อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ชี้แจง .. บทวิภาษของ อ.อัชอะรีย์ต่อ อ.ปราโมทย์ (ตอนที่ 5)


ชี้แจงเรื่องการอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ 

โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

(5). ชี้แจงเรื่องการอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ 
5.1 อ.อัชอะรีย์กล่าวว่า ... 
“แต่ในขณะเดียวกัน อ.ปราโมทย์พยายามสอดแทรกหุก่มเข้าไปด้วย โดยพยายามบอกว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺเป็นบิดอะฮ์และฮะรอม ซึ่งไม่มีนักปราชญ์แห่งโลกอิสลามในอดีตที่ได้รับการยอมรับ ได้ตัดสินเช่นนั้นเลย ......
ดังนั้น การหุก่มหะรอมประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่ไม่มีหลักฐานที่มั๊วะอฺตะบัรฺทั้งในแบบครอบคลุมหรือจำกัดมารับรอง ย่อมเป็นการอุตริกรรมหรืออุปโลกน์ฮุก่มขึ้นมาในศาสนานั่นเอง” ...
ชี้แจง
ก. การสอดแทรกหุก่มตามมุมมองของตนเองด้วยความบริสุทธิ์ใจหลังจากการวิเคราะห์หลักฐานไม่ใช่เป็นเรื่องผิดแปลกแต่ประการใด เพราะสิ่งนี้ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่นักวิชาการทุกยุคทุกสมัยปฏิบัติกันอยู่แล้ว ซึ่งสามารถจะหาดูได้จากตำราฟิกฮ์ระดับมาตรฐานทั่วๆไป อาทิเช่น หนังสืออัล-มุฆนีย์ของท่านอิบนุกุดามะฮ์, หนังสือซาดุ้ลมะอาดของท่านอิบนุ้ลก็อยยิม, หนังสืออัล-มุหั้ลลา ของท่านอิบนุหัสม์ เป็นต้น ...
ข. ถ้า อ.อัชอะรีย์ไม่กล่าวเท็จ ก็ให้ระบุมาเลยว่า ผมเขียนตอนไหนในการวิภาษคำบรรยาย อ.กอเซ็มว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ เป็นบิดอะฮ์ (ตามทัศนะของผม) ?? ... 
ค. อ.อัชอะรีย์รู้ได้อย่างไรว่า ไม่เคยมีนักวิชาการที่เป็นที่ยอมรับท่านใดในอดีตตัดสินว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ เป็นบิดอะฮ์ที่หะรอม ??? ...
ท่านอิหม่ามอะห์มัด อิบนุหัมบัล หรือท่านอิบนุลก็อยยิม อัล-ญูซียะฮ์ เป็นนักวิชาการในอดีตที่เป็นที่ยอมรับของโลกอิสลามหรือไม่ ? ...
การที่ท่านอิหม่ามอะห์มัดไปกล่าวแก่ชายตาบอดที่กำลังอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺเพื่อไม่ให้เขาอ่านต่อไปโดยบอกว่ามันเป็น “บิดอะฮ์” ก็ดี, หรือการที่ท่านอบูดาวูดได้บันทึกในหนังสือ “อัล-มะซาอิล” หน้า 158 ว่า เคยได้ยินท่านอิหม่ามอะห์มัดตอบเมื่อถูกถามเรื่องอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺว่า لاَ! (ไม่ได้) ก็ดี ...
คำว่า “บิดอะฮ์” และคำว่า “ไม่ได้” ของท่านอิหม่ามอะห์มัดในกรณีนี้ ไม่มีทางจะเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้นอกจากการเป็นบิดอะฮ์ที่หะรอม ...
เพราะถ้าเป็นเพียงบิดอะฮ์ที่มักรูฮ์ (น่ารังเกียจ) ท่านอิหม่ามอะห์มัดก็ไม่มีสิทธิ์ไปคัดค้านชายตาบอดคนนั้น และคงจะไม่ตอบคำถามด้วยคำพูดเพียงสั้นๆว่า “ไม่ได้” .. เนื่องจากสิ่งมักรูฮ์นั้น เป็นสิ่งที่ยังปฏิบัติได้ เพียงแต่ “ไม่สมควรปฏิบัติ” เท่านั้น ...
และท่านอิบนุ้ลก็อยยิม ก็เคยกล่าวไว้ในหนังสือ “ซาดุ้ลมะอาด” ของท่าน เล่มที่ 1 หน้า 179 ว่า ...
وَلَمْ يَكُنْ مِنْ هَدْيِهِ أَنْ يُجْتَمَعَ لِلْعُزَّاءِ وَيُقْرَأَ لَهُ الْقُرْآنُ، لاَ عِنْدَالْقُبُوْرِ وَلاَغَيْرِهِ، وَكُلُّ هَذَا بِدْعَةٌ حَادِثَةٌ مَكْرُوْهَةٌ 
“ไม่เคยมีปรากฏในทางนำของท่านนบีย์ว่า จะมีการชุมนุมกัน(ของครอบครัวผู้ตาย)เพื่อ(รอ)ผู้ปลอบโยน และการอ่านอัล-กุรฺอ่านให้แก่ผู้ตาย ไม่ว่าที่กุบูรหรือที่อื่น, ทุกอย่างนี้เป็นอุตริกรรม(บิดอะฮ์)ที่เพิ่งบังเกิดขึ้นและเป็นเรื่องน่ารังเกียจ” ...
คำว่า مَكْرُوْهَةٌ (น่ารังเกียจ) ตามทัศนะของท่านอิบนุ้ลก็อยยิมก็คือ كَرَاهَةٌ تَحْرِيْمِيَّةٌ (เป็นเรื่องหะรอม) ดังที่ได้เสนอทัศนะของท่านในเรื่องนี้ไปแล้วในหน้าที่ 16-17 ...
ส่วนนักวิชาการยุคปัจจุบันที่กล่าวว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺเป็นบิดอะฮ์ที่หะรอม ก็มีจำนวนมิใช่น้อย อาทิเช่น ท่านเช็คอะลีย์มะห์ฟูศเจ้าของหนังสือ “อัล-อิบดาอ์”, ท่านเช็คมุหัมมัด อับดุสสลาม เจ้าของหนังสือ “อัล-สุนัน วัลมุบตะดะอาต, ท่านอัล-อัลบานีย์, ท่านเช็คบินบาซ เป็นต้น ซึ่งผมจะไม่นำเสนอทัศนะของแต่ละท่านในที่นี้ เพราะจะเป็นการยืดเยื้อเกินไป ... 
สรุปแล้ว ผมจึงไม่ใช่เป็นคนแรกอย่างแน่นอนที่วิเคราะห์ออกมาว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺเป็นเรื่องต้องห้าม (หะรอม) .. ทว่า มีนักวิชาการที่เชื่อถือได้จำนวนมากที่กล่าวออกมาอย่างนี้ก่อนแล้ว ... 
แต่ ..ไม่ว่าคำพูดนักวิชาการที่กล่าวว่า “การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺเป็นบิดอะฮ์” จะมีความหมายถึงบิดอะฮ์หะรอมหรือบิดอะฮ์มักรูฮ์ก็ตาม ความหมายของมันก็ไม่ใช่เป็นการ “ส่งเสริม” ให้ชาวบ้านไปอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺกัน อย่างที่ อ.อัชอะรีย์กำลังส่งเสริมอยู่แน่นอน ... 
ตรงกันข้าม ความหมายของมันก็คือ การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺเป็นเรื่อง “ไม่สมควรกระทำ” หรือ “ห้ามกระทำ” อย่างใดอย่างหนึ่งตามนัยแห่งความหมายมักรูฮ์หรือหะรอม ดังเป็นที่ทราบกันดี ...
ง. ถ้า อ.อัชอะรีย์ถือว่า หุก่มหะรอม(ห้าม) ทุกอย่างจะต้องมีหลักฐานเจาะจง(خَاصٌّ)หรือหลักฐานจำกัด (مُقَيَّدٌ) อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น จะเกิดจากการวิเคราะห์ (إِسْتِنْبَاطٌ) จากหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ไม่ได้ ... 
ก็ขอถาม อ.อัชอะรีย์ว่า การที่นักวิชาการมัษฮับชาฟิอีย์ (ซึ่งอาจจะเป็น อ.อัชอะรีย์ด้วยก็ได้) กล่าวว่า ไม่อนุญาต (คือห้าม)นำเนื้อกุรฺบ่านไปมอบให้คนกาฟิรฺ (ดังคำกล่าวจากหนังสือ “อิอานะฮ์ฯ” เล่มที่ 2 หน้า 334 หรือหนังสือ “อัล-บาญูรีย์” เล่มที่ 2 หน้า 302 เป็นต้น) นั้น .. 
หุก่ม “ห้าม” ดังกล่าวเกิดจากมีหลักฐานเจาะจง, หลักฐานจำกัด .. หรือเกิดจากการวิเคราะห์ ? ... 
ถ้าตอบว่า เกิดจากมีหลักฐาน ก็ขอถามว่า “หลักฐานห้าม” ดังกล่าว – ไม่ว่าห้ามแบบเจาะจงหรือหลักฐานจำกัด -- ในเรื่องนี้ มีว่าอย่างไร ? ... 
แต่ถ้ายอมรับว่าการห้ามดังกล่าวเกิดจากการวิเคราะห์ .. ผมก็ขอบอกว่า การวิเคราะห์ของนักวิชาการที่ว่า “ห้ามเอาเนื้อกุรฺบ่านไปบริจาคให้กาฟิรฺ” เป็นการวิเคราะห์ที่ “ฝืน” ต่อข้อเท็จจริงยิ่งกว่าการวิเคราะห์ของผมเรื่องห้ามอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺเสียอีก เพราะการวิเคราะห์ของผม อย่างน้อยก็มีหะดีษที่ถูกต้อง 2 บทที่พอจะเปรียบเทียบกันได้ มารองรับ ...
ข้อนี้ แตกต่างกับเรื่องห้ามเอาเนื้อกุรฺบ่านไปบริจาคให้กาฟิรฺ เพราะไม่มีหะดีษบทใดมารองรับเรื่องการ “ห้าม” ดังกล่าวเอาไว้เลย ...
5.2 อ.อัชอะรีย์กล่าวว่า ... 
ท่านอัชชะอฺบีย์ได้รายงานว่า ...
أَخْبَرَنِىْ مَنْ مَرَّ مَعَ النَّبِىِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَلَى قَبْرٍ مَنْبُوْذٍ فَأَمَّهُمْ وَصَلَّوْا خَلْفَهُ 
“ได้บอกเล่าให้ฉันทราบโดย(ท่านอิบนุอับบาส)ผู้ที่เดินพร้อมกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม บนกุบูรฺที่ถูกปล่อยทิ้งเอาไว้ ดังนั้นท่านนบีจึงเป็นอิมามนำละหมาด (ญะนาซะฮ์)ของพวกเขา และพวกเขาก็ทำการละหมาดหลังท่านนบี” รายงานบุคอรีย์ (1250) ...
ฮะดีษนี้บ่งชี้ชัดเจนว่า ท่านนบีและซอฮาบะฮ์ได้ทำการละหมาดญะนาซะฮ์ที่กุบูรฺ ซึ่งการละหมาดนั้นเป็นเรื่องของอิบาดะฮ์ ยิ่งกว่านั้นในละหมาดญะนาซะฮ์ยังมีการอ่านอัลกุรฺอ่าน(อัลฟาติฮะฮ์) ซ่อลาวาต และดุอาแก่มัยยิตด้วย ดังนั้นการทำอิบาดะฮ์ในกุบูรฺที่มีเป้าหมายยังผลประโยชน์แก่มัยยิตนั้นจึงเป็นที่อนุญาตให้กระทำ ฉะนั้นการอ่านอัล-กุรฺอ่าน ซิกรุลลฮ์ แล้วการขอดุอาฮาดียะฮ์ให้แก่มัยยิตที่กุบูรฺ ย่อมกระทำได้เช่นเดียวกัน ...
และ อ.อัชอะรีย์ยังกล่าวลักษณะเดียวกันนี้ในตอนหลังอีกว่า ...
“การที่ อ.กอเซ็มไม่อธิบายคำว่า “เศาะลาฮ์” หมายถึง “การอ่านอัล-กุรฺอ่าน”ไปเลยนั้น เพราะ อ.กอเซ็มไม่ได้เข้าใจตัวบทฮะดีษในแง่ของ (مًنْطُوْقٌ).. คือไม่ได้เข้าใจ ฮุก่มจากตัวบทแบบความหมายคำตรงที่ถ้อยคำได้ระบุไว้ว่าให้ทำ “ละหมาด” แต่ อ.กอเซ็มเข้าใจตัวบทหะดีษในแง่ของ (مَفْهُوْمٌ) ความเข้าใจที่ได้รับมาจากถ้อยคำ(เศาะลาฮ์) คือการละหมาดญะนาซะฮ์ที่กุบูรฺนั้น เข้าใจว่า ส่วนต่างๆของการละหมาดก็คือการซิกิรฺ, ศ่อลาวาต, อ่านอัลกุรฺอ่าน(อัลฟาติหะฮ์), และขอดุอาแก่มัยยิตที่กุบูรฺ ดังนั้น การซิกิรฺ ศ่อลาวาต อ่านอัล-กุร์อ่าน(ฟาติหะฮ์) และขอดุอาแก่มัยยิตในกุบูรฺ จึงเป็นที่อนุญาตให้กระทำได้นั่นเอง” ... 
“ฮะดีษมุสลิมดังกล่าวนี้ ชี้ถึงอนุญาตให้อ่านอัลกุรฺอ่านที่กุบูรฺได้ ........... เพราะฮะกีษดังกล่าวนี้ไม่ได้ห้ามอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ ไม่ได้บอกว่ามักโระฮ์อ่านอัลกุรฺอ่านที่กุบูรฺ ดังนั้น เมื่อไม่ได้ห้ามก็ยังคงเหลือในเรื่องการอนุญาต” ...
ชี้แจง
ก. ก่อนอื่นต้องขออนุญาตแก้คำแปลของ อ.อัชอะรีย์นิดหนึ่งตรงข้อความที่ว่า قَبْرٍمَنْبُوْذٍ .. ซึ่ง อ.อัชอะรีย์แปลว่า “กุบูรฺที่ถูกปล่อยทิ้งเอาไว้” ...
คำแปลที่ถูกต้อง -- ดังคำอธิบายของท่านอิบนุ้ลอะษีรฺในหนังสือ “อัน-นิฮายะฮ์ ฟี เฆาะรีบิลหะดีษ” เล่มที่ 5 หน้า 6 -- ก็คือ ...
“หลุมที่โดดเดี่ยวซึ่งอยู่ห่างไกลจากหลุมอื่น” : (قَبْرٍمُنْفَرِدٍ بَعِيْدٍ عَنْ غَيْرِهِ) ... 
ข. อ.อัชอะรีย์ ได้กล่าวอ้างข้างๆคูๆว่า การที่ท่านนบีย์และเศาะหาบะฮ์ไปนมาซญะนาซะฮ์ที่กุบูรฺนั้น มีการอ่านฟาติหะฮ์, มีการซิกรุ้ลลอฮ์ในการนมาซด้วย .. ซึ่ง مَفْهُوْمٌ ของมันก็คือ อนุญาตให้อ่านกุรฺอ่านที่กุบูรฺได้ ...
ผมก็ขออ้างข้างๆคูๆในลักษณะ “ย้อนศร” บ้างว่า หลักฐาน “ห้ามนมาซ” ในกุบูรฺที่ผ่านมาในบทก่อน – ไม่ว่านมาซฟัรฺฎู, นมาซสุนัต หรือนมาซมัยยิต – مَفْهُوْمٌ ของมันก็คือ “ห้ามอ่านฟาติหะฮ์” ที่กุบูร ...
เพราะในการนมาซต้องมีการอ่านฟาติหะฮ์ ...
ดังนั้น การห้ามนมาซก็คือการห้ามอ่านฟาติหะฮ์! ... 
และ .. การห้ามอ่านฟาติหะฮ์ที่กุบูรฺ ก็คือ การห้ามอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ (ตามคำอธิบายของ อ.อัชอะรีย์เอง) เอง ...
เอ๊ะ! นี่ผมจะพลอยเป็น .. (?) ..ไปอีกคนหรือนี่ ??? ... 
สรุปแล้ว พื้นฐานการนมาซทุกชนิดในกุบูรฺจึงเป็นเรื่องต้องห้าม! ยกเว้นกรณีเดียวก็คือ มัยยิตถูกฝังไปก่อนแล้ว โดยเราเพิ่งจะทราบและยังไม่ได้นมาซให้ ก็อนุญาตให้ตามไปนมาซที่กุบูรฺทีหลัง .. ซึ่งในกรณียกเว้นดังกล่าวนี้ อ.อัชอะรีย์จะนำมาอ้างเป็นหลักฐานอนุญาตให้อ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆเลย ย่อมไม่ได้ ... 
ค. ผมถาม อ.กอเซ็มว่า .. “นักวิชาการท่านใดบ้างไหมในอดีตที่อ้างเอาหะดีษเรื่องท่านนบีย์นมาซมัยยิตที่กุบูรฺ มาเป็นหลักฐานเรื่อง อนุญาตให้อ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ?” ... 
แต่อ.อัชอะรีย์ (ซึ่งอาสาเป็นนอมินีของ อ.กอเซ็ม)ไม่ยอมตอบคำถามนี้ ... 
ตรงกันข้าม อ.อัชอะรีย์กลับแสดงภูมิรู้อันแตกฉานในวิชาอุศูลุ้ลฟิกฮ์ของตัวเองด้วยการพยายามอธิบายวิธีการ “อิจญติฮาด” ตามแนวทาง “เฉพาะตัว” ..โดยการอ้างเรื่อง مَنْطُوْقٌ และ مَفْهُوْمٌ ของหะดีษบทนั้นซึ่งสรุปว่า สิ่งที่ได้รับความเข้าใจ (مَفْهُوْمٌ) จากหะดีษบทนั้นก็คือ การนมาซมัยยิตในกุบูรฺมีการอ่านอัล-กุรฺอ่านคือฟาติหะฮ์ด้วย .. จึงแสดงว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺเป็นที่อนุญาต ...
อ.อัชอะรีย์กล่าวอ้างอย่างนี้บ่อยครั้ง ซึ่งแสดงว่าป่วยการที่ผมจะไปชี้แจงต่อท่านให้เมื่อยปากต่อไปว่า สิ่งที่มัยยิตในกุบูรฺจะได้รับประโยชน์จากการนมาซให้ ก็ต่อเมื่อเรานำองค์ประกอบทั้งหมดของนมาซนั้น “มาทำรวมกัน” ตามรูปแบบและขั้นตอนในลักษณะการ “นมาซมัยยิต” ดังที่ท่านนบีย์กระทำเท่านั้น .. มิใช่แยกองค์ประกอบของ “นมาซมัยยิต” เพียงอย่างเดียวไปทำที่กุบูรฺ ดังความเข้าใจของ อ.อัลอะรีย์ ...
ด้วยเหตุนี้ ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมจึงไม่เคย “แยกธาตุ” องค์ประกอบของนมาซมัยยิต .. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอ่านฟาติหะฮ์ (หรืออัล-กุรฺอ่านบทใด) ..ไปอ่านที่กุบูรฺของผู้ตายคนใดแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งๆที่ท่านมีโอกาสตลอดเวลาที่จะปฏิบัติสิ่งเหล่านี้ เพราะบ้านของท่านอยู่ใกล้กุบูรฺบะเกี๊ยะอฺ ... 
หาก อ.อัชอะรีย์ยังยืนกระต่ายขาเดียวในเรื่องนี้ต่อไปผมก็ไม่ขอต่อล้อต่อเถียงกับท่านอีกแล้ว แต่ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบดังต่อไปนี้ ... 
สมมุติถ้า “การนมาซมัยยิต” ในหะดีษบทนั้นคือ “ต้มยำ”, .. และกุบูรคือ “หม้อใส่ต้มยำ” ...
อ.อัชอะรีย์คงรู้ดีว่า สิ่งที่จะเรียกว่า “ต้มยำ” ตามความเข้าใจของ “คนปกติธรรมดา” ทั่วๆไปนั้น จะต้องประกอบขึ้นจากกุ้งหรือปลาหรือเนื้อ, ตะไคร้, ใบมะกรูด, ข่า, พริกสด, มะเขือเทศ, มะนาว, น้ำปลา, ต้นหอม, คึ่นฉ่าย เป็นต้น ...
ไม่เคยปรากฏเลยสักครั้งเดียวที่แม่ครัวเอกของโลกจะนำส่วนประกอบของต้มยำทั้งหมดดังกล่าวนั้นไปแยกออก แล้วนำเพียง “อย่างใดอย่างหนึ่ง” ไปใส่ใน “หม้อต้ม” เพื่อให้ผู้ใด(คือ มัยยิต) บริโภค .. (ยกเว้นอิสติฆฟารฺ)...
ทั้งนี้ เพราะท่านรู้ดีว่า ต้มยำที่มีคุณค่าอย่างแท้จริงตามหลักโภชนาการต่อผู้บริโภค จะต้องใส่เครื่องปรุงทั้งหมด “รวมกัน” เท่านั้น ... 
แต่ อ.อัชอะรีย์กลับจะเอา “ใบมะกรูด” เพียงอย่างเดียวใส่ลงในหม้อ แล้วก็ยืนยัน(และนั่งยัน)แบบหัวชนฝาว่า การต้มใบมะกรูดอย่างเดียวในหม้อก็ “มีคุณค่า” ต่อผู้บริโภคเหมือนการทำต้มยำด้วยเครื่องปรุงทั้งหมดทุกประการ ...
เมื่อผมถามว่า เคยมีใครในโลกทำต้มยำในหม้อแบบนี้มาก่อนบ้างไหม ? . อ.อัชอะรีย์ไม่ยอมตอบคำถามนี้! .. แต่กลับยืนกรานอย่างหนักแน่นเพียงว่า “ใบมะกรูด” อย่างเดียวในหม้อ ก็มีคุณค่าเหมือนต้มยำและอนุญาตให้ทำได้ .. โดยอ้างเหตุผลว่า เพราะไม่เคยมีใคร“ห้าม” เอาใบมะกรูดอย่างเดียวใส่หม้อต้ม, และใบมะกรูดก็เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของต้มยำ ... 
แถมยังท้าว่า .. ให้ผมหาหลักฐานมาซิว่าเคยมีคนห้ามมิให้ทำอย่างนี้ .. และผมจะปฏิเสธไหมว่าใบมะกรูดก็เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของเครื่องต้มยำ ?? ...
โดนเข้าแบบนี้ บอกตรงๆว่าผมก็ไม่รู้จะเถียงท่านยังไงเหมือนกัน เพราะเป็นความจริงของท่าน ...
เรื่องนี้จึง ซตพ.ได้อย่างลงตัวว่า ผมยอมรับนับถือ อ.อัชอะรีย์ด้วยความเต็มใจยิ่งและขอแต่งตั้งท่านให้ดำรงตำแหน่งเป็น “ซุปเปอร์แม่ครัวคนแรกของโลก” (อ้อ, เกือบลืม อ.กอเซ็มอีกคนแน่ะ) ที่มีแนวคิดเอาใบมะกรูดใส่หม้อ แล้วอวดอ้างว่ามีสรรพคุณและคุณค่าทางโภชนาการเหมือนต้มยำที่ครบเครื่องทุกประการ ด้วยเหตุผลที่ว่าใบมะกรูดก็คือองค์ประกอบหนึ่งของต้มยำ และก็ไม่เคยมีใครห้ามต้มใบมะกรูดอย่างเดียวในหม้อด้วย ...
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ... 
ง. หะดีษจากการรายงานของท่านอัช-ชะบีย์ ที่ อ.อัชอะรีย์นำมาอ้างข้างต้น ไม่ใช่เป็นหลักฐานอนุญาตให้ไปนมาซญะนาซะฮ์ที่กุบูรฺได้อย่างเสรีโดยปราศจากเงื่อนไข ดังความเข้าใจของ อ.อัชอะรีย์ ...
แต่หะดีษข้างต้นมีความหมายถึง .. การไปนมาซ “ญะนาซะฮ์ที่ถูกฝังไปแล้ว” และผู้นมาซเพิ่งจะมารู้ในตอนหลัง! ... 
การนมาซญะนาซะฮ์ในลักษณะดังกล่าวจึงถือเป็นข้อยกเว้นจาก “การห้ามนมาซญะนาซะฮ์ในกุบูรฺ” .. ดังที่ผมอธิบายไปแล้ว ...
ข้อเท็จจริงของหะดีษบทข้างต้น เป็นดังนี้ ...
ท่านบุคอรีย์ได้บันทึกหะดีษบทนี้จากการรายงานของท่านอัช-ชะอฺบีย์, ซึ่งรายงานมาจากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ด้วยข้อความย่อๆดังข้างต้น ..ในหนังสือ “อัศ-เศาะเหี๊ยะฮ์” ของท่านใน 4 ตำแหน่งด้วยกันคือ หะดีษที่ 857, 1319, 1322, และ 1336 ...
แต่ .. ท่านบุคอรีย์ก็ได้บันทึกหะดีษบทเดียวกันนี้จากการายงานของท่านอัช-ชะอฺบีย์, จากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. เช่นเดียวกัน ด้วยข้อความที่ชัดเจนกว่าการบันทึกข้างต้น ในหะดีษที่ 1247, 1321, 1326, และ 1340 ..ซึ่งในที่นี้ผมจะนำเสนอเพียง 2 บทคือ 
1. ท่านบุคอรีย์ ได้บันทึกรายงานจากท่านอัช-ชะอฺบีย์ (ชื่อจริงคือ อามิรฺ บิน ชะรอฮีล) ซึ่งรายงานจากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. (หะดีษที่ 1247) ว่า ...
مَاَت إِنْسَانٌ كَانَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَعُوْدُهُ، فَمَاتَ بِاللَّيْلِ، فَدَفَنُوْهُ لَيْلاً، فَلَمَّا أَصْبَحَ أَخْبَرَهُ، فَقَالَ : مَا مَنَعَكُمْ أَنْ تُعْلِمُوْنِىْ ؟ قَالُوْا : كَانَ اللَّيْلُ، فَكَرِهْنَا – وَكَانَتْ ظُلْمَةٌ – أَنْ نَشُقَّ عَلَيْكَ. فَأَتَى قَبْرَهُ فَصَلَّى عَلَيْهِ
“ชายผู้หนึ่งซึ่งท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมเคยไปเยี่ยมเขาบ่อยๆตอนป่วยได้ตายลงในตอนกลางคือ แล้วพวกเขาก็ได้ทำการฝังตั้งแต่กลางคืน, พอรุ่งขึ้นพวกเขาก็บอกเรื่องนี้แก่ท่านนบีย์ ท่านจึงกล่าวว่า “ทำไมพวกท่านจึงไม่บอกให้ฉันรู้บ้าง” .. พวกเขาตอบว่า .. “มันเป็นกลางคืน, พวกเราไม่อยาก – เพราะมันมืด – ให้ท่านต้องลำบาก” .. ท่านจึงไปที่กุบูรฺของเขาแล้วก็นมาซให้เขา” ...
2. ท่านบุคอรีย์ ได้รายงานหะดีษนี้จากท่านอัช-ชะอฺบีย์, จากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. อีกสำนวนหนึ่งว่า ...
أَنَّ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ مَرَّ بِقَبْرٍ قَدْ دُفِنَ لَيْلاً، فَقَالَ : مَتىَ دُفِنَ هَذَا قَالُوْا : اَلْبَارِحَةَ، قَالَ : أَفَلاَ آذَنْتُمُوْنِىْ ؟ قَالُوْا : دَفَنَّاهُ فِى ظُلْمَةِ اللَّيْلِ فَكَرِهْنَا أَنْ نُوْقِظَكَ، فَقَامَ فَصَفَفْنَا خَلْفَهُ
“แท้จริงท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมได้เดินผ่านหลุมศพหลุมหนึ่งซึ่งถูกฝังในตอนกลางคืน, ท่านกล่าวถามว่า .. “เขาถูกฝังเมื่อไรกันนี่?” .. พวกเขาตอบว่า .. “ตั้งแต่เมื่อคืนแล้วครับ” .. ท่านนบีย์จึงกล่าวว่า .. “แล้วทำไมพวกท่านไม่บอกให้ฉันรู้บ้าง?” .. พวกเขาบอกว่า ..”พวกเราฝังเขาในความมืดยามกลางคืน จึงไม่อยากปลุกท่าน” .. ดังนั้นท่านนบีย์จึงยืนขึ้น (เพื่อนมาซให้เขา) แล้วพวกเราก็จัดแถว(นมาซ)ข้างหลังท่าน” ...
(บันทึกโดยท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 1321) ...
สรุปแล้ว หะดีษที่ อ.อัชอะรีย์นำมาอ้างข้างต้นจึงเป็นหลักฐานยืนยันและสนับสนุนคำกล่าวของผม ไม่ใช่หลักฐานยืนยันทัศนะของ อ.อัชอะรีย์ ...




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น