อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ชี้แจง .. บทวิภาษของ อ.อัชอะรีย์ต่อ อ.ปราโมทย์ (ตอนที่ 6)



ชี้แจงเรื่องการอุทิศผลบุญแก่ผู้ตาย

โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย
(6). ชี้แจงเรื่องการอุทิศผลบุญแก่ผู้ตาย
6.1 อ.อัชอะรีย์ ได้อ้างคำพูดท่านอิบนุตัยมียะฮ์จากหนังสือ “มัจญมูอะอ์ อัล-ฟะตาวีย์” ว่า ...
“และที่ถูกต้องนั้นคือ ทั้งหมด (จากการถือศีลอด, การละหมาด, การอ่านอัล-กุรฺอ่านนั้น) ฮะดียะฮ์ผลบุญไปให้ ผลบุญจะถึงไปยังผู้ตาย ....”
และ อ.อัชอะรีย์ยังได้อ้างทัศนะท่านอิหม่ามอะห์มัดและท่านอิบนุ้ลก็อยยิมในอีก 7 หน้าถัดมาว่า ผลบุญการอ่านอัล-กุรฺอ่านนั้น ฮะดียะฮ์ถึงผู้ตาย ..โดยเฉพาะท่านอิบนุ้ลก็อยยิม ได้กล่าวในหนังสือ “อัร-รูห์” ว่า ...
“หากถามว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านฮะดียะฮ์ผลบุญให้ผู้ตายนั้นไม่เป็นที่รู้กันจากสะลัฟ, และท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมก็ไม่ได้แนะนำพวกเขาไว้ .. คำตอบก็คือ หากผู้ที่นำคำถามนี้มาได้ยอมรับว่า ผลบุญการทำหัจญ์, การถือศีลอด, และการขอดุอาอ์นั้น ถึงไปยังผู้ตาย ก็ขอกล่าวตอบแก่เขาว่า อะไรคือข้อแบ่งแยก(หรือความแตกต่าง)ระหว่างสิ่งดังกล่าวกับผลบุญการอ่านอัล-กุรฺอ่านถึงผู้ตาย ? ............”
แล้ว อ.อัชอะรีย์ก็กล่าวสรุปว่า ...
“ท่านอิบนุก็อยยิมได้กล่าวว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านฮะดียะฮ์ผลบุญแก่ผุ้ตายนั้น แม้ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมไม่เคยกระทำและไม่เป็นที่รู้กัน แต่มีหลักฐานให้ทำการอ่านอัล-กุรฺอ่านและยืนยันว่าผลบุญของอิบาดะฮ์นั้นถึงแก่ผู้ตาย ก็ถือว่าไม่เป็นบิดอะฮ์แต่ประการใด .....”
ชี้แจง
ผมได้กล่าวเอาไว้ในการวิภาษคำบรรยายของ อ.กอเซ็มแล้วว่า ผมจะไม่พูดเรื่องผลบุญการอ่านอัล-กุรฺอ่าน ถึง-หรือไม่ถึงผู้ตาย เพราะผมไม่ใช่อัลลอฮ์ ...
แต่ผมจะพูดในแง่ข้อเท็จจริงของหลักฐาน ...
ถ้า อ.อัชอะรีย์จะอ้างทัศนะของนักวิชาการที่ว่าถึง ผมก็สามารถอ้างทัศนะนักวิชาการจำนวนมากได้เช่นเดียวกันที่ว่า ไม่ถึง, .. แม้กระทั่งบางทัศนะของท่านอิหม่ามอะห์มัด, ท่านอิบนุตัยมียะฮ์ และท่านอิบนุ้ลก็อยยิมเองก็ตาม ...
อ.อัชอะรีย์ได้อ้างคำพูดท่านอิบนุตัยมียะฮ์จากหนังสือมัจญมูอะฮ์ อัล-ฟะตาวีย์ว่า .. ผลบุญการการถือศีลอด, การละหมาด, การอ่านอัล-กุรฺอ่านนั้น ฮะดียะฮ์ (อุทิศ) ให้ผู้ตายได้ ...
ผมขอกล่าวว่า ก็ท่านอิบนุตัยมียะฮ์เองมิใช่หรือที่ได้บันทึกคำพูดของท่านอิหม่ามอะห์มัดในหนังสือ “อัล-อิคติยารอต อัล-อิลมียะฮ์” หน้า 54 ว่า ...
وَلَمْ يَكُنْ مِنْ عَادَةِ السَّلَفِ إِذَا صَلَّوْا تَطَوُّعًا، أَوْصَامُوْا تَطَوُّعًا، أَوْحَجُّوْا تَطَوُّعًا، أَوْقَرَؤُوْاالْقُرْآنَ يُهْدُوْنَ ثَوَابَ ذَلِكَ إِلَى أَمْوَاتِ الْمُسْلِمِيْنَ، فَلاَ يَنْبَغِىْ الْعُدُوْلُ عَنْ طَرِيْقَةِ السَّلَفِ، فَإِنَّهُ أَفْضَلُ وَأَكْمَلُ ...
“และไม่เคยมีปรากฏแบบอย่างหรือธรรมเนียมของชาวสะลัฟว่า เมื่อพวกเขานมาซสุนัต, ถือศีลอดสุนัต, ทำหัจญ์สุนัตหรืออ่านอัล-กุรฺอ่านแล้ว พวกเขาจะฮะดียะฮ์(อุทิศ)ผลบุญของสิ่งดังกล่าว ให้แก่บรรดามุสลิมที่ล่วงลับไปแล้วแต่ประการใด ดังนั้นจึงไม่ควรหันเหออกจากแนวทางสะลัฟเหล่านี้ เพราะมันเป็นแนวทางที่ประเสริฐที่สุด และสมบูรณ์เพียบพร้อมที่สุดแล้ว” ...
คำพูดข้างต้นนี้ คือการยอมรับว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านอุทิศผลบุญให้แก่ผู้ตายนั้น ไม่ใช่เป็นการกระทำของชาวสะลัฟ, และแนวทางของสะลัฟ(ไม่อุทิศผลบุญการอ่านอัล-กุรฺอ่านให้ผู้ตายคนใด) ถือเป็นแนวทางที่ดีเลิศที่สุดและสมบูรณ์แบบที่สุด ...
จึงอยากจะถาม อ.อัชอะรีย์ว่า ระหว่างผมกับท่าน ใครกันแน่คือผู้ปฏิบัติตามแนวทางสะลัฟในเรื่องนี้ ??? ...
ส่วนที่ อ.อัชอะรีย์อ้างทัศนะท่านอิบนุ้ลก็อยยิมที่ส่งเสริมให้ฮะดียะฮ์ผลบุญการอ่านอัล-กุรฺอ่านให้แก่ผู้ตาย ในหนังสือ “อัร-รูห์” .. แล้ว อ.อัชอะรีย์ก็กล่าวสรุปว่าตามทัศนะของท่านอิบนุ้ลก็อยยิมถือว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านเพื่ออุทิศผลบุญให้แก่ผู้ตายไม่เป็นบิดอะฮ์นั้น ...
ข้อนี้ อ.อัชอะรีย์สรุปเอาเอง โดยไม่ได้ตรวจสอบดูคำพูดท่านอิบนุลก็อยยิมให้ถี่ถ้วนเสียก่อน ...
เพราะท่านอิบนุ้ลก็อยยิมได้กล่าวในหนังสือ “ซาดุ้ลมะอาด” ว่า ...
وَلَمْ يَكُنْ مِنْ هَدْيِهِ أَنْ يُجْتَمَعَ لِلْعُزَّاءِ، وَيُقْرَأَ لَهُ الْقُرْآنُ لاَ عِنْدَ قَبْرِهِ وَلاَ غَيْرِهِ، وَكُلُّ هَذَا بِدْعَةٌ حَادِثَةٌ مَكْرُوْهَةٌ
“และไม่เคยมีปรากฏในทางนำท่านนบีย์ว่า จะมีการชุมนุมกัน(ของครอบครัวผู้ตาย) เพื่อ (รอ)ผู้ปลอบโยนและอ่านอัล-กุรฺอ่านให้แก่ผู้ตาย ไม่ว่าที่กุบูรหรือที่อื่น(เช่นที่บ้าน) ทุกอย่างนี้เป็นอุตริกรรม(บิดอะฮ์) ที่เพิ่งบังเกิดขึ้น และเป็นเรื่องน่ารังเกียจ” ...
(จากหนังสือ “ซาดุ้ลมะอาด” ของท่านอิบนุ้ลก็อยยิม เล่มที่ 1 หน้า 179) ...
ท่านอิบนุ้ลก็อยยิม ได้ยอมรับในหนังสือซาดุ้ลมะอาดว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านเพื่ออุทิศผลบุญให้แก่ผู้ตาย ไม่ว่าที่บ้านหรือที่กุบูร มิใช่เป็นทางนำของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมและเป็นบิดอะฮ์ที่น่ารังเกียจ (คือหะรอม) ตามทัศนะของท่านที่ผ่านมา ..
ถ้าอย่างนั้น การที่ท่านอิบนุ้ลก็อยยิมส่งเสริมให้อ่านอัล-กุรฺอ่านเพื่ออุทิศผลบุญให้แก่ผู้ตาย ดังข้อมูลจากหนังสือ “อัร-รูห์” ที่ อ.อัชอะรีย์นำมาอ้างนั้น ท่านเอาหลักฐานมาจากไหน ? ...
คำตอบก็คือ เมื่อเราพิจารณาดูคำกล่าวของท่านอิบนุ้ลก็อยยิมตอนถัดมา จากหนังสือ “อัรฺ-รูห์” ก็จะเป็นที่ชัดเจนว่า ท่านใช้หลักกิยาส! .. คือนำเรื่องการอ่านอัล-กุรฺอ่านเพื่ออุทิศผลบุญให้ผู้ตาย –- ที่ท่านกล่าวในหนังสือ “ซาดุ้ลมะอาด”ว่า “มิใช่เป็นทางนำท่านนบีย์และเป็นบิดอะฮ์ที่น่ารังเกียจ” –ไปเปรียบเทียบ(قِيَاسٌ)กับเรื่องการทำหัจญ์, การถือศีลอด และการขอดุอาให้แก่ผู้ตาย ซึ่งมิใช่ปัญหาขัดแย้งเพราะเป็นเรื่องที่มีหลักฐานถูกต้องจากซุนนะฮ์ ...
เพราะท่านอิบนุ้ลก็อยยิมได้กล่าว(ตามคำแปลของ อ.อัชอะรีย์)ในตอนหลังว่า ...
“หากถามว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านฮะดียะฮ์ผลบุญให้ผู้ตายนั้น ไม่เป็นที่รู้จักกันจากสะลัฟ และท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมก็ไม่ได้แนะนำพวกเขาไว้ คำตอบก็คือ หากผู้ที่นำคำถามนี้มาได้ยอมรับว่า ผลบุญการทำหัจญ์, การถือศีลอด, และการขอดุอาอ์นั้นถึงไปยังผู้ตาย ก็ขอกล่าวตอบแก่เขาว่า อะไรคือข้อแบ่งแยก(หรือความแตกต่าง)ระหว่างสิ่งดังกล่าวกับผลบุญการอ่านอัล-กุรฺอ่านถึงผู้ตาย ?” ...
การ “กิยาส” ดังกล่าวของท่านอิบนุ้ลก็อยยิม ออกจะเป็นการกิยาสแปลกประหลาด เพราะนอกจากเป็นการนำสิ่งที่ท่านเองกล่าวว่าเป็นบิดอะฮ์ที่น่ารังเกียจ ไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่เป็นซุนนะฮ์แล้ว .. ยังเป็นการกิยาสที่ “อ่อนหลักฐาน” (ضَعِيْفٌ) .. ดังคำกล่าวของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ ด้วย ...
ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “ชัรฺห์มุสลิม” ของท่าน เล่มที่ 1 หน้า 90 เกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งในการอ่านอัล-กุรฺอ่านให้แก่ผู้ตายว่า ...
وَذَهَبَ جَمَاعَاتٌ مِنَ الْعُلَمَاءِ إِلَى أَنَّهُ يَصِلُ إِلَى الْمَيِّتِ ثَوَابُ جَمِيْعِ الْعِبَادَاتِ مِنَ الصَّلاَةِ، وَالصَّوْمِ، وَالْقِرَاءَةِ وَغَيْرِذَلِكَ ........... كُلُّ هَذِهِ الْمَذَاهِبِ ضَعِيْفَةٌ! وَدَلِيْلُهُمْ الْقِيَاسُ عَلَى الدُّعًاءِ وَالصَّدَقَةِ وَالْحَجِّ، وَدَلِيْلُ الشَّافِعِىِّ وَمُوَافِقِيْهِ قَوْلُ اللهِ تَعَالَى : وَأَنْ لَيْسَ لِلإِنْسَانِ إِلاَّ مَا سَعَى ...
“มีอยู่หลายกลุ่มจากนักวิชาการที่มีทัศนะว่า ผลบุญของอิบาดะฮ์ทุกอย่าง ..ไม่ว่าจะเป็นการนมาซ, การถือศีลอด, การอ่านอัล-กุรฺอ่านและอื่นๆ จะถึงไปยังผู้ตายได้, ............ แต่ทุกๆทัศนะดังกล่าวมานี้ ล้วนเฎาะอีฟ (อ่อนหลักฐาน)ทั้งสิ้น!.. ซึ่งหลักฐานของพวกเขาก็คือ การ “กิยาส” กับเรื่องการขอดุอา, การเศาะดะเกาะฮ์ และการทำหัจญ์ ส่วนหลักฐานของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์และบรรดาผู้ที่มีทัศนะตรงกันกับท่าน (ที่ว่าผลบุญการอ่านอัล-กุรฺอ่านอุทิศไม่ถึงผู้ตาย) ก็คือ โองการของพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ที่ว่า .. “แน่นอน จะไม่ได้แก่มนุษย์ นอกจากสิ่งที่เขาเคยขวนขวายเอาไว้เท่านั้น” ...
ท่านอิบนุกุดามะฮ์ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “อัล-มุฆนีย์” เล่มที่ 2 หน้า 428 มีข้อความตอนหนึ่งว่า ...
قَالَ الشَّافِعِىُّ : مَاعَدَاالْوَاجِبَ، وَالصَّدَقَةَ، وَالدُّعَاءَ، وَاْلإِسْتِغْفَارَ لاَ يُفْعَلُ عَنِ الْمَيِّتِ وَلاَ يَصِلُ ثَوَابُهُ إِلَيْهِ، لِقَوْلِ اللهِ تَعَالَى : وَأَنْ لَيْسَ لِلإِنْسَانِ إِلاَّ مَا سَعَى
ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์กล่าวว่า .. “สิ่งอื่นจาก(หัจญ์)ที่วาญิบ, อื่นจากเศาะดะเกาะฮ์, อื่นจากดุอา และอื่นจากอิสติฆฟารฺ (ขออภัยโทษให้ผู้ตาย) แล้ว ก็ไม่ต้องทำให้ผู้ตายและผลบุญของมันก็ไม่ถึงผู้ตายด้วย .. เพราะพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงดำรัสไว้แล้วว่า .. “แน่นอน จะไม่ได้แก่มนุษย์ นอกจากสิ่งที่เขาเคยขวนขวายเอาไว้เท่านั้น” ...
ท่านอิซซุดดีน อิบนุอับดุสสลาม นักวิชาการมีระดับอีกท่านหนึ่งกล่าวอีกว่า ...
وَمَنْ فَعَلَ طَاعَةً ِللهِ تَعَالَى ثُمَّ أَهْدَى ثَوَابَهَا إِلَى حَيٍّ أَوْ مَيِّتٍ لَمْ يَنْتَقِلْ ثَوَابُهَا إِلَيْهِ، إِذْ .. لَيْسَ ِللإِنْسَانِ إِلاَّ مَا سَعَى .. فَإِنْ شَرَعَ فِى الطَّاعَةِ نَاوِيًا أَنْ يَقَعَ عَنِ الْمَيِّتِ لَمْ يَقَعْ عَنْهُ إِلاَّ فَيْمَا اسْتَثْنَاهُ الشَّرْعُ كَالصَدَقَةِ، وَالصَّوْمِ، وَالْحَجِّ ...
“และผู้ใดที่กระทำความดี(ฏออัต)เพื่ออัลลอฮ์ .. แล้ว “อุทิศ” ผลบุญของความดีนั้นให้แก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว ผลบุญดังกล่าวจะไม่ถึงไปยังผู้ถูกอุทิศให้ ทั้งนี้เพราะ .. จะไม่ได้แก่มนุษย์ นอกจากสิ่งที่เขาเคยขวนขวายเอาไว้เท่านั้น .. ดังนั้น ผู้ใดเริ่มต้นกระทำความดีโดยตั้งเจตนาว่าจะทำแทนให้แก่ผู้ตายคนใด ผลบุญอันนั้นก็หาได้แก่ผู้ตายไม่ นอกจากสิ่งที่ศาสนาได้มีบัญญัติยกเว้นไว้ให้ เช่นการเศาะดะเกาะฮ์, การถือศีลอด, การทำหัจญ์ เป็นต้น” ...
(จากหนังสือ “อัล-ฟะตาวีย์” ของท่านอิซซุดดีน อิบนุอับดิสสลาม” เล่มที่ 24 หน้า 2 ตีพิมพ์เมื่อปี ฮ.ศ. 1692) ...
ท่านอิซซุดดีน อิบนุอับดิสสลาม ยังกล่าวอีกว่า ...
وَلاَ يَجُوْزُ أَنْ يُجْعَلَ ثَوَابُ الْقِرَاءَةِ لِلْمَيِّتِ ِلأَنَّهُ تَصَرُّفٌ فِى الثَّوَابِ مِنْ غَيْرِ إِذْنِ الشَّارِعِ
“การอุทิศผลบุญการอ่านอัล-กุรฺอ่านให้แก่ผู้ตายนั้น ไม่เป็นที่อนุมัติ (คือเป็นเรื่องต้องห้าม) เพราะเป็นการนำเอาผลบุญมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บัญญัติศาสนา” (หมายถึงพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.) ...
(จากหนังสือ “มุฆนีย์ อัล-มุห์ตาจญ์” เล่มที่ 3 หน้า 69) ...
สรุปแล้วการอ่านอัล-กุรฺอ่านให้แก่ผู้ตายจึงเป็นเรื่องขัดแย้งกันระหว่างนักวิชาการ ซึ่งหากจะนำทัศนะต่างๆที่ขัดแย้งเหล่านี้มาพูดกัน 3 วัน 3 คืนก็คงจะไม่จบ ...
และนี่คือเหตุผลที่ผมมิได้นำเอาทัศนะนักวิชาการเรื่องอุทิศผลบุญการอ่านอัล-กุรฺอ่านไม่ถึงผู้ตาย มาอ้างถึงในการวิภาษคำบรรยาย อ.กอเซ็ม ...
แต่โปรดสังเกตด้วยว่า ทัศนะของนักวิชาการที่อ้างว่า ผลบุญของการอ่านอัล-กุรฺอ่านถึงผู้ตาย หลักฐานพวกเขาก็คือ หะดีษเฎาะอีฟ หรือไม่ก็การ “กิยาส” กับสิ่งที่มีหลักฐาน .. เช่นดุอา, เศาะดะเกาะฮ์, หัจญ์ และ ถือศีลอด .. ดังการยอมรับของท่านอิบนุ้ลก็อยยิมข้างต้นและท่านอัส-สะยูฏีย์ในหนังสือ “ชัรฺหุศศุดูรฺ” หน้า 310-311 ..
แต่หลักฐานของผู้ที่ว่า .. “ผลบุญของการอ่านอัล-กุรฺอ่านไม่ถึงผู้ตาย” .. คือพระดำรัสของพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ในอัล-กุรฺอ่านซูเราะฮ์อัน-นัจญ์ อายะฮ์ที่ 39 .. ดังคำกล่าวของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์และนักวิชาการที่มีระบุนามในข้อมูลข้างต้น ...
ก็ขอให้ท่านผู้อ่านใช้วิจารณญาณเอาเองเถิดว่า ระหว่างหะดีษเฎาะอีฟหรือการกิยาส(ที่เฎาะอีฟ) กับการวิเคราะห์มาจากอัล-กุรฺอ่านนั้น .. อย่างไหนจะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่ากัน ...
6.2 อ.อัชอะรีย์กล่าวว่า ... “ความจริงแล้ว การอุทิศหรือฮะดียะฮ์ผลบุญก็คือ การสะสมการอภัยโทษของอัลลอฮ์ให้แก่บรรดาผู้ล่วงลับไปแล้วนั่นเอง เพราะคำว่า “ผลบุญ” ภาษาอาหรับเรียกว่า اَلثَّوَابُ (อัษ-ษะวาบ) ...
ท่านอิหมามอัชชะรีฟ อัลญุรญานีย์ ได้ให้คำนิยามคำว่าอัษษะวาบ (ผลบุญ) ตามหลักการศาสนา (اَلشَرْعِىُّ) ความว่า ...
“สิ่งที่เหมาะสมยิ่งที่จะได้รับความเมตตาและการอภัยโทษจากอัลลอฮ์ตะอาลา และการช่วยเหลือ (ชะฟาอัต)จากท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม”
กล่าวคือ ผลบุญนั้นคือการปฏิบัติความดีงามที่จะได้รับซึ่งผลตอบแทนในรูปแบบของความเมตตา การอภัยโทษของอัลลอฮ์ตะอาลาและการชะฟาอัตของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ....”
และ อ.อัชอะรีย์ได้กล่าวในลักษณะ “สมมุติคำถาม” ..ว่าจะฮะดียะฮ์ผลบุญให้ผู้ตายได้หรือไม่? .. แล้ว อ.อัชอะรีย์ก็ตอบเองว่า ...
“ได้ครับ เพราะอัลลอฮ์ตะอาลาได้ทรงบัญชาให้เราทำการอิสติฆฟารขออภัยโทษจากอัลลอฮ์ให้แก่พี่น้องมุสลิม ซึ่งการขออภัยโทษจากอัลลอฮ์นั้น ส่วนหนึ่งก็อยู่ในความหมายผลบุญนั่นเองครับ ดังนั้นผลบุญเราสามารถขอดุอาต่ออัลลอฮ์ให้พระองค์ทรงมอบฮะดียะฮ์ผลบุญของเราให้แก่พี่น้องมุสลิมได้” ...
ชี้แจง
สรุปคำกล่าวของ อ.อัชอะรีย์ข้างต้นก็คือ ...
1. การฮะดียะฮ์หรืออุทิศผลบุญ หมายถึง การสะสมการอภัยโทษของอัลลอฮ์ให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ...
2. การอภัยโทษของอัลลอฮ์ให้แก่ผู้ใด ถือเป็นความหมายหนึ่งของคำว่า “ผลบุญ” .. ดังคำอธิบายของท่านอิหม่ามอัชชะรีฟ อัล-ญุรญานีย์ ...
3. ดุอาอิสติฆฟารฺ (ขออภัยโทษให้แก่ผู้ตาย) กับดุอาฮะดียะฮ์(อุทิศ)ผลบุญแก่ผู้ตาย มีความหมายอย่างเดียวกัน ...
4. ผลบุญจากการกระทำความดีของเรา สามารถอุทิศให้พี่น้องมุสลิมที่ตายได้ ...
ผมขออธิบายและชี้แจงในแต่ละข้อดังนี้ ...
1. คำกล่าวที่ว่า “การฮะดียะฮ์ผลบุญคือการสะสมการอภัยโทษของอัลลอฮ์ให้แก่ผู้ตาย” นั้น ...
ผู้ใดอ่านข้อความนี้เข้าใจ ก็โปรดช่วยอธิบายผมหน่อย ...
เพราะคำว่า “ฮะดียะฮ์หรืออุทิศผลบุญ” ตามที่ผมและใครๆเข้าใจกัน หมายถึงการที่คนเป็น ส่งมอบหรืออุทิศผล “ความดี” ที่ตนเองเคยกระทำไปให้แก่ผู้ตาย ...
ส่วนการ “อภัยโทษ” นั้น เป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์ที่จะอภัยใน “ความผิด” ของผู้ใดก็ได้ แม้จะไม่มีผู้ทำความดีคนใดขอให้, และไม่ว่าผู้ทำผิดนั้นจะเป็นคนเป็นหรือคนตาย ...
แล้วการที่อัลลอฮ์จะอภัยโทษให้แก่ “ความผิด” ของมนุษย์คนใดตามประสงค์ของพระองค์ มันไปเกี่ยวอะไรกับการที่ใครสักคนจะส่ง “ความดี” ของตนเองให้เขาด้วย? .. และทำไมการอภัยโทษของอัลลอฮ์ต้องมีการสะสมด้วย ?? ...
2. คำนิยามของคำว่าผลบุญ (ثَوَابٌ) ของท่านอัช-ชะรีฟ อัล-ญุรฺญานีย์ข้างต้น แล้ว อ.อัชอะรีย์อธิบายว่า .. “คือการปฏิบัติความดีงามที่จะได้รับซึ่งผลตอบแทนในรูปแบบของความเมตตา การอภัยโทษของอัลลอฮ์ตะอาลา การชะฟาอะฮ์ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม”.. นั้น ...
ในทัศนะของผมถือว่า เป็นคำนิยามและเป็นคำอธิบายที่ถูกต้องที่สุด ...
แต่ที่ไม่ถูกก็คือความ “เข้าใจ” ของ อ.อัชอะรีย์ที่ว่าการ “ขออภัยโทษ” คือผลบุญ
เพราะคำว่า “ผลบุญ” เราแปลมาจากภาษาอาหรับว่า “ثَوَابٌ” .. ซึ่งมีความหมายตามหลักภาษาว่า جَزَاءٌ (การตอบแทน) ...
ในหนังสือปทานุกรม “อัล-มุนญิด” หน้า 75 ได้อธิบายความหมายคำว่า “ثَوَابٌ” ว่า ...
اَلثَّوَابُ الْجَزَاءُ عَلَى اْلأَعْمَالِ، خَيْرِهَا وَشَرِّهَا، وَأَكْثَرُاسْتِعْمَالِهِ فِى الْخَيْرِ
“ษะวาบ ก็คือ การตอบแทนการกระทำ, ไม่ว่ากระทำดีหรือกระทำชั่ว .. แต่ส่วนมากแล้วจะใช้ในการตอบแทนความดี ...
นี่คือ ความหมาย ثَوَابٌ ตามหลักภาษา ...
และคำว่า “ผลบุญ” นี้ ในอัล-กุรฺอ่านและในอัล-หะดีษจะมีสำนวนใช้อีกคำหนึ่ง คือคำว่า أَجْرٌ (ซึ่งมีความหมายว่า รางวัล) ...
คำว่า “รางวัล” หรือ أَجْرٌ จะมีความหมายถึงการตอบแทนให้แก่ผู้ทำดีเท่านั้น ...
ในหนังสือ “กอมูส อัล-กุรฺอ่าน” หน้า 17 มีการอธิบายความหมายคำว่า أَجْرٌ ว่า ...
اَلأَجْرُ الثَّوَابُ عَلَى الطَّاعَةِ .........
“อัล-อัจญรุ (รางวัล) ก็คือผลบุญตอบแทนต่อความภักดี (ฏออัต)” ...
โดยนัยนี้ คำว่า “ษะวาบ” ที่มีความหมายเดิมตามหลักภาษาว่า การตอบแทนการกระทำไม่ว่าดีหรือชั่ว จึงมีความหมายตามหลักการศาสนาว่า เป็น “ผลบุญ” .. คือการ “ให้รางวัล” ตอบแทน “ความดี” เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ตอบแทนการกระทำ “ความชั่ว”
เมื่อบุคคลใดกระทำความดี(ฏออัต) ต่ออัลลอฮ์ ด้วยการนมาซ, การถือศีลอด, การบริจาคซะกาต เป็นต้น พระองค์อัลลอฮ์ก็จะให้ “รางวัล” ตอบแทนการกระทำความดีนั้นแก่เขา ดังที่เราเรียกกันว่า “ให้ผลบุญแก่เขา” ...
หรือเมื่อบุคคลใดเคยทำบาปเล็กบางอย่าง แล้วพระองค์อัลลอฮ์สัญญาว่าหากเขาถือศีลอดเดือนรอมะฎอน พระองค์ก็จะอภัยในบาปนั้นของเขาที่ผ่านมา ถือว่าเขาได้รับรางวัลหรือผลบุญตอบแทนจากการทำความดี (คือการถือศีลอด)ในรูปแบบของการอภัยโทษ .. ดังคำกล่าวของท่านเช็คอัล-ญุรฺญานีย์และคำอธิบายของ อ.อัชอะรีย์ข้างต้น ...
ความจริง อ.อัชอะรีย์ก็อธิบายความหมายผลบุญได้ถูกต้องแล้วในตอนต้น แต่มาตกม้าตายตอนหลัง เพราะความเชื่อที่ผิดๆของตนเองจากความเข้าใจที่ว่า إِسْتِغْفَارٌ ก็คือ “ผลบุญ” ...
คำอธิบายง่ายๆในเรื่องนี้ก็คือ คนที่ขาดนมาซ, ไม่ถือศีลอด, ผิดประเวณี เป็นต้น เขาคือผู้กระทำความผิด, ทำบาป ซึ่งตามหลักการแล้วจะต้องถูกลงโทษ ...
การที่เขา “อิสติฆฟารฺ” คือขออภัยโทษใน “บาป” ของเขา, หรือใครก็ตาม “อิสติฆฟารฺ” ให้เขา .. แล้ว อ.อัชอะรีย์ก็ไปเรียกการ “อิสติฆฟารฺ” นั้นว่าเป็น “ผลบุญ”หรือรางวัลของเขา นั้น ...
ขอถามว่า รางวัลและผลบุญที่ว่านี้เป็น “รางวัล” และ “ผลบุญ” ตอบแทนจาก “ความดี” อะไรของเขา ? .. รางวัลจากความดีที่ขาดนมาซ, ไม่ถือบวช, ผิดประเวณี กระนั้นหรือ ??? ...
สรุปแล้ว ในเรื่องการ “อภัยโทษ” ของอัลลอฮ์นั้นจะมี 2 ลักษณะคือ ...
1. การให้อภัยโทษจากอัลลอฮ์ ได้แก่การที่ผู้ใด “ได้รับการอภัยโทษ” จากความผิดในอดีต อันเป็นผลตอบแทนความดีที่เขากระทำภายหลัง เช่นเขาถือศีลอด, หรือเขานมาซตะรอเวี๊ยะห์ เป็นต้น อย่างนี้เรียกได้ว่า เขาได้รับรางวัลหรือผลบุญแน่นอน ...
2. ส่วนการ ขออภัยโทษ (إِسْتِغْفَارٌ) จากอัลลอฮ์ อันเป็นเรื่องของผู้ทำบาปหรือทำความผิด --ไม่ว่าจะขอเองหรือผู้อื่นขอให้ -- ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการตอบแทนความดีใดๆของเขา อย่างนี้จะเรียกการขอนั้นว่า เขาได้รับผลบุญจากอัลลอฮ์ ย่อมไม่ได้ ...
เพราะยังไม่แน่ว่าเมื่อขอแล้ว พระองค์อัลลอฮ์จะอภัยให้หรือไม่ ...
ดังนั้น เรื่องการอภัยโทษให้เอง (غُفْرَانُ الذُّنُوْبِ) ของอัลลอฮ์เพื่อตอบแทนความดีของบุคคลใดตามที่พระองค์สัญญาไว้(ที่เรียกว่าผลบุญ) .. กับ การขออภัยโทษ(اَلإِسْتِغْفَارُمِنَ الذُّنُوْبِ) ของผู้ที่ทำความชั่ว(ที่ไม่เรียกว่าผลบุญ) จึงเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” ชนิดเส้นผมบังภูเขาที่ อ.อัชอะรีย์ไม่เข้าใจ ...
3. ผู้ที่กล่าวว่า “ดุอาอิสติฆฟารฺให้ผู้ตาย” กับ “ดุอาอุทิศผลบุญให้ผู้ตาย” มีความหมายเหมือนกัน แสดงว่า ผู้นั้นยังแยกไม่ออกระหว่างน้ำตาลทรายกับน้ำตาลปิ๊บว่า มันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ...
เพราะอย่างแรกคือดุอาอิสติฆฟารฺ เป็นบทบัญญัติของอิสลาม .. ส่วนอย่างหลัง คือดุอาอุทิศผลบุญให้ผู้ตาย ไม่ใช่เป็นบทบัญญัติและมิใช่เป็นการกระทำของชาวสะลัฟ แต่เป็นดุอาที่คนยุคหลังได้ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง ...
ทั้ง 2 อย่างนี้จึงมีความแตกต่างกันเหมือนฟ้ากับดิน ...
ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-ฮัยตะมีย์ ได้ตอบคำถามเรื่องดุอาอุทิศผลบุญที่ว่า ...
اَللَّهُمَّ اجْعَلْ ثَوَابَ مَا قَرَأْتُهُ زِيَاَدةً فِىْ شَرَفِ سَيِّدِنَارَسُوْلِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ
“โอ้อัลลอฮ์ ขอได้โปรดบันดาลผลบุญในสิ่งที่ข้าพระองค์อ่านนี้ เพิ่มเติมเกียรติให้แก่ซัยยิดินามุหัมมัดด้วยเถิด” ...
ซึ่งท่านอิบนุหะญัรฺก็ตอบว่า ...
هَذَا مُخْتَرِعٌ مِنْ مُتَأَخِّرِى الْقُرَّاءِ، لاَ أَعْرِفُ لَهُمْ سَلَفًا
“การกระทำเช่นนี้ เป็นการอุตริทำของบรรดาโต๊ะครู ซึ่งบรรดาสะลัฟไม่เคยทำเช่นที่ว่านี้เลย” ...
(จากหนังสือ “ใครว่าการอ่านกุรฺอ่าน ไม่ถึงผู้ตาย” ของ อ.สมบูรณ์ ภู่เอี่ยม หน้า 25) ...
หลักฐานยืนยันความแตกต่างของทั้ง 2 กรณีนี้ก็คือ ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมก็ดี, เศาะหาบะฮ์ก็ดี, และบรรดาสะลัฟทั้งหลายก็ดี, .. มีหลักฐานว่าพวกเขาเคยอ่านดุอา “อิสติฆฟารฺ” ตือ ขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ให้ผู้ตายเสมอ .. แต่ไม่ปรากฏว่าพวกเขาจะเคยขอดุอา “ฮะดียะฮ์ผลบุญ” การนมาซ, การถือศีลอด, การทำหัจญ์และการอ่านอัล-กุรฺอ่าน เป็นต้น, ของพวกเขาให้แก่ผู้ตายคนใดเลย .. ดังคำกล่าวของท่านอิบนุตัยมียะฮ์ที่ผ่านมา ...
หรือ อ.อัชอะรีย์มีหลักฐานว่า ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม, เศาะหาบะฮ์ท่านใด หรือชาวสะลัฟคนใดเคยอ่าน “ดุอาอุทิศผลบุญ” ให้แก่ผู้ตายหลังการนมาซหรือหลังการอ่านอัล-กุรฺอ่าน เป็นต้น ในลักษณะว่า ...
اَللَّهُمَّ أَوْصِلْ ثَوَابَ هَذِهِ الصَّلاَةَ (أَوْهَذِهِ الْقِرَاءَةَ) إِلَى رُوْحِ .............
“โอ้ อัลลอฮ์ โปรดจงมอบผลบุญการนมาซนี้ หรือการอ่านอัล-กุรฺอ่านนี้ให้ถึงไปยังวิญญาณของ .......”
ถ้ามีก็จงแสดงมา ถ้า อ.อัชอะรีย์สัจจริง ...
4. การตอบคำถาม (ที่สมมุติขึ้นมาเอง) ของ อ.อัชอะรีย์ที่ว่า .. ผลบุญสามารถอุทิศให้ผู้ตายได้ .. นั้น ...
อ.อัชอะรีย์แน่ใจหรือว่า ตนเองมี “กรรมสิทธิ์” ในผลบุญ? ..
และแน่ใจหรือว่า “ผลบุญ” นั้น ขณะนี้ อ.อัชอะรีย์ “ได้รับ” มาจากพระองค์อัลลอฮ์เรียบร้อยแล้ว ??? ...
ที่ได้กล่าวอย่างนี้ก็เพราะผมเฉลียวใจมานานแล้วว่า ขณะที่นักวิชาการโต้แย้งกันในประเด็นที่ว่าผลบุญจะถึงหรือไม่ถึงผู้ตาย ทำไมไม่ลองมาวิเคราะห์ดูก่อนว่า ผลบุญนั้นเรามีกรรมสิทธิ์หรือไม่? .. และถ้ามีกรรมสิทธิ์ ขณะนี้มนุษย์ได้รับผลบุญมาเรียบร้อยแล้วหรือยัง ? ...
ส่วนผลบุญจะถึงหรือไม่ถึง ก็ค่อยมาว่ากันอีกที ...
สำหรับในประเด็นแรก คือเรื่องมนุษย์มี “กรรมสิทธ์” ในผลบุญหรือไม่นั้น ...
ท่านเช็คอะลีย์ อิบนุอะห์มัด อัล-มะษาฮิบีย์ นักวิชาการแห่งมัษฮับชาฟิอีย์ท่านหนึ่ง ได้กล่าวในการฟัตวาของท่านซึ่งยืดยาวมาก แต่มีข้อความตอนหนึ่งว่า ...
وَأَمَّا مِنْ طَرِيْقِ الْعَقْلِ فَإِنَّ الثَّوَابَ فَضْلُ اللهِ نَعَالَى لاَ يَمْلِكُهُ الْعَبْدُ، فَكَيْفَ يُهْدِيْهِ لِغَيْرِهِ ؟ إِلاَّ عَلَى طَرِيْقَةِ الْمُعْتَزِلَةِ الْقَائِلِيْنَ بِاسْتِحْقَاقِهِ لِلْعَبْدِ، فَحِيْنَئِذٍ رُبَّمَا يَكُوْنُ كَذَلِكَ عِنْدَهُمْ خِلاَفًا ِلأَهْلِ السُّنَّةِ .........
“อนึ่ง ในด้านการวิเคราะห์ทางปัญญา ก็เนื่องจากผลบุญ (اَلثَّوَاُب)นั้น คือพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ซึ่งบ่าวคนใดก็ “ไม่มีกรรมสิทธิ์” ในพระมหากรุณาธิคุณ (หรือผลบุญ) นั้น .. แล้ว (สิ่งที่เขาไม่มีกรรมสิทธิ์) เขาจะอุทิศมันให้ผู้อื่นได้อย่างไร ? .. เว้นแต่ตามแนวทางของพวกมุอฺตะซิละฮ์ (พวกนอกคอก) เท่านั้นที่กล่าวว่า บ่าวมีกรรมสิทธิ์ในผลบุญ ซึ่งบางทีสำหรับพวกเขาอาจเป็นอย่างนั้นได้ อันเป็นเรื่องขัดแย้งกับความเชื่อของชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ .....”
(จากหนังสือ “กัชฟุช ชุบฮาต” ของท่านมะห์มูดหะซันรอเบี๊ยะอฺ หน้า 105)
แสดงว่า ตามทัศนะของอะฮ์ลิซซุนนะฮ์นั้น มนุษย์จะไม่มีกรรมสิทธิ์ในผลบุญ นอกจากพวกนอกคอกเท่านั้นที่มีความเชื่อว่า มนุษย์มีกรรมสิทธิ์ในผลบุญ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ตรงกันข้ามกับทัศนะของอะฮฺลิซซุนนะฮ์ ...
ส่วนปัญหาที่ว่า ขณะนี้มนุษย์ได้รับผลบุญแล้วหรือยัง? นั้น ...
เกี่ยวกับเรื่องนี้ แนวโน้มจากหลักฐานในอัล-กุรฺอ่านและในอัล-หะดีษหลายต่อหลายบทบ่งชี้ว่า “การกระทำ” ทุกอย่างของมนุษย์ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว, รวมทั้ง“ผล” ของการกระทำที่เรียกกันว่าบุญหรือบาป จะเพียงแต่ถูก “บันทึก” ไว้เท่านั้น .. ยังไม่มีรายงานการส่งมอบให้แก่ผู้ใดทั้งสิ้น นอกจากเศษเสี้ยวเล็กน้อยของบุญ-บาปในบางกรณีที่พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.จะทรงให้เห็นเพื่อเป็นบทเรียนและข้อเตือนใจในโลกนี้ ...
อย่างเช่น การลงโทษผู้ที่ชอบยุแหย่หรือผู้ที่ปัสสาวะไม่สะเด็ดในหลุมของเขา เป็นต้น ...
แต่สุดท้ายแล้วการกระทำทั้งหมด – ไม่ว่าดีหรือชั่ว – และ “ผล” แห่งการกระทำ – ไม่ว่าบุญหรือบาป -- มนุษย์จะ “ได้เห็น” และจะ “ได้รับ” ครบถ้วนก็ในวันอาคิเราะฮ์เท่านั้น ...
พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.ได้ทรงดำรัสไว้ในซูเราะฮ์อัล-กะฮ์ฟิ อายะฮ์ที่ 49 อันเป็นการบอกเล่าถึงเหตุการณ์ในวันอาคิเราะฮ์ว่า ...
وَوُضِعَ الْكِتَابُ فَتَرَى الْمُجْرِمِيْنَ مُشْفِقِيْنَ مِمَّا فِيْهِ وَيَقُوْلُوْنَ يَاوَيْلَتَنَا مَالِ هَذَاالْكِتَابِ لاَ يُغَادِرُصَغِيْرَةً وَلاَكَبِيْرَةً إِلاَّ أَحْصَاهَا وَوَجَدُوْا مَا عَمِلُوْا حَاضِرًا لاَ يَظْلِمُ رَبُّكَ أَحَدًا
“และบันทึก(ความดีความชั่ว)นั้นจะถูกนำมาวาง (คือเสนอต่อพวกเขา) แล้วเจ้าจะเห็นบรรดาผู้ทำความผิดทั้งหลายอยู่ในสภาพประหวั่นงันงก, และพวกเขาจะกล่าวว่า “บรรลัยละซิพวกเรา บันทึกอะไรกันนี่? มันมิได้ละเว้นสิ่งเล็กน้อยและสิ่งใหญ่โตเว้นแต่ได้บันทึกไว้ครบถ้วนหมดเลย” และพวกเขาได้พบเห็นสิ่งที่พวกเขาเคยกระทำไว้ปรากฏอยู่ต่อหน้า และพระผู้เป็นเจ้าของเจ้ามิได้อธรรมต่อผู้ใดเลย” ...
พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ยังได้ทรงดำรัสไว้ในซูเราะฮ์อัซ-ซัลซะละฮ์ อายะฮ์ที่ 6-7-8 อีกว่า ...
يَوْمَئِذٍ يَّصْدُرُالنَّاسُ أَشْتَاتًا لِيُرَوْا أَعْمَالَهُمْ فَمَنْ يَّعْمَلْ مِثْقَالَ ذَرَّةٍ خَيْرًا يَّرَهُ وَمَنْ يَّعْمَلْ مِثْقَالَ ذَرَّةٍ شَرًّا يَّرَهُ
“ในวันนั้น (วันฟื้นคืนชีพ) มนุษย์จะออกมาเป็นหมู่ๆ เพื่อพวกเขาจะได้เห็น(ผล)งานของพวกเขา(ที่เคยกระทำไว้ในดุนยา) ดังนั้นผู้ใดที่กระทำความดีหนักเท่าละอองธุลี เขาก็จะเห็นมัน และผู้ใดกระทำความชั่วหนักเท่าละอองธุลี เขาก็จะเห็นมัน (เช่นเดียวกัน) ...
โองการในลักษณะดังกล่าวนี้ มีอยู่มากมายในอัล-กุรฺอ่าน ...
ส่วนในอัล-หะดีษก็มีอยู่หลายบทเช่นเดียวกันที่กล่าวว่า كَتَبَ اللهُ لَهُ أَجْرًا, หรือ كُتِبَ لَهُ أَجْرٌ .. ซึ่งหมายถึง “ผลบุญของเขาจะถูก(พระองค์อัลลอฮ์) บันทึกไว้ให้” ...
(ดูตัวอย่างจากการบันทึกของท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 1784 โดยรายงานมาจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ที่กล่าวถึงเรื่องการ “บันทึกผลบุญ” ให้ผู้ตั้งใจจะนมาซในตอนกลางคืนแต่เผลอหลับเสียก่อน, .. ท่านอะห์มัดจากหนังสือ “อัล-มุสนัด” เล่มที่ 4 หน้า 410, 418 โดยรายงานมาจากท่านอบูมูซา อัล-อัชอะรีย์ที่กล่าวเรื่องการ “บันทึกผลบุญ” ให้ผู้ทำความดีขณะป่วยหรือเดินทางว่า จะเหมือนกับผลบุญของผู้ที่สุขภาพปกติหรืออยู่ที่บ้าน, .. ท่านมุสลิม หะดีษที่ 26/987 โดยรายงานมาจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ที่กล่าวถึงการ “บันทึกผลบุญ” ให้แก่เจ้าของม้าที่เลี้ยงมันไว้เพื่อทำสงครามสะบีลิลลาฮ์ เป็นต้น) ...
หรือดังตัวอย่างหะดีษซึ่งรายงานมาจากท่านอบูซัรฺ อัล-ฆิฟารีย์ ที่รายงานมาท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมว่า ...
إِنَّهُ مَنْ قَامَ مَعَ اْلإِمَامِ حَتىَّ يَنْصَرِفَ كُتِبَ لَهُ قِيَامُ لَيْلَةٍ
“แท้จริง ผู้ใดที่นมาซ (ตะรอเวี๊ยะห์) พร้อมอิหม่ามจนกระทั่งเสร็จสิ้น เขาก็จะ “ถูกบันทึกผลบุญให้” เสมือนกับการนมาซตลอดทั้งคืน” ...
(บันทึกโดยท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 1375, ท่านอัน-นะซาอีย์ หะดาที่ 1604, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 806 เป็นต้น) ...
แสดงว่า ความดีหรือความชั่วที่มนุษย์ทุกคนกระทำขณะมีชีวิต, รวมทั้ง“ผล” ตอบแทนความดีความชั่วที่เรียกกันว่าบุญหรือบาป .. มันเพียงถูก “บันทึก”ไว้เท่านั้น โดยที่ผู้กระทำความดีหรือความชั่วนั้น ขณะนี้ ยังไม่มีผู้ใดได้รับมัน ...
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราไม่มีกรรมสิทธิ์และยังไม่ได้รับนั้น เราจะอุทิศหรือมอบมันให้ผู้อื่นได้อย่างไร ? ...
ที่กล่าวมานี้มิใช่เป็นการฟันธง แต่เป็นการวิเคราะห์จากหลักฐานซึ่งมันอาจจะผิดหรือถูกก็ได้ ...
ถ้าถูกก็มาจากการชี้แนะของอัลลอฮ์ แต่ถ้าผิดก็เกิดจากความรู้น้อยของผมเอง ...
อนึ่ง ส่วนที่มีหลักฐานจากอัล-หะดีษบางบทกล่าวถึงเรื่องการถือศีลอด, การทำหัจญ์, การเศาะดะเกาะฮ์ หรือการจ่ายหนี้สินแทนผู้ตายนั้น ถ้าเราพิจารณาข้อความและสำนวนของตัวบทหะดีษเหล่านั้นจะเห็นได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นลักษณะของการ “ทำแทนให้” .. มิใช่กระทำในลักษณะ “อุทิศผลบุญให้” ...
หมายความว่า แต่เดิมงานเหล่านั้นก็คือ “งาน” หรือ “ภาระ” ของผู้ตาย, หรือสิ่งที่ผู้ตายต้องการจะทำขณะมีชีวิต แต่ไม่ทันได้ทำก็ตายเสียก่อน ..
เมื่อเขาตายแล้วแล้วทายาทของเขา (หรือบุคคลอื่นในกรณีของหนี้สิน) ก็รับเอาภาระนั้นของเขามาจัดการ “ทำแทน” ให้เขา ...
ส่วนการอุทิศผลบุญ หมายถึงการที่เราทำ “งานของเราเอง” .. แล้วส่งมอบ “ผล”ของมันที่เรียกกันว่า “ผลบุญ” ไปให้ผู้ตายอีกทีหนึ่ง ...
ทั้ง 2 อย่างนี้จึงมีความแตกต่างกันในแง่ของการปฏิบัติ ...
ดูข้อมูลการปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวจากหะดีษต่อไปนี้ ...
1. ในเรื่องการถือศีลอด .. ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. เล่าว่า สตรีผู้หนึ่งโดยสารเรือทางทะเลแล้วเกิดความหวาดกลัวจึงบนบาน(นะซัรฺ)ว่า หากรอดปลอดภัยถึงฝั่งนางจะถือศีลอด 1 เดือน แต่นางตายเสียก่อนจะได้ถือศีลอดตามที่บนบานไว้ เมื่อบุตรสาว (หรือน้องสาว) ของนางมาถามท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ท่านก็ ...
أَمَرَهَا أَنْ تَصُوْمَ عَنْهَا .. คือ สั่งให้นางถือศีลอดนั้น “แทน” มารดาหรือพี่สาวของนาง ...
(จากการบันทึกของท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 3308, ท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 3825 และท่านอะห์มัด เล่มที่ 1 หน้า 216) ...
2. ในเรื่องการทำหัจญ์ .. ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. กล่าวว่า สตรีผู้หนึ่งกล่าวถามท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมว่า มารดาของนางได้บนบานว่าจะทำหัจญ์ แต่นางตายเสียก่อน แล้วตนเองจะทำหัจญ์แทนให้ได้ไหม ? ท่านนบีย์ก็ตอบว่า ..
نَعَمْ، حُجِّىْ عَنْهَا .. คือ “ได้, เธอจงทำหัจญ์แทนให้แก่นางเถิด” ...
(บันทึกโดยท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 1852, 7315 และผู้บันทึกท่านอื่นๆ) ...
หรือหะดีษซึ่งท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. รายงานมาว่า สตรีผู้หนึ่งถามท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมว่า บิดาของนางติดฟัรฺฎูหัจญ์แล้ว แต่ท่านชราภาพมากจนนั่งบนพาหนะไม่ได้ แล้วก็ถามว่า أَفَأَحُجُّ عَنْهُ؟ .. คือ เธอจะทำหัจญ์ “แทน” ให้ได้ไหม? .. ซึ่งท่านนบีย์ก็ตอบว่า نَعَمْ (ได้) ...
(บันทึกโดยท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 1513, 1854, 1855, 4399, 6228 และผู้บันทึกท่านอื่นๆ) ...
3. ในเรื่องการเศาะดะเกาะฮ์ .. ท่านอัมเราะฮ์ บุตรีท่านอับดุรฺเราะห์มานซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. ได้ถามท่านหญิงอาอิชะฮ์ว่า มารดาของเธอสิ้นชีวิตลงโดยยังขาดศีลอดรอมะฎอนบางส่วน เธอจะถือศีลอดแทนมารดาได้ไหม ? ซึ่งท่านหญิงอาอิชะฮ์ก็ตอบว่า ...
لاَ! بَلْ تَصَدَّقِىْ عَنْهَا مَكَانَ كُلِّ يَوْمٍ نِصْفَ صَاعٍ عَلَى كُلِّ مِسْكِيْنٍ
ไม่ได้! แต่ให้เธอเศาะดะเกาะฮ์ “แทน” ให้ท่าน ด้วยการบริจาคอาหารให้แก่คนยากจน วันละครึ่งศออฺต่อคน” ...
(บันทึกโดย ท่านอัฏ-เฏาะหาวีย์ เล่มที่ 3 หน้า 142, และจากหนังสือ “อัล-มันฮัลฯ” เล่มที่ 10 หน้า 144) ...
หรือหะดีษที่ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. กล่าวว่า ชายผู้หนึ่งได้ถามท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมว่า มาดาของเขาสิ้นชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วน ซึ่งเขาเข้าใจว่าหากนางพูดได้ นางคงจะสั่งให้เศาะดะเกาะฮ์ แล้วเขาก็ถามว่า ..
فَهَلْ لَهَا أَجْرٌ إِنْ تَصَدَّقْتُ عَنْهَا ؟ .. คือ นางจะได้รับผลบุญไหมหากฉันจะเศาะดะเกาะฮ์ “แทน” ให้นาง? .. ซึ่งท่านนบีย์ก็ตอบว่า ได้ ...
(บันทึกโดยท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 1388 และ 2760) ...
หมายเหตุ
คำว่า عَنْ ในหะดีษข้างต้น มีความหมายเชิงภาษาว่า لِلْنِيَابَةِ หรือ لِلْبَدَلِ .. คือ แสดงถึงการกระทำสิ่งใด “แทน” ให้แก่ผู้อื่น, ...
ตัวอย่างเช่นภาษาอาหรับกล่าวว่า ...
حَجَّ فُلاَنٌ عَنْ أَبِيْهِ .. ซึ่งมีความหมายว่า .. “คนผู้นั้น ทำหัจญ์แทนบิดาของเขา” หรือ ...
وَقَضَى عَنْهُ دَيْنًا .. ซึ่งมีความหมายว่า .. “และเขาชำระหนี้สินแทนบุคคลนั้น” เป็นต้น ...
(จากหนังสือ “เมาซูอะฮ์ อัล-หุรูฟฯ” ของดร. อะมีล บะเดียะอฺ ยะอฺกูบ หน้า 299)
และจากคำถามทุกคำถามในบรรดาหะดีษเหล่านี้ เห็นได้ว่าผู้ถามจะกล่าวนำถึงเรื่อง “ภาระ” ที่ผู้ตายคิดค้างอยู่ก่อนแล้วทั้งสิ้น, ไม่ว่าจะเป็นการถือศีลอดหรือการทำหัจญ์, หรือก่อนตาย ตั้งใจจะทำการเศาะดะเกาะฮ์ แต่ตายเสียก่อน ..
และก็ไม่มีผู้ใดเลยที่จะถามท่านนบีย์ว่า ฉันจะอุทิศผลบุญการถือศีลอดของฉัน, หรือผลบุญการทำหัจญ์ของฉัน, หรือผลบุญการเศาะดะเกาะฮ์ของฉัน .. ให้ท่านได้ไหม?
แต่ทุกคนจะถามเหมือนกันหมดว่า .. ฉันจะถือศีลอดแทนท่านได้ไหม? .. ฉันจะทำหัจญ์แทนท่านได้ไหม? .. ฉันจะเศาะดะเกาะฮ์แทนท่านได้ไหม ? ...
ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่พบว่าจะมี “ชาวสะลัฟ” ท่านใดเคยอุทิศผลบุญการทำความดีของพวกท่านให้แก่ผู้ตายคนใด นอกจากการ “ทำแทน” ให้ ดังกล่าวมาแล้ว ...
และสิ่งที่ผู้ตายจะได้รับประโยชน์จากการกระทำของคนเป็น อันเป็นข้อยกเว้น (تَخْصِيْصٌ) จากโองการที่ว่า “แท้จริง จะไม่ได้แก่มนุษย์นอกจากสิ่งที่เขาเคยขวนขวายไว้เท่านั้น” – ตามหลักฐาน -- จะมีเพียง 5 ประการคือ ...
1. คนมุสลิม (จะเป็นใครก็ได้) ขอดุอาให้ผู้ตาย ...
2. การชดใช้หนี้สินแทนให้ (โดยใครก็ได้) ...
3. การเศาะดะเกาะฮ์แทนให้ (ข้อนี้ตามหลักฐานที่ถูกต้องเป็นเรื่องระหว่างพ่อ-แม่-ลูก, คนอื่นไม่เกี่ยว) ...
4. ทายาทหรือญาติใกล้ชิดของผู้ตายถือศีลอดนะซัรฺหรือหัจญ์นะซัรฺ (ศีลอดหรือหัจญ์ที่ผู้ตายบนบานไว้) แทนให้ ...
5. การทำหัจญ์ฟัรฺฎูแทนให้ (ตามหลักฐาน เรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างบิดามารดาและบุตร หรือพี่กับน้อง .. ส่วนการที่คนอื่นรับจ้างทำหัจญ์แทนกันนั้น เป็นเพียงทัศนะนักวิชาการซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าจะได้หรือไม่ได้ แต่ไม่ถือว่าเป็นหลักฐาน) ...



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น