อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กระดิกหรือชี้ ? (ตอนที่ 1)


โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

(ตอนที่ 1)

ถาม – ในการนมาซทุกครั้งที่ผ่านมาเมื่อก่อน ในตอนที่อ่านตะชะฮ์ฮุดหรืออ่านตะหี้ยาตผมจะยกนิ้วชี้ขึ้นแล้วกระดิกตั้งแต่ต้นจนจบ แต่เมื่อไม่นานมานี้ ผมไปอ่านเจอหนังสือของนักวิชาการท่านหนึ่งบอกว่า ให้เพียงแต่ชี้นิ้วอย่างเดียวโดยไม่ต้องกระดิก โดยที่ท่านได้ยกหลักฐานมาอ้างอิงทัศนะของท่านมากมาย จนผมเกิดความลังเลว่าที่ผมเคยปฏิบัติมาเมื่อก่อนนั้นจะถูกต้องหรือไม่ ? ...
ขอให้อาจารย์กรุณาชี้แจงและวิเคราะห์หลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ชัดเจนด้วย
สะหรีฝีน ยีมะหมัด หาดใหญ่

ตอบ – ปัญหาเรื่องการกระดิกนิ้วชี้ในขณะอ่านตะชะฮ์ฮุด บางคนอาจมองเป็นเรื่องปลีกย่อยที่ไม่น่าจะนำมาพูดหรือเขียนให้เกิดความขัดแย้งในสังคม แต่ในมุมมองของผม ปัญหานี้เป็นปัญหาธรรมดาที่ “ไม่ธรรมดา” ซึ่งจะต้องมีการเคลียร์กัน เพื่อการปฏิบัติอิบาดะฮ์ที่สำคัญที่สุดคือการนมาซให้ถูกต้องตามแบบอย่างหรือซุนนะฮ์ของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมต่อไป ...
ที่ผมพูดว่า “ไม่ธรรมดา” ก็เพราะเรื่องนี้เป็นอิริยาบถอย่างหนึ่งของการนมาซ ซึ่งท่านศาสดาเคยกำชับว่า صَلُّوا كَمَا رَأَيْتُمُوْنِىْ أُصَلِّىْ .. คือ มุสลิมทุกคนจะต้องทำนมาซให้เหมือนที่ท่านทำ .. ดังการรายงานของท่านมาลิก บินหุวัยริษ ร.ฎ. จากการบันทึกโดยท่านบุคอรีย์และท่านอื่นๆ ...
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อหลายปีที่ผ่านมาแล้วที่จังหวัดสงขลา ก็เคยมีการฟัตวาโดยอิหม่ามท่านหนึ่งว่า การกระดิกนิ้วชี้ในขณะอ่านตะชะฮ์ฮุดทำให้เสียนมาซ เพราะเป็นการเคลื่อนไหวอวัยวะ – คือนิ้วชี้ – เกินกว่าสามครั้งโดยเจตนา ซึ่งลงถึงขั้นมีการตัดสินว่า ทำให้การนมาซเป็นโมฆะ (บะฏ็อล) นี่ ผมว่าไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยแน่นอน ...
ขอเรียนว่าสิ่งที่ผมจะเขียนชี้แจงต่อไปนี้เป็นการเขียนตามมุมมองของผม ซึ่งอาจขัดแย้งกับสิ่งที่ผู้ถามอ้างมาและอาจขัดแย้งกับความเชื่อของนักวิชาการอีกหลายๆท่าน ..
ในเรื่องของมุมมองที่แตกต่างหรือขัดแย้งกันนี้ ถือเป็นสิทธิของนักวิชาการแต่ละท่านจะเสนอแนวคิดตามมุมมองของตนเองได้ และมุมมองของนักวิชาการ – ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน – ในปัญหาต่างๆซึ่งมันอาจแตกต่างไปจากมุมมองของเรา และไม่ว่าเราจะรับได้หรือรับไม่ได้ก็ตาม เราก็ต้องให้เกียรติและเคารพในความบริสุทธิ์ใจของท่าน และอย่าด่วนไปฟันธงว่า มุมมองของท่านผิดพลาด ...
เพราะบางที ท่านอาจจะถูกและเราอาจจะผิดก็ได้ ...
สำหรับหนังสือเล่มที่คุณสะหรีฝีนอ้างถึงนั้น ผมก็เคยได้อ่านมาแล้ว .. เป็นข้อเขียนของนักวิชาการหนุ่มไฟแรงท่านหนึ่งของสังคมมุสลิมยุคปัจจุบัน ซึ่งผมขออนุญาตกล่าวนามของท่านไว้ ณ ที่นี้ .. คืออาจารย์มุรีด ทิมะเสน .. เป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ที่ผมยกย่อง, ชื่นชม และติดตามผลงานของท่านตลอดมา ข้อเขียนอันหลากหลายของท่านช่วยกระตุ้นและปลุกกระแสตื่นตัวให้พี่น้องมุสลิมหันให้หันมาให้ความสำคัญกับแบบฉบับที่ถูกต้องของท่านศาสดาเป็นอย่างมาก และผมเองก็ไม่ปฏิเสธว่า เคยได้รับทราบข้อมูลใหม่ๆหลายอย่างจากข้อเขียนของท่าน และผมก็แอบให้กำลังใจท่านเงียบๆตลอดมา .. แม้ว่า บางเรื่องจากข้อเขียนของท่านจะมีมุมมองที่แตกต่างจากผมก็ตาม ...
อย่างเรื่องการกระดิกนิ้วชี้ในขณะอ่านตะชะฮ์ฮุด ตามที่คุณสะหรีฝีนถามมานี้ เป็นต้น ...
มุมมองที่แตกต่างกันในเรื่องศาสนาอันเกิดจากความบริสุทธิ์ใจของแต่ละฝ่าย ไม่ถือว่าเป็นการหักล้างหรือลบหลู่ซึ่งกันและกัน เพราะผมยังชื่นชมในผลงานของท่านอาจารย์มุรีดอยู่เสมอ เท่าๆกับที่ผมมั่นใจว่าท่านอาจารย์มุรีดเองก็ยังคงนับถือผม ในฐานะเป็นผู้อาวุโสกว่าท่าน ...
ต่อไปนี้ คือมุมมอง, คำอธิบาย และการวิเคราะห์ของผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ...
ลักษณะการวางนิ้วชี้ของท่านศาสดาในการอ่านตะชะฮ์ฮุด
หะดีษที่มีรายงานมาเกี่ยวกับเรื่องนี้จากเศาะหาบะฮ์บางท่าน อาทิเช่นท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ อัซ-ซุบัยรฺ และท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. เป็นต้น ได้รายงานลักษณะการวางนิ้วชี้ของท่านศาสดาในขณะอ่านตะชะฮ์ฮุดมา ซึ่งสรุปแล้วจะมีการกล่าวไว้ 3 ลักษณะด้วยกันคือ ...
1. กล่าวเพียงว่า ท่าน يُشِيْرُ بِالسَّبَّابَةِ .. คือ ท่านสื่อสัญญาณด้วยนิ้วชี้ (หรือยกนิ้วชี้ขึ้น) แต่ไม่มีรายงานต่อไปว่า ท่านกระดิกหรือไม่กระดิกมัน ...
2. มีการระบุชัดเจนว่า ولاَ يُحَرِّكُهاَ يُشِيْرُ بِالسَّبَّابَةِ . .. คือ ท่านสื่อสัญญาณด้วยนิ้วชี้(หรือยกนิ้วชี้ขึ้น) แต่ท่านไม่ได้กระดิกมัน ...
3. มีการระบุชัดเจนว่า فَرَأَيْتُهُ يُحَرِّكُهَا رَفَعَ إصْبَعَهُ .. คือ ท่านยกนิ้ว(ชี้)ขึ้น แล้วฉันก็เห็นท่านกระดิกมัน ...
นี่คือ บทสรุปของหลักฐานที่มีรายงานมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ...
หมายเหตุ
คำว่า يُشِيْرُ بِالسَّبَّابَةِ ไม่จำเป็นต้องแปลว่า “ชี้ด้วยนิ้วชี้” ดังการแปลของท่านอาจารย์มุรีดเสมอไป เพราะการแปลดังกล่าวนอกจากจะเป็นการสื่อความหมายที่แคบจนนำไปสู่ความเข้าใจผิดว่าเป็นการชี้โดยไม่มีการกระดิกแล้ว คำว่า أَشَارَ، يُشِيْرُ ตามหลักภาษาจะหมายถึง “การสื่อสัญญาณ, การทำสัญญาณ (ด้วยสิ่งใดๆ)” ซึ่งเป็นความหมายกว้างๆดังตัวอย่างที่ผมจะชี้แจงให้เห็นในลำดับต่อไป ...
ดังนั้น ในหะดีษข้างต้น ความหมายของคำว่า يُشِيْرُ بِالسَّبَّابَةِ ในแง่ภาษาจึงหมายถึง “การสื่อสัญญาณด้วยนิ้วชี้” หรือ “การยกนิ้วชี้ขึ้น”ซึ่งความหมายนี้จะตรงกับอีกสำนวนหนึ่งของหะดีษบทนี้ที่ว่า رَفَعَ إِصْبَعَهُ (ท่านนบีย์ได้ยกนิ้วชี้ของท่านขึ้น) อันเป็นการรายงานของท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ที่จะถึงต่อไป ...
สำนวนที่แตกต่างกันของหะดีษเรื่องเดียวกัน ย่อมอธิบายซึ่งกันและกันเสมอ ...
เมื่อเราพิจารณาดูบทสรุปที่ผมกล่าวมานี้ ก็จะเห็นได้ว่า ที่สอดคล้องกันของรายงานทั้ง 3 ลักษณะข้างต้นก็คือ ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมสื่อสัญญาณด้วยนิ้วชี้หรือยกนิ้วชี้ขึ้นในการอ่านตะชะฮ์ฮุด ...
แต่ที่ขัดแย้งกันก็คือ รายงานที่สองบอกว่า ท่านยกนิ้วชี้ขึ้น แต่ไม่ได้กระดิกมัน ...
รายงานที่สามบอกว่า ท่านยกนิ้วชี้ขึ้นแล้วกระดิกมัน ...
ส่วนสำนวนในรายงานที่หนึ่ง (ทั้งหมด) ตามที่ท่านอาจารย์มุรีดนำมาอ้างเป็นหลักฐานเรื่องไม่กระดิกนิ้วชี้นั้น ข้อเท็จจริงก็คือ เป็นรายงานที่เรียกว่า مَسْكُوْتٌ عَنْهُ .. คือ ยังชี้ชัดไม่ได้ว่ามีการกระดิกนิ้วชี้ด้วยหรือไม่ .. หรือถ้าเป็นภาษามวยก็ต้องเรียกว่า เป็นมวยเชิงรอจังหวะ คือไม่บุก แต่ก็ไม่ถอย, ...
หมายความว่า รายงานลักษณะที่หนึ่งนี้จะนำมาอ้างเป็นหลักฐานเรื่องกระดิกนิ้วชี้ก็ไม่ได้, จะอ้างเป็นหลักฐานเรื่องไม่กระดิกนิ้วชี้ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะทั้งสองอย่างนั้นไม่มีกล่าวไว้ในหะดีษบทนี้เลย ...
เพราะฉะนั้น รายงานที่หนึ่งนี้จึงเป็นหลักฐานได้เพียงอย่างเดียวคือ ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยกนิ้วชี้ขึ้นในการอ่านตะชะฮ์ฮุด ...
ส่วนปัญหาที่ว่าเมื่อท่านยกนิ้วชี้ขึ้นแล้วท่านกระดิกมันหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับผลการวิเคราะห์รายงานที่สองและรายงานที่สามที่ยังขัดแย้งกันอยู่ว่า รายงานไหนจะถูกต้องกว่ากัน ...
ถ้าผลการวิเคราะห์ออกมาว่า รายงานที่ว่าไม่กระดิกนิ้วชี้เป็นรายงานที่ถูกต้องกว่า ก็ต้องถือว่า ซุนนะฮ์ในการนั่งอ่านตะชะฮ์ฮุด ให้เรายกนิ้วชี้ขึ้นแต่ไม่ต้องกระดิกมัน ...
แต่ถ้าผลการวิเคราะห์ออกมาว่า รายงานเรื่องกระดิกนิ้วถูกต้องกว่า เราก็ต้องยอมรับว่า ซุนนะฮ์ในการนั่งอ่านตะชะฮ์ฮุด ให้เรายกนิ้วชี้ขึ้นแล้วกระดิกมันด้วย ...
ถูกต้องไหมครับที่ผมกล่าวมานี้ ...



กระดิกหรือชี้ ? (ตอนที่ 2)


โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

(ตอนที่ 2)

ต่อไปนี้คือรายละเอียดของการรายงานและการวิเคราะห์ลักษณะนิ้วชี้ของท่านศาสดาในการนั่งอ่านตะชะฮ์ฮุด ซึ่งผมจะเริ่มวิเคราะห์จาก “รายงานที่หนึ่ง” ก่อนดังนี้ ..
รายงานที่หนึ่ง เรื่องยกนิ้วชี้ขึ้น แต่ไม่ระบุเรื่องกระดิกหรือไม่กระดิก ...
(1). รายงานจากท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ อัซ-ซุบัยรฺ ร.ฎ.(สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 73)
รายงานในเรื่องนี้จากท่านอับดุลลอฮ์ มี 3 กระแสด้วยกันคือ ...
ก. จากท่านอุษมาน บินหะกีม, จากท่านอามิรฺ บินอับดุลลอฮ์, จากบิดาของท่านคือท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ อัซ-ซุบัยร์ ร.ฎ. ซึ่งกล่าวว่า ...
كَانَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا قَعَدَ فِى الصَّلاَةِ جَعَلَ قَدَمَهُ الْيُسْرَى بَيْنَ فَخِذِهِ وَسَاقِهِ، وَفَرَشَ قَدَمَهُ الْيُمْنَى، وَوَضَعَ يَدَهُ الْيُسْرَى عَلَى رُكْبَتِهِ الْيُسْرَى، وَوَضَعَ يَدَهُ الْيُمْنَى عَلَى فَخِذِهِ الْيُمْنَى وَأَشَارَ بِإِصْبَعِهِ
“เมื่อท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะวัลลัมนั่งในนมาซนั้น ท่านจะวางฝ่าเท้าซ้ายของท่านไว้ระหว่างขาอ่อนกับแข้ง(ขวา)ของท่าน และแบฝ่าเท้าขวาของท่าน (ในลักษณะตั้งชันขึ้นอันเป็นการนั่งแบบตะวัรฺรุก) แล้วท่านก็วางมือซ้ายของท่านลงบนเข่าซ้าย และวางมือขวาของท่านบนขาอ่อนด้านขวา และท่านก็ทำสัญญาณด้วยนิ้ว(ชี้ .. คือยกนิ้วชี้ขึ้น)” ...
(บันทึกโดยท่านมุสลิม หะดีษที่ 112/579, ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 988, ท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ หะดีษที่ 696 และท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 130) ...
รายงานนี้เป็นรายงานที่ถูกต้อง และสำนวนในที่นี้เป็นสำนวนจากการบันทึกของท่านมุสลิม ..
ท่านอาจารย์มุรีดได้นำเอาหะดีษกระแสนี้ลงบันทึกไว้ในหนังสือ “ชี้หรือกระดิก” ของท่าน หน้า 14 อันเป็นหลักฐานที่ 1 เรื่องไม่ต้องกระดิกนิ้วชี้ และมีการอ้างซ้ำอีกครั้งในหน้าที่ 20) ...
ข. จากท่านมัครอมะฮ์ บินบุกัยรฺ, จากท่านอามิรฺ บินอับดุลลอฮ์ จากท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ อัซ-ซุบัยรฺ ร.ฎ. ซึ่งกล่าวว่า ...
كَانَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا جَلَسَ فِى الثِّنْتَيْنِ أَوْ فِى اْلأَرْبَعِ يَضَعُ يَدَيْهِ عَلَى رُكْبَتَيْهِ ثُمَّ أَشَارَ بِإِصْبَعِهِ
“เมื่อท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมนั่ง(อ่านตะชะฮ์ฮุด)ในร็อกอะฮ์ที่สองหรือร็อกอะฮ์ที่สี่ ท่านจะวางมือทั้งสองของท่านลงบนเข่าทั้งสองของท่าน จากนั้นท่านก็ทำสัญญาณด้วยนิ้ว(ชี้)ของท่าน” ...
(บันทึกโดย ท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 1160 และท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 132) ...
สายรายงานนี้ ถูกต้องหรืออย่างน้อยก็หะซัน (สวยงาม) ...
ค. จากท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน, จากท่านอามิรฺ บินอับดุลลอฮ์ จากท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ อัซ-ซุบัยรฺ ร.ฎ. ซึ่งกล่าวว่า ...
إِنَّ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ كَانَ إِذَا قَعَدَ فِى التَّشَهُّدِ وَضَعَ كَفَّهُ الْيُسْرَى عَلَى فَخِذِهِ الْيُسْرَى، وَأَشَارَ بِالسَّبَّابَةِ لاَ يُجَاوِزُبَصَرُهُ إِشَارَتَهُ
“เมื่อท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมนั่งตะชะฮ์ฮุด ท่านจะวางฝ่ามือซ้ายบนขาอ่อนข้างซ้าย, และท่านจะทำสัญญาณด้วยนิ้วชี้ โดยที่สายตาของท่านจะมองไปยังการชี้นั้น”
(บันทึกโดย ท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 1274, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 132 และท่านผู้บันทึกท่านอื่นๆ) ...
สายรายงานนี้หะซัน (สวยงาม) เพราะท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน มีความบกพร่องด้านความจำเล็กน้อย ...
ท่านอาจารย์มุรีดได้นำหะดีษกระแสนี้ลงบันทึกในหนังสือ “ชี้หรือกระดิก” ของท่าน หน้า 14-15 อันเป็นหลักฐานที่สอง ...
จะเห็นได้ว่า รายงานนี้ทั้งสามกระแส คือกระแสของท่านอุษมาน บินหะกีม, กระแสของท่านมัครอมะฮ์ บินบุกัยรฺ และกระแสของท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน ล้วนรายงานมาจากแหล่งเดียวกัน คือจากท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุอัซ-ซุบัยรฺ ร.ฎ. ...
(2). รายงานจากท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. (สิ้นชีวิตในสมัยท่านมุอาวิยะฮ์เป็นคอลีฟะฮ์)
หะดีษนี้จากการรายงานของท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ.เท่าที่ผมตรวจสอบแล้ว มีรวม 7 กระแสด้วยกัน ซึ่งในที่นี้ผมจะนำเสนอข้อความที่ตรงประเด็นเรื่องลักษณะนิ้วชี้โดยเฉพาะเท่านั้น เพื่อมิให้ยืดเยื้อจนเกินไป ดังนี้ ...
ก. จากท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์, จากท่านอาศิม บินกุลัยบ์, จากบิดาของท่าน, จากท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. กล่าวว่า ...
.......... وَأَشَارَ بِالسَّبَّابَةِ، يَدْعُوْ بِهَا
“................... แล้วท่านก็ทำสัญญาณด้วยนิ้วชี้ (โดย)วิงวอน (คืออ่านตะชะฮ์ฮุด)ด้วยมัน (นิ้วชี้)”
(บันทึกโดย ท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 1263, และท่านอะห์มัด เล่มที่ 4 หน้า 318) ...
ท่านอาจารย์มุรีดได้นำหะดีษกระแสนี้ลงบันทึกในหนังสือดังกล่าวของท่าน หน้า 16 อันเป็นหลักฐานที่ 5, แต่ในสายรายงานกล่าวว่า .. จากท่านมุหัมมัด อัล-ฟิรฺยาบีย์, ฟังจากท่านอาศิม บินกุลัยบ์ ..
ข้อความนี้มีตกหล่นนามผู้รายงานท่านหนึ่งระหว่างท่านมุหัมมัด อัล-ฟิรฺยาบีย์กับท่านอาศิม บินกุลัยบ์ คือท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์ ซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะเกิดจากความผิดพลาดในการเรียงพิมพ์ ...
ข. จากท่านชุอฺบะฮ์ บินอัล-หาจญ์, จากท่านอาศิม บินกุลัยบ์, จากบิดาของท่าน, จากท่านวาอิล บิน หุจญริน ร.ฎ. กล่าวว่า ...
..............وَأَشَارَ بِإِصْبَعِهِ السَّبَّباَبَةِ
“........................ และท่านก็ทำสัญญาณด้วยนิ้วชี้ของท่าน”
(บันทึกโดย ท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ หะดีษที่ 697 และท่านอะห์มัด เล่มที่ 4 หน้า 319)
ท่านอาจารย์มุรีด ได้นำหะดีษกระแสนี้บันทึกในหนังสือดังกล่าวของท่าน หน้า 18 ...
ค. จากท่านอับดุลญับบารฺ บินอะลาอ์, จากท่านอาศิม บินกุลัยบ์, จากบิดาของท่าน, จากท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. กล่าวว่า ...
............... وَجَعَلَ يُشِيْرُ بِالسَّبَاحَةِ يَدْعُوْ
“................. และท่านเริ่มทำสัญญาณด้วยนิ้วชี้ (เพื่อ) กล่าวตะชะฮ์ฮุด”
(บันทึกโดยท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ หะดีษที่ 713) ...
ท่านอาจารย์มุรีดได้นำหะดีษกระแสนี้บันทึกในหนังสือของท่านหน้า 19 ...
ง. จากท่านบิชรฺ บินอัล-มุฟัฎฎ็อล, จากท่านอาศิม บินกุลัยบ์, จากบิดาของท่าน, จากท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. กล่าวว่า ...
.................. وَأَشَارَ بِالسَّبَّابَةِ مِنَ الْيُمْنَى
“ ........................ และท่านก็ทำสัญญาณด้วยนิ้วชี้มือขวา”
(บันทึกโดยท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 957, ท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 1264 สำนวนในที่นี้เป็นสำนวนจากการบันทึกของท่านอัน-นะซาอีย์) ...
ท่านอาจารย์มุรีดได้นำหะดีษกระแสนี้บันทึกในหนังสือของท่าน หน้า 21 ...
จ. จากท่านคอลิด บินอับดุลลอฮ์ อัล-วาสิฏีย์, จากท่านอาศิม บินกุลัยบ์, จากบิดาของท่าน, จากท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. ด้วยสำนวนที่เหมือนการรายงานของท่านบิชรฺ บินมุฟัฎฎ็อล จากการบันทึกของท่านอบูดาวูดที่ผ่านมาแล้ว ...
(บันทึกโดย ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 131) ...
ฉ. จากท่านซุฮัยรฺ บินมุอาวิยะฮ์, จากท่านอาศิม บินกุลัยบ์, จากบิดาของท่าน, จากท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. ด้วยสำนวนที่คล้ายกับรายงานของท่านบิชรฺ บินมุฟัฎฎ็อล เช่นเดียวกัน ...
(บันทึกโดย ท่านอะห์มัด เล่มที่ 4 หน้า 318) ...
ช. จากท่านอบู อัล-อะห์วัศ อัล-หะนะฟีย์, จากท่านอาศิม บินกุลัยบ์, จากบิดาของท่าน, จากท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. กล่าวว่า ...
......... وَجَعَلَ حَلْقَةَ اْلإِبْهَامِ وَالْوُسْطَى ثُمَّ جَعَلَ يَدْعُوْ بِاْلأُخْرَى
“ ............ และท่านนบีย์ก็เอานิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลางจรดกันเป็นวงกลม แล้วท่านก็เริ่มอ่านตะชะฮ์ฮุดด้วยนิ้วอื่น (คือนิ้วชี้)” ...
(บันทึกโดย ท่านอัฏ-เฏาะหาวีย์ในหนังสือ “ชัรฺหุมะอานีย์ อัล-อาษารฺ” เล่มที่ 1 หน้า 259) ...
ข้างต้นนี้คือ 7 กระแสของหะดีษนี้ซึ่งรายงานมาจากท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ.
นอกจากนี้ ก็ยังมีหะดีษในลักษณะเดียวกันนี้ที่รายงานมาจากเศาะหาบะฮ์อีกท่านหนึ่ง คือท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. จากการบันทึกของท่านมุสลิม หะดีษที่ 115/580, ท่านอิหม่ามมาลิกในหนังสือ “อัล-มุวัฏเฏาะอ์” หะดีษที่ 195, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 294, ท่านอะห์มัด เล่มที่ 2 หน้า 65 และท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 130 เป็นต้น ...
เมื่อเราพิจารณาดูเนื้อหาและสำนวนของหะดีษนี้ที่รายงานมาโดยเศาะหาบะฮ์ 3 ท่าน คือท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุอัซ-ซุบัยรฺ, ท่านวาอิล บินหุจญริน และท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. ก็จะเห็นได้ว่า แม้สำนวนในการรายงานจะแตกต่างกัน แต่ในด้านเนื้อหาแล้วจะตรงกัน คือ ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจะทำสัญญาณด้วยนิ้วชี้ (คือยกนิ้วชี้ขึ้น)ในการอ่านตะชะฮ์ฮุด ...
ข้อความของหะดีษนี้ทั้งหมดทุกกระแสข้างต้นมีกล่าวไว้เพียงแค่นี้ ไม่มีกระแสใดรายงานเพิ่มเติมเลยว่า ท่านกระดิกนิ้วชี้หรือไม่กระดิก ...
ดังนั้น การที่นักวิชาการจากประเทศอาหรับบางท่าน อาทิเช่นท่านเช็คมุหัมมัดอัมรฺ อับดุลละฏีฟ เจ้าของหนังสือ “ตับยีฎ อัศ- เศาะหี้หะฮ์” ได้อ้างหะดีษเหล่านี้แล้วสรุปว่าเป็นหลักฐานเรื่องการไม่กระดิกนิ้วชี้ในการอ่านตะชะฮ์ฮุด จึงเป็นเรื่องการขาดความรอบคอบในการพิจารณาความหมายของหะดีษ ...
ผมเชื่อว่า การที่ท่านเช็คผู้นี้ (รวมทั้งท่านอาจารย์มุรีดด้วย) ได้อ้างหะดีษเหล่านี้เป็นหลักฐานเรื่องไม่ต้องกระดิกนิ้วชี้ในการอ่านตะชะฮ์ฮุด – ทั้งๆที่ข้อความที่ว่า “ไม่กระดิกนิ้วชี้” ไม่มีปรากฏในรายงานเหล่านี้เลยดังกล่าวมาแล้ว – อาจเป็นเพราะความเข้าใจว่า การ “ชี้” กับการ “กระดิก” เป็นเรื่องที่ค้านกัน ...
ดังนั้น เมื่อผู้รายงานหะดีษกล่าวว่า ท่านนบีย์ أَشَارَبِاْلإِصْبَعِ (แล้วเราไม่ได้แปลตามหลักภาษาว่า ท่านทำสัญญาณด้วยนิ้วหรือยกนิ้วขึ้น แต่เรามาแปลว่า ท่านชี้นิ้ว) จึงทำให้เข้าใจต่อไปอีกว่า เป็นการชี้นิ้วตรงแหนวโดยไม่กระดิกมัน ...
เมื่อเข้าใจว่าการชี้นิ้วกับการกระดิกนิ้วค้านกัน จึงตัดสินชี้ขาดโครมลงไปว่า ท่านนบีย์ชี้นิ้วจริง แต่ไม่ได้กระดิกนิ้ว ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นความเข้าใจผิดซ้ำสอง ...


กระดิกหรือชี้ ? (ตอนที่ 3)



โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

(ตอนที่ 3)

ก่อนอื่น ก็ขอให้เราลองมาพิจารณาดูข้อเท็จจริง -- ไม่ว่าตามหลักภาษาและการปฏิบัติของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะวัลลัม -- ว่า การ “ชี้” กับการ “กระดิก” ค้านกันหรือไม่ ? ...
1. ในแง่ของภาษา
ก. คำว่า أَشَارَ، يُشِيْرُ، إِشَارَةً ในภาษาอาหรับดังที่มีระบุในหะดีษข้างต้นนี้ โดยพื้นฐานของภาษาแล้วไม่ได้แปลว่าชี้, แต่หมายถึง“การสื่อสัญญาณ, การทำสัญญาณ, การแสดงอาการให้รู้ด้วยอวัยวะหรือสิ่งใด เพื่อสื่อความหมายที่ต้องการแทนคำพูด” ...
(โปรดดูหนังสือ “อัล-มิศบาห์ฯ” เล่มที่ 1 หน้า 350, หนังสือ“อัล-มั๊วะอฺญัม อัล-วะซีฏ” เล่มที่ 1 หน้า 499, หนังสือกอมูส “อัล-มุฮีฏ” เล่มที่ 2 หน้า 134, หนังสือกอมูส “อัล-มุนญิด” หน้า 407, หนังสือ “อัน-นิฮายะฮ์ ฟี เฆาะรีบิ้ลหะดีษ” เล่มที่ 2 หน้า 518 เป็นต้น) ...
โปรดดูตัวอย่างจากสำนวนต่างๆดังต่อไปนี้ ...
ภาษาอาหรับกล่าวว่า ...
أَشَارَ بِالْحَاجِبِ แปลว่า เขาสื่อสัญญาณด้วยคิ้ว คือยักคิ้ว ...
أَشَارَ بِالْعَيْنِ แปลว่า เขาสื่อสัญญาฯด้วยตา คือขยิบตาหรือหรี่ตาให้ ...
أَشَارَ بِالرَّأْسِ แปลว่า เขาแสดงสัญญาณด้วยศีรษะ คือส่ายศีรษะเมื่อปฏิเสธหรือผงกศีรษะเมื่อยอมรับ ...
أَشَارَ بِالْيَدِ แปลว่า เขาทำสัญญาณด้วยมือ คือการกวักมือเรียกให้เข้ามา หรือโบกมือทักทาย หรือโบกมือไล่ให้ออกไป หรือชี้มือไปข้างหน้า ...
أَشَارَ بِالْخِنْصِرِ แปลว่า เขาทำสัญญาณด้วยนิ้วก้อย คือ “ชู” นิ้วก้อยขึ้นเป็นความหมายว่า เรามาดีกันนะ หรือเราเลิกโกรธกันนะ ...
أَشَارَ بِاْلإِبْهَامِ แปลว่า เขาทำสัญญาณด้วยหัวแม่มือ คือ “ชู” นิ้วหัวแม่มือขึ้นเป็นความหมายยอมรับว่า นายแน่มาก ..ฯลฯ. ...
ข้อความข้างต้นทั้งหมดนี้ใช้คำว่า أَشَارَ เช่นเดียวกัน แต่มีผู้ใดบ้างที่จะแปลว่า เขาชี้ด้วยคิ้ว, เขาชี้ด้วยตา, เขาชี้ด้วยศีรษะ, เขาชี้ด้วยนิ้วก้อย, เขาชี้ด้วยหัวแม่มือ ? ...
ทีนี้ ท่านผู้อ่านลองหลับตานึกดูสภาพความเป็นจริงของการทำสัญญาณด้วยอวัยวะต่างๆดังกล่าวมาข้างต้นนั้นว่า เวลาเราส่งสัญญาณห้ามหรือยุใครด้วยการขยิบตาก็ดี, เราโบกมือทักทายใครก็ดี, เรายอมรับใครด้วยการผงกศีรษะก็ดี, เราไม่เห็นด้วยกับใคร ด้วยการส่ายศีรษะก็ดี ...
จำเป็นด้วยหรือที่เราจะต้อง أَشَارَ คือสื่อสัญญาณด้วยอวัยวะเหล่านั้นโดยขยิบตาได้แค่ครั้งเดียว, โบกมือได้แค่ครั้งเดียว, ผงกศีรษะได้แค่ครั้งเดียว, ส่ายศีรษะได้แค่ครั้งเดียว ห้ามทำซ้ำหลายครั้ง ...
หรือตามข้อเท็จจริงเราจะต้องทำซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้งกันแน่ ? ...
เพราะฉะนั้น เมื่อหะดีษกล่าวว่า ท่านนบีย์ أَشَارَ بِالسَّبَّابَةِ (ทำสัญญาณด้วยนิ้วชี้หรือยกนิ้วชี้ขึ้น) เราเอาหลักฐานที่ไหนมาอ้างครับว่า เมื่อยกนิ้วชี้ขึ้นแล้ว ท่านก็ชี้มันไปข้างหน้าตรงแหนวเลยโดยไม่กระดิกมันอีก ? ...
ข. ท่านอัศ-ศ็อนอานีย์ได้กล่าวในหนังสือ “สุบุลุส สลาม” เล่มที่ 1 หน้า 188 (ไม่เกี่ยวกับเรื่องการกระดิกหรือชี้ของหะดีษบทนี้ แต่เป็นการกล่าวในภาพรวมทั่วๆไป) ว่า
قَالَ الْعُلَمَاءُ : خُصَّتِ السَّبَّابَةُ بِاْلإِشَارَةِ ِلاتِّصَالِهَا بِنِيَاطِ الْقَلْبِ، فَتَحْرِيْكُهَا سَبَبٌ لِحُضُوْرِهَا
“บรรดานักวิชาการต่างกล่าวว่า .. การกำหนดการชี้ด้วยนิ้วชี้ ก็เพราะมัน (นิ้วชี้) เชื่อมโยงอยู่กับขั้วหัวใจ ดังนั้น การกระดิกมันก็คือสาเหตุในการกระตุ้นให้หัวใจตื่นตัว (เตรียมพร้อมตลอดเวลา)” ...
ข้อความข้างต้นนี้ คงไม่ต้องขยายความใดๆอีก เพราะผู้อ่านทุกท่านคงจะมองออกแล้วว่า การ “กระดิก” นิ้วชี้นั้น มัน “ค้าน” หรือ“เสริม” การชี้นิ้วกันแน่ ? ...
2. ในแง่หลักฐานจากหะดีษ
ก. ท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ได้บันทึกหะดีษบทหนึ่งในหนังสือ “อัศ-เศาะเหี๊ยะฮ์” ของท่าน เป็นหะดีษที่ 1450 โดยอ้างรายงานมาจากท่านซะฮ์ล์ (ซะฮัล) บินสะอฺด์ (สะอัด) มีข้อความว่า ...
مَا رَأَيْتُ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ شَاهِرًا يَدَيْهِ قَطُّ يَدْعُوْ عَلَى مِنْبَرِهِ وَلاَ عَلَى غَيْرِهِ، وَلَكِنْ رَأَيْتُهُ يَقُوْلُ هَكَذَا : وَأَشَارَ بِإِصْبَعِهِ السَّبَّابَةِ يُحَرِّكُهَا
“ฉันไม่เคยเห็นท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะวัลลัมโชว์ (คือยก)มือทั้งสองของท่านเลยขณะขอดุอาบนมิมบัรฺของท่านหรือบนอะไรก็ตาม แต่ฉันเห็นท่านกล่าว (คือแสดงอาการ) อย่างนี้ .. แล้วท่านซะฮ์ล์ก็ยกนิ้วชี้ของท่านขึ้นพร้อมกับกระดิกมันด้วย” ...
ผมไม่ได้อ้างหะดีษบทนี้เป็นหลักฐานตามเนื้อหาทั้งหมดของมัน เพราะในสายรายงานของหะดีษนี้มีข้อบกพร่องเล็กน้อย ...
นั่นคือผู้รายงานท่านหนึ่งชื่อ อับดุรฺเราะห์มาน บินมุอาวิยะฮ์ อบูอัล-หุวัยริษ ถูกวิจารณ์ว่า แม้จะเป็นผู้ที่พอจะเชื่อถือได้ แต่ความจำไม่ค่อยดี ...
(จากหนังสือ “ตักรีบุต ตะฮ์ซีบ” เล่มที่ 1 หน้า 498 หมายเลข 1116) ...
แต่ที่นำหะดีษบทนี้มาอ้างก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า การที่ข้อความของหะดีษกล่าวว่า .. ท่านยกหรือชี้นิ้วชี้พร้อมกระดิกมันด้วย .. แสดงว่าตามหลักภาษานั้น การชี้กับการกระดิกไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ค้านกันเลย ดังความเข้าใจผิดๆของนักวิชาการอาหรับท่านนั้น
ข. มีรายงานมาจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. ว่า ...
صَلَّى رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِىْ بَيْتِهِ وَهُوَشَاكٍ، فَصَلَّى وَرَاءَهُ قَوْمٌ قِيَامًا، فَأَشَارَ إِلَيْهِمْ أَنِ اجْلِسُوْا .............
“ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำนมาซในบ้านของท่านขณะที่ท่านกำลังป่วยอยู่ แล้วก็มีคนกลุ่มหนึ่งมายืนนมาซข้างหลังท่าน ท่านจึงชี้ (มือหรือนิ้ว)ไปยังพวกเขา (เป็นสัญญาณ)ว่า พวกท่านจงนั่งลง .........”
(บันทึกโดย ท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 688, 1113, 1236, 5658, ท่านอิบนุมาญะฮ์ หะดีษที่ 1237, ท่านมาลิกใน “อัล-มุวัฏเฏาะอ์” หะดีษที่ 303) ...
โปรดสังเกตด้วยว่า ในหะดีษบทนี้ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. กล่าวว่า أَشَارَ إِلَيْهِمْ ซึ่งแปลความหมายได้ตรงตัวว่า ท่านได้ชี้ (มือหรือนิ้ว)ไปยังพวกเขา, ต่างกับหะดีษบทวิภาษที่ใช้สำนวนว่า أَشَارَ بِاْلإِصْبَعِ ซึ่งควรจะแปลว่า ท่านได้ทำสัญญาณด้วยนิ้ว คือยกนิ้วขึ้น ดังกล่าวมาแล้ว ...
การที่ท่านนบีย์นั่งนมาซเพราะป่วยแล้วมีคนมายืนนมาซข้างหลังท่าน ท่านจึง “ชี้” มือหรือนิ้วไปยังพวกเขาเพื่อเตือนว่าพวกเขาอย่ายืนนมาซ แต่ให้นั่งลงนมาซเหมือนท่าน(โดยในสำนวนหะดีษมิได้กล่าวว่า ท่านกระดิกมือหรือกระดิกนิ้วด้วย) ...
แล้วท่านผู้อ่านคิดหรือว่า ถ้าท่านนบีย์ชี้มือหรือชี้นิ้วไปยังพวกเขาเฉยๆโดยมิได้กระดิกนิ้วมือลงหรือโบกมือลงด้วยแล้ว พวกเขาจะเข้าใจหรือว่า ท่านชี้มือหรือชี้นิ้วมาที่พวกเขาเพื่อต้องการสื่อความหมายอะไร ? ...
สรุปแล้ว การ “ชี้” กับการ “กระดิก” นิ้วจึงมิใช่เป็นเรื่องที่ค้านกันเลย ไม่ว่าจะมองในแง่มุมของภาษา, ข้อเท็จจริง หรือหลักฐานจากหะดีษ ดังที่ผมได้อธิบายและเสนอตัวอย่างไปแล้ว ...
ดังนั้น หะดีษข้างต้นทั้งหมดเรื่องการทำสัญญาณด้วยนิ้วชี้หรือการยกนิ้วชี้ของท่านนบีย์ขณะอ่านตะชะฮ์ฮุด ซึ่งแม้จะอนุโลมให้แปลว่า ท่านชี้ด้วยนิ้วชี้ก็ตาม จึงมิใช่หลักฐานห้ามหรือปฏิเสธการกระดิกนิ้วชี้ด้วยแน่นอน ดังความเข้าใจผิดของเช็คมุหัมมัดอัมรฺ อับดุลละฏีฟในหนังสือ “ตับยีฎ อัศ-เศาะหี้หะฮ์” และท่านอาจารย์มุรีดได้นำมาใช้เป็นบรรทัดฐานในการเขียนหนังสือ “ชี้หรือกระดิก” ของท่าน ...
รายงานที่สอง เรื่องยกนิ้วชี้ขึ้น แล้วมีระบุชัดเจนว่า ไม่กระดิกนิ้ว ...
หลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีรายงานมาดังนี้ ...
ท่านซิยาด บินสะอฺด์ บินอับดุรฺเราะห์มาน ได้รายงานจากท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน, จากท่านอามิรฺ บินอับดุลลอฮ์, จากท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุอัซ-ซุบัยรฺ ร.ฎ. กล่าวว่า ..
إِنَّ النَّبِىَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ كَانَ يُشِيْرُ بِإِصْبَعِهِ إِذَا دَعَا، وَلاَ يُحَرِّكُهَا
“แท้จริง ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ทำสัญญาณด้วยนิ้วของท่าน (คือยกนิ้วชี้ขึ้น) ขณะกล่าววิงวอน (คืออ่านตะชะฮ์ฮุด)และท่านไม่ได้กระดิกมัน ” ...
(บันทึกโดย ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 989, ท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 1269, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 132 และท่านอัล-บัฆวีย์ในหนังสือ “ชัรหุ อัซ-ซุนนะฮ์” หะดีษที่ 677) ...
สถานภาพของหะดีษบทนี้
ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-มัจญมั๊วะอฺ” เล่มที่ 3 หน้า 454 ว่า สายรายงานของหะดีษนี้ ถูกต้อง ...
ข้อโต้แย้ง
ตามความเป็นจริงแล้ว นักวิชาการหะดีษหลายท่านได้กล่าววิจารณ์หะดีษนี้ว่ามีความบกพร่องทั้งในด้านสายรายงานและในด้านตัวบท ...
อธิบาย
ข้อบกพร่องในด้านสายรายงานก็คือ ท่านมุหัมมัด บินอัจญลานซึ่งเป็นผู้รายงานท่านหนึ่งของหะดีษนี้ (เป็นตาบิอีน, สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 148) แม้ตามปกติเป็นผู้ที่พอจะเชื่อถือได้(صَدُوْقٌ) และได้รับความเชื่อถือจากนักวิชาการบางท่าน แต่ขณะเดียวกันก็ถูกนักวิชาการจำนวนมากกล่าวว่า سَيِّئُ الْحِفْظِ .. คือ เป็นผู้ที่ความจำแย่ ...
(จากหนังสือ “อัล-กาชิฟ” ของท่านอัษ-ษะฮะบีย์ เล่มที่ 3 หน้า 69) ...
หะดีษซึ่งผู้รายงานที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้รายงานมาจะถือว่า เป็น “สายรายงานที่ถูกต้อง” ดังคำกล่าวของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ ย่อมไม่ได้ แต่ตามหลักการแล้วต้องถือว่า เป็นหะดีษที่สายรายงานค่อนข้างอ่อน, หรืออย่างดีที่สุดก็อาจกล่าวได้เพียงว่า สายรายงานของมัน หะซัน (สวยงาม) เท่านั้น ...
(โปรดดูหนังสือ “ศิฟะตุ ศ่อลาติ้นนบีย์ฯ” หน้า 159 และหนังสือ “ตะมามุ้ลมินนะฮ์” หน้า 217) ...
ส่วนข้อบกพร่องในด้านเนื้อหาก็คือ ข้อความของหะดีษนี้ที่ว่า ..“และท่าน(นบีย์)ไม่ได้กระดิกมัน(นิ้วชี้)” ถือเป็นข้อความที่ผิดเพี้ยน(شَاذٌّ) ดังคำกล่าวของนักวิชาการหลายท่านอาทิเช่นท่านอิบนุ้ลก็อยยิม, ท่านอัล-อัลบานีย์, ท่านเช็คอบูอุบัยดะฮ์ มัชฮูรฺ บินหะซัน เป็นต้น ...
(โปรดดูหนังสือ “ซาดุ้ลมะอาด” เล่มที่ 1 หน้า 81, หนังสือ“เฎาะอีฟสุนันนะซาอีย์” หน้า 44, และหนังสือ “อัล-เกาลุ้ลมุบีน ฟี อัขฏออิ้ล มุศ็อลลีน” หน้า 163) ...
วิเคราะห์
สาเหตุที่นักวิชาการกล่าวว่า ข้อความดังกล่าวของหะดีษนี้ผิดเพี้ยน ก็เพราะข้อความนี้มีรายงานมาเพียงกระแสเดียว คือ จากท่านซิยาด บินซะอฺด์, จากท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน, จากท่านอามิรฺ บินอับดุลลอฮ์, ........ ดังที่ได้ระบุมาแล้วข้างต้น ...
ดังได้อธิบายมาแล้วว่า ท่านมุหัมมัด บินอัจญลานถูกวิจารณ์ว่า ความจำแย่, จึงทำให้คำกล่าวในรายงานของท่านที่ว่า .. “และท่านนบีย์ไม่ได้กระดิกนิ้วชี้” .. มีปัญหาเกิดขึ้น 2 ช่วง คือ ...
ช่วงที่หนึ่ง การรายงานของท่านซิยาด บินซะอฺด์(และผู้รายงานท่านอื่น) มาจากท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน .
ช่วงที่สอง การรายงานของท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน(และผู้รายงานท่านอื่น) มาจากท่านอามิรฺ บินอับดุลลอฮ์ ...
คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีดังต่อไปนี้ ...
ช่วงที่ 1
ผู้รายงานหะดีษเรื่องการยกนิ้วชี้ขึ้นของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมขณะอ่านตะชะฮ์ฮุดมาจากท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน นอกจากท่านซิยาด บินซะอฺด์ ดังกล่าวมาแล้ว ยังมีผู้รายงานท่านอื่นอีก 4 ท่านด้วยกัน คือ ...
1. ท่านอบูคอลิด อัล-อะห์มัรฺ จากการบันทึกของท่านมุสลิม หะดีษที่ 113/579, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 131 ...
2. ท่านซุฟยาน บินอุยัยนะฮ์ จากการบันทึกของท่านอัด-ดาริมีย์ หะดีษที่ 1338
3. ท่านยะห์ยา บินสะอีด อัล-ก็อฏฏอน จากการบันทึกของท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 1274, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 132 และท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ หะดีษที่ 718 ...
4. ท่านอัล-ลัยษ์ บินซะอฺด์ จากการบันทึกของท่านมุสลิม หะดีษที่ 113/579 และท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 131 ...
ผู้รายงานทั้ง 4 ท่านนี้ ล้วนได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างสูงจากนักวิชาการหะดีษ, ได้รายงานลักษณะการวางนิ้วชี้ของท่านนบีย์ขณะอ่านตะชะฮ์ฮุดมาจากท่านมุหัมมัด บินอัจญลานว่า ท่านนบีย์ได้ “ยกนิ้วชี้ขึ้น” เหมือนรายงานของท่านซิยาด บินซะอฺด์ข้างต้น ...
แต่ในรายงานของทั้ง 4 ท่านนี้ไม่ปรากฏมีข้อความว่า “และท่านนบีย์ไม่ได้กระดิกนิ้วชี้” ดังปรากฏในรายงานของท่านซิยาด ที่รายงานมาจากท่านมุหัมมัด บินอัจญลานเช่นเดียวกัน ...
ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ข้อความซึ่งมีลักษณะเป็น “ส่วนเกิน” ดังกล่าวนี้น่าจะเป็นผลงานของผู้ใด ...
ของท่านซิยาด บินซะอฺด์ บินอับดุรฺเราะห์มาน อัล-คุรอซานีย์ หรือของท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน ? ...
ทว่า, ท่านซิยาด บินซะอฺด์ ก็เป็นผู้รายงานที่ความจำดีเยี่ยมและได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างสูงจากบรรดานักวิชาการหะดีษพอๆกับอีก 4 ท่านเหล่านั้น (ดูหนังสือ “ตักรีบุตตะฮ์ซีบ” เล่มที่ 1 หน้า 268 หมายเลข 112, และหนังสือ “อัล-กาชิฟ” เล่มที่ 1 หน้า 259 หมายเลข 1707) .. จึงเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะกล่าวข้อความนี้ออกมาเอง ถ้าไม่เพราะท่านได้ยินมันจากปากของท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน ...
เพราะฉะนั้น ข้อความที่ว่า .. “และท่านนบีย์ไม่ได้กระดิกนิ้วชี้”.. จึงถูกนักวิชาการมองว่า น่าจะเป็น “ส่วนเกิน” ที่มาจากท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน ผู้บกพร่องด้านความทรงจำดังกล่าว ...
ช่วงที่ 2
คือรายงานของท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน, จากท่านอามิรฺ บินอับดุลลอฮ์ ...
นอกจากท่านมุหัมมัด บินอัจญลานแล้ว ปรากฏว่า มีผู้อื่นที่รายงานหะดีษเรื่องท่านนบีย์ยกนิ้วชี้ขึ้นในขณะอ่านตะชะฮ์ฮุดมาจากท่านอามิรฺ บินอับดุลลอฮ์ อีก 2 ท่านด้วยกันคือ ...
1. ท่านอุษมาน บินหะกีม จากการบันทึกของท่านมุสลิม หะดีษที่ 112/579, ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 988, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 130 และท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ หะดีษที่ 696 ...
2. ท่านมัครอมะฮ์ บินบุกัยรฺ จากการบันทึกของท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 1160 และท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 132 ...
ท่านอุษมาน บินหะกีมเป็นผู้รายงานหะดีษที่ได้รับความเชื่อถือจากนักวิชาการมากกว่าท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน, ส่วนท่านมัครอมะฮ์ บินบุกัยรฺ แม้จะมีความบกพร่องบ้างเล็กน้อยก็ได้รายงานหะดีษนี้มาสอดคล้องกับท่านอุษมาน บินหะกีม ...
ทั้งท่านอุษมานและท่านมัครอมะฮ์ได้รายงานเรื่องท่านนบีย์ยกนิ้วชี้ในขณะอ่านตะชะฮ์ฮุดมาจากท่านอามิรฺ บินอับดุลลอฮ์ เหมือนท่านมุหัมมัด บินอุจญลาน ...
แต่ในรายงานของท่านทั้งสอง ไม่ปรากฏมีข้อความว่า “ท่านนบีย์ไม่ได้กระดิกนิ้วชี้” เหมือนที่มีในรายงานของท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน ...
ข้อความดังกล่าวนี้จึงเป็นข้อความที่ท่านมุหัมมัด บินอัจญลานซึ่งเป็นผู้รายงานที่ได้รับความเชื่อถือน้อยกว่า ได้รายงานให้ “เกินเลย”จากรายงานของท่านอุษมาน บินหะกีมและท่านมัครอมะฮ์ บินบุกัยรฺ ซึ่งเป็นผู้รายงานที่ได้รับความเชื่อถือมากกว่า ...
ข้อความตอนใดของหะดีษซึ่งผู้รายงานที่ได้รับความเชื่อถือน้อยกว่า ได้รายงานให้ “เพิ่มเติม” จากรายงานของผู้ที่ได้รับความเชื่อถือมากกว่า ข้อความที่เพิ่มเติมนั้นจะถูกเรียกตามหลักวิชาการหะดีษว่าเป็น زِيَادَةٌ شَاذَّةٌ คือการเพิ่มเติมที่ผิดเพี้ยน ซึ่งจะต้องถูกปัดทิ้งไปเพราะถือเป็นข้อความที่เฎาะอีฟ ...
โดยนัยนี้ การรายงานเพิ่มเติมของท่านมุหัมมัด บินอัจญลานที่ว่า .. ท่านนบีย์ไม่ได้กระดิกนิ้ว .. จึงถือเป็นรายงานที่เฎาะอีฟ เพราะเป็นزِيَادَةٌ شَاذَّةٌ ตามหลักวิชาการหะดีษ ...

วัลลอฮุ อะอฺลัม ...

กระดิกหรือชี้ ? (ตอนที่ 4)



โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

(ตอนที่ 4)

รายงานที่สาม เรื่องยกนิ้วชี้ขึ้นแล้วมีระบุชัดเจนว่า มีการกระดิกนิ้วชี้ด้วย
ก่อนอื่น ผมขอเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบว่า หะดีษที่รายงานว่าท่านนบีย์ยกนิ้วชี้ขึ้นแล้วกระดิกนิ้วชี้ด้วยนี้ ถือเป็นหะดีษที่รายงานเกี่ยวกับเรื่องลักษณะการนั่งตะชะฮ์ฮุด,ลักษณะการวางมือและลักษณะนิ้วของท่านนบีย์ขณะนั่งตะชะฮ์ฮุดไว้อย่างละเอียดที่สุดยิ่งกว่าทุกกระแสที่มีบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ...
ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ไม่ปรากฏมีนักวิชาการท่านใดตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ไม่ว่าท่านอิหม่ามนะวะวีย์, ท่านอัล-บัยฮะกีย์, ท่านอิบนุ้ลก็อยยิม เป็นต้น จะปฏิเสธความถูกต้องของ “สายรายงาน” หะดีษบทนี้แม้แต่ท่านเดียว ไม่ว่าเขาจะยอมปฏิบัติตาม “เนื้อหา” ของหะดีษนี้ คือการกระดิกนิ้วชี้ขณะอ่านตะชะฮ์ฮุดหรือไม่ก็ตาม ...
แม้แต่อาจารย์มุรีดเองก็ยอมรับว่า หะดีษบทนี้เป็นหะดีษที่ถูกต้อง ในหนังสือ “ชี้หรือกระดิก” ของท่าน หน้า 29 บรรทัดที่ 21 ...
ผมจึงสงสัยว่า เมื่อท่านยอมรับว่าหะดีษเรื่องการกระดิกนิ้วชี้ขณะอ่านตะชะฮ์ฮุดเป็นหะดีษถูกต้อง แล้วท่านจะเอาหะดีษบทนี้ไปวางไว้ตรงไหน ? ให้นำมาปฏิบัติได้ในกรณีใด ?.. และจะหาทางออกจากความขัดแย้งกับหะดีษที่(ท่านเข้าใจ)ว่า ท่านนบีย์ไม่ได้กระดิกนิ้วชี้ ตามหลักวิชาการอย่างไร ? ...
สายรายงานของหะดีษบทนี้ มีดังต่อไปนี้ ...
1. ท่านมุอาวิยะฮ์ บินอัมรฺ รายงานจากท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์, จากท่านอาศิม บินกุลัยบ์, จากบิดาของท่านคือท่านกุลัยบ์ บินชิฮาบ, จากท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. ...
(บันทึกโดย ท่านอัด-ดาริมีย์ หะดีษที่ 1357, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 132, ท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ หะดีษที่ 714 และท่านอิบนุหิบบาน หะดีษที่ 1860) ...
2. ท่านอับดุลลอฮ์ บินมุบาร็อก รายงานจากท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์, จากท่านอาศิม บินกุลัยบ์, จากบิดาของท่าน, จากท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. ...
(บันทึกโดย ท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 888 และ 1267) ...
3. ท่านอับดุศเศาะมัด บินอับดุลวาริษ ได้รายงานจากท่านซาอิดะฮ์บินกุดามะฮ์, จากท่านอาศิม บินกุลัยบ์, จากบิดาของท่าน, จากท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. ...
(บันทึกโดย ท่านอิหม่ามอะห์มัดในหนังสือ “อัล-มุสนัด” เล่มที่ 4 หน้า 318) ...
เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ว่า ท่านมุอาวิยะฮ์ บินอัมรฺ, ท่านอับดุลลอฮ์ บินมุบาร็อก และท่านอับดุศเศาะมัด บินอับดุลวาริษ ต่างก็รายงานหะดีษนี้มาจากแหล่งเดียวกันคือ จากท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์.. แล้วสืบสายรายงานต่อไปจนถึงท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. ...
สายรายงานข้างต้นนี้ทั้งหมด เป็นสายรายงานที่ถูกต้องโดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ และข้อความที่รายงานมา (ซึ่งสำนวนในที่นี้เป็นสำนวนจากการบันทึกของท่านอัน-นะซาอีย์) มีดังต่อไปนี้ ...
ท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. กล่าวว่า ...
لَأَنْظُرَنَّ إِلَى رَسُوْلِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ كَيْفَ يُصَلِّىْ فَنَظَرْتُ إِلَيْهِ فَقَامَ فَكَبَّرَ وَرَفَعَ يَدَيْهِ حَتىَّ حَاذَتَا بِأُذُنَيْهِ، ثُمَّ وَضَعَ يَدَهُ الْيُمْنَى عَلَى كَفِّهِ الْيُسْرَى وَالرُّسْغِ وَالسَّاعِدِ، فَلَمَّا أَرَادَ أَنْ يَرْكَعَ رَفَعَ يَدَيْهِ مِثْلَهَا، قَالَ : وَوَضَعَ يَدَيْهِ عَلَى رُكْبَتِيْهِ ثُمَّ لَمَّا رَفَعَ رَأْسَهُ رَفَعَ يَدَيْهِ مِثْلَهَا، ثُمَّ سَجَدَ فَجَعَلَ كَفَّيْهِ بِحِذَاءِ أُذُنَيْهِ، ثُمَّ قَعَدَ وَافْتَرَشَ رِجْلَهُ الْيُسْرَى وَوَضَعَ كَفَّهُ الْيُسْرَى عَلَى فَخِذِهِ وَرُكْبَتِهِ الْيُسْرَى، وَجَعَلَ حَدَّ مِرْفَقِهِ اْلأَيْمَنِ عَلَى فَخِذِهِ الْيُمْنَى، ثُمَّ قَبَضَ اثْنَتَيْنِ مِنْ أَصَابِعِهِ، وَحَلَّقَ حَلْقَةً، ثُمَّ رَفَعَ إِصْبَعَهُ، فَرَأَيْتُهُ يُحَرِّكُهَا يَدْعُوْ بِهَا
“ขอยืนยันว่าฉันได้พิจารณาดูท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่าท่านจะนมาซอย่างไร ฉันเห็นท่านยืนขึ้นแล้วกล่าวตักบีรฺ โดยท่านจะยกมือทั้งสองขึ้นจนเสมอกับหูทั้งสองของท่าน หลังจากนั้นท่านก็วางมือขวาทับบนมือซ้าย ข้อมือ และท่อนแขนซ้ายของท่าน เมื่อท่านต้องการจะรุกั๊วะอฺ ท่านก็ยกมือทั้งสองขึ้นในลักษณะเดิม (ท่านวาอิลกล่าวต่อไปว่า) และวางมือทั้งสองของท่านบนเข่าทั้งสองของท่าน ต่อมาเมื่อเงยศีรษะขึ้น (มายืนเอี๊ยะอฺติดาล) ท่านก็ยกมือทั้งสองขึ้นในลักษณะเดิมอีก แล้วท่านก็สุญูด ซึ่งท่านจะวางฝ่ามือทั้งสองของท่านให้เสมอกับหูทั้งสองของท่าน ต่อมา ท่านก็(ลุกขึ้นมา)นั่ง โดยจะแบเท้าซ้ายออก (รองก้น คือนั่งอิฟติรอช) และท่านจะวางฝ่ามือซ้ายลงบนขาและเข่าข้างซ้ายของท่าน และวางข้อศอกขวาลงบนขาข้างขวาของท่าน แล้วท่านก็กำนิ้วของท่านสองนิ้ว (คือนิ้วนางกับนิ้วก้อย) และทำให้นิ้ว (หัวแม่มือกับนิ้วกลาง)จรดกันเป็นวง ต่อมาท่านก็ยกนิ้ว(ชี้)ของท่านขึ้น แล้วฉันเห็นท่านกระดิกมันพร้อมกล่าววิงวอน (คือ อ่านตะชะฮ์ฮุด) ...
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า สายรายงานหะดีษบทนี้เป็นสายรายงานที่ถูกต้อง แต่ประเด็นที่จะต้องพิจารณาก็คือ ข้อความที่ว่า .. เห็นท่านนบีย์กระดิกนิ้วชี้ขณะอ่านตะชะฮ์ฮุด .. เป็นรายงานของท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์เพียงผู้เดียว โดยอ้างรายงานมาจากท่านอาศิม บินกุลัยบ์ แล้วสืบสายรายงานต่อไปจนถึงท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. ...
ขณะเดียวกัน ผู้รายงานอื่นๆอีก 7 ท่าน คือท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์, ท่านชุอฺบะฮ์ บินอัล-หัจญาจญ์, ท่านอับดุลญับบารฺ บินอะลาอ์, ท่านบิชรฺ บินอัล-มุฟัฎฎ็อล, ท่านคอลิด บินอับดุลลอฮ์ อัล-วาสิฏีย์, ท่านซุฮัยรฺ บินมุอาวิยะฮ์ และท่านอบู อัล-อะห์วัศ อัล-หะนะฟีย์ ต่างก็รายงานหะดีษบทเดียวกันนี้มาจากท่านอาศิม บินกุลัยบ์โดยไม่ปรากฏมีข้อความข้างต้นดังการรายงานของท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์แต่ประการใด ...
(โปรดย้อนกลับไปดูข้อความจากรายงานของผู้รายงานทั้ง 7 ท่านนี้ได้จากหน้า 6-7 ที่ผ่านมาแล้ว) ...
เพราะฉะนั้น ข้อความที่ว่า .. ฉันเห็นท่านนบีย์กระดิกนิ้วชี้ .. จึงเป็นข้อความที่ท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์เพียงผู้เดียว ได้รายงานมาจากท่านอาศิม บินกุลัยบ์ ให้เพิ่มเติมหรือเป็น “ส่วนเกิน” มาจากการรายงานของผู้รายงานอื่นทั้ง 7 ท่านเหล่านั้น ...
กรณีนี้จึงคล้ายๆกับข้อความที่ว่า “ท่านนบีย์ไม่ได้กระดิกนิ้วชี้”อันเป็นส่วนเกินจากการรายงานของท่านมุหัมมัด บินอัจญลานที่ได้วิเคราะห์ผ่านมาแล้ว .. แทบจะไม่ผิดเพี้ยนกันเลย ...
แต่ .. จุดแตกต่างระหว่าง “ส่วนเกิน” ของท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ กับ “ส่วนเกิน” ของท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน อยู่ที่ความ “น่าเชื่อถือ” ที่แตกต่างกันของทั้งสองท่านนี้ในทัศนะของนักวิชาการหะดีษ ดังที่ผมกำลังจะอธิบายรายละเอียดต่อไป ...
สำหรับคุณสมบัติและความน่าเชื่อถือของท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน ผมก็ได้อธิบายผ่านไปแล้ว จึงไม่ขออธิบายซ้ำอีก ณ ที่นี้ ...
ส่วนคุณสมบัติและความน่าเชื่อถือของท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์นั้น ผมขอเรียนว่า ตามปกติผู้รายงานหะดีษกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ -- ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้รายงานของท่านบุคอรีย์และมุสลิมเอง – มักจะมีความเห็นขัดแย้งของนักวิชาการอยู่เสมอว่าเป็นผู้ที่เชื่อถือได้หรือไม่ ...
แต่ท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ เป็นหนึ่งจากผู้ที่ถูกยกเว้นในกรณีนี้ เพราะจนขณะนี้ ผมไม่เคยเจอว่าจะมีนักวิชาการท่านใดกล่าวตำหนิหรือระบุความบกพร่องของท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์แม้แต่คนเดียว ...
กล่าวได้ว่า ท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ เป็นผู้รายงานหะดีษจำนวนน้อยที่นักวิชาการมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ความเชื่อถือท่าน ...
มิใช่เชื่อถือในระดับธรรมดา แต่เป็นความเชื่อถือในระดับสูงมากอีกต่างหาก ...
หมายเหตุ
ท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ สิ้นชีวิตในปีฮ.ศ. 160 .. แต่ในหนังสือ “ชี้หรือกระดิก” ของท่านอาจารย์มุรีด หน้า 17 กล่าวว่า ท่านซาอิดะฮ์สิ้นชีวิตปีฮ.ศ. 60 ซึ่งน่าจะเกิดจากความผิดพลาดในการเรียงพิมพ์ ...
ในที่นี้ ผมจะขอยกตัวอย่างทัศนะของนักวิชาการบางท่านที่มีต่อท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ ดังนี้ ...
1. ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “ตักรีบุตตะฮ์ซีบ” เล่มที่ 1 หน้า 256 ว่า ...
زَائِدَةُ بْنُ قَدَامَةَ الثَّقَفِىُّ، أَبُوالصَّلْتِ، الْكُوْفِىُّ، ثِقَةٌ ثَبْتٌ، صَاحِبُ سُنَّةٍ
“ซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ อัษ-ษะกอฟีย์, อบุศศ้อลต์, เป็นชาวเมืองกูฟะฮ์, เชื่อถือได้, มีความมั่นคงแน่นอนมาก(ในการรายงานหะดีษ) เป็นชาวซุนนะฮ์” ...
2. ท่านอัษ-ษะฮะบีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-กาชิฟ” เล่มที่ 1 หน้า 246 ว่า ...
زَائِدَةُ بْنُ قُدَامَةَ، أَبُوالصَّلْتِ، اَلثَّقَفِىُّ، اَلْكُوْفِىُّ، اَلْحَافِظُ، ... ثِقَةٌ حُجَّةٌ
“ซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์, อบุศศ็อลต์, อัษ-ษะกอฟีย์, เป็นชาวเมืองกูฟะฮ์, เป็นผู้ที่มีความจำดีเยี่ยม, เชื่อถือได้, เป็นหลักประกันได้เรื่องหะดีษ” ...
3. ท่านอิบนุหิบบาน ได้กล่าวในหนังสือ “อัษ-ษิกอต” เล่มที่ 6 หน้า 340 ว่า ...
كَانَ مِنَ الْحُفَّاظِ الْمُتْقِنِيْنَ، وَكَانَ لاَ يَعُدُّ السَّمَاعَ حَتىَّ يَسْمَعَهُ ثَلاَثَ مَرَّاتٍ، وَكَانَ لاَ يُحَدِّثُ أَحَدًا حَتىَّ يَشْهَدَ عَنْهُ عَدْلٌ أَنَّهُ مِنْ أَهْلِ السُّنَّةِ
“ท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ เป็นหนึ่งจากผู้ที่มีความจำดีเยี่ยมและละเอียดประณีต (ในเรื่องหะดีษ) มาก, ท่านจะไม่ถือว่าได้ยิน(หะดีษจากผู้ใด) จนกว่าท่านจะได้ฟังมันถึงสามครั้ง, และท่านจะไม่ยอมพูดเรื่องหะดีษกับผู้ใดจนกว่าจะมีผู้มีคุณธรรมมายืนยันกับท่านว่า บุคคลผู้นั้นเป็นชาวซุนนะฮ์” ...
4. ท่านอัด-ดารุกุฏนีย์ได้กล่าว .. ดังบันทึกในหนังสือ “ตะฮ์ซีบ อัต-ตะฮ์ซีบ” .. เล่มที่ 3 หน้า 265 ว่า ...
مِنَ اْلأَثْبَاتِ اْلأَئِمَّةِ
“เขาเป็นหนึ่งจากผู้ที่แน่นมากในเรื่องหะดีษ, เป็นผู้นำ(ในเรื่องหะดีษ)”
-ฯลฯ-
สรุปแล้ว ท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์จึงเป็นผู้รายงานที่ได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างสูงจากบรรดานักวิชาการหะดีษ ...
และกฎเกณฑ์ของวิชามุศเฏาะละฮ์หะดีษระบุว่า ข้อความจากการรายงาน “เพิ่มเติม” ของผู้ที่เชื่อถือได้ จะเป็นที่ยอมรับ ตามกฎเกณฑ์ที่ว่า ...
زِيَادَةُ الثِّقَةِ مَقْبُوْلَةٌ
“การรายงานเพิ่มเติมของผู้ที่เชื่อถือได้นั้น จะต้องยอมรับ” ...
กฏเกณฑ์ข้อนี้ เป็นสิ่งที่มีระบุไว้ในหนังสือมุศเฏาะละฮ์หะดีษแทบทุกเล่ม อาทิเช่นหนังสือ “อุลูมุ้ลหะดีษ” ของท่านอิบนุศเศาะละฮ์ หน้า 77, หนังสือ “กอวาอิดุตตะฮ์ดีษ” ของท่านอัล-กอซิมีย์ หน้า 107, หนังสือ “อัล-บาอิษ อัล-หะษีษ” ของท่านอะห์มัด มุหัมมัดชากิรฺ หน้า 61, หนังสือ “ตัยซีรฺ มุศเฏาะลาฮ์ อัล-หะดีษ” ของท่าน ดร. มะห์มูด อัฏ-เฏาะฮ์ฮาน หน้า 136 เป็นต้น ...
ดังนั้น การรายงานเพิ่มเติมของท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ จากคำพูดของท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ.ด้วยข้อความที่ว่า .. แล้วฉันก็เห็นท่านกระดิกนิ้วชี้ .. จึงถือเป็นข้อความที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับตามหลักวิชาการหะดีษ ...
เพราะฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า การกระดิกนิ้วชี้ขณะอ่านตะชะฮ์ฮุด ถือเป็นซุนนะฮ์ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ...
อาจมีผู้อ่านบางท่านสงสัยว่า การกระดิกนิ้วชี้ในการอ่านตะชะฮ์ฮุดดังกล่าวนั้น ให้กระดิกได้เมื่อไร ? ...
ผมก็ขอเรียนชี้แจงว่า เมื่อเราพิจารณาดูสำนวนหะดีษจากคำพูดของท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. จะเห็นได้ว่าท่านวาอิลได้รายงานลักษณะการนมาซของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม โดยจะเน้นเป็นพิเศษในเรื่องตำแหน่งของมือในแต่ละอิริยาบถของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ...
เมื่อรายงานมาถึงตอนนั่งอ่านตะชะฮ์ฮุด ท่านวาอิลก็ได้รายงานลักษณะมือของท่านนบีย์อย่างต่อเนื่องว่า ท่านได้กำนิ้วสองนิ้ว, อีกสองนิ้วจรดกันเป็นวงกลม, แล้วก็ยกนิ้วชี้ขึ้น แล้วก็กระดิกมัน ...
แสดงว่า ตามรูปการณ์แล้ว ให้กระดิกนิ้วชี้ได้ตั้งแต่เริ่มต้นอ่านตะชะฮ์ฮุดเป็นต้นไปจนจบหรือสิ้นสุดการอ่านตะชะฮ์ฮุดนั้น ...
ส่วนข้อความตอนท้ายของหะดีษที่ว่า يَدْعُوْ بِهَا ซึ่งตามปกติจะต้องแปลว่า ท่านกล่าววิงวอนด้วยนิ้วชี้ นั้น ...
ในที่นี้ นักวิชาการหะดีษหลายท่าน อาทิเช่นท่านเช็คมะห์มูด มุหัมมัด อัล-ค็อฏ ฏอบ ในหนังสือ “อัล-มันฮัลฯ” เล่มที่ 6 หน้า 103, ท่านอาบาดีย์ ในหนังสือ “เอานุ้ลมะอฺบูด” เล่มที่ 3 หน้า 280 เป็นต้น ได้อธิบายคำว่า يَدْعُوْ (วิงวอน) ในที่นี้ว่าหมายถึงการอ่านตะชะฮ์ฮุด, ทั้งนี้ เพราะในการอ่านตะชะฮ์ฮุดนั้น จะแฝงความหมายของการวิงวอนอยู่ด้วย แม้ว่าในรูปคำอ่านตะชะฮ์ฮุดส่วนใหญ่จะไม่เป็นคำวิงวอนโดยตรงก็ตาม
อนึ่ง ตามที่มีกำหนดในบางมัษฮับว่า ให้ยกนิ้วชี้ขึ้นเมื่ออ่านถึงคำชะฮาดะฮ์ .. อย่างเช่นมัษฮับชาฟิอีย์ ก็มีทัศนะว่า ให้ยกนิ้วชี้ขึ้นเมื่อกล่าวคำว่า อิลลัลลอฮ์, หรือมัษฮับหะนะฟีย์มีทัศนะว่า ให้ยกนิ้วชี้ขึ้นเมื่อกล่าวคำว่า ลาอิลาฮะ และลดนิ้วชี้ลงเมื่อกล่าวคำว่า อิลลัลลอฮ์ นั้น ...
แนวทัศนะต่างๆเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่มีหลักฐานยืนยันแม้แต่ประการใด ...
ท่านมุบาร็อก ปูรีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “ตุห์ฟะตุ้ล อะห์วะซีย์” เล่มที่ 2 หน้า 185 ว่า ...
ظَاهِرُ اْلأَحَادِيْثِ يَدُلُّ عَلَى اْلإِشَارَةِ مِنِ ابْتِدَاءِ الْجُلُوْسِ، وَلَمْ أَرَ حَدِيْثًا صَحِيْحًا يَدُلُّ عَلَى مَا قَالَ الشَّافِعِيَّةُ وَالْحَنَفِيَّةُ
“ตามรูปการณ์ของบรรดาหะดีษเหล่านี้ (ที่กล่าวถึงการยกนิ้วชี้ในการอ่านตะชะฮ์ฮุด) แสดงว่า การยกนิ้วชี้ดังกล่าวให้กระทำตั้งแต่เริ่มนั่งตะชะฮ์ฮุดแล้ว, และฉันก็ไม่เคยเจอหะดีษที่ถูกต้องบทใดจะเป็นหลักฐานยืนยันแนวทัศนะชาฟิอีย์และหะนะฟีย์(ในเรื่องนี้)เลย” ...
ท่านอัล-อัลบานีย์ก็ได้กล่าวไว้คล้ายๆกันนี้ในหนังสือ “ศิฟะตุศ่อลาติ้นนบีย์ฯ” ของท่าน หน้า 159 และอาจารย์มุรีด ทิมะเสนก็เขียนไว้เช่นเดียวกันในหนังสือ “ชี้หรือกระดิก” หน้า 27-29 ...
หมายเหตุ
ผู้อ่านบางท่านอาจสงสัยอีกว่า เมื่อรายงานของท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์เรื่องการกระดิกนิ้วชี้ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุขณะอ่านตะชะฮ์ฮุด เป็นรายงานที่ถูกต้อง ...
ทำไมนักวิชาการที่ยอมรับความถูกต้องในสายรายงานของมันหรือยอมรับความถูกต้องในข้อความของมัน อาทิเช่นท่านอิหม่ามนะวะวีย์, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ (หรือท่านอาจารย์มุรีด) เป็นต้น จึงไม่ปฏิบัติตามหะดีษบทนี้ ? ...
ผมขอเรียนว่า สาเหตุที่นักวิชาการบางท่านไม่ปฏิบัติตาม“เนื้อหา” ของหะดีษนี้ทั้งๆที่ยอมรับในความถูกต้องในสายรายงานของมัน เท่าที่ผมตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่ามีข้ออ้างดังต่อไปนี้ ...
1. เพราะเข้าใจว่า “กระดิกนิ้ว” ค้านกับ “ชี้นิ้ว” ...
2. เพราะเข้าใจว่า คำว่า “ท่านนบีย์กระดิกนิ้วชี้ด้วย” เป็นคำพูดของท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์เอง มิใช่มาจากตัวบทเดิมอันเป็นคำพูดของท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. ...
3. เพราะเข้าใจว่า ข้อความในรายงานของท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ที่ว่า “ท่านนบีย์กระดิกนิ้วชี้” เป็นข้อความที่ “ผิดเพี้ยน” (شَاذٌّ) เพราะมัน “ขัดแย้ง” กับรายงานของผู้อื่นอีกหลายท่านที่รายงานมาจากท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. เช่นเดียวกับท่านซาอิดะฮ์ แต่ไม่มีข้อความดังกล่าวนี้ ...
4. ยอมรับความถูกต้องของข้อความนี้ แต่มีการเบี่ยงเบน (تَأْوِيْلٌ) ความหมายที่ว่า “ท่านนบีย์กระดิกนิ้วชี้” ว่า หมายถึง “การเคลื่อนไหวนิ้วตอนยกนิ้วชี้ขึ้น” .. มิใช่กระดิกนิ้วชี้ตลอดเวลา ...
ชี้แจง
(1). ความเข้าใจที่ว่า การกระดิกนิ้ว ค้านกับการชี้นิ้ว ผมก็ได้อธิบายและนำเสนอข้อมูลหลักฐานทั้งในด้านภาษาและหลักฐานจากหะดีษมาหักล้างแล้วว่า เป็นความเข้าใจผิด จึงไม่ขออธิบายซ้ำอีก ...
(2). ความเข้าใจที่ว่า คำว่า “ท่านนบีย์กระดิกนิ้วชี้” เป็นเพียงคำพูดของท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ มิใช่คำพูดของท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. ...
นี่คือข้ออ้างของเช็คมุหัมมัดอัมรฺ อับดุลละฏีฟ ดังที่ท่านอาจารย์มุรีดได้คัดลอกมาลงไว้ในหนังสือ “ชี้หรือกระดิก” หน้า 29 บรรทัดสุดท้าย ...
ข้ออ้างดังกล่าวนี้เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆโดยปราศจากหลักฐานทางวิชาการมาอ้างอิงโดยสิ้นเชิง ซึ่งหากเราพิจารณาดูสำนวนของหะดีษบทนั้น (ดังที่ผมระบุไว้ในหน้าที่หน้า 17) อย่างถี่ถ้วนก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ข้อความเหล่านั้น – ทั้งหมด ตั้งแต่ต้นจนจบ -- เป็นคำพูดของท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ.เพียงผู้เดียว ไม่มีส่วนใดที่เป็นคำพูดของท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์แม้แต่คำเดียว ...
ทั้งนี้ เพราะท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. ได้รายงานหะดีษนี้มาอย่างต่อเนื่อง และสรรพนามว่า “ฉัน” ที่ปรากฎในหะดีษนี้ทุกคำก็หมายถึงตัวท่านวาอิลเองทั้งสิ้น ...
เมื่อข้อความตอนท้ายของหะดีษกล่าวว่า ثُمَّ رَفَعَ إِصْبَعَهُ فَرَأَيْتُهُ يُحَرِّكُهَا (ต่อมาท่านก็ยกนิ้วชี้ของท่านขึ้น แล้ว “ฉัน” ก็เห็นท่านกระดิกมัน) ...
มันจะกินกับปัญญาได้อย่างไรที่คำว่า “ฉัน” ในที่นี้จะหมายถึงท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ซึ่งสิ้นชีวิตในปี ฮ.ศ. 160 เป็นผู้กล่าวอ้างว่า ตนเองเห็นท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกระดิกนิ้วชี้ในตะชะฮ์ฮุด ??? ...
(3). ความเข้าใจที่ว่า ข้อความว่า .. ฉันเห็นท่านกระดิกนิ้วชี้ .. จากการรายงานของท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์เป็นข้อความที่ “ผิดเพี้ยน” เพราะขัดแย้งกับรายงานของผู้ที่เชื่อถือได้ท่านอื่นจำนวนมากที่ไม่มีข้อความนี้ ...
ข้อที่ 3 นี้ คือบทสรุปจากข้อความภาษาอาหรับในเว็บไซด์ของนักวิชาการ “รุ่นใหม่” ท่านหนึ่งที่เพื่อนฝูงบางคนส่งมาให้ผมครั้งล่าสุดเมื่อไม่กี่วันก่อน ...
ผมขอเรียนชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า การรายงานข้อความดังกล่าวของท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ มิได้ถือว่าเป็นรายงานที่ “ขัดแย้ง”(مُخَالَفَةٌ) กับการรายงานของผู้ที่เชื่อถือได้ท่านอื่นหลายท่านอย่างที่อ้างมา เพราะในรายงานของทุกท่านเหล่านั้นกล่าวเพียงว่า ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม أَشَارَ หรือ يُشِيْرُ ด้วยนิ้วชี้ .. ซึ่งมีความหมายว่า “ท่านยกนิ้วชี้ขึ้น” .. และความหมายนี้ก็มีปรากฏชัดเจนในบางสำนวนของหะดีษนี้ที่ว่า رَفَعَ إِصْبَعَهُ (ท่านยกนิ้วชี้ของท่านขึ้น) ...
ไม่มีข้อความใดในรายงานเหล่านั้นจะระบุเพิ่มเติมว่า หลังจากยกนิ้วชี้ขึ้นแล้ว “ท่านมิได้กระดิกนิ้วชี้” .. นอกจากรายงานของท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน ซึ่งถือเป็นรายงานที่ขาดความเชื่อถือ ดังที่ได้อธิบายผ่านมาแล้ว ...
ดังนั้น รายงานของท่านซาอิดะฮฺ บินกุดามะฮ์ที่ว่า “ท่านนบีย์กระดิกนิ้วชี้” จึงไม่ “ขัดแย้ง” กับรายงานของผู้รายงานท่านอื่นดังความเข้าใจในเว็บไซด์ข้างต้น แต่ถือเป็นการรายงาน “เพิ่มเติม” (زِيَادَةٌ) บางข้อความที่ผู้รายงานท่านอื่นมิได้รายงานไว้ด้วย ...
ผมขออธิบายว่า ในกรณีของการรายงานเพิ่มเติมนี้ ตามหลักวิชาการหะดีษจะแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ ...
ก. ถ้าผู้ที่ขาดความเชื่อถือ(ضَعِيْفٌ)อย่างมาก ได้รายงานข้อความใดให้เกินเลยจากรายงานของผู้อื่นที่เชื่อถือได้ รายงานส่วนเกินดังกล่าวจะ ถูกเรียกว่า زِيَادَةٌ مُنْكَرَةٌ (ส่วนเกินที่ถูกปฏิเสธ) ซึ่งจะนำมาใช้เป็นหลักฐานไม่ได้ ...
ข. ถ้าผู้ที่ขาดความเชื่อถือเพียงเล็กน้อยหรือพอจะเชื่อถือได้(صَدُوْقٌ, .. อย่างเช่นท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน เป็นต้น) ได้รายงานข้อความใดให้เกินเลยจากการรายงานของผู้ที่เชื่อถือได้มากกว่า ( ثِقَةٌหรือ ثَبْتٌ หรือ حُجَّةٌ) รายงานส่วนเกินดังกล่าวจะถูกเรียกว่า زِيَادَةٌ شَاذَّةٌ (ส่วนเกินที่ผิดเพี้ยน) ซึ่งจะนำมาอ้างเป็นหลักฐานไม่ได้เช่นเดียวกัน ...
ค. ถ้าผู้ที่ได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างสูง (ثِقَةٌ) คนใดได้รายงานข้อความใดให้เกินเลยจากการรายงานของผู้ที่เชื่อถือได้ในระดับเดียวกันท่านอื่น, ไม่ว่าผู้รายงานท่านอื่นนั้นจะมีท่านเดียวหรือหลายท่าน การรายงานเพิ่มเติมของเขาก็จะถูกเรียกว่า زِيَادَةٌ مَقْبُوْلَةٌ (การเพิ่มเติมที่ต้องยอมรับ) ...
ดังนั้น รายงานเพิ่มเติมของท่านซาอิดะฮ์บินกุดามะฮ์ที่ว่า .. แล้วฉันก็เห็นท่านกระดิกนิ้วชี้ จึงจัดอยู่ในลักษณะที่ 3 นี้ คือเป็น “รายงานเพิ่มเติมที่ต้องยอมรับ” ตามหลักวิชาการ มิใช่รายงานเพิ่มเติมที่ชาสหรือผิดเพี้ยน .. ดังคำกล่าวในเว็บไซด์นั้น ...
ด้วยเหตุนี้ ท่านอัล-บัยฮะกีย์ และท่านอิหม่ามนะวะวีย์ซึ่งเป็นนักวิชาการหะดีษชั้นนำแห่งมัษฮับชาฟิอีย์จึงไม่ได้ตัดสินว่า การรายงานเพิ่มเติมของท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ด้วยข้อความข้างต้นเป็นรายงานที่ผิดเพี้ยน แต่ท่านกลับยอมรับความถูกต้องของมันและใช้วิธีการ تَأْوِيْلٌ หรือเบี่ยงเบนความหมายแทน .. ดังที่กำลังจะถึง ...
(4). ยอมรับความถูกต้องทั้งสายรายงานและเนื้อหาของหะดีษบทนี้ แต่ “เบี่ยงเบน” .. (คือ تَأْوِيْلٌ) ความหมายของคำว่า “ท่านนบีย์กระดิกนิ้ว” .. เป็นว่า หมายถึงการเคลื่อนไหวของนิ้วตอนยกนิ้วชี้ขึ้นมา มิใช่เป็นกระดิกนิ้วชี้ตลอดเวลาอย่างความเข้าใจของบางคน (รวมทั้งผมด้วย) ...
นี่คือทัศนะของท่านอัล-บัยฮะกีย์ ดังการบันทึกของท่านในหนังสือ “อัส-สุนัน อัล-กุบรออ์” เล่มที่ 2 หน้า 132 ดังมีข้อความว่า ...
يُحْتَمَلُ أَنْ يَكُوْنَ الْمَرَادُ بِالتَّحْرِيْكِ اْلإِشَارَةَ بِهَا، لاَ تَكْرِيْرَ تَحْرِيْكِهَا
“เป็นไปได้ว่า เจตนารมณ์ของคำว่ากระดิกนิ้วชี้ (ในหะดีษนี้) หมายถึง “การ إِشَارَةٌ คือยกนิ้วชี้ขึ้น ไม่ได้หมายถึงการกระดิกมันซ้ำๆตลอดเวลา” ...
มีนักวิชาการจำนวนมากที่ยอมรับการตะอ์วีลดังกล่าวข้างต้นของท่านอัล-บัยฮะกีย์ อาทิเช่นท่านอิหม่ามนะวะวีย์ในหนังสือ “อัล-มัจญมั๊วะอฺฯ” เล่มที่ 3 หน้า 454, ท่านเช็คซัยยิดซาบิก ในหนังสือ “ฟิกฮุสซุนนะฮ์” เล่มที่ 1 หน้า 144 เป็นต้น ...
แต่ถ้าเราพิจารณาสำนวนของหะดีษในส่วนที่กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วจะเห็นได้ว่า การตะอ์วีลดังกล่าวของท่านอัล-บัยฮะกีย์ ขัดแย้งกับข้อความของหะดีษ
ทั้งนี้ เพราะการตะอ์วีลว่า การกระดิกนิ้วชี้ ดังที่มีกล่าวในหะดีษ หมายถึงการ “เคลื่อนไหวของนิ้ว” ตอนที่ إِشَارَةٌ คือตอน “ยกนิ้วชี้”ขึ้นมา ...
การตะอ์วีลดังกล่าวนี้ แสดงว่า การยกนิ้วชี้และการกระดิกนิ้วชี้ คืออิริยาบถเดียวกัน! ...
แต่เมื่อพิจาณาดูสำนวนของหะดีษแล้วจะเห็นได้ว่า มีการระบุอย่างชัดเจนว่ามี 2 อิริยาบถคือ มีการยกนิ้วชี้ขึ้นมาก่อน แล้วจึงมีการกระดิกมันทีหลัง ...
เพราะท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. ได้ “กล่าวนำ” ก่อนว่า ثُمَّ رَفَعَ إِصْبَعَهُ (ต่อมา ท่านนบีย์ได้ยกนิ้วชี้ขึ้น) ซึ่งการยกนิ้วชี้ขึ้นนี้ ก็มีความหมายอย่างเดียวกันกับคำว่า إِشَارَةٌ ในคำตะอ์วีลของท่านอัล-บัยฮะกีย์นั่นเอง ...
แล้วท่านวาอิลก็ได้ “เชื่อมประโยค” ข้างต้นกับประโยคข้างหลังด้วยพยัญชนะ فَ (ซึ่งตามหลักภาษาแปลว่า ถัดมา, ถัดจากนั้น, ต่อจากนั้น อันเป็นการกระทำที่ต่อเนื่อง) .. ด้วยการกล่าวว่า فَرَأَيْتُهُ يُحَرِّكُهَا ...
ประโยคนี้จึงมีความหมายว่า “ต่อจากนั้น (คือหลังจากยกนิ้วชี้ขึ้นแล้ว) ฉันก็เห็นท่านกระดิกมัน”...
เพราะฉะนั้น “การ إِشَارَةٌ หรือยกนิ้วชี้ขึ้น” กับ “การกระดิกนิ้วชี้” จึงมิใช่อิริยาบถเดียวกันดังการตะอ์วีลของท่านอัล-บัยฮะกีย์ แต่เป็นคนละอิริยาบถที่ท่านนบีย์ปฏิบัติต่อเนื่องกัน .. ดังความเข้าใจที่ได้รับจากการเชื่อมประโยคด้วย فَ ...
ก็ขอให้ท่านผู้อ่านลองทำดูทีละขั้นตามสำนวนของหะดีษดังต่อไปนี้ ...
1. قَبَضَ اثْنَتَيْنِ กำนิ้วสองนิ้ว (คือนิ้วก้อยกับนิ้วนาง) ...
2. حَلَّقَ حَلْقَةً ทำวงกลม (ด้วยการเอานิ้วกลางกับหัวแม่มือจรดกัน)
3. رَفَعَ اْلإِصْبَعَ ยกนิ้ว(ชี้)ขึ้น ...
4. فَيُحَرِّكُهَا แล้วก็ .. กระดิกมัน ...
เพียงแค่นี้ท่านก็สามารถให้คำตอบด้วยตัวเองได้ว่า การตะอ์วีลดังกล่าวข้างต้นของท่านอัล-บัยฮะกีย์ถูกต้องหรือไม่ ...
สรุปแล้ว หะดีษเรื่องการกระดิกนิ้วชี้ในขณะอ่านตะชะฮ์ฮุดของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ ได้รายงานต่อมาจากท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. จึงเป็นหะดีษที่ถูกต้อง(صَحِيْحٌ) ทั้งสายรายงานและตัวบท ดังที่ได้อธิบายผ่านไปแล้ว ...
ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักวิชาการทั้งอดีตและปัจจุบันจำนวนมากที่ส่งเสริมให้มีการกระดิกนิ้วชี้ขณะอ่านตะชะฮ์ฮุด อาทิเช่นท่านอิหม่ามมาลิก บินอนัส, ท่านอิบนุ้ลก็อยยิมในหนังสือ “ซาอุ้ลมะอาด” เล่มที่ 1 หน้า 81, ท่านเช็คมะห์มูด มุหัมมัด อัล-ค็อฏฏอบในหนังสือ “อัล-มันฮัลฯ” เล่มที่ 6 หน้า 104, ท่านอัล-อัลบานีย์ในหนังสือ “ศิฟะตุศ่อลาติ้นนบีย์” หน้า 158, ท่านเช็คอบูอบัยดะฮ์ มัชฮูรฺ บินหะซันในหนังสือ“อัล-เกาลุ้ลมุบีน ฟีอัขฏออิ้ลมุศ็อลลีน” หน้า 162 เป็นต้น ...
แม้กระทั่งในมัษฮับชาฟิอีย์เอง ก็มีนักวิชาการระดับสูงหลายท่านที่ส่งเสริมให้มีการกระดิกนิ้วชี้ขณะอ่านตะชะฮ์ฮุดด้วยเช่นเดียวกัน ...
ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-มัจญมั๊วะอฺ” เล่มที่ 3 หน้า 454 มีข้อความว่า ...
(وَالثَّالِثُ) يُسْتَحَبُّ تَحْرِيْكُهَا، حَكَاهُ الشَّيْخُ أَبُوْ حَامِدٍ وَالْبُنْدَنَيْجِىُّ وَالْقَاضِىْ أَبُوْ الطَّيِّبِ وَاْلآخَرُوْنَ، وَقَدِ احْتَجَّ لِهَذَا بِحَدِيْثِ وَائِلِ بْنِ حُجْرٍ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ أَنَّهُ وَصَفَ صَلاةَ رَسُوْلِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَذَكَرَ وَضْعَ الْيَدَيْنِ فِى التَّشَهُّدِ، قَالَ : ثُمَّ رَفَعَ إِصْبَعَهُ فَرَأَيْتُهُ يُحَرِّكُهَا يَدْعُوْ بِهَا، رَوَاهُ الْبَيْهَقِىُّ بِإِسْنَادٍ صَحِيْحٍ
“ทัศนะที่สาม (ของอิหม่ามชาฟิอีย์) ก็คือ ชอบให้มีการกระดิกนิ้วชี้ด้วย, ได้นำเสนอทัศนะนี้โดยท่านเช็คอบูฮามิด, ท่านเช็คอัล-บุนดะนัยญีย์, ท่านกอฎีย์อบู อัฏ-ฏ็อยยิบ และบรรดานักวิชาการท่านอื่นๆอีก ทัศนะนี้อ้างหลักฐานจากหะดีษของท่านวาอิล บินหุจญริน ร.ฎ. ว่า ท่านได้บอกลักษณะการนมาซของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และท่านวาอิลได้กล่าวถึงเรื่องการวางมือทั้งสองข้างของท่านนบีย์ในขณะอ่านตะชะฮ์ฮุด ท่านกล่าวว่า .. “ต่อมา ท่านนบีย์ก็ยกนิ้วชี้ของท่านขึ้นแล้วฉันก็เห็นท่านกระดิกมัน พร้อมกล่าววิงวอนด้วยมัน (นิ้วชี้)” .. ได้รายงานหะดีษนี้โดยท่านอัล-บัยฮะกีย์ด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง” ...
โปรดสังเกตด้วยว่า ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ยอมรับว่าสายรายงานหะดีษบทนี้ถูกต้อง แต่ที่มิได้รับมาปฏิบัติเพราะท่านยึดถือตามการตะอ์วีลของท่านอัล-บัยฮะกีย์ ดังที่ได้อธิบายผ่านมาแล้ว ...
เหล่านี้ คือข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับปัญหาการกระดิกนิ้วชี้ในขณะอ่านตะชะฮ์ฮุดที่ผมได้เสนอให้ท่านผู้อ่านรับทราบไว้ ส่วนที่ใครจะปฏิบัติอย่างไรนั้น ก็เป็นสิทธิและดุลยพินิจส่วนบุคคล ซึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. กันเอาเอง ...
-วัลลอฮุ อะอฺลัม-

อ.มะห์มูด (ปราโมทย์) ศรีอุทัย
โทรฯ 086-6859660


กระดิกหรือชี้ ? (ตอนที่ 5)


โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

(ตอนที่ 5)

ภาคผนวก
อีกประเด็นหนึ่งที่ผมใคร่จะขอชี้แจงให้ท่านผู้อ่านบางท่านที่ยังข้องใจอยู่ได้เข้าใจก็คือ ในกระแสรายงานของท่านมุหัมมัด บินอัจญลานที่กล่าวอย่างชัดเจนว่า ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มิได้กระดิกนิ้วชี้ .. และท่านอิหม่ามนะวะวีย์ก็กล่าวว่า “สายรายงาน” ของหะดีษนี้ถูกต้อง และผมเองก็มิได้ชี้ชัดเลยว่าสายรายงานนี้เฎาะอีฟ ผมเพียงแต่พูดว่าสายรายงานนี้ค่อนข้างเฎาะอีฟหรืออย่างดีที่สุดก็เป็นสายรายงานที่หะซัน มิใช่เป็นสายรายงานเศาะเหี๊ยะฮ์ดังคำกล่าวของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ ...
นอกจากนั้น ผมก็ได้วิเคราะห์ให้ทราบกันแล้วว่า “ข้อความ”จากรายงานของท่านมุหัมมัด บินอัจญลานที่ว่า ท่านนบีย์มิได้กระดิกนิ้วชี้ เป็น زِيَادَةٌ شَاذَّةٌ คือ “เป็นการเพิ่มเติมที่ผิดเพี้ยน” เพราะท่านมุหัมมัด บินอัจญลานเป็นผู้รายงานที่มีความบกพร่องด้านความจำ และข้อความนี้ก็ไม่มีปรากฏในรายงานของผู้อื่นที่เชื่อถือได้มากกว่าท่าน ...
แต่ในแง่ของการ “สมมุติ” (ขอย้ำอีกครั้งว่า สมมุติ นะครับ) ว่า ถ้าข้อความจากรายงานของท่านมุหัมมัด บินอัจญลานที่ว่าท่านนบีย์มิได้กระดิกนิ้วชี้ในการอ่านตะชะฮ์ฮุดเป็นรายงานที่ถูกต้อง (صَحِيْحٌ) หรือสวยงาม (حَسَنٌ) เราจะหาทางออกอย่างไรจากความขัดแย้งกับรายงานที่ถูกต้องเช่นเดียวกันของท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ที่ยืนยันว่า ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กระดิกนิ้วชี้ขณะอ่านตะชะฮ์ฮุด ? ...
ผมก็ขอเรียนว่า “ทางออก” ของความขัดแย้งในกรณีนี้ตามหลักวิชาการ จะมีอยู่ 2 แนวทางคือ ...
(1). รายงานของท่านมุหัมมัด บินอัจญลานเป็น “รายงานปฏิเสธ” .. คือปฏิเสธการกระดิกนิ้วชี้ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ...
แต่รายงานของท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ เป็น “รายงานยืนยัน”.. คือยืนยันว่า ท่านนบีย์ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กระดิกนิ้วชี้ ...
ในเรื่องนี้ กฎของวิชาอุศูลุลฟิกฮ์มีอยู่ว่า ...
اَلْمُثْبِتُ مُقَدَّمٌ عَلَى النَّافِىْ
“ผู้ที่ยืนยัน จะต้องมาก่อน (คือยอมรับเขามากกว่า) ผู้ที่ปฏิเสธ”
เพราะฉะนั้นในกรณีความขัดแย้งข้างต้น รายงานของท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์จึงต้องถูกยอมรับและมีน้ำหนักมากกว่ารายงานของท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน ...
ตัวอย่างเปรียบเทียบง่ายๆในเรื่องนี้คือ ..
คุณสมชายกล่าวว่า .. “คุณสมัครไม่เคยพูดโกหกเลย”
คำพูดนี้เป็นการปฏิเสธการพูดโกหกของคุณสมัคร ...
แต่คุณชวนบอกว่า .. “คุณสมัครเคยพูดโกหกมาแล้ว”
คำพูดนี้เป็นการยืนยันการพูดโกหกของคุณสมัคร ...
เพราะฉะนั้น ในกรณีนี้การยืนยันของคุณชวนจึงมีน้ำหนักกว่าการปฏิเสธของคุณสมชาย เพราะคุณชวนอาจเคยได้ยินในสิ่งที่คุณสมชายไม่เคยได้ยิน คือการพูดโกหกของคุณสมัคร ...
(2). ถือว่า เป็นการปฏิบัติ “ต่างกรรมต่างวาระ” ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม .. คือปกติท่านจะกระดิกนิ้วขณะอ่านตะชะฮ์ฮุดดังรายงานของท่านซาอิดะฮ์ แต่บางครั้งท่านก็เพียงแต่ยกนิ้วเฉยๆโดยไม่กระดิก ดังรายงานของท่านมุหัมมัด ...
(ที่ผมกล่าวอย่างนี้ ก็เพราะท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์มีความน่าเชื่อถือมากกว่าท่านมุหัมมัด บินอัจญลาน) ...
ถ้าเรายึดถือตามมุมมองนี้ ทุกอย่างก็จะ “แฮ้ปปี้ เอ็นดิ้ง” .. คือจบลงด้วยดี เป็นที่พอใจสำหรับทุกฝ่าย ...
ความจริงในหนังสือ “ชี้หรือกระดิก” ของท่านอาจารย์มุรีด ทิมะเสน หากท่านยึดถือตามแนวทางนี้ก็จะใกล้เคียงต่อความถูกต้องมากกว่า และดีกว่าที่จะปฏิเสธการกระดิกนิ้ว .. ทั้งๆที่ท่านก็ยอมรับแล้วว่า หะดีษเรื่องกระดิกนิ้วเป็นหะดีษที่เศาะเหี๊ยะฮ์ (ถูกต้อง) ...
เพราะมิฉะนั้น ท่านก็ให้คำตอบไม่ได้ว่า หะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์เรื่องกระดิกนิ้วชี้นี้จะเอาไปวางไว้ตรงไหน ? หรือจะนำมาปฏิบัติในกรณีไหน ? ...
แต่ .. ทั้งนี้และทั้งนั้น “ทางออก” ทั้ง 2 ลักษณะดังกล่าวนี้จะใช้ได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสมมุติฐานข้างต้นที่ว่า ถ้า ข้อความในหะดีษของท่านมุหัมมัด บินอัจญลานที่ว่า ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมไม่กระดิกนิ้วชี้ในการอ่านตะชะฮ์ฮุด เป็นข้อความที่สวยงามหรือถูกต้อง .. มิใช่เป็นข้อความผิดเพี้ยนที่เฎาะอีฟดังการวิเคราะห์ที่ผ่านมาแล้วตอนต้น ...

-วัลลอฮุ อะอฺลัม-

อ.มะห์มูด (ปราโมทย์) ศรีอุทัย


วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

การอุทิศผลบุญการอ่านอัล-กุรฺอาน



ตอบโดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม
หนังสืออัลอุมมฺของอิมามอัช-ชาฟิอีย์ จากเรื่อง "อัลญะนาอิซฺ" ในบทย่อยเกี่ยวกับเรื่อง "จำนวนการห่อมัยยิด" ซึ่งท่านอิมามอัช-ชาฟิอีย์กล่าวระบุไว้ว่า
وَأُحِبُّ لَوْ قُرِئَ عِنْدَ الْقَبْرِ، وَدُعِيَ لِلْمَيِّتِ وَلَيْسَ فِي ذَلِكَ دُعَاءٌ مُؤَقَّتٌ
"ฉันรัก หากมีการอ่านอัลกุรอานที่กุบูร และมีการขอดุอาอ์ให้แก่มัยยิด(ผู้ตาย) และในเรื่องดังกล่าวนั้น ไม่มีการขอดุอาอ์ที่ถูกกำหนดเวลาเอาไว้ตายตัว(คือขอดุอาให้ผู้ตายได้ทุกเวลา)"
/////// อาจารย์คับ ข้อความข้างต้นของ อาชาอิเราะ เขาอ้างมันขัดกันกับบันทึกของอิบนุกะษิร ที่บอกว่า อ่านกุรอ่านไม่ถึงผู้ตาย .......... ผมอยากทราบว่ามัน ขัดกันยังไงคับ ................ขอความรุ้หนอ่ยคับ ..ญาษากัลเลาะ

ตอบ
มีจุดที่จะต้องชี้แจงในกรณีนี้อยู่ 2 ประเด็นด้วยกันคือ ...
(1). คำกล่าวของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ดังที่มีระบุในตัฟซีรฺอิบนุกะษีรฺและตำราอื่นๆเรื่องการอุทิศผลบุญการอ่านอัล-กุรฺอานไม่ถึงผู้ตาย กับข้อความในหนังสืออัล-อุมม์ของท่านดังข้างต้น ที่ท่านส่งเสริมให้อ่านอัล-กุรฺอานที่กุบูรฺและขอดุอาให้ผู้ตาย ไม่ได้ขัดแย้งกันเลย เพราะกรณีอุทิศผลบุญอ่านอัล-กุรฺอานให้ผู้ตายที่ท่านกล่าวว่าผลบุญไม่ถึงผู้ตายนั้น ท่านหมายถึงการอ่านอัล-กุรฺอานใน "สถานที่อื่นจากที่กุบูรฺ" .. เช่นอ่านที่บ้าน เป็นต้น แล้วผู้อ่านก็ "อุทิศผลบุญการอ่านอัล-กุรฺอานของตน" ให้ผู้ตาย ไม่ว่าจะโดยวิธีเนียตหรือวิธีอ่านดุอาส่งผลบุญให้ ผลบุญก็ไม่ถึงผู้ตาย เพราะเรื่อง "ดุอาส่งผลบุญให้" นี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในซุนนะฮ์ของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และการกระทำของชาวสลัฟท่านใดทั้งสิ้น กรณีนี้แหละที่ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์กล่าวว่า อุทิศผลบุญไม่ถึงผู้ตาย .. ส่วนคำกล่าวที่ท่านส่งเสริมให้อ่านอัล-กุรฺอานที่กุบูรฺในหนังสืออัล-อุมม์ ข้อความก็ระบุชัดเจนแล้วว่า หมายถึงการอ่าน "ที่กุบูรฺ" จึงนำประเด็นการอ่านอัล-กุรฺอาน "ที่บ้าน" แล้วอุทิศผลบุญมาเปรียบเทียบไม่ได้ .. และการส่งเสริมให้อ่านอัล-กุรฺอานทีกุบูรฺของท่าน ก็ไม่มีข้อความใดเลยจากคำพูดข้างต้นของท่านที่ระบุว่า "ผลบุญการอ่านอัล-กุรฺอาน" นั้นถึงผู้ตาย ตรงกันข้าม มีนักวิชาการมัษฮับชาฟิอีย์หลายท่านที่อธิบายว่า ที่ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ส่งเสริมให้อ่านอัล-กุรฺอานที่กุบูรฺ ก็เพราะท่านหวังว่าผู้ตายจะพลอยได้รับ "เราะห์มัต" ที่ถูกประทานลงมา ณ สถานที่ ที่มีการอ่านอัล-กุรฺอาน ดังมีปรากฏในหะดีษที่ถูกต้องบางบท .. ซึ่งการที่ "พระองค์ อัลลอฮ์ ซ.บ." จะประทานเราะห์มัตลงมาให้เองโดยไม่จำเป็นต้องมีใครขอหรือส่งผลบุญให้ กับการที่ "มนุษย์" คนใดจะอุทิศหรือส่งผลบุญการอ่านอัล-กุรฺอาน "ของตน" ให้ผู้ตาย มันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงโดยไม่ต้องมีคำอธิบายใดๆอีก ..

(2). ในกรณีที่กล่าวว่า การอุทิศผลบุญการอ่านอัล-กุรฺอานไม่ถึงผู้ตายนั้น ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ได้อ้าง "หลักฐาน" ว่า เป็นการวิเคราะห์มาจาก "อัล-กุรฺอาน" อายะฮ์ที่ 39 ซูเราะฮ์อัน-นัจญม์ซึ่งมีความหมายว่า "แท้จริง จะไม่ได้แก่มนุษย์นอกจากสิ่งที่เขาเอาไว้เท่านั้น" .. แต่ในกรณีส่งเสริมให้อ่านอัล-กุรฺอานที่กุบูรฺ ท่าน "ไม่ได้อ้างหลักฐานใดๆ" มายืนยันไว้เลย ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการจึงขัดแย้งกันในการอธิบายเจตนารมณ์ของท่านจากคำกล่าวส่งเสริมนั้นว่า ท่านมีมุมมองอย่างไรจึงกล่าวส่งเสริมให้อ่านอัล-กุรฺอานที่กุบูรฺ ?? .. สรุปแล้ว คำกล่าวของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ที่ว่า การอุทิศผลบุญการอ่านอัล-กุรฺอานไม่ถึงผู้ตาย เป็นสิ่งที่ท่านอ้างหลักฐานมาจากอัล-กุรฺอาน ส่วนที่ท่านส่งเสริมให้อ่านอัล-กุรฺอานที่กุบูรฺ เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวที่ท่านมิได้อ้างหลักฐานใดๆประกอบไว้เลย (ผมมิได้พูดว่า ท่านไม่มีหลักฐาน, แต่ผมพูดว่า ท่านมิได้อ้างหลักฐาน ซึ่งมีความหมายต่างกัน) .. เพราะฉะนั้น คำกล่าวของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ในทั้งสองกรณีนี้ ท่านผู้อ่านก็โปรดพิจารณาเอาเองว่า ระหว่างคำกล่าวของท่านที่อ้างหลักฐาน กับคำกล่าวของท่านที่มิได้อ้างหลักฐาน คำกล่าวไหนน่าจะมีน้ำหนักมากกว่าและน่าเชื่อถือกว่า ? ...

ในด้านส่วนตัวของผม หากท่านถามว่า ผลบุญอ่านอัล-กุรฺอาน อุทิศถึงผู้ตายหรือไม่ ? .. ผมก็ขอตอบว่า ไม่ทราบ เพราะเรื่องบาปเรื่องบุญ เป็นเรื่องของอัลลอฮ์ และผมก็ไม่ใช่อัลลอฮ์ ! .. แต่ถ้าท่านถามว่า การอ่านอัล-กุรฺอานให้ผู้ตายเป็นซุนนะฮ์หรือไม่ ? และดุอาส่งบุญหรือดุอาอุทิศผลบุญ เคยมีปรากฏในซุนนะฮ์หรือจากบรรพชนยุคสลัฟหรือไม่ ? ผมก็ขอตอบว่า การอ่านอัล-กุรฺอานให้ผู้ตาย ไม่ว่าอ่านที่บ้านหรือที่กุบูรฺ ไม่ใช่ซุนนะฮ์ของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมแน่นอน, และดุอาส่งบุญหรือดุอาอุทิศผลบุญที่ถามมา ก็ไม่มีปรากฏในซุนนะฮ์หรือจากชาวสลัฟเช่นเดียวกันครับ 
วัลลอฮุ อะอฺลัม ...



วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

การไปทำกิจธุระกับสามีเก่า



ตอบโดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม
กรณีที่เราแต่งงานใหม่แล้วแต่เรามีธุระเรื่องลูกที่จะต้องไปกับสามีเก่าเราจะไปได้มั้ยโดยมีลูกไปด้วยอ่ะค่ะ

ตอบ
ถ้าลูกของเราเป็นผู้ชายและบรรลุศาสนภาวะแล้ว ตามหลักการศาสนาคงอนุญาต แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่ ? และสามีใหม่ของเราจะอนุญาตหรือไม่ ? ตรงนี้ต่างหากครับที่เป็นตัวปัญหาให้ต้องคิด ...

เวลาสิ้นสุดของละหมาดอีชา


ตอบโดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม
اسلام عليكم
คับอาจารย์คือผมมีเรื่องสงสัยเกี่ยวกับเวลาสิ้นสุดวักตูอีซาอฺคับว่าเวลาสิ้นสุดเวลาเท่าไร ถึงเที่ยงคืนหรือว่าจนถึงซุบฮฺคับ ขอบคุณอาจารย์มาณ. ที่นี้คับ
جزاك الله خيراا

ตอบ
วะอลัยกุมุสสลาม ..
จากหลักฐานที่ถูกต้องและชัดเจนนั้น เวลาละหมาดอีชาจะสิ้นสุดแค่เที่ยงคืน ดังหะดีษจากการบันทึกของท่านมุสลิมครับ ไม่ใช่ยืดยาวจนถึงเวลาละหมาดซุบฮ์ ความเข้าใจที่ว่าเวลาละหมาดอีชายืดยาวจนถึงเวลาละหมาดซุบฮ์ เป็นเพียง "การวิเคราะห์" ของนักวิชาการจากหะดีษบทหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นความผิดพลาด เพราะขัดแย้งกับหะดีษที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะอลัยฮิวะซััลลัม ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เวลาของละหมาดอีชา จะถึงเที่ยงคืนครับ
วัลลอฮุ อะอฺลัม ..


การทำอะกีเกาะฮ์ให้บุตรในวันที่เจ็ด


ตอบโดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม
อัสลามุอะลัยกุม วะเราะมะตุลลอฮุฮิวะบารอกาตุฮุ
ขออนุญาตสอบถามอาจารย์หน่อยครับ เกี่ยวกับการทำอากีเกาะห์ให้บุตร ตามเงื่อนไขที่มี คือ ให้ทำในวันที่เจ็ดนับตั้งแต่วันที่บุตรคลอดออกมา และให้เชือดจากแพะหรือแกะ ถ้าเป็น เด็กผู้ชาย สองตัว ถ้าเด็กผู้หญิง หนึ่งตัว สมมติว่าในวันที่เจ็ดเราไม่มีความสามารถที่จะทำอากีเกาะห์ให้กับบุตรของเราได้ เนื่องจากเหตุผลทางด้านการเงิน หรือ อื่นๆ เราจะสามารถทำอากีเกาะห์ให้กับบุตร หลังจากนั้นได้ไหม แล้วถ้าทำอากีเกาะห์ให้บุตร ตอนบุตรมีอายุสองขวบ สามขวบ หรือมากกว่านั้นมาแล้ว เราจะสามารถกระทำได้ไหมครับ
-รบกวน อาจารย์ให้ความกระจ่างหน่อยครับ (ญาซากัลลอฮุค็อยร็อน กาซีร็อย)

ตอบ
วะอลัยกุมุสสลาม ..
เรื่องการทำอะกีเกาะฮ์ให้บุตรในวันที่ 7 นับจากวันคลอดตามคำสั่งท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมนั้น ตามทัศนะที่มีน้ำหนักที่สุดของนักวิชาการถือว่า วันที่ 7 นั้น หมายถึงเป็น "เวลาที่ดีที่สุด" ถ้าเราสามารถปฏิบัติได้ แต่ถ้าเราไม่สามารถกระทำในวันที่เจ็ดได้ด้วยความจำเป็นใดก็ตาม ก็ให้เราค่อยทำเมื่อไรก็ตามที่เรามีความสามารถดังที่คุณถามมา ถูกต้องแล้วครับ หรือหากพ่อแม่ไม่สามารถทำอะกีเกาะฮ์ให้ลูกได้จนกระทั่งลูกบรรลุศาสนภาวะแล้ว และมีความพร้อม เขาก็สามารถทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตนเองได้ .. เพราะมีรายงานที่ถูกต้องกล่าวว่า ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมก็เคยทำอะกีเกาะฮ์ให้แก่ตัวท่านเองหลังจากถูกแต่งตั้งเป็นนบีย์แล้ว ซึ่งหะดีษบทนี้ - ถ้าจำไม่ผิด - ดูเหมือนผมจะเคยนำบทวิเคราะห์ของผม ลงในเฟสไปครั้งหนึ่งแล้วนี่ครับ ...


"มุฎอรอบะฮ์" แตกต่างจากการ "ฝากเงิน"


ตอบโดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม
ผมฝากเงินแบบ มุฎอรอบะฮฺ ที่ธนาคารอิสลามไว้ 400,000 บาท เวลาผ่านไปหกเดือน มีเงินเพิ่มขึ้นในบัญชีที่ฝากไว้ 4000 กว่าบาท โดยเจ้าหน้าที่ธนาคารเรียกบอกว่ามันคือ เงินปัญผล จากที่ทางธนาคารได้นำเงินฝากเราไปปล่อยสินเชื่อ… อย่างนี้เงินเพิ่มขึ้นนั้นถือเป็นเงินดอกเบี้ยรึปล่าวครับ??? ผมไม่ค่อยมั่นใจเลย จากที่คิดมาตลอดว่าธนาคารอิสลามไม่มีดอกเบี้ย
คือก่อนทำบัญชีธนาคารบอกไว้ล่วงหน้าแล้วนะครับว่าฝากแบบมุฎอรอบะฮฺโดยไม่ถอนเงินออกภายในระยะเวลาหกเดือน. จะได้เงินปัญผล เปอร์เซ็นตามที่กำหนด

ตอบ
ปัญหาก็คือ "เปอร์เซ็นต์" เงินปันผลที่เขาแบ่งให้เรานั้น เขาคิดเปอร์เซ็นต์จาก "เงินฝาก" ของเราหรือคิดเปอร์เซ็นต์จาก "กำไร" ที่ได้จากการนำเงินของเราไปทำธุรกิจการค้า
เพราะเงื่อนไขของระบบมุฎอรอบะฮ์ที่สำคัญก็คือ
(1). ส่วนแบ่งกำไรที่จะแบ่งให้เจ้าของเงินทุน จะต้องเป็นเปอร์เซ็นต์จาก "ผลกำไร" มิใช่เปอร์เซ็นต์จาก "เงินทุน"
(2 ) ธุรกิจที่จะทำกำไรมาแบ่งกัน จะต้องเป็นธุรกิจการค้าหรือธุรกิจหะล้าลอื่นๆที่คล้ายกับการค้า
(3). ทางธนาคารจะต้องนำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในการดำเนินธุรกิจตลอดจนผลกำไรสรุปตอนครึ่งปีหรือสิ้นปี มาชี้แจงให้เจ้าของเงินรับทราบเพื่อความโปร่งใสในส่วนแบ่งของแต่ละฝ่าย ...
เพราะฉะนั้น ก็ขอให้คุณนำเงื่อนไขเหล่านี้ไปตรวจสอบดูก็แล้วกันครับว่า ทางธนาคารปฏิบัติถูกต้องหรือไม่ ? .. วัลลอฮุอะอฺลัมครับ ...
หมายเหตุ ความจริง มุฎอรอบะฮ์ไม่ใช่เป็นการฝากเงิน ซึ่งมีความหมายว่าเจ้าของเงินจะต้องได้รับเงิน "ครบถ้วน" เมื่อต้องการ แต่มุฎอรอบะฮ์เป็น "ธุรกิจร่วม" ระหว่างนายทุน คือเจ้าของเงิน กับผู้ทำงานหรือผู้นำเงินไปทำธุรกิจการค้า แล้วนำ "ผลกำไร" มาแบ่งปันเปอร์เซ็นต์กันตามแต่จะตกลงกัน เพราะฉะนั้น ตามข้อเท็จจริงแล้ว กำไรที่เจ้าของเงินจะได้รับส่วนแบ่งแต่ละครั้ง อาจจะไม่เท่ากัน เพราะกำไรจากการค้าย่อมไม่คงที่ แถมบางครั้งอาจไม่มีกำไรที่จะนำมาแบ่งกันเลยก็ได้ หรือเผลอๆเจ้าของเงินอาจไม่ได้เงินทุนคืนด้วยซ้ำหากการค้านั้นเกิดขาดทุนขึ้นมา ซึ่งจุดนี้จะเห็นได้ชัดว่า แตกต่างกับการ "ฝากเงิน" อย่างชัดเจน ดังที่กล่าวมาแล้วครับ ...


ไปทำอุมเราะห์ก่อนไปทำฮัจย์ได้หรือไม่


ตอบโดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม
อัสลามมุอะลัยกุม วะเราะมะตุลรอ วะบะรอกาตุ ผมมีปัญหาอยากถามอาจารย์ 2 ข้อครับ
1.ไปทำอุมเราะห์ก่อนไปทำฮัจย์ได้ไหมครับ ไปเดือนเมษายนซึ่งเป็นการไปครั้งแรก
2.มีคนออกค่าใช้จ่ายให้ไป(ไม่ได้เป็นญาติกัน)เป็นเงินซากาต หรือซอดาเกาะห์ ของเขาครับ
วัสสลามมุอะลัยกุม ญาซากัลรอฮุคอยรอล

ตอบ
วะอลัยกุมุสสลาม .. ทั้งหัจญ์และอุมเราะฮ์ เป็นวายิบครั้งหนึ่งในชั่วชีวิตของมุสลิมเรา แล้วแต่ว่าเราจะมีโอกาสไปทำอะไรก่อนก็ต้องไป เพราะฉะนั้น เมื่อคุณมีโอกาสเดินทางไปทำอุมเราะฮ์ก่อนก็รีบฉวยโอกาสนั้นไว้เลยครับ ส่วนเรื่องเงินและค่าใช้จ่ายในการทำอุมเราะฮ์ตามที่คุณบอกมาก็เป็นเงินที่หะล้าล จึงไม่ต้องกังวลอะไรอีกเลยครับ
และอินชาอัลลอฮ์ เราอาจไปเจอกันที่โน่น เพราะผมเองก็จะนำคนไปทำอุมเราะฮ์เหมือนกัน โดยจะออกเดินทางวันที่ 26 มีนาคมและกลับวันที่ 10 เมษายนครับ ...

วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ผู้คลั่งใคล้มัซฮับกุหะดิษเพื่อสนับสนุนตนเอง


โดย อ.ปราโมทย์  ศรีอุทัย 

ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ...
ผมเคยเขียนหนังสือเรื่อง “อิหม่ามมะฮ์ดีย์ฯ” ซึ่งตอนหนึ่งมีเนื้อหาว่า กลุ่มชนที่ชอบกุหะดีษเพื่อสนับสนุนแนวความเชื่อของตนเองมากที่สุดก็คือชีอะฮ์ ...
แล้วผมก็กล่าวต่อไปอีกว่า ...
“ผู้ที่กุหะดีษขึ้นมาเพื่อสนับสนุนแนวคิดของตนเองในลักษณะนี้มิใช่จะมีเฉพาะในกลุ่มชีอะฮ์เท่านั้น เพราะแม้กระทั่งผู้ที่คลั่งไคล้ในบางมัษฮับของฝ่ายซุนนะฮ์เอง เช่นผู้ที่สังกัดมัษฮับหะนะฟีย์และมัษฮับชาฟิอีย์ เป็นต้น ก็ยังมีการกุหะดีษขึ้นมาเพื่อสนับสนุนมัษฮับที่ตนเองสังกัดอยู่เช่นเดียวกัน ...
แล้วก็มีบุคคลบางคนพยายามใส่ร้ายผมว่า ผมดูหมิ่นเหยียดหยามผู้คนจำนวนมากที่สังกัดมัษฮับทั้งสอง ด้วยเขาได้โพสข้อความอันเป็นเท็จลงในเฟสว่า “ อ.ปราโมทย์ กล่าวหาว่า บรรดาผู้สังกัดมัสฮับอิหม่ามชาฟิอีย์และอิหม่ามฮานาฟีย์ ก็ชอบกุหะดีษ สนับสนุนทัศนะของตน !!!...”
แล้วหลังจากนั้น ก็มีคนอื่นๆอีกจำนวนมากที่ในสมองของเขาใส่ความอคติเข้าไว้เต็มเปี่ยมแบบเดียวกันกับผู้โพส ก็ออกมาพลอยผสมโรง กล่าวหา, ดูหมิ่นเหยียดหยามผมต่างๆนาๆ ทั้งๆที่ผมก็ไม่เคยรู้จัก หรือไปทำอะไรให้พวกเขาเจ็บช้ำน้ำใจ ...
ท่านผู้อ่านที่รักและมีใจเป็นธรรมทุกท่านครับ ...
โปรดสังเกตคำพูดของผมที่ว่า “ผู้ที่คลั่งไคล้ในบางมัษฮับ” และข้อความตอนท้ายที่ผมเขียนว่า “ก็ยังมีการกุหะดีษขึ้นมา เพื่อสนับสนุนมัษฮับที่ตนเองสังกัดอยู่”
วิญญูชนทุกท่านที่มีสติสมบูรณ์ ไม่อคติจนเกินกว่าเหตุ ย่อมจะเห็นอย่างชัดเจนว่า ถ้อยคำทั้งสองวรรคนั้น ไม่มีเนื้อหาใดเลยที่ผมกล่าวดูหมิ่นเหยียดหยามท่านอิหม่ามทั้งสอง, ดูหมิ่นเหยียดหยามบรรดานักวิชาการที่สังกัดมัษฮับทั้งสอง, หรือแม้กระทั่งชาวบ้านธรรมดาที่สังกัดมัษฮับทั้งสอง, ไม่มีทั้งถ้อยคำและเนื้อหาใดเลยที่จะชวนให้เข้าใจว่า ผมกล่าวหาว่า มีผู้สังกัดมัษฮับทั้งสองจำนวนมากที่ “ชอบ” กุหะดีษ !!!..
เพราะสิ่งที่ผมกล่าวถึงก็คือ มีบางคน (มิใช่จำนวนมากอย่างที่ถูกใส่ร้าย และคงมิใช่เป็นนักวิชาการด้วย) ที่ “คลั่งไคล้” มัษฮับทั้งสองเกินขอบเขต จนถึงขั้นกุหะดีษเท็จขึ้นเพื่อสนับสนุนมัษฮับของตน ดังที่ท่านจะได้อ่านต่อไป ...
การ “คลั่งใคล้” มัษฮับใด มิใช่เป็นลักษณะของ “คนจำนวนมาก” ในแต่ละมัษฮับหรอกครับ ...
แต่เป็นลักษณะของ “บางคน” เท่านั้น ..
เพราะความหมายของคำว่า “คลั่งไคล้มัษฮับ” แตกต่างกันอย่างไรกับคำว่า “ยึดถือมัษฮับ” อันเป็นลักษณะทั่วไปของคนทั้ง 4 มัษฮับ เด็กชั้นประถมก็ยังเข้าใจ ...
เพราะฉะนั้น ผมจึงขอถามว่า ...
คำว่า “บรรดาผู้สังกัด ...” อันมีความหมายถึงคนจำนวนมากก็ดี, คำว่า “ชอบกุหะดีษ” อันแสดงความหมายว่า เป็นผู้ที่ “ชอบปฏิบัติในสิ่งนี้เป็นอย่างมาก” ก็ดี ตามที่คุณเขียนมานั้น ...
เป็นสิ่งที่มีอยู่ในข้อเขียนตอนไหนของผม ...
หรือเป็นสิ่งที่คุณกุเท็จเพื่อใส่ร้ายป้ายสีผมกันแน่ ??? ...
เอาเถิดครับ ไม่ว่าท่าน หรือผู้ที่มีแต่ความอคติเต็มสมองอย่างพวกท่านจะก้าวร้าวผมอย่างไร ผมจะไม่ก้าวร้าวตอบพวกท่านหรอก เพราะผมเป็นลูกที่ถูกพ่อแม่อบรมสั่งสอนมาว่า อย่าไปหยาบคายหรือก้าวร้าวใคร และอย่าอคติต่อใครเป็นอันขาด .. ซึ่งผมก็จะพยายามปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพ่อแม่ในเรื่องนี้ให้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ ..
สิ่งใดที่พวกท่านใส่ร้ายป้ายสีหรือกุเท็จให้กับผม ผู้ตอบแทนพฤติกรรมของพวกท่านคือพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. มิใช่ผม ...
เมื่อผมบอกว่า มีผู้ที่คลั่งไคล้ในบางมัษฮับได้กุหะดีษเท็จขึ้นเพื่อสนับสนุนมัษฮับของตน ท่านก็หาว่าสิ่งที่ผมพูดไม่มีจริง ผมมีเจตนาใส่ร้ายผู้สังกัดมัษฮับมากกว่า ...
ก็ขอให้ท่านลองอ่านหะดีษต่อไปนี้ แล้วช่วยตอบคำถามผมด้วยนะครับ ...
ท่านอิบนุ้ลญูซีย์ ได้บันทึกในหนังสือ “อัล-เมาฎูอาต” เล่มที่ 1 หน้า 457 โดยรายงานมาจากมะอฺมูน บินอะห์มัด อัส-สะละมีย์, ซึ่งรายงานมาจากอะห์มัด บินอับดุลลอฮ์ อัล-ญุวัยบารีย์, ซึ่งรายงานมาจากอับดุลลอฮ์ บินมะอฺดาน อัล-อัซดีญ์, ซึ่งรายงานมาจากท่านอนัส บินมาลิก ร.ฎ. ว่า ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า ...
يَكًوْنُ فِىْ اُمَّتِىْ رَجُلٌ يُقَالُ لَهُ مُحَمَّدُ بْنُ إِدْرِيْسَ أَضَرُّ عَلَى اُمَّتِىْ مِنْ إِبْلِيْسَ،
وَيَكُوْنُ فِىْ اُمَّتِىْ رَجُلٌ يُقَالُ لَهُ أَبُوْ خَنِيْفَةَ، هُوَ سِرَاجُ اُمَّتِىْ ...
“ในประชาชาติของฉัน จะมีชายผู้หนึ่ง ถูกเรียกว่า มุหัมมัด บิน อิดรีส (หมายถึงท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ ขออัลลอฮ์โปรดเมตตาต่อ
ท่านด้วย) ซึ่งเขาจะเป็นภัยต่อประชาชาติของฉันยิ่งกว่าอิบลีส ...
และในประชาชาติของฉัน จะมีชายผู้หนึ่ง ถูกเรียกว่า อบูหะนีฟะฮ์ (หมายถึงท่านอิหม่ามอบูหะนีฟะฮ์หรือท่านหะนะฟีย์ ขออัลลอฮ์โปรดเมตตาต่อท่านด้วย) ซึ่งเขาจะเป็นดวงประทีปให้แก่ประชาชาติของฉัน” ...
หะดีษบทนี้ คือหะดีษที่ผมถือว่า ผู้คลั่งไคล้มัษฮับหะนะฟีย์ “บางคน” ได้กุขึ้นมาเพื่อยกย่องและสนับสนุนท่านอิหม่ามอบูหะนีฟะฮ์ (แต่ขณะเดียวกัน ยังดูหมิ่นเหยียดหยามท่านอิหม่ามชาฟิอีย์อย่างรุนแรงอีกด้วยอย่างที่เห็น) ...
เมื่อผมบอกว่า ผู้คลั่งไคล้มัษฮับหะนะฟีย์บางคนได้กุหะดีษขึ้นมา (ซึ่งก็คือหะดีษบทนี้แหละ) เพื่อสนับสนุนมัษฮับของตน พวกท่านก็คัดค้านผม และกล่าวหาผมว่า หะดีษที่ว่าไม่มีจริงบ้างละ, ผมใส่ร้ายผู้สังกัดมัษฮับจำนวนมากบ้างละ ...
ดังนั้น เมื่อผมนำหะดีษที่ท่านเรียกร้องมาแสดงให้เห็นกันชัดๆอย่างนี้แล้ว ก็อยากจะขอถามท่านว่า ...
ตกลง หะดีษบทนี้ เป็นหะดีษที่ถูกต้องในทัศนะของพวกท่านใช่ไหมครับ ??? ...
ถ้าใช่ ก็เป็นหน้าที่ของพวกท่านที่ควรจะเผยแพร่หะดีษที่ถูกต้อง (ตามทัศนะของพวกท่าน แต่เป็นหะดีษเก๊ในทัศนะของผม) บทนี้ต่อไป, ให้บรรดามุสลิมได้รับรู้กันไปทั่วๆว่า ..
***ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า ..
“ในประชาชาติของฉัน จะมีชายผู้หนึ่ง ถูกเรียกว่า มุหัมมัด บิน อิดรีส (หมายถึงท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ ขออัลลอฮ์โปรดเมตตาต่อท่านด้วย) ซึ่งเขาจะเป็นภัยต่อประชาชาติของฉันยิ่งกว่าอิบลีส ...
และในประชาชาติของฉัน จะมีชายผู้หนึ่ง ถูกเรียกว่า อบูหะนีฟะฮ์ (หมายถึงท่านอิหม่ามอบูหะนีฟะฮ์หรือท่านหะนะฟีย์ ขออัลลอฮ์โปรดเมตตาต่อท่านด้วย) ซึ่งเขาจะเป็นดวงประทีปให้แก่ประชาชาติของฉัน” ...
แล้วเชิญท่านบอกพวกเขาต่อไปอีกว่า หะดีษบทนี้เป็นหะดีษที่ถูกต้องในทัศนะของพวกเราชาวมัษฮับชาฟิอีย์นะ ..
อ.ปราโมทย์ เข้าใจผิดหรือไม่เข้าใจหะดีษเองที่กล่าวว่า หะดีษบทนี้ถูกกุขึ้นมาโดยผู้คลั่งไคล้มัษฮับหะนะฟีย์.. ...
ท่านจะกล้าไหมครับ ??????????? ....
ความจริง เวลาของผมมีค่าเกินกว่าที่จะมาต่อล้อต่อเถียงกับความอคติจนไม่ลืมหูลืมตาของพวกท่านอย่างนี้ ผมจึงขอบอก ณ ที่นี้ว่า ต่อไปผมจะไม่เขียนโต้แย้งพวกท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เสียเวลาอีก ...
ความจริง ถ้าพวกท่านต้องการรู้ว่า ผมเป็นคนอย่างไร, มีนิสัยก้าวร้าวชอบแจกนรกให้ใครเหมือนที่พวกท่านเข้าใจหรือไม่ ก็ลองไปถามท่าน อ.อารีฟีน แสงวิมานของพวกท่านก็ได้นี่ครับ เพราะท่านรู้จักสนิทสนมกับผมดี และรู้จักผมดีกว่าพวกท่านรู้จักครับ ...
และก็ขอถือโอกาสนี้ เรียนให้ทุกท่านรับทราบด้วยนะครับว่า ในวันที่ 19 – 23 มีนาคมนี้ ผมจะขึ้นไปกรุงเทพ จึงของดตอบคำถามปัญหาต่างๆเป็นการชั่วคราว และหากทางช่องยาตีมทีวีเปิดโอกาสให้ ท่านอาจจะพบกับผมได้ทางยาตีมทีวี รายการ “คุยให้เคลียร์” ในวันเสาร์ ที่ 21 มีนาคม ค่ำลง อินชาอัลลอฮ์ครับ ...
อ. ปราโมทย์ (มะห์มูด) ศรีอุทัย
14 /3 / 58