไม่เห็นด้วยกับใคร ด้วยการส่ายศีรษะก็ดี ...
จำเป็นด้วยหรือที่เราจะต้อง أَشَارَ คือสื่อสัญญาณด้วยอวัยวะเหล่านั้นโดยขยิบตาได้แค่ครั้งเดียว, โบกมือได้แค่ครั้งเดียว, ผงกศีรษะได้แค่ครั้งเดียว, ส่ายศีรษะได้แค่ครั้งเดียว ห้ามทำซ้ำหลายครั้ง ...
หรือตามข้อเท็จจริงเราจะต้องทำซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้งกันแน่ ? ...
เพราะฉะนั้น เมื่อหะดีษกล่าวว่า ท่านนบีย์ أَشَارَ بِالسَّبَّابَةِ (ทำสัญญาณด้วยนิ้วชี้หรือยกนิ้วชี้ขึ้น) เราเอาหลักฐานที่ไหนมาอ้างครับว่า เมื่อยกนิ้วชี้ขึ้นแล้ว ท่านก็ชี้มันไปข้างหน้าตรงแหนวเลยโดยไม่กระดิกมันอีก ? ...
ข. ท่านอัศ-ศ็อนอานีย์ได้กล่าวในหนังสือ “สุบุลุส สลาม” เล่มที่ 1 หน้า 188 (ไม่เกี่ยวกับเรื่องการกระดิกหรือชี้ของหะดีษบทนี้ แต่เป็นการกล่าวในภาพรวมทั่วๆไป) ว่า
قَالَ الْعُلَمَاءُ : خُصَّتِ السَّبَّابَةُ بِاْلإِشَارَةِ ِلاتِّصَالِهَا بِنِيَاطِ الْقَلْبِ، فَتَحْرِيْكُهَا سَبَبٌ لِحُضُوْرِهَا
“บรรดานักวิชาการต่างกล่าวว่า .. การกำหนดการชี้ด้วยนิ้วชี้ ก็เพราะมัน (นิ้วชี้) เชื่อมโยงอยู่กับขั้วหัวใจ ดังนั้น การกระดิกมันก็คือสาเหตุในการกระตุ้นให้หัวใจตื่นตัว (เตรียมพร้อมตลอดเวลา)” ...
ข้อความข้างต้นนี้ คงไม่ต้องขยายความใดๆอีก เพราะผู้อ่านทุกท่านคงจะมองออกแล้วว่า การ “กระดิก” นิ้วชี้นั้น มัน “ค้าน” หรือ“เสริม” การชี้นิ้วกันแน่ ? ...
2. ในแง่หลักฐานจากหะดีษ
ก. ท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ได้บันทึกหะดีษบทหนึ่งในหนังสือ “อัศ-เศาะเหี๊ยะฮ์” ของท่าน เป็นหะดีษที่ 1450 โดยอ้างรายงานมาจากท่านซะฮ์ล์ (ซะฮัล) บินสะอฺด์ (สะอัด) มีข้อความว่า ...
مَا رَأَيْتُ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ شَاهِرًا يَدَيْهِ قَطُّ يَدْعُوْ عَلَى مِنْبَرِهِ وَلاَ عَلَى غَيْرِهِ، وَلَكِنْ رَأَيْتُهُ يَقُوْلُ هَكَذَا : وَأَشَارَ بِإِصْبَعِهِ السَّبَّابَةِ يُحَرِّكُهَا
“ฉันไม่เคยเห็นท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะวัลลัมโชว์ (คือยก)มือทั้งสองของท่านเลยขณะขอดุอาบนมิมบัรฺของท่านหรือบนอะไรก็ตาม แต่ฉันเห็นท่านกล่าว (คือแสดงอาการ) อย่างนี้ .. แล้วท่านซะฮ์ล์ก็ยกนิ้วชี้ของท่านขึ้นพร้อมกับกระดิกมันด้วย” ...
ผมไม่ได้อ้างหะดีษบทนี้เป็นหลักฐานตามเนื้อหาทั้งหมดของมัน เพราะในสายรายงานของหะดีษนี้มีข้อบกพร่องเล็กน้อย ...
นั่นคือผู้รายงานท่านหนึ่งชื่อ อับดุรฺเราะห์มาน บินมุอาวิยะฮ์ อบูอัล-หุวัยริษ ถูกวิจารณ์ว่า แม้จะเป็นผู้ที่พอจะเชื่อถือได้ แต่ความจำไม่ค่อยดี ...
(จากหนังสือ “ตักรีบุต ตะฮ์ซีบ” เล่มที่ 1 หน้า 498 หมายเลข 1116) ...
แต่ที่นำหะดีษบทนี้มาอ้างก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า การที่ข้อความของหะดีษกล่าวว่า .. ท่านยกหรือชี้นิ้วชี้พร้อมกระดิกมันด้วย .. แสดงว่าตามหลักภาษานั้น การชี้กับการกระดิกไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ค้านกันเลย ดังความเข้าใจผิดๆของนักวิชาการอาหรับท่านนั้น
ข. มีรายงานมาจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. ว่า ...
صَلَّى رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِىْ بَيْتِهِ وَهُوَشَاكٍ، فَصَلَّى وَرَاءَهُ قَوْمٌ قِيَامًا، فَأَشَارَ إِلَيْهِمْ أَنِ اجْلِسُوْا .............
“ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำนมาซในบ้านของท่านขณะที่ท่านกำลังป่วยอยู่ แล้วก็มีคนกลุ่มหนึ่งมายืนนมาซข้างหลังท่าน ท่านจึงชี้ (มือหรือนิ้ว)ไปยังพวกเขา (เป็นสัญญาณ)ว่า พวกท่านจงนั่งลง .........”
(บันทึกโดย ท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 688, 1113, 1236, 5658, ท่านอิบนุมาญะฮ์ หะดีษที่ 1237, ท่านมาลิกใน “อัล-มุวัฏเฏาะอ์” หะดีษที่ 303) ...
โปรดสังเกตด้วยว่า ในหะดีษบทนี้ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. กล่าวว่า أَشَارَ إِلَيْهِمْ ซึ่งแปลความหมายได้ตรงตัวว่า ท่านได้ชี้ (มือหรือนิ้ว)ไปยังพวกเขา, ต่างกับหะดีษบทวิภาษที่ใช้สำนวนว่า أَشَارَ بِاْلإِصْبَعِ ซึ่งควรจะแปลว่า ท่านได้ทำสัญญาณด้วยนิ้ว คือยกนิ้วขึ้น ดังกล่าวมาแล้ว ...
การที่ท่านนบีย์นั่งนมาซเพราะป่วยแล้วมีคนมายืนนมาซข้างหลังท่าน ท่านจึง “ชี้” มือหรือนิ้วไปยังพวกเขาเพื่อเตือนว่าพวกเขาอย่ายืนนมาซ แต่ให้นั่งลงนมาซเหมือนท่าน(โดยในสำนวนหะดีษมิได้กล่าวว่า ท่านกระดิกมือหรือกระดิกนิ้วด้วย) ...
แล้วท่านผู้อ่านคิดหรือว่า ถ้าท่านนบีย์ชี้มือหรือชี้นิ้วไปยังพวกเขาเฉยๆโดยมิได้กระดิกนิ้วมือลงหรือโบกมือลงด้วยแล้ว พวกเขาจะเข้าใจหรือว่า ท่านชี้มือหรือชี้นิ้วมาที่พวกเขาเพื่อต้องการสื่อความหมายอะไร ? ...
สรุปแล้ว การ “ชี้” กับการ “กระดิก” นิ้วจึงมิใช่เป็นเรื่องที่ค้านกันเลย ไม่ว่าจะมองในแง่มุมของภาษา, ข้อเท็จจริง หรือหลักฐานจากหะดีษ ดังที่ผมได้อธิบายและเสนอตัวอย่างไปแล้ว ...
ดังนั้น หะดีษข้างต้นทั้งหมดเรื่องการทำสัญญาณด้วยนิ้วชี้หรือการยกนิ้วชี้ของท่านนบีย์ขณะอ่านตะชะฮ์ฮุด ซึ่งแม้จะอนุโลมให้แปลว่า ท่านชี้ด้วยนิ้วชี้ก็ตาม จึงมิใช่หลักฐานห้ามหรือปฏิเสธการกระดิกนิ้วชี้ด้วยแน่นอน ดังความเข้าใจผิดของเช็คมุหัมมัดอัมรฺ อับดุลละฏีฟในหนังสือ “ตับยีฎ อัศ-เศาะหี้หะฮ์” และท่านอาจารย์มุรีดได้นำมาใช้เป็นบรรทัดฐานในการเขียนหนังสือ “ชี้หรือกระดิก” ของท่าน ...
รายงานที่สอง เรื่องยกนิ้วชี้ขึ้น แล้วมีระบุชัดเจนว่า ไม่กระดิกนิ้ว ...
หลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีรายงานมาดังนี้ ...
ท่านซิยาด บินสะอฺด์ บินอับดุรฺเราะห์มาน ได้รายงานจากท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน, จากท่านอามิรฺ บินอับดุลลอฮ์, จากท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุอัซ-ซุบัยรฺ ร.ฎ. กล่าวว่า ..
إِنَّ النَّبِىَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ كَانَ يُشِيْرُ بِإِصْبَعِهِ إِذَا دَعَا، وَلاَ يُحَرِّكُهَا
“แท้จริง ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ทำสัญญาณด้วยนิ้วของท่าน (คือยกนิ้วชี้ขึ้น) ขณะกล่าววิงวอน (คืออ่านตะชะฮ์ฮุด)และท่านไม่ได้กระดิกมัน ” ...
(บันทึกโดย ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 989, ท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 1269, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 132 และท่านอัล-บัฆวีย์ในหนังสือ “ชัรหุ อัซ-ซุนนะฮ์” หะดีษที่ 677) ...
สถานภาพของหะดีษบทนี้
ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-มัจญมั๊วะอฺ” เล่มที่ 3 หน้า 454 ว่า สายรายงานของหะดีษนี้ ถูกต้อง ...
ข้อโต้แย้ง
ตามความเป็นจริงแล้ว นักวิชาการหะดีษหลายท่านได้กล่าววิจารณ์หะดีษนี้ว่ามีความบกพร่องทั้งในด้านสายรายงานและในด้านตัวบท ...
อธิบาย
ข้อบกพร่องในด้านสายรายงานก็คือ ท่านมุหัมมัด บินอัจญลานซึ่งเป็นผู้รายงานท่านหนึ่งของหะดีษนี้ (เป็นตาบิอีน, สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 148) แม้ตามปกติเป็นผู้ที่พอจะเชื่อถือได้(صَدُوْقٌ) และได้รับความเชื่อถือจากนักวิชาการบางท่าน แต่ขณะเดียวกันก็ถูกนักวิชาการจำนวนมากกล่าวว่า سَيِّئُ الْحِفْظِ .. คือ เป็นผู้ที่ความจำแย่ ...
(จากหนังสือ “อัล-กาชิฟ” ของท่านอัษ-ษะฮะบีย์ เล่มที่ 3 หน้า 69) ...
หะดีษซึ่งผู้รายงานที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้รายงานมาจะถือว่า เป็น “สายรายงานที่ถูกต้อง” ดังคำกล่าวของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ ย่อมไม่ได้ แต่ตามหลักการแล้วต้องถือว่า เป็นหะดีษที่สายรายงานค่อนข้างอ่อน, หรืออย่างดีที่สุดก็อาจกล่าวได้เพียงว่า สายรายงานของมัน หะซัน (สวยงาม) เท่านั้น ...
(โปรดดูหนังสือ “ศิฟะตุ ศ่อลาติ้นนบีย์ฯ” หน้า 159 และหนังสือ “ตะมามุ้ลมินนะฮ์” หน้า 217) ...
ส่วนข้อบกพร่องในด้านเนื้อหาก็คือ ข้อความของหะดีษนี้ที่ว่า ..“และท่าน(นบีย์)ไม่ได้กระดิกมัน(นิ้วชี้)” ถือเป็นข้อความที่ผิดเพี้ยน(شَاذٌّ) ดังคำกล่าวของนักวิชาการหลายท่านอาทิเช่นท่านอิบนุ้ลก็อยยิม, ท่านอัล-อัลบานีย์, ท่านเช็คอบูอุบัยดะฮ์ มัชฮูรฺ บินหะซัน เป็นต้น ...
(โปรดดูหนังสือ “ซาดุ้ลมะอาด” เล่มที่ 1 หน้า 81, หนังสือ“เฎาะอีฟสุนันนะซาอีย์” หน้า 44, และหนังสือ “อัล-เกาลุ้ลมุบีน ฟี อัขฏออิ้ล มุศ็อลลีน” หน้า 163) ...
วิเคราะห์
สาเหตุที่นักวิชาการกล่าวว่า ข้อความดังกล่าวของหะดีษนี้ผิดเพี้ยน ก็เพราะข้อความนี้มีรายงานมาเพียงกระแสเดียว คือ จากท่านซิยาด บินซะอฺด์, จากท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน, จากท่านอามิรฺ บินอับดุลลอฮ์, ........ ดังที่ได้ระบุมาแล้วข้างต้น ...
ดังได้อธิบายมาแล้วว่า ท่านมุหัมมัด บินอัจญลานถูกวิจารณ์ว่า ความจำแย่, จึงทำให้คำกล่าวในรายงานของท่านที่ว่า .. “และท่านนบีย์ไม่ได้กระดิกนิ้วชี้” .. มีปัญหาเกิดขึ้น 2 ช่วง คือ ...
ช่วงที่หนึ่ง การรายงานของท่านซิยาด บินซะอฺด์(และผู้รายงานท่านอื่น) มาจากท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน .
ช่วงที่สอง การรายงานของท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน(และผู้รายงานท่านอื่น) มาจากท่านอามิรฺ บินอับดุลลอฮ์ ...
คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีดังต่อไปนี้ ...
ช่วงที่ 1
ผู้รายงานหะดีษเรื่องการยกนิ้วชี้ขึ้นของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมขณะอ่านตะชะฮ์ฮุดมาจากท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน นอกจากท่านซิยาด บินซะอฺด์ ดังกล่าวมาแล้ว ยังมีผู้รายงานท่านอื่นอีก 4 ท่านด้วยกัน คือ ...
1. ท่านอบูคอลิด อัล-อะห์มัรฺ จากการบันทึกของท่านมุสลิม หะดีษที่ 113/579, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 131 ...
2. ท่านซุฟยาน บินอุยัยนะฮ์ จากการบันทึกของท่านอัด-ดาริมีย์ หะดีษที่ 1338
3. ท่านยะห์ยา บินสะอีด อัล-ก็อฏฏอน จากการบันทึกของท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 1274, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 132 และท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ หะดีษที่ 718 ...
4. ท่านอัล-ลัยษ์ บินซะอฺด์ จากการบันทึกของท่านมุสลิม หะดีษที่ 113/579 และท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 131 ...
ผู้รายงานทั้ง 4 ท่านนี้ ล้วนได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างสูงจากนักวิชาการหะดีษ, ได้รายงานลักษณะการวางนิ้วชี้ของท่านนบีย์ขณะอ่านตะชะฮ์ฮุดมาจากท่านมุหัมมัด บินอัจญลานว่า ท่านนบีย์ได้ “ยกนิ้วชี้ขึ้น” เหมือนรายงานของท่านซิยาด บินซะอฺด์ข้างต้น ...
แต่ในรายงานของทั้ง 4 ท่านนี้ไม่ปรากฏมีข้อความว่า “และท่านนบีย์ไม่ได้กระดิกนิ้วชี้” ดังปรากฏในรายงานของท่านซิยาด ที่รายงานมาจากท่านมุหัมมัด บินอัจญลานเช่นเดียวกัน ...
ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ข้อความซึ่งมีลักษณะเป็น “ส่วนเกิน” ดังกล่าวนี้น่าจะเป็นผลงานของผู้ใด ...
ของท่านซิยาด บินซะอฺด์ บินอับดุรฺเราะห์มาน อัล-คุรอซานีย์ หรือของท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน ? ...
ทว่า, ท่านซิยาด บินซะอฺด์ ก็เป็นผู้รายงานที่ความจำดีเยี่ยมและได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างสูงจากบรรดานักวิชาการหะดีษพอๆกับอีก 4 ท่านเหล่านั้น (ดูหนังสือ “ตักรีบุตตะฮ์ซีบ” เล่มที่ 1 หน้า 268 หมายเลข 112, และหนังสือ “อัล-กาชิฟ” เล่มที่ 1 หน้า 259 หมายเลข 1707) .. จึงเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะกล่าวข้อความนี้ออกมาเอง ถ้าไม่เพราะท่านได้ยินมันจากปากของท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน ...
เพราะฉะนั้น ข้อความที่ว่า .. “และท่านนบีย์ไม่ได้กระดิกนิ้วชี้”.. จึงถูกนักวิชาการมองว่า น่าจะเป็น “ส่วนเกิน” ที่มาจากท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน ผู้บกพร่องด้านความทรงจำดังกล่าว ...
ช่วงที่ 2
คือรายงานของท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน, จากท่านอามิรฺ บินอับดุลลอฮ์ ...
นอกจากท่านมุหัมมัด บินอัจญลานแล้ว ปรากฏว่า มีผู้อื่นที่รายงานหะดีษเรื่องท่านนบีย์ยกนิ้วชี้ขึ้นในขณะอ่านตะชะฮ์ฮุดมาจากท่านอามิรฺ บินอับดุลลอฮ์ อีก 2 ท่านด้วยกันคือ ...
1. ท่านอุษมาน บินหะกีม จากการบันทึกของท่านมุสลิม หะดีษที่ 112/579, ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 988, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 130 และท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ หะดีษที่ 696 ...
2. ท่านมัครอมะฮ์ บินบุกัยรฺ จากการบันทึกของท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 1160 และท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 132 ...
ท่านอุษมาน บินหะกีมเป็นผู้รายงานหะดีษที่ได้รับความเชื่อถือจากนักวิชาการมากกว่าท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน, ส่วนท่านมัครอมะฮ์ บินบุกัยรฺ แม้จะมีความบกพร่องบ้างเล็กน้อยก็ได้รายงานหะดีษนี้มาสอดคล้องกับท่านอุษมาน บินหะกีม ...
ทั้งท่านอุษมานและท่านมัครอมะฮ์ได้รายงานเรื่องท่านนบีย์ยกนิ้วชี้ในขณะอ่านตะชะฮ์ฮุดมาจากท่านอามิรฺ บินอับดุลลอฮ์ เหมือนท่านมุหัมมัด บินอุจญลาน ...
แต่ในรายงานของท่านทั้งสอง ไม่ปรากฏมีข้อความว่า “ท่านนบีย์ไม่ได้กระดิกนิ้วชี้” เหมือนที่มีในรายงานของท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน ...
ข้อความดังกล่าวนี้จึงเป็นข้อความที่ท่านมุหัมมัด บินอัจญลานซึ่งเป็นผู้รายงานที่ได้รับความเชื่อถือน้อยกว่า ได้รายงานให้ “เกินเลย”จากรายงานของท่านอุษมาน บินหะกีมและท่านมัครอมะฮ์ บินบุกัยรฺ ซึ่งเป็นผู้รายงานที่ได้รับความเชื่อถือมากกว่า ...
ข้อความตอนใดของหะดีษซึ่งผู้รายงานที่ได้รับความเชื่อถือน้อยกว่า ได้รายงานให้ “เพิ่มเติม” จากรายงานของผู้ที่ได้รับความเชื่อถือมากกว่า ข้อความที่เพิ่มเติมนั้นจะถูกเรียกตามหลักวิชาการหะดีษว่าเป็น زِيَادَةٌ شَاذَّةٌ คือการเพิ่มเติมที่ผิดเพี้ยน ซึ่งจะต้องถูกปัดทิ้งไปเพราะถือเป็นข้อความที่เฎาะอีฟ ...
โดยนัยนี้ การรายงานเพิ่มเติมของท่านมุหัมมัด บินอัจญลานที่ว่า .. ท่านนบีย์ไม่ได้กระดิกนิ้ว .. จึงถือเป็นรายงานที่เฎาะอีฟ เพราะเป็นزِيَادَةٌ شَاذَّةٌ ตามหลักวิชาการหะดีษ ...

วัลลอฮุ อะอฺลัม ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น