อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ชี้แจง .. บทวิภาษของ อ.อัชอะรีย์ต่อ อ.ปราโมทย์ (ตอนที่ 4)



ชี้แจงเรื่อง ห้ามนมาซในกุบูรฺ

โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

(4). ชี้แจงเรื่อง ห้ามนมาซในกุบูรฺ ... 
4.1 อ.อัชอะรีย์กล่าวว่า ... 
“อ.ปราโมทย์กล่าวว่า กุบูรฺไม่ใช่เป็นสถานที่ทำอิบาดะฮ์ ด้วยการอ้างคำกล่าวของท่านอัลฮาฟิซ อิบนุหะญัรฺ อัลอัสกอลานีย์ที่อธิบายหะดีษที่ว่า “และพวกท่านจงอย่าทำมัน(บ้าน)ให้เป็นกุบูร) .. ว่า แท้จริงกุบูรฺนั้นมิใช่เป็นสถานที่สำหรับทำอิบาดะฮ์ ดังนั้นการนมาซในกุบูรฺจึงเป็นเรื่องน่ารังเกียจ” .. และ ..
(อ.ปราโมทย์)ยังสรุปเอาเองว่า มักโระฮ์ที่ว่านี้ คือมักโระฮ์แบบฮะรอม ตามที่ทราบกันดีจากนักปราชญ์ยุคแรก .....”
แล้ว อ.อัชอะรีย์ก็เริ่มการวิภาษข้อความข้างต้นด้วยการกล่าวว่า ...
“1.1 สำนวนของหะดีษนั้น มิได้ห้ามทำการละหมาดที่กุบูรฺ ......”
ชี้แจง
ก. คำกล่าวของท่านอิบนุหะญัรฺที่ว่า .. “แท้จริงกุบูรฺนั้นมิใช่เป็นสถานที่สำหรับทำอิบาดะฮ์ ดังนั้นการนมาซในกุบูรฺจึงเป็นเรื่องน่ารังเกียจ(มักโระฮ์)” .. นั้น อ.อัชอะรีย์แน่ใจหรือว่า ผมคือคนแรกที่ “สรุปเอาเอง” ว่า มักโระฮ์ที่ว่านี้คือมักโระฮ์แบบหะรอม ?? 
ขอแนะนำว่า ก่อนที่จะกล่าวหาใครง่ายๆ อ.อัชอะรีย์ก็น่าจะตรวจสอบข้อมูลให้ถ่องแท้เสียก่อนจะดีกว่า ...
เพราะข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ก็คือ มีนักวิชาการหะดีษระดับแนวหน้าในอดีตหลาย ท่านที่เคยกล่าวอย่างชัดเจนว่า มักรูฮ์นมาซในกุบูรฺในที่นี้คือมักรูฮ์แบบหะรอม .. และบางท่านก็อธิบายข้อความที่ว่า .. “แท้จริงกุบูรฺนั้นมิใช่เป็นสถานที่สำหรับทำอิบาดะฮ์” ..ในลักษณะเดียวกันกับคำอธิบายของผม คือ ไม่อนุญาต(หะรอม)ให้นมาซในกุบูรฺ! ...
นักวิชาการท่านแรกที่ขออ้างถึง คือท่านอัน-มุนาวีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 1031) ได้กล่าวอธิบายหะดีษจากการรายงานของท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.ที่ว่า .. “พวกท่านอย่านมาซโดยหันไปทางกุบูรฺ และพวกท่านอย่านมาซบนกุบูรฺ” อันเป็นหะดีษที่ 9814 จากหนังสือ “อัล-ญาเมียะอฺ อัศ-เศาะฆีรฺ” ของท่านอัส-สะยูฏีย์ .. โดยท่านอัน-มุนาวีย์อธิบายว่า ...
وَيُؤْخَذُ مِنَ الْحَدِيْثِ النَّهْىُ عَنِ الصَّلاَةِ فِىْ الْمَقْبُرَةِ، فَهِىَ مَكْرُوْهَةٌ كَرَاهَةَ تَحْرِيْمٍ!
“สิ่งที่ได้รับจากหะดีษนี้ก็คือ ห้ามนมาซในสุสาน! ซึ่งมัน(การนมาซในสุสาน) เป็นเรื่องมักรูฮ์แบบต้องห้าม (หะรอม)” ...
(ดูหนังสือ “ฟัยฎุลกอดีรฺ” ของท่านอัล-มุนาวีย์ เล่มที่ 6 หน้า 407) ...
แม้สายรายงานของหะดีษข้างต้นนี้จะเฎาะอีฟ แต่ข้อความของหะดีษนี้ก็ถือว่าเศาะเหี๊ยะฮ์ เพราะมีการรายงานที่สอดคล้อง (مُتَابِعٌ) มาจากกระแสอื่น (ดูหนังสือ “อัศเศาะหี้หะฮ์” ของท่านอัล-อัลบานีย์ หะดีษที่ 1016) และยังได้รับการยืนยัน (شَاهِدٌ) จากการรายงานของท่านอบูสะอิด อัล-คุดรีย์ ดังจะถึงต่อไป ...
อ.อัชอะรีย์จะแก้ตัวอย่างไรอีก ? ...
ส่วนนักวิชาการท่านหลังก็คือ ท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 388) ...
ท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “มะอาลิม อัส-สุนัน” เล่มที่ 1 หน้า 127 ว่า ...
وَاحْتَجَّ بَعْضُ مَنْ لَمْ يُجِزِالصَّلاَةَ فِى الْمَقْبُرَةِ وَإِنْ كَانَتْ طَاهِرَةَ التِّرْبَةِ بِقَوْلِ رَسُوْلِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : صَلُّوْا فِىْ بُيُوْتِكُمْ، وَلاَ تَتَّخِذُوْهَا مَقَابِرَ! .. قَاَل : فَدَلَّ ذَلِكَ عَلَى أَنَّ الْمَقْبُرَةَ لَيْسَتْ بِمَحَلِّ الصَّلاَةِ. 
“นักวิชาการบางท่านที่ “ไม่อนุญาต” ให้นมาซในสุสานแม้ว่าดินของมันจะสะอาดก็ตาม ได้อ้างหลักฐานด้วยคำพูดของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมที่ว่า .. “พวกท่านจงนมาซในบ้านของพวกท่าน และจงอย่าทำมัน(บ้าน)ให้เป็นกุบูรฺ” .. เขากล่าวว่า .. “หะดีษนี้แสดงว่า สุสานนั้น มิใช่เป็นสถานที่สำหรับนมาซ” ...
จะเห็นได้ว่า จากคำกล่าวนักวิชาการบางท่านในยุคก่อนที่ว่า “สุสานนั้นมิใช่เป็นสถานที่สำหรับนมาซ” ...
ท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ได้อธิบายว่า ความหมายของนักวิชาการต่อคำพูดดังกล่าวก็คือ “ไม่อนุญาต” ให้นมาซในสุสาน .. ซึ่งก็ตรงกันกับคำอธิบายของผม ...
เพราะคำว่า لَمْ يُجِزْ (เขาไม่อนุญาตให้) อันเป็นสำนวนที่ท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ใช้ข้างต้น (และคำว่า لاَيَجُوْزُ :ไม่เป็นที่อนุญาต), และคำว่า يَحْرُمُ (หะรอม) .. ทั้ง 3 คำนี้ไม่ว่านักวิชาการฟิกฮ์จะเลือกใช้สำนวนไหน แต่ความหมายของมันมีอย่างเดียวกันคือ “ทำไม่ได้” หรือ “ห้ามทำ” (หะรอม) ทั้งสิ้น ...
ดังนั้น คำพูดของท่านอิบนุหะญัรฺตอนหลังที่ว่า “ดังนั้นการนมาซในกุบูรฺจึงเป็นเรื่องมักรูฮ์” .. ความหมายของคำนี้ -- ตามการอธิบายของท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ -- ก็คือ คำว่ามักรูอ์ในที่นี้ เป็นเรื่อง “ไม่อนุญาต” หรือ “หะรอม” นั่นเอง ...
แล้วอย่างนี้ อ.อัชอะรีย์ลองตอบมาซิครับว่า คำว่า “มักโระฮ์” จากคำพูดของท่านอิบนุหะญัรฺที่ผมอธิบายว่าหมายถึง “หะรอม” นั้น ผมสรุปเอาเอง หรือท่านอัล-มุนาวีย์และท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ เคย “เข้าใจ” อย่างนี้มาก่อนผม ??? ...
ข. และสำหรับคำพูดของผมที่ว่า .. “ความหมายของคำว่า مَكْرُوْهَةٌ (น่ารังเกียจ) หมายถึง كَرَاهَةٌ تَحْرِيْمِيَّةٌ .. คือเป็นเรื่องต้องห้ามหรือหะรอม อันเป็นสำนวนของนักวิชาการในยุคแรก” .. นั้น ...
ความเข้าใจดังกล่าวนี้มิใช้ผมเสกสรรขึ้นมาเอง แต่เป็นคำอธิบายและความเข้าใจของนักวิชาการหลายท่าน ซึ่งนอกจากท่านอัล-มุนาวีย์และท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ดังข้างต้นแล้ว ท่านอัลลามะฮ์ อัล-บัรฺกูวีย์ ก็ได้กล่าวในหนังสือ “جلاء القلوب” อันเป็นการอธิบายความหมายจากคำพูดของนักวิชาการ (ทั้ง 4 มัษฮับ) ที่กล่าวพ้องกันว่า การที่บ้านผู้ตายจัดเลี้ยงอาหารนั้น เป็น “บิดอะฮ์ที่มักรูฮ์” .. ซึ่งท่านอัลลามะฮ์ อัล-บัรฺกูวีย์อธิบายว่า ...
ثُمَّ إِنَّ الظَّاهِرَ أَنَّ الْكَرَاهَةَ تَحْرِيْمِيَّةٌ! إِذِ اْلأَصْلُ فِىْ هَذَاالْبَابِ خَبَرُجَرِيْرٍ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ، وَالنِّيَاحَةُ حَرَامٌ، وَالْمَعْدُوْدُ مِنَ الْحَرَامِ حَرَامٌ، وَأَيْضًا إِذَا أُطْلِقَ الْكَرَاهَةُ يُرَادُ مِنْهَا التَّحْرِيْمِيَّةُ
“ประการต่อมา โดยรูปการณ์แล้ว คำว่า مَكْرُوْهَةٌ (น่ารังเกียจ) จากคำกล่าวของนักวิชาการข้างต้นนั้น หมายถึง “เป็นเรื่องหะรอม” (ต้องห้าม) .. ทั้งนี้เพราะพื้นฐานของเรื่องนี้ (การไปชุมนุมกินกันที่บ้านผู้ตายเป็น مَكْرُوْهَةٌ) ได้แก่หะดีษของท่านญะรีรฺ ร.ฎ.(ที่ว่า .. “พวกเรา(เศาะหาบะฮ์) นับว่า การไปชุมนุมกันที่บ้านผู้ตายและมีการปรุงอาหารเลี้ยงกันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของนิยาหะฮ์”) .. และการนิยาหะฮ์นั้นเป็นเรื่องหะรอม, ดังนั้นสิ่งที่ถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของนิยาหะฮ์ ก็ต้องหะรอมเช่นเดียวกัน .. และอีกอย่างหนึ่งก็คือ คำว่า مَكْرُوْهَةٌ นี้เมื่อถูกกล่าวโดยปราศจากข้อแม้ใดๆแล้ว ความหมายของมันก็คือ หะรอม” ...
(จากหนังสือ “กัชฟุช ชุบฮาต” ของท่านมะห์มูด หะซันรอเบียะอฺหน้า 193) ...
ท่านอิบนุ้ลก็อยยิม อัล-ญูซียะฮ์ ได้อธิบายคำกล่าวของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์จากหนังสือ “อัล-อุมม์” ที่ว่า .. เป็นเรื่องมักรูฮ์ที่บิดาจะนิกาห์กับบุตรสาวที่เกิดจากการซินาของตนเอง .. โดยท่านอิบนุ้ลก้อยยิมอธิบายว่า ...
" نَصَّ الشَّافِعِىُّ عَلَىكَرَاهَةِ تَزَوُّجِ الرَّجُلِ بِنْتَهُ مِنْ مَاءِ الزِّنَى، وَلَمْ يَقُلْ قَطُّ إنَّهُ مُبَاحٌ وَلاَ جَائِزٌ، وَالَّذِىْ يَلِيْقُ بِجَلاَلَتِهِ وَإِمَامَتِهِ وَمَنْصَبِهِ الَّذِىْ أَحَلَّ اللهُ بِهِ مِنَ الدِّيْنِ أَنَّ هَذِهِ الْكَرَاهَةَ مِنْهُ عَلَى وَجْهِ التَّحْرِيْمِ! وَأَطْلَقَ لَفْظَ الْكَرَاهَةِ ِلأَنَّ الْحَرَامَ يَكْرَهُهُ اللهُ وَرَسُوْلُهُ... فَالسَّلَفُ كَانُوْا يَسْتَعْمِلُوْنَ الْكَرَاهَةَ فِىْ مَعْنَاهَا الَّتىِ أسْتُعْمِلَتْ فِيْهِ فِىْ كَلاَمِ اللهِ وَرَسُوْلِهِ، وَلَكِنَّ الْمُتَأَخِّرِيْنَ إصْطَلَحُوْا عَلَى تَخْصِيْصِ الْكَرَاهَةِ بِمَا لَيْسَ بِمُحَرَّمٍ وَتَرْكُهُ أَرْجَحُ مِنْ فِعْلِهِ" 
“ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า มักรูฮ์ที่ผู้ชายจะนิกาห์กับบุตรสาวที่เกิดจากการซินาของตนเอง .. ท่านไม่ได้กล่าวเลยว่า มัน(การนิกาห์ระหว่างพ่อลูกคู่นั้น) เป็นสิ่งถูกผ่อนผันให้และเป็นที่อนุญาต, .. ซึ่งสิ่งที่เหมาะสมกับความยิ่งใหญ่และความเป็นอิหม่ามของท่าน และตำแหน่งที่พระองค์อัลลอฮ์มอบให้แก่ท่านในเรื่องศาสนาก็คือ ความน่ารังเกียจ (มักรูฮ์ .. จากคำกล่าวของท่าน)นี้ หมายถึงหะรอม, และท่านได้ใช้คำว่า “มักรูฮ์”(น่ารังเกียจ) โดยไม่มีเงื่อนไข ก็เพราะสิ่งที่หะรอมก็คือสิ่งที่พระองค์อัลลอฮ์และรอซู้ลของพระองค์รังเกียจ .......... บรรดาชาวสะลัฟนั้น พวกเขาจะใช้คำว่ามักรูฮ์ (น่ารังเกียจ) กับความหมายซึ่งมีใช้ในคำพูดของอัลลอฮ์(ในอัล-กุรฺอ่าน) และรอซู้ล (ในหะดีษ ซึ่งมีความหมายว่าหะรอม) .. แต่บรรดานักวิชาการยุคหลังได้กำหนดศัพท์เทคนิคเป็นการเฉพาะขึ้นมาใหม่ว่า คำว่ามักรูฮ์ หมายถึงสิ่งที่มิใช่ของหะรอม, และการละทิ้ง (คือไม่ทำ)มันจะดีกว่าการทำมัน” .. (ดังที่ผมแปลว่า “เป็นสิ่งน่ารังเกียจ” .. และ อ.อัชอะรีย์แปลว่า “สิ่งที่ห้ามไม่ขาด” นั่นเอง ...
(จากหนังสือ “إعلام الموقعين” ของท่านอิบนุ้ลก็อยยิม เล่มที่ 1 หน้า 47-48) ...
นี่คือคำอธิบายของท่านอิบนุ้ลก็อยยิมต่อคำว่า “มักรูฮ์” ที่ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ใช้ว่า หมายถึง مَكْرُوْهَةٌ تَحْرِيْمِيَّةٌ (เป็นเรื่องหะรอม) ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ... 
ค. คำกล่าวของ อ.อัชอะรีย์ที่ว่า .. “สำนวนของหะดีษนั้นมิได้ห้ามทำการละหมาดที่กุบูรฺ ............” 
ผมก็อยากจะขอถาม อ.อัชอะรีย์ว่า .. แล้วผมกล่าวไว้ตรงไหนหรือว่า สำนวนหะดีษบทนั้น ห้ามนมาซที่กุบูรฺ ? ...
ตรงกันข้าม อ.อัชอะรีย์เองก็ยอมรับแล้วว่า คำกล่าวของผมที่ว่า “การนมาซที่กุบูรฺเป็นเรื่องต้องห้าม” นั้น เป็นการ “วิเคราะห์” จากหะดีษบทนั้น ซึ่งการวิเคราะห์(إِسْتِنْبَاطٌ)กับ “مَنْطُوْقٌ” หรือความหมายตรงตัวของหะดีษก็เป็นคนละเรื่องกันอยู่แล้ว .. และดูเหมือนผมจะกล่าวไว้แล้วในตอนต้นการวิภาษ อ.กอเซ็มว่า คำพูดของ อ.กอเซ็มที่ว่า หะดีษบทนี้มิใช่เป็นหะดีษห้ามอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูร..นั้น เป็นคำพูดที่ถูกต้องในแง่มุมหนึ่ง 
ขอย้ำอีกครั้งว่า ในการวิเคราะห์ --ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม -- ผมจะไม่เคยพูดแบบ “ฟันธง” เลยว่า ข้อวิเคราะห์ของผมถูกต้องแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะผมรู้ดีว่าในฐานะปุถุชนคนหนึ่ง ผมอาจจะผิดพลาดได้ตลอดเวลา ...
ดูตัวอย่างจากการวิเคราะห์เรื่องสถานภาพบิดามารดาท่านนบีย์ .. จะเห็นได้ว่าผมได้กล่าวไว้ตอนสรุปว่า การวิเคราะห์นี้ของผม อาจจะผิดก็ได้ ...
ไม่มีใครปฏิเสธว่า การวิเคราะห์ – ไม่ว่าจะเป็นของนักวิชาการระดับไหน – ย่อมมีถูกได้-ผิดได้ เสมอ ...
ดังนั้น สำมะหาอะไรกับผมซึ่ง .. หากใครสักคนจะอนุโลมให้เรียกว่าเป็นนักวิชาการ ก็คงเป็นนักวิชาการระดับปลายแถวอันดับโหล่สุดก็ว่าได้ .. ที่สมมุติว่าจะวิเคราะห์เรื่องใดผิดพลาดขึ้นมา ...
ขนาดท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ซึ่งเป็นหนึ่งจาก 4 อิหม่ามที่โลกมุสลิมยอมรับแท้ๆ ... 
จากโองการที่ 39 ซูเราะฮ์อัน-นัจญ์ม์ที่ว่า .. “แท้จริง จะไม่ได้แก่มนุษย์นอกจากสิ่งที่เขาเคยขวนขวายเอาไว้”.. ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ได้วิเคราะห์ออกมาว่า โองการดังกล่าวนี้แสดงว่า ผลบุญการอ่านอัล-กุรฺอ่านอุทิศไม่ถึงผู้ตาย! .. ดังมีระบุในหนังสือตัฟซีรฺ “อิบนุกะษีรฺ” เล่มที่ 4 หน้า 276 ...
แต่ .. การวิเคราะห์ดังกล่าวของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ ก็ยังถูก อ.อัชอะรีย์มองว่า “ผิด” และ “ยอมรับไม่ได้” มิใช่หรือ ??? ... 
4.2 อ.อัชอะรีย์กล่าวว่า ... 
“ท่านอิหม่ามอิบนุรอญับ อัลฮัมบาลีย์ได้กล่าวว่า .. “ปราชญ์ส่วนมากมีทัศนะว่า การมักโระฮ์ในสิ่งดังกล่าว (ละหมาดในกุบูรฺ) นั้น เป็นมักโระฮ์แบบตันซีฮ์ (ใช้ให้ละทิ้งแบบไม่เด็ดขาด) และส่วนหนึ่งจากนักปราชญ์มีทัศนะผ่อนปรนในสิ่งดังกล่าว” .. และ ...
“ทัศนะของสะลัฟต่อฮุก่มการละหมาดที่กุบูรฺนั้น คือ ส่วนหนึ่งจากผู้ที่รายงานจากเขาว่ามักโระฮ์ละหมาดในกุบูรฺ คือท่านอะลีย์, ท่านอิบนุอับบาส, ท่านอิบนุอุมัรฺ, ท่านอะฏออ์, ท่านอัน นะคออีย์ และผู้ที่มีทัศนะไม่มักโระฮ์ละหมาดที่กุบูรฺคือท่านอบูฮุร็อยเราะฮ์, ท่านวาษิละฮ์ บินอัลอัสเกาะอ์ และท่านอัลฮะซัน อัลบะซอรีย์ .....”
และ ...
“ดังนั้น การที่ อ.ปราโมทย์กล่าวว่า มักโระฮ์ดังกล่าวหมายถึงมักโระฮ์แบบฮะรอมนั้น ถือเป็นการพูดแบบ تَحَكُّمٌ (ตามอำเภอใจ) โดยไม่ศึกษาค้นคว้าให้ถี่ถ้วนนั่นเอง” 
ชี้แจง
ผมว่า .. ผู้ที่ไม่ศึกษาค้นคว้าในเรื่องนี้ให้ละเอียดถี่ถ้วนไม่น่าจะเป็นผม แต่เป็นตัว อ.อัชอะรีย์เองนั่นแหละที่ด่วนกล่าวหาผมโดยไม่ตรวจสอบข้อมูลให้ถี่ถ้วนเสียก่อน ...
อย่างน้อยที่สุด คำกล่าวของท่านอัล-มุนาวีย์และท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ที่ผ่านมา ก็เป็นสิ่งยืนยันได้ดีว่า ใครกันแน่ที่ไม่ตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดก่อนกล่าวหาผู้อื่น ? ...
อีกอย่างหนึ่ง ข้ออ้างของ อ.อัชอะรีย์ที่ว่า การนมาซที่กุบูรฺไม่สมควรกระทำ(ห้ามไม่ขาดหรือเป็นมักรูฮ์ตันซีฮ์) ก็เป็นเพียงการอ้าง “ทัศนะ” ของนักวิชาการบางท่าน ...
แต่คำกล่าวของผมที่ว่า การนมาซที่กุบูรฺเป็นเรื่องหะรอม(ห้ามขาด) นั้น ผมมีข้อมูลทั้งจากทัศนะนักวิชาการ, จากเศาะหาบะฮ์ และจากหะดีษที่เศาะเหี๊ยะหลายบท เพียงแต่ผมไม่ได้นำข้อมูลเหล่านั้นลงเขียนในการวิภาษ อ.กอเซ็มเท่านั้น ...
ยิ่งไปกว่านั้น อ.อัชอะรีย์คงจะไม่รู้กระมังว่า เรื่องการห้ามนมาซที่กุบูรฺนี้ มิใช่จะห้ามเฉพาะนมาซฟัรฺฎูหรือนมาซสุนัตอื่นๆ แต่ยังห้าม “นมาซมัยยิต” ระหว่างหลุมฝังศพอีกด้วย .. ดังหลักฐานที่ผมจะนำเสนอต่อไป ... 
ข้อมูลจากทัศนะนักวิชาการที่ว่า การนมาซที่กุบูรฺเป็นเรื่องหะรอม ... 
ก. ท่านมุบาร็อกปูรีย์ กล่าวว่า ... 
وَأَمَّاالْمَقْبُرَةُ فَذَهَبَ أَحْمَدُ إِلَى تَحْرِيْمِ الصَّلاَةِ فِى الْمَقْبُرَةِ ............. وَإِلَى ذَلِكَ ذَهَبَتِ الظَّاهِرِيَّةُ وَلمَ ْيُفَرِّقُوْابَيْنَ مَقَابِرِالْمُسْلِمِيْنَ وَالْكُفَّارِ
“อนึ่งเรื่องของสุสาน(กุบูรฺ) นั้น ท่านอิหม่ามอะห์มัดถือว่า การนมาซในสุสานเป็นเรื่องหะรอม .......... และบรรดาอะฮ์ลุศซอฮิรฺ(นักวิชาการที่ยึดถือตามข้อความตรงของตัวบท) ก็มีทัศนะอย่างเดียวกันนี้ (คือหะรอมนมาซในกุบูรฺ) โดยพวกเขาไม่แบ่งแยกในระหว่างสุสานของมุสลิมหรือกาฟิรฺ ...
(จากหนังสือ “ตั๊วะห์ฟะต้ลอะห์วะซีย์” เล่มที่ 2 หน้า 259-26) ... 
ซึ่งในหนังสือ “อัล-มันฮัลฯ” เล่มที่ 4 หน้า 114 ก็มีข้อความที่คล้ายคลึงกันนี้ โดยอ้างว่าเป็นทัศนะของท่านอิหม่ามอะห์มัดและสานุศิษย์ของท่าน ...
และหลังจากได้ตีแผ่ “ความขัดแย้ง” ของนักวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว ท่านมุบาร็อกปูรีย์ก็กล่าวสรุปว่า ...
وَالظَّاهِرُ مَا ذَهَبَ إِلَيْهِ أَهْلُ الظَاهِرِيَّةِ وَاللهُ تَعَالَى أَعْلَمُ
“ตามรูปการณ์(ของหะดีษบทข้างต้น)นั้น .. (ทัศนะที่ถูกต้อง)ก็คือ ทัศนะของอะฮ์ลุศซอฮิรฺ วัลลอฮุอะอฺลัม” ...
นั่นคือ การนมาซในกุบูรฺเป็นเรื่องหะรอม (ห้ามขาด) ...
ยิ่งไปกว่านั้น ท่านอิหม่ามอะห์มัดยังได้กล่าวอีกว่า ...
مَنْ صَلَّى فِىْ مَقْبُرَةٍ أَوْ إِلَى قَبْرٍ أَعَادَ أَبَدًا
“ผู้ใดก็ตามที่นมาซในสุสาน หรือ(นมาซโดย)หันไปยังหลุมศพ เขาจะต้องนมาซใหม่ตลอดไป” 
(จากหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” ของท่านอิบนุหัสม์ เล่มที่ 2 ส่วนที่ 4 หน้า 32) ...
หมายความว่า การนมาซในลักษณะดังกล่าวนั้น ใช้ไม่ได้(ไม่เศาะฮ์) ...
หมายเหตุ 
ท่านอาบาดีย์ได้กล่าวในหนังสือ “เอานุ้ลมะอฺบูด” เล่มที่ 2 หน้า 158 ว่า ...
وَكَانَ أَحْمَدُ وَإِسْحَاقُ يَكْرَهَانِ ذَلِكَ، وَرُوِيَتِ الْكَرَاهَةُ عَنْ جَمَاعَةٍ مِنَ السَّلَفِ
“ท่านอิหม่ามอะห์มัดและท่านอิสหากต่างก็รังเกียจ (كَرَاهَةٌ) ในเรื่องนี้ (การนมาซในสุสาน) .. และมีรายงานเรื่องความรังเกียจ (كَرَاهَةٌ) นี้มาจากชาวสะลัฟกลุ่มหนึ่งด้วย ...
ข้อมูลจากคำพูดของท่านอิหม่ามอะห์มัดจากหนังสือตั๊วะห์ฟะตุ้ลอะห์วะซีย์และหนังสืออัล-มันฮัลฯ ข้างต้นจึงเป็นเครื่องยืนยันว่า คำว่าكَرَاهَةٌ (น่ารังเกียจ) ตามทัศนะของท่านอิหม่ามอะห์มัดและชาวสะลัฟตามคำกล่าวของท่านอาบาดีย์นั้น มิได้หมายถึงมักรูฮ์ตันซิฮ์ (สิ่งที่ไม่สมควรปฏิบัติ) .. แต่มีความหมายว่า “หะรอม” (คือห้ามปฏิบัติ) ดังที่ผมได้เคยกล่าวไว้ ... 
ข. ท่านซูฟยาน อัษ-เษารีย์ ได้รายงานจากท่านหะบีบ อิบนุอบีย์ษาบิต, จากท่านอบูศ็อบยาน, จากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ซึ่งกล่าวว่า ...
لاَ تُصَّلِيَّنَ إِلَى حَشٍّ، وَلاَ فِىْ حَمَّامٍ، وَلاَ فِىْ مَقْبُرَةٍ!
“ท่านอย่านมาซโดยหันไปทางห้องส้วม, ในห้องน้ำ และในสุสานเป็นอันขาด”
(จากหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” เล่มที่ 2 ส่วนที่ 4 หน้า 30) ...
พื้นฐานของการห้ามสิ่งใด ตามหลักวิชาอุศูลุลฟิกฮ์ถือว่าสิ่งนั้นคือของหะรอม.. ยิ่งเมื่อท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.ได้กล่าวห้ามอย่างเน้นๆว่า لاَ تُصَلِّيَنَّ (ท่านอย่านมาซ .. เป็นอันขาด) จึงย่อมเป็นที่ชัดเจนว่า ทัศนะของท่านก็คือ ห้าม(หะรอม)นมาซในสุสาน ...
ค. ท่านอะลีย์ อิบนุอบีย์ฏอลิบกล่าวว่า ...
مِنْ شِرَارِالنَّاسِ مَنْ يَتَّخِذُ الْقُبُوْرَ مَسَاجِدَ
“หนึ่งจากมนุษย์ที่ชั่วช้ายิ่งก็คือ ผู้ซึ่งยึดเอากุบูรฺเป็นมัสญิด (คือเป็นที่นมาซ) ...
(จากหนังสือเล่มและหน้าเดียวกัน) ...
ข้อมูลจากข้อ ข.และข้อ ค.ที่ผ่านมาแสดงว่า ความหมายคำว่ามักโระฮ์(น่ารังเกียจ) การนมาซที่กุบูรฺ ดังที่ อ.อัชอะรีย์นำมาอ้างจากท่านอิบนุอับบาสและท่านอะลีย์ข้างต้นย่อมหมายถึง “หะรอม” หรือห้ามขาด. มิใช่มักโระฮ์ตันซิฮ์หรือห้ามไม่ขาดอย่างความเข้าใจของ อ.อัชอะรีย์ ...
นอกจากท่านอิบนุอับบาสและท่านอะลีย์แล้ว ท่านอิบนุหัสม์ยังได้รายงานจากเศาะหาบะฮ์อื่นอีก 3 ท่าน คือท่านอุมัรฺ, ท่านอบูฮุร็ฮยเราะฮ์ และท่านอนัส, .. และจากตาบิอีน กลุ่มหนึ่ง คือท่านอิบรอฮีม อัน-นะคออีย์, ท่านนาฟิอฺ บินญุบัยร์, ท่านฏอวูซ, ท่านอัมร์ บินดีนารฺ, ท่านค็อยษะมะฮ์ ที่กล่าวสอดคล้องตรงกันว่า การนมาซในสุสานหรือกุบูรฺเป็นที่ต้องห้าม .. 
(จากหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” ของท่านอิบนุหัสม์ เล่มที่ 2 ส่วนที่ 4 หน้า 30-32) ...
สำหรับนักวิชาการยุคต่อมา นอกจากท่านอิบนุหัสม์ที่กล่าวว่าการนมาซที่กุบูรฺเป็นเรื่องต้องห้าม (จากหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” เล่มดังกล่าว หน้า 27) แล้ว ท่านอิบนุตัยมียะฮ์ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีทัศนะอย่างเดียวกัน ... 
ท่านอิบนุตัยมียะฮ์ได้กล่าวในหนังสือ “อิกติฎออุศ-ศิรอฏิ้ลมุสตะกีมฯ” เล่มที่ 2 หน้า 194-195 ... 
وَقَدِاخْتَلَفَ الْعُلَمَاءُ فِى الصَّلاَةِ فِى الْمَقْبُرَةِ : هَلْ هِىَ مُحَرَّمَةٌ أَوْ مَكْرُوْهَةٌ ؟ .. وَإِذَا قِيْلَ : هِىَ مُحَرَّمَةٌ، فَهَلْ تَصِحُّ مَعَ التَّحْرِيْمِ أَمْ لاَ ؟ .. وَالْمَشْهُوْرُ عِنْدَنَا أَنَّهَا مُحَرَّمَةٌ لاَ تَصِحُّ، وَمَنْ تَأَمَّلَ النُّصُوْصَ الْمُتَقَدِّمَةَ تَبَيَّنَ لَهُ أَنَّهَا مُحَرَّمَةٌ بِلاَ شَكٍّ، 
“นักวิชาการมีทัศนะขัดแย้งกันเกี่ยวกับการนมาซในสุสาน(กุบูรฺ)ว่า จะเป็นเรื่องต้องห้าม(หะรอม) หรือน่ารังเกียจ(มักรูฮ์) .. หากกล่าวว่า เป็นเรื่องหะรอม (ปัญหาต่อมาก็คือ)นมาซนั้นจะใช้ได้ทั้งๆที่หะรอม หรือใช้ไม่ได้ ? .. ซึ่งสิ่งที่รู้กันแพร่หลายสำหรับพวกเรา (นักวิชาการมัษฮับหัมบะลีย์)ก็คือ มันเป็นเรื่องหะรอมและนมาซนั้นใช้ไม่ได้(ไม่เศ๊าะฮ์) ซึ่งผู้ใดก็ตามที่พิจารณาหลักฐานอันชัดเจนที่ผ่านมาแล้ว ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่เขาว่า การนมาซในสุสานนั้น เป็นเรื่องหะรอมโดยปราศจากข้อสงสัย” ...
ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-ฮัยตะมีย์ นักวิชาการฟิกฮ์แห่งมัษฮับชาฟิอีย์กล่าวว่า การถือเอากุบูรฺเป็นที่นมาซ และการนมาซโดยหันไปทางกุบูรฺ เป็นบาปใหญ่ ...
(ดูหนังสือ “อัซ-ซะวาญิรฺฯ” ของอิบนุหะญัรฺ อัล-ฮัยตะมีย์ เล่มที่ 1 หน้า 244 ) ...
สรุปแล้ว การนมาซที่กุบูรฺตามทัศนะนักวิชาการสะลัฟส่วนใหญ่ ถือเป็นเรื่องห้ามขาด (หะรอม) .. นอกจากนักวิชาการส่วนน้อยที่มองว่า ข้อห้ามดังกล่าวไม่ใช่เป็นการห้ามขาด (คือเป็นมักรูฮ์) เท่านั้น ...
ในทัศนะของผม มีความเห็นสอดดคล้องกับทัศนะของท่านอิบนุอับบาสร.ฎ., ท่านอะลีย์ ร.ฎ., ท่านอิหม่ามอะห์มัด, ท่านอิบนุหัสม์, ท่านอิบนุตัยมียะฮ์และนักวิชาการส่วนใหญ่ที่กล่าวว่า การนมาซที่กุบูรฺเป็นเรื่องหะรอม(ห้ามขาด) เพราะมีหลักฐานจากหะดีษที่ถูกต้องหลายบทยืนยันไว้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ...
1. ท่านอบูสะอีด อัล-คุดรีย์ ร.ฎ. ได้รายงานมาจากท่านรอซู้ลุลลฺ? ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ว่า ...
الأَرْضُ كُلُّهَا مَسْجِدٌ إِلاَّ الْحَمَّامَ وَالْمَقْبُرَةَ
“พื้นดินทั้งหมด เป็นที่นมาซได้ ยกเว้นห้องน้ำและสุสาน” ... 
(บันทึกโดย ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 492, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 317 และผู้บันทึกท่านอื่นๆ) ...
2. ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุมัสอูด ร.ฎ. ได้อ้างรายงานจากท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมที่กล่าวว่า ...
إِنَّ مِنْ شِرَارِالنَّاسِ مَنْ تُدْرِكُهُ السَّاعَةُ وَهُمْ أَحْيَاءٌ، وَمَنْ يَتَّخِذُ الْقُبُوْرَ مَسَاجِدَ
“แท้จริง ส่วนหนึ่งจากประชาชนที่ชั่วช้าอย่างยิ่งก็คือ ผู้ซึ่งวันกิยามะฮ์มาถึงขณะพวกเขายังมีชีวิตอยู่ และผู้ซึ่งยึดเอากุบูรฺเป็นที่นมาซ” ...
(บันทึกโดย ท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ เล่มที่ 2 หน้า 6-7 ด้วยสายรายงานที่หะซัน) ...
3. ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า ... 
أَلاَ وَإِنَّ مَنْ كَانَ قَبْلَكُمْ كَانُوْا يَتَّخِذُوْنَ قُبُوْرَ أَنْبِيَائِهِمْ وَصَالِحِيْهِمْ مَسَاجِدَ، أَلاَ فَلاَ تَتَّخِذُوْاالْقُبُوْرَ مَسَاجِدَ، إِنِّىْ أَنْهَاكُمْ عَنْ ذَلِكَ 
“พึงระวัง! แท้จริงประชาชาติก่อนพวกท่านได้ยึดเอากุบูรฺนบีย์ของพวกเขาและคนดีของพวกเขาเป็นที่นมาซ, พึงระวัง! ดังนั้นพวกท่านอย่ายึดเอากุบูรฺเป็นที่นมาซ, แท้จริงฉันขอห้ามพวกท่านจากเรื่องนี้” ...
(บันทึกโดยท่านมุสลิม หะดีษที่ 23/532 และท่านอิบนุ อบีย์ชัยบะฮ์ในหนังสือ “อัล-มุศ็อนนัฟ” เล่มที่ 2 หน้า 269 โดยรายงานจากท่านญุนดุบ บินอับดุลลอฮ์ อัล-บัจญลีย์ ร.ฎ.) ...
4. ท่านอบูสะอีด อัล-คุดรีย์ ร.ฎ. กล่าวว่า ...
أَنَّ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَّلَم نَهَى أَنْ يُبْنَى عَلَى الْقُبُوْرِ، أَوْ يُقْعَدَ عَلَى الْقُبُوْرِ، أَوْ يُصَلَّى عَلَى الْقُبُوْرِ
“ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ห้ามจากการก่อสร้างสิ่งใดบนกุบูรฺ, จากการนั่งบนกุบูรฺ, และจากการนมาซบนกุบูรฺ” ...
(บันทึกโดย ท่านอบูยะอฺลา ใน “อัส-มุสนัด” ของท่าน ด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง)
5. ท่านอบูมัรฺษัด อัล-ฆอนะวีย์ ร.ฎ. ได้รายงานมาจากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมว่า ...
لاَ تُصَلُّوْا إِلَى الْقُبُوْرِ، وَلاَ تَجْلِسُوْا عَلَيْهَا
“พวกท่านอย่านมาซโดยหันไปทางกุบูรฺ (หลุมศพ) และพวกท่านอย่านั่งบนกุบูรฺ”
(บันทึกโดยท่านมุสลิม หะดีษที่ 98/972) ...
บรรดาหะดีษข้างต้นนี้คือหลักฐาน “ห้าม” จากการนมาซในกุบูรฺ, บนกุบูรฺ หรือหันไปทางกุบูรฺ ซึ่งตามหลักการแล้วถือว่า ข้อห้ามดังกล่าวหมายถึง “หะรอม” ...
ท่านอัศ-ศ็อนอานีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “สุบุลุส สลาม” เล่มที่ 1 หน้า 136 อันเป็นการอธิบายหะดีษที่ 5 จากข้อเขียนนี้ของผมว่า ...
“ในหะดีษนี้เป็นหลักฐานเรื่องห้ามนมาซโดยหันไปทางกุบูรฺ เหมือนการห้ามนมาซบนกุบูรฺ, และพื้นฐาน(ของการห้าม) ก็คือ หะรอม” ...
หลักการที่ว่า “พื้นฐานของการห้ามคือ หะรอม” นี้ ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ก็ได้กล่าวไว้เช่นกันในหนังสือ “อัรฺ-ริซาละฮ์” หน้า 343 ว่า (หมายเลข 929) ว่า ...
فَإِذَا نَهَى رَسُوْلُ اللهِ عَنِ الشَّىْءِ مِنْ هَذَا فَالنَّهْىُ مُحَرَّمٌ! لاَ وَجْهَ لَهُ غَيْرُ التَّحْرِيْمِ، إِلاَّ أَنْ يَكُوْنَ عَلَى مَعْنًى كَمَا وَصَفْتُ ... 
“เมื่อท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ “ห้าม” สิ่งใดจากสิ่งนี้ การห้ามนั้นก็คือ “หะรอม” .. ไม่มีแนวทางสำหรับมัน(การห้าม)ที่จะอื่นจากหะรอมอีก, นอกจากมันจะอยู่บนความหมาย ดังที่ฉันได้แจ้งลักษณะไว้แล้ว” ...
คำว่า “นอกจากมันจะอยู่บนความหมายที่ฉันได้แจ้งลักษณะไว้” หมายถึงการมีหลักฐานอื่นมาแปรเปลี่ยนความหมายการห้ามจาก “หะรอม” ไปเป็น “มักรูฮ์” ...
และเท่าที่ผมทราบ ก็ยังไม่เคยเจอว่าจะมีหลักฐานที่ถูกต้องบทใดมาแปรเปลี่ยนการห้ามนมาซในกุบูรฺจาก “หะรอม” ให้เป็น “มักรูฮ์” เลยแม้แต่บทเดียว ...
ส่วนคำกล่าวนักวิชาการบางท่านที่ว่า เหตุผลที่ห้ามนมาซในกุบูรฺ ก็เฉพาะกุบูรฺที่ถูกขุดรื้อขึ้นมา เพราะเกรงว่าพื้นดินจะเป็นนะญิสจากน้ำเหลืองของมัยยิตก็ดี, หรือการห้ามนมาซในสุสานในหะดีษดังกล่าว หมายถึงสุสานของกาฟิรฺ แต่ไม่ห้ามนมาซในสุสานของมุสลิมก็ดี .. 
เหล่านี้ล้วนเป็นเพียง “เหตุผล” ตามมุมมองของนักวิชาการเท่านั้น แต่ไม่ใช่ “หลักฐาน” ที่จะมาจำกัดข้อห้ามที่กล่าวไว้กว้างๆในหะดีษข้างต้นแต่ประการใด ...
ส่วนข้ออ้างของ อ.อัชอะรีย์ที่ว่า ข้อห้ามดังกล่าวหมายถึงการตั้งใจหรือมุ่งหมาย(اَلتَّحَرِّىْ) ที่จะไปนมาซที่กุบูรฺ ข้อนี้ผมเชื่อครับ, .. และมั่นใจด้วยว่า อ.อัชอะรีย์คงไม่ “นอนละเมอ” ถึงขนาดเดินไปนมาซที่กุบูรฺหรอก ...
หมายเหตุ 
ผมขอดักคอเสียก่อนว่า อ.อัชอะรีย์อาจจะอ้าง “หลักฐานแปรเปลี่ยนการห้ามจากหะรอมเป็นมักรูฮ์” จากอายะฮ์กุรฺอ่านบางบทเช่นอายะฮ์ที่ 21 จากซูเราะฮ์อัล-กะฮ์ฟิ, .. จากหะดีษบางบทเช่นเรื่องท่านนบีย์เคยนมาซในมัสญิดค็อยฟ์ (มัสญิดเค็ฟ)ที่มินาทั้งๆที่มีกุบูรฺของนบีย์ซึ่งถูกฝังอยู่ที่นั่น 70 ท่าน, .. หรือจากเหตุการณ์บางอย่าง เช่นเรื่องกุบูรฺท่านนบีย์อยู่ในมัสญิดของท่านที่มะดีนะฮ์ เป็นต้น ... 
คำชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องเหล่านี้ ผมไม่อยากเขียนเพราะจะยืดเยื้อจนเกินไป จึงขอแนะนำให้ อ.อัชอะรีย์ไปหาอ่านจากหนังสือ “تَحْذِيْرُ السَّاجِدِ مِنِ اتِّخَاذِ الْقُبُوْرِ مَسَاجِدَ” ของท่านเช็คอัล-อัลบานีย์ หน้า 67-146 ...
ส่วนที่ผมเคยกล่าวมาในตอนต้นว่า การห้ามนมาซที่กุบูรฺนั้น มิใช่จะห้ามเฉพาะนมาซฟัรฺฎูหรือนมาซสุนัตอื่นๆ แต่ยังห้ามจากการนมาซญะนาซะฮ์ในระหว่างหลุมฝังศพอีกด้วย นั้น ...
หลักฐานเรื่องนี้ก็คือ หะดีษจากการรายงานของท่านอนัส บินมาลิก ร.ฎ. ที่ว่า ...
أَنَّ النَّبِىَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ نَهَى أَنْ يُصَلَّى عَلَى الْجَنَائِزِ بَيْنَ الْقُبُوْرِ
“ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะวัลลัม ได้ห้ามจากการนมาซญะนาซะฮ์ในระหว่างกุบูรฺ(หลุมศพ)” ...
(บันทึกโดย ท่านอัฏ-ฏ็อบรอนีย์ในหนังสือ “อัล-มุอฺญัม อัล-เอาซัฏ” ด้วยสายรายงานที่หะซัน .. ดังคำกล่าวของท่านอัล-ฮัยษะมีย์ในหนังสือ “มัจญมะอฺ อัซ-ซะวาอิด” เล่มที่ 3 หน้า 144-145) ...
การ “ห้ามนมาซในกุบูรฺ” ดังกล่าวทั้งหมดนี้เป็นการห้ามแบบกว้างๆ (عَامٌّ) แต่มีข้อยกเว้น (تَخْصِيْصٌ) เพียงกรณีเดียวคือ การนมาซมัยยิตที่ถูกฝังไปแล้ว โดยเราเพิ่งทราบแล้วไปนมาซที่หลุมของเขาภายหลัง .. ตามนัยของหะดีษบทที่กำลังจะถึงต่อไป ...




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น