อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ละหมาดกิยามุ้ลลัยล์หลังละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ (ตอนที่ 1)


ตอบคำถามคุณ Mubarok Adam

เรื่องละหมาดกิยามุ้ลลัยล์หลังละหมาดตะรอเวี๊ยะห์



โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

คำถาม .. السلام عليكم ورحمة الله وبركاته
หากเราต้องการจะละหมาดตะฮัจยุดอีกหลังจากละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ไปแล้ว เราต้องทำอย่างไรครับ ในกรณีที่เราละหมาดตะรอเวี๊ยะห์กับอิหม่ามและมีวิเตรฺ ตรงนี้ให้เราแยกตัวออกมา (และถ้าหากเราแยกตัวออกมาเราจะได้ผลบุญอย่างที่นบีบอกหรือป่าว) หรือละหมาดวิเตรฺกับอิหม่าม แต่ฮาดีษของท่านนบีย์ที่ว่า إِجْعَلُوْا آخِرَ صَلاَتِكُمْ فِى اللَّيْلِ وِتْرًا รบกวนอาจารย์ชี้แนะมาด้วย ...
ตอบ .. وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
คำถามของคุณ ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นอย่างนี้ใช่ไหมครับ
1. ถ้าเราละหมาดตะรอเวี๊ยะห์และละหมาดวิเตรฺเสร็จพร้อมอิหม่ามไปแล้ว และต้องการจะละหมาดตะฮัจญุดอีก เราจะละหมาดตะฮัจญุดอย่างไรในเมื่อเราละหมาดวิเตรฺพร้อมอิหม่ามไปแล้ว ? ...
2. ถ้าเราละหมาดตะรอเวี๊ยะห์พร้อมอิหม่าม แต่แยกออกมาทำวิเตรฺเป็นการส่วนตัว จะได้รับผลบุญเท่ากับละหมาดทั้งคืนอย่างที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวไว้หรือไม่ ? ..
3. ความหมายหะดีษที่ว่า .. إِجْعَلُوْا آخِرَ صَلاَتِكُمْ بِاللَّيْلِ وِتْرًا

ตอบ ..
ผมจะตอบคำถามของคุณทีละข้อดังนี้ครับ ...
(1). จากคำถามที่ว่า .. ถ้าเราละหมาดตะรอเวี๊ยะห์และละหมาดวิเตรฺเสร็จพร้อมอิหม่ามไปแล้ว และต้องการจะละหมาดตะฮัจญุดอีก เราจะละหมาดตะฮัจญุดอย่างไร ? ...
คำตอบก็คือ .. มะอฺมูมที่ละหมาดตะรอเวี๊ยะห์และละหมาดวิเตรฺเสร็จพร้อมอิหม่ามไปแล้ว ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ "ปราม" .. หรืออีกนัยหนึ่งคือ "ห้าม" จากการทำละหมาดสุนัตใดๆอีกในเวลาที่เหลือของคืนนั้น โดยเหตุผลที่ว่า เพราะพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. จะประทานผลบุญให้เขาเท่ากับ "ละหมาดทั้งคืน" แล้ว ...
เขาจึงไม่จำเป็นต้องแสวงหาผลบุญใดๆจากการ "ละหมาด" อีกในคืนนั้น ...
ท่านอบูซัรฺ อัล-ฆิฟารีย์ ร.ฎ. ได้กล่าวว่า ...
صُمْنَا، فَلَمْ يُصَلِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ بِنَا، حَتَّى بَقِىَ سَبْعٌ مِنَ الشَّهْرِ، فَقَامَ بِنَا حَتَّى ذَهَبَ ثُلُثُ اللَّيْلِ، ثُمَّ لَمْ يَقُمْ بِنَا فِى السَّادِسَةِ، وَقَامَ بِنَا فِى الْخَامِسَةِ حَتَّى ذَهَبَ شَطْرُ اللَّيْلِ، فَقُلْنَا : يَا رَسُوْلَ اللهِ لَوْ نَفَّلْتَنَا بَقِيَّةَ لَيْلَتِنَا هَذِهِ، فَقَالَ : إِنَّهُ مَنْ قَامَ مَعَ الْإِمَامِ حَتَّى يَنْصَرِفَ كُتِبَ لَهُ قِيَامُ لَيْلَةٍ ............
"พวกเราถือศีลอดกัน โดยที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่เคยออกมานำละหมาดพวกเราเลย จนกระทั่งเหลืออีก 7 วันของเดือน(คือ คืนที่ 23 ของเดือนรอมะฎอน) ท่านจึง(ออกมา)นำพวกเราละหมาด(ตะรอเวี๊ยะห์) จนเวลาล่วงไปหนึ่งในสามของคืน (คือละหมาดเสร็จประมาณ 4 ทุ่ม), ต่อมาท่านก็มิได้นำพวกเราละหมาดอีกใน 6 วันที่เหลือ แต่ออกมานำละหมาดใน 5 วันที่เหลือ (คือคืนที่ 25) จนล่วงไปครึ่งคืน (คือละหมาดเสร็จประมาณเที่ยงคืน) เราจึงกล่าวแก่ท่านว่า .. โอ้ ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ สมมุติท่านจะปล่อยให้พวกเราละหมาดต่อไปในครึ่งคืนที่เหลือนี้ (ก็น่าจะดี).. ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ จึงกล่าวว่า .. แท้จริง ผู้ใดละหมาดพร้อมกับอิหม่ามจนอิหม่ามละหมาดเสร็จ เขาก็ถูกบันทึก (ผลบุญ) ให้เท่ากับละหมาดทั้งคืนแล้ว" ...
(บันทึกโดย ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 1375, ท่านอัน-นซาอีย์ หะดีษที่ 1604, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 806, ท่านอิบนุมาญะฮ์ หะดีษที่ 1327, ท่านอิบนุอบีย์ชัยบะฮ์ ในหนังสือ "อัล-มุศ็อนนัฟ" เล่มที่ 2 หน้า 286, ท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ หะดีษที่ 2206, ท่านอัฏ-เฏาะหาวีย์ในหนังสือ "ชัรฺห์มะอานีย์ อัล-อาษารฺ" เล่มที่ 1 หน้า 349 และท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 494) ...
สายรายงานของหะดีษบทนี้ ถูกต้อง .. ดังคำกล่าวของท่านอัต-ติรฺมีซีย์และท่านอัล-อัลบานีย์ ...
จะเห็นได้ว่า ท่านอบูซัรฺ ซึ่งเป็นเศาะหาบะฮ์ท่านหนึ่งที่ร่วมละหมาดตะรอเวี๊ยะห์จนเสร็จสิ้นพร้อมท่านศาสดาในคืนนั้น มีความกระตือรือร้นที่จะได้รับผลบุญละหมาดเพิ่มอีก(เช่นเดียวกับพวกเราในสมัยนี้ แต่ต่างกันคือพวกท่านจะขออนุญาตต่อท่านศาสดาก่อน) จึงได้เสนอแนะ(หรือขออนุญาต) ต่อท่านศาสดาเพื่อจะทำละหมาดสุนัตต่อไปในครึ่งคืนที่เหลือ ...
ณ เวลาที่มีคำถามถูกเสนอมานั้น ตามหลักการจึงถือว่าเป็น وَقْتُ الْحَاجَةِ .. คือเวลาที่ "จำเป็นที่สุด" ที่ท่านศาสดาจะต้องเปิดเผยหลักการศาสนาให้เศาะหาบะฮ์ที่ถาม ได้รับทราบความจริงอย่างกระจ่างและชัดเจนที่สุดโดยไม่ปิดบังอำพรางว่า สิ่งที่ถูกถามนั้น ทำได้หรือทำไม่ได้ ...
การปิดบังอำพรางความจริงหรือ كِتْمِانٌ ถือเป็นการทุจริตในการเผยแพร่ศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับผู้เป็นรอซู้ลทุกท่าน ...
คำตอบของท่านศาสดาข้างต้น จึงเป็นการปฏิเสธไม่ให้ผู้ถามและขอร้อง - คือท่านอบูซัรฺ อัล-ฆิฟารีย์ ร.ฎ. - ทำละหมาดสุนัตใดๆอีกตามที่ขอ .. หลังจากที่ได้ "ละหมาดญะมาอะฮ์ตะรอเวี๊ยะฮ์และละหมาดวิเตรฺ" เสร็จสิ้นพร้อมอิหม่ามแล้ว ...
สมมุติถ้าผู้เป็น "มะอฺมูม" ยังสามารถละหมาดสุนัตใดๆได้หลังจากละหมาดญะมาอะฮ์ตะรอเวี๊ยะฮ์และละหมาดวิเตรฺเสร็จสิ้นพร้อมอิหม่ามแล้ว - ดังที่พวกเราบางคนกระทำกันอยู่ - ก็เท่ากับว่า การห้ามปรามของท่านศาสดาต่อการขออนุญาตทำละหมาดสุนัตเพิ่มเติมของท่านอบูซัรฺในคืนนั้น ถือเป็นการ "อธรรม" ต่อท่านอบูซัรฺ อัล-ฆิฟารีย์ ร.ฎ. และเป็นความบกพร่องอย่างร้ายแรงต่อการปฏิบัติหน้าที่รอซู้ลของท่าน ฐานขัดขวางมิให้เศาะหาบะฮ์กระทำ "สิ่งดี" ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมผลบุญของเขา - คือการละหมาด - ตามที่เขาขออนุญาตมา ......
กรณีผู้เป็น "มะอฺมูม" ซึ่งท่านศาสดาได้ปรามหรือห้ามละหมาดใดๆอีกหลังละหมาดญะมาอะฮ์ตะรอเวี๊ยะห์และวิเตรฺเสร็จสิ้นพร้อมอิหม่ามแล้วดังหะดีษของท่านอบูซัรฺข้างต้นนี้ ต่างกับกรณีผู้เป็น "อิหม่าม" ที่นำละหมาดตะรอเวี๊ยะห์แล้วในสถานที่หนึ่ง แล้วต่อมาก็ไปนำละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ในอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งกรณีอิหม่ามนี้อาจเป็นข้ออนุโลมได้ .. ดังการกระทำของท่านฏ็อลก์ บินอลีย์ เศาะหาบะฮ์อีกท่านหนึ่ง ที่ผมจะไม่ขอเล่ารายละเอียด ณ ที่นี้ เพราะจะเป็นการยืดเยื้อเกินไป ..
จากคำกล่าวของท่านศาสดาที่ว่า مَنْ قَامَ مَعَ اْلإِمَامِ ..... (ผู้ใดได้ยืนละหมาดพร้อมอิหม่าม .....) ก็บ่งชี้ความหมายชัดเจนแล้วว่า ผู้ที่ท่านศาสดาห้ามมิให้กระทำละหมาดสุนัตใดๆอีกดังหะดีษข้างต้นก็คือผู้เป็นมะอฺมูม มิใช่ผู้เป็นอิหม่าม! ...
หากมีผู้โต้แย้งว่า มีรายงานมาว่า เศาะหาบะฮ์และตาบิอีนบางท่านเคยละหมาดกิยามุ้ลลัยล์และละหมาดวิเตรฺแล้วตอนหัวค่ำ หลังจากนั้นพวกท่านก็ลุกขึ้นทำละหมาดตะฮัจญุดอีกในตอนดึก แสดงว่า สามารถทำละหมาดได้อีก เราจะให้คำตอบในเรื่องนี้อย่างไร ? ...
ผมก็ขอตอบว่า ตามที่มีรายงานมาว่า มีเศาะหาบะฮ์และตาบิอีนบางท่านเคยลุกขึ้นละหมาดตะฮัจญุดหลังจากได้ละหมาดกิยามุ้ลลัยล์และละหมาดวิเตรฺแล้วตอนหัวค่ำ ดังการบันทึกของท่านอิบนุนัศรฺ ในหนังสือ صَلَاةُ الْوِتْرِ และหนังสือ قِيَامُ اللَّيْلِ ของท่านนั้น .. ตามรูปการณ์แล้ว น่าจะเป็นการละหมาดกิยามุ้ลลัยล์ส่วนตัวที่บ้านในคืนธรรมดาทั่วไป หรือหากเป็นละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ในเดือนรอมะฎอน ก็เป็นการละหมาดส่วนตัว ไม่ใช่ละหมาดญะมาอะฮ์จนเสร็จพร้อมอิหม่าม เพราะไม่มีข้อความใดในรายงานเหล่านั้นที่ระบุว่า เป็นการละหมาดญะมาอะฮ์ตะรอเวี๊ยะฮ์และวิเตรฺจนเสร็จสิ้นพร้อมอิหม่ามแล้ว .. ดังหะดีษข้างต้นนี้ ..
รายงานเหล่านั้นจึงเป็นคนละกรณีกันกับคำถามข้างต้น ...
สรุปแล้ว ผมจึงไม่ขอสนับสนุนให้ "มะอฺมูม" ท่านใดที่ละหมาดญะมาอะฮ์ตะรอเวียะห์และวิเตรฺเสร็จพร้อมอิหม่ามที่มัสยิดแล้ว "ฝ่าฝืน" คำห้ามปรามของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ด้วยการกลับไปทำละหมาดกิยามุ้ลลัยล์หรือละหมาดตะฮัจญุดอะไรที่บ้านอีก
เพราะเราย่อมทราบดีแล้วว่า ผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งท่านศาสดาจะได้รับผลอย่างไร แต่ขอส่งเสริมให้ท่านเก็บเกี่ยวผลบุญเพิ่มเติมในส่วนกลางคืนที่เหลือของเดือนรอมะฎอนหลังจากละหมาดญะมาอะฮ์ตะรอเวี๊ยะห์และวิเตรฺพร้อมอิหม่ามแล้ว ด้วยการอ่านอัล-กุรฺอาน และซิกรุ้ลลอฮ์อื่นๆแทนการละหมาดครับ ...

วัลลอฮุ อะอฺลัม ....


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น