อารัมภบทของอาจารย์ปราโมทย์

พี่น้องที่เคารพครับ .. ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ของปัญหาที่ถูกถามมาเป็นปัญหาขัดแย้งหรือปัญหาคิลาฟียะฮ์ เพราะฉะนั้น ในการตอบปัญหาดังกล่าว หากปัญหาใดไม่สำคัญมากนัก ผมก็จะตอบแบบสรุปตามทัศนะที่มีน้ำหนักด้านหลักฐานมากที่สุดสำหรับผมโดยไม่ได้นำมุมมองด้านตรงข้ามมาด้วย แต่หากปัญหาใดจำเป็นต้องมีการชี้แจง ผมก็จะนำหลักฐาน(และการวิเคราะห์)รายละเอียดทั้งสองด้าน ประกอบในคำตอบด้วย และขอเรียนว่า

(1). คำตอบของผมแทบทั้งหมดไม่ใช่เป็นการอธิบายหะดีษหรืออัล-กุรฺอานเอาเองอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่จะมีที่มาจากอิหม่ามทั้ง 4 ท่านที่โลกอิสลามยอมรับและนักวิชาการระดับโลกท่านอื่นๆด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่บางครั้งผมมิได้อ้างนามพวกท่านในการตอบก็เพื่อประหยัดเวลาในการเขียนเท่านั้น

(2). คำตอบของผมในปัญหาใด ไม่ถือว่าเป็น "ข้อชี้ขาด" ความขัดแย้งในปัญหานั้น แต่เป็นการตอบตามการมองหลักฐานว่ามีน้ำหนักที่สุดในมุมมองของผม ซึ่งมุมมองของผมอาจจะผิดพลาดก็ได้ พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่งในเรื่องนี้ ...

อ.ปราโมทย์ (มะหมูด) ศรีอุทัย


ติดต่ออาจารย์ปราโมทย์โดยตรงได้ที่

1. 1/22 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ม. 5 ต. นาเคียน อ. เมือง จ. นคร ศรีธรรมราช รหัส 80000

2. เบอร์โทรศัพท์ 086-6859660

3. Facebook

4. เว็บไซต์

5.อีเมล
pramote.sriutai2559@gmail.com

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ชี้แจง .. บทวิภาษของ อ.อัชอะรีย์ต่อ อ.ปราโมทย์ (ตอนที่ 1)


ชี้แจงข้อกล่าวหาและข้อมูลบางอย่างในภาพรวม

โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

เมื่อไม่กี่วันก่อน ผมได้รับเอกสารชุดหนึ่งประมาณ 30 กว่าหน้าจากผู้ไม่ประสงค์ออกนาม .. เป็นเอกสารที่ถ่ายมาจากเว็บไซด์ของนักวิชาการบางท่าน (ซึ่งถ้าดูตามรายนามผู้ตรวจทานแก้ไข ก็น่าจะเป็นข้อเขียนของ อ. อัชอะรีย์) ...
เอกสารดังกล่าวเป็นการวิภาษหรืออีกนัยหนึ่งคือโต้แย้งข้อเขียนเรื่อง “วิภาษคำบรรยาย อ.กอเซ็ม เรื่องการอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ” ของผม ที่บางเว็บไซด์ได้ขออนุญาตไปนำลง ดังเป็นที่ทราบกันดี ...
บอกตรงๆว่า นี่คือสิ่งที่ผมต้องการจะได้รับจากนักวิชาการและผู้อ่านในข้อเขียนแต่ละครั้ง เพราะผมถือว่าความแตกต่างด้านความคิดคือความจำเริญของวิชาการ และความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ไม่มีผู้ใดที่จะถูกต้องทั้งหมด หรือรอบรู้ไปเสียทุกเรื่อง ...
การโต้แย้งจึงเปรียบเสมือนกระจกเงาที่สะท้อนให้เรารู้ในสิ่งที่เรายังไม่รู้ ...
เสียดายที่ผมเองไม่มีโอกาสที่จะรับรู้ข้อมูลอีกมากมายจากอินเตอร์เน็ต นอกจากจะมีผู้ถ่ายเอกสารออกมาให้เท่านั้น เพราะที่บ้านผมยังไม่มีอินเตอร์เน็ต ...
จึงขอเรียนให้ อ.อัชอะรีย์ทราบว่า ข้อวิภาษของท่านต่อบทความของผม – ไม่ว่าเรื่องใด -- เป็นสิ่งที่ผมรับฟังด้วยความเคารพเสมอ แต่มิได้หมายความว่าข้อวิภาษหรือความเข้าใจของท่านจะเป็นเรื่องถูกต้องไปเสียทั้งหมด ...
ดังนั้น ข้อวิภาษใดของท่านที่ผมมิได้ชี้แจง จึงมิได้เป็นการยอมรับความถูกต้อง แต่เป็นเพราะผมไม่ได้รับข้อมูลนั้น ...
สำหรับเรื่องการอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺที่ผมเขียนโต้แย้ง อ.กอเซ็มไป ก็ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ผมไม่ได้โต้แย้ง อ.กอเซ็มในประเด็นเรื่องผลบุญนั้นถึงผู้ตายหรือไม่ และผมก็ไม่บังอาจพอที่จะตัดสินว่า ผู้ตายจะได้รับประโยชน์จากการอ่านอัล-กุรฺอ่านนั้นหรือไม่ .. แต่เกือบทั้งหมดผมโต้แย้งในแง่ข้อเท็จจริงของหลักฐานว่า เชื่อถือได้หรือไม่เพียงใด .. ดังที่ปรากฏในข้อเขียนนั้น ...
ผมจึงไม่เคย “ฟันธง” ในปัญหาขัดแย้ง, ไม่ว่าในข้อเขียนเรื่องใด .. อันเป็นที่ทราบกันดีสำหรับผู้ที่ติดตามอ่านข้อเขียนของผม ...
ดังนั้น คำกล่าวของ อ.อัชอะรีย์ที่ว่า ผม “ฟันธง” ว่าบิดามารดาท่านนบีย์เป็นชาวนรก – ทั้งๆที่ผมได้เขียนไว้อย่างชัดเจนในตอนสรุปแล้วว่า การวิเคราะห์ของผมอาจผิดก็ได้ – จึงถือว่าเป็นการโกหกคำโต ...
อันเนื่องมาจาก อ.อัชอะรีย์ได้เขียนวิภาษผมในลักษณะวกวนและบางครั้งก็ซ้ำซาก ดังนั้นเพื่อความเข้าใจง่ายของผู้อ่าน ผมจึงได้เขียนชี้แจงเป็นเรื่องๆไปตามลำดับของผม (แต่ไม่ได้ตามลำดับของ อ.อัชอะรีย์) ดังต่อไปนี้ ...
(1). ชี้แจงข้อกล่าวหาและข้อมูลบางอย่างในภาพรวม ...
(2). ชี้แจงเรื่อง อนุญาตให้นำหะดีษเฎาะอีฟมาปฏิบัติได้ ...
(3). ชี้แจงเรื่อง โครงสร้างอิบาดะฮ์คือระงับจากการปฏิบัติจนกว่าจะมีบทบัญญัติ (4). ชี้แจงเรื่อง ห้ามนมาซที่กุบูรฺ ...
(5). ชี้แจงเรื่อง การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ ...
(6). ชี้แจงเรื่อง อุทิศผลบุญให้แก่ผู้ตาย ? หรือทำแทนผู้ตาย ? ...
(7). ชี้แจงเรื่อง คำพูด อ.กอเซ็มที่ว่า ไม่มีหลักฐานห้ามคือทำได้, และการแก้ต่างของ อ.อัชอะรีย์ ...
(8). ชี้แจงเรื่อง สิ่งที่ท่านนบีย์ละทิ้ง มิได้หมายความว่าจะต้องละทิ้งตาม ...
(1). ชี้แจงข้อกล่าวหาและข้อมูลบางอย่างในภาพรวม ...
1.1 อ.อัชอะรีย์กล่าวว่า ...
“ผมได้รับบทความของ อ.ปราโมทย์ที่ทำการวิภาษ อฺกอเซ็ม โมฮัมมัดอะลี อันเผ็ดร้อนและเกินเลยมารยาทเชิงวิชาการ โดยผ่านการแนะนำจากพี่น้องวะฮาบีย์ ....”
ชี้แจง
สิ่งที่ผมเขียนไป ผู้อ่านทุกกท่านคงไม่มีใครปฏิเสธว่าผมเขียนวิเคราะห์เชิงวิชาการจริงๆดังที่เห็นกันนั้น (ซึ่งการวิเคราะห์จะผิดหรือถูก เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) .. แต่ไม่มีข้อความใดที่จะเรียกว่า “เกินเลยมารยาทเชิงวิชาการ” ดังที่ อ.อัชอะรีย์กล่าวหาผม
ทั้งนี้เพราะผมรักษามารยาทเชิงวิชาการอยู่เสมอ ด้วยการไม่ก้าวร้าวต่อนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิของอิสลามท่านใดในอดีตที่มีทัศนะแตกต่างกับผมแม้แต่ท่านเดียว .. นอกจากจะเขียนโต้แย้งทัศนะของท่านตามมุมมองของผมเท่านั้น ...
จุดเดียวจากบทความของผมข้างต้นที่อาจจะมองว่าผมเกินเลยก็คือการแปลคำพูดของนักวิชาการที่กล่าวถึงท่านอัล-หากิมและท่านอิบนุหิบบานที่ว่า تَسَاهُلٌ فِى التَّصْحِيْحِ (ซึ่งผมแปลว่าสะเพร่าในการตัดสินความถูกต้องของหะดีษ) .. ข้อนี้ผมยอมรับว่าเป็นการใช้คำแปลที่ไม่เหมาะสม แต่ผู้กล่าวหาดังกล่าวนี้คือนักวิชาการหลายท่านในอดีต มิใช่ผมเป็นผู้กล่าวหา .. และการแปลดังกล่าวแม้จะไม่เหมาะสม แต่ผมมั่นใจว่า ไม่ออกนอกกรอบของ “เจตนารมณ์” จากคำกล่าวข้างต้น ดังจะได้อธิบายต่อไป ...
ส่วนคำว่า “เผ็ดร้อน” นั้น (ความจริงน่าจะเรียกว่าเป็นการ “แซว” ที่เผ็ดร้อนมากกว่า).. หากพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้วจะเห็นว่า ส่วนใหญ่ จะอยู่ในรูปของคำถามที่มีต่อ อ.กอเซ็ม .. ซึ่งท่านคงไม่ปฏิเสธว่า แม้จะแซวเผ็ดร้อนไปบ้าง แต่ก็ไม่ใช่คำพูดหยาบคายแต่ประการใด ...
แต่คำกล่าวหาของท่าน อ.อัชอะรีย์ข้างต้นต่อผู้ที่มีทัศนะตรงข้ามกับท่านที่ว่า “โดยผ่านการแนะนำจากพี่น้องวะฮาบีย์” .. ซึ่งคำว่า “วะฮาบีย์” นี้ เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่ามิใช่เป็นคำพูดยกย่อง แต่เป็นคำประณามหรือโจมตีผู้ที่มีทัศนะสอดคล้องกับท่านมุหัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ .. และตามที่ผมได้รับทราบมา (ถ้าผิดก็ขออภัย) ว่า อ.อัชอะรีย์เองเคยก้าวร้าวต่อท่านอิบนุตัยมียะฮ์, ท่านมุหัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ, ท่านอิบนุ้ลก็อยยิม, ท่านอัล-อัลบานีย์ เป็นต้น อย่างรุนแรงในเว็บไซด์ของท่าน ...
ผมไม่ทราบว่า การก้าวร้าวนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิที่มุสลิมทั่วโลกให้การยอมรับเหล่านั้นจะเป็นการ “เกินเลยมารยาทนักวิชาการ” หรือเปล่า ? ...
1.2 อ.อัชอะรีย์ได้อ้างคำพูดของท่านซุฟยานอัษ-เษารีย์จากหนังสือ “หิลยะตุ้ลเอาลิยาอ์” เล่มที่ 6 หน้า 367 (ที่บ้านผมเป็นเล่มที่ 6 หน้า 407) และอ้างคำพูดของท่านอิบนุตัยมียะฮ์จากหนังสือมัจญมูอะฮ์ อัล-ฟะตาวีย์ของท่าน ซึ่งสรุปได้ว่า เมื่อเห็นผู้ใดกระทำสิ่งซึ่งเป็นเรื่องขัดแย้งของนักวิชาการโดยที่เรามีทัศนะตรงข้ามกับเขา ก็จงปล่อยให้เขาทำไป, .. อย่าไปห้าม, คัดค้านหรือตำหนิเขา ...
ชี้แจง
แม้ผมจะเห็นด้วยกับบางส่วน (ไม่ใช่ทั้งหมด) ของคำพูดของท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์และท่านอิบนุตัยมียะฮ์ข้างต้น แต่ในกรณีนี้ ผมอยากจะขอถาม อ.อัชอะรีย์เพียง 2 คำถามคือ ...
ก. การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺเป็นปัญหาขัดแย้งของนักวิชาการ .. ข้อนี้ อ.อัชอะรีย์คงไม่ปฏิเสธ ...
ดังนั้น เมื่อเห็นผู้ใดอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ ก็อย่าไปห้ามหรือตำหนิเขา .. นี่คือเนื้อหาจากคำกล่าวของท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์และท่านอิบนุตัยมียะฮ์ ที่ อ.อัชอะรีย์นำเสนอมานั้น ...
ผมจึงอยากจะถามว่า ..
แล้วการที่ท่านอิหม่ามอะห์มัด อิบนุหัมบัลเข้าไปกล่าวในลักษณะคัดค้านต่อชายตาบอดผู้หนึ่งขณะที่เขากำลังอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺว่า ...
يَا هَذَا إِنَّ الْقِرَاءَةَ عِنْدَالْقَبْرِ بِدْعَةٌ! : นี่แน่ะคุณ, การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรเป็นบิดอะฮ์นะ! ...
อ.อัชอะรีย์จะอธิบายในเรื่องนี้อย่างไรไม่ทราบ ? ...
ข. การ “คัดค้านหรือห้าม” เมื่อเห็นผู้กระทำสิ่งที่เป็นปัญหาขัดแย้ง กับ “การเสนอแนะข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการในปัญหาขัดแย้ง” เหมือนกันหรือแตกต่างกัน ? ...
หากตอบว่า การเขียนวิเคราะห์และเสนอแนะข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการในปัญหาขัดแย้ง กับการคัดค้านหรือห้ามผู้ที่มีทัศนะตรงกันข้าม มีความหมายเหมือนกัน บรรดานักวิชาการเกือบทั้งหมดในอดีตก็ล้วนไม่ถูกต้องที่ไปเขียนเสนอแนะทัศนะของตนเองในปัญหาขัดแย้งใดก็ตาม เพราะเท่ากับเป็นการคัดค้านหรือห้ามทัศนะผู้อื่นที่ขัดแย้งกับตนเองว่าไม่ถูกต้อง ตามมุมมองนี้ ...
แต่ถ้าหากตอบว่า ทั้งสองกรณีนั้นไม่เหมือนกัน ก็ขอบอกว่า ผมไม่เคยไปสะกิดไหล่ใครเพื่อ “คัดค้านหรือห้าม” ไม่ให้อ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ -- ดังเช่นที่ท่านอิหม่ามอะห์มัดกระทำต่อชายตาบอดผู้นั้น -- แม้แต่คนเดียว .. นอกจากที่กระทำอยู่ก็คือการเขียนวิเคราะห์หลักฐานตามหลักวิชาการอย่างที่เห็นอยู่นี้เท่านั้น ..



ชี้แจง .. บทวิภาษของ อ.อัชอะรีย์ต่อ อ.ปราโมทย์ (ตอนที่ 2)


ชี้แจงเรื่อง อนุญาตให้นำหะดีษเฎาะอีฟมาปฏิบัติได้

โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

(2). ชี้แจงเรื่อง อนุญาตให้นำหะดีษเฎาะอีฟมาปฏิบัติได้ ...
อ.อัชอะรีย์กล่าวว่า ...
“เหตุใดถึงต้องหุก่มบิดอะฮ์อุตริกรรมในศาสนา และต้องด่าทอผู้ที่มีทัศนะอ่านกุรฺอ่านที่กุบูรฺได้ ทั้งที่ปราชญ์สะละฟุสศอลิห์แห่งอุมมะฮ์อิสลามส่วนมากหรือมีมติ (อิจญมาอฺ) ผ่อนปรนการรายงานและปฏิบัติฮะดีษฎออีฟได้ .....”
ชี้แจง
2.1 ผมไม่ปฏิเสธว่า แม้ในทัศนะของผมจะมองว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺเป็นบิดอะฮ์ .. ซึ่งความเชื่อนี้ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลของผม ...
แต่ผมกล้ายืนยันว่า ตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้ายในการวิภาษข้อเขียน อ.กอเซ็มเล่มนั้น ไม่มีตอนใดเลยที่ผมจะด่าทอผู้อ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ หรือกล่าวหุก่มจากปากของตนเองว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ เป็นบิดอะฮ์! .. นอกจากการอ้างถึงคำพูดที่ว่า “การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺเป็นบิดอะฮ์” นี้ว่า เป็นทัศนะของนักวิชาการบางท่าน อาทิเช่น ท่านอิหม่ามอะห์มัด อิบนุหัมบัล, หรือท่านอัล-อัลบานีย์เป็นต้น ...
ยิ่งไปกว่านั้น ขอเรียนว่าผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่สนับสนุน,ไม่ส่งเสริม,.. แถมยังแอนตี้และไม่ชอบให้ผู้ใดนำคำว่า “บิดอะฮ์” มาใช้กล่าวหาผู้อื่นที่มีทัศนะแตกต่างกับตัวเองอย่างพร่ำเพรื่อ เพราะผมถือว่าปัญหาขัดแย้งต่างๆก็ดี, เรื่องบิดอะฮ์บางเรื่องก็ดี เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นการ “มองต่างมุม” ของนักวิชาการทั้งอดีตและปัจจุบัน ...
หน้าที่ของพวกเรา(ตามทัศนะของผม) ก็คือ ต้องยึดมั่นในซุนนะฮ์ให้แน่นแฟ้น, รักษาเอกภาพของความเป็นพี่น้องมุสลิม และให้หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่เรามองว่าเป็นบิดอะฮ์ .. โดยไม่ต้องไปหุก่มหรือประณามพี่น้องมุสลิมคนใดว่าทำบิดอะฮ์ เพราะพระองค์อัลลอฮ์คือผู้พิพากษาโทษการกระทำของเขา ไม่ใช่เรา ...
นี่คือสิ่งที่ผมพร่ำย้ำเตือนอยู่เสมอในการบรรยายและการสอนในปัจจุบัน ซึ่งบรรดาศิษย์ที่ศึกษาอยู่กับผมทุกคนย่อมเป็นพยานยืนยันได้ หรือหาก อ.อัชอะรีย์จะไปอ่านตอนต้นบทความเรื่อง การอ่านกุนูตในนมาซซุบห์ของผม ก็คงจะเข้าใจ “จุดยืน” ของผมในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ...
ส่วนการที่ผมเขียนวิภาษ อ.กอเซ็ม ก็เป็นเรื่องของความขัดแย้งเชิงวิชาการระหว่างนักวิชาการด้วยกัน มิใช่เขียนเพื่อประณามพี่น้องมุสลิมคนใดทั้งสิ้น ...
2.2 ส่วนคำกล่าวของท่านที่ว่า .. “ปราชญ์สะละฟุสศอลิห์แห่งอุมมะฮ์อิสลามส่วนมากหรือมีมติ (อิจญมาอฺ) ผ่อนปรนการรายงานและปฎิบัติฮะดีษฎออีฟได้” .. นั้น
คำกล่าวนี้ของ อ.อัชอะรีย์เป็นเรื่องไม่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจจะทำให้ผู้ที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงเข้าใจผิดว่า หะดีษเฎาะอีฟ – ทุกเรื่อง – นักวิชาการส่วนมากหรือเป็นมติเป็นเอกฉันท์ของนักวิชาการว่า ผ่อนปรนให้รายงานและนำมาปฏิบัติได้ ...
ความเข้าใจดังกล่าวนี้ ไม่เคยปรากฏอยู่ในตำราหะดีษเล่มใดทั้งสิ้น เพราะเรื่องการรายงานหะดีษเฎาะอีฟก็ดี, การนำหะดีษเฎาะอีฟมาปฏิบัติก็ดี ล้วนเป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างนักวิชาการมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแล้ว ...
การอ้างว่ามี “อิจญมาอฺ” หรือมติเอกฉันท์ในเรื่องนี้ จึงเป็นการ“มั่วนิ่ม”ของ อ.อัชอารีย์อย่างชัดเจน ...
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นดังนี้ ...
ในเรื่องของ “การรายงาน” นั้น ท่านมุสลิมและนักวิชาการหะดีษจำนวนมากกล่าวว่าไม่อนุญาตให้รายงานหะดีษใด เว้นแต่ถ้าผู้รายงานเป็นผู้มีความรู้เรื่องสถานภาพของหะดีษก็จะต้องแจ้งสถานภาพของมันด้วยเสมอ (ดูหนังสือ “เศาะเหี๊ยะฮ์มุสลิม” หน้า 8-9, 28, และหนังสือ “ตะมามุ้ลมินนะฮ์” ของท่านอัล-อัลบานีย์ หน้า 32 เป็นต้น) ...
ท่านอะห์มัด มุหัมมัดชากิรฺ นักวิชาการหะดีษชาวอินเดีย ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-บาอิษ อัล-หะษีษ” หน้า 91 ว่า ...
وَالَّذِىْ أَرَاهُ أَنَّ بَيَانَ الضَّعْفِ فِى الْحَدِيْثِ الضَّعِيْفِ وَاجِبٌ فِىْ كُلِّ حَالٍ، ِلأَنَّ تَرْكَ الْبَيَانِ يُوَهِّمُ الْمُطَّلِعَ عَلَيَهْ ِأَنَّهُ حَدِيْثٌ صَحِيْحٌ!، خُصُوْصًا إِذَا كَانَ النَّاقِلُ لَهُ مِنْ عُلَمَاءِ الْحَدِيْثِ الَّذِيْنَ يُرْجَعُ إِلَي قَوْلِهِمْ فِىْ ذَلِكَ، وَأَنَّهُ لاَ فَرْقَ بَيْنَ اْلأَحْكَامِ وَبَيْنَ فَضَائِلِ اْلأَعْمَالِ وَنَحْوِهَا فِىْ عَدَمِ اْلأَخْذِ بِالرِّوَايَةِ الضَّعِيْفَةِ ....
“สิ่งซึ่งเป็นมุมมองของข้าพเจ้าก็คือ การบอก “ความเฎาะอีฟ” ของหะดีษเฎาะอีฟนั้น เป็นสิ่งวาญิบในทุกๆกรณี (คือไม่ว่าจะเป็นหะดีษเฎาะอีฟเกี่ยวกับเรื่องหะล้าล-หะรอม หรือเรื่องฟะฎออิลุ้ลอะอฺมาล) .. เพราะการไม่บอกความเฎาะอีฟจะทำให้ผู้ที่พบเห็นหะดีษนั้นอาจเข้าใจผิดว่ามันเป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ที่คัดลอกหะดีษนั้นมารายงาน เป็นนักวิชาการหะดีษที่ประชาชนยอมรับคำพูดของเขา และ(ข้าพเจ้ายังเห็นว่า) แท้จริงไม่มีข้อแบ่งแยกแต่อย่างใดในระหว่างเรื่องหุก่มต่างๆกับเรื่องฟะฎออิลุ้ลอะอฺมาลหรือเรื่องอื่นๆ ในแง่ที่ไม่ให้นำเอารายงานที่เฏาะอีฟมาปฏิบัติ” ...
ทัศนะของท่านอะห์มัด มุหัมมัดชากิรฺในวรรคหลังๆนี้ ตรงกันกับคำกล่าวของท่านหาฟิศ อิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ในหนังสือ “تَبْيِيْنُ الْعَجَبِ” ดังจะได้กล่าวต่อไป
แต่ถ้าผู้นำหะดีษมาบอกเล่าต่อผู้อื่น ไม่ทราบหรือไม่แน่ใจในสถานภาพของหะดีษนั้นว่าจะเศาะเหี๊ยะฮ์หรือเฎาะอีฟ ก็ไม่อนุญาตให้ใช้คำพูดอย่างชัดเจนว่า “ท่านนบีย์ กล่าวว่า ...” แต่ให้ใช้คำพูดคลุมเครือว่า “ถูกอ้างรายงานมาจากท่านนบีย์ .....” .. หรือ “มีการอ้างรายงานมาจากท่านนบีย์ ....” เป็นต้น ...
(จากหนังสือ “อุลูมุลหะดีษ” ของท่านอิบนุศ ศอลาห์ หน้า 94) ...
กฎเกณฑ์ข้อนี้ มักจะถูกละเลยจากนักวิชาการปัจจุบันจำนวนมากที่ชอบนำเอาหะดีษเฎาะอีฟมารายงานหรือบอกต่อเพื่อให้ชาวบ้านรับไปปฏิบัติโดยมิได้แจ้งว่ามันเป็นหะดีษเฎาะอีฟ .. ยิ่งไปกว่านั้น ผู้รู้บางท่านยังกล่าวอย่างชัดเจนตอนอ้างหะดีษเฎาะอีฟต่อชาวบ้านว่า “ท่านนบีย์กล่าวว่า ........” ซึ่งสำนวนอย่างนี้ถือเป็นเรื่องต้องห้ามดังคำกล่าวของท่านอิบนุศศอลาห์ข้างต้น ...
ส่วนข้ออ้างที่ว่า “นักวิชาการส่วนมากหรือมีมติ(อิจญมาอฺ)ผ่อนปรนให้ให้ปฏิบัติหะดีษเฎาะอีฟได้” .. ทำไม อ.อัชอะรีย์ไม่บอกให้ชัดเจนด้วยว่าหะดีษเฎาะอีฟที่นักวิชาการส่วนมากผ่อนปรนให้ปฏิบัติได้นั้น เฎาะอีฟในลักษณะไหน ? .. เฎาะอีฟในเรื่องใด ?.. และที่ว่าปฏิบัติได้นั้น มีเงื่อนไขอย่างไร ? ...
ผมขออธิบายในกรณีนี้ดังนี้ ...
นักวิชาการมีทัศนะขัดแย้งกันในเรื่อง “การปฏิบัติ” ตามหะดีษเฎาะอีฟเป็น 3 ทัศนะ (ดังระบุในหนังสือ “กอวาอิด อัต-ตะห์ดีษ” หน้า 113) คือ ...
ทัศนะที่หนึ่ง หะดีษเฎาะอีฟทุกบท --ไม่ว่าเรื่องหุก่มต่างๆหรือเรื่องฟะฎออิลุ้ลอะอฺมาล – ห้ามนำมาปฏิบัติโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น .. นี่คือทัศนะของท่านยะห์ยา บินมะอีน, ท่านอบูบักรฺ อิบนุลอะรอบีย์, ท่านอิบนุหัสม์, และตามรูปการณ์แล้วน่าจะเป็นทัศนะของท่านบุคอรีย์และท่านมุสลิมด้วย ...
ทัศนะที่สอง หะดีษเฎาะอีฟทุกบท – ไม่ว่าเรื่องหุก่มต่างๆหรือเรื่องฟะฎออิลุ้ลอะอฺมาล – สามารถนำมาปฏิบัติได้โดยปราศจากเงื่อนไข ...
ท่านอัส-สะยูฏีย์อ้างว่า นี่คือทัศนะของท่านอบูดาวูดและท่านอิหม่ามอะห์มัด ...
หมายเหตุ
โปรดเข้าใจด้วยว่า คำว่า “หะดีษเฎาะอีฟ” ตามทัศนะของท่านอิหม่ามอะห์มัดในที่นี้ หมายถึง “หะดีษหะซัน” หรือหะดีษที่สวยงามตามคำกล่าวของท่านอัต-ติรฺมีซีย์ มิใช่หะดีษเฎาะอีฟตามมุมมองของนักวิชาการท่านอื่นๆ ...
นี่คือคำอธิบายของท่านอิบนุตัยมียะฮ์ในหนังสือ “มินฮาจญ์ อัส-ซุนนะฮ์” ดังการอ้างอิงในหนังสือ “กอวาอิด อัต-ตะห์ดีษ” ของท่านอัล-กอซิมีย์ หน้า 118 ...
ทัศนะที่สาม .. เป็นทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่ .. ถือว่า อนุญาตให้นำหะดีษเฎาะอีฟมาปฏิบัติในเรื่องฟะฎออิลุ้ลอะอฺมาล, เรื่องบาปบุญ, เรื่องสนับสนุนให้ทำความดีและสำทับให้หวาดกลัวจากการทำความชั่วได้ โดยมีเงื่อนไข (ดังมีระบุในหนังสือ “กอวาอิด อัต-ตะห์ดีษ” หน้า 116 และหนังสือหะดีษอื่นๆแทบทุกเล่ม) ดังนี้ ...
1. หะดีษนั้นจะต้องไม่เฎาะอีฟมากเกินไป ...
2. หะดีษนั้น จะต้องอยู่ภายใต้พื้นฐานแห่งการปฏิบัติอยู่ก่อนแล้ว (หมายถึงมีหะดีษที่เศาะเหี๊ยะฮ์ในเรื่องนั้นมายืนยันไว้แล้ว) และ ...
3. จะต้องไม่ยึดมั่นขณะปฏิบัติว่า หะดีษนั้นเป็นหะดีษที่แน่นอนหรือถูกต้อง แต่ให้ยึดมั่นว่า เป็นการปฏิบัติ “เผื่อๆ” เท่านั้น ...
นอกจากเงื่อนไข 3 ประการข้างต้นแล้ว ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ยังได้เสนอเงื่อนไขเพิ่มเติมอีกว่า ...
أُشْتُهِرَ أَنَّ أَهْلَ الْعِلْمِ يَتَسَاهَلُوْنَ فِىْ إِيْرَادِ اْلأَحَادِيْثِ فِى الْفَضَائِلِ وَإِنْ كَانَ فِيْهَا ضَعْفٌ مَالَمْ تَكُنْ مَوْضُوْعَةً، وَيَنْبَغِىْ مَعَ ذَلِكَ إِشْتِرَاطُ أَنْ يَعْتَقِدَ الْعَامِلُ كَوْنَ ذَلِكَ الْحَدِيْثِ ضَعِيْفًا! وَأَنْ لاَ يُشْهِرَ ذَلِكَ لِئَلاَّ يَعْمَلَ الْمَرْءُ بِحَدِيْثٍ ضَعِيْفٍ فَيُشَرِّعَ مَالَيْسَ بِشَرْعٍ، أَوْ يَرَاهُ بَعْضُ الْجُهَّالِ فَيَظُنَ أَنَّهُ سُنَّةٌ صَحِيْحَةٌ، وَقَدْ صَرَّحَ بِمَعْنىَ ذَلِكَ اْلأُسْتَاذُ أَبُوْ مُحَمَّدِ بْنُ عَبْدِالسَّلاَمِ وَغَيْرُهُ، وَلْيَحْذَرِالْمَرْءُ مِنْ دُخُوْلِهِ تَحْتَ قَوْلِهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ .... "مَنْ حَدَّثَ عَنِّىْ بِحَدِيْثٍ يُرَى أَنَّهُ كَذِبٌ فَهُوَ أَحَدُ الْكَاذِبَيْنِ" .. فَكَيْفَ بِمَنْ عَمِلَ بِهِ ؟! وَلاَ فَرْقَ فِىْ الْعَمَلِ بِالْحَدِيْثِ فِى اْلأَحْكَامِ أَوْ فِى الْفَضَائِلِ إِذِالْكُلُّ شَرْعٌ!
“เป็นที่รู้กันอย่างแพร่หลายว่า นักวิชาการได้ผ่อนปรนให้บอกเล่าหะดีษในเรื่องของฟะฎออิลุ้ลอะอฺมาลได้ แม้ในมันจะมีความเฎาะอีฟอยู่บ้างก็ตามตราบใดที่มันมิใช่หะดีษเก๊ เกี่ยวกับเรื่องนี้ สมควรมีเงื่อนไขด้วยว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องยึดมั่นว่าหะดีษบทนั้นเป็นหะดีษเฎาะอีฟ และการปฏิบัติดังกล่าวจะต้องไม่ทำให้แพร่หลายด้วย! ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้บุคคลใดนำหะดีษเฎาะอีฟมาปฏิบัติจนเป็นสาเหตุให้เขา(ได้ชื่อว่า) เป็นผู้ตราบทบัญญัติในสิ่งที่มันมิใช่เป็นบทบัญญัติ หรืออาจจะมีผู้ไม่รู้บางคนมาเห็น(การกระทำของ)เขาแล้วเลยเข้าใจว่ามันคือซุนนะฮ์ที่ถูกต้อง .. แน่นอน ความหมายดังที่กล่าวมานี้ ท่านอุซตาซอบูมุหัมมัด อิบนุอับดิสสลามและนักวิชาการท่านอื่นๆได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนแล้ว และบุคคลผู้นั้น(คือผู้ปฏิบัติตามหะดีษเฎาะอีฟ) ก็พึงระวังให้จงหนักจากการล่วงล้ำเข้าสู่ภายใต้คำกล่าวท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมที่ว่า .. “ผู้ใดอ้างรายงานจากฉัน ด้วยหะดีษใดที่ถูกมองว่ามันเป็นท็จ เขาก็คือหนึ่งจากสองที่ร่วมกันกล่าวเท็จ” .. (ขนาดผู้อ้างรายงานหะดีษเฎาะอีฟยังต้องระวังขนาดนี้) แล้วผู้ที่ปฏิบัติมันล่ะ จะ(ต้องระวัง)สักขนาดไหน ? และไม่มีข้อแตกต่างอันใดในระหว่างการปฏิบัติตามหะดีษในเรื่องหุก่มต่างๆหรือเรื่องฟะฎออิลุ้ลอะอฺมาล เพราะทั้งหมดคือบทบัญญัติเหมือนกัน” ...
(โปรดดูหนังสือ “تَبْيِيْنُ الْعَجَبِ بِمَا وَرَدَ فِىْ فَضْلِ رَجَبَ” ของท่านอิบนุหะญัรฺหน้า 3-4) ...
คำกล่าวของท่านอิบนุหะญัรฺที่ว่า .. “ไม่มีข้อแตกต่างอันใดในระหว่างการปฏิบัติตามหะดีษในเรื่องหุก่มต่างๆหรือเรื่องฟะฎออิลุ้ลอะอฺมาล เพราะทั้งหมดคือบทบัญญัติเหมือนกัน” .. แสดงว่า “แนวโน้ม” ของท่านอิบนุหะญัรฺในเรื่องนี้ก็คือ ไม่อนุญาตให้นำหะดีษเฎาะอีฟมาปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหุก่มหรือเรื่องฟะฎออิลุ้ลอะอฺมาล ...
สำหรับนักวิชาการที่มีทัศนะว่า อนุโลมให้นำหะดีษเฎาะอีฟมาปฏิบัติในเรื่องฟะฎออิลุ้ลอะอฺมาลได้ ท่านอิบนุหะญัรฺก็ได้กำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติไว้หลายประการดังกล่าวมาแล้ว ...
จากเงื่อนไขดังกล่าวนั้น – โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากข้อที่ 3 และเงื่อนไขเพิ่มเติมของท่านอิบนุหะญัรฺ – ผมจึงขอถาม อ.อัชอะรีย์ว่า ...
ก. การที่ผู้รู้บางท่านส่งเสริมและสนับสนุนชาวบ้านให้ยอมลงทุนว่าจ้าง ให้มีการเฝ้าและอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺอย่างเป็นล่ำเป็นสันด้วยเงินค่าจ้างเป็นเรือนหมื่นหรือหลายหมื่นดังที่นิยมปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายทั้งๆที่หะดีษเรื่องอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรเป็นหะดีษเฎาะอีฟนั้น แน่ใจหรือว่า ชาวบ้านเหล่านั้น “ทำเผื่อ” ดังเงื่อนไขข้างต้น หรือพวกเขาทำเพราะเชื่อมั่นว่าหะดีษในเรื่องการอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ เป็นหะดีษที่ถูกต้องตามการชี้นำของผู้รู้กันแน่ ??? ...
ข. แน่ใจไหมว่า การที่ชาวบ้าน “จ้าง” อ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ (หรือแม้แต่ที่บ้าน) จะมีผลบุญที่จะอุทิศให้ผู้ตายได้ ? ...
ทั้งนี้เพราะท่านอัล-มะรอฆีย์ได้กล่าวในหนังสือ “ตัฟซีรฺอัล-มะรอฆีย์” เล่มที่27 หน้า 66 ว่า ...
وَمَذْهَبُ أَحْمَدَ بْنِ حَنْبَلٍ وَجَمَاعَةٍ مِنَ الْعُلَمَاءِ أَنَّ ثَوَابَ الْقِرَاءَةِ يَصِلُ إِلَى الْمَوْتىَ إِنْ لَمْ تَكُنِ الْقِرَاءَةُ بِأَجْرٍ، أَمَّا إِذَا كَانَتْ بِهِ كَمَا يَفْعَلُ النَّاسُ الْيَوْمَ مِنْ إِعْطَاءِ اْلأَجْرِ ِللْحُفَّاظِ ِلْلقِرَاءَةِ عَلَى الْمَقَابِرِ وَغَيْرِهَا فَلاَ يَصِلُ إِلَى الْمَيِّتِ ثَوَابُهَا، إِذْ لاَ ثَوَابَ لَهَا حَتىَّ يَصِلَ إِلَيْهِمْ، لِحُرْمَةِ أَخْذِ اْلأَجْرِعَلَىقِرَاءَةِ الْقُرْآنِ وَإِنْ لَمْ يَحْرُمْ عَلَى تَعْلِيْمِهِ
“มัษฮับท่านอิหม่ามอะห์มัด อิบนุหัมบัลและนักวิชาการกลุ่มหนึ่งถือว่า ผลบุญการอ่านอัล-กุรฺอ่านจะถึงยังผู้ตายถ้าการอ่านนั้นไม่มีค่าจ้าง, อนึ่ง หากการอ่านดังกล่าวมีค่าจ้าง .. ดังที่ประชาชนในปัจจุบันนิยมกระทำกัน โดยการจ้างผู้ท่องจำอัล-กุรฺอ่านให้อ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺหรือที่อื่น (เช่นที่บ้านเป็นต้น) ผลบุญของการอ่านอัล-กุรฺอ่านก็จะไม่ถึงผู้ตาย เพราะไม่มีผลบุญใดเลยในการอ่านในลักษณะนี้ที่จะถึงยังผู้ตายได้ เนื่องจากการรับค่าจ้างเพื่ออ่านอัล-กุรฺอ่านเป็นเรื่องหะรอม แม้ว่าจะไม่ต้องห้ามในการจ้างสอนอัล-กุรฺอ่านก็ตาม” ...
ค. แน่ใจไหมว่าหลายๆเรื่องที่ผู้รู้สนับสนุนให้ชาวบ้านนำหะดีษเฎาะอีฟ(ตามนัยจากคำกล่าวของ อ.อัชอะรีย์เองข้างต้น) มาปฏิบัตินั้น เป็นการกระทำกันเงียบๆตามการเสนอแนะของท่านอิบนุหะญัรฺ หรือมีการปฏิบัติกันอย่างโจ๋งครึ่มและแพร่หลายจนดูประหนึ่งว่า มันคือซุนนะฮ์ที่ถูกต้องของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะวัลลัมไปแล้ว ?
ผมขอยืนยันอีกครั้งว่า การอ่านยาซีนหรืออ่านอัล-กุรฺอ่านบทใดที่กุบูรฺ ไม่ใช่เป็นซุนนะฮ์และไม่มีหะดีษมัรฺฟูอฺที่ถูกต้องแม้แต่บทเดียวจากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมมายืนยันไว้ .. ดังจะได้ชี้แจงความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ของ อ.อัชอะรีย์ต่อไป ...


ชี้แจง .. บทวิภาษของ อ.อัชอะรีย์ต่อ อ.ปราโมทย์ (ตอนที่ 3)


ชี้แจงเรื่อง โครงสร้างของอิบาดะฮ์คือระงับจากการปฏิบัติจนกว่าจะมีบทบัญญัติ

โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย
(3). ชี้แจงเรื่อง โครงสร้างของอิบาดะฮ์คือระงับจากการปฏิบัติจนกว่าจะมีบทบัญญัติ
อ.อัชอะรีย์กล่าวว่า ...
“อ.ปราโมทย์ได้หยิบยกกฎเกณฑ์ต่างๆของหลักพื้นฐานนิติศาสตร์อิสลาม(قَوَاعِدُ أُصُوْلِيَّةٌ) และบอกว่า ปัญหาขัดแย้งเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องอิบาดะฮ์ที่เกี่ยวกับบาป-บุญ ดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งโครงสร้างของมันก็คือจะต้องยึดถือตัวบทอันได้แก่คำสั่งของอัลลอฮ์และแบบอย่างจากซุนนะฮ์เป็นเกณฑ์ ไม่ใช่ไปยึดถือ “คำห้าม” ดังทัศนะของ อ.กอเซ็ม”
และได้กล่าวใน 5 หน้าถัดมาว่า .. “อ.ปราโมทย์ได้อ้างอิงคำกล่าวของอิมามอะห์มัดและนักวิชาการฟิกฮ์ท่านอื่นๆว่าแท้จริง พื้นฐานของเรื่องอิบาดะฮ์ทั้งมวลคือให้ระงับ (จากการปฏิบัติ) .. เพื่อจะบอกเป็นนัยว่าการอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺต้องมีหลักฐานเจาะจงว่า ท่านนบีย์เคยกระทำไว้เท่านั้น”
และ ...
“เมื่อบางคนได้ยินหลักการนี้ก็จะคิดไปว่า อิบาดะฮ์นั้นต้องมีหลักฐานมายืนยันเจาะจง (ค็อซ)หรือจำกัด (มุก็อยยัด) ให้กระทำเท่านั้น แต่เมื่อเราได้ยินคำว่า “เว้นแต่ต้องมีหลักฐานนั้น” เราก็ต้องเข้าใจตามหลักพื้นฐานนิติศาสตร์อิสลามเกี่ยวกับประเภทของหลักฐานว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งตัวอย่างของหลักฐานแบบสรุปๆมีดังนี้ อาทิเช่น หลักฐานแบบมุฏลัก (บ่งชี้กว้างๆ), หลักฐานแบบมุก็อยยัด (จำกัดหลักฐานบ่งชี้กว้างๆ), หลักฐานแบบครอบคลุม และหลักฐานแบบเจาะจง” ฯลฯ ...
ชี้แจง
3.1 กฎเกณฑ์ของวิชาอุศูลฯ ที่ว่า โครงสร้างของอิบาดะฮ์ จะต้อง “ระงับ” ไว้ก่อนจนกว่าจะมีบทบัญญัติลงมาก็ดี .. และคำกล่าวที่ว่า การปฏิบัติอิบาดะฮ์ จะต้องยึดถือตัวบทจากคำสั่งอัลลอฮ์ในอัล-กุรฺอ่านและแบบอย่างจากซุนนะฮ์เป็นเกณฑ์ก็ดี ...
ไม่เห็น อ.อัชอะรีย์จะคัดค้านเลยว่า กฎเกณฑ์ข้อนี้มันไม่ถูกต้องตรงไหน .. ซึ่งแสดงว่า อ.อัชอะรีย์ก็ยอมรับกฏเกณฑ์ข้อนี้เช่นเดียวกัน ...
แต่ถ้าหาก อ.อัชอะรีย์ เห็นว่ากฎเกณฑ์ดังกล่าวไม่ถูกต้องและมีข้อผิดพลาด อันมีความหมายว่า เรื่องอิบาดะฮ์ต่างๆเราสามารถจะกำหนดรูปแบบขึ้นมาเองได้โดยไม่ต้องมีบทบัญญัติลงมา, .. และ/หรือการปฏิบัติอิบาดะฮ์ ไม่จำเป็นต้องยึดถือตัวบทจากคำสั่งอัลลอฮ์ในอัล-กุรฺอ่านและไม่จำเป็นต้องไปปฏิบัติตามซุนนะฮ์ของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมให้เสียเวลา ก็ลองยกหลักฐานสักบทมา “หักล้าง” คำกล่าวข้างต้นดูซิ .. และจงบอกด้วยว่า หลักฐานดังกล่าวของ อ.อัชอะรีย์ มีนักวิชาการท่านใดเป็นผู้กำหนดหรือรับรองมัน ??? ...
3.2 เรื่องที่ว่า .. การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺหรือเพื่ออุทิศผลบุญให้ผู้ตายต้องมีหลักฐานเจาะจง .. นั้น ไม่ใช่ผมอ้างกฎเกณฑ์ข้างต้นเพื่อบอก “เป็นนัย” หรอก แต่นักวิชาการในอดีตจำนวนมาก อาทิเช่น ท่านอิหม่ามอะห์มัด, ท่านอิบนุ้ลก็อยยิม, ท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์, ท่านอัล-มุนาวีย์, ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์, ท่านอิซซุดดีน อิบนุอับดิสสลาม, ท่านอิบนุกะษีรฺ เป็นต้น และนักวิชาการในยุคปัจจุบันอีกเยอะแยะที่กล่าว “อย่างชัดเจน” ว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺเป็นบิดอะฮ์, เป็นเรื่องต้องห้าม, หรือ การอ่านอัล-กุรฺอ่านนั้นอุทิศผลบุญไม่ถึงผู้ตาย .. ซึ่งแสดงว่า พวกท่านมองว่า “หลักฐานเจาะจง” ในเรื่องนี้ไม่มี จึงได้หุก่มออกมาอย่างนี้ .. ดังจะถึงต่อไปในข้อที่ (4) ...
3.3 ส่วนการที่ อ.อัชอะรีย์พยายามอธิบายว่า สิ่งที่เรียกว่า “หลักฐาน” ย่อมมีทั้งหลักฐานแบบกว้างๆและหลักฐานแบบจำกัด ฯลฯ.. พร้อมกับนำตัวอย่างสิ่งที่เป็นหลักฐานกว้างๆบางอย่างมาประกอบคำอธิบายเพื่อต้องการยืนยันว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ หรือเพื่ออุทิศผลบุญให้ผู้ตายนั้น มี “หลักฐานกว้างๆ” รองรับ ซึ่ง อ.อัชอะรีย์คงจะหมายถึงหลักฐานส่งเสริมให้อ่านอัล-กุรฺอ่านที่มีอยู่หลายสิบบท, หรือเรื่องท่านนบีย์ไปนมาซมัยยิตที่กุบูรฺนั่นเอง ...
ผมขอเรียนว่า ประเด็นเรื่องหลักฐานกว้าง-หลักฐานแคบอะไรที่ว่านี้ ไม่มีใครปฏิเสธหรอก และก็ใช่ว่าจะมี อ.อัชอะรีย์เพียงผู้เดียวที่รู้เรื่องนี้ ...
เพราะผู้ที่เคยเรียนวิชาอุศูลุลฟิกฮ์มาบ้างย่อมเข้าใจกันทุกคนแหละ ...
แต่ปัญหาก็คือ อ.อัชอะรีย์รู้หรือเปล่าว่า เรื่องการอ่านอัล-กุรฺอ่านให้ผู้ตาย – ไม่ว่าที่กุบูรฺหรือที่บ้าน -- ไม่ใช่เป็นเรื่องของ “หลักฐานกว้างๆ” ดังความเข้าใจของ อ.อัชอะรีย์ แต่เป็นเรื่องของสิ่งที่เรียกกันว่า نَصٌّ (นัศ) หรือ “หลักฐานที่ชัดเจน” ของมัน ...
ท่านอิบนุกะษีรฺ ได้กล่าวในหนังสือ “ตัฟซีรฺอิบนุกะษีรฺ” เล่มที่ 4 หน้า 276 อันเป็นการอธิบายเรื่อง “การอุทิศผลบุญไม่ถึงผู้ตาย” ว่า ...
وَبَابُ الْقُرَبَاتِ يُقَتَصَرُ فِيْهِ عَلَى النُّصُوْصِ فَلاَ يُتَصَرَّفُ فِيْهِ بِأَنْوَاعِ اْلأَقْيِسَةِ وَاْلآرَاءِ
“เรื่องของสิ่งที่จะทำให้ใกล้ชิดอัลลอฮ์ (ผลบุญ) นั้น จะต้องจำกัดตาม نَصٌّ (ตัวบทชัดเจน) เท่านั้น, จะนำเรื่องนี้ไปปรับเปลี่ยนโยกย้ายตามการกิยาสในรูปแบบต่างๆหรือแนวคิดใดๆหาได้ไม่” ...
หากผมจะถาม อ.อัชอะรีย์ว่า เข้าใจคำว่า “نَصٌّ” หรือไม่? ก็คงจะเป็นการเอา ”มะพร้าวสด” ไปขายสวน ...
จึงขออธิบายแก่ท่านผู้อ่านอื่นๆ (ที่ยังไม่รู้) ว่า ...
คำว่า “نَصٌّ” นี้ ท่านอิบนุ้ลอะษีรฺได้ให้คำจำกัดความไว้ในหนังสือ “อัน-นิฮายะฮ์ ฟีเฆาะรีบิ้ลหะดีษ” เล่มที่ 4 หน้า 65 ว่า ...
مَا دَلَّ ظَاهِرُ لَفْظِهِ عَلَيْهِ مِنَ اْلأَحْكَامِ
“คือ หุก่มต่างๆซึ่งปรากฏชัดเจนจากการบ่งชี้ของถ้อยคำของมัน” ...
ส่วนในหนังสือปทานุกรม “อัล-มุอฺญัม อัล-วะซีฏ” เล่มที่ 2 หน้า 926 กล่าวอธิบายว่า ...
اَلنَّصُّ مَا لاَ يَحْتَمِلُ إِلاَّ مَعْنىً وَاحِدًا، أَوْ لاَ يَحْتَمِلُ التَّأْوِيْلَ
“นัศ ก็คือ สิ่งซึ่งไม่สามารถจะตีความ(เป็นอย่างอื่น)ได้นอกจากเพียงความหมายเดียว, หรือสิ่งซึ่งไม่สามารถจะตะอ์วีล(แปรเปลี่ยนความหมาย)) เป็นอย่างอื่นได้” ...
รวมความแล้ว คำว่า “นัศ” (ที่เป็นหลักฐานเรื่องผลบุญ)จึงไม่ได้หมายถึง “หลักฐานกว้างๆ” .. ดังตัวอย่างต่างๆที่ อ.อัชอะรีย์นำมาอ้างหลายหน้ากระดาษ ...
แต่คำว่า “นัศ” จะหมายถึง “หลักฐานที่ชัดเจนที่ไม่สามารถจะตีความเป็นอย่างอื่นได้” .. อาทิเช่น “นัศ” เรื่องการอ่านอัล-กุรฺอ่านเพื่ออุทิศผลบุญให้ผู้ตาย, “นัศ” เรื่องการจัดเลี้ยงอาหารเพื่อส่งบุญให้ผู้ตาย เป็นต้น ...
จะเห็นได้ว่า แม้กระทั่งนักวิชาการในอดีต – ทุกท่าน – ที่มีทัศนะตรงกับ อ.อัชอะรีบ์ ก็ไม่ปรากฏว่าจะมีท่านใดอ้าง “หลักฐานกว้างๆ” เรื่องการอ่านอัล-กุรฺอ่าน หรืออ้างหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์เรื่อง “ท่านนบีย์นมาซมัยยิตที่กุบูรฺ” มาเป็นหลักฐานเรื่อง “อ่านอัล-กุรฺอ่านให้ผู้ตายได้” เหมือนการอ้างของ อ.อัชอะรีย์แม้แต่คนเดียว ...
ตรงกันข้าม พวกท่านกลับอ้าง “นัศ” .. คือ “หะดีษ” ที่กล่าวอย่างชัดเจนเรื่องการอ่านอัล-กุรฺอ่านให้ผู้ตาย แทนที่จะอ้างหลักฐานกว้างๆหรือหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์บทนั้นเหมือน อ.อัชอะรีย์ ...
แม้ว่าหะดีษเรื่องการอ่านอัล-กุรฺอ่านให้ผู้ตายดังกล่าวจะเป็นหะดีษเฎาะอีฟ (ดังการยอมรับของท่านอัส-สะยูฏีย์ในหนังสือ “ชัรฺหุศ ศุดูรฺ” หน้า 311) ก็ตาม ...
ก็ไม่ทราบว่า บรรดานักวิชาการเหล่านั้นท่าน “ลืม” นึกถึง “หลักฐานกว้างๆ” เรื่องส่งเสริมให้อ่านอัล-กุรฺอ่าน, .. และลืมนึกถึง “หะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์” เรื่องท่านนบีย์นมาซมัยยิตในกุบูรฺ หรืออย่างไร ? ...
หรือมิฉะนั้นก็เป็นไปได้ว่า วิชาความรู้ของพวกท่านคงจะยัง “ไม่ถึงขั้น” และยัง “ไม่แตกฉาน” พอในวิชาอุศูลุลฟิกฮ์เหมือน อ.อัชอะรีย์ ??? ...
อีกประการหนึ่ง ในกรณีของหลักฐานกว้างๆนั้น มีหลายกรณีที่เราจำเป็นจะต้องดูการอธิบาย (บะยาน) จาก “การปฏิบัติ” ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมประกอบด้วย ว่าความ “กว้าง” ของมันมีขอบเขตแค่ไหน เพราะการ “ตีความ" เอาเองจากหลักฐานกว้างๆโดยพลการ อาจจะนำเราเข้ารกเข้าพงได้ ดังตัวอย่างที่จะถึงต่อไป ...



ชี้แจง .. บทวิภาษของ อ.อัชอะรีย์ต่อ อ.ปราโมทย์ (ตอนที่ 4)



ชี้แจงเรื่อง ห้ามนมาซในกุบูรฺ

โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

(4). ชี้แจงเรื่อง ห้ามนมาซในกุบูรฺ ... 
4.1 อ.อัชอะรีย์กล่าวว่า ... 
“อ.ปราโมทย์กล่าวว่า กุบูรฺไม่ใช่เป็นสถานที่ทำอิบาดะฮ์ ด้วยการอ้างคำกล่าวของท่านอัลฮาฟิซ อิบนุหะญัรฺ อัลอัสกอลานีย์ที่อธิบายหะดีษที่ว่า “และพวกท่านจงอย่าทำมัน(บ้าน)ให้เป็นกุบูร) .. ว่า แท้จริงกุบูรฺนั้นมิใช่เป็นสถานที่สำหรับทำอิบาดะฮ์ ดังนั้นการนมาซในกุบูรฺจึงเป็นเรื่องน่ารังเกียจ” .. และ ..
(อ.ปราโมทย์)ยังสรุปเอาเองว่า มักโระฮ์ที่ว่านี้ คือมักโระฮ์แบบฮะรอม ตามที่ทราบกันดีจากนักปราชญ์ยุคแรก .....”
แล้ว อ.อัชอะรีย์ก็เริ่มการวิภาษข้อความข้างต้นด้วยการกล่าวว่า ...
“1.1 สำนวนของหะดีษนั้น มิได้ห้ามทำการละหมาดที่กุบูรฺ ......”
ชี้แจง
ก. คำกล่าวของท่านอิบนุหะญัรฺที่ว่า .. “แท้จริงกุบูรฺนั้นมิใช่เป็นสถานที่สำหรับทำอิบาดะฮ์ ดังนั้นการนมาซในกุบูรฺจึงเป็นเรื่องน่ารังเกียจ(มักโระฮ์)” .. นั้น อ.อัชอะรีย์แน่ใจหรือว่า ผมคือคนแรกที่ “สรุปเอาเอง” ว่า มักโระฮ์ที่ว่านี้คือมักโระฮ์แบบหะรอม ?? 
ขอแนะนำว่า ก่อนที่จะกล่าวหาใครง่ายๆ อ.อัชอะรีย์ก็น่าจะตรวจสอบข้อมูลให้ถ่องแท้เสียก่อนจะดีกว่า ...
เพราะข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ก็คือ มีนักวิชาการหะดีษระดับแนวหน้าในอดีตหลาย ท่านที่เคยกล่าวอย่างชัดเจนว่า มักรูฮ์นมาซในกุบูรฺในที่นี้คือมักรูฮ์แบบหะรอม .. และบางท่านก็อธิบายข้อความที่ว่า .. “แท้จริงกุบูรฺนั้นมิใช่เป็นสถานที่สำหรับทำอิบาดะฮ์” ..ในลักษณะเดียวกันกับคำอธิบายของผม คือ ไม่อนุญาต(หะรอม)ให้นมาซในกุบูรฺ! ...
นักวิชาการท่านแรกที่ขออ้างถึง คือท่านอัน-มุนาวีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 1031) ได้กล่าวอธิบายหะดีษจากการรายงานของท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.ที่ว่า .. “พวกท่านอย่านมาซโดยหันไปทางกุบูรฺ และพวกท่านอย่านมาซบนกุบูรฺ” อันเป็นหะดีษที่ 9814 จากหนังสือ “อัล-ญาเมียะอฺ อัศ-เศาะฆีรฺ” ของท่านอัส-สะยูฏีย์ .. โดยท่านอัน-มุนาวีย์อธิบายว่า ...
وَيُؤْخَذُ مِنَ الْحَدِيْثِ النَّهْىُ عَنِ الصَّلاَةِ فِىْ الْمَقْبُرَةِ، فَهِىَ مَكْرُوْهَةٌ كَرَاهَةَ تَحْرِيْمٍ!
“สิ่งที่ได้รับจากหะดีษนี้ก็คือ ห้ามนมาซในสุสาน! ซึ่งมัน(การนมาซในสุสาน) เป็นเรื่องมักรูฮ์แบบต้องห้าม (หะรอม)” ...
(ดูหนังสือ “ฟัยฎุลกอดีรฺ” ของท่านอัล-มุนาวีย์ เล่มที่ 6 หน้า 407) ...
แม้สายรายงานของหะดีษข้างต้นนี้จะเฎาะอีฟ แต่ข้อความของหะดีษนี้ก็ถือว่าเศาะเหี๊ยะฮ์ เพราะมีการรายงานที่สอดคล้อง (مُتَابِعٌ) มาจากกระแสอื่น (ดูหนังสือ “อัศเศาะหี้หะฮ์” ของท่านอัล-อัลบานีย์ หะดีษที่ 1016) และยังได้รับการยืนยัน (شَاهِدٌ) จากการรายงานของท่านอบูสะอิด อัล-คุดรีย์ ดังจะถึงต่อไป ...
อ.อัชอะรีย์จะแก้ตัวอย่างไรอีก ? ...
ส่วนนักวิชาการท่านหลังก็คือ ท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 388) ...
ท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “มะอาลิม อัส-สุนัน” เล่มที่ 1 หน้า 127 ว่า ...
وَاحْتَجَّ بَعْضُ مَنْ لَمْ يُجِزِالصَّلاَةَ فِى الْمَقْبُرَةِ وَإِنْ كَانَتْ طَاهِرَةَ التِّرْبَةِ بِقَوْلِ رَسُوْلِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : صَلُّوْا فِىْ بُيُوْتِكُمْ، وَلاَ تَتَّخِذُوْهَا مَقَابِرَ! .. قَاَل : فَدَلَّ ذَلِكَ عَلَى أَنَّ الْمَقْبُرَةَ لَيْسَتْ بِمَحَلِّ الصَّلاَةِ. 
“นักวิชาการบางท่านที่ “ไม่อนุญาต” ให้นมาซในสุสานแม้ว่าดินของมันจะสะอาดก็ตาม ได้อ้างหลักฐานด้วยคำพูดของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมที่ว่า .. “พวกท่านจงนมาซในบ้านของพวกท่าน และจงอย่าทำมัน(บ้าน)ให้เป็นกุบูรฺ” .. เขากล่าวว่า .. “หะดีษนี้แสดงว่า สุสานนั้น มิใช่เป็นสถานที่สำหรับนมาซ” ...
จะเห็นได้ว่า จากคำกล่าวนักวิชาการบางท่านในยุคก่อนที่ว่า “สุสานนั้นมิใช่เป็นสถานที่สำหรับนมาซ” ...
ท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ได้อธิบายว่า ความหมายของนักวิชาการต่อคำพูดดังกล่าวก็คือ “ไม่อนุญาต” ให้นมาซในสุสาน .. ซึ่งก็ตรงกันกับคำอธิบายของผม ...
เพราะคำว่า لَمْ يُجِزْ (เขาไม่อนุญาตให้) อันเป็นสำนวนที่ท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ใช้ข้างต้น (และคำว่า لاَيَجُوْزُ :ไม่เป็นที่อนุญาต), และคำว่า يَحْرُمُ (หะรอม) .. ทั้ง 3 คำนี้ไม่ว่านักวิชาการฟิกฮ์จะเลือกใช้สำนวนไหน แต่ความหมายของมันมีอย่างเดียวกันคือ “ทำไม่ได้” หรือ “ห้ามทำ” (หะรอม) ทั้งสิ้น ...
ดังนั้น คำพูดของท่านอิบนุหะญัรฺตอนหลังที่ว่า “ดังนั้นการนมาซในกุบูรฺจึงเป็นเรื่องมักรูฮ์” .. ความหมายของคำนี้ -- ตามการอธิบายของท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ -- ก็คือ คำว่ามักรูอ์ในที่นี้ เป็นเรื่อง “ไม่อนุญาต” หรือ “หะรอม” นั่นเอง ...
แล้วอย่างนี้ อ.อัชอะรีย์ลองตอบมาซิครับว่า คำว่า “มักโระฮ์” จากคำพูดของท่านอิบนุหะญัรฺที่ผมอธิบายว่าหมายถึง “หะรอม” นั้น ผมสรุปเอาเอง หรือท่านอัล-มุนาวีย์และท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ เคย “เข้าใจ” อย่างนี้มาก่อนผม ??? ...
ข. และสำหรับคำพูดของผมที่ว่า .. “ความหมายของคำว่า مَكْرُوْهَةٌ (น่ารังเกียจ) หมายถึง كَرَاهَةٌ تَحْرِيْمِيَّةٌ .. คือเป็นเรื่องต้องห้ามหรือหะรอม อันเป็นสำนวนของนักวิชาการในยุคแรก” .. นั้น ...
ความเข้าใจดังกล่าวนี้มิใช้ผมเสกสรรขึ้นมาเอง แต่เป็นคำอธิบายและความเข้าใจของนักวิชาการหลายท่าน ซึ่งนอกจากท่านอัล-มุนาวีย์และท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ดังข้างต้นแล้ว ท่านอัลลามะฮ์ อัล-บัรฺกูวีย์ ก็ได้กล่าวในหนังสือ “جلاء القلوب” อันเป็นการอธิบายความหมายจากคำพูดของนักวิชาการ (ทั้ง 4 มัษฮับ) ที่กล่าวพ้องกันว่า การที่บ้านผู้ตายจัดเลี้ยงอาหารนั้น เป็น “บิดอะฮ์ที่มักรูฮ์” .. ซึ่งท่านอัลลามะฮ์ อัล-บัรฺกูวีย์อธิบายว่า ...
ثُمَّ إِنَّ الظَّاهِرَ أَنَّ الْكَرَاهَةَ تَحْرِيْمِيَّةٌ! إِذِ اْلأَصْلُ فِىْ هَذَاالْبَابِ خَبَرُجَرِيْرٍ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ، وَالنِّيَاحَةُ حَرَامٌ، وَالْمَعْدُوْدُ مِنَ الْحَرَامِ حَرَامٌ، وَأَيْضًا إِذَا أُطْلِقَ الْكَرَاهَةُ يُرَادُ مِنْهَا التَّحْرِيْمِيَّةُ
“ประการต่อมา โดยรูปการณ์แล้ว คำว่า مَكْرُوْهَةٌ (น่ารังเกียจ) จากคำกล่าวของนักวิชาการข้างต้นนั้น หมายถึง “เป็นเรื่องหะรอม” (ต้องห้าม) .. ทั้งนี้เพราะพื้นฐานของเรื่องนี้ (การไปชุมนุมกินกันที่บ้านผู้ตายเป็น مَكْرُوْهَةٌ) ได้แก่หะดีษของท่านญะรีรฺ ร.ฎ.(ที่ว่า .. “พวกเรา(เศาะหาบะฮ์) นับว่า การไปชุมนุมกันที่บ้านผู้ตายและมีการปรุงอาหารเลี้ยงกันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของนิยาหะฮ์”) .. และการนิยาหะฮ์นั้นเป็นเรื่องหะรอม, ดังนั้นสิ่งที่ถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของนิยาหะฮ์ ก็ต้องหะรอมเช่นเดียวกัน .. และอีกอย่างหนึ่งก็คือ คำว่า مَكْرُوْهَةٌ นี้เมื่อถูกกล่าวโดยปราศจากข้อแม้ใดๆแล้ว ความหมายของมันก็คือ หะรอม” ...
(จากหนังสือ “กัชฟุช ชุบฮาต” ของท่านมะห์มูด หะซันรอเบียะอฺหน้า 193) ...
ท่านอิบนุ้ลก็อยยิม อัล-ญูซียะฮ์ ได้อธิบายคำกล่าวของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์จากหนังสือ “อัล-อุมม์” ที่ว่า .. เป็นเรื่องมักรูฮ์ที่บิดาจะนิกาห์กับบุตรสาวที่เกิดจากการซินาของตนเอง .. โดยท่านอิบนุ้ลก้อยยิมอธิบายว่า ...
" نَصَّ الشَّافِعِىُّ عَلَىكَرَاهَةِ تَزَوُّجِ الرَّجُلِ بِنْتَهُ مِنْ مَاءِ الزِّنَى، وَلَمْ يَقُلْ قَطُّ إنَّهُ مُبَاحٌ وَلاَ جَائِزٌ، وَالَّذِىْ يَلِيْقُ بِجَلاَلَتِهِ وَإِمَامَتِهِ وَمَنْصَبِهِ الَّذِىْ أَحَلَّ اللهُ بِهِ مِنَ الدِّيْنِ أَنَّ هَذِهِ الْكَرَاهَةَ مِنْهُ عَلَى وَجْهِ التَّحْرِيْمِ! وَأَطْلَقَ لَفْظَ الْكَرَاهَةِ ِلأَنَّ الْحَرَامَ يَكْرَهُهُ اللهُ وَرَسُوْلُهُ... فَالسَّلَفُ كَانُوْا يَسْتَعْمِلُوْنَ الْكَرَاهَةَ فِىْ مَعْنَاهَا الَّتىِ أسْتُعْمِلَتْ فِيْهِ فِىْ كَلاَمِ اللهِ وَرَسُوْلِهِ، وَلَكِنَّ الْمُتَأَخِّرِيْنَ إصْطَلَحُوْا عَلَى تَخْصِيْصِ الْكَرَاهَةِ بِمَا لَيْسَ بِمُحَرَّمٍ وَتَرْكُهُ أَرْجَحُ مِنْ فِعْلِهِ" 
“ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า มักรูฮ์ที่ผู้ชายจะนิกาห์กับบุตรสาวที่เกิดจากการซินาของตนเอง .. ท่านไม่ได้กล่าวเลยว่า มัน(การนิกาห์ระหว่างพ่อลูกคู่นั้น) เป็นสิ่งถูกผ่อนผันให้และเป็นที่อนุญาต, .. ซึ่งสิ่งที่เหมาะสมกับความยิ่งใหญ่และความเป็นอิหม่ามของท่าน และตำแหน่งที่พระองค์อัลลอฮ์มอบให้แก่ท่านในเรื่องศาสนาก็คือ ความน่ารังเกียจ (มักรูฮ์ .. จากคำกล่าวของท่าน)นี้ หมายถึงหะรอม, และท่านได้ใช้คำว่า “มักรูฮ์”(น่ารังเกียจ) โดยไม่มีเงื่อนไข ก็เพราะสิ่งที่หะรอมก็คือสิ่งที่พระองค์อัลลอฮ์และรอซู้ลของพระองค์รังเกียจ .......... บรรดาชาวสะลัฟนั้น พวกเขาจะใช้คำว่ามักรูฮ์ (น่ารังเกียจ) กับความหมายซึ่งมีใช้ในคำพูดของอัลลอฮ์(ในอัล-กุรฺอ่าน) และรอซู้ล (ในหะดีษ ซึ่งมีความหมายว่าหะรอม) .. แต่บรรดานักวิชาการยุคหลังได้กำหนดศัพท์เทคนิคเป็นการเฉพาะขึ้นมาใหม่ว่า คำว่ามักรูฮ์ หมายถึงสิ่งที่มิใช่ของหะรอม, และการละทิ้ง (คือไม่ทำ)มันจะดีกว่าการทำมัน” .. (ดังที่ผมแปลว่า “เป็นสิ่งน่ารังเกียจ” .. และ อ.อัชอะรีย์แปลว่า “สิ่งที่ห้ามไม่ขาด” นั่นเอง ...
(จากหนังสือ “إعلام الموقعين” ของท่านอิบนุ้ลก็อยยิม เล่มที่ 1 หน้า 47-48) ...
นี่คือคำอธิบายของท่านอิบนุ้ลก็อยยิมต่อคำว่า “มักรูฮ์” ที่ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ใช้ว่า หมายถึง مَكْرُوْهَةٌ تَحْرِيْمِيَّةٌ (เป็นเรื่องหะรอม) ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ... 
ค. คำกล่าวของ อ.อัชอะรีย์ที่ว่า .. “สำนวนของหะดีษนั้นมิได้ห้ามทำการละหมาดที่กุบูรฺ ............” 
ผมก็อยากจะขอถาม อ.อัชอะรีย์ว่า .. แล้วผมกล่าวไว้ตรงไหนหรือว่า สำนวนหะดีษบทนั้น ห้ามนมาซที่กุบูรฺ ? ...
ตรงกันข้าม อ.อัชอะรีย์เองก็ยอมรับแล้วว่า คำกล่าวของผมที่ว่า “การนมาซที่กุบูรฺเป็นเรื่องต้องห้าม” นั้น เป็นการ “วิเคราะห์” จากหะดีษบทนั้น ซึ่งการวิเคราะห์(إِسْتِنْبَاطٌ)กับ “مَنْطُوْقٌ” หรือความหมายตรงตัวของหะดีษก็เป็นคนละเรื่องกันอยู่แล้ว .. และดูเหมือนผมจะกล่าวไว้แล้วในตอนต้นการวิภาษ อ.กอเซ็มว่า คำพูดของ อ.กอเซ็มที่ว่า หะดีษบทนี้มิใช่เป็นหะดีษห้ามอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูร..นั้น เป็นคำพูดที่ถูกต้องในแง่มุมหนึ่ง 
ขอย้ำอีกครั้งว่า ในการวิเคราะห์ --ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม -- ผมจะไม่เคยพูดแบบ “ฟันธง” เลยว่า ข้อวิเคราะห์ของผมถูกต้องแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะผมรู้ดีว่าในฐานะปุถุชนคนหนึ่ง ผมอาจจะผิดพลาดได้ตลอดเวลา ...
ดูตัวอย่างจากการวิเคราะห์เรื่องสถานภาพบิดามารดาท่านนบีย์ .. จะเห็นได้ว่าผมได้กล่าวไว้ตอนสรุปว่า การวิเคราะห์นี้ของผม อาจจะผิดก็ได้ ...
ไม่มีใครปฏิเสธว่า การวิเคราะห์ – ไม่ว่าจะเป็นของนักวิชาการระดับไหน – ย่อมมีถูกได้-ผิดได้ เสมอ ...
ดังนั้น สำมะหาอะไรกับผมซึ่ง .. หากใครสักคนจะอนุโลมให้เรียกว่าเป็นนักวิชาการ ก็คงเป็นนักวิชาการระดับปลายแถวอันดับโหล่สุดก็ว่าได้ .. ที่สมมุติว่าจะวิเคราะห์เรื่องใดผิดพลาดขึ้นมา ...
ขนาดท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ซึ่งเป็นหนึ่งจาก 4 อิหม่ามที่โลกมุสลิมยอมรับแท้ๆ ... 
จากโองการที่ 39 ซูเราะฮ์อัน-นัจญ์ม์ที่ว่า .. “แท้จริง จะไม่ได้แก่มนุษย์นอกจากสิ่งที่เขาเคยขวนขวายเอาไว้”.. ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ได้วิเคราะห์ออกมาว่า โองการดังกล่าวนี้แสดงว่า ผลบุญการอ่านอัล-กุรฺอ่านอุทิศไม่ถึงผู้ตาย! .. ดังมีระบุในหนังสือตัฟซีรฺ “อิบนุกะษีรฺ” เล่มที่ 4 หน้า 276 ...
แต่ .. การวิเคราะห์ดังกล่าวของท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ ก็ยังถูก อ.อัชอะรีย์มองว่า “ผิด” และ “ยอมรับไม่ได้” มิใช่หรือ ??? ... 
4.2 อ.อัชอะรีย์กล่าวว่า ... 
“ท่านอิหม่ามอิบนุรอญับ อัลฮัมบาลีย์ได้กล่าวว่า .. “ปราชญ์ส่วนมากมีทัศนะว่า การมักโระฮ์ในสิ่งดังกล่าว (ละหมาดในกุบูรฺ) นั้น เป็นมักโระฮ์แบบตันซีฮ์ (ใช้ให้ละทิ้งแบบไม่เด็ดขาด) และส่วนหนึ่งจากนักปราชญ์มีทัศนะผ่อนปรนในสิ่งดังกล่าว” .. และ ...
“ทัศนะของสะลัฟต่อฮุก่มการละหมาดที่กุบูรฺนั้น คือ ส่วนหนึ่งจากผู้ที่รายงานจากเขาว่ามักโระฮ์ละหมาดในกุบูรฺ คือท่านอะลีย์, ท่านอิบนุอับบาส, ท่านอิบนุอุมัรฺ, ท่านอะฏออ์, ท่านอัน นะคออีย์ และผู้ที่มีทัศนะไม่มักโระฮ์ละหมาดที่กุบูรฺคือท่านอบูฮุร็อยเราะฮ์, ท่านวาษิละฮ์ บินอัลอัสเกาะอ์ และท่านอัลฮะซัน อัลบะซอรีย์ .....”
และ ...
“ดังนั้น การที่ อ.ปราโมทย์กล่าวว่า มักโระฮ์ดังกล่าวหมายถึงมักโระฮ์แบบฮะรอมนั้น ถือเป็นการพูดแบบ تَحَكُّمٌ (ตามอำเภอใจ) โดยไม่ศึกษาค้นคว้าให้ถี่ถ้วนนั่นเอง” 
ชี้แจง
ผมว่า .. ผู้ที่ไม่ศึกษาค้นคว้าในเรื่องนี้ให้ละเอียดถี่ถ้วนไม่น่าจะเป็นผม แต่เป็นตัว อ.อัชอะรีย์เองนั่นแหละที่ด่วนกล่าวหาผมโดยไม่ตรวจสอบข้อมูลให้ถี่ถ้วนเสียก่อน ...
อย่างน้อยที่สุด คำกล่าวของท่านอัล-มุนาวีย์และท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ที่ผ่านมา ก็เป็นสิ่งยืนยันได้ดีว่า ใครกันแน่ที่ไม่ตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดก่อนกล่าวหาผู้อื่น ? ...
อีกอย่างหนึ่ง ข้ออ้างของ อ.อัชอะรีย์ที่ว่า การนมาซที่กุบูรฺไม่สมควรกระทำ(ห้ามไม่ขาดหรือเป็นมักรูฮ์ตันซีฮ์) ก็เป็นเพียงการอ้าง “ทัศนะ” ของนักวิชาการบางท่าน ...
แต่คำกล่าวของผมที่ว่า การนมาซที่กุบูรฺเป็นเรื่องหะรอม(ห้ามขาด) นั้น ผมมีข้อมูลทั้งจากทัศนะนักวิชาการ, จากเศาะหาบะฮ์ และจากหะดีษที่เศาะเหี๊ยะหลายบท เพียงแต่ผมไม่ได้นำข้อมูลเหล่านั้นลงเขียนในการวิภาษ อ.กอเซ็มเท่านั้น ...
ยิ่งไปกว่านั้น อ.อัชอะรีย์คงจะไม่รู้กระมังว่า เรื่องการห้ามนมาซที่กุบูรฺนี้ มิใช่จะห้ามเฉพาะนมาซฟัรฺฎูหรือนมาซสุนัตอื่นๆ แต่ยังห้าม “นมาซมัยยิต” ระหว่างหลุมฝังศพอีกด้วย .. ดังหลักฐานที่ผมจะนำเสนอต่อไป ... 
ข้อมูลจากทัศนะนักวิชาการที่ว่า การนมาซที่กุบูรฺเป็นเรื่องหะรอม ... 
ก. ท่านมุบาร็อกปูรีย์ กล่าวว่า ... 
وَأَمَّاالْمَقْبُرَةُ فَذَهَبَ أَحْمَدُ إِلَى تَحْرِيْمِ الصَّلاَةِ فِى الْمَقْبُرَةِ ............. وَإِلَى ذَلِكَ ذَهَبَتِ الظَّاهِرِيَّةُ وَلمَ ْيُفَرِّقُوْابَيْنَ مَقَابِرِالْمُسْلِمِيْنَ وَالْكُفَّارِ
“อนึ่งเรื่องของสุสาน(กุบูรฺ) นั้น ท่านอิหม่ามอะห์มัดถือว่า การนมาซในสุสานเป็นเรื่องหะรอม .......... และบรรดาอะฮ์ลุศซอฮิรฺ(นักวิชาการที่ยึดถือตามข้อความตรงของตัวบท) ก็มีทัศนะอย่างเดียวกันนี้ (คือหะรอมนมาซในกุบูรฺ) โดยพวกเขาไม่แบ่งแยกในระหว่างสุสานของมุสลิมหรือกาฟิรฺ ...
(จากหนังสือ “ตั๊วะห์ฟะต้ลอะห์วะซีย์” เล่มที่ 2 หน้า 259-26) ... 
ซึ่งในหนังสือ “อัล-มันฮัลฯ” เล่มที่ 4 หน้า 114 ก็มีข้อความที่คล้ายคลึงกันนี้ โดยอ้างว่าเป็นทัศนะของท่านอิหม่ามอะห์มัดและสานุศิษย์ของท่าน ...
และหลังจากได้ตีแผ่ “ความขัดแย้ง” ของนักวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว ท่านมุบาร็อกปูรีย์ก็กล่าวสรุปว่า ...
وَالظَّاهِرُ مَا ذَهَبَ إِلَيْهِ أَهْلُ الظَاهِرِيَّةِ وَاللهُ تَعَالَى أَعْلَمُ
“ตามรูปการณ์(ของหะดีษบทข้างต้น)นั้น .. (ทัศนะที่ถูกต้อง)ก็คือ ทัศนะของอะฮ์ลุศซอฮิรฺ วัลลอฮุอะอฺลัม” ...
นั่นคือ การนมาซในกุบูรฺเป็นเรื่องหะรอม (ห้ามขาด) ...
ยิ่งไปกว่านั้น ท่านอิหม่ามอะห์มัดยังได้กล่าวอีกว่า ...
مَنْ صَلَّى فِىْ مَقْبُرَةٍ أَوْ إِلَى قَبْرٍ أَعَادَ أَبَدًا
“ผู้ใดก็ตามที่นมาซในสุสาน หรือ(นมาซโดย)หันไปยังหลุมศพ เขาจะต้องนมาซใหม่ตลอดไป” 
(จากหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” ของท่านอิบนุหัสม์ เล่มที่ 2 ส่วนที่ 4 หน้า 32) ...
หมายความว่า การนมาซในลักษณะดังกล่าวนั้น ใช้ไม่ได้(ไม่เศาะฮ์) ...
หมายเหตุ 
ท่านอาบาดีย์ได้กล่าวในหนังสือ “เอานุ้ลมะอฺบูด” เล่มที่ 2 หน้า 158 ว่า ...
وَكَانَ أَحْمَدُ وَإِسْحَاقُ يَكْرَهَانِ ذَلِكَ، وَرُوِيَتِ الْكَرَاهَةُ عَنْ جَمَاعَةٍ مِنَ السَّلَفِ
“ท่านอิหม่ามอะห์มัดและท่านอิสหากต่างก็รังเกียจ (كَرَاهَةٌ) ในเรื่องนี้ (การนมาซในสุสาน) .. และมีรายงานเรื่องความรังเกียจ (كَرَاهَةٌ) นี้มาจากชาวสะลัฟกลุ่มหนึ่งด้วย ...
ข้อมูลจากคำพูดของท่านอิหม่ามอะห์มัดจากหนังสือตั๊วะห์ฟะตุ้ลอะห์วะซีย์และหนังสืออัล-มันฮัลฯ ข้างต้นจึงเป็นเครื่องยืนยันว่า คำว่าكَرَاهَةٌ (น่ารังเกียจ) ตามทัศนะของท่านอิหม่ามอะห์มัดและชาวสะลัฟตามคำกล่าวของท่านอาบาดีย์นั้น มิได้หมายถึงมักรูฮ์ตันซิฮ์ (สิ่งที่ไม่สมควรปฏิบัติ) .. แต่มีความหมายว่า “หะรอม” (คือห้ามปฏิบัติ) ดังที่ผมได้เคยกล่าวไว้ ... 
ข. ท่านซูฟยาน อัษ-เษารีย์ ได้รายงานจากท่านหะบีบ อิบนุอบีย์ษาบิต, จากท่านอบูศ็อบยาน, จากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ซึ่งกล่าวว่า ...
لاَ تُصَّلِيَّنَ إِلَى حَشٍّ، وَلاَ فِىْ حَمَّامٍ، وَلاَ فِىْ مَقْبُرَةٍ!
“ท่านอย่านมาซโดยหันไปทางห้องส้วม, ในห้องน้ำ และในสุสานเป็นอันขาด”
(จากหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” เล่มที่ 2 ส่วนที่ 4 หน้า 30) ...
พื้นฐานของการห้ามสิ่งใด ตามหลักวิชาอุศูลุลฟิกฮ์ถือว่าสิ่งนั้นคือของหะรอม.. ยิ่งเมื่อท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.ได้กล่าวห้ามอย่างเน้นๆว่า لاَ تُصَلِّيَنَّ (ท่านอย่านมาซ .. เป็นอันขาด) จึงย่อมเป็นที่ชัดเจนว่า ทัศนะของท่านก็คือ ห้าม(หะรอม)นมาซในสุสาน ...
ค. ท่านอะลีย์ อิบนุอบีย์ฏอลิบกล่าวว่า ...
مِنْ شِرَارِالنَّاسِ مَنْ يَتَّخِذُ الْقُبُوْرَ مَسَاجِدَ
“หนึ่งจากมนุษย์ที่ชั่วช้ายิ่งก็คือ ผู้ซึ่งยึดเอากุบูรฺเป็นมัสญิด (คือเป็นที่นมาซ) ...
(จากหนังสือเล่มและหน้าเดียวกัน) ...
ข้อมูลจากข้อ ข.และข้อ ค.ที่ผ่านมาแสดงว่า ความหมายคำว่ามักโระฮ์(น่ารังเกียจ) การนมาซที่กุบูรฺ ดังที่ อ.อัชอะรีย์นำมาอ้างจากท่านอิบนุอับบาสและท่านอะลีย์ข้างต้นย่อมหมายถึง “หะรอม” หรือห้ามขาด. มิใช่มักโระฮ์ตันซิฮ์หรือห้ามไม่ขาดอย่างความเข้าใจของ อ.อัชอะรีย์ ...
นอกจากท่านอิบนุอับบาสและท่านอะลีย์แล้ว ท่านอิบนุหัสม์ยังได้รายงานจากเศาะหาบะฮ์อื่นอีก 3 ท่าน คือท่านอุมัรฺ, ท่านอบูฮุร็ฮยเราะฮ์ และท่านอนัส, .. และจากตาบิอีน กลุ่มหนึ่ง คือท่านอิบรอฮีม อัน-นะคออีย์, ท่านนาฟิอฺ บินญุบัยร์, ท่านฏอวูซ, ท่านอัมร์ บินดีนารฺ, ท่านค็อยษะมะฮ์ ที่กล่าวสอดคล้องตรงกันว่า การนมาซในสุสานหรือกุบูรฺเป็นที่ต้องห้าม .. 
(จากหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” ของท่านอิบนุหัสม์ เล่มที่ 2 ส่วนที่ 4 หน้า 30-32) ...
สำหรับนักวิชาการยุคต่อมา นอกจากท่านอิบนุหัสม์ที่กล่าวว่าการนมาซที่กุบูรฺเป็นเรื่องต้องห้าม (จากหนังสือ “อัล-มุหั้ลลา” เล่มดังกล่าว หน้า 27) แล้ว ท่านอิบนุตัยมียะฮ์ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีทัศนะอย่างเดียวกัน ... 
ท่านอิบนุตัยมียะฮ์ได้กล่าวในหนังสือ “อิกติฎออุศ-ศิรอฏิ้ลมุสตะกีมฯ” เล่มที่ 2 หน้า 194-195 ... 
وَقَدِاخْتَلَفَ الْعُلَمَاءُ فِى الصَّلاَةِ فِى الْمَقْبُرَةِ : هَلْ هِىَ مُحَرَّمَةٌ أَوْ مَكْرُوْهَةٌ ؟ .. وَإِذَا قِيْلَ : هِىَ مُحَرَّمَةٌ، فَهَلْ تَصِحُّ مَعَ التَّحْرِيْمِ أَمْ لاَ ؟ .. وَالْمَشْهُوْرُ عِنْدَنَا أَنَّهَا مُحَرَّمَةٌ لاَ تَصِحُّ، وَمَنْ تَأَمَّلَ النُّصُوْصَ الْمُتَقَدِّمَةَ تَبَيَّنَ لَهُ أَنَّهَا مُحَرَّمَةٌ بِلاَ شَكٍّ، 
“นักวิชาการมีทัศนะขัดแย้งกันเกี่ยวกับการนมาซในสุสาน(กุบูรฺ)ว่า จะเป็นเรื่องต้องห้าม(หะรอม) หรือน่ารังเกียจ(มักรูฮ์) .. หากกล่าวว่า เป็นเรื่องหะรอม (ปัญหาต่อมาก็คือ)นมาซนั้นจะใช้ได้ทั้งๆที่หะรอม หรือใช้ไม่ได้ ? .. ซึ่งสิ่งที่รู้กันแพร่หลายสำหรับพวกเรา (นักวิชาการมัษฮับหัมบะลีย์)ก็คือ มันเป็นเรื่องหะรอมและนมาซนั้นใช้ไม่ได้(ไม่เศ๊าะฮ์) ซึ่งผู้ใดก็ตามที่พิจารณาหลักฐานอันชัดเจนที่ผ่านมาแล้ว ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่เขาว่า การนมาซในสุสานนั้น เป็นเรื่องหะรอมโดยปราศจากข้อสงสัย” ...
ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-ฮัยตะมีย์ นักวิชาการฟิกฮ์แห่งมัษฮับชาฟิอีย์กล่าวว่า การถือเอากุบูรฺเป็นที่นมาซ และการนมาซโดยหันไปทางกุบูรฺ เป็นบาปใหญ่ ...
(ดูหนังสือ “อัซ-ซะวาญิรฺฯ” ของอิบนุหะญัรฺ อัล-ฮัยตะมีย์ เล่มที่ 1 หน้า 244 ) ...
สรุปแล้ว การนมาซที่กุบูรฺตามทัศนะนักวิชาการสะลัฟส่วนใหญ่ ถือเป็นเรื่องห้ามขาด (หะรอม) .. นอกจากนักวิชาการส่วนน้อยที่มองว่า ข้อห้ามดังกล่าวไม่ใช่เป็นการห้ามขาด (คือเป็นมักรูฮ์) เท่านั้น ...
ในทัศนะของผม มีความเห็นสอดดคล้องกับทัศนะของท่านอิบนุอับบาสร.ฎ., ท่านอะลีย์ ร.ฎ., ท่านอิหม่ามอะห์มัด, ท่านอิบนุหัสม์, ท่านอิบนุตัยมียะฮ์และนักวิชาการส่วนใหญ่ที่กล่าวว่า การนมาซที่กุบูรฺเป็นเรื่องหะรอม(ห้ามขาด) เพราะมีหลักฐานจากหะดีษที่ถูกต้องหลายบทยืนยันไว้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ...
1. ท่านอบูสะอีด อัล-คุดรีย์ ร.ฎ. ได้รายงานมาจากท่านรอซู้ลุลลฺ? ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ว่า ...
الأَرْضُ كُلُّهَا مَسْجِدٌ إِلاَّ الْحَمَّامَ وَالْمَقْبُرَةَ
“พื้นดินทั้งหมด เป็นที่นมาซได้ ยกเว้นห้องน้ำและสุสาน” ... 
(บันทึกโดย ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 492, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 317 และผู้บันทึกท่านอื่นๆ) ...
2. ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุมัสอูด ร.ฎ. ได้อ้างรายงานจากท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมที่กล่าวว่า ...
إِنَّ مِنْ شِرَارِالنَّاسِ مَنْ تُدْرِكُهُ السَّاعَةُ وَهُمْ أَحْيَاءٌ، وَمَنْ يَتَّخِذُ الْقُبُوْرَ مَسَاجِدَ
“แท้จริง ส่วนหนึ่งจากประชาชนที่ชั่วช้าอย่างยิ่งก็คือ ผู้ซึ่งวันกิยามะฮ์มาถึงขณะพวกเขายังมีชีวิตอยู่ และผู้ซึ่งยึดเอากุบูรฺเป็นที่นมาซ” ...
(บันทึกโดย ท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ เล่มที่ 2 หน้า 6-7 ด้วยสายรายงานที่หะซัน) ...
3. ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า ... 
أَلاَ وَإِنَّ مَنْ كَانَ قَبْلَكُمْ كَانُوْا يَتَّخِذُوْنَ قُبُوْرَ أَنْبِيَائِهِمْ وَصَالِحِيْهِمْ مَسَاجِدَ، أَلاَ فَلاَ تَتَّخِذُوْاالْقُبُوْرَ مَسَاجِدَ، إِنِّىْ أَنْهَاكُمْ عَنْ ذَلِكَ 
“พึงระวัง! แท้จริงประชาชาติก่อนพวกท่านได้ยึดเอากุบูรฺนบีย์ของพวกเขาและคนดีของพวกเขาเป็นที่นมาซ, พึงระวัง! ดังนั้นพวกท่านอย่ายึดเอากุบูรฺเป็นที่นมาซ, แท้จริงฉันขอห้ามพวกท่านจากเรื่องนี้” ...
(บันทึกโดยท่านมุสลิม หะดีษที่ 23/532 และท่านอิบนุ อบีย์ชัยบะฮ์ในหนังสือ “อัล-มุศ็อนนัฟ” เล่มที่ 2 หน้า 269 โดยรายงานจากท่านญุนดุบ บินอับดุลลอฮ์ อัล-บัจญลีย์ ร.ฎ.) ...
4. ท่านอบูสะอีด อัล-คุดรีย์ ร.ฎ. กล่าวว่า ...
أَنَّ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَّلَم نَهَى أَنْ يُبْنَى عَلَى الْقُبُوْرِ، أَوْ يُقْعَدَ عَلَى الْقُبُوْرِ، أَوْ يُصَلَّى عَلَى الْقُبُوْرِ
“ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ห้ามจากการก่อสร้างสิ่งใดบนกุบูรฺ, จากการนั่งบนกุบูรฺ, และจากการนมาซบนกุบูรฺ” ...
(บันทึกโดย ท่านอบูยะอฺลา ใน “อัส-มุสนัด” ของท่าน ด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง)
5. ท่านอบูมัรฺษัด อัล-ฆอนะวีย์ ร.ฎ. ได้รายงานมาจากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมว่า ...
لاَ تُصَلُّوْا إِلَى الْقُبُوْرِ، وَلاَ تَجْلِسُوْا عَلَيْهَا
“พวกท่านอย่านมาซโดยหันไปทางกุบูรฺ (หลุมศพ) และพวกท่านอย่านั่งบนกุบูรฺ”
(บันทึกโดยท่านมุสลิม หะดีษที่ 98/972) ...
บรรดาหะดีษข้างต้นนี้คือหลักฐาน “ห้าม” จากการนมาซในกุบูรฺ, บนกุบูรฺ หรือหันไปทางกุบูรฺ ซึ่งตามหลักการแล้วถือว่า ข้อห้ามดังกล่าวหมายถึง “หะรอม” ...
ท่านอัศ-ศ็อนอานีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “สุบุลุส สลาม” เล่มที่ 1 หน้า 136 อันเป็นการอธิบายหะดีษที่ 5 จากข้อเขียนนี้ของผมว่า ...
“ในหะดีษนี้เป็นหลักฐานเรื่องห้ามนมาซโดยหันไปทางกุบูรฺ เหมือนการห้ามนมาซบนกุบูรฺ, และพื้นฐาน(ของการห้าม) ก็คือ หะรอม” ...
หลักการที่ว่า “พื้นฐานของการห้ามคือ หะรอม” นี้ ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ก็ได้กล่าวไว้เช่นกันในหนังสือ “อัรฺ-ริซาละฮ์” หน้า 343 ว่า (หมายเลข 929) ว่า ...
فَإِذَا نَهَى رَسُوْلُ اللهِ عَنِ الشَّىْءِ مِنْ هَذَا فَالنَّهْىُ مُحَرَّمٌ! لاَ وَجْهَ لَهُ غَيْرُ التَّحْرِيْمِ، إِلاَّ أَنْ يَكُوْنَ عَلَى مَعْنًى كَمَا وَصَفْتُ ... 
“เมื่อท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ “ห้าม” สิ่งใดจากสิ่งนี้ การห้ามนั้นก็คือ “หะรอม” .. ไม่มีแนวทางสำหรับมัน(การห้าม)ที่จะอื่นจากหะรอมอีก, นอกจากมันจะอยู่บนความหมาย ดังที่ฉันได้แจ้งลักษณะไว้แล้ว” ...
คำว่า “นอกจากมันจะอยู่บนความหมายที่ฉันได้แจ้งลักษณะไว้” หมายถึงการมีหลักฐานอื่นมาแปรเปลี่ยนความหมายการห้ามจาก “หะรอม” ไปเป็น “มักรูฮ์” ...
และเท่าที่ผมทราบ ก็ยังไม่เคยเจอว่าจะมีหลักฐานที่ถูกต้องบทใดมาแปรเปลี่ยนการห้ามนมาซในกุบูรฺจาก “หะรอม” ให้เป็น “มักรูฮ์” เลยแม้แต่บทเดียว ...
ส่วนคำกล่าวนักวิชาการบางท่านที่ว่า เหตุผลที่ห้ามนมาซในกุบูรฺ ก็เฉพาะกุบูรฺที่ถูกขุดรื้อขึ้นมา เพราะเกรงว่าพื้นดินจะเป็นนะญิสจากน้ำเหลืองของมัยยิตก็ดี, หรือการห้ามนมาซในสุสานในหะดีษดังกล่าว หมายถึงสุสานของกาฟิรฺ แต่ไม่ห้ามนมาซในสุสานของมุสลิมก็ดี .. 
เหล่านี้ล้วนเป็นเพียง “เหตุผล” ตามมุมมองของนักวิชาการเท่านั้น แต่ไม่ใช่ “หลักฐาน” ที่จะมาจำกัดข้อห้ามที่กล่าวไว้กว้างๆในหะดีษข้างต้นแต่ประการใด ...
ส่วนข้ออ้างของ อ.อัชอะรีย์ที่ว่า ข้อห้ามดังกล่าวหมายถึงการตั้งใจหรือมุ่งหมาย(اَلتَّحَرِّىْ) ที่จะไปนมาซที่กุบูรฺ ข้อนี้ผมเชื่อครับ, .. และมั่นใจด้วยว่า อ.อัชอะรีย์คงไม่ “นอนละเมอ” ถึงขนาดเดินไปนมาซที่กุบูรฺหรอก ...
หมายเหตุ 
ผมขอดักคอเสียก่อนว่า อ.อัชอะรีย์อาจจะอ้าง “หลักฐานแปรเปลี่ยนการห้ามจากหะรอมเป็นมักรูฮ์” จากอายะฮ์กุรฺอ่านบางบทเช่นอายะฮ์ที่ 21 จากซูเราะฮ์อัล-กะฮ์ฟิ, .. จากหะดีษบางบทเช่นเรื่องท่านนบีย์เคยนมาซในมัสญิดค็อยฟ์ (มัสญิดเค็ฟ)ที่มินาทั้งๆที่มีกุบูรฺของนบีย์ซึ่งถูกฝังอยู่ที่นั่น 70 ท่าน, .. หรือจากเหตุการณ์บางอย่าง เช่นเรื่องกุบูรฺท่านนบีย์อยู่ในมัสญิดของท่านที่มะดีนะฮ์ เป็นต้น ... 
คำชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องเหล่านี้ ผมไม่อยากเขียนเพราะจะยืดเยื้อจนเกินไป จึงขอแนะนำให้ อ.อัชอะรีย์ไปหาอ่านจากหนังสือ “تَحْذِيْرُ السَّاجِدِ مِنِ اتِّخَاذِ الْقُبُوْرِ مَسَاجِدَ” ของท่านเช็คอัล-อัลบานีย์ หน้า 67-146 ...
ส่วนที่ผมเคยกล่าวมาในตอนต้นว่า การห้ามนมาซที่กุบูรฺนั้น มิใช่จะห้ามเฉพาะนมาซฟัรฺฎูหรือนมาซสุนัตอื่นๆ แต่ยังห้ามจากการนมาซญะนาซะฮ์ในระหว่างหลุมฝังศพอีกด้วย นั้น ...
หลักฐานเรื่องนี้ก็คือ หะดีษจากการรายงานของท่านอนัส บินมาลิก ร.ฎ. ที่ว่า ...
أَنَّ النَّبِىَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ نَهَى أَنْ يُصَلَّى عَلَى الْجَنَائِزِ بَيْنَ الْقُبُوْرِ
“ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะวัลลัม ได้ห้ามจากการนมาซญะนาซะฮ์ในระหว่างกุบูรฺ(หลุมศพ)” ...
(บันทึกโดย ท่านอัฏ-ฏ็อบรอนีย์ในหนังสือ “อัล-มุอฺญัม อัล-เอาซัฏ” ด้วยสายรายงานที่หะซัน .. ดังคำกล่าวของท่านอัล-ฮัยษะมีย์ในหนังสือ “มัจญมะอฺ อัซ-ซะวาอิด” เล่มที่ 3 หน้า 144-145) ...
การ “ห้ามนมาซในกุบูรฺ” ดังกล่าวทั้งหมดนี้เป็นการห้ามแบบกว้างๆ (عَامٌّ) แต่มีข้อยกเว้น (تَخْصِيْصٌ) เพียงกรณีเดียวคือ การนมาซมัยยิตที่ถูกฝังไปแล้ว โดยเราเพิ่งทราบแล้วไปนมาซที่หลุมของเขาภายหลัง .. ตามนัยของหะดีษบทที่กำลังจะถึงต่อไป ...




ชี้แจง .. บทวิภาษของ อ.อัชอะรีย์ต่อ อ.ปราโมทย์ (ตอนที่ 5)


ชี้แจงเรื่องการอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ 

โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

(5). ชี้แจงเรื่องการอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ 
5.1 อ.อัชอะรีย์กล่าวว่า ... 
“แต่ในขณะเดียวกัน อ.ปราโมทย์พยายามสอดแทรกหุก่มเข้าไปด้วย โดยพยายามบอกว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺเป็นบิดอะฮ์และฮะรอม ซึ่งไม่มีนักปราชญ์แห่งโลกอิสลามในอดีตที่ได้รับการยอมรับ ได้ตัดสินเช่นนั้นเลย ......
ดังนั้น การหุก่มหะรอมประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่ไม่มีหลักฐานที่มั๊วะอฺตะบัรฺทั้งในแบบครอบคลุมหรือจำกัดมารับรอง ย่อมเป็นการอุตริกรรมหรืออุปโลกน์ฮุก่มขึ้นมาในศาสนานั่นเอง” ...
ชี้แจง
ก. การสอดแทรกหุก่มตามมุมมองของตนเองด้วยความบริสุทธิ์ใจหลังจากการวิเคราะห์หลักฐานไม่ใช่เป็นเรื่องผิดแปลกแต่ประการใด เพราะสิ่งนี้ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่นักวิชาการทุกยุคทุกสมัยปฏิบัติกันอยู่แล้ว ซึ่งสามารถจะหาดูได้จากตำราฟิกฮ์ระดับมาตรฐานทั่วๆไป อาทิเช่น หนังสืออัล-มุฆนีย์ของท่านอิบนุกุดามะฮ์, หนังสือซาดุ้ลมะอาดของท่านอิบนุ้ลก็อยยิม, หนังสืออัล-มุหั้ลลา ของท่านอิบนุหัสม์ เป็นต้น ...
ข. ถ้า อ.อัชอะรีย์ไม่กล่าวเท็จ ก็ให้ระบุมาเลยว่า ผมเขียนตอนไหนในการวิภาษคำบรรยาย อ.กอเซ็มว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ เป็นบิดอะฮ์ (ตามทัศนะของผม) ?? ... 
ค. อ.อัชอะรีย์รู้ได้อย่างไรว่า ไม่เคยมีนักวิชาการที่เป็นที่ยอมรับท่านใดในอดีตตัดสินว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ เป็นบิดอะฮ์ที่หะรอม ??? ...
ท่านอิหม่ามอะห์มัด อิบนุหัมบัล หรือท่านอิบนุลก็อยยิม อัล-ญูซียะฮ์ เป็นนักวิชาการในอดีตที่เป็นที่ยอมรับของโลกอิสลามหรือไม่ ? ...
การที่ท่านอิหม่ามอะห์มัดไปกล่าวแก่ชายตาบอดที่กำลังอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺเพื่อไม่ให้เขาอ่านต่อไปโดยบอกว่ามันเป็น “บิดอะฮ์” ก็ดี, หรือการที่ท่านอบูดาวูดได้บันทึกในหนังสือ “อัล-มะซาอิล” หน้า 158 ว่า เคยได้ยินท่านอิหม่ามอะห์มัดตอบเมื่อถูกถามเรื่องอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺว่า لاَ! (ไม่ได้) ก็ดี ...
คำว่า “บิดอะฮ์” และคำว่า “ไม่ได้” ของท่านอิหม่ามอะห์มัดในกรณีนี้ ไม่มีทางจะเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้นอกจากการเป็นบิดอะฮ์ที่หะรอม ...
เพราะถ้าเป็นเพียงบิดอะฮ์ที่มักรูฮ์ (น่ารังเกียจ) ท่านอิหม่ามอะห์มัดก็ไม่มีสิทธิ์ไปคัดค้านชายตาบอดคนนั้น และคงจะไม่ตอบคำถามด้วยคำพูดเพียงสั้นๆว่า “ไม่ได้” .. เนื่องจากสิ่งมักรูฮ์นั้น เป็นสิ่งที่ยังปฏิบัติได้ เพียงแต่ “ไม่สมควรปฏิบัติ” เท่านั้น ...
และท่านอิบนุ้ลก็อยยิม ก็เคยกล่าวไว้ในหนังสือ “ซาดุ้ลมะอาด” ของท่าน เล่มที่ 1 หน้า 179 ว่า ...
وَلَمْ يَكُنْ مِنْ هَدْيِهِ أَنْ يُجْتَمَعَ لِلْعُزَّاءِ وَيُقْرَأَ لَهُ الْقُرْآنُ، لاَ عِنْدَالْقُبُوْرِ وَلاَغَيْرِهِ، وَكُلُّ هَذَا بِدْعَةٌ حَادِثَةٌ مَكْرُوْهَةٌ 
“ไม่เคยมีปรากฏในทางนำของท่านนบีย์ว่า จะมีการชุมนุมกัน(ของครอบครัวผู้ตาย)เพื่อ(รอ)ผู้ปลอบโยน และการอ่านอัล-กุรฺอ่านให้แก่ผู้ตาย ไม่ว่าที่กุบูรหรือที่อื่น, ทุกอย่างนี้เป็นอุตริกรรม(บิดอะฮ์)ที่เพิ่งบังเกิดขึ้นและเป็นเรื่องน่ารังเกียจ” ...
คำว่า مَكْرُوْهَةٌ (น่ารังเกียจ) ตามทัศนะของท่านอิบนุ้ลก็อยยิมก็คือ كَرَاهَةٌ تَحْرِيْمِيَّةٌ (เป็นเรื่องหะรอม) ดังที่ได้เสนอทัศนะของท่านในเรื่องนี้ไปแล้วในหน้าที่ 16-17 ...
ส่วนนักวิชาการยุคปัจจุบันที่กล่าวว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺเป็นบิดอะฮ์ที่หะรอม ก็มีจำนวนมิใช่น้อย อาทิเช่น ท่านเช็คอะลีย์มะห์ฟูศเจ้าของหนังสือ “อัล-อิบดาอ์”, ท่านเช็คมุหัมมัด อับดุสสลาม เจ้าของหนังสือ “อัล-สุนัน วัลมุบตะดะอาต, ท่านอัล-อัลบานีย์, ท่านเช็คบินบาซ เป็นต้น ซึ่งผมจะไม่นำเสนอทัศนะของแต่ละท่านในที่นี้ เพราะจะเป็นการยืดเยื้อเกินไป ... 
สรุปแล้ว ผมจึงไม่ใช่เป็นคนแรกอย่างแน่นอนที่วิเคราะห์ออกมาว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺเป็นเรื่องต้องห้าม (หะรอม) .. ทว่า มีนักวิชาการที่เชื่อถือได้จำนวนมากที่กล่าวออกมาอย่างนี้ก่อนแล้ว ... 
แต่ ..ไม่ว่าคำพูดนักวิชาการที่กล่าวว่า “การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺเป็นบิดอะฮ์” จะมีความหมายถึงบิดอะฮ์หะรอมหรือบิดอะฮ์มักรูฮ์ก็ตาม ความหมายของมันก็ไม่ใช่เป็นการ “ส่งเสริม” ให้ชาวบ้านไปอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺกัน อย่างที่ อ.อัชอะรีย์กำลังส่งเสริมอยู่แน่นอน ... 
ตรงกันข้าม ความหมายของมันก็คือ การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺเป็นเรื่อง “ไม่สมควรกระทำ” หรือ “ห้ามกระทำ” อย่างใดอย่างหนึ่งตามนัยแห่งความหมายมักรูฮ์หรือหะรอม ดังเป็นที่ทราบกันดี ...
ง. ถ้า อ.อัชอะรีย์ถือว่า หุก่มหะรอม(ห้าม) ทุกอย่างจะต้องมีหลักฐานเจาะจง(خَاصٌّ)หรือหลักฐานจำกัด (مُقَيَّدٌ) อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น จะเกิดจากการวิเคราะห์ (إِسْتِنْبَاطٌ) จากหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ไม่ได้ ... 
ก็ขอถาม อ.อัชอะรีย์ว่า การที่นักวิชาการมัษฮับชาฟิอีย์ (ซึ่งอาจจะเป็น อ.อัชอะรีย์ด้วยก็ได้) กล่าวว่า ไม่อนุญาต (คือห้าม)นำเนื้อกุรฺบ่านไปมอบให้คนกาฟิรฺ (ดังคำกล่าวจากหนังสือ “อิอานะฮ์ฯ” เล่มที่ 2 หน้า 334 หรือหนังสือ “อัล-บาญูรีย์” เล่มที่ 2 หน้า 302 เป็นต้น) นั้น .. 
หุก่ม “ห้าม” ดังกล่าวเกิดจากมีหลักฐานเจาะจง, หลักฐานจำกัด .. หรือเกิดจากการวิเคราะห์ ? ... 
ถ้าตอบว่า เกิดจากมีหลักฐาน ก็ขอถามว่า “หลักฐานห้าม” ดังกล่าว – ไม่ว่าห้ามแบบเจาะจงหรือหลักฐานจำกัด -- ในเรื่องนี้ มีว่าอย่างไร ? ... 
แต่ถ้ายอมรับว่าการห้ามดังกล่าวเกิดจากการวิเคราะห์ .. ผมก็ขอบอกว่า การวิเคราะห์ของนักวิชาการที่ว่า “ห้ามเอาเนื้อกุรฺบ่านไปบริจาคให้กาฟิรฺ” เป็นการวิเคราะห์ที่ “ฝืน” ต่อข้อเท็จจริงยิ่งกว่าการวิเคราะห์ของผมเรื่องห้ามอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺเสียอีก เพราะการวิเคราะห์ของผม อย่างน้อยก็มีหะดีษที่ถูกต้อง 2 บทที่พอจะเปรียบเทียบกันได้ มารองรับ ...
ข้อนี้ แตกต่างกับเรื่องห้ามเอาเนื้อกุรฺบ่านไปบริจาคให้กาฟิรฺ เพราะไม่มีหะดีษบทใดมารองรับเรื่องการ “ห้าม” ดังกล่าวเอาไว้เลย ...
5.2 อ.อัชอะรีย์กล่าวว่า ... 
ท่านอัชชะอฺบีย์ได้รายงานว่า ...
أَخْبَرَنِىْ مَنْ مَرَّ مَعَ النَّبِىِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَلَى قَبْرٍ مَنْبُوْذٍ فَأَمَّهُمْ وَصَلَّوْا خَلْفَهُ 
“ได้บอกเล่าให้ฉันทราบโดย(ท่านอิบนุอับบาส)ผู้ที่เดินพร้อมกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม บนกุบูรฺที่ถูกปล่อยทิ้งเอาไว้ ดังนั้นท่านนบีจึงเป็นอิมามนำละหมาด (ญะนาซะฮ์)ของพวกเขา และพวกเขาก็ทำการละหมาดหลังท่านนบี” รายงานบุคอรีย์ (1250) ...
ฮะดีษนี้บ่งชี้ชัดเจนว่า ท่านนบีและซอฮาบะฮ์ได้ทำการละหมาดญะนาซะฮ์ที่กุบูรฺ ซึ่งการละหมาดนั้นเป็นเรื่องของอิบาดะฮ์ ยิ่งกว่านั้นในละหมาดญะนาซะฮ์ยังมีการอ่านอัลกุรฺอ่าน(อัลฟาติฮะฮ์) ซ่อลาวาต และดุอาแก่มัยยิตด้วย ดังนั้นการทำอิบาดะฮ์ในกุบูรฺที่มีเป้าหมายยังผลประโยชน์แก่มัยยิตนั้นจึงเป็นที่อนุญาตให้กระทำ ฉะนั้นการอ่านอัล-กุรฺอ่าน ซิกรุลลฮ์ แล้วการขอดุอาฮาดียะฮ์ให้แก่มัยยิตที่กุบูรฺ ย่อมกระทำได้เช่นเดียวกัน ...
และ อ.อัชอะรีย์ยังกล่าวลักษณะเดียวกันนี้ในตอนหลังอีกว่า ...
“การที่ อ.กอเซ็มไม่อธิบายคำว่า “เศาะลาฮ์” หมายถึง “การอ่านอัล-กุรฺอ่าน”ไปเลยนั้น เพราะ อ.กอเซ็มไม่ได้เข้าใจตัวบทฮะดีษในแง่ของ (مًنْطُوْقٌ).. คือไม่ได้เข้าใจ ฮุก่มจากตัวบทแบบความหมายคำตรงที่ถ้อยคำได้ระบุไว้ว่าให้ทำ “ละหมาด” แต่ อ.กอเซ็มเข้าใจตัวบทหะดีษในแง่ของ (مَفْهُوْمٌ) ความเข้าใจที่ได้รับมาจากถ้อยคำ(เศาะลาฮ์) คือการละหมาดญะนาซะฮ์ที่กุบูรฺนั้น เข้าใจว่า ส่วนต่างๆของการละหมาดก็คือการซิกิรฺ, ศ่อลาวาต, อ่านอัลกุรฺอ่าน(อัลฟาติหะฮ์), และขอดุอาแก่มัยยิตที่กุบูรฺ ดังนั้น การซิกิรฺ ศ่อลาวาต อ่านอัล-กุร์อ่าน(ฟาติหะฮ์) และขอดุอาแก่มัยยิตในกุบูรฺ จึงเป็นที่อนุญาตให้กระทำได้นั่นเอง” ... 
“ฮะดีษมุสลิมดังกล่าวนี้ ชี้ถึงอนุญาตให้อ่านอัลกุรฺอ่านที่กุบูรฺได้ ........... เพราะฮะกีษดังกล่าวนี้ไม่ได้ห้ามอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ ไม่ได้บอกว่ามักโระฮ์อ่านอัลกุรฺอ่านที่กุบูรฺ ดังนั้น เมื่อไม่ได้ห้ามก็ยังคงเหลือในเรื่องการอนุญาต” ...
ชี้แจง
ก. ก่อนอื่นต้องขออนุญาตแก้คำแปลของ อ.อัชอะรีย์นิดหนึ่งตรงข้อความที่ว่า قَبْرٍمَنْبُوْذٍ .. ซึ่ง อ.อัชอะรีย์แปลว่า “กุบูรฺที่ถูกปล่อยทิ้งเอาไว้” ...
คำแปลที่ถูกต้อง -- ดังคำอธิบายของท่านอิบนุ้ลอะษีรฺในหนังสือ “อัน-นิฮายะฮ์ ฟี เฆาะรีบิลหะดีษ” เล่มที่ 5 หน้า 6 -- ก็คือ ...
“หลุมที่โดดเดี่ยวซึ่งอยู่ห่างไกลจากหลุมอื่น” : (قَبْرٍمُنْفَرِدٍ بَعِيْدٍ عَنْ غَيْرِهِ) ... 
ข. อ.อัชอะรีย์ ได้กล่าวอ้างข้างๆคูๆว่า การที่ท่านนบีย์และเศาะหาบะฮ์ไปนมาซญะนาซะฮ์ที่กุบูรฺนั้น มีการอ่านฟาติหะฮ์, มีการซิกรุ้ลลอฮ์ในการนมาซด้วย .. ซึ่ง مَفْهُوْمٌ ของมันก็คือ อนุญาตให้อ่านกุรฺอ่านที่กุบูรฺได้ ...
ผมก็ขออ้างข้างๆคูๆในลักษณะ “ย้อนศร” บ้างว่า หลักฐาน “ห้ามนมาซ” ในกุบูรฺที่ผ่านมาในบทก่อน – ไม่ว่านมาซฟัรฺฎู, นมาซสุนัต หรือนมาซมัยยิต – مَفْهُوْمٌ ของมันก็คือ “ห้ามอ่านฟาติหะฮ์” ที่กุบูร ...
เพราะในการนมาซต้องมีการอ่านฟาติหะฮ์ ...
ดังนั้น การห้ามนมาซก็คือการห้ามอ่านฟาติหะฮ์! ... 
และ .. การห้ามอ่านฟาติหะฮ์ที่กุบูรฺ ก็คือ การห้ามอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ (ตามคำอธิบายของ อ.อัชอะรีย์เอง) เอง ...
เอ๊ะ! นี่ผมจะพลอยเป็น .. (?) ..ไปอีกคนหรือนี่ ??? ... 
สรุปแล้ว พื้นฐานการนมาซทุกชนิดในกุบูรฺจึงเป็นเรื่องต้องห้าม! ยกเว้นกรณีเดียวก็คือ มัยยิตถูกฝังไปก่อนแล้ว โดยเราเพิ่งจะทราบและยังไม่ได้นมาซให้ ก็อนุญาตให้ตามไปนมาซที่กุบูรฺทีหลัง .. ซึ่งในกรณียกเว้นดังกล่าวนี้ อ.อัชอะรีย์จะนำมาอ้างเป็นหลักฐานอนุญาตให้อ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆเลย ย่อมไม่ได้ ... 
ค. ผมถาม อ.กอเซ็มว่า .. “นักวิชาการท่านใดบ้างไหมในอดีตที่อ้างเอาหะดีษเรื่องท่านนบีย์นมาซมัยยิตที่กุบูรฺ มาเป็นหลักฐานเรื่อง อนุญาตให้อ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺ?” ... 
แต่อ.อัชอะรีย์ (ซึ่งอาสาเป็นนอมินีของ อ.กอเซ็ม)ไม่ยอมตอบคำถามนี้ ... 
ตรงกันข้าม อ.อัชอะรีย์กลับแสดงภูมิรู้อันแตกฉานในวิชาอุศูลุ้ลฟิกฮ์ของตัวเองด้วยการพยายามอธิบายวิธีการ “อิจญติฮาด” ตามแนวทาง “เฉพาะตัว” ..โดยการอ้างเรื่อง مَنْطُوْقٌ และ مَفْهُوْمٌ ของหะดีษบทนั้นซึ่งสรุปว่า สิ่งที่ได้รับความเข้าใจ (مَفْهُوْمٌ) จากหะดีษบทนั้นก็คือ การนมาซมัยยิตในกุบูรฺมีการอ่านอัล-กุรฺอ่านคือฟาติหะฮ์ด้วย .. จึงแสดงว่า การอ่านอัล-กุรฺอ่านที่กุบูรฺเป็นที่อนุญาต ...
อ.อัชอะรีย์กล่าวอ้างอย่างนี้บ่อยครั้ง ซึ่งแสดงว่าป่วยการที่ผมจะไปชี้แจงต่อท่านให้เมื่อยปากต่อไปว่า สิ่งที่มัยยิตในกุบูรฺจะได้รับประโยชน์จากการนมาซให้ ก็ต่อเมื่อเรานำองค์ประกอบทั้งหมดของนมาซนั้น “มาทำรวมกัน” ตามรูปแบบและขั้นตอนในลักษณะการ “นมาซมัยยิต” ดังที่ท่านนบีย์กระทำเท่านั้น .. มิใช่แยกองค์ประกอบของ “นมาซมัยยิต” เพียงอย่างเดียวไปทำที่กุบูรฺ ดังความเข้าใจของ อ.อัลอะรีย์ ...
ด้วยเหตุนี้ ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมจึงไม่เคย “แยกธาตุ” องค์ประกอบของนมาซมัยยิต .. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอ่านฟาติหะฮ์ (หรืออัล-กุรฺอ่านบทใด) ..ไปอ่านที่กุบูรฺของผู้ตายคนใดแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งๆที่ท่านมีโอกาสตลอดเวลาที่จะปฏิบัติสิ่งเหล่านี้ เพราะบ้านของท่านอยู่ใกล้กุบูรฺบะเกี๊ยะอฺ ... 
หาก อ.อัชอะรีย์ยังยืนกระต่ายขาเดียวในเรื่องนี้ต่อไปผมก็ไม่ขอต่อล้อต่อเถียงกับท่านอีกแล้ว แต่ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบดังต่อไปนี้ ... 
สมมุติถ้า “การนมาซมัยยิต” ในหะดีษบทนั้นคือ “ต้มยำ”, .. และกุบูรคือ “หม้อใส่ต้มยำ” ...
อ.อัชอะรีย์คงรู้ดีว่า สิ่งที่จะเรียกว่า “ต้มยำ” ตามความเข้าใจของ “คนปกติธรรมดา” ทั่วๆไปนั้น จะต้องประกอบขึ้นจากกุ้งหรือปลาหรือเนื้อ, ตะไคร้, ใบมะกรูด, ข่า, พริกสด, มะเขือเทศ, มะนาว, น้ำปลา, ต้นหอม, คึ่นฉ่าย เป็นต้น ...
ไม่เคยปรากฏเลยสักครั้งเดียวที่แม่ครัวเอกของโลกจะนำส่วนประกอบของต้มยำทั้งหมดดังกล่าวนั้นไปแยกออก แล้วนำเพียง “อย่างใดอย่างหนึ่ง” ไปใส่ใน “หม้อต้ม” เพื่อให้ผู้ใด(คือ มัยยิต) บริโภค .. (ยกเว้นอิสติฆฟารฺ)...
ทั้งนี้ เพราะท่านรู้ดีว่า ต้มยำที่มีคุณค่าอย่างแท้จริงตามหลักโภชนาการต่อผู้บริโภค จะต้องใส่เครื่องปรุงทั้งหมด “รวมกัน” เท่านั้น ... 
แต่ อ.อัชอะรีย์กลับจะเอา “ใบมะกรูด” เพียงอย่างเดียวใส่ลงในหม้อ แล้วก็ยืนยัน(และนั่งยัน)แบบหัวชนฝาว่า การต้มใบมะกรูดอย่างเดียวในหม้อก็ “มีคุณค่า” ต่อผู้บริโภคเหมือนการทำต้มยำด้วยเครื่องปรุงทั้งหมดทุกประการ ...
เมื่อผมถามว่า เคยมีใครในโลกทำต้มยำในหม้อแบบนี้มาก่อนบ้างไหม ? . อ.อัชอะรีย์ไม่ยอมตอบคำถามนี้! .. แต่กลับยืนกรานอย่างหนักแน่นเพียงว่า “ใบมะกรูด” อย่างเดียวในหม้อ ก็มีคุณค่าเหมือนต้มยำและอนุญาตให้ทำได้ .. โดยอ้างเหตุผลว่า เพราะไม่เคยมีใคร“ห้าม” เอาใบมะกรูดอย่างเดียวใส่หม้อต้ม, และใบมะกรูดก็เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของต้มยำ ... 
แถมยังท้าว่า .. ให้ผมหาหลักฐานมาซิว่าเคยมีคนห้ามมิให้ทำอย่างนี้ .. และผมจะปฏิเสธไหมว่าใบมะกรูดก็เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของเครื่องต้มยำ ?? ...
โดนเข้าแบบนี้ บอกตรงๆว่าผมก็ไม่รู้จะเถียงท่านยังไงเหมือนกัน เพราะเป็นความจริงของท่าน ...
เรื่องนี้จึง ซตพ.ได้อย่างลงตัวว่า ผมยอมรับนับถือ อ.อัชอะรีย์ด้วยความเต็มใจยิ่งและขอแต่งตั้งท่านให้ดำรงตำแหน่งเป็น “ซุปเปอร์แม่ครัวคนแรกของโลก” (อ้อ, เกือบลืม อ.กอเซ็มอีกคนแน่ะ) ที่มีแนวคิดเอาใบมะกรูดใส่หม้อ แล้วอวดอ้างว่ามีสรรพคุณและคุณค่าทางโภชนาการเหมือนต้มยำที่ครบเครื่องทุกประการ ด้วยเหตุผลที่ว่าใบมะกรูดก็คือองค์ประกอบหนึ่งของต้มยำ และก็ไม่เคยมีใครห้ามต้มใบมะกรูดอย่างเดียวในหม้อด้วย ...
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ... 
ง. หะดีษจากการรายงานของท่านอัช-ชะบีย์ ที่ อ.อัชอะรีย์นำมาอ้างข้างต้น ไม่ใช่เป็นหลักฐานอนุญาตให้ไปนมาซญะนาซะฮ์ที่กุบูรฺได้อย่างเสรีโดยปราศจากเงื่อนไข ดังความเข้าใจของ อ.อัชอะรีย์ ...
แต่หะดีษข้างต้นมีความหมายถึง .. การไปนมาซ “ญะนาซะฮ์ที่ถูกฝังไปแล้ว” และผู้นมาซเพิ่งจะมารู้ในตอนหลัง! ... 
การนมาซญะนาซะฮ์ในลักษณะดังกล่าวจึงถือเป็นข้อยกเว้นจาก “การห้ามนมาซญะนาซะฮ์ในกุบูรฺ” .. ดังที่ผมอธิบายไปแล้ว ...
ข้อเท็จจริงของหะดีษบทข้างต้น เป็นดังนี้ ...
ท่านบุคอรีย์ได้บันทึกหะดีษบทนี้จากการรายงานของท่านอัช-ชะอฺบีย์, ซึ่งรายงานมาจากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ด้วยข้อความย่อๆดังข้างต้น ..ในหนังสือ “อัศ-เศาะเหี๊ยะฮ์” ของท่านใน 4 ตำแหน่งด้วยกันคือ หะดีษที่ 857, 1319, 1322, และ 1336 ...
แต่ .. ท่านบุคอรีย์ก็ได้บันทึกหะดีษบทเดียวกันนี้จากการายงานของท่านอัช-ชะอฺบีย์, จากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. เช่นเดียวกัน ด้วยข้อความที่ชัดเจนกว่าการบันทึกข้างต้น ในหะดีษที่ 1247, 1321, 1326, และ 1340 ..ซึ่งในที่นี้ผมจะนำเสนอเพียง 2 บทคือ 
1. ท่านบุคอรีย์ ได้บันทึกรายงานจากท่านอัช-ชะอฺบีย์ (ชื่อจริงคือ อามิรฺ บิน ชะรอฮีล) ซึ่งรายงานจากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. (หะดีษที่ 1247) ว่า ...
مَاَت إِنْسَانٌ كَانَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَعُوْدُهُ، فَمَاتَ بِاللَّيْلِ، فَدَفَنُوْهُ لَيْلاً، فَلَمَّا أَصْبَحَ أَخْبَرَهُ، فَقَالَ : مَا مَنَعَكُمْ أَنْ تُعْلِمُوْنِىْ ؟ قَالُوْا : كَانَ اللَّيْلُ، فَكَرِهْنَا – وَكَانَتْ ظُلْمَةٌ – أَنْ نَشُقَّ عَلَيْكَ. فَأَتَى قَبْرَهُ فَصَلَّى عَلَيْهِ
“ชายผู้หนึ่งซึ่งท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมเคยไปเยี่ยมเขาบ่อยๆตอนป่วยได้ตายลงในตอนกลางคือ แล้วพวกเขาก็ได้ทำการฝังตั้งแต่กลางคืน, พอรุ่งขึ้นพวกเขาก็บอกเรื่องนี้แก่ท่านนบีย์ ท่านจึงกล่าวว่า “ทำไมพวกท่านจึงไม่บอกให้ฉันรู้บ้าง” .. พวกเขาตอบว่า .. “มันเป็นกลางคืน, พวกเราไม่อยาก – เพราะมันมืด – ให้ท่านต้องลำบาก” .. ท่านจึงไปที่กุบูรฺของเขาแล้วก็นมาซให้เขา” ...
2. ท่านบุคอรีย์ ได้รายงานหะดีษนี้จากท่านอัช-ชะอฺบีย์, จากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. อีกสำนวนหนึ่งว่า ...
أَنَّ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ مَرَّ بِقَبْرٍ قَدْ دُفِنَ لَيْلاً، فَقَالَ : مَتىَ دُفِنَ هَذَا قَالُوْا : اَلْبَارِحَةَ، قَالَ : أَفَلاَ آذَنْتُمُوْنِىْ ؟ قَالُوْا : دَفَنَّاهُ فِى ظُلْمَةِ اللَّيْلِ فَكَرِهْنَا أَنْ نُوْقِظَكَ، فَقَامَ فَصَفَفْنَا خَلْفَهُ
“แท้จริงท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมได้เดินผ่านหลุมศพหลุมหนึ่งซึ่งถูกฝังในตอนกลางคืน, ท่านกล่าวถามว่า .. “เขาถูกฝังเมื่อไรกันนี่?” .. พวกเขาตอบว่า .. “ตั้งแต่เมื่อคืนแล้วครับ” .. ท่านนบีย์จึงกล่าวว่า .. “แล้วทำไมพวกท่านไม่บอกให้ฉันรู้บ้าง?” .. พวกเขาบอกว่า ..”พวกเราฝังเขาในความมืดยามกลางคืน จึงไม่อยากปลุกท่าน” .. ดังนั้นท่านนบีย์จึงยืนขึ้น (เพื่อนมาซให้เขา) แล้วพวกเราก็จัดแถว(นมาซ)ข้างหลังท่าน” ...
(บันทึกโดยท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 1321) ...
สรุปแล้ว หะดีษที่ อ.อัชอะรีย์นำมาอ้างข้างต้นจึงเป็นหลักฐานยืนยันและสนับสนุนคำกล่าวของผม ไม่ใช่หลักฐานยืนยันทัศนะของ อ.อัชอะรีย์ ...