อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ชี้แจง .. บทวิภาษของ อ.อัชอะรีย์ต่อ อ.ปราโมทย์ (ตอนที่ 7)


ชี้แจงคำพูด อ.กอเซ็มที่ว่า ถ้าไม่มีหลักฐานห้ามคือทำได้***

โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย


(7). ชี้แจงคำพูด อ.กอเซ็มที่ว่า ถ้าไม่มีหลักฐานห้ามคือทำได้ และการแก้ต่างของ อ.อัชอะรีย์
7.1 อ.อัชอะรีย์กล่าวว่า ...
“อ.ปราโมทย์ท้วงติงหลักการที่ว่า “ไม่มีหลักฐานห้าม” เป็นทัศนะที่ผิดของ อ.กอเซ็ม ซึ่งความจริงแล้วคำพูดของ อ.กอเซ็มที่ว่า “ไม่มีหลักฐานห้าม” นั้น อ.ปราโมทย์ไม่เข้าใจคำพูดของ อ.กอ เซ็มเอง เนื่องจากเป้าหมายคำพูดของ อ.กอเซ็มก็คือ มีหลักฐานแบบกว้างๆ, หรือแบบครอบคลุม มาระบุรับรองไว้แล้ว (ผมขอกล่าวเสริมว่า) พร้อมกันนั้น ก็ไม่มีหลักฐานมาระบุจำกัดหรือเจาะจงห้าม และรูปแบบการกระทำต้องไม่ขัดกับหลักศาสนา” ...
ชี้แจง
ก่อนอื่น อยากจะขอถาม อ.อัชอะรีย์ว่า ได้รับฟังแผ่นซีดีคำบรรยายของ อ.กอเซ็ม (จนตลอด) แล้วหรือยัง ??? ...
แต่ไม่ว่า อ.อัชอะรีย์จะเคยได้รับฟังหรือไม่ได้รับฟัง ก็อย่ามาแก้แทนกันเสียให้ยาก เพราะผมยังยืนยันว่า คำพูด อ.กอเซ็มที่กล่าวย้ำอยู่หลายครั้งในลักษณะว่า “เมื่อไม่มีหลักฐานห้ามก็คือทำได้” ผมเข้าใจไม่ผิดหรอก ...
ต่อให้ไปถามผู้ที่เคยฟังแผ่นซีดีการบรรยายของ อ.กอเซ็มคนใดก็ตาม เชื่อว่าร้อยทั้งร้อย – หากไม่ลำเอียง -- ก็คงจะเข้าใจเหมือนที่ผมเข้าใจนั่นแหละ ...
เพราะฉะนั้น ตัวอย่างคำถามต่างๆที่ผมได้ถาม อ.กอเซ็มไป 6 ข้อนั้น เชื่อว่าไม่ผิดวัตถุประสงค์และไม่ออกนอกประเด็นแน่นอน ...
7.2 อ.อัชอะรีย์กล่าวอีกว่า ..
เป้าหมายคำพูด อ.กอเซ็มที่ว่าไม่มีหลักฐานห้าม หมายถึงสิ่งที่มีหลักฐานแบบกว้างๆหรือแบบครอบคลุมมารับรองไว้แล้ว, ..
และ อ.อัชอะรีย์ได้เสริมเอาเองอีกว่า .. พร้อมกันนั้นก็ไม่มีหลักฐานเจาะจงห้าม และการกระทำนั้น ไม่ขัดกับหลักศาสนา ...
ชี้แจง
สรุปคำกล่าว อ.อัชอะรีย์ตอนนี้ก็คือ เรื่องอิบาดะฮ์ใดก็ตาม แม้จะไม่มี “นัศ” หรือหลักฐานที่ชัดเจนในเรื่องนั้น แต่ก็สามารถจะปฏิบัติได้ทุกเรื่อง .. โดยมีเงื่อนไข 3 ประการคือ ...
1. มีหลักฐานกว้างๆรองรับไว้แล้ว ...
2. ไม่มีหลักฐานห้ามที่เจาะจงในเรื่องนั้น ...
3. ไม่ขัดกับหลักการศาสนา ...
ถ้าความหมายจากคำพูด อ.อัชอะรีย์เป็นอย่างที่ว่า ผมก็ขอเสนอแนะ อ.อัชอะรีย์เบาะๆสัก 3-4 ประการคือ ...
1. ในปีต่อไป อ.อัชอะรีย์ จงใช้ให้ใครสักคน “อะซาน” เพื่อเรียกผู้คนมาร่วมนมาซญะมาอะฮ์วันอีด หรือนมาซญะมาอะฮ์ตะรอเวี๊ยะห์ในเดือนรอมะฎอน เหมือนการอะซานก่อนนมาซฟัรฺฎูได้เลย เพราะ ...
ก. การอะซานเพื่อเรียกคนมานมาซญะมาอะฮ์ ไม่ว่านมาซอะไร .. มี “หลักฐานกว้างๆ” มารองรับ .. คือ โองการที่ 33 จากซูเราะฮ์ ฟุศศิลัต ที่ว่า ...
وَمَنْ أَحْسَنُ قَوْلاً مِمَّنْ دَعَا إِلَى اللهِ وَعَمِلَ صَالِحًا
“และใครเล่า จะดีเลิศในด้านคำพูด ยิ่งไปกว่าผู้ที่เรียกร้องเชิญชวนมาสู่อัลลอฮ์ และเขากระทำสิ่งที่ดี” ...
อ.อัชอะรีย์จะปฏิเสธหรือว่า “การอะซาน” เพื่อให้คนมานมาซญะมาอะฮ์วันอีดหรือนมาซตะรอเวี๊ยะห์นั้น มิใช่เป็นคำพูดที่ดีเลิศ,.. มิใช่เป็นการเรียกร้องเชิญชวนมาสู่อัลลอฮ์ และมิใช่เป็นการกระทำที่ดี ??? ...
นอกจากโองการดังกล่าวแล้ว ยังมีหลักฐานเสริม คือการ “กิยาส” การนมาซญะมาอะฮ์วันอีดหรือนมาซตะรอเวี๊ยะห์กับการอะซานนมาซฟัรฺฎูได้ เพราะมี “จุดเหมือน” คือ เป็น “นมาซ” เหมือนกัน, .. และมีการ “ญะมาอะฮ์” เหมือนกันด้วย ...
ข. การอะซานเพื่อเรียกร้องคนมานมาซวันอีดหรือนมาซตะรอเวี๊ยะห์ ไม่มีหลักฐานเจาะจงห้าม ...
หรือ อ.อัชอะรีย์เคยเจอหลักฐานเจาะจงห้ามอะซานเพื่อนมาซอีดและนมาซตะรอเวี๊ยะห์ ??? ...
ค. การอะซานเพื่อเรียกร้องคนมานมาซวันอีดหรือนมาซตะรอเวี๊ยะห์ ไม่ขัดกับหลักการศาสนาตรงไหนเลย ?? ...
หรือ อ.อัชอะรีย์จะบอกว่า การ “อะซาน” เพื่อเรียกร้องคนมานมาซ ขัดกับหลักการศาสนา ? ...
2. และในปีต่อๆไป อ.อัชอะรีย์ก็ควรจะเรียกเก็บซะกาตส้มโอ ทุเรียน, มังคุด, มะม่วง, ทุเรียน, ลองกอง เป็นต้น เสียด้วย เพราะ ...
ก. การเก็บซะกาตผลไม้อันเป็นสิ่งเพาะปลูกดังกล่าวมี “หลักฐานกว้างๆ” มารองรับ นั่นคือโองการที่ 267 จากซูเราะฮ์อัล-บะกอเราะฮ์ที่ว่า ...
يَاأَيُّهَاالَّذِيْنَ آمَنُوْا أَنْفِقُوْا مِنْ طَيِّبَاتِ مَا كَسَبْتُمْ وَمِمَّا أَخْرَجْنَا لَكُمْ مِنَ اْلأَرْضِ
“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย, พวกเจ้าจงบริจาคส่วนหนึ่งจากสิ่งดีทั้งหลายที่พวกเจ้าขวนขวายได้ และจากสิ่งซึ่งเราได้ให้มันออกมาจากพื้นดิน” ...
คำว่า “พวกเจ้าจงบริจาค” ในโองการบทนี้ ท่านอิบนุญะรีรฺ อัฏ-ฏ็อบรีย์ ได้รายงานในหนังสือตัฟซีรฺ “ญามิอุ้ลบะยาน” เล่มที่ 3 หน้า 81 จากท่านอะลีย์ ร.ฎ. และท่านอัช-เชากานีย์ ได้รายงานมาจากชาวสะลัฟกลุ่มหนึ่งในหนังสือตัฟซีรฺ “ฟัตหุ้ลเกาะดีรฺ” เล่มที่ 1 หน้า 436-437 ว่า หมายถึงการบริจาคที่เป็นฟัรฺฎูหรือซะกาต ...
และคำว่า “สิ่งที่เราได้ให้มันออก(งอกเงย)มาจากพื้นดิน” นั้น มิได้มีความหมายเฉพาะอินทผลัม, องุ่น, ข้าวสาลี, ข้าวบาร์เล่ย์หรือแร่ทองคำและเงินเท่านั้น แต่มีความหมายครอบคลุมผลไม้ทุกชนิดด้วย ...
ข. ไม่มี “หลักฐานเจาะจง” ห้ามเก็บซะกาตจากผลไม้เหล่านี้ ...
ค. การเก็บซะกาตจากผลไม้เหล่านี้ไม่ขัดแย้งกับหลักการศาสนา ...
3. เวลามีคนตาย อ.อัชอะรีย์ก็ไม่ควรจะกำหนดไปทำการซิกรุ้ลลอฮ์กันที่กุบูรฺอย่างเดียว แต่ควรจัดให้มีขบวนแห่ แล้วให้อ่านซิกรุ้ลลอฮ์หรืออ่านอัล-กุรฺอ่านดังๆ นำหน้ามัยยิตไปกุบูรฺ ด้วย เพราะตรงตามเงื่อนไข 3 ประการของ อ.อัชอะรีย์ทุกอย่าง ...
และ.. ดูเหมือน อ.อัชอะรีย์จะส่งเสริมให้มีการซิกรุ้ลลอฮ์ได้โดยไม่จำกัด “สถานที่และเวลา” ในบทวิภาษผมตอนหนึ่งด้วยมิใช่หรือ ? ...
เพราะฉะนั้น ให้มีขบวนแห่แล้วทำการซิกรุ้ลลอฮ์ดังๆนำหน้ามัยยิตไปกุบูรนี่แหละ ผมว่าเหมาะนัก .. หรือ อ.อัชอะรีย์จะว่ายังไง ??? ...
4. และต่อไปนี้ อ.อัชอะรีย์ก็ไม่ควรให้บ้านผู้ตายเป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงอาหารอีกต่อไป เพราะแม้จะถือว่า มีหลักฐานกว้างๆเรื่องส่งเสริมให้เลี้ยงอาหาร และไม่มีหลักฐานห้ามเจาะจงก็จริง ...
แต่ก็ยังขาดเงื่อนไขข้อที่ 3 ...
นั่นคือ การให้ครอบครัวผู้ตายเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารนั้น “ขัดแย้ง” กับหลักการศาสนาที่ท่านนบีย์ “สั่ง” ให้บ้านใกล้เรือนเคียง เลี้ยงอาหารแก่ครอบครัวผู้ตาย ...
หรือ อ.อัชอะรีย์จะถือว่า “การที่เราเลี้ยงอาหารแก่ครอบครัวผู้ตาย” ตามคำสั่งท่านนบีย์ กับ “การให้ครอบครัวผู้ตายเลี้ยงอาหารเรา” ตามการส่งเสริมของ อ.อัชอะรีย์นั้น ไม่ขัดแย้งกัน ...
7.3 อ.อัชอะรีย์กล่าวว่า ...
“ดังนั้น เราจะไปละหมาดวันศุกร์ 10 โมงเช้าโดยอ้างหลักฐานว่า “ไม่มีหลักฐานห้าม” นั้นไม่ได้ เพราะมันไปขัดกับหลักการเดิมที่ระบุให้ละหมาดวันศุกร์ในเวลาซุฮ์ริ, การอุทิศผลบุญให้แก่คนกาเฟรฺนั้นไม่ได้ เพราะไปขัดกับหลักการขอดุอาต่ออัลลอฮ์ให้ทรงฮะดียะฮ์ผลบุญ(ที่อยู่ในความหมายว่าเราะห์มะฮ์และการอภัยโทษของอัลลอฮ์)แก่มัยยิตนั้น ต้องให้แก่บรรดามุสลิมเท่านั้น ฯลฯ” ...
ชี้แจง
ผมเองก็เห็นสอดคล้องกับ อ.อัชอะรีย์นั่นแหละครับว่า การนมาซวันศุกร์ในเวลา 10 โมงเช้าทำไม่ได้, การอุทิศผลบุญให้กาฟิรฺทำไม่ได้, และการจ่ายซะกาตให้กาฟิรฺก็ไม่ได้ เพราะขัดต่อบทบัญญัติและซุนนะฮ์ ...
แต่รูปการณ์ตามคำกล่าวและทัศนะของ อ.กอเซ็มถือว่าทำได้ เพราะท่านอ้างทุกเรื่องในการบรรยายว่าสิ่งใดไม่มีหลักฐานห้ามก็ทำได้ .. ซึ่งการอ้างดังกล่าว ให้ อ.อัชอะรีย์ลองไปฟังซีดีการบรรยายของ อ.กอเซ็มเอง หรือจะถามทุกคนที่ไม่มีใจลำเอียงและเคยฟังการบรรยายนั้นดูเถิดว่า มีตอนใดบ้างที่จะทำให้เข้าใจเหมือนอย่างที่ อ.อัชอะรีย์พยายามแก้แทนให้ ...
ดังนั้น คำถามข้างต้นของผมก็เพื่อจะขอ “หลักฐาน” ห้ามนมาซวันศุกร์ 10 โมงเช้า, ห้ามอุทิศผลบุญให้กาฟิรฺ, ห้ามจ่ายซะกาตให้กาฟิรฺ เป็นต้น ว่ามีอยู่ในตำราหะดีษเล่มใด หรือ ณ ที่ใดบ้าง ...
ถ้าไม่มีหลักฐานห้าม แสดงว่า สิ่งเหล่านี้ “ย่อมทำได้” ตามทัศนะของ อ.กอเซ็ม
เพราะฉะนั้น หน้าที่ของ อ.อัชอะรีย์ในกรณีนี้ก็คือ ให้นำ “หลักฐานห้าม” ในเรื่องเหล่านี้ (ถ้ามี) มาแสดงแทน อ.กอเซ็ม ..ไม่ใช่พยายามกลบเกลื่อนและ “ตะอ์วีล” แบบอ้างเงื่อนไขเอาเองเพื่อปกป้อง อ.กอเซ็มที่กล่าวย้ำแทบทุกเรื่องว่า “เรื่องอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺมีหลักฐานห้ามหรือไม่ ?, การกินเลี้ยงบ้านผู้ตายมีหลักฐานห้ามหรือไม่ ?” เป็นต้น ให้ผิดแผกไปจากความเป็นจริงที่ผู้ฟังทุกท่านเข้าใจตรงกันอย่างนี้ ...
(8). ชี้แจงเรื่องสิ่งที่ท่านนบีย์ละทิ้งมิได้หมายความว่าจะต้องละทิ้งตาม
อ.อัชอะรีย์กล่าวว่า ...
“ดังนั้น สิ่งใดที่ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมได้นำมาหรือสั่งใช้ ไม่ว่าจะสั่งใช้แบบเฉพาะหรือแบบกว้างๆ ก็จงกระทำให้สุดเท่าที่เรามีความสามารถ แต่สิ่งใดที่ท่านรอซู้ลได้ห้ามไว้รือขัดแย้งกับหลักการของศาสนาก็จงห่างไกล มิใช่หมายความว่าสิ่งที่นบีย์ทิ้งไม่ได้กระทำแล้วห่างไกล เพราะซุนนะฮ์ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม มิได้หมายถึงแค่การกระทำของท่านนบีย์เพียงแค่นั้น แต่รวมถึงคำพูดของท่านในรูปแบบเฉพาะเจาะจงและคำพูดของท่านนบีย์ในรูปแบบกว้างๆด้วยเช่นกัน” ...
ชี้แจง
คำกล่าวของ อ.อัชอะรีย์ที่ว่า .. “ซุนนะฮ์ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม มิได้หมายถึงแค่การกระทำของท่าน แต่หมายถึงสิ่งที่เป็นคำพูดของท่านด้วย” ถือเป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง ...
แต่คำพูดที่ว่า .. “มิใช่หมายความว่า สิ่งที่ท่านนบีย์ทิ้งมิได้กระทำแล้ว ให้ห่างไกลด้วย” .. แสดงว่า อ.อัชอะรีย์ยังไม่เข้าใจคำว่า “ซุนนะฮ์” ตามความหมายของนักวิชาการจริงๆ ...
ก่อนอื่น ผมขออธิบายว่า .. สิ่งที่ท่านนบีย์ “ไม่ได้กระทำ” นั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ...
1. เพราะสิ่งนั้นไม่เคยปรากฏในสมัยของท่าน, .. หรือปรากฏมีแล้วแต่ไม่มีประเด็นส่งเสริมให้ทำ, หรือมีประเด็นส่งเสริมให้ทำแล้ว แต่ก็มีอุปสรรคขัดขวางท่านจากกระทำสิ่งนั้น ...
คำพูดของอ.อัชอะรีย์ที่ว่า “การที่ท่านนบีย์ไม่กระทำสิ่งใดก็มิได้หมายความว่าจะห้ามเราไม่ให้กระทำสิ่งนั้นด้วย” จึงหมายถึง “สิ่งที่ท่านนบีย์มิได้กระทำ” ตามนัยข้อนี้ ...
ตัวอย่างในกรณีนี้มีหลายประการ แต่ผมจะไม่ขอนำมากล่าว ณ ที่นี้ เพราะอาจจะทำให้ข้อเขียนนี้ยืดเยื้อเกินไป ...
2. สิ่งที่ท่านนบีย์ละทิ้งหรือไม่กระทำนั้น เคยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วในขณะท่านยังมีชีวิตอยู่ แต่ท่านไม่กระทำ ทั้งๆที่มีประเด็นส่งเสริมให้กระทำและไม่มีอุปสรรคใดๆ ...
ข้อนี้ นักวิชาการอุศู้ลฯ เห็นพ้องกันว่า การละทิ้งหรือไม่กระทำสิ่งนั้น ถือเป็น “ซุนนะฮ์” ด้วยเช่นเดียวกัน ...
ซุนนะฮ์จึงมี 2 ลักษณะคือ ซุนนะฮ์ในด้าน “กระทำตาม” ในสิ่งที่ท่านนบีย์ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมกระทำ (เรียกว่า سُنَّةٌ فِعْلِيَّةٌ) .. และซุนนะฮ์ในด้าน “ละทิ้งตาม” ในสิ่งที่ท่านนบีย์ ละทิ้ง (เรียกว่า سُنَّةٌ تَرْكِيَّةٌ) ...
ท่านอัช-เชากานีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “อิรฺชาด อัล-ฟุหูล” อันเป็นหนังสือวิชาอุศูลุลฟิกฮ์ของท่าน หน้า 42 ว่า ...
تَرْكُهُ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لِلشَّىْءِ كَفِعْلِهِ لَهُ فِى التَّأَسِّىْ بِهْ فَيْهِ، قَالَ ابْنُ السَّمْعَانِىُّ : إِذَا تَرَكَ الرَّسُوْلُ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ شَيْئًا وَجَبَ عَلَيْنَا مُتَابَعَتُهُ فِيْهِ ....
“การ “ละทิ้ง” ของท่านรอซู้ลฯ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมต่อสิ่งใด ก็เหมือนกับการ “กระทำ” ของท่านต่อสิ่งนั้น .. ในแง่ที่เป็นแบบอย่างให้ปฏิบัติตาม .. ท่านอิบนุ อัซ-ซัมอานีย์กล่าวว่า .. เมื่อท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมได้ละทิ้งสิ่งใด วาญิบต่อพวกเราจะต้องปฏิบัติตามท่านใน(การละทิ้ง)สิ่งนั้นด้วย” ...
ท่านเช็คอะลีญ์ มะห์ฟูศ ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-อิบดาอ์ฯ” หน้า 34-35 ว่า ...
وَكَمَا لاَ تَتَقّرَّبُ إِلَى اللهِ تَعَالَى بِتَرْكِ مَا فَعَلَ لاَ تَتَقَرَّبُ إِلَيْهِ بِفِعْلِ مَا تَرَكَ، فَلاَ فَرْقَ بَيْنَ الْفَاعِلِ لِمَا تَرَكَ وَالتَّارِكِ لِمَا فَعَلَ ...
“และการที่ท่านไม่สามารถทำตัวให้ใกล้ชิดพระองค์อัลลอฮ์ได้ด้วยการ “ละทิ้งสิ่งที่ท่านศาสดาปฏิบัติ” ฉันใด มันก็เหมือนกับการที่ท่านไม่สามารถทำตัวให้ใกล้ชิดพระองค์อัลลอฮ์ด้วยการ “ปฏิบัติสิ่งที่ท่านศาสดาละทิ้ง” ฉันนั้น .. ดังนั้น จึงไม่มีข้อแตกต่างอันใดในระหว่างผู้ปฏิบัติในสิ่งที่ท่านศาสดาละทิ้ง กับผู้ที่ละทิ้งในสิ่งที่ท่านศาสดาปฏิบัติ” ...
ท่านเช็คอะลีย์ มะห์ฟูศ ได้กล่าวในหนังสือดังกล่าว หน้า 38 อีกว่า ...
فَإِنَّ تَرْكَهُ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ سُنَّةٌ كَمَا أَنَّ فِعْلَهُ سُنَّةٌ! فَإِذَااسْتَحْبَبْنَا فِعْلَ مَا تَرَكَ كَانَ نَظِيْرَاسْتِحْبَابِنَا تَرْكَ مَا فَعَلَ، وَلاَ فَرْقَ ...
“แน่นอน การละทิ้ง(ไม่กระทำ) ของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม คือซุนนะฮ์, เหมือนอย่างการกระทำของท่านก็คือซุนนะฮ์! .. เมื่อเราถือว่า “การกระทำ” ในสิ่งที่ท่านละทิ้งเป็นเรื่องที่ชอบ ก็อุปมาเหมือนอย่างเราถือว่า “การละทิ้ง” ในสิ่งที่ท่านกระทำก็เป็นเรื่องที่ชอบเช่นเดียวกัน .. ไม่มีข้อแตกต่างกันเลย” ...
ท่านอัล-ก็อซฏ็อลลานีย์ นักวิชาการฟิกฮ์มัษฮับชาฟิอีย์อีกท่านหนึ่ง ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-มะวาฮิบฯ” ของท่านว่า ...
تَرْكُهُ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ سُنَّةٌ كَمَا أَنَّ فِعْلَهُ سُنَّةٌ، فَلَيْسَ لَنَا أَنْ نُسَوِّىَ بَيْنَ فِعْلِهِ وَتَرْكِهِ، فَنَأْتِىْ مِنَ الْقَوْلِ فِى الْمَوْضِعِ الَّذِىْ تَرَكَهُ بِنَظِيْرِمَا أُتِىَ بِهِ فِى الْمَوْضِعِ الَّذِىْ فَعَلَهُ
“การละทิ้ง (สิ่งใด) ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ถือเป็นซุนนะฮ์ เสมือนกับการกระทำของท่านก็เป็นซุนนะฮ์, จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะให้เสมอเหมือนกันในระหว่างการกระทำและการละทิ้งของท่าน (หมายความว่า ความเข้าใจที่ว่า ..ไม่ว่าท่านนบีย์จะทำสิ่งใดหรือละทิ้งสิ่งใดย่อมเสมอเหมือนกัน คือเรา “ทำ” ได้ทั้งหมด .. เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง) .. ดังนั้น เราจะต้องกล่าวในสิ่งที่ท่านนบีย์ทิ้งให้เหมือนกับที่เรากล่าวในสิ่งที่ท่านนบีย์ทำ” ...
(จากหนังสือ “อัล-อิบดาอ์ฯ” หน้า 38) ...
คำว่า “สิ่งที่ท่านศาสดาละทิ้งหรือไม่กระทำ” แล้ว “ซุนนะฮ์ให้เราละทิ้งตาม” ในที่นี้ หมายถึง .. “สิ่งนั้นหรือเหตุการณ์นั้นเคยเกิดขึ้นแล้วในสมัยของท่าน, มีเหตุผลส่งเสริมให้ทำ และไม่มีอุปสรรคใดๆขัดขวางจากการกระทำ แต่ท่านก็ไม่ยอมทำมัน” .. ดังที่นักวิชาการวิชาอุศูลลุลฟิกฮ์ทั้งหลายได้กำหนดกรอบเอาไว้ ...
เมื่อเรามาพิจารณาดูเรื่องการอ่านอัล-กุรฺอ่านเพื่ออุทิศผลบุญให้ผู้ตาย – ไม่ว่าที่กุบูรฺหรือที่บ้าน -- จะเห็นได้ว่า มันจัดอยู่ในหลักเกณฑ์ของ “ซุนนะฮ์ที่ต้องละทิ้งตาม”ทุกประการ เพราะ ...
1. เหตุการณ์เรื่องการตาย เคยเกิดมีมาแล้วในสมัยของท่านศาสดา แถมผู้ที่ตายส่วนมากคือเศาะหาบะฮ์ของท่านด้วย ...
2. มีเหตุผลส่งเสริมให้ทำ .. คือ เพื่อเป็นการอุทิศผลบุญการอ่านให้ผู้ตาย ...
3. ไม่มีอุปสรรคใดๆที่จะขัดขวางท่านจากการอ่านอัล-กุรฺอ่านเพื่ออุทิศผลบุญให้แก่ผู้ตายเหล่านั้น ...
แต่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมก็ไม่เคยอ่านอัล-กุรฺอ่านเพื่ออุทิศผลบุญให้แก่เศาะหาบะฮ์ที่ตายเลยแม้แต่คนเดียว ไม่ว่าที่กุบูรฺหรือที่บ้าน ...
จึงอยากให้ อ.อัชอะรีย์ลองไปเปิดดูคำถามที่ผมเขียนถามไว้รวม 9 ข้อในบทสรุปการวิภาษคำบรรยายของ อ.กอเซ็มอีกครั้ง แล้วลองให้คำตอบดู ...
เพราะบางที อ.อัชอะรีย์อาจจะเจอคำถามข้อใดที่พอจะอ้างได้ว่า เป็น “อุปสรรค” จนทำให้ท่านนบีย์ไม่สามารถอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺได้ ...
หรือมิฉะนั้น อ.อัชอะรีย์ก็อาจจะเกิด “ดวงตาเห็นธรรม” จนพอจะแยกแยะออกว่า ในเรื่องนี้ อะไรคือ “ซุนนะฮ์” และอะไรที่ “มิใช่ซุนนะฮ์” ...



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น